เรื่องเล่าตามรอยเท้าพ่อ

เรื่องเล่าตามรอยเท้าพ่อ จากอดีตนายแพทย์ที่ตามเสด็จเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่เหนือจรดใต้

เรื่องเล่าตามรอยเท้าพ่อ
เรื่องเล่าตามรอยเท้าพ่อ

แพรวได้รับเกียรติจาก “พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา” อดีตนายแพทย์ที่ได้โอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ไปยังพื้นที่ทุรกันดาร ตั้งแต่เหนือจรดใต้ของประเทศไทย เป็นเรื่องเล่าทรงคุณค่าที่แพรวอยากให้คนไทยทุกคนได้อ่าน

พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา เล่าว่า เริ่มทำงานที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าปี พ.ศ. 2516 โดยเป็นทั้งแพทย์และครูสอนนักศึกษา พอทำงานที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้ 1 ปี จากนั้นได้ทราบข่าวอันเป็นมงคลสูงสุดของชีวิตว่า นายแพทย์ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พลโท นายแพทย์ หม่อมหลวงจินดา สนิทวงศ์ (ท่านน้าของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ) ต้องการแพทย์ผู้ช่วยในการตามเสด็จ เวลาเสด็จฯไปทรงงานทั่วประเทศ ท่านอยากได้ผู้ช่วยผลัดละ 2 คน ทำงานผลัดละ 14 วัน ตอนทราบข่าวว่าได้รับเลือก ผมรู้สึกภาคภูมิใจมาก เป็นโอกาสวิเศษสุดของชีวิตที่ได้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผมยังจำได้ไม่ลืมเกี่ยวกับข้อคิดสำหรับแพทย์ที่ตามเสด็จ มีทั้งหมด 4 ข้อ คือ หนึ่ง มีความรู้ความสามารถในวิชาการนั้นๆ สอง จงรักภักดีต่อราชวงศ์ สาม สามารถเข้ากับสังคมในพระราชสำนักได้ สี่ มีความเต็มใจ เพราะงานนี้ไม่มีการบังคับ ซึ่งผมก็รับคำด้วยความเต็มใจ

พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา
พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์ตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9

ในครั้งนั้นมีทีมแพทย์ถึง 4 ผลัดที่สลับสับเปลี่ยนกันทำงาน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์เดียวที่ทรงงานตลอดเวลา โดยจะทรงงาน 3 วัน พัก 1 วัน ทริปนั้นรวมเวลาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2517 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2518 พระองค์เสด็จฯไปหลายแห่ง ทั้งเชียงใหม่ แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก เป็นการเสด็จฯทั้งทางรถยนต์ เฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบิน ในแต่ละวันกว่าจะเสด็จฯกลับถึงพระตำหนักก็เป็นเวลา 2 – 3 ทุ่ม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดการขับรถยนต์มาก บ่อยครั้งพระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปทรงงานตามพื้นที่ทุรกันดารด้วยพระองค์เอง ครั้งที่ผมจำได้ไม่ลืมเลยคือตอนเสด็จฯไปภาคใต้ ตอนนั้นผมอยู่ในขบวนรถตามเสด็จประมาณคันที่ 3 ซึ่งระหว่างทางสะพานข้ามคลองเกิดชำรุด คนที่อยู่ในรถคันเดียวกันกับผมยังคุยกันว่าจะไปต่ออย่างไร แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งลุยน้ำข้ามคลองไปฝั่งตรงข้าม พอทุกคนเห็นอย่างนั้นจึงต้องลุยตาม (หัวเราะ) โอ้โฮ…น้ำไหลโครมเข้ามาข้างในรถ ถ้าเป็นเรื่องช่วยเหลือชาวบ้าน พระองค์ท่านถึงไหนถึงกันจริงๆ ถ้าตั้งพระทัยแน่แล้วว่าวันนี้จะทรงงานที่ไหน จะทรงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่

พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา เล่าถึงการตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9

หลายครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปทรงงานด้วยพระองค์เองจากพระตำหนักไปหลายพื้นที่ ทั้งในจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี บางแห่งมีการเปิดเต็นท์รักษาประชาชนที่เจ็บป่วย เชื่อไหมว่าบางเคสผมเห็นแล้วตกใจมาก อย่างเด็กคนหนึ่งเป็นฝีที่บั้นท้ายจนผิวหนังเหี่ยวย่น หนองบวมเป่ง ผมบอกเด็กคนนั้นว่าอดทนหน่อยนะ จากนั้นก็กรีดหนองแตกกระเด็นมาโดนหน้าผม (หัวเราะ) สิ่งที่อยากบอกคือ คนต่างจังหวัดในสมัยนั้นลำบากมาก โรงพยาบาลหรืออนามัยก็ไม่ได้มีมากเหมือนวันนี้ ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไม่เสด็จฯไปทรงช่วยเหลือ ไม่รู้ว่าหลายพื้นที่ต้องอยู่ในสภาพนั้นอีกนานแค่ไหน เหมือนเจ้าเด็กน้อยคนนั้น พอรักษาเสร็จก็ยิ้มแป้นกลับบ้าน แล้วทุกครั้งที่คณะแพทย์ต้องรักษาชาวบ้านในพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระเมตตาต่อพวกเรามาก อย่างครั้งหนึ่งขณะที่ผมกำลังรักษาคนไข้อยู่ แต่ถึงเวลาที่พระองค์ต้องเสด็จฯกลับพระตำหนักแล้ว แต่เมื่อเห็นคณะแพทย์ยังทำงาน จึงรับสั่งถามผมว่า “อีกนานไหมหมอ” พอผมตอบว่า เหลือคนไข้อีก 3 คนพระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงพยักพระพักตร์ แล้วทรงพระดำเนินไปคุยกับผู้ว่าราชการต่อ พระองค์ทรงรอให้แพทย์ทุกคนทำงานจนเสร็จสมบูรณ์ แล้วจึงออกเดินทางกลับพระตำหนักพร้อมกัน ทั้งที่ความจริงแล้วจะเสด็จฯกลับก่อนก็ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้รับพระเมตตาอย่างสูงคือ ถ้าพื้นที่บางแห่งมีคนไข้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ เช่น ไทรอยด์ หรือเนื้องอกที่เต้านม แบบนี้ต้องส่งไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะนัดให้คนไข้ไปเวลาเช้ามากๆ เพราะช่วงบ่ายต้องตามเสด็จไปทรงงานต่อ แต่ความที่บางวันมีคนไข้ 3 – 4 เคส กว่าจะกลับถึงพระตำหนักก็บ่าย 2 โมง หิวข้าวซ่กเลย แต่นั่นเป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ต้องเสด็จฯออกไปทรงงานแล้ว พอความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงรับสั่งว่า อย่าเพิ่งให้หมอชูฉัตรตามเสด็จ ให้พักกินข้าวก่อน ประมาณ 3 โมงเราค่อยออกไป

คุณหมอชูฉัตรครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผมยังจำเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่สกลนครได้ ตอนที่พระองค์เสด็จฯถึง มีราษฎรรอรับเสด็จสองข้างทางยาวเหยียดเลย จู่ๆ มีชายคนหนึ่งกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า “ขอสตางค์พระเจ้าค่ะ” พวกเราที่ตามเสด็จก็ตกใจกันใหญ่ แต่พระองค์ทรงถามชายคนนั้นว่า “นายชื่ออะไร ทำอาชีพอะไร ทำไมจึงไม่มีเงิน เป็นคนของหมู่บ้านไหน อำเภออะไร” หลังจากนั้นรับสั่งให้ตามผู้ใหญ่บ้านกับกำนันมาพบ กลายเป็นเรื่องใหญ่โต พระองค์ไม่ได้ทรงเรียกคนเหล่านั้นมาต่อว่านะครับ แต่ทรงถามด้วยความเป็นห่วงว่า ทำไมชายคนนี้ไม่มีเงิน ถ้าเขามีอาชีพ ต้องมีรายได้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นห่วงราษฎรและทรงละเอียดมาก ทรงไม่ปล่อยผ่านแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อย พระองค์ตั้งพระทัยช่วยเหลือราษฎรให้มากที่สุดเท่าที่ทรงทำได้

อีกครั้งที่ภาคใต้ ผมจำไม่ได้ว่าจังหวัดอะไร มีราษฎรมารับเสด็จกันเนืองแน่น จนผมแอบคิดไม่ได้ว่าคนทั้งเมืองมาอยู่ที่นี่กันหมดหรือเปล่า ชาวบ้านหลายคนเข้ามากราบ ขอจับพระหัตถ์ไปกอด จับพระบาทลูบไปมา ไม่ว่าราษฎรจะแสดงความรู้สึกจงรักภักดีเนิ่นนานแค่ไหนก็รับสั่งไม่ให้กีดกันเวลาราษฎรเข้าเฝ้าฯ กระทั่งครั้งหนึ่งความที่มีชาวบ้านจำนวนมาก เล็บของสักคนข่วนโดนพระหัตถ์ขวาของพระองค์จนพระโลหิตไหล ผมเห็นพระองค์ทรงสะดุ้ง แต่ไม่ได้รับสั่งว่าอะไร เพียงแต่ทรงพระดำเนินมาหาผม เพื่อขอให้ใช้แอลกอฮอล์ล้างแผลและติดปลาสเตอร์ยาที่พระหัตถ์ หลังจากนั้นจึงทรงพระดำเนินกลับไปหาชาวบ้านต่ออีกเป็นเวลานาน

พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา ทำแผลให้ในหลวงรัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงขอให้คุณหมอชูฉัตรใช้แอลกอฮอล์ล้างแผลและติดปลาสเตอร์ยาที่พระหัตถ์

พอเล่าถึงเรื่องนี้ ทำให้ผมไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่าเพราะเหตุใดหลายปีที่ผ่านมานี้ เวลามีข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯมาประทับที่โรงพยาบาลศิริราช หรือวันที่เสด็จฯกลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จึงมีผู้คนมากมายไปนอนค้างคืนที่โรงพยาบาล เพื่อรอเข้าเฝ้าฯและถวายพระพรทรงพระเจริญ เพราะหลายสิบปีก่อนหน้านั้น พระองค์ทรงทำหลายสิ่งอย่างเพื่อประเทศไทยและคนไทย พระองค์ทรงมีแต่ให้อย่างแท้จริง

ที่มา : คอลัมน์สัมภาษณ์ นิตยสารแพรว  ฉบับที่ 871

เศร้าไม่แพ้กัน ชาวไทยในนิวยอร์กพร้อมใจกันออกมาส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย 

ถึงแม้จะอยู่กันคนละมุมโลก แต่ความรักที่ประชาชนชาวไทยมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั้นไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลย

หลังจากสำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนลงนามถวายความอาลัยที่ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง โดยเปิดให้ลงนามแต่เวลา 08.30 -16.00 น. และจะเปิดให้ลงนามถวายความอาลัย ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ บรรยากาศบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ช่วงเช้าได้มีประชาชนแต่งกายด้วยชุดดำมายืนเฝ้าอยู่รอบบริเวณรั้ววังเป็นจำนวนมาก แม้แต่คนไทยในต่างแดน เช่น รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้พร้อมใจกันออกมาร่วมส่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สู่สวรรคาลัย ณ บริเวณ Union Square ด้วยเช่นกัน

โดยบรรยากาศในงานต่างเต็มไปด้วยความโศกเศร้าไม่ต่างจากที่ไทย เพราะหลายคนที่ติดภาระกิจทำให้ไม่สามารถกลับไทยเพื่อส่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สู่สวรรคาลัยได้ จึงได้จัดงาน ณ บริเวณ Union Square ให้เป็นจุดรวมตัวของคนที่อยากมาไว้อาลัย บ้างก็นำดอกไม้ ธูปเทียนมากราบไหว้ บ้างก็ถือ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาร่วมส่งเสด็จด้วยเป็นจำนวนมาก และไม่ใช่แค่คนไทยในนิวยอร์กเท่านั้นที่มาร่วมไว้อาลัย แม้แต่ชาวต่างชาติก็ออกมาจุดเทียน และร่วมไว้อาลัยด้วยเช่นกัน

1

2

3

4

5

6

7

8

9

10

11

12

13
เรื่อง : saipiroon_แพรวดอทคอม
ภาพ : ชมรมคนไทยในนิวยอร์ก, Poupay Jutharat‎, Chaw Khana, here

89 เรื่องในหลวง สร้างแรงบันดาลใจ

89 เรื่องของในหลวง แรงบันดาลใจของพสกนิกรไทยทั้งชาติ

89 เรื่องในหลวง สร้างแรงบันดาลใจ
89 เรื่องในหลวง สร้างแรงบันดาลใจ

อันว่าพระนาม “ภูมิพล” แปลว่า กำลังของแผ่นดิน ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำให้พสกนิกรประจักษ์ชัดเสมอมาว่าพระองค์ทรงใช้ธรรมาภิบาลในการสร้าง “ชนเจริญ ชาติจรุง กรุงจรัส” อย่างแท้จริง

 

ในหลวง

 

‘สมเด็จย่า’ ต้นแบบแห่งชีวิต

  1. ตลอดระยะเวลาของการทรงเป็นยุวกษัตริย์ ในหลวงทรงเชื่อฟังพระราโชวาทของสมเด็จพระบรมราชชนนีเป็นอย่างดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นจอมปราชญ์ที่ทรงพระอัจฉริยภาพในหลากหลายศาสตร์ศิลป์นั้น ล้วนเกิดจากการน้อมนำเอาพระราโชวาทของพระราชมารดามาปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชปณิธานที่ทรงปรารถนาให้พสกนิกรไทยอยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้า
  2. ถ้อยรับสั่งสอนของสมเด็จย่าที่มีต่อในหลวงนั้น มักทรงเน้นย้ำในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมในด้านความรับผิดชอบเป็นหลัก ดังพระราโชวาทหนึ่งที่มีความว่า “ในครอบครัวเรา ความรับผิดชอบเป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนอันแรกคือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย ถ้าไม่มีความรับผิดชอบจะไปช่วยเมืองไทยได้อย่างไร…”
  3. ทุกครั้งที่สมเด็จย่าตรัสสอนไม่ว่าเรื่องใด ในหลวงจะทรงนำกระดาษมาจดและมีพระราชดำรัสตอบว่า “อยากฟังแม่สอนอีก” อยู่เสมอ

89 เรื่องในหลวง สร้างแรงบันดาลใจ

 

‘วินัย อดออม ให้’ พร 3 ประการ คัมภีร์แห่งความพอเพียง

  1. ในหลวงทรงเป็นตัวอย่างของการรู้จักอดออม เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ได้กราบทูลสมเด็จย่าว่าอยากได้รถจักรยาน เพราะเพื่อนคนอื่นๆ เขามีกัน สมเด็จย่ารับสั่งตอบว่า “ลูกอยากได้ก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มาก ค่อยเอาไปซื้อ”
  2. เมื่อพระชนม์เพียง 8 พรรษา ในหลวงทรงซื้อกล้องถ่ายรูปกล้องแรกด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์
  3. ในหลวงทรงได้ค่าขนมอาทิตย์ละครั้ง กระนั้นพระองค์ก็ยังทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย และเมื่อทรงได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม
  4. ความมัธยัสถ์ถือเป็นคุณูปการสำคัญที่ทำให้ในหลวงทรงเรียนรู้หลักความพอเพียงสมถะมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ จนกระทั่งสมเด็จย่ามีพระดำรัสในเวลาต่อมาว่า “ในสวนจิตรเนี่ย คนที่ประหยัดที่สุดคือ ในหลวง ประหยัดที่สุดทั้งน้ำ ทั้งไฟ เรื่องฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไม่มี”
  5. ในหลวงทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก “การให้” โดยสมเด็จย่าทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า “กระป๋องคนจน” เอาไว้ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก “เก็บภาษี” หยอดใส่กระปุกนี้ 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุม เพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนคนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้าหรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน
  6. ตราบจนเสด็จขึ้นครองราชย์ ในเรื่องของใช้ส่วนพระองค์ พระองค์ก็ยังทรงไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องใช้ของแพง หรือต้องเป็นแบรนด์เนม ไม่โปรดสวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่างๆ ยกเว้นนาฬิกา
  7. เรื่องหนึ่งที่มีคนพูดกันแพร่หลาย แต่ความจับจิตจับใจก็ไม่เคยเสื่อมคลาย นั่นคือเรื่องหลอดยาสีพระทนต์ที่พระองค์ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดที่ปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด ซึ่งเป็นผลจากพระองค์ทรงใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีด และกดเป็นรอยบุ๋มนั่นเอง
  8. พระองค์ไม่โปรดการใช้ปากการาคาแพง ในปีหนึ่งๆ ทรงเบิกดินสอแค่ 12 แท่งเท่านั้น โดยใช้เดือนละแท่งจนกุด
  9. อาจพูดได้ว่า การถวายของแด่ในหลวงนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นของแพง อะไรที่มาจากน้ำใจจะทรงใช้ทั้งนั้น
  10. ในหลวงทรงงานด้วยพระองค์เองทุกอย่าง แม้กระทั่งการโรเนียวกระดาษที่จะนำมาให้ข้าราชการที่เข้าเฝ้าฯถวายงาน
  11. ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์อเมริกาลงข่าวลือเกี่ยวกับพระองค์ว่าแซ็กโซโฟนที่ทรงอยู่เป็นประจำนั้นทำด้วยทองคำเนื้อแท้บริสุทธิ์ จึงมีพระราชดำรัสว่า “อันนี้ไม่จริงเลย สมมุติว่าจริงก็จะหนักมาก ยกไม่ไหวหรอก”

 พระราชาผู้ทรงธรรม

 

พระราชาผู้ทรงธรรม

  1. ช่วงเวลาที่ทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2499 ถือเป็นช่วงเวลาของการบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมในพระราชหฤทัยได้อย่างดียิ่ง ซึ่งเป็นไปตามพระราชปณิธานที่ตั้งมั่นในการทรงผนวชมาก่อนหน้านี้แล้วว่า “…พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเรา ทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้าเอง ก็เห็นเป็นศาสนาดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอนอันชอบธรรม คำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล ซึ่งเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณี…”
  2. แม้พระองค์ทรงผนวชในระยะเวลาอันสั้น แต่ธรรมะที่ทรงน้อมนำมาใช้ในการปกครองไพร่ฟ้าประชาชนกลับสืบทอดยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่ได้ทรงผนวชด้วยพระวรกายแค่เพียงอย่างเดียว ทว่ากลับทรงผนวชด้วยพระราชหฤทัยที่ถึงพร้อม ดังพระโอวาทของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ความว่า “…การทรงผนวชวันนี้เป็นประโยชน์มาก…บวชด้วยกายอย่างหนึ่ง บวชด้วยใจอย่างหนึ่งถ้าทั้งสองอย่างผสมกันเข้าแล้วจะเป็นกุศล…”
  3. ในหลวงทรงมีความสนพระราชหฤทัยในธรรมะชั้นสูงในขั้นปฏิบัติกรรมฐาน เพื่อให้ทรงมีสมาธิตั้งมั่นอยู่กับการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรได้อย่างเต็มพระกำลัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักบำเพ็ญธรรมส่วนพระองค์ไว้ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นสถานที่วิเวก เหมาะอย่างยิ่งแก่การเจริญภาวนา ทั้งนี้ทรงปฏิบัติสมาธิเป็นประจำและประทับเป็นเวลานานด้วย
  4. ก่อนที่จะทรงงานทุกครั้ง พระองค์จะเสด็จเข้าห้องสวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิจิตใจให้สงบระยะหนึ่งแล้วจึงทรงงาน ทรงเคยมีพระราชปรารภว่า การที่พระองค์ทำเช่นนั้นรู้สึกว่างานได้ผลดี เพราะเมื่อมีสมาธิในการทำงาน งานที่ทำก็ทำได้อย่างมีระเบียบเรียบร้อยได้คุณภาพดี และจิตใจก็ปลอดโปร่งแจ่มใสด้วย
  5. ในหลวงมีพระราชจริยวัตรที่พิเศษอีกประการหนึ่งซึ่งคนทั่วไปปฏิบัติได้ยากคือ ในคืนวันธรรมสวนะ (วันพระ) พระองค์จะทรงรักษาอุโบสถศีลอย่างเคร่งครัด
  6. ทุกวันจันทร์พระองค์จะทรงถวายสังฆทานเป็นนิตย์ ด้วยตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ ซึ่งราชกิจวัตรนี้ได้ทรงกระทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยทรงอาราธนาพระสงฆ์จากวัดต่างๆ มารับสังฆทานภายในพระตำหนัก
  7. ยามใดที่มีพระอาจารย์ที่มีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใสเดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานคร พระองค์จะทรงอาราธนาภิกษุเข้าไปแสดงธรรมหรือร่วมสนทนาธรรมในพระราชฐานทุกครั้ง
  8. ทาน หรือการให้ของในหลวงมีอยู่หลากหลายรูปแบบ ซึ่งทานประเภทแรกที่พระองค์พระราชทานให้แก่นิกรชนมาโดยตลอดคือ “ธรรมทาน” เห็นได้จากหลายหลากพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่มีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรทุกวุฒิวัยน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ คุณธรรมด้านความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลา ความมีเมตตา และความเสียสละ เป็นต้น
  9. ทรงเปี่ยมไปด้วยพระราชจริยวัตรที่สุขุมคัมภีรภาพ มีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกรอย่างเป็นกันเองและไม่ทรงถือพระองค์ถึงแม้บุคคลผู้นั้นจะต่างชั้นชนหรือมีฐานะยากจนสักเพียงไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสงฆ์หรือนักบวชในแต่ละศาสนา พระองค์จะทรงให้เกียรติเป็นอย่างมาก ดังเช่นตอนที่องค์กรพุทธศาสนาฝ่ายฆราวาสในประเทศไทยได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์จากต่างประเทศเข้ามาถวายพระพร ในพิธีนี้พระเถระชั้นผู้ใหญ่เข้ามาเป็นประธานในพิธีด้วย กล่าวคือ สมเด็จพระญาณสังวรและสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่ามกลางเถรานุเถระมากมาย พระองค์ทรงพระดำเนินเข้าไปตรงที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช พร้อมทรงคุกเข่าลงนมัสการ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการ เถรานุเถระทั้งหลายต่างสรรเสริญชื่นชมในพระราชจริยวัตรอันอ่อนโยนว่า “เกิดมาไม่เคยเห็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรุดพระองค์ลงกราบพระภิกษุ ที่บ้านเมืองเขาไม่เคยเห็น เป็นที่ประทับใจมาก”
  10. ในหลวงทรงเป็นผู้ครองธรรมโดยแท้ ทรงเปี่ยมไปด้วยสายธารพระราชหฤทัย อันเป็นดั่งน้ำใส ดับไฟแห่งความโกรธให้กลับเยือกเย็นสุขุมคัมภีรภาพ ทรงแก้ไขสรรพปัญหาบนพื้นฐานของความมีเหตุผลมากกว่าอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์พิโรธอันเป็นบ่อเกิดแห่งหายนะนั้นไม่เคยทรงบังเกิดขึ้นเลยในน้ำเนื้อ เพราะทรงครองสติสัมปชัญญะเป็นที่ตั้ง
  11. บทเพลงพระราชนิพนธ์ แสงเทียน ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมานั้น ทรงอุปมาแสงเทียนเสมือนชีวิตของมนุษย์ที่ทุกคนเกิดมาล้วนต้องตาย เพราะสังขารคือสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ อันประกอบด้วย “อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา” ตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา อนึ่ง คำร้องในบทเพลงพระราชนิพนธ์นี้ยังชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการกระทำ หากผู้ใดกระทำกรรมดีย่อมได้รับผลดีเป็นการตอบแทน แต่หากผู้ใดคิดต่ำ ทำชั่ว ย่อมทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานเป็นเงาตามตัว สอดรับกับคำร้องท่อนหนึ่งของบทเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า “โอ้ชีวิตหนอล้วนรอความตายทุกคน หลีกไปไม่พ้นทุกข์ทนอาทรร้อนใจต่างคนเกิดแล้วตายไป ชดใช้เวรกรรมจากจร นิจจังสังขารนั้นไม่เที่ยงเสี่ยงบุญกรรม ทุกคนเคยทำกรรมไว้ก่อน”

 

ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

  1. แม้ในหลวงจะทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะ หรือธรรมทายาททางพระพุทธศาสนา แต่ก็ทรงดำรงพระองค์ในฐานะอัครศาสนูปถัมภกควบคู่กันไปด้วย เพราะทรงให้อิสระแก่ราษฎรในการเลือกครรลองเสริมสร้างความปกติสุขในชีวิตด้วยหลักคำสอนของแต่ละศาสนาอย่างเท่าเทียม ด้วยทรงตระหนักดีว่า จุดมุ่งหมายของแต่ละศาสนาล้วนแล้วแต่ปรารถนาให้ศาสนิกชนดำรงตนเป็นคนดี มีจริยธรรมด้วยกันทั้งสิ้น นี่เป็นเหตุว่า ทำไมพระองค์จึงทรงส่งเสริมทะนุบำรุงทุกศาสนาโดยทั่วถึงกันมาตลอด
  2. ครั้งหนึ่งในหลวงมีพระราชกระแสให้จุฬาราชมนตรีแปลความหมายของคัมภีร์อัลกุรอานจากฉบับภาษาอาหรับให้เป็นภาษาไทยและได้พิมพ์แจกจ่ายแก่มัสยิดหลายแห่งทั่วราชอาณาจักร โดยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอานตอนหนึ่ง ความว่า “…คัมภีร์อัลกุรอานมิใช่จะเป็นคัมภีร์สำคัญในศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ยังเป็นวรรณกรรมสำคัญของโลกเล่มหนึ่ง ซึ่งมหาชนยกย่องและได้แปลเป็นภาษาต่างๆ การแปลออกเผยแพร่เป็นภาษาไทยครั้งนี้ เป็นการสมควรชอบด้วยเหตุผลอย่างแท้จริง เพราะจะเป็นการช่วยเหลือในอิสลามิกบริษัทในประเทศไทยที่ไม่รู้ภาษาอาหรับ ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะในศาสนาได้สะดวกและแพร่หลาย”

ทรงพระอัจฉริยภาพในศาสตร์และศิลป์

ทรงพระอัจฉริยภาพในศาสตร์และศิลป์

ทรงพระอัจฉริยภาพในศาสตร์และศิลป์

  1. ในหลวงทรงสนพระทัยการวาดภาพตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาและฝึกหัดการวาดภาพ ด้วยการทรงซื้อตำราการเขียนภาพมาศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง และทรงฝึกหัดวาดภาพเรื่อยมา กระทั่งเสด็จนิวัตประเทศไทยก็โปรดให้จิตรกรที่มีความสามารถเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อให้เหล่าศิลปินร่วมโต๊ะเสนอและทรงให้แต่ละบุคคลวิจารณ์ผลงานฝีพระหัตถ์ ซึ่งทรงเปิดพระทัยรับคำติชมอย่างไม่มีอคติ
  2. เมื่อพระองค์เสด็จฯไปยังที่ใดก็มักจะทรงนำกล้องถ่ายภาพติดพระองค์เสมอ โปรดที่จะถ่ายภาพบันทึกความก้าวหน้าของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่เนืองๆ และบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ทรงสนับสนุนให้ใช้การถ่ายภาพเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือสังคม ไม่ใช่เพียงเพื่อบันทึกความสวยงามหรือเพียงเพื่อความรื่นเริงใจ ดังพระราชดำรัสว่า…“ศิลปะเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาประเทศได้อีกทางหนึ่ง”
  3. การถ่ายภาพยนตร์ เป็นอีกพระอัจฉริยภาพหนึ่งของในหลวงโดยเมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครนั้นทรงนำกล้องถ่ายภาพยนตร์มาทรงถ่ายประชาชนที่เฝ้าฯรับเสด็จอยู่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ทรงริเริ่มให้สร้างภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีคือ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ซึ่งได้มีการจัดฉายเพื่อหารายได้จากผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลโดยทรงนำไปช่วยเหลือพสกนิกรในด้านต่างๆ เช่น สภากาชาดไทย โรงพยาบาลภูมิพล กิจกรรมป้องกันรักษาโรคโปลิโอ เป็นต้น
  4. ในหลวงทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องดนตรีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงศึกษาวิชาดนตรีขั้นพื้นฐานอย่างจริงจังตามคำแนะนำจากพระอาจารย์อย่างเข้มงวดนานกว่า 2 ปี ทรงได้รับการฝึกฝนตามแบบการดนตรีอย่างจริงจัง เครื่องดนตรีที่โปรดคือเครื่องเป่าทุกชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ต และยังทรงกีตาร์ ทรงเปียโนได้ด้วย โปรดการทรงดนตรีมาก โดยเฉพาะดนตรีแจ๊ส ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีประเภทนี้มาก โดยหนังสือพิมพ์ โฮโนลูลู แอดเวอร์ไทซิ่ง ได้ถวายพระนามว่าพระองค์ทรงเป็น “ราชาแห่งดนตรีแจ๊ส”
  5. ในหลวงทรงตั้งวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ สำหรับการทรงดนตรีกับวงนี้ เพื่อพระองค์จะได้ทรงใช้เวลานี้เป็นการทรงพระสำราญพระอิริยบถและบรรเลงดนตรีออกอากาศเผยแพร่ทางสถานีวิทยุ อ.ส.ที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารกับพสกนิกรของพระองค์ในอีกทางหนึ่ง

ทรงอุทิศทั้งชีวิตเพื่ออาณาประชาราษฎร์

 

ทรงอุทิศทั้งชีวิตเพื่ออาณาประชาราษฎร์

  1. หลังขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้เสด็จฯกลับไปยังสวิสอีกครั้ง เพื่อทรงศึกษาวิชากฎหมายและการปกครอง เนื่องจากต้องรับพระราชภาระเป็นพระมหากษัตริย์ ในด้านวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ทรงตั้งพระทัยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศเกี่ยวกับพื้นฐานและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ เพื่อนำมาเป็นแนวปรับปรุงแก้ไขประเทศไทยให้เจริญขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
  2. ทรงเป็นตัวอย่างของผู้ที่เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมอย่างแท้จริง ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ คอยบำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกรมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะทรงถือว่า “การให้และการเสียสละเป็นการกระทำอันมีผลกำไร” กล่าวคือ กำไรแห่งความอยู่ดีมีสุขของปวงประชา ซึ่งไม่สามารถประเมินเป็น “มูลค่า” แต่กลับมี “คุณค่า” ทางจิตใจมากกว่าเข้าทำนองที่ว่า “ขาดทุนคือกำไร”
  3. ในหลวงทรงมีความเพียรพยายามอันเป็นหนึ่งในคุณธรรมจริยธรรมที่บริบูรณ์ยิ่ง สังเกตได้จากหลากหลายโครงการพระราชดำริที่ทรงริเริ่มขึ้น ล้วนประสบสัมฤทธิผลได้ด้วยพระราชวิริยอุตสาหะเป็นสำคัญ สอดคล้องกับวิริยบารมีของพระโพธิสัตว์ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง มหาชนก แปลว่า “พ่อผู้ยิ่งใหญ่” ซึ่งมีพระราชประสงค์ในการปลูกฝังให้คนไทยทุกภาคส่วนมีความเพียรพยายามในการทำงานและทำความดี สอดคล้องกับพระราชปรารภที่ว่า “ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์”
  4. พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เคยเล่าถึงการจดจ่อทรงงานของในหลวงว่า “พระองค์ทรงประยุกต์พระสมาธิในการประกอบพระราชกรณียกิจทุกอย่างทั้งน้อยและใหญ่ จึงทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนัก ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้โดยไม่ทรงสะทกสะท้านหรือหวั่นไหว ไม่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไปไกลๆ อย่างเลื่อนลอยและเปล่าประโยชน์ ไม่ทรงอาลัยอดีตหรืออนาคต ไม่ทรงเสียเวลาหวั่นไหวไปกับความสำเร็จ หรือความล้มเหลวอันเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทรงจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทรงสนพระราชหฤทัยอยู่แต่กับพระราชกรณียกิจเฉพาะพระพักตร์เท่านั้น
  5. ในหลวงทรงตระหนักอยู่เสมอว่า ความทุกข์ยากของพสกนิกรย่อมเปรียบเสมือนความทุกข์ยากของพระองค์เอง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนไทยจึงมักเห็นภาพพระพักตร์ของพระองค์ที่เต็มไปด้วยหยาดพระเสโท อันเป็นผลมาจากความตรากตรำพระวรกาย จนไพร่ฟ้าประชาชนต่างกล่าวขานกันว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ทรงเอาพระราชหฤทัยจดจ่อไม่ทรงยอมให้ขาดจังหวะจนกว่าจะเสร็จ และไม่ทรงทิ้งขว้างแบบทำ หยุดๆ ดังนั้นพระราชกรณียกิจทั้งหลายนั้นจึงสำเร็จลุล่วงไปเป็นส่วนใหญ่
  6. ภาพที่พระองค์มักทรงถือแผนที่ด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงจับปากกา พระศอสะพายกล้องถ่ายรูป ได้กลายเป็นภาพที่ชินตาและอยู่ในหัวใจของราษฎรไทยทุกภาคส่วน อุทิศพระองค์เพื่อทรงงานหนัก โดยไม่ทรงเห็นแก่ความตรากตรำพระวรกาย ในบางครั้งรถพระที่นั่งต้องฝ่าเข้าไปในกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก หากรถไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำได้ พระองค์ก็เสด็จฯลงจากรถเพื่อทรงพระดำเนินต่อไปด้วยสองพระบาท
  7. พระองค์มีพระราชประสงค์ในการใช้ “สายพระเนตร”สอดส่องสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตราษฎร ใช้ “สองพระกรรณ”สดับรับฟังความเดือดร้อนของพสกนิกรจากปากของพวกเขาเอง แล้วทรงใช้ “พระปัญญา” คิดวิเคราะห์หาแนวทางในการแก้ไขปัญหา จากนั้นทรงใช้ “พระหัตถ์” ลงมือปฏิบัติทดลองด้วยพระองค์เอง ทั้งหมดนี้ด้วยทรงเล็งเห็นว่าความทุกข์ยากของประชาชนนั้น หากไม่ลงมือแก้ไขให้เป็นรูปธรรมก็ย่อมไม่เกิดคุณประโยชน์อันใดขึ้นมา
  8. ทุกครั้งที่เสด็จฯไปเยี่ยมเยือนราษฎรในท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จะทรงไต่ถามทุกข์สุขหรือความต้องการของประชาชน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกร ทรงมีเป้าหมายหลักคือ ต้องการเห็นประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่ผู้อื่น
  9. ในหลวงมีพระราชภาระอันใหญ่ยิ่งในการดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรทั่วทั้งประเทศ ซึ่งการทรงงานของพระองค์นั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้ในยามที่ทรงพระประชวรก็ยังไม่เคยละเว้นจากการปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะพ่อแห่งแผ่นดินที่ต้องดูแลลูกไทยมากกว่าหกสิบล้านคนให้อยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้า ดังเหตุการณ์เมื่อปี 2518 พระองค์ทรงพระประชวรด้วยเชื้อไมโคพลาสมา พระอาการหนักมากจนเป็นที่วิตกของคณะกรรมการแพทย์ที่ถวายการรักษา แต่ทรงห่วงใยราษฎรมากกว่าความปลอดภัยของพระองค์เอง ถึงกับรับสั่งกับนายแพทย์ว่า “จะใช้เวลารักษานานเท่าไร ขอรอไว้ก่อนนะ ฉันทนได้ วันนี้ขอไปดูราษฎรและช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมก่อน”
  10. ในหลวงทรงมีกระบวนการพระราชดำริอย่างเป็นระบบและมีเหตุผล เห็นได้จากพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองหลายกรณี อาทิ แนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวพระราชดำริ “บวร” หมายถึง บ้าน วัด และโรงเรียน เพื่อร่วมสร้างความสมานฉันท์ภายในสังคม แม้แต่แนวพระราชดำริ “ระเบิดจากข้างใน” ก็เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาชุมชนจากภายในสู่ภายนอกสังคมตามลำดับ
  11. ครั้งหนึ่งที่พระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยมโครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเปียกฝนกันทุกคน เมื่อทรงเห็นดังนั้นจึงรับสั่งให้องครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงเยี่ยมข้าราชการและราษฎรทั้งกลางสายฝน
  12. ในหลวงทรงนึกถึงแต่ประชาชน แม้กระทั่งวันที่พระองค์ทรงกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลังเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ก็ยังรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งคอมพิวเตอร์เดินสายออนไลน์ไว้เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ เพื่อพระองค์จะได้ทอดพระเนตรมอนิเตอร์เผื่อน้ำท่วมจะได้ช่วยเหลือทัน
  13. ในหลวงทรงตระหนักว่าทุกข์ที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นั้นเป็นทุกข์ดังพุทธพจน์ที่ว่า “อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคย่อมเป็นลาภอันประเสริฐ ทำให้พระองค์ทรงส่งเสริมพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของไทยให้เกิดความเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง
  14. ครั้งหนึ่งพระองค์มีพระราชดำรัสว่า “ข้าวกล้องมีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวเม็ดสวยแต่เขาเอาของดีออกไปหมดแล้ว มีคนบอกว่าคนจนกินข้าวกล้อง เรากินข้าวกล้อง เรานี่ก็คนจน” สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ราษฎร ไม่เว้นกระทั่งเรื่องสุขอนามัย
  15. ในหลวงทรงให้ก่อตั้ง “มูลนิธิชัยพัฒนา” เพื่อสนับสนุนส่งเสริมโครงการหรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการพัฒนาตนเองและพัฒนาชุมชน จนกระทั่งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สอดรับกับพระราชดำรัสเกี่ยวกับมูลนิธิชัยพัฒนาตอนหนึ่งความว่า “มูลนิธิชัยพัฒนาซึ่งมีหน้าที่ที่เขาตั้งไว้สำหรับมูลนิธิ ให้พัฒนาประเทศจนมีชัยชนะ ชัยของการพัฒนานี้มีจุดประสงค์คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดีของประชาชน…”
  16. ในหลวงทรงมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในระดับรากหญ้าตามพื้นที่ชนบท ด้วยทรงเล็งเห็นว่า ความเป็น “รากหญ้า” ย่อมเต็มเปี่ยมด้วย “รากเหง้า” ทางภูมิปัญญาอันเป็น “รากฐาน” ทางสังคมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อุปมาดั่งต้นไม้ที่มี “รากแก้ว” ซึ่งสามารถเจริญเติบโตไปเป็น “รากแกร่ง” ที่ลำเลียงธาตุอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้นจนแตกกิ่งก้านสาขาผลิร่มเงาได้อย่างยั่งยืน เป็นที่มาของโครงการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ โดยมีพระราชประสงค์ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งจนชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
  17. โครงการตามพระราชดำริทุกโครงการล้วนเกิดขึ้นจากพระราชหฤทัยที่ทรงพระเมตตาต่อพสกนิกรเป็นสำคัญ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า “…การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศ ทางภูมิศาสตร์ และทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศตามสังคมวิทยาคือนิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราต้องเข้าไปช่วย โดยที่จะดัดเขาให้เข้ากับเราไม่ได้ แต่เราต้องเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ หลักการของการเข้าไปพัฒนาจึงจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง”
  18. บทเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด เป็นอีกบทเพลงหนึ่งที่แฝงเร้นไว้ด้วยหลักธรรมคำสอน มุ่งปลูกฝังให้ประชาชนเรียนรู้ที่จะตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน ดังเนื้อร้องตอนหนึ่งที่ว่า “นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง หมายผดุงยุติธรรมอันสดใส ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน”
  19. ครั้งหนึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลถามว่า เคยทรงเหนื่อยทรงท้อบ้างหรือไม่ ทรงตอบว่า “ความจริงมันน่าท้อถอยอยู่หรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านเมือง คือความสุขของคนไทยทั้งประเทศ”
  20. เรียกได้ว่าตลอดพระชนมายุ ในหลวงทรงยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อมวลพสกนิกรไทย โดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทนอื่นใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความโปร่งใสแห่งห้วงพระราชหฤทัยที่ใฝ่เมตตาธรรมเป็นสำคัญ

 

การศึกษาคือสิ่งที่ทำให้ประเทศยั่งยืน

  1. ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีพระมหากษัตริย์พระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง แน่นอนว่าปัญญาชนที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีย่อมมีปริมาณมากมายมหาศาล บ่งชี้ถึงพระราชภาระในการยื่นพระหัตถ์เพื่อส่งมอบพระราชภาระให้แก่ปัญญาชนได้มีส่วนช่วยแบ่งเบาความทุกข์ยากของประชาชน ด้วยการนำวิชาความรู้กลับไปใช้ในการพัฒนาแผ่นดินถิ่นมาตุภูมิ ซึ่งการได้รับฟังพระบรมราโชวาทและรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระองค์ ย่อมถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดในชีวิต อีกทั้งยังสร้างขวัญและกำลังใจให้สำเร็จการศึกษาไปเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศชาติให้เกิดความเจริญมั่นคง
  2. ในหลวงมีพระราชปณิธานเด่นชัดว่า “การสร้างศรัทธานิยมด้วยปัญญาย่อมดีกว่าการสร้างประชานิยมด้วยวัตถุ” เพราะถ้าหากเราช่วยเหลือประชาชนด้วยการให้แต่วัตถุสิ่งของ ย่อมเป็นการให้ที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งตรงกันข้ามกับการให้วิชาอาชีพที่ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่ผู้อื่นและสังคม ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมั่นคงถาวรมากกว่า สอดรับกับพุทธภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
  3. “โรงเรียนพระดาบส” เป็นการศึกษานอกระบบที่ทรงริเริ่มก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความปรารถนาของราษฎรไทยที่ต้องการมีวิชาความรู้แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยพระองค์ได้พระราชทานสถานที่และทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย และมีข้อตกลงสำคัญคือ การดำเนินงานของโรงเรียนพระดาบสจะต้องเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องไม่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงด้านธุรกิจ ซึ่งสาระวิชาที่โรงเรียนพระดาบสเปิดการเรียนการสอนมักเกี่ยวข้องกับการอาชีพในหลากหลายสาขา เพื่อให้ศิษย์ของพระดาบสที่สำเร็จการศึกษาออกไปสามารถนำวิชาความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบสัมมาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว

 

ทรงเห็นคุณค่าของหนังสือและภาษาไทย

  1. แม้ในหลวงจะทรงเจริญพระชันษาในต่างประเทศ ทรงศึกษาวิชาการโดยทรงใช้ภาษาอื่นๆ แต่ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงมีพระราชดำริในเรื่องภาษาไทยและการใช้ภาษาไทยที่ก่อให้เกิดความตื่นตัวในการอนุรักษ์ภาษาไทยให้มีแบบแผนไม่ผิดเพี้ยนไปตามความสะดวกหรือตามความพอใจของผู้ใช้ภาษา ทรงให้ความสำคัญถึงกับเสด็จฯไปทรงร่วมการประชุมของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 มีพระราชดำรัสที่แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยที่ทรงมีต่อภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เริ่มมีการปรับตัวเข้ากับภาษาและวัฒนธรรมต่างชาติ ดังความตอนหนึ่งว่า “เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองมาแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้”
  2. ในหลวงทรงเป็นนักอ่าน รวมทั้งทรงสนับสนุนให้เห็นคุณค่าของการอ่านอย่างมาก ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า “…หนังสือเป็นเหมือนคลังที่รวบรวมเรื่องราว ความรู้ ความคิด วิทยาการทุกด้านทุกอย่าง ซึ่งมนุษย์ได้เรียนรู้ ได้คิดอ่าน และเพียรพยายามบันทึกภาษาไว้ด้วยลายลักษณ์อักษร หนังสือแพร่ไปถึงที่ใด ความรู้ ความคิดก็แพร่ไปถึงที่นั่น หนังสือจึงเป็นสิ่งมีค่าและมีประโยชน์ที่จะประมาณมิได้ในแง่ที่เป็นบ่อเกิดการเรียนรู้ของมนุษย์…”
  3. พระราชนิพนธ์แปล นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นเรื่องราวของสัตบุรุษผู้มีความเสียสละ กล้าหาญ ยอมอุทิศชีวิตของตนเองเพื่อความถูกต้องยุติธรรม โดยไม่มุ่งหวังว่าจะมีผู้ใดมารับรู้ความดีของตนเข้าทำนองที่ว่า “ปิดทองหลังพระ” ถือเป็นพระราชนิพนธ์เตือนใจให้ประชาชนไทยทุกภาคส่วนได้ตระหนักว่าการทำความดีย่อมเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าความดีที่ทำนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่มหาศาล เราสามารถทำความดีได้ในทุกกาล ทุกสถาน และทุกโอกาส ถึงแม้ว่าความดีที่เราทำนั้นจะไม่มีใครรู้เห็น แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมได้แก่ความสุขกายสบายใจ

พระเมตตาต่อผู้พิการ

  1. ในหลวงทรงห่วงใยคุณภาพชีวิตของ “คนพิการ” ในฐานะทรัพยากรบุคคลที่มีความบกพร่องทั้งทางร่างกายและสติปัญญา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่พระราชทานโอกาสให้คนพิการ ทั้งที่พิการทางกาย ทางจิต และทางสังคมได้เข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังทรงพระกรุณาเสด็จฯไปทรงเยี่ยมคนพิการ มีพระราชปฏิสันถารและพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่คนพิการมาโดยตลอด
  2. เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบว่าโรคไขสันหลังอักเสบ ซึ่งระบาดในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2495 ทำให้เกิดความพิการถาวรที่แขน ขา และลำตัว ทำให้กล้ามเนื้อลีบเคลื่อนไหวไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีจะมีอันตรายถึงชีวิตได้ และถึงแม้พ้นขีดอันตรายก็มักเป็นอัมพาต จำเป็นต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟู จึงพระราชทานทุนประเดิมสำหรับจัดตั้ง “ทุนโปลิโอสงเคราะห์” ขึ้น และให้สถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต ออกประกาศชักชวนประชาชนโดยเสด็จพระราชกุศลได้เงินจำนวนมาก ส่งไปพระราชทานแก่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและโรงพยาบาลศิริราช เพื่อนำไปสร้างตึกและจัดซื้อเครื่องอุปกรณ์เครื่องเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย
  3. ในสมัยที่ประเทศไทยยังมีโรคเรื้อนเป็นภัยคุกคาม เมื่อพระองค์ทรงทราบปัญหาและอุปสรรคในเรื่องการรักษาและป้องกันโรคจากอธิบดีกรมอนามัย จึงได้พระราชทานเงินจากกองทุนอานันทมหิดล เพื่อขยายสถานพยาบาลที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งทำการวิจัยเรื่องโรคเรื้อน โปรดเกล้าฯให้ขยายงานออกไปทำในภาคอีสาน รวมทั้งได้เสด็จฯ ด้วยเรือยนต์พระที่นั่งไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารใหม่ และทรงเยี่ยมเยือนผู้ป่วยโรคเรื้อน ต่อมาได้พระราชทานชื่อโรงพยาบาลใหม่ จากโรงพยาบาลโรคเรื้อนเป็น “สถาบันราชประชาสมาสัย” มีความหมายว่า “พระราชากับประชาชนมีความสมัครสมานพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน”
  4. ในหลวงพระราชทานโอกาสให้นักเรียนตาบอดมาร่วมขับร้องเพลงบันทึกเสียงออกอากาศทางวิทยุ โดยเสด็จฯมาทรงบันทึกเสียงด้วยพระองค์เอง ทรงสอนดนตรีพระราชทานแก่คนตาบอดหลายรายประกอบกับพระราชทานบทเพลงพระราชนิพนธ์ให้เป็นเพลงประจำโรงเรียนคนตาบอดกรุงเทพฯ คือ เพลงพระราชนิพนธ์ ยิ้มสู้ เพราะมีพระราชประสงค์ให้กำลังใจแก่พสกนิกรคนพิการที่ด้อยโอกาสและขาดการยอมรับจากคนในสังคม ให้มีกำลังใจในการดำรงชีวิตต่อไปอย่างมีคุณค่า เพราะคนพิการต่างมีความรู้ความสามารถไม่น้อยไปกว่าคนปกติธรรมดาทั่วไป หากสมาชิกในสังคมให้โอกาสและเคารพในสิทธิของกันและกัน สมดังใจความดังปรากฏในเนื้อร้องของบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ว่า “คนเป็นคน จะจนหรือมี ร้ายหรือดีคงมีหวังอยู่ ยามปวงมารมาพาลลบหลู่ ยิ้มละมัยใจสู้หมู่มวลเภทภัย”
  5. ทรงพระราชดำรัสถึงคนพิการได้อย่างลึกซึ้งกินใจมากว่า “งานช่วยเหลือผู้พิการมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าผู้พิการมิได้เป็นผู้ที่อยากจะพิการ แต่อยากช่วยตนเอง ถ้าเราไม่สามารถช่วยเขาให้สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไร เพื่อมีชีวิตและมีเศรษฐกิจของครอบครัว จะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัว หนักแก่สังคม ฉะนั้น นโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยเขาให้ช่วยตัวเองได้ เพื่อที่จะให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม…”
  6. “โรงพยาบาลราชานุกูล” เป็นชื่อที่พระราชทานใหม่แทน“โรงพยาบาลปัญญาอ่อน” ในโอกาสที่พระราชทานเงินรายได้จากการฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์เมื่อปี 2507 ให้สร้างอาคารขึ้นในเขตโรงพยาบาลและเสด็จฯไปทรงเปิดอาคาร ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแผ่ปกเกล้าฯไปถึงเด็กและผู้ปกครองของเยาวชนที่มีความบกพร่องทางปัญญา ยังความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้แก่พสกนิกรคนพิการทั้งชาติ

 

พระเมตตาต่อสัตว์และธรรมชาติ

พระเมตตาต่อสัตว์และธรรมชาติ

  1. ในหลวงทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาต่อสัตว์โลก เห็นได้ชัดจากสุนัขทรงเลี้ยงที่ชื่อว่า “ทองแดง” ซึ่งเคยเป็นสุนัขจรจัดบริเวณซอยศูนย์แพทย์พัฒนา ถนนพระราม 9 มาก่อน โดยนายแพทย์ท่านหนึ่งได้นำคุณทองแดงมาทูลเกล้าฯถวายให้ทอดพระเนตร ซึ่งพระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นสุนัขทรงเลี้ยงโดยมิได้ทรงรังเกียจว่าเป็นสุนัขที่ด้อยคุณค่าผิดจากค่านิยมของชนชั้นสูงทั่วไปในสังคมที่มักเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีสายพันธุ์มาจากต่างประเทศและมีราคาแพง คุณทองแดงจึงนับเป็นการปลุกกระแสให้คนไทยหันมารักสุนัขสายพันธุ์ไทยกันมากยิ่งขึ้น โดยลูกทั้งเก้าของคุณทองแดงได้รับพระราชทานนามเป็นชื่อขนมไทยที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทอง”ทั้งเก้าชนิด และได้พระราชทานนามสกุลว่า “สุวรรณชาด”
  2. ในหลวงทรงตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้และป่าไม้มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยดำเนินรอยตามพระจริยวัตรของสมเด็จพระบรมราชชนนีที่โปรดการปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ และชื่นชมความงดงามตามธรรมชาติ ทั้งยังทรงจดจำคำสอนของพระอาจารย์ในเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ ดังใจความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสที่ว่า “จำได้เมื่ออายุสิบขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่งสอนเรื่องการอนุรักษ์ ครูบอกว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้…จะทำให้เดือดร้อนตลอด…”
  3. ในหลวงทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาป่าไม้ ดังพระราชกรณียกิจในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติผ่านโครงการในพระราชดำริมากมาย โดยทรงเน้นย้ำให้ฟื้นฟูคุณภาพของทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ และคน ควบคู่กันไป เพราะทรัพยากรเหล่านี้ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คน” ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดไม้ทำลายป่า จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาจิตใจให้เกิดสำนึกที่ดี เพื่อประโยชน์ในการให้ทั้งคน น้ำ และป่า พึ่งพากันได้อย่างยั่งยืน
  4. นับตั้งแต่ พ.ศ. 2477 – 2493 เป็นเวลานานถึง 16 ปีที่ประเทศไทยว่างเว้นจากการมีพระมหากษัตริย์ประทับในประเทศ ทำให้การพระราชพิธีต่างๆ ในพระราชสำนักที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาขาดหายไป ครั้นในหลวงเสด็จนิวัตประเทศไทยและมีพระราชดำริฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง นับเป็นพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่ทรงปลุกจิตวิญญาณแห่งความเป็นไทยซึ่งเคยหลับใหลให้ตื่นฟื้น อีกทั้งยังเป็นการปูพื้นฐานไปสู่ความเป็นชนชาติที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกันก็ทรงสร้างความประทับใจแก่คนต่างชาติไปพร้อมกัน เพราะในโลกนี้ไม่มีประเทศใดที่จะมีพระราชพิธีในพระราชสำนักที่งามพร้อมเท่าประเทศไทย ต่อมาพระราชพิธีต่างๆ ได้กลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติทั่วโลกมาตราบจนทุกวันนี้
  5. พระราชพิธีหนึ่งที่มีความสำคัญและในหลวงโปรดเกล้าฯให้รื้อฟื้นขึ้น คือ พระราชพิธีสังเวยป้าย ซึ่งทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยความหมายของพระราชพิธีนี้มีอยู่ว่า “พระป้าย” หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “เกสิน” หมายถึงป้ายชื่อของบรรพบุรุษบุพการีที่ตั้งไว้สำหรับบูชาประจำบ้าน การบูชาเซ่นสรวงจึงแสดงว่าเป็นคนดีมีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ปฏิบัติ โดยพระราชพิธีนี้จะจัดขึ้นในช่วงวันตรุษจีนของทุกปี และได้เสด็จฯไปในพระราชพิธีเสมอมาหรือไม่ก็โปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน

 

ทรงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของชาติ

  1. กระแสความนิยมในสิ่งแปลกใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาจากประเทศทางตะวันตกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ครั้นถึงรัชกาลของในหลวง จึงมีแนวพระราชดำริที่จะทรงปลูกฝังความสำนึกและความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติแก่พสกนิกร ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “…การสร้างอาคารสมัยนี้คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่าควรช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯแล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย ไม่ควรจะเอาของใหม่ไปปนกับของเก่า ควรจะรักษาของเก่าไว้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจของพลเมือง และสิ่งเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษจึงควรรักษาไว้…”
  2. มีพระราชดำริที่จะให้มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ
  3. ในการดูแลรักษามรดกของชาติมีแนวพระราชดำริที่ชัดเจนในความแตกต่างกันของการฟื้นฟูการอนุรักษ์และการสร้างสรรค์ว่าไม่ควรจะเอาของใหม่ไปปนกับของเก่า เพราะหากนำมาปรุงแต่งหรือประยุกต์อย่างไม่เหมาะสม ทำให้ทุกอย่างดูเป็นไทยอย่างฉาบฉวย ก็อาจทำให้สูญเสียเอกลักษณ์ของชาติและจะกลืนศิลปะประจำชาติที่มีมาแต่เดิมให้จมหายไป

 

ขอตามรอยพระบาท

  1. ชัยพจน์ สิริศักดิ์ธเนศ ชาวกาญจนบุรี แม้จะจบเพียงชั้น ม.6 แต่พอมีความรู้เกี่ยวกับไฟฟ้า จึงได้ทดลองประดิษฐ์เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้านานกว่า 6 ปี จนคิดได้ว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากแรงดันของน้ำ เพราะไม่ต้องใช้ทุนมากมาย ในที่สุดสามารถประดิษฐ์เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้สำเร็จ ซึ่งเขากล่าวว่าได้แรงบันดาลใจเดินตามรอยของในหลวงที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่
  2. ผู้กำกับโฆษณาชั้นแนวหน้าของโลกอย่างต่อ – ธนญชัย ศรศรีวิชัย บอกว่า เขามีบุคคลที่นับถือเป็นแบบอย่างอยู่ไม่กี่คน ซึ่งหนึ่งในผู้ที่เขานับถือมากที่สุดคือในหลวง “ท่านเป็นกษัตริย์ที่เก่ง เก่งไม่พอ ยังอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านคุกเข่าคุยกับชาวบ้านธรรมดาๆ เห็นราษฎรเป็นผู้ที่ท่านต้องช่วยเหลือ ไม่ใช่เอาเปรียบ ผมไม่เคยเห็นใครมอบความรักให้ผู้อื่นได้ตลอดเวลาเท่ากับท่าน ทั้งยังอดทนต่อการศึกษาหาความรู้จนแก้ปัญหาได้มากมายนับไม่ถ้วน ในหลวงสำหรับผม ท่านคือมนุษย์คนหนึ่ง เป็นมนุษย์ธรรมดาที่ศึกษาเรียนรู้จนกลายเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ ทำให้ผมคิดว่า เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราก็สามารถพัฒนาตัวเองแบบในหลวงได้ เราต้องพยายามทำให้ได้แบบในหลวง หน้าที่ของเราที่เกิดเป็นคนไทยคือต้องทำ”
  3. จากการที่คนึงนิตย์ อันโนนจารย์ ชาวจังหวัดลำปาง แต่ได้ย้ายมาทำมาหากินที่ราชบุรี ได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงทรงนั่งดื่มกาแฟเมื่อครั้งเสด็จฯไปบนเขาทุรกันดาร เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาและให้ชาวเขาหันมาปลูกกาแฟแทนการปลูกฝิ่นหรือกัญชา จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เธอทำรถขายกาแฟสไตล์ญี่ปุ่นตระเวนขายตามที่ต่างๆโดยนำเมล็ดกาแฟจากชาวเขาที่บ้านเกิดมาใช้เพื่อคืนรายได้สู่ชุมชนชาวเขา
  4. สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ เจ้าของบริษัททีวีบูรพา ผู้ผลิตรายการคุณภาพหลายรายการบอกว่า “…คำสอนของในหลวงก็เหมือนพ่อแม่ที่สอนเรา ทรงเป็นพ่อแม่ของลูกหลายสิบล้านคนในประเทศนี้ ค่อยๆ เรียนรู้จากสิ่งที่พ่อพร่ำสอน คิดให้ดีว่าสิ่งที่เรากำลังพาชีวิตไปหามัน มั่นคงจริงหรือไม่ ลองชั่งตาชั่งความสุขนั้นดู ทำให้มันสมดุล จะได้ไม่ต้องพาชีวิตไปเจอความผิดพลาดเสียก่อนแล้วค่อยคิดได้ทีหลัง…”
  5. ศูนย์ผ่าตัดต้อกระจก บริการแก่ผู้ป่วยที่ยากไร้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) และบริษัท ทาสของแผ่นดิน จำกัด เกิดขึ้นจากความคิดของธานินทร์ พันธ์ประภากิจ ที่ว่า “แรงบันดาลใจอย่างหนึ่งของผมมาจากการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือตั้งแต่โตมา ผมก็เห็นภาพพระองค์ท่านเสด็จฯ ไปทรงงานช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้ในชนบทมาตลอด และสมัยหนุ่มๆ ผมเคยเดินตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งท่านพูดเสมอว่า ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน ทุกข์ของแผ่นดินคือทุกข์ของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงเหนื่อยยากเพื่อพวกเรามามาก ผมจึงอยากเดินตามรอยพระบาทของพระองค์ท่าน ช่วยเหลือคนที่เขาด้อยโอกาสเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งปณิธานตรงนี้ทำให้มีกำลังใจขึ้นมาว่า เราจะต้องเดินให้ได้ ต้องอดทน เพราะมีสิ่งสำคัญรอเราอยู่ และก็มาตกผลึกว่า จะเปิดศูนย์รักษาผู้ป่วยต้อกระจก เพราะบ้านเรามีคนที่เป็นโรคนี้เยอะ”
  6. เมื่อครั้งที่ นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่านในยุคที่การสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลกับกองทัพปลดแอกประชาชนเป็นไปอย่างเข้มข้น ทหารตำรวจที่บาดเจ็บจากการสู้รบถูกส่งเข้ามายังโรงพยาบาล ทำให้บุคลากรทุกฝ่ายของโรงพยาบาลในจังหวัดเล็กๆ ห่างไกลขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัย ต้องทำงานอย่างหนัก เมื่อในหลวงทรงทราบจึงพระราชทานอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์มากมาย และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 4 แสนบาทให้โรงพยาบาลน่านสร้างตึกพิทักษ์ไทย โดยมีพระราชดำรัสกับหมอบุญยงค์ว่า “เงินที่ขอไปนั้น ฉันนำมามอบให้แล้ว ขอให้หมอดำเนินการก่อสร้างเองนะ ไม่ต้องผ่านราชการ ฉันไว้ใจเธอ” พระราชดำรัสครั้งนั้นยังคงก้องอยู่ในหัวใจหมอบุญยงค์ ทำให้เขายังคงทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของเมืองน่าน ไม่เฉพาะแต่ด้านการแพทย์ แต่หลังเกษียณอายุราชการก็ยังทำงานในทุกสถานะที่จะทำประโยชน์ให้แก่เมืองน่านได้
  7. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ผู้รังสรรค์วัดร่องขุ่นกล่าวว่า “วัดร่องขุ่นมีที่มาจากตอนที่ผมยังเรียนอยู่ที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยได้ยินครูบาอาจารย์ผมพูดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า พระองค์เคยรับสั่งว่า ‘งานศิลปะประจำรัชกาลของเราทำไมไม่เห็นมี ทุกรัชกาลเขามีงานศิลปะที่แสดงเอกลักษณ์กันทุกรัชกาล วัดวาอารามที่สร้างกันใหม่ๆ ก็ยังยึดอิทธิพลศิลปะเก่าๆ อยู่’” ต่อมาเขามีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ถวายงานในหลวงหลายครั้ง และจากการพบเห็นพระอัจฉริยภาพทางศิลปะและพระเมตตาของพระองค์ท่าน ทำให้เขารักและประทับใจพระองค์ท่าน จนบังเกิดความตื้นตัน ปรารถนาที่จะสร้างงานพุทธศิลป์ถวายเป็นงานศิลปะประจำรัชกาลพระองค์ท่าน ในที่สุดเขาก็ได้ถ่ายทอดผลงานนั้นออกมาที่วัดร่องขุ่นแห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540“ ผมตั้งความปรารถนาที่จะถวายชีวิต ใช้ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของตนเองสร้างงานพุทธศิลป์ เพื่อเป็นงานศิลปะประจำรัชกาลท่านให้ได้ และจะถวายชีวิตไปจนตายคาวัด…”
  8. สงคราม โพธิ์วิไล ศิลปินนักถ่ายภาพและผู้ทรงคุณวุฒิทางการถ่ายภาพของไทย ได้มีโอกาสถวายกล้องแด่ในหลวง มีรับสั่งถามว่า “คุณทำอาชีพอะไร…ผมตอบท่านว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ในหลวงจึงรับสั่งต่อว่า ถ้าอย่างนั้นไปบอกพวกเราด้วยว่าเราเป็นคนถ่ายภาพด้วยกัน ผมตื้นตันมาก เราแค่สามัญชน แต่ในหลวงทรงใช้คำว่า ‘พวกเรา’ ผมจึงนำคำนี้ไปบอกกับช่างภาพว่าในหลวงใช้คำว่าพวกเรากับช่างภาพ เราในฐานะประชาชน เราจะต้องถ่ายภาพให้ดีๆ แล้วกัน…”
  9. ศิลปินยอดนิยมอมตะ – เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ มีโอกาสได้เข้าไปถวายงานร้องเพลงเฉพาะพระพักตร์เนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส 50 ปี หลังจากร้องเสร็จได้เข้าเฝ้าฯส่งเสด็จฯกลับและวันนั้น “…เบิร์ดลงกราบพร้อมกับถือโอกาสจับพระบาทของทั้งสองพระองค์เอาไว้ สมเด็จพระนางเจ้าฯมีรับสั่งว่า ‘ร้องเพลงไพเราะมาก’ แต่ที่เหนือความคาดหมายคือ ในหลวงรับสั่งว่า ‘ปลูกข้าวที่เชียงรายอยากให้ทำต่อไปนะ เบิร์ดเป็นคนดีที่หนึ่ง’ เบิร์ดกราบทูลตอบว่า ‘รับใส่เกล้าพระพุทธเจ้าข้า’ เนื้อตัวตอนนั้นขนลุกไปหมด ในใจปลื้มจนไม่รู้จะปลื้มอย่างไร เพราะหมายถึงพระองค์ท่านทรงอ่านเรื่องที่เบิร์ดเคยให้สัมภาษณ์ไว้ใน แพรว จึงทรงทราบว่าบ้านที่เชียงรายปลูกข้าว…พอส่งเสด็จฯเสร็จแล้วกลับขึ้นรถได้เท่านั้น เบิร์ดร้องไห้ซะ กลับถึงบ้านรีบจุดธูปเล่าให้แม่ฟัง “แต่แม่คงเห็นแล้ว เพราะเบิร์ดพารูปแม่ติดใส่กระเป๋าเสื้อตรงหน้าอกซ้ายเข้าวังด้วย พลังใจจากการได้เข้าเฝ้าฯครั้งนั้น ทำให้ใจเบิร์ดที่เคยหดหายเพราะแม่เพิ่งจากไปไม่นาน กลับมาสดใสอีกครั้ง ซึ่งชีวิตนี้คิดว่าครั้งนั้นคือสูงสุดแล้ว…”

 

พระราชดำรัสที่ควรยึดเป็นแนวคิด

  1. ในการทรงงานเพื่อการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชน ในหลวงทรงระลึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเสมอ ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “…ใครต่อใครบอกว่าขอให้เสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวมอันนี้ฟังจนเบื่อ อาจจะรำคาญด้วยซ้ำว่า ใครต่อใครมาก็บอกว่าขอให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม อาจมานึกในใจว่า ให้ๆ อยู่เรื่อยแล้วส่วนตัวจะได้อะไร ขอให้คิดว่าคนที่ให้เพื่อส่วนรวมนั้นมิได้ให้ส่วนรวมแต่อย่างเดียวเป็นการให้เพื่อตัวเองสามารถที่จะมีส่วนรวมที่จะอาศัยได้…”
  2. พระองค์ทรงมีความสุขทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือประชาชน ดังพระราชดำรัสครั้งหนึ่งความว่า “…ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเท่านั้น…”
  3. ในหลวงทรงเน้นย้ำถึงเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตจริงใจต่อกันตลอดมา เพราะทรงเห็นว่าหากคนไทยทุกคนได้ร่วมมือกันพัฒนาชาติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจริงใจต่อกันแล้ว ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าอย่างมาก ดังพระราชดำรัสว่า “…คนที่ไม่มีความสุจริต คนที่ไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่ายไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ…”
  4. ตลอดพระชนม์ชีพทรงดำเนินพระราชจริยวัตรอย่างสมถะพอเพียง ซึ่งความพอดี มีความพอประมาณในพระราชหฤทัยได้ถูกนำมาใช้ในการแก้วิกฤติทางเศรษฐกิจของชาติ ท่ามกลางความมืดมนของวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 ได้ปรากฏแสงสว่างส่องทางหวังจากการที่พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ประชาชนได้ตั้งมั่นอยู่บนครรลองของความมีเหตุผล ความพอประมาณและการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารเอาไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”
  5. ในหลวงทรงมีความชาญฉลาดในการบำรุงข้าราชบริพารด้วยการส่งเสริมคนดีมีความสามารถเข้ามาบริหารราชการบ้านเมือง สอดคล้องกับพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดีให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…”
  6. ในหลวงมีพระราชดำรัสถึงหลักการทำความดีที่จับใจและเป็นสิ่งจริงแท้มากๆ ว่า “การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทันรู้สึกตัว “การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญ และไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว ถึงแม้จะมีใครร่วมมือด้วยหรือไม่ก็ตาม ผลดีจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน…” ความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสที่จับใจและเป็นสิ่งจริงแท้มากๆ
  7. เมื่อมีความโสมนัสย่อมต้องมีความโทมนัสควบคู่กันไปเป็นสัจธรรม จากเหตุการณ์ที่สมเด็จย่าทรงพระประชวร ในหลวงได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมและมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จย่าว่า “อยากให้แม่สอนอีก” เหมือนเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ สมเด็จย่าตรัสกลับไปว่า “จะให้สอนอีกหรือ พระองค์ทรงภูมิรู้ เปี่ยมคุณธรรมสอนคนได้ทั้งประเทศ จะฟังคำสอนอะไรจากคนอายุมากคนหนึ่งอีกเล่า” พระองค์ทรงมีพระราชปรารภอย่างอภิชาตบุตรว่า “ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร สอนคนมากสักแค่ไหน แต่คำสอนของแม่ก็เป็นคำสอนที่ดีที่สุดของลูก คำสอนของแม่เหนือกว่าลูกเสมอ ลูกอยากฟังแม่สอนอีก”
  8. “การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา

 

ทั้ง 89 เรื่องของในหลวงที่เชิญประมวลมานี้ หากพสกนิกรไทยน้อมนำมาใช้ปฏิบัติจริงในชีวิต สังคมย่อมเกิดความสุข ความรุ่งเรืองอย่างแน่นอน

 

เครดิต : นิตยสารแพรว ฉบับ 871 (10 ธันวาคม 2558)
ขอบคุณ : พระบรมฉายาลักษณ์จากคลังสะสมส่วนตัวของคุณณรัฐ นภาวรรณ
ตกแต่งรีทัช : อนุชา โสภาคย์วิจิตร์

รู้จัก 10 เพลงพระราชนิพนธ์ รักหวานละมุน

account_circle

พระอัจฉริยะภาพด้านการดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช เป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทย ด้วย ๔๘ เพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งในวันนี้เราจะขออัญเชิญ ๑๐ เพลงพระราชนิพนธ์พร้อมที่มา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักอันหวานซึ้ง มาเล่าสู่กันฟัง

 

เพลงที่ 1 “อาทิตย์อับแสง” และ เพลงที่ 2 “เทวาพาคู่ฝัน”  

ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช
คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ : พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

จากบันทึกส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริ ได้กล่าวถึงที่มาของบทเพลงทั้งสองว่า เกิดขึ้นในยามที่ทั้งสองพระองค์ต้องประทับห่างไกลกัน โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ประทับ ณ เมือง ดาโวส์ ขณะที่ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศในขณะนั้น) ทรงประทับอยู่ที่ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิซเซอร์แลนด์  โดยเพลง “อาทิตย์อับแสง” ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2492 อันเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 8 และในเวลาอันไล่เลี่ย วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2492  ก็ได้พระราชนิพนธ์เพลง “เทวาพาคู่ฝัน”

 

เพลงที่ 3 “รักคืนเรือน”

ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช
คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ : พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

เนื้อเพลงรักคืนเรือนกล่าวถึง รักอันห่างไกลที่ใจพะวงขอไม่ให้แปรเปลี่ยนเช่นสายลมที่หมุนวน และขอให้รักนี้คงมั่นไม่อับเฉา โดยทรงพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 ซึ่งเพลง “รักคืนเรือน” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 14

 

เพลงพระราชนิพนธ์

เพลงที่ 4 “ค่ำแล้ว”

ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช
คำร้องภาษาอังกฤษ : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์ และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา
คำร้องภาษาไทย : ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา

มีเรื่องเล่าขานกันว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช เคยทรงอิเลคโทนขณะทรงอุ้มสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนทรงบรรทมหลับไปจึงเป็นที่มาของ  เพลงค่ำแล้ว หรือที่มีอีกชื่อว่า Lullaby เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ในลำดับที่ 24 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2498 แม้เนื้อหาเพลงอาจไม่ได้กล่าวถึงความรักระหว่างชายหญิง แต่ก็มีเนื้อร้องที่แสนหวานจับใจ

 

เพลงที่ 5 “แสงเดือน”  

ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช
คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ : พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

เพลงแสงเดือน เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 27 โดยทรงพระราชทานให้อัญเชิญไปประกอบการแสดงบัลเล่ต์ ในงานสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2501 เนื่องด้วยเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองอ่อนหวาน แต่สง่างาม ได้นำออกบรรเลงในงานสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501

 

เพลงที่ 6 “ภิรมย์รัก”

ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช
คำร้องภาษาอังกฤษ : พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
คำร้องภาษาไทย : พลเรือตรี ปรีชา ดิษยนันทน์

เป็นเพลงที่ทรงเรียบเรียงประสาน และควบคุมการฝึกซ้อมด้วยพระองค์เองโดยทรงโปรดเกล้าให้วงดนตรีสุนทราภรณ์บรรเลง เพื่อประกอบการแสดงบัลเลต์ชุดมโนห์รา หรือ Kinari Suite ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร ในวันที่ 5-7 มกราคม พ.ศ.2505 ซึ่งเพลง “ภิรมย์รัก” นี้ เป็นเพลงเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 30 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2502

 

เพลงพระราชนิพนธ์

เพลงที่ 7 “ในดวงใจนิรันดร์”  

ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษ : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช
คำร้องภาษาไทย  : ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องด้วยพระองค์เอง ในปีพ.ศ. 2508 และเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 37  เดิมทรงตั้งชื่อเพลงว่า “I Can’t Get You Out of My Mind” แต่ต่อมาทรงเปลี่ยนเป็น “Still on My Mind” โดยในเนื้อเพลงกล่าวถึงความรักที่ฝั่งแน่น แม้ว่าจะผ่านเวลาไปนานเพียงใดก็ตาม แต่รักนี้ติดตรึงอยู่ในใจชั่วนิรันดร์ไม่มีวันลบเลือน  ดังประโยคที่ว่า “You’ll be ever and ever, Still on my mind.”

 

เพลงที่ 8  “เตือนใจ”

ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษ : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช
คำร้องภาษาไทย  : ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์

อีกหนึ่งบทเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษด้วยองค์เอง ในปีพ.ศ. 2508 นับเป็น บทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 38  โดยทรงกล่าวถึงบทเพลงเก่าๆ ที่เป็นสื่อแทนใจ และความคิดคำนึง ดังเนื้อเพลงที่ว่า “Now there’s no word that can say, I can’t tell you in anyway. Let me tell you with this Old Fashioned melody.”

 

เพลงที่ 9 “แว่ว”

ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษ : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช
คำร้องภาษาไทย  : ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร

บทเพลงพระราชนิพนธ์ในลำดับที่ 41 ในปีพ.ศ. 2508 ที่หลังจากนิพนธ์ไปแล้วหนึ่งปี ได้ทรงพระราชทานให้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกในงานสังคีตมงคล ครั้งที่ 1 ณ บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยเนื้อเพลงกล่าวถึง การแว่วเสียงเพลงหวานที่ทำให้หวนนึกถึงความรักของสองเรา ที่แม้โลกจะไม่จีรัง แต่รักของเราจะยั่งยืน “I know Our love will Linger on For eternity.”

 

เพลงที่ 10“รัก”  

ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช
คำร้อง  : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เป็นเพลงที่เกิดจากขึ้นจากบทพระราชนิพนธ์กลอนสุภาพในพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปีพ.ศ.  2510 โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 โดยนับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 47

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพลงนี้ให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์บรรเลงทุกวันศุกร์และวันอาทิตย์ตลอดเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 และในงานพระราชทานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ.  2538 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง โดยทรงเชิญ คณะองคมนตรี นายกรัฐมนตรี และนายทหาร ตำรวจ ชั้นผู้ใหญ่ ขึ้นไปร้องเพลง “รัก” บนเวที โดยทรงบรรเลงดนตรีนำด้วยพระองค์เอง

 

ทั้ง 10 บทเพลง ล้วนเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองรักหวานซึ้ง และแฝงไว้ด้วยความหมายพิเศษจนมิอาจมีผู้ใดปฏิเสธได้ว่า บทเพลงเหล่านี้ไม่ตราตรึงอยู่ในใจ

 

ขอบคุณที่มา web.ku.ac.th/king72/2530/music.htm

http://www.oknation.net/blog/balladdrums/2010/10/09/entry-1

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.oknation.net/blog/balladdrums

 

พระปรีชาสามารถด้านชลประทานของในหลวง

เบื้องหลังพระปรีชาสามารถด้านชลประทาน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงงานหนักเพื่อชีวิตร่มเย็นของพสกนิกรไทย

พระปรีชาสามารถด้านชลประทานของในหลวง
พระปรีชาสามารถด้านชลประทานของในหลวง

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ทรงพระปรีชาสามารถโดดเด่นหลายด้าน และมีพระราชกรณียกิจที่พระองค์มีพระราชดำริและทรงปฏิบัติ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศชาติจำนวนมากเช่นกัน อย่างพระราชกรณียกิจด้านเกษตรและชลประทาน

ก่อนหน้านี้ได้มีคลิปวิดีโอที่หลายคนอาจยังไม่เคยได้ชมเผยแพร่ขึ้นมา เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งและทรงวาดแผนที่อธิบายถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยในแต่ละภูมิภาค เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา โดยทรงเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ขึ้นมาบนเวทีและไต่ถามพูดคุยถึงเรื่องน้ำท่วมตามแต่ละจังหวัดด้วย และนั่นก็ทำให้คนไทยหลายคนตระหนักเห็นถึงพระปรีชาสามารถ ความใส่พระทัยและความห่วงใยที่พระองค์มีต่อคนไทยทุกภูมิภาค กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงรู้พื้นที่ในประเทศไทยแทบทุกตารางเมตร

คลิป ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งถึงเหตุการณ์น้ำท่วม

เป็นเวลาหลายปีที่พระองค์ได้ทรงทุ่มเทพระวรกาย เสด็จพระราชดำเนินลงพื้นที่สำรวจพร้อมคณะและชาวบ้าน และมีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ขึ้นมา อย่างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ฯลฯ จนเกิดเป็นอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ซึ่งสร้างขึ้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อกักเก็บน้ำจืดให้ราษฎรมีใช้ การสร้างฝนเทียมเพื่อช่วยเหลือพื้นที่แห้งแล้ง

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯลงพื้นที่สำรวจพร้อมคณะและชาวบ้าน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสำรวจพื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการหลวงด้านชลประทาน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทุ่มเทพระวรกายปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างหนัก เพื่อดูแลราษฎรที่แม้จะอยู่ในที่ห่างไกล

กว่าโครงการด้านเกษตรและชลประทานต่างๆ จากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะสำเร็จออกมาเพื่อให้คนไทยใช้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุขแบบนี้ ไม่ได้สะดวกสบายเลย ซึ่งนายทวี เต็มญารศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญฯ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เผยเรื่องราวและพระบรมฉายาลักษณ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานอย่างหนักผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อว่า ทวี เต็มญารศิลป์ แพรวจึงได้รวบรวมมาให้ได้ชมกัน เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระปรีชาสามารถด้านชลประทาน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรโครงการชลประทานขนาดใหญ่

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเปิดโครงการชลประทานขนาดใหญ่

เสด็จฯไปทอดพระเนตรโครงการชลประทานขนาดใหญ่

ทอดพระเนตรโครงการชลประทานขนาดใหญ่

ในช่วงปี พ.ศ. 2500 – 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ทำให้ทรงทราบถึงความจำเป็นของงานชลประทาน

แผนที่พระราชทานแสดงเส้นทางน้ำสายต่างๆ

แผนที่พระราชทานแสดงเส้นทางน้ำ

รอยดินสอสีต่างๆ ที่ทรงลงในแผนที่ แสดงถึงความทุ่มเทที่พระองค์ทรงรอบรู้งานชลประทาน และทรงตั้งมั่นที่จะตอบแทนพระคุณแผ่นดินนี้

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานในถิ่นทุรกันดาร

เป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจมากครับ เป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 ที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินด้วยเครื่องเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทรงเลือกตำแหน่งในแผนที่ 1 ต่อ 50,000 เรียกว่า ห้วยวังคำ เส้นทางน่าจะเป็นทางเกวียน มืดจริงๆ ที่พวกเรานั่งเบียดกันทั้งกรมชลประทาน มีอธิบดี ชาวบ้านนำทาง รองสมุหราชองครักษ์ เกือบสิบคนได้ นั่งไปก็โยกเยกไปมา กว่าจะเจอจุดที่พระองค์ทรงกำหนดก็หลงทาง พระองค์ต้องทรงเรียกชาวบ้านนำทางว่า ไกด์ผี และเรียกถนนที่ไปว่า ทางดิสโก้

ทอดพระเนตรประตูบังคับน้ำ คลองปาเระ และคลองบาเจาะ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตร ประตูบังคับน้ำ คลองปาเระ และคลองบาเจาะ

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรประตูบังคับน้ำกลาง คลองปาเระ และประตูบังคับน้ำต้น คลองบาเจาะ ในเขตตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งกรมชลประทานได้ก่อสร้างสนองพระราชดำริเสร็จใน พ.ศ. 2531

เสด็จฯไปทรงเปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

เขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากกองบิน 71 อำเภอพุมพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปทรงเปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทอดพระเนตรฝายทดน้ำคลองโต๊ะแก

ในหลวงทอดพระเนตรฝายทดน้ำคลองโต๊ะแก

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรฝายทดน้ำคลองโต๊ะแก

วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรฝายทดน้ำคลองโต๊ะแก และทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านนากอ ตำบลจอเบาะ อีกทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรถังเก็บน้ำที่โรงเรียนร่มเกล้า บ้านบูเก๊ะปาลัส ตำบลจอหอ ในเขตอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปว่า บริเวณหุบเนินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากฝายทดน้ำคลองโต๊ะแกไปประมาณ 500 เมตร มีทำเลซึ่งสามารถสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สำหรับรวบรวมเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเพาะปลูกได้ สมควรสร้างอ่างเก็บน้ำที่บริเวณดังกล่าว สามารถรับน้ำที่ผันมาจากฝายทดน้ำคลองโต๊ะแกลงมาเพิ่มเติม ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตหมู่บ้านนากอและหมู่บ้านข้างเคียงได้จำนวนหลายร้อยไร่ ทำให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี จากการก่อสร้างฝายทดน้ำคลองโต๊ะแกและระบบแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับหมู่บ้านต่างๆ แล้วนั้น สามารถช่วยให้หมู่บ้านและโรงเรียนจำนวนมากมีน้ำกินและน้ำใช้อย่างสมบูรณ์ตลอดทั้งปี สำหรับที่หมู่บ้านนากอ สมควรสร้างถังน้ำอุปโภคบริโภคเพิ่มเติมให้กับโรงเรียนบ้านนากอโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับของโรงเรียนอื่นๆ

ทรงถือแผนที่และทรงคล้องกล้องถ่ายรูปไปด้วยเสมอ
ภาพที่คนไทยเห็นจนชินตายามในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯลงพื้นที่คือ ภาพที่ทรงถือแผนที่และทรงคล้องกล้องถ่ายรูปไปด้วยเสมอ

มีพระราชดำรัสให้สร้างฝายทดน้ำ

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ณ บ้านนากอ ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า ควรสร้างฝายทดน้ำหรืออ่างเก็บน้ำตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่คลองโต๊ะแกโดยเร่งด่วน เพื่อจัดหาน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคที่บริเวณโรงเรียนร่มเกล้า บ้านบูเก๊ะปาลัส ตำบลยี่งอ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส และสำหรับหมู่บ้านข้างเคียง โดยการส่งน้ำไปให้โดยท่อ นอกจากนี้ฝายหรืออ่างเก็บน้ำดังกล่าวจะสามารถจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่ทำนาของบ้านนากอ ในเขตตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ ได้อีกด้วย

 

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย

ภาพ : แฟนเพจ Facebook – ทวี เต็มญารศิลป์

อ่านแล้วคิดถึงพ่อ… เปิดบทกวีใน ‘สมเด็จพระเทพฯ’ ทรงพระราชนิพนธ์ ถึง ‘ในหลวง’

เปิดบทกวีพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ที่ทรงเขียนถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดการเขียนบทกลอนตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ และหนึ่งในบทกวีพระราชนิพนธ์ มีที่ทรงเขียนถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เรื่อง “บิดา” ใน พุ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งมีใจความว่า

อันบิดาเป็นผู้ให้กำเนิด แสนประเสริฐเลี้ยงลูกจนเติบใหญ่
ทั้งเลี้ยงดูอบรมบ่มจิตใจ เพื่อจะให้ลูกยาพาเจริญ
อันพระคุณท่านนั้นมากล้นเหลือ ลูกที่เชื่อคำท่านน่าสรรเสริญ
คุณบิดานั้นมีมากเหลือเกิน ขอให้ท่านยิ่งเจริญทุกคืนวัน

สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชนิพนธ์ ถึง ในหลวง
ภาพ: นิตยสาร แพรว ปี 2558 ฉบับที่ 854 (25 มี.ค. 58)

นอกจากนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงเป็นพระราชธิดาผู้ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท สะท้อนถึงพระราชปณิธานมุ่งมั่นจะเดินตามรอยเท้าพ่อ ดังที่พสกนิกรไทยได้เห็นกันอยู่เสมอกับภาพพระราชกรณียกิจ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่เสด็จพระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปทรงงานทุกแห่งหน

ในการนี้แพรวขอนำพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “เดินตามรอยเท้าพ่อ” มาเผยแพร่ เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านทรงงานหนักเพื่อปวงชนชาวไทย

    “ฉันเดินตามรอยเท้าอันรวดเร็วของพ่อโดยไม่หยุด ผ่านเข้าไปในป่าใหญ่ น่ากลัว ทึบ แผ่ไปโดยไม่มีที่สิ้นสุดมืดและกว้าง มีต้นไม้ใหญ่ เหมือนหอคอยที่เข้มแข็ง พ่อจ๋า…ลูกหิวจะตายอยู่แล้วและเหนื่อยด้วย ดูซิจ๊ะ…เลือดไหลออกมาจากเท้าทั้งสองที่บาดเจ็บของลูก ลูกกลัวงู เสือ และหมาป่า พ่อจ๋า…เราจะถึงจุดหมายปลายทางไหม?”

     “ลูกเอ๋ย…ในโลกนี้ไม่มีที่ไหนดอกที่มีความรื่นรมย์และความสบายสำหรับเจ้า ทางของเรามิได้ปูด้วยดอกไม้สวยสวย จงไปเถิด แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งบีบคั้นหัวใจเจ้า พ่อเห็นแล้วว่า หนามตำเนื้ออ่อนอ่อนของเจ้า เลือดของเจ้าเปรียบดั่งทับทิมบนใบหญ้าใกล้น้ำ น้ำตาของเจ้าที่ไหลต้องพุ่มไม้สีเขียวเปรียบดั่งเพชรบนมรกตที่แสดงความงามเต็มที่เพื่อมนุษยชาติ… จงอย่าละความกล้าเมื่อเผชิญกับความทุกข์…ให้อดทนและสุขุม และจงมีความสุขที่ได้ยึดอุดมการณ์ที่มีค่า ไปเถิด…ถ้าเจ้าต้องการเดินตามรอยเท้าพ่อ”

สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชนิพนธ์ ถึง ในหลวง
ภาพ: นิตยสาร แพรว ปี 2558 ฉบับที่ 854 (25 มี.ค. 58)
สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชนิพนธ์ ถึง ในหลวง
ภาพ: มูลนิธิยุวทูตความดี
สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชนิพนธ์ ถึง ในหลวง
ภาพ: มูลนิธิยุวทูตความดี

สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชนิพนธ์ ถึง ในหลวง

สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชนิพนธ์ ถึง ในหลวง
ภาพ: ศปร.กอ.รมน.ภาค ๓
สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชนิพนธ์ ถึง ในหลวง
ภาพ: twitter‏@LoveKingTH

ข้อมูลจาก : บทกวีพระราชนิพนธ์ “บิดา”,sirindhorn.net
พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพฯ “เดินตามรอยเท้าพ่อ”

รักของน้องส่งถึงพี่ เปิดบทเพลงพระราชนิพนธ์สุดท้าย ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแด่สมเด็จพระพี่นางฯ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดการทำกิจกรรมในหลายด้าน และมีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในเรื่องดนตรี พระองค์ถือเป็นอัครศิลปินที่ได้สร้างสรรค์เพลงพระราชนิพนธ์เอาไว้มากมายถึง 48 บทเพลง

last-song-of-king-5

แม้ว่าจะต้องทรงงานอย่างหนักมาโดยตลอด อีกมุมหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยได้เห็นก็คือพระอัจฉริยภาพด้านการดนตรี พระองค์ทรงดนตรีได้หลายชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ต กีตาร์ และเปียโน ทรงโปรดดนตรีแจ๊สเป็นอย่างมาก

last-song-of-king-4

และพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้เป็นจำนวนมากถึง 48 เพลง เช่น แสงเทียน, ยามเย็น, สายฝน, ใกล้รุ่ง, ลมหนาว, ยิ้มสู้, ชะตาชีวิต, ดวงใจกับความรัก, มาร์ชราชวัลลภ, อาทิตย์อับแสง, เทวาพาคู่ฝัน, คำหวาน, มหาจุฬาลงกรณ์, แก้วตาขวัญใจ, พรปีใหม่, รักคืนเรือน, ยามค่ำ, มาร์ชธงไชยเฉลิมพล, เมื่อโสมส่อง, ศุกร์สัญลักษณ์, Oh I say, Can’t you ever see, Lay Kram Goes Dixie, ค่ำแล้ว, สายลม, ไกลกังวล, แสงเดือน, ฝัน, มาร์ชราชนาวิกโยธิน, ภิรมย์รัก, Nature Waltz, The Hunter, Kinari Waltz, แผ่นดินของเรา, พระมหามงคล, ยูงทอง, ในดวงใจนิรันดร์, เตือนใจ,ไร้เดือน, เกาะในฝัน, แว่ว, เกษตรศาสตร์, ความฝันอันสูงสุด, เราสู้, เรา-เหล่าราบ 21, Blues for Uthit, รัก

last-song-of-king-3

และบทเพลงพระราชนิพนธ์สุดท้ายคือ เมนูไข่

ทั้งนี้เพลงพระราชนิพนธ์ “เมนูไข่” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับสุดท้าย ที่ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วยทรงรำลึกได้ว่าสมเด็จพระเชษฐภคินีโปรดเสวยพระกระยาหารที่ทำจากไข่ เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้ทรงพระราชนิพนธ์ กอปรกับทรงพบโคลงสี่ “เมนูไข่” ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ. 2518

ได้โปรดเกล้าฯพระราชทานให้พลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช นำไปแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน เพื่อให้วง อ.ส.วันศุกร์นำออกบรรเลงและขับร้องในงานพระราชทานเลี้ยงฉลองสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ ศาลาดุสิตาลัย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2538

รับฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์ “เมนูไข่” ที่นี่

เมนูไข่

ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย

ภาพ : IG@thairoyalfamily

ทำดีตามคำสอนพ่อ ๙ พระราชดำรัสของในหลวง เรื่องการดำเนินชีวิต

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ ร่วมประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานในโอกาสต่างๆ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ในสมุดบันทึกเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป

และวันนี้แพรวได้คัดเลือก ๙ พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของในหลวง เรื่องการดำเนินชีวิต การทำความดี มาให้ทุกคนได้อ่านเพื่อเดินตามรอยคำสอนพ่อกันค่ะ

 

การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญและไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว
ถึงแม้จะมีใครร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม ผลดีที่ทำจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๐)


ถ้ามีความคิดอย่างนี้ว่า คนอื่นเขาก็สร้างเหมือนกัน คนอื่นเขาก็ทำเหมือนกัน แล้วก็เมตตาซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักรักกัน รู้จักว่าตรงไหนเป็นความดี และนึกถึงว่าประเทศไทยของเราเต็มไปด้วยความดี ประเทศไทยของเราจะมีความมั่นคง และพวกเราในที่สุดก็จะมีความสุข ความสบาย มีเกียรติ สามารถมีชีวิตที่รุ่งเรือง

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๙)


ถ้าเราคิดดี ทำดี ไม่ใช่แต่ปากนะ ทำอย่างดีจริงๆ คือ สร้างสมสิ่งที่ดีด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่เรียกว่าดี หมายความว่า ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สร้างสรรค์ทำให้มีความเจริญทั้งวัตถุทั้งจิตใจ แล้วไม่ต้องกลัว

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๘)


คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ เมื่อรับสิ่งของได้มากก็จะต้องพยายามให้
ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีในหมู่คณะและในชาติ

(พระราชดำรัสพระราชทานในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี)


ถ้าราษฎรรู้รักสามัคคี เขาจะเข้าใจว่าเมื่อเขามีรายได้ เขาก็จะยินดีเสียภาษี เพื่อช่วยราชการให้สามารถทำโครงการต่อไปเพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ ถ้าราษฎรรู้รักสามัคคี และรู้ว่าการเสียสละคือได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า เพราะว่าการที่คนอยู่ดีมีความสุขนั้น เป็นกำไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔)


คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย
ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง
หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑)


การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร
ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่ที่สำคัญที่สุดคือความอดทน คือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึ ทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดี ไม่ครึ ต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอน

(พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครูและอาจารย์ : ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖)


การดำเนินชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทนก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย
เมื่อท้อใจไปแล้วไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ

(พระราชดำรัสพระราชทานแก่ครูและนักเรียนโรงเรียนจิตลดา : ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓)


คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ
ประการแรก คือ การรักษาความสัตย์ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น
ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต ไม่ว่าด้วยประการใด
ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน
เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

(พระราชดำรัสพระราชทานในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า : ๕ เมษายน ๒๕๒๕ )


ที่มา : สมุดบันทึกเศรษฐกิจพอเพียง
ภาพ : นิตยสารแพรว ปี 2559 ฉบับที่ 883 (10 มิ.ย. 59)

THE WORLD FIRST POINT OF SALE ROBOT เจ้าดินสอ หุ่นยนต์บริการการขาย ตัวแรกของโลก

บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดตัว ดินสอ หุ่นยนต์บริการการขายตัวแรกของโลก เพื่อการใช้งาน “The World First Point of Sale Robot” ณ  ARROW SHOP ชั้น 2 ศูนย์การค้า Terminal 21 (อโศก) เดือนพฤศจิกายนนี้

หุ่นยนต์ ดินสอ ถูกพัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นโดยฝีมือคนไทย 100% โดย บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด และ ดินสอ ยังสร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยทั้งประเทศ ด้วยการเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่ประเทศญี่ปุ่นยอมรับ ในวันนี้จะเป็นครั้งแรกที่ ดินสอ พร้อมแล้วเพื่อการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการบริการด้านการขาย ซึ่งถือเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่สามารถ แนะนำการขาย แนะนำโปรโมชั่น พร้อมรับชำระเงิน ได้ครบกระบวนการในหุ่นยนต์ตัวเดียว อีกทั้งยังพูดได้หลายภาษา ทั้ง ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น  ฝรั่งเศส เพื่อการพร้อมรับลูกค้าชาวต่างชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เชื่อมั่นว่า ดินสอ ซึ่งสามารถพูดได้หลายภาษาทั้ง ไทย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ที่ได้นำมาต้อนรับและให้บริการลูกค้าอย่างใกช้ชิด ณ  ARROW SHOP ชั้น 2ศูนย์การค้า Terminal 21 (อโศก) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ จะเป็นมิติใหม่ของเทคโนโลยีแห่งการขายและเป็นผู้ต้อนรับที่จะมาสร้างสีสันความสุขให้แก่ลูกค้าได้ดีขึ้น

พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เปิดพระราชนิพนธ์แรก ฉบับเต็ม… เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์

พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระราชนิพนธ์  ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” เป็นพระราชนิพนธ์แรกที่พระราชทานแก่วงวรรณคดี อันเป็นบันทึกความทรงจำหลังจากที่ทรง “รับ” คำกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นสืบสันตติวงศ์ไอศวรรย์สมบัติแล้ว จำต้องเสด็จฯกลับไปทรงศึกษาต่อ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙

นับถึงวันนี้พระราชนิพนธ์ฉบับนี้มีอายุครบ ๗๐ ปีเต็มบริบูรณ์แล้ว ถือเป็นงานทรงคุณค่าสูงสุดอีกองค์หนึ่งที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้แก่ปวงชนชาวไทย

ในการนี้แพรวขอน้อมอัญเชิญมาเผยแพร่อีกครั้งอย่างครบถ้วนทุกถ้อยความและสะกดตามต้นฉบับ เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์

ในหลวงรัชกาลที่ 9 แย้มพระสรวล

“วงวรรณคดี” ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ถนัดมาลงในหนังสือนี้นานมาแล้ว อันที่จริงข้าพเจ้าก็ไม่ใช่นักประพันธ์ เมื่ออยู่โรงเรียน เรียงความและแต่งเรื่องก็ทำไม่ได้ดีนัก อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าก็ปรารถนาที่จะสนองความต้องการของ “วงวรรณคดี” อยู่บ้าง และเนื่องด้วยไม่สามารถที่จะเขียนเรื่องที่ข้าพเจ้ารู้บ้าง เช่น ดนตรี ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือกฎหมาย ฯลฯ ได้ เพราะไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ดีพอ ฉะนั้นจึงตกลงใจส่งบันทึกประจำวันที่เขียนไว้ก่อนและระหว่างวันเดินทางจากสยามสู่สวิทเซอร์แลนด์มาให้ และในโอกาสนี้ จึงขอขอบใจเป็นการส่วนตัวต่อทุกๆ คนที่มาถวายความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชของข้าพเจ้า ณ พระมหาปราสาท ตลอดจนความปรารถนาดีที่มีต่อตัวข้าพเจ้าเอง กับขอขอบใจเหล่าทหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการด้วยความจงรักภักดีต่อเราทั้งสองด้วย

วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

อีกสามวันเท่านั้น เราก็จะต้องจากไปแล้ว ฉะนั้นจึงตั้งใจจะไปนมัสการพระพุทธชินสีห์ที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชด้วย.

เมื่อไปถึงวัดบวรนิเวศน์วิหารตอนบ่ายวันนี้ มีประชาชนผู้รู้ว่าข้าพเจ้าจะมา มายืนรออยู่บ้าง แต่ไม่สู้มากนัก เข้าไปในพระอุโบสถ จุดเทียนนมัสการ ฯลฯ แล้วได้มีโอกาสทูลปฏิสันถารกับสมเด็จพระสังฆราช ทรงนำพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์สูงให้มารู้จัก โดยปกติได้เคยเห็นหน้าท่านเหล่านี้มาจนชินแล้ว ทรงนำขึ้นไปนมัสการพระสถูป บนนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ ชื่อ พระไพรีพินาศ พระองค์นี้เคยทรงเล่าประวัติให้ฟังมาก่อนหน้านี้แล้วหลายวัน หลังจากนั้นก็นมัสการลา.

ตอนนี้มีราษฎรชุมนุมกันหนาตาขึ้น ต่างก็ยัดเยียดเบียดเสียดกันจนรู้สึกเกรงไปว่ารถที่นั่งมาจะทับเอาใครเข้าบ้าง ช่างเคราะห์ดีแท้ๆ ที่ไม่มีอันตรายอันใดเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่มานั้นเลย ในหมู่ประชาชนที่มารอรับกันอยู่วันนี้ จำได้ว่ามีบางคนเคยเห็นที่พระมหาปราสาทเป็นประจำมิได้ขาด ไม่รู้ว่าหาเวลามาจากไหน จึงไปที่พระมหาปราสาทได้เสมอเกือบทุกวัน อังคาร พฤหัสบดี และวันอาทิตย์ พวกนี้ก็มาที่วัดนี้ด้วยเหมือนกัน.

วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

เก็บของลงหีบและเตรียมตัว…

วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ 

เราจะต้องจากไปในวันพรุ่งนี้แล้ว!  อะไรก็จัดเสร็จหมด หมายกำหนดการก็มีอยู่พร้อม…บ่ายวันนี้เราไปถวายบังคมลาพระบรมอัฐิของพระบรมราชบุพพการีของเรา ทั้งสมเด็จพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลก่อนๆ แล้วก็ไปถวายบังคมลาพระบรมศพ เราต้องทูลลาให้เสร็จในวันนี้ และไม่ใช่พรุ่งนี้ตามที่ได้กะไว้แต่เดิม เพื่อจะรีบไม่ให้ชักช้า เพราะพรุ่งนี้จะได้มีเวลาแล่นรถช้าๆ ให้ราษฎรเห็นหน้ากันโดยทั่วถึง.

เมื่อออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ผู้คนอะไรช่างมากมายเช่นนั้น เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาถามว่า จะอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาหรือไม่ในขณะที่ไปถวายบังคมพระบรมศพ ตอบเขาว่า “ให้เข้ามาซิ” เพราะเหตุว่าวันอาทิตย์เป็นวันสำหรับประชาชน เป็นวันของเขา จะไปห้ามเสียกระไรได้ และยิ่งกว่านั้นยังเป็นวันสุดท้ายก่อนที่เราจะจากบ้านเมืองไปด้วย ข้าพเจ้าก็อยากจะแลเห็นราษฎร เพราะกว่าจะได้กลับมาเห็นเช่นนี้ก็คงอีกนานมาก…วันนี้พวกทหารรักษาการณ์กันเต็มที่ เพื่อกันทางไว้ให้รถแล่นได้สะดวก ไม่เหมือนอย่างเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ที่มากันคนช้าเกินไป…

อ่านต่อหน้า 2

พระชะตากำหนด สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระราชทานสัมภาษณ์สื่อถึงรักแรกพบ ดูแล้วยิ้มทั้งน้ำตา

เป็นคลิปที่ดูแล้วต้องยิ้มทั้งน้ำตาจริงๆ กับบทพระราชทานสัมภาษณ์ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้ทรงให้กับ บีบีซี สื่อต่างชาติ ถึงเรื่องราวความรักของพระองค์กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ท่ามกลางความเศร้าโศกของคนไทยทั้งชาติ ที่ต้องสูญเสียพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ไปอย่างไม่มีวันกลับ ที่เฟสบุ้คของสำนักข่าว บีบีซีไทย-BBC Thai ก็ได้มีการโพสต์คลิปศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ (ตอนที่ 3) ขึ้นมาบนหน้าเพจ พร้อมทั้งโพสต์ข้อความว่า

เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บีบีซีไทยขอเชิญบันทึกพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่บีบีซีจากสารคดี Soul of a Nation – The Royal Family of Thailand (ศูนย์รวมใจของชาติ – พระราชวงศ์ไทย) ซึ่งเคยออกอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2523 มาเผยแพร่ให้ชมกันอีกครั้ง

สมเด็จพระนางเจ้าฯ

ในตอนที่สามนี้ บีบีซีไทยเชิญทุกท่านรับฟังพระราชดำรัสซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานสัมภาษณ์แก่เดวิด โลแมกซ์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ถึง “รักแรกพบ” ของพระองค์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช #KingBhumibolAdulyadej #SoulOfANation

 

แพรวขอพระราชทานราชานุญาติถอดพระราชดำรัสออกมาเป็นตัวหนังสือตามนี้

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : มันเป็นความเกลียดแต่แรกพบ ในฝ่ายข้าพเจ้า

เดวิด โลแมกซ์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี : เกลียดแต่แรกพบเช่นนั้นหรือครับ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : เกลียดแต่แรกพบ เพราะพระองค์ตรัสว่าจะเสด็จมาถึงในเวลาสี่โมงเย็น แต่กลับเสด็จมาถึงในเวลาหนึ่งทุ่ม ทรงปล่อยให้ฉันยืนรออยู่ตรงนั้น และได้แต่ซ้อมถอนสายบัว ซ้อมแล้วซ้อมอีก ดังนั้นจึงเป็นความเกลียดแต่แรกพบ

เดวิด โลแมกซ์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี : หากว่าเป็นความเกลียดแต่แรกพบ แต่เมื่อเป็นการพบกันครั้งที่ 2 ล่ะครับ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : จากนั้นมันก็คือความรัก เป็นสิ่งธรรมดาๆ ที่คุณเคยได้ยิน รักแรกพบ ฉันไม่รู้ว่าพระองค์ทรงรักฉัน เพราะขณะนั้นฉันมีอายุเพียง 15 ปี และตั้งใจว่าจะเป็นนักเปียโน นักเปียโนคอนเสิร์ต

เดวิด โลแมกซ์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี : หลังจากนั้นพระองค์ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ใช่ไหมครับ เกิดอะไรขึ้นครับ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ : พระองค์ประชวรอย่างหนักและพำนักอยู่ในโรงพยาบาล ตำรวจโทรแจ้งพระราชชนนีของพระองค์ และพระราชชนนีเสด็จไปทันที แต่แทนที่จะตรัสทักทายพระราชชนนี พระองค์ทรงหยิบรูปของฉันออกมาจากกระเป๋า โดยที่ฉันไม่ทราบเลยว่าทรงมีรูปของฉันอยู่ และตรัสว่า

‘ช่วยไปตามเธอมา ฉัน…ฉันรักเธอ ช่วยไปตามเธอมา’

ฉันคิดเพียงว่าจะอยู่กับผู้ชายที่ฉันรักเท่านั้น ไม่ได้คิดถึงเรื่องหน้าที่และภาระในฐานะพระราชินีเลย

เรื่องราวความรักระหว่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ จึงถือได้ว่าเป็นพระชะตากำหนดอย่างแท้จริง

ขอบคุณคลิป : สำนักข่าว บีบีซีไทย-BBC Thai  เจ้าของคลิป

พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงโพสต์ไอจี ถวายความอาลัย “ตามเสด็จทูลกระหม่อมปู่เป็นวันสุดท้าย”

14 ตุลาคม 2559 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ซึ่งประทับนั่งในรถยนต์พระที่นั่งตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย ได้โพสต์ภาพที่พระองค์ทรงฉายขณะอยู่บนรถยนต์พระที่นั่งพร้อมทั้งบรรยายความรู้สึกผ่านทางอินสตาแกรมส่วนพระองค์ว่า

“ตามเสด็จทูลกระหม่อมปู่เป็นวันสุดท้าย และเป็นครั้งสุดท้ายที่ตามหลังรถพระที่นั่งคันแรกแล้วสินะ จำความได้ว่าเราตามเสด็จฯครั้งแรกตอน 9 ขวบ จนถึงวันนี้จบแล้ว หัวใจแตกสลาย”

 

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ในหลวงในดวงใจ

รวมเหตุอัศจรรย์บนฟากฟ้า ห้วงเวลาน้อมอาลัย ในหลวงในดวงใจ เสด็จสู่สวรรคาลัย

ในหลวงในดวงใจ
ในหลวงในดวงใจ

เหตุอัศจรรย์อาจเป็นเรื่องที่คนยุคใหม่คิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล งมงาย แต่สำหรับคนไทยส่วนใหญ่แล้ว นี่คือเรื่องที่ไม่ไกลพ้นไปจากความเชื่อเราเท่าใดนัก โดยเฉพาะเมื่อเป็นเหตุอัศจรรย์ที่เกี่ยวเนื่องกับคนในราชวงศ์

และนับตั้งแต่ ในหลวงในดวงใจ เสด็จสู่สวรรคาลัยไปเมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลา 15.52 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ ห้วงเวลาก่อนหน้าจวบจนค่ำคืนแรกที่คนไทยไม่มีพ่อหลวง เลยไปจนถึงเพลาเคลื่อนพระบรมศพนั้นก็พลันบังเกิดปรากฏการณ์บนฟากฟ้าหลากหลายเหตุการณ์ ซึ่งนับเป็นเรื่องอัศจรรย์ยิ่งนัก แต่หากคิดว่าพระองค์ท่านทรงเป็นสมมติเทพลงมาจุติ ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ก็จะเป็นบทบันทึกของห้วงเวลาอันแสนเศร้าทางประวัติศาสตร์ ที่สามารถเล่าสืบต่อชั่วลูกชั่วหลานได้ตราบนานเท่านาน

อัศจรรย์ท้องฟ้าเปิดเหนือโรงพยาบาลศิริราช

ปรากฏการณ์ท้องฟ้าเปิด หลังวันสูญเสีย ในหลวงในดวงใจ

ไม่ปรากฏที่มาของผู้ถ่ายภาพ แต่ที่แชร์ต่อๆ กันจนมาถึงแพรวนั้น ได้จากเพจ “ดร.ณัชร สยามวาลา Nash Siamwalla, PhD” ซึ่งลงภาพนี้พร้อมโพสต์ข้อความว่า

“ภาพท้องฟ้าเปิดเหนือศิริราชตอนบ่ายแก่ๆ วันที่ ๑๓ ต.ค. ๒๕๕๙ สะกิดให้คิดมุมกลับได้ว่า ป่านนี้บนสวรรค์คงกำลังเฉลิมฉลองต้อนรับการเสด็จฯกลับของพระองค์ท่านอยู่ หลังจากที่ทรงเสียสละจุติจากเทวโลกลงมาอุบัติในมนุษย์โลก เพื่อทรงงานช่วยเหลือดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขพวกเราอยู่ตั้งนาน

ผู้เขียนเป็นผู้รู้น้อย แต่ขอเดาจากที่เคยได้ยินมาว่า ที่เห็นฟ้าเปิดเป็นแสงสว่างส่องลงมาท่ามกลางความมืดมนนี้ ก็น่าจะเป็นขบวนเทวดา (ที่ตามปกติมีรังสีสว่างมากน้อยตามกำลังบุญ) ลงมากราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จฯกลับสวรรค์นั่นเอง

คนไทยเรายุคปัจจุบันมีบุญมากที่ได้เกิดทันแผ่นดินของพระโพธิสัตว์ผู้กำลังสั่งสมพระบารมี เพื่อจะไปเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต ถ้ารักและอาลัยพระองค์ท่านก็พึงเจริญทาน ศีล และภาวนาบารมีตามรอยพระบาทกันเถิด

เพราะอย่าลืมว่าเพียงการอธิษฐานว่า ‘ขอเกิดเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป’ นั้นไม่พอ แต่ต้องสร้างเหตุให้เหมาะสมที่จะได้ไปเกิดใต้เบื้องพระยุคลบาทด้วย

เหตุที่ว่านี้คือ ต้องทำทั้งทาน ศีล และภาวนานั่นเอง

Cr.ไม่ปรากฏชื่อผู้ถ่ายภาพ มีผู้ส่งต่อๆ กันมาในไลน์ ท่านใดเป็นผู้ถ่ายภาพนี้ขอให้บอกมาด้วยนะคะ ประสงค์จะให้เครดิตท่านค่ะ”

แพรวเองก็ขอขอบคุณเจ้าของภาพมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

อัศจรรย์หมอกธุมเกตุ

หมอกธุมเกตุ หลังเหตุการณ์สูญเสีย ในหลวงในดวงใจ

หมอกธุมเกตุปกคลุมเหนือท้องฟ้ากรุงเทพฯ

หมอกธุมเกตุปกคลุมเหนือท้องฟ้ายามคำคืน

ภาพชุดปรากฏการณ์หมอกธุมเกตุ

ภาพชุดหมอกปกคลุมเหนือท้องฟ้ากรุงเทพมหานคร ได้มาจากเพจ “คุณ Bigg Sirirojwong” ซึ่งได้ทยอยลงภาพชุดนี้ในเฟซบุ๊กของเขาเมื่อเวลา 02.21 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม พร้อมโพสต์ข้อความว่า

คืนวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 วันเสด็จสวรรคตองค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 เกิดปรากฏการณ์ ‘หมอกธุมเกตุ’ ซึ่งตำรากล่าวถึงว่า มักจะมีในเวลาที่มีเหตุใหญ่ๆ เกิดขึ้น เช่น เหตุการณ์สวรรคตของพระเจ้าแผ่นดินมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อครั้งองค์ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 ก็มีบันทึกว่าได้เกิดปรากฏการณ์ ‘หมอกธุมเกตุ’ นี้เช่นเดียวกัน ดังข้อความบางส่วนจากพระนิพนธ์ในหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิสกุล ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เมื่อแผ่นดินสยามร้องไห้ ที่ได้บรรยายไว้ว่า
‘พวกราษฎรเอาเสื่อไปปูนั่งกันเป็นแถวตลอดสองข้างทาง จะหาหน้าใครที่มีแม้แต่ยิ้มก็ไม่มีสักผู้เดียว ทุกคนแต่งดำน้ำตาไหลอย่างตกอกตกใจด้วยไม่เคยรู้รส อากาศมืดคุ้มมีหมอกขาวลงจัดเกือบถึงหัวคนเดินทั่วไป ผู้ใหญ่เขาบอกว่านี่แหละหมอกธุมเกตุ (๑) ที่ในตำราเขากล่าวถึงว่ามักจะมีในเวลาที่มีเหตุใหญ่ๆ เกิดขึ้น’ ”

ปรากฏว่าภาพชุดนี้ถูกแชร์ต่อๆ กันไปเป็นวงกว้างในโลกโซเชียล และคาดว่าน่าจะมีคนติดต่อเข้าไปยังเจ้าของเพจเพื่อขอซื้อภาพเป็นจำนวนมาก แต่น่านับถือเจ้าของเพจมากมายนัก เพราะแทนที่จะเมคมันนี่จากผลงานสุดยอด เขากลับออกมาประกาศผ่านเฟซบุ๊กของเขาว่า

“มีหลายท่านขอไฟล์เต็มเพื่อนำไปอัดภาพของภาพพระบรมมหาราชวัง บางท่านขอซื้อ
ดังนั้นผมจึงขออนุญาตมอบไฟล์เต็มของภาพนี้ รวมถึงภาพชุด ‘หมอกธุมเกตุ’ ที่ถ่ายไว้ให้กับพวกเราคนไทยที่รักในหลวงทุกท่านครับ ท่านสามารถนำไปใช้ใดๆ หรือนำไปอัดภาพใหญ่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตครับ

ปล. ภาพเป็นไฟล์เต็ม ไม่มีตัวอักษรใดๆ (ยกเว้นภาพพระบรมมหาราชวังที่มีเครดิตชื่อผมใต้ภาพ เนื่องจากผมหาภาพต้นฉบับที่ไม่มีชื่อผมติดมุมภาพไม่เจอครับ)”

สุดยอดเลยค่ะ

อัศจรรย์พระจันทร์ทรงกลด

พระจันทร์ทรงกลด

ภาพนี้มาจากอินสตาแกรมของคุณ @up2youha ซึ่งไม่ได้บอกว่าเป็นคนถ่ายภาพด้วยตนเอง แต่ชอบข้อความที่โพสต์ไว้ถึงในหลวงในดวงใจ จึงขออนุญาตนำมาแบ่งปันไว้ ณ ที่นี้

เป็นสิ่งอัศจรรย์วันสวรรคต
พระจันทร์ทรงกลดลดรัศมี
น้อมส่งดวงวิญญาณองค์ภูมี
สถิตเสถียรที่แดนฟ้าสวรรคาลัย
#ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป

อัศจรรย์ฝูงนกบินวนเหนือพระบรมมหาราชวัง

ฝูงนกบินวนเหนือพระบรมมหาราชวัง

ฝูงนกบินวนสร้างความประหลาดใจแก่ประชาชน

สองภาพนี้ตัดมาจากคลิปความยาว 1.55 นาที ที่คุณ Pinny Shiori แชร์ไว้บนเพจเฟซบุ๊กของเธอ โดยมีข้อความประกอบคลิปว่า

“10.59 นาที เกิดปรากฏการณ์ฝูงนกรวมตัวบินวนไปรอบๆ พระบรมมหาราชวังตามเข็มนาฬิกา 3 รอบ และบินวนทวนเข็มนาฬิกาอีกนับครั้งไม่ถ้วนเหนือพระบรมมหาราชวัง จนบัดนี้ก็ยังบินวนอยู่ สร้างความประหลาดใจแก่ประชาชนที่มานั่งรอ เรากับแม่นั่งมองด้วยความอึ้งมาก ทุกคนในบริเวณนี้ก็เช่นกัน”

หลังจากนั้นเธอโพสต์อีก 1 คลิป พร้อมข้อความ

“ณ เวลาที่ใกล้เคลื่อนพระบรมศพ 12.10 น. ก็เกิดเหตุการณ์ฝูงนกบินมารวมตัวกันอีกครั้ง และมาหยุดเกาะตรงด้านบน ทุกตัวราวกับมาส่งเสด็จ และเกาะอยู่อย่างนั้น ไม่ขยับเขยื้อนเลย”

ฝูงนกบินมาเกาะด้านบนพระบรมมหาราชวัง

ภาพอัศจรรย์บนฟากฟ้าทุกภาพอาจมีความเห็นต่าง ซึ่งสามารถทำได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ในพื้นที่ลิสต์นี้ ผู้รวบรวมข้อมูลยอมรับว่าเหตุแห่งการรวมมาจากการ “มอง” ตามแบบที่บรรพบุรุษของเรามอง เพราะอย่างน้อยๆ นี่ก็ช่วยเยียวยาความรู้สึกสูญสลายจากการสูญสิ้น ในหลวงในดวงใจ ไป ด้วยเชื่อว่าพระองค์ท่านเสด็จกลับคืนสู่สรวงสวรรค์แล้วนั่นเอง

 

แพรวขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพมา ณ ที่นี้

 

 

สะอื้นไห้ระงม บรรยากาศพิธีส่งเสด็จองค์พระปรมินทร์ สู่สวรรคาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

สะอื้นไห้ระงม เกินจะบรรยายความสูญเสีย บรรยากาศร่วมพิธีส่งเสด็จองค์พระปรมินทร์ สู่สวรรคาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

ตลอดทั้งวันนี้ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ที่พระบรมมหาราชวัง บรรยากาศยังเต็มไปด้วยความปวดร้าวสุดแสนอาลัย ได้แต่ร่ำไห้ เกินจะบรรยายความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ เมื่อประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่อาศัยบนแผ่นดินไทยใต้ร่มบรมโพธิสมภารจากทั่วสารทิศ ต่างพร้อมเดินทางเข้ามาร่วมพิธีสรงน้ำพระบรมศพต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในศาลาสหทัยสมาคม

โดยบรรยากาศภายในศาลาสหทัยสมาคมเต็มไปด้วยเสียงสะอื้นไห้ ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังคอยอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เข้ามาร่วมพิธีด้วยการจัดระเบียบแถวเข้า – ออก พร้อมตักน้ำสรงพระบรมศพใส่ขันทองขนาดเล็กยื่นส่งให้

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาการสรงน้ำ บางคนถึงกับต้องให้ญาติมิตรที่มาด้วยจูงประคองออกไปด้านนอก ซึ่งยังคงแน่นขนัดด้วยพสกนิกรที่หลั่งไหลมาไม่ขาดสาย โดยมีเจ้าหน้าที่คอยแจกแอมโมเนียให้กับผู้ที่เป็นลมท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว

king27

king26

king17

king09

king28

king08

king23
king16 king15 king12 king10 king11


เรื่อง : Red Apple_แพรวดอทคอม
ภาพ : ทีมช่างภาพอมรินทร์

ภาพหาดูยากของเรือใบฝีพระหัตถ์ลำจริงที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้มาจัดแสดงครั้งแรก!

ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานเรือใบฝีพระหัตถ์ลำจริงให้มาจัดแสดงครั้งแรกใน “นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559

คงจะพอทราบกันมาบ้างแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์ไม่ว่าจะเป็นงานช่างไม้ ช่างโลหะและช่างกล จนได้รับแต่งตั้งให้เป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ซึ่งไฮไลท์ภายในงานนิทรรศการก็คือ เรือใบฝีพระหัตถ์ “เรือใบซูเปอร์มด” และ “เรือเวคา 2” ลำจริง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้มาแสดงในงานนี้

super

เรือใบซูเปอร์มด (Super Mod) เป็นเรือใบประเภทม็อธ (International Moth Class) โดยพระองค์ทรงออกแบบให้เรือใบซูเปอร์มดนี้ให้มีการทรงตัวดีที่มีความเร็วมากขึ้น ตัวเรือคงทนแข็งแรง สู้คลื่นลมได้ดีและมีความปลอดภัยสูง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำเรือใบซูเปอร์มดเข้าร่วมแข่งขันกีฬานานาชาติเป็นครั้งแรกในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2510 โดยครั้งหลังสุดใช้ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13 เมื่อ พ.ศ. 2528 ทั้งนี้ พระองค์ทรงพระราชทานพิมพ์เขียวของเรือใบซูเปอร์มดให้แก่สโมสรกรมอู่ทหารเรือ เพื่อใช้สร้างเรือในราคาย่อมเยาจำหน่ายแก่สมาชิก

waha2

เรือเวคา (Vega) 2 เป็นเรือใบประเภทโอเค (International OK Class) พระองค์ทรงพระราชทานชื่อว่า เรือเวคา (Vega) มีความหมายว่า “ดวงดาวที่สุกใส” ใน พ.ศ. 2510 พระองค์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนฯ ทรงนำเรือเวคา 2 เข้าร่วมแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 และทรงชนะเลิศเหรียญทองร่วมกันทั้งสองพระองค์

นอกจากเรือใบฝีพระหัตถ์ลำจริงที่นำมาแสดงในครั้งนี้แล้ว ภายในนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการแสดงโครงการในพระราชดำริที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยโครงการชัยพัฒนา และการพัฒนาคนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับโรงเรียนพระดาบส ถือเป็นอีกหนึ่งงานดีๆ ที่หาดูได้ยากยิ่งนัก

เรื่อง : saipiroon_แพรวดอทคอม

ภาพ : นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

“รับ” พระราชดำรัสที่ผูกพัน พระมหากษัตริย์ ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก

“เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า ราชอาณาจักรนั้นเปรียบเสมือนพีระมิด มีพระมหากษัตริย์อยู่บนยอด และมีประชาชนอยู่ข้างล่าง แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ดูเหมือนทุกอย่างจะตรงกันข้าม นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องปวดคอ และบริเวณไหล่อยู่เสมอ”

ความตอนหนึ่งในบทพระราชทานสัมภาษณ์ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงพระราชทานแก่นิตยสาร “เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก” เมื่อปี 2525

ย้อนกลับไปวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคตอย่างกะทันหัน ท่ามกลางความทุกข์โศกสลดทั้งแผ่นดิน รัฐสภาได้เปิดประชุมเป็นกรณีเร่งด่วนในช่วงค่ำคืนนั้น พร้อมกับลงมติเห็นชอบตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่

ขณะนั้นหลายฝ่ายต่างวิตกกังวลกันว่าสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์(พระอิสริยศักดิ์ในเวลานั้น) อาจไม่ทรงยินยอม  จนเมื่อเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่  ตลอดถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง  รวมถึงนายกรัฐมนตรีและคณะนายกรัฐมนตรี  ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลว่า สมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงเป็นผู้มีสิทธิในราชบังลังก์นั้น สมเด็จพระราชชนนีจึงได้ตรัสถามพระราชโอรสต่อหน้าที่ประชุมทั้งมวลว่า “รับไหมลูก”

ณ เพลานั้น สมเด็จฯเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชมีรับสั่งสั้นๆ เพียงว่า “รับ”  บรรดาผู้อยู่ในที่ประชุม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน  พระบรมมหาราชวัง จึงพร้อมใจกันคุกเข่าลงกราบถวายบังคม…

นับจากวินาทีนั้น  ประวัติศาสตร์ของยุวกษัตริย์พระองค์ที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  และพระองค์ที่สองแห่งราชสกุล “มหิดล” ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

จากวันนั้นถึงวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ คือ พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งของชาติไทยและของโลก  ทรงเป็นพระราชาผู้ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนของพสกนิกรมาอย่างยาวนาน ด้วยทุกคนล้วนประจักษ์ชัดตรงกันว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก จวบจนสวรรคต ณ วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 นับเวลาแห่งการครองราชย์ได้ 70 ปี 4 เดือน 4 วัน

ขอน้อมอาลัยส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

อยู่ดี กินดี เพราะม่ีในหลวง

ชม 6 ศูนย์ศึกษาฯอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชี้ชัดใครกันที่ อยู่ดี กินดี เพราะมี ในหลวงรัชกาลที่ 9

อยู่ดี กินดี เพราะม่ีในหลวง
อยู่ดี กินดี เพราะม่ีในหลวง

ในหลวงรัชกาลที่ 9… พ่อหลวง… พ่อของแผ่นดิน… ไม่ว่าใครจะเรียกพระองค์ว่าอย่างไร แต่ในใจคนไทยล้วนหมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระเจ้าแผ่นดินที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก

ตลอด 70 ปี แห่งการครองราชย์ ไม่มีวันใดเลยที่พระองค์จะหยุดทรงงาน เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ได้อยู่ดีกินดี เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา แพรว ขอร่วมเทิดพระเกียรติด้วยการนำเสนอหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” 6 ศูนย์ทั่วประเทศ ที่พระองค์ทรงพลิกฟื้นผืนดินเสื่อมโทรมให้กลายเป็นทอง จนเกษตรกรในพื้นที่สามารถปลดหนี้ กู้ศักดิ์ศรีเกษตรกรกลับคืนมาด้วยแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้จนถึงวันนี้

‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จังหวัดจันทบุรี

ในหลวงเกิดขึ้นจากพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงไปประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จังหวัดจันทบุรี พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดว่า “ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตร ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลและจังหวัดจันทบุรี” ต่อมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จึงได้มีขึ้น

ในหลวง
ประจวบ ลีรักษาเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน

ประจวบ ลีรักษาเกียรติ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์มาตั้งแต่ปี 2529 ด้วยความจงรักภักดีที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงทำให้เขาขอย้ายกลับมาที่ศูนย์ ในปี 2556 ทำงานสนองพระราชดำริมาจนถึงปัจจุบัน

มุ่งมั่นสนองงานจากยอดเขาสู่ท้องทะเล

“ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ที่มีพระราชประสงค์ให้พัฒนาการเกษตร ประมง จนปรับประยุกต์ไปในเรื่องของการท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านในปัจจุบันมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ป่าที่เคยเสื่อมโทรมกลับมาเขียว จนถึงพื้นที่ป่าชายเลนรอบอ่าวคุ้งกระเบนถูกบุกรุกจนน้ำทะเลเข้าพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน สวนผลไม้เสียหาย ด้วยพระอัจฉริยภาพที่พระราชทานแนวทางให้ปรับปรุงพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมรอบอ่าวคุ้งกระเบนเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืนโดยให้ชาวบ้านดูแลและปลูกป่าชายเลนควบคู่กันไป ขณะเดียวกันเกษตรกรที่ได้มาเรียนรู้อบรมที่ศูนย์ก็มีการรวมกลุ่มอาชีพกัน เราพยายามนำกลุ่มทั้งหมดมาจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาเกษตรกรให้ยืนอยู่บนขาตัวเองให้ได้

ในหลวง
‘ลุงหลวย’ หรือ ฉลวย จันทแสง เป็นเกษตรกรที่มาฝึกอบรมที่ศูนย์ ตั้งแต่ทำปุ๋ยหมักแล้วสามารถนำไปประยุกต์ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองได้

‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จังหวัดสกลนคร

ในหลวงหากย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯแปรพระราชฐานมาเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดสกลนครเป็นครั้งแรก ทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่แห้งแล้ง ป่าถูกทำลาย ราษฎรยากจน จึงมีพระราชดำริที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องดิน แหล่งน้ำ และป่าไม้ ให้แก่ราษฎร แล้วนับจากปี 2523 เป็นต้นมา พระองค์ท่านเสด็จฯมาประทับที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนครทุกปี บางปีเสด็จถึง 2 ครั้ง จนกระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 ทรงเปิดศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน โดยมีพระราชดำรัสว่า

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานจะต้องเป็นที่รวบรวมงานด้านต่างๆ ตั้งแต่การพัฒนาด้านการผลิต การซื้อ และการจำหน่าย รวมทั้งงานวิชาการต่างๆ ให้ครบวงจรด้วย นอกจากนี้หากหน่วยงานราชการใดสนใจจะเข้ามาดำเนินการศึกษาในเรื่องต่างๆ ก็ย่อมกระทำได้ถ้ามีวัตถุประสงค์ร่วมในการมุ่งส่งเสริมให้ประโยชน์ต่อราษฎรให้มากที่สุด”

ในหลวง
สุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน

“เป็นแนวทางที่พวกเราที่ทำงานในศูนย์ศึกษายึดถือสืบต่อกันมาถึงวันนี้ครับ” สุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แม้จะเข้ารับตำแหน่งได้ 3 ปี แต่เมื่อเป็นคนอีสานโดยกำเนิด จึงสานต่อแนวทางพระราชดำริได้โดยไม่ยาก

ภูพานสตรอง แนวทาง 3 D

“ผมยอมรับเลยว่า เริ่มงานเดือนแรกหนักใจมากว่าจะรู้งานในส่วนอื่นได้อย่างไร เพราะผมเป็นข้าราชการกรมชลประทาน แต่ที่ศูนย์ศึกษามีทั้งเรื่องของการเกษตร แหล่งน้ำ สร้างอาชีพ ฯลฯ แต่ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน ทุกคนจึงพร้อมให้ความร่วมมือและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมทั้งผมก็อาศัยค้นคว้าเพิ่มเติม ทำงานอยู่ภายใต้บริบท สร้างน้ำ เพิ่มป่า พัฒนาชีวิตที่พอเพียง ภายใต้หลักการ 3 D คือ 1.ความรู้ดี 2.พันธุ์ดี 3.คนดี

ในหลวง
บังอร ไชยเสนา เธอเคยยากจนต้องเก็บขยะขายเพื่อหาเงินใช้หนี้ ธ.ก.ส. แต่เพียงแค่พลิกวิธีการทำเกษตรตามพระราชดำรัชในหลวง วันนี้กลายเป็นเกษตรกรเงินล้านและเกษตรกรดีเด่นจังหวัดสกลนคร

‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จังหวัดเพชรบุรี

วันที่ 5 เมษายน 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ ทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่จึงมีรับสั่งว่า “พื้นที่นี้มีความเสื่อมโทรมเป็นอย่างมากเกิดความแห้งแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกรงว่าหากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด”

ในหลวง
พ.ต.อ.นพพล ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย

พ.ต.อ.นพพล ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย เล่าถึงพระราชดำริที่ทรงก่อตั้งศูนย์ศึกษาว่า “เดิมพื้นที่แห่งนี้มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มีสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะกวาง เนื้อทราย ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่น ลงมากินน้ำในลำห้วยจำนวนมาก เพราะเป็นที่ดินในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จึงได้ชื่อว่า ‘ห้วยทราย’ เมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคต ประชาชนได้บุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่ มีการใช้สารเคมีจำนวนมาก ภายในเวลาไม่ถึง 40 ปี สภาพพื้นดินจึงกลายเป็นดินเสื่อมโทรม ปลูกพืชไม่ได้”

แก้ปัญหาดินดานด้วยหญ้าแฝก

“เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นดินเสื่อมโทรม ดินร่วนปนทราย เมื่อขาดธาตุอาหาร ความชื้น และอากาศที่เหมาะสม ทำให้จับตัวกันแน่นแข็งที่เรียกว่า ‘ดินดาน’ ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ จึงมีพระราชดำริให้ทดลองใช้หญ้าแฝกแก้ปัญหา จนปัจจุบันสามารถเพาะปลูกพืชได้แล้ว พระองค์ท่านทรงติดตามงานตลอดเวลา และมีพระราชดำรัสชื่นชมเมื่อปี 2540 ความตอนหนึ่งว่า “สิ่งที่ทำไว้ที่ห้วยทรายนับว่าประสบความสำเร็จดีมาก ต้องบันทึกไว้เป็นทฤษฎีหรือตำรา ฉันปลื้มใจมาก…” พระราชดำรัสดังกล่าวจึงเป็นขวัญและกำลังใจให้คณะทำงานของศูนย์อย่างหาที่สุดมิได้

ในหลวง
สำรอง แตงพลับ หรือลุงสำรอง เกษตรตัวอย่างของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย สามารถลืมตาอ้าปากได้ เพราะแนวทางการทำเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ

‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จังหวัดเชียงใหม่

ในหลวงจากป่าเสื่อมโทรม-ดินหินกรวดแห้งแล้งจึงก่อกำเนิดศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ผู้อำนวยการคนที่ 4 ของศูนย์ศึกษา สุรัช ธนูศิลป์ เล่าว่า “ย้อนไปปี 2525 ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง พระองค์ท่านเสด็จฯไปทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำของหมู่บ้าน ปัจจุบันคือ ‘อ่างห้วยฮ่องไคร้ 7’ ความจุประมาณ 2 ล้านลิตร

“พระองค์ท่านทรงวิเคราะห์ดินว่า เป็นหินกรวดแห้งแล้ง เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า มีไฟป่า ฝนตกมาคราใดก็ชะล้างหน้าดิน จนเหลือแต่หินกรวด ทั้งที่อยู่ห่างตัวเมืองแค่ 30 กิโลเมตร แต่ไม่มีใครบุกรุกที่ดินผืนนี้ เพราะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ พระองค์ท่านทรงนึกในพระราชหฤทัยว่า ‘ถ้าได้พื้นที่แห่งนี้มาจะทำให้คนอื่นอิจฉาภายใน 5 ปี’ ผอ.สุรัชเล่าพร้อมกับจ้องตาเรา นัยว่าเพื่อยืนยันเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้

ในหลวง
สุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้

“ด้วยพระอัจฉริยภาพเรื่องการชลประทาน ได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อหาน้ำให้พื้นที่ในศูนย์ทำกิจกรรมต่างๆ โดยทรงแนะนำให้ใช้หลักแรงโน้มถ่วง ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่ลายซึ่งอยู่สูงกว่า ไหลลงมาที่ห้วยฮ่องไคร้ เลือกผันน้ำเฉพาะช่วงฝนตกเยอะ ปริมาณน้ำล้นเกิน หรือช่วงเกษตรกรแม่ลายไม่ได้ใช้น้ำพร้อมกับสร้างฝายต้นน้ำลำธารกักความชื้น

“พอเริ่มมีน้ำจึงพระราชทานคำแนะนำให้ขุดคูน้ำจากฝาย กระจายออกเป็นก้างปลา และปลูกป่าตามแนวคูน้ำ ด้วยวิธีที่ทรงแนะนำทำให้พื้นที่ป่าเต็งรังแห้งแล้งเริ่มมีสภาพเปลี่ยนเป็นป่าเบญจพรรณ มีไม้ผลัดใบมากขึ้น เพราะดินมีความชื้น ระบบนิเวศป่าไม้เปลี่ยนไป ความหนาแน่นต้นไม้เพิ่มขึ้นจาก 100 ต้นต่อไร่เป็น 400 ต้นต่อไร่ จากพันธุ์พืช 50 กว่าชนิดเพิ่มเป็น 200 กว่าชนิด นี่คือผลสำเร็จของการฟื้นฟูป่า และทรงมีกุศโลบายให้ ‘ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง’ คือ ปลูกไม้ผลกินได้ ไม้เศรษฐกิจสำหรับสร้างบ้านเรือน ได้ไม้เชื้อเพลิงสำหรับทำฟืน ประโยชน์คือ กินได้ ใช้สอยได้ และเมื่อคนเข้าใจว่าป่าเป็นเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีของกินของใช้ เขาก็จะไม่ทำลายป่า รักษาความชุ่มชื้นไว้ในดิน เกิดการอนุรักษ์ดินและน้ำ กลายเป็นประโยชน์ประการที่สามและสี่ตามมา”

ในหลวง
อุ่นเรือน เกิดสุข เกษตรกรต้นแบบของศูนย์ศึกษา ที่น้อมนำแนวพระราชดำริจนสามารถสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองได้

‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จังหวัดนราธิวาส

ไม่ว่าดินแดนนั้นจะอยู่แสนไกลสุดปลายด้ามขวานไทย ก็ไม่ไกลเกินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินถึง แล้วเมื่อพระองค์ท่านทอดพระเนตรความทุกข์ยากของชาวบ้านที่จังหวัดนราธิวาส ที่เดือดร้อนเรื่องพื้นที่ทำกิน จึงมีพระราชดำริให้ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองขึ้น

ในหลวง
สายหยุด เพ็ชรสุข ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง

“ชีวิตราชการดิฉันเริ่มต้นที่นี่” ผู้อำนวยการ สายหยุด เพ็ชรสุข เริ่มต้น ใครจะคิดว่าเมืองนราธิวาส พื้นที่ชายแดนใต้ที่มีสถานการณ์ไม่สงบ ผู้อำนวยการศูนย์ที่ต้องคลุกคลีกับชาวบ้านทั้งสองศาสนาจะเป็นผู้หญิง เป็นเพราะพระบารมีที่ทำให้เธอรับราชการมาได้ยาวนานถึง 24 ปี

พลิกพื้นดินเปรี้ยวสู่แผ่นดินทอง

“หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จฯมาที่ภาคใต้เมื่อปี 2502 อย่างต่อเนื่อง เยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ พบปัญหาในที่ดินทำกิน บางคนถวายฎีการ้องเรียนเรื่องที่ดินทำกิน เพราะจากสภาพพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่พรุที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือพรุบาเจาะ และพรุโต๊ะแดง ปัญหาคือดินเปรี้ยวจัด ชาวบ้านไม่สามารถทำการเกษตรได้ พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ศึกษาและค้นคว้าวิจัยหารูปแบบในการพัฒนาพื้นที่พรุให้ชาวบ้านสามารถใช้เป็นพื้นที่ทำกินได้

ในระยะแรกมีพระราชดำริในเรื่องจัดการระบบชลประทาน และแก้ปัญหาเรื่องดินเปรี้ยวจัด ซึ่งพระราชทานแนวทางเรื่องโครงการแกล้งดิน รวมทั้งหาอาชีพเสริมให้ชาวบ้าน จะได้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีพระราชดำริให้ทำงานแบบบูรณาการ ทั้งเรื่องดิน น้ำ ป่าไม้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องโรคเท้าช้าง จึงให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาดูแล รวมทั้งในพื้นที่พรุมีหญ้ากระจูด ชาวบ้านนำมาสานเสื่อและเครื่องใช้ต่างๆ มีพระราชดำริให้กระทรวงอุตสาหกรรมมาส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้าน”

ในหลวง
จิรปรียา ประพันธ์วงศ์ ครอบครัวเธออาศัยอยู่ใกล้กับศูนย์ศึกษามานาน เธอเดินเข้ามาศึกษาการเพาะเห็ดที่ศูนย์ศึกษาชีวิตก็เปลี่ยน จากที่เคยปลูกแม้แต่หญ้ายังไม่ขึ้น ทุกวันนี้เป็นเจ้าของที่ดิน 11 ไร่ ทำเกษตรผสมสานตามแนวพระราชดำริ

‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จังหวัดฉะเชิงเทรา

ในหลวงที่นี่คือปฐมบทของศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริของประเทศไทยดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล่าประวัติพระราชทานแก่ประธานกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 26 สิงหาคม 2531 ว่า

“…ประวัติมีว่า ตอนแรกมีที่ดิน 264 ไร่ ที่ผู้ใหญ่บ้านให้เพื่อสร้างตำหนักในปี 2522 ที่เชิงเขาหินซ้อนใกล้วัดเขาหินซ้อน ตอนแรกก็ต้องค้นคว้าว่า ที่ตรงนั้นคือตรงไหน ก็พยายามสืบถามก็ได้พบบนแผนที่พอดี อยู่มุมบนของระวางของแผนที่ จึงต้องต่อแผนที่ 4 ระวางสำหรับให้ได้ทราบว่าสถานที่ตรงนั้นอยู่ตรงไหน ก็เลยถามผู้ที่ให้ที่นั้นนะ ถ้าหากไม่สร้างตำหนักแต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรจะเอาไหม เขาบอกยินดี ก็เลยเริ่มทำในที่นั้น…”

เกษตรรู้จริง จึงสำเร็จ

ในหลวง
อนุวัชร โพธินาม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน

นับจากวันนั้นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนได้เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีผู้รับสนองงานในวันนี้คือ อนุวัชร โพธินาม ในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา กล่าวว่า

“การที่เกษตรกรจะทำสำเร็จได้นั้นไม่ใช่แค่มีองค์ความรู้ แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ มากมายที่เกษตรกรต้องเรียนรู้ เพราะแต่ละพื้นที่มีปัจจัยแตกต่างกัน การสร้างศูนย์เรียนรู้ที่สำเร็จขึ้นมาเป็นต้นแบบให้เกษตรกร ทำให้เขาเห็นว่าสามารถทำได้สำเร็จ ไม่ใช่แค่การเล่าจากปากต่อปาก และการที่เกษตรกรจะทำสำเร็จได้นั้นไม่ใช่ทำแค่คนเดียว แต่ชุมชนต้องเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เกษตรกรพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืนจริงๆ”

ในหลวง
ปราณี สังอ่อนดี ชาวฉะเชิงเทราที่เคยทิ้งความยากจนไปเป็นสาวออฟฟิศอยู่กรุงเทพฯ หวนคืนกลับมาพัฒนาพื้นดินที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้โดยมีคาถาประจำตัวคือ ‘ตั้งใจ’ และ ‘มีความเพียร’

 

ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับที่ 833 ปักษ์วันที่ 10 มิถุนายน 2559

ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ 9 พระอัจฉริยภาพ แห่งแรงบันดาลใจ

ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ประชาชนชาวไทยได้ประจักษ์ถึง พระอัจฉริยภาพหลากหลายด้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ นิตยสาร แพรว ได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญ 9 ท่านที่เป็นตัวแทนบอกเล่าพระอัจฉริยภาพ 9 ด้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนชีวิตและความคิดให้แก่บุคคลเหล่านี้ รวมถึงคนไทยทุกคน

พระอัจฉริยภาพด้านศาสนา

พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยเจ้าคณะภาค 2 เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารกรรมการมหาเถรสมาคม

1-1“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระปฐมบรมราชโองการในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 คือแสงทองแรกของแผ่นดินนี้ โดยพระราชาที่พระพรหมบัณฑิตกล่าวว่าทรงเป็นต้นแบบที่หาได้ยากยิ่ง

“บุคคลที่เป็นอัจฉริยะคือ ผู้ที่สามารถบูรณาการความรู้ต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถนำสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่น นำวิทยาศาสตร์มาเชื่อมโยงกับศาสนาได้อย่างกลมกลืน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะหาใครเป็นแบบนั้น แต่บุคคลหนึ่งที่เป็นเช่นนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

“สิ่งหนึ่งที่อาตมาประทับใจในพระอัจฉริยภาพของพระองค์คือ พระราชนิพนธ์ที่เกี่ยวกับศาสนาเช่น พระมหาชนก ซึ่งแสดงถึงความเข้าใจในศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทั้งที่ต้นฉบับเป็นภาษาสันสกฤตและมีขนาดยาว แต่ทรงแปลและทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ด้วยความไพเราะทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อีกทั้งยังทรงเสนอมุมมองใหม่ ๆ อันรวมถึงพระบรมราโชวาทที่ทรงนำธรรมะไปปรับใช้แล้วพระราชทานแก่ประชาชนอย่างแนบเนียนและกลมกลืน

“แม้แต่การปกครองของพระองค์ก็สะท้อนอยู่ในทศพิศราชธรรม ดังพระปฐมบรมราชโองการ ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม’ และตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ทรงครองราชย์ ทรงแสดงให้ทุกคนประจักษ์ชัดแล้วว่า พระราชจริยวัตรของพระองค์ทรงอยู่ในธรรม ไม่เคยคลาดเคลื่อนแม้แต่น้อย

“หากยกตัวอย่างทศพิศราชธรรมข้อแรกคือ ทาน ถ้าเราทำบุญก็เป็นทานส่วนตน แต่ทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ อันเป็นที่มาของโครงการตามแนวพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ นี่คือเหตุผลว่าในรัชกาลปัจจุบัน ถ้าประชาชนคิดถึงในหลวง ต้องทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล ตั้งแต่การบวช ปลูกป่า รักษาสิ่งแวดล้อม จะมีใครในโลกที่สามารถทำให้คนอยากทำความดีได้พร้อมเพรียงกันขนาดนี้

“ทรงเป็นต้นแบบที่มีพลานุภาพ และทรงเป็นผู้นำที่อยู่ในใจของผู้คนอย่างแท้จริง”

พระอัจฉริยภาพด้านเศรษฐศาสตร์

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

2-1

แม้จะเกษียณมา 17 ปีแล้ว แต่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลยังคงถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจอย่างที่สุด

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้ให้และนึกถึงผู้อื่นตลอดเวลา ตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียนมาจะลงทุนอะไรต้องยึดหลักผลตอบแทนว่า ทำแล้วได้กำไรหรือเปล่า แต่ในสายพระเนตรของพระองค์ท่าน หลายสิ่งตีค่าเป็นเงินไม่ได้ พระองค์ท่านเคยตรัสกับผมว่า ถ้าเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เราตีราคาไม่ได้หรอก คนไม่ใช่วัตถุช่วยได้เท่าไหร่ก็ต้องช่วย เพื่อให้เขาหลุดพ้นจากความทุกข์พระราชดำรัสนี้สวนทางกับกระแสสังคมในปัจจุบันที่นิยมเงินและวัตถุ กอบโกยทุกอย่างจากประเทศชาติโดยลืมไปว่าตัวเองก็ยืนอยู่บนผืนดินนั้นด้วย และที่สำคัญคือ ลืมไปว่าลูกหลานที่รับช่วงต่อเขาจะอยู่กันอย่างไร

“ในปีที่เริ่มเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2539 พระองค์ท่านทรงสอนหลักเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญคือ เศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเกิดการถกเถียงกันเยอะ นักวิชาการบางคนสรุปไปว่าเศรษฐกิจพอเพียงเหมาะสำหรับคนยากจน แต่ที่จริงแล้วเหมาะสำหรับคนทั้งโลก โดยยึดหลักของความพอประมาณใช้ให้พอดีกับความต้องการของตัวเอง คำว่าพอเพียง ไม่ได้หมายถึงต้องนุ่งผ้าขาดกะรุ่งกะริ่ง พระองค์ท่านตรัสว่าขับรถเบนซ์ก็ได้ ดูทีวีจอโต ๆ ก็ได้ แต่ต้องไม่กู้เงินใครเขามา มีเงินแค่ไหนก็ควรกินอยู่แค่นั้น

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับสั่งกับผมตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปถวายงานว่า ‘ไม่มีอะไรจะให้นะ นอกจากความสุขที่ได้ร่วมกันทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น’ ประโยคนี้กลายเป็นกุญแจสำคัญในชีวิต แม้มีเงินร่ำรวย แต่ต้องนอนอยู่ในไอซียูจะมีความสุขอะไร ต่างจากการที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นที่กลับมอบความสุขใจ

“ผมจึงภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็น 1 ใน 65 ล้านคนที่มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่านครับ”

พระอัจฉริยภาพด้านการศึกษา

ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดา

3ท่านผู้หญิงทำงานที่โรงเรียนจิตรลดามานานเกือบ 6 ทศวรรษแล้วและท่านยังคงยึดมั่นในพระบรมราโชบายด้านการศึกษาที่ได้พระราชทานไว้เป็นแนวทางตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงเรียน

“ดิฉันภาคภูมิใจที่ได้เคยถวายพระอักษรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งก่อตั้งมาครบ 60 ปี แล้ว โดยมีท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งโรงเรียนจิตรลดาเริ่มมีชั้นอนุบาลที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯทรงเป็นนักเรียนจิตรลดาพระองค์แรก ต่อมาใน พ.ศ. 2500 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเข้าศึกษาในชั้นอนุบาล ท่านผู้หญิงทัศนีย์ได้เรียกให้ดิฉันเข้ามาช่วยถวายการสอนและเป็นครูประจำชั้น

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลและละเอียดอ่อนทางด้านการศึกษา พระองค์ทรงวางรากฐานเริ่มแรกว่า เด็กเพิ่งมาจากบ้าน อย่าบังคับ ครูควรทำให้เด็กรู้สึกว่าที่โรงเรียนเหมือนบ้านหลังที่สอง และดูแลเขาอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งหัดให้เด็กดูแลตัวเองได้รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและรู้จักระเบียบวินัย ถ้าหัดได้อย่างดี เด็กก็จะจำและนำไปใช้จนเป็นผู้ใหญ่ และจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป นักเรียนในชั้นสูงขึ้น ทรงเน้นว่าไม่ควรเรียนเฉพาะในหนังสือ แต่ควรมีความรู้รอบตัวด้วย พระองค์ท่านจะเสด็จฯมาทอดพระเนตรการสอน การตรวจสมุดแบบฝึกหัดของครู พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบายและพระราชดำริอย่างใกล้ชิด

“พระองค์มีพระราชประสงค์ให้พระราชโอรส พระราชธิดาได้เข้าพระทัยสภาพแวดล้อมภายนอกและปัญหาของผู้อื่น ฉะนั้นเด็กที่เข้ามาเรียนร่วมในชั้นเดียวกันจะมีหลายสถานภาพ ในชั้นเรียนของทูลกระหม่อมหญิงมีพระสหายร่วมชั้นเรียน ซึ่งมาจากครอบครัวต่างสถานภาพ และในชั้นเรียนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯก็เช่นเดียวกันทรงมีพระบรมราโชบายไม่ให้ครูถวายสิทธิพิเศษแด่พระราชโอรสพระราชธิดา เพื่อจะได้ทรงวางพระองค์อย่างถูกต้อง มีระเบียบวินัยและมีความรับผิดชอบ

“พระราชวิสัยทัศน์อีกประการหนึ่งคือ มีรับสั่งอยู่เสมอว่า คนเรามีความรู้ความสามารถไม่เหมือนกัน ฉะนั้นต้องดูความถนัดของแต่ละบุคคลหาสิ่งที่เขาถนัดมาให้ศึกษา ทั้งที่ตอนนั้นเมื่อหกสิบปีที่แล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้เน้นเรื่องเหล่านี้ ทรงทอดพระเนตรผลการศึกษาแต่ละวิชาของนักเรียนจิตรลดาด้วยพระองค์เองเสมอ และต่อมาในปี 2526 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เป็นองค์บริหารโรงเรียนจิตรลดา

“ทุกวันนี้โรงเรียนจิตรลดายังคงยึดมั่นในพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสมอมา ปัจจุบันความรู้ก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่ก็ต้องใช้ความรู้ให้เป็น

“ถ้าใช้ถูกต้องจะเป็นคุณมหาศาลในการดำรงชีวิต เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติอย่างยิ่ง”

พระอัจฉริยภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช

4พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีความห่วงใยเอื้ออาทรต่อทุกข์สุขของพสกนิกร โดยเฉพาะในด้านสุขภาพอนามัย ดังที่มีรับสั่งว่า “…ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติก็คือ พลเมืองนั่นเอง…”

“ตามที่ผมสังเกต แม้พระองค์ท่านจะมีพระราชภารกิจมากมายในทุกด้าน แต่เรื่องการแพทย์และสาธารณสุขนั้นทรงมีความห่วงใยในสุขอนามัย ความเป็นอยู่ของประชาชนเสมอ เมื่อก่อนเวลาเสด็จฯที่ไหนที่ยังไม่มีหน่วยแพทย์ก็พระราชทานยา พอมีหน่วยแพทย์เข้าไปแล้วก็เสด็จฯเข้าไปเยี่ยมเยียน ทรงมีความรู้ทางสาธารณสุขพอสมควร เวลาเสด็จฯไปที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลบางแห่ง ก็จะทรงทราบว่าที่นั้นมีจุดไหนที่ต้องช่วยเหลืออะไรบ้าง แม้กระทั่งตอนที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชต้องถวายงาน วันหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จฯมา มีรับสั่งถามว่า ‘จะเลี้ยงยุงเหรอ เอาน้ำมาขังไว้ทำไม’ คือทอดพระเนตรสังเกตเห็นหลุมบ่อมีน้ำขังบริเวณรั้วด้านหน้าหรือหลังตึก ซึ่งเราไม่ได้เดินเข้าไปดูแต่ทรงใส่พระทัยมาก เพราะยุงไม่ได้อยู่แค่ในรั้วโรงพยาบาล แต่บินข้ามไปฝั่งอื่นได้

“แน่นอนว่า เมื่อตอนที่พระองค์ท่านยังเสด็จออกทรงงานและเยี่ยมประชาชน ไม่ว่าจะเป็นท้องไร่ท้องนากันดารแค่ไหน ก็เสด็จลงแล้วเราจะไม่ตามอย่างเชียวหรือ เมื่อตอนผมหนุ่ม ๆ ผมจึงออกไปตามหัวเมืองปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือด้านการแพทย์ คือศิริราชจะเปิดช่วงงานไว้ว่าปีหนึ่งจะต้องส่งหมอออกไปช่วยในถิ่นทุรกันดาร อย่างผมเลือกไปอุดรธานีติดต่อกันหลายปี ไปครั้งละประมาณหนึ่งเดือน

“พระองค์ท่านมีพระเมตตาต่อคนทุกคน ทรงเห็นเหมือนกับเป็นญาติ ไม่ทรงรังเกียจอะไรเลย และไม่ทรงเคยโยนความรับผิดชอบสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทราบอยู่แล้วไปให้ผู้อื่น เมื่อทรงริเริ่มอะไรไว้แล้วจะทรงติดตามความคืบหน้าอยู่เสมอ

“สำหรับผม ไม่มีคำสอนจากพระองค์เป็นการส่วนตัว แต่ตัวอย่างทุก ๆ เรื่องจากที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติอยู่ ผมจดจำมายึดเป็นแนวทางปฏิบัติทั้งหมด”

พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา

พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ นายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

5-1ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ตรัสถึงความสำคัญของกีฬาไว้ว่า “กีฬานั้น…ช่วยกล่อมเกลาให้เด็กมีจิตใจอดทน กล้าหาญ รู้แพ้รู้ชนะ…เป็นผลสืบเนื่องไปถึงการเป็นพลเมืองของชาติ…”

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดทรงกีฬาเรือใบอย่างมาก สิ่งที่เป็นประจักษ์แก่สายตาประชาชนชาวไทยและคนทั่วโลกคือ นอกจากจะทรงเรือใบได้เก่งแล้ว ยังทรงสามารถคิดค้น ออกแบบและต่อเรือใบด้วยพระองค์เองหลายลำ ลำแรกที่ทรงต่อเองคือเรือใบประเภทเอนเตอร์ไพร้ส์ ลำที่สองคือเรือใบประเภทโอเค โดยพระราชทานนามว่า ‘นวฤกษ์’ ทรงนำเรือใบชนิดนี้เข้าแข่งขันกีฬาแหลมทองและคว้ารางวัลชนะเลิศ ซึ่งพระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและองค์เดียวที่ลงแข่งขันในทวีปเอเชีย นอกจากนี้ยังทรงออกแบบเรือใบมดที่ดัดแปลงจากเรือใบประเภทม็อธ ให้มีขนาดเล็กลงเหมาะสมกับรูปร่างคนไทย

“เหตุการณ์ที่ผมยังรู้สึกประทับใจจนถึงวันนี้คือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบประเภทโอเค ที่ทรงต่อด้วยฝีพระหัตถ์ชื่อ ‘เวคา’ ข้ามจากวังไกลกังวลมายังสัตหีบพระองค์ท่านทรงเรือใบด้วยพระองค์เองเพียงลำพัง เป็นระยะทาง 60 ไมล์ทะเล ใช้เวลากว่า 17 ชั่วโมง มีเพียงแซนด์วิชและน้ำชาจีนเป็นเสบียงตลอดทั้งวัน พระองค์ท่านเป็นพระมหา-กษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่มีพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบทางไกลยอดเยี่ยม ในแบบที่ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเคยทำมาก่อน

“ในฐานะที่ผมเป็นนายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบฯ พระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านจึงเป็นทั้งแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตและการทำงาน ตัวผมเองเคยมีโอกาสแล่นเรือใบมาบ้าง ปรัชญาที่แฝงไว้ในกีฬาชนิดนี้คือ การดำเนินชีวิตไม่ต่างอะไรกับการนำเรือไปสู่จุดหมาย บางครั้งอาจต้องเจอกับความทุกข์ยากเปรียบเสมือนการเผชิญคลื่นลมและอากาศแปรปรวนผู้เล่นเรือใบต้องมีสติ สามารถนำชีวิตและเรือไปให้ถึงปลายทาง

“เหมือนดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงแสดงให้เห็นในการแล่นเรือใบหลายต่อหลายครั้งครับ”

พระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรม

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี จิตรกร

6 จิตรกรอิสระผู้สร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์จนเป็นที่ยอมรับและเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เยาวชนรุ่นหลังมากว่า 20 ปี ส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการทำงานมาจากภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

“สมัยเด็กผมเห็นภาพวาดฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แล้วไม่ค่อยเข้าใจ กระทั่งเมื่อได้เรียนศิลปะ จึงเข้าใจว่า ศิลปะไม่ใช่งานที่เหมือนจริงเท่านั้น แต่เป็นงานที่แสดงออกถึงความคิด อารมณ์ความรู้สึก ผลงานภาพฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัวมีครบถ้วนทุกอย่างทรงพระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรมอย่างแท้จริง

“พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเริ่มวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน จากนั้นก็เริ่มสะสมทุกอย่างที่เกี่ยวกับพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะเป็นพระบรมรูปหล่อจำลอง พระบรมรูปปั้นภาพพิมพ์ พระบรมฉายาลักษณ์ในอดีต เหมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราต้องเคารพกราบไหว้ เป็นศรีแก่ตัวเอง

“นอกจากนี้ผมยังได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

“ ‘ทุกคนต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง’

“หน้าที่ของศิลปินหรือคนเขียนรูปคือ การเขียนรูปออกมาให้ดีที่สุด รับผิดชอบงาน และต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ซึ่งเป็นหัวใจของการทำงานศิลปะ พอยิ่งอายุมากขึ้น เรายิ่งต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง เพราะเมื่อประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง มีรุ่นน้องมาชื่นชมว่าเราเป็นต้นแบบเป็นตัวอย่าง ฉะนั้นเราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้เขา

“ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่องานของตัวเองแล้ว งานที่ออกมาไม่ซื่อสัตย์สำหรับผมก็คืองานปลอม ซึ่งไม่มีค่าอะไรเลย”

พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ

นิติกร กรัยวิเชียร นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

7“การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าให้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนาน หรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าแก่สังคม ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง”

“พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานให้คณะกรรมการสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์รุ่นบุกเบิกเมื่อหลายสิบปีก่อนนี้ สะท้อนให้เห็นว่าทรงให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพมาก และมีพระราชประสงค์ให้นักถ่ายภาพทุกคนตระหนักอยู่เสมอในการนำภาพถ่ายไปสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมส่วนรวม

“แม้ว่าผมจะเกิดไม่ทันช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยทางด้านการถ่ายภาพ แต่เรื่องราวและภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านจำนวนมากก็ได้รับการเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทำให้เราสามารถศึกษาและมองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่ยังทรงพระเยาว์ขณะประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าโปรดการถ่ายภาพตั้งแต่ได้รับพระราชทานกล้องถ่ายภาพกล้องแรกจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา โดยระยะแรกทรงฉายภาพบุคคลใกล้ชิด รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ทอดพระเนตรเห็นในแต่ละวัน จากนั้นทรงทดลองฉายภาพที่มีมุมมองด้านศิลปะ และทรงมีเทคนิคการถ่ายภาพที่ซับซ้อนมากขึ้น

“จนกระทั่งช่วงที่ทรงได้พบกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ขณะที่ทรงเป็นพระคู่หมั้นที่งดงามออกมาเป็นจำนวนมาก หลังจากพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระฉายาลักษณ์พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนแต่เป็นภาพที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ จนเวลาผ่านไปพระราชกรณียกิจในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนมากขึ้นตามลำดับภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในช่วงนั้นก็ได้แปรเปลี่ยนไปเน้นเป็นภาพที่ทรงฉายขณะที่ทรงงานในพื้นที่ อันเป็นการบันทึกภาพสำหรับทรงใช้เป็นข้อมูลเพื่อให้การทรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อความสุขของอาณาประชาราษฎร์อย่างแท้จริง นับเป็นแบบอย่างที่ประเสริฐที่สุดแก่นักถ่ายภาพทุกคน

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยังทรงพระมหากรุณาธิคุณกับวงการถ่ายภาพของประเทศไทยเป็นอเนกประการ โดยได้ทรงรับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ปี 2504ทั้งยังได้พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายของสมาคมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

“ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยตัดสินรางวัลชนะเลิศจากภาพที่เข้ารอบสุดท้ายด้วยพระองค์เองอีกด้วยนอกจากจะทรงตัดสินภาพแล้ว ในบางครั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขาธิการอัญเชิญพระราชดำรัสว่าภาพที่ได้รับรางวัลนั้นหากปรับปรุงบางส่วนตามที่ทรงแนะนำ ก็จะทำให้ภาพนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก ยังความปลาบปลื้มแก่เจ้าของภาพและบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างหาที่สุดมิได้

“ส่วนตัวผมเองก็ได้ทำงานบริการสังคมในการบริหารงานสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และงานถ่ายภาพบุคคลสำคัญของชาติ ตามความถนัดของตนเอง เพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยบันทึกประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองเราด้วยภาพถ่าย

“แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิด แต่ก็มีความภาคภูมิใจที่ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทที่อัญเชิญมาในตอนต้นมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้”

พระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาชนบท

พิมพรรณ ดิศกุล อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

8เมื่อ “สมเด็จย่า” เสด็จฯมาที่ดอยตุง เมื่อ พ.ศ. 2530 มีรับสั่งว่า“ตกลงฉันจะสร้างบ้านที่นี่ แต่ถ้าไม่มีโครงการดอยตุง ฉันก็ไม่มา”

“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงศึกษาโครงการตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สามแห่ง เพื่อนำมาปรับใช้ที่ดอยตุง พระองค์ท่านเสด็จฯไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการปลูกป่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสร็จไปศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูเรื่องการปลูกพืชทดแทนพืชเสพติด และ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ราชเลขานุการในพระองค์ (ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์) ไปที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อดูงานการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จะบอกว่าโครงการพัฒนาดอยตุงเป็นโครงการที่แม่เรียนจากลูกก็ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งลูกก็เรียนมาจากแม่เช่นกัน

“จึงเรียกได้ว่าโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหลักของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการตามทั้งวิธีคิดและวิธีการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จย่า คือ เอาคนเป็นตัวตั้ง เข้าใจเข้าถึงข้อมูลจริง และรู้ถึงข้อมูลทางภูมิสังคม แปลว่าไม่ใช่แค่ข้อมูลทางกายภาพ แต่ต้องรู้ถึงข้อมูลเชิงวัฒนธรรม ความคิดความรู้สึก ความเชื่อ เป็นข้อมูลทางสังคมที่จับต้องไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญภาพที่ประทับบนพื้นดิน กางแผนที่ฟังชาวบ้านทูลรายงาน เป็นภาพที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราทุกคนทำงานตามรอยพระองค์ท่าน คือ ออกไปฟังเสียงประชาชนจริง ไปเรียนรู้จากปัญหาของชุมชนจริง และพยายามทำงานตามข้อมูลจริง เพื่อที่จะได้ตอบโจทย์ได้จริงและตรงจุด

“ความสำเร็จจากการพัฒนาตามพระราชปณิธานและแนวพระราชดำริของทั้งสองพระองค์เป็นที่ประจักษ์แล้ว จากบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำที่เดิมเป็นทุ่งฝิ่น มีกองกำลังชนกลุ่มน้อย มีเสียงปืนดังเป็นเรื่องปกติคนยากจนมาก วันนี้เป็นวันที่ทุกคนมีชีวิตมั่นคง เลี้ยงตัวเองได้ และอยู่กับป่าอย่างร่มเย็น

“ปัจจุบัน องค์ความรู้ด้านการพัฒนาตาม ‘ตำราแม่ฟ้าหลวง’ ได้ขยายผลต่อในพื้นที่อื่นทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น โครงการขยายผลที่จังหวัดน่าน ที่ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ‘ปลูกป่า ปลูกคน’บนพื้นที่ 250,000 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ ท่าวังผา สองแควและเฉลิมพระเกียรติ และที่ต่างประเทศ เช่น พม่า อัฟกานิสถานและอินโดนีเซีย

“องค์กรระหว่างประเทศและนานาชาติให้การยอมรับและยกย่องให้เราเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งองค์การสหประชาชาติ (UN) สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) มูลนิธิชวาป (Schwab Foundation for Social Entrepreneurship) สวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนั้นยังได้รางวัลนิเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) จากญี่ปุ่น ในฐานะองค์กรยอดเยี่ยมของเอเชียทางด้านการพัฒนาชุมชนและวัฒนธรรม เป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคนี้

“ในขณะที่ทั้งโลกยังคงพยายามหาคำตอบถึงปัญหาต่าง ๆ น่าภูมิใจมากที่ประเทศไทยมีองค์ความรู้ของคำตอบนั้นคือหลักเศรษฐกิจ พอเพยี ง

“และดอยตุงเป็นหนึ่งในโครงการที่เห็นถึงความสำเร็จเป็นรูปธรรมจากการนำศาสตร์ของพระราชาและตำราแม่ฟ้าหลวงมาปรับใช้”

พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี

เอกชัย เจียรกุล นักกีตาร์คลาสสิกระดับโลก

9-2“เบิร์ด – เอกชัย เจียรกุล” หนุ่มเอเชียคนแรกที่คว้าแชมป์กีตาร์คลาสสิกอันดับหนึ่งของโลกจากการประกวดจากเวที GFA ประเทศสหรัฐอเมริกา เขามีบทเพลงพระราชนิพนธ์เป็นแรงนำใจ

“บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีอิทธิพลต่อชีวิตผมมาก จำได้ว่าตอนเรียนอยู่ชั้น ม.1 ผมฟังรุ่นพี่ในวงโยธวาทิตเล่นกีตาร์คลาสสิก เพลงชะตาชีวิต แล้วประทับใจมาก นอกจากทำนองที่ไพเราะแล้วเนื้อหายังจับใจอีกด้วย ผมเริ่มหัดเล่นกีตาร์ตั้งแต่นั้น และใช้เวลาหัดอีก 3 เดือนจึงเล่นเพลงนี้ได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผมในฐานะนักกีตาร์คลาสสิก

“จนเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสทำโปรเจ็คท์พิเศษร่วมกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เชิญ 15 บทเพลงพระราชนิพนธ์มาเรียบเรียงโดยนักกีตาร์คลาสสิกระดับโลก เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 5 ธันวาคม 2553 และต่อเนื่องไปถึงโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษาทำให้รู้สึกมีความผูกพันและประทับใจบทเพลงพระราชนิพนธ์มากขึ้น อย่างล่าสุดผมไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ต่างประเทศกว่า 9 เดือนก็อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ไปเล่นด้วยทุกครั้ง

“ผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในโลกที่ทรงพระปรีชาในการพระราชนิพนธ์เพลงได้ไพเราะ ทรงมีประสบการณ์ด้านดนตรีสูง แต่ละเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ล้วนมีชั้นเชิงผสมผสานระหว่างดนตรีแจ๊สและป็อป มีความไพเราะอยู่เหนือกาลเวลา ผมเคยดูวิดีโอที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงดนตรีร่วมกับเบนนี่ กู๊ดแมน นักดนตรีแจ๊สระดับโลกพระองค์ท่านทรงพระอัจฉริยภาพมาก เวลาเล่าเรื่องนี้ให้นักดนตรีชาวต่างชาติฟัง ทุกคนจะตื่นเต้น เพราะผู้ที่จะได้ร่วมเล่นกับนักดนตรีระดับโลกต้องมีฝีมือไม่ธรรมดา และพระองค์ท่านก็ทรงเป็นหนึ่งในนั้น

“ความฝันสูงสุดในชีวิตผมคือ การมีโอกาสเล่นกีตาร์คลาสสิกแสดงเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครับ”

ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับที่ 833 ปักษ์วันที่ 10 มิถุนายน 2559

keyboard_arrow_up