เรื่องเล่าจาก ดร.ธรณ์ เมื่อมหาปราชญ์ชวนจักรพรรดิญี่ปุ่นไปดูปลาที่คณะประมง

ทุกคนทราบว่าราชวงศ์ไทย – ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษ หลายคนทราบว่าปลานิลมาจากความสัมพันธ์ดังกล่าว แต่น้อยคนทราบว่า #ก่อนปลานิลยังมีปลาบู่ เมื่อสองกษัตริย์ชวนไปชมปลา #การทูตหยุดโลก #คือความหมายของเหลือเชื่อ

สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ทรงเป็น “มีนกร” (คำนี้หมายถึงผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลา เด็กประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เรียกตัวเองว่า “มีนกร” มาแต่ไหนแต่ไร)

พระองค์ทรงสนใจเรียนรู้เรื่องปลา จนจบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ ขณะนั้นพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นมกุฎราชกุมาร

ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างสองกษัตริย์ เริ่มจากกษัตริย์ของไทยเสด็จฯไปทรงเยือนญี่ปุ่นใน พ.ศ.2506 (27 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน) ก่อนเชิญมกุฎราชกุมารเสด็จเยือนไทย

มกุฎราชกุมารจากญี่ปุ่นเสด็จเยือนไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ.2507 ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ และจัดโปรแกรมช่วงหนึ่งให้ “ไปทอดพระเนตรปลา”

หากอ่านผ่านๆคุณอาจไม่คิดอะไร แต่ถ้าพิจารณาสักนิด มกุฎราชกุมารจากญี่ปุ่น มหาอำนาจแห่งเอเชีย เสด็จมาไทยเป็นครั้งแรก เราจะชวนไปดู “ปลา” ไหมครับ?

เป็นใครก็คงส่ายหน้า เป็นใครก็คงคิดไม่ถึง

เขามาเยือนเป็นครั้งแรก เราต้องจัดประชุมให้หนัก พูดคุยกันเรื่องการบ้านการเมือง มีงานเลี้ยงใหญ่โต ใครจะคิดถึงโปรแกรม “ไปดูปลา” แต่พระมหากษัตริย์ไทยคิด และเป็นความคิดที่ “หลุดกรอบ” มากที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอะเจอ

คนรุ่นนี้มักพูดกันถึงความคิดแปลกใหม่ เราเบื่อการยึดติด เบื่อโน่นนี่นั่น ถึงเวลานอกกรอบ เคยทราบไหมครับว่าใครคือผู้ “นอกกรอบ” ที่แท้จริง และนอกกรอบมาเมื่อกว่า 50 ปีก่อน

คนชอบปลามาเยือน ก็ต้องพาเขาไปดูปลาสิ

เป็นความคิดที่ห้าวหาญจนสุดจะจินตนาการไหว เมื่อคิดว่าทั้งผู้ต้อนรับและผู้มาเยือนเป็นกษัตริย์ ไม่มีใครทราบว่ามหากษัตริย์ของไทยคิดเช่นไร แต่ถ้าให้ผมวิเคราะห์ ผมคิดว่าท่านอาจคิดถึงประวัติศาสตร์ เพราะเคยมีคนทำมาก่อนหน้านั้น และทำจนสำเร็จ

ย้อนไปเดือนมีนาคม พ.ศ.2433 มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียตอบรับคำเชิญของในหลวงรัชกาลที่ 5 ถือเป็นครั้งแรกที่ราชวงศ์ชั้นสูงจากประเทศมหาอำนาจในยุโรปเสด็จมาเยือนไทย ในครั้งนั้นคือการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา รวมถึงการ “คล้องช้างครั้งสุดท้าย” ที่ช้างป่าถูกต้อนมากว่า 300 ตัว กลายเป็นความประทับใจที่ไม่มีวันลืมของมกุฎราชกุมาร ผู้ต่อมาทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ซาร์นิโคลัสที่ 2

และเมื่อสยามเดือดร้อนถึงขีดสุด รอบด้านล้วนตกเป็นอาณานิคม มหาอำนาจต่างชาติถึงขั้นเตรียมแบ่งประเทศเรา ในหลวงรัชกาลที่ 5 จำเป็นต้องเสด็จฯไปยุโรปเพื่อแสดงว่าเราเจริญแล้ว มิใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน ประเทศเดียวที่ต้อนรับเราด้วยไมตรีจิตคือรัสเซีย

เมื่อภาพคิงจุฬาลงกรณ์ประทับคู่ซาร์นิโคลัสที่ 2 ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ยุโรป ประเทศอื่นถึงยอมรับและต้อนรับพระองค์ จนทำให้ไทยยังคงเป็นไทยจนทุกวันนี้ และนั่นคือการทูตหยุดโลกที่เริ่มต้นจาก “ช้าง”

การทูตหยุดโลกเริ่มต้นอีกครั้งจาก “ปลา” ที่กษัตริย์แห่งไทยพามกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นไปทอดพระเนตร สถานที่คือพิพิธภัณฑ์ประมง ตั้งอยู่ในคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำงานของผม

บันทึกบอกไว้ มกุฎราชกุมารทรงพระสำราญมาก หยิบขวดโน้นยกขวดนี้ขึ้นมาดู รวมถึง “ปลาบู่”

ปลาบู่ดังกล่าวเป็นปลาบู่ที่พบในเมืองไทยเป็นครั้งแรกของโลก ตัวแรกๆที่ค้นพบและถูกนำมาศึกษาจนเป็นตัวอย่างต้นแบบอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

นั่นยังไม่แปลกอะไร แต่ความสำคัญมี 2 ประการ

1) ปลาบู่ชนิดนี้มีชื่อว่า “ปลาบู่มหิดล” ตั้งชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

2) ปลาบู่ชนิดนี้ค้นพบและตั้งชื่อโดย ดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ

มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นรักปลาเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อทรงทราบว่าปลาบู่ถูกตั้งชื่อตามพระราชบิดาของกษัตริย์ไทย ความประทับใจย่อมก่อเกิด

อย่าเอาความคิดเราไปตัดสินครับ ในสายของนักอนุกรมวิธาน การที่จะมีชื่อใครสักคนเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของสัตว์ชนิดหนึ่งเป็นเกียรติสุดๆ และชื่อนั้นถูกบันทึกไว้ใน พ.ศ.2496 นานแสนนานในครั้งที่โลกเรายังไม่ก้าวหน้าเช่นทุกวันนี้

การตั้งชื่อสัตว์ต้องมีที่มาที่ไป ในครั้งนั้น ดร.สมิธ ถวายชื่อให้เพราะพระบรมราชชนกทรงช่วยกิจการประมงไทยให้ตั้งต้นได้ รวมถึงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ส่งคนไปเรียนเมืองนอกในสาขาวิชาด้านนี้ ก่อนกลับมาเป็นบรมครูสอนพวกเรารุ่นต่อมา

ผมยังมีข้อ 2 นั่นคือ ดร.สมิธ ผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกา ในหลวงรัชกาลที่ 6 ขอตัวมาเมื่อจัดตั้ง “กรมรักษาสัตว์น้ำ” เพื่อเป็นเจ้ากรมคนแรก เพราะคนไทยยังไม่มีความรู้ทางนี้เลย ดร.สมิธถือเป็น “ระดับเทพ” แห่งวงการมีนวิทยาในยุคนั้น ใครศึกษาเรื่องปลาล้วนต้องรู้จักท่าน จึงไม่น่าแปลกใจที่มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นทรงหยิบขวดนี้ขึ้นมาดู พร้อมอุทานว่า “นี่เป็นปลาที่ ดร.สมิธเก็บหรือ?” (มีบันทึกอ้างอิง มิใช่คิดเอาเองครับ) และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความประทับใจสุดๆ จนกลายเป็นความสนิทสนมเป็นการส่วนพระองค์

เมื่อได้ใจ “คนรักปลา” ต่อมาใน พ.ศ.2508 พระองค์จึงขอพระราชทาน “ปลานิล” จากมกุฎราชกุมารญี่ปุ่น ผมเชื่อเหลือเกินว่าพระองค์ทรงเล็งเห็นอยู่แล้ว คนไทยต้องการโปรตีนเพื่อพัฒนาร่างกาย พัฒนาสมอง แต่โปรตีนจากเนื้อสัตว์อื่นใดล้วนมีราคาแพงเกินกว่าที่ชาวบ้านสามัญชนจะหากินได้ทุกวี่วัน มีแต่ปลาและปลาเท่านั้นที่ชาวบ้านจับได้ กินได้ และคนไทยก็กินปลามาแต่โบราณ เพียงแต่ขาดปลาที่เลี้ยงง่าย โตไว อยู่ได้ในทุกแหล่งน้ำ และไม่รบกวนระบบนิเวศเกินไป

ปลานิลอ้วน เนื้อเยอะและอร่อย ปลานิลที่มีถิ่นกำเนิดจากลุ่มแม่น้ำไนล์ จึงเป็นปลาที่น่าจะเหมาะสมที่สุด ตรงนี้มีข้อสงสัย พระองค์ทราบได้อย่างไรว่าต้องเป็นปลานิล?

คำตอบคือ เรากำลังพูดถึงใคร?

กรุณาเข้าใจว่าเรากำลังพูดถึง “มหาปราชญ์”

มกุฎราชกุมารถวายปลานิล 50 ตัวให้ด้วยความยินดี จากนั้นก็ตายไป 40 ตัว (ตามคำบอกเล่า) เหลือเพียง 10 ตัว พระองค์จึงรีบนำกลับมาเลี้ยงเองในวังสวนจิตรลดา หากใครสงสัยคำว่า “มหาปราชญ์” ที่ผมระบุไว้ น่าจะสิ้นสงสัยตรงนี้

คนที่แต่งเพลงได้เกือบ 50 เพลง สร้างและเล่นเรือใบก็ได้ ทำฝนเทียมก็ได้ เลี้ยงปลาที่คนอื่นเลี้ยงไม่รอดให้รอด คนแบบนั้นควรจะเรียกว่าอะไรครับ?

และอย่าลืมว่าท่านเป็นกษัตริย์ มีภารกิจมากมายมหาศาล มหาปราชญ์จึงเป็นคำที่ถูกต้องทุกประการ ไม่ได้มีการยอยศให้เกินเหตุ

หนึ่งปีผ่านไป พระองค์ตั้งชื่อ “ปลานิล” ให้เชื่อมโยงกับชื่ออังกฤษ (Nilotica – ปลาแม่น้ำไนล์) ก่อนพระราชทานให้กรมประมง 10,000 ตัว เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนเลี้ยง

ขอบอกวันที่สักนิด มกุฎราชกุมารถวายปลานิล 50 ตัวในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2508 พระองค์มีปลาเหลือ 10 ตัว เลี้ยงและขยายพันธุ์ พระราชทานให้กรมประมง 10,000 ตัว ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509

ในเวลาไม่ถึง 1 ปี ปลา 10 ตัวกลายเป็น 10,000 ตัว (ยังไม่รวมที่พระองค์เก็บไว้) ผมไม่ทราบจะอธิบายเช่นไร? มีอิทธิฤทธิ์ บุญบารมี?

แต่มีคำบอกเล่าว่า พระองค์ไม่เสวยปลานิลด้วยเหตุผลง่ายๆ “เลี้ยงมาเหมือนลูก จะไปกินลงได้อย่างไร” (ถ้อยคำจากคำบอกเล่า)

บุญบารมีคงมีจุดเริ่มมาจาก “เลี้ยงมาเหมือนลูก”

ทรงทุ่มเทฟูมฟักเหมือนเศรษฐีดูแลเอาใจใส่ปลาราคาแพงเพื่อเลี้ยงไว้ประดับบารมี

เผอิญพระองค์ทรงฟูมฟักปลานิล ไม่ใช่เพราะสวยดี ประดับบารมีได้ แต่เพราะปลานิลคือปลาที่พระองค์ทรงตั้งใจไว้ว่าจะเป็นทางออกให้ประชาชนชาวสยาม

เวลาผ่านมา 50 ปี ผมไม่ต้องหาตัวเลขใดๆมายืนยันว่าพระองค์ทรงประสบความสำเร็จ ขอเพียงคุณเดินไปตามตลาด คุณเห็นปลานิลย่าง ปลานิลทอดบนตะแกรงบ้างไหม?

มีปลาใดราคาถูกเท่านี้ มีเนื้อมากเท่านี้ และทุกคนกินได้กินดีดังเช่นปลานิล

ผมเพิ่มตัวเลขให้เพื่อความชัดเจน ปัจจุบันเมืองไทยผลิตปลานิลได้ปีละ 220,000 ตัน จากฟาร์ม 300,000 แห่ง สร้างงานให้ผู้คนเรือนล้าน ประเทศไทยยังส่งออกปลานิลไปทั่วโลก สร้างรายได้มหาศาล จนเป็นปลาส่งออกลำดับต้นๆ ของเมืองไทย

นำทุกอย่างกลับมาคิดใหม่

พ.ศ.2506 เสด็จฯไปทรงเยือนญี่ปุ่น

พ.ศ.2507 มกุฎราชกุมารเสด็จมา พาไปดูปลาบู่

พ.ศ.2508 ขอปลานิลมาเลี้ยง 50 ตัว

พ.ศ.2509 พระราชทานปลา 10,000 ตัวให้กรมประมง

พ.ศ.2559 ปลามากกว่า 220,000 ตันต่อปี สร้างงานให้คนนับล้าน เป็นโปรตีนราคาถูกและดีที่สุดของประเทศนี้

ผมพูดถึง “การทูตหยุดโลก” มาหลายครั้ง แต่ยังไม่อธิบายความหมายให้ชัดเจน

ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว

การทูตหยุดโลก = ปลาบู่ = ปลานิล = คนไทยมีกิน = คนมีงานทำ

เป็นสมการแสนง่าย แต่ใคร่ขอถามว่า แล้วใครจะคิดได้?

แล้วใครจะคิดได้เมื่อกว่า 50 ปีก่อน แล้วใครจะมองการณ์ไกลขนาดนั้น

สมัยผมเป็น สปช. เราช่วยกันทำยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี แค่นั้นยังปวดหัวแทบตาย

บางคนพูดว่าจะคิดไปได้ยังไงไกลขนาดนั้น บางคนบอกว่าสิงคโปร์ มาเลเซียเขาทำหมดแล้ว เขาก้าวหน้าไปไกลกว่าเราตั้งนาน

20 ปี? ก้าวไกลไปกว่าเราตั้งนาน?

50 ปี ปลาบู่ ปลานิล คน 66 ล้าน คิดคนเดียว ทำจนจบ

ยังไม่พูดถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของสองประเทศ ไม่พูดถึงปรากฏการณ์ที่ไม่มีมาก่อน เมื่อองค์จักรพรรดิญี่ปุ่น “ไว้ทุกข์” ให้พระสหายผู้สนิทสนมกว่า 50 ปี

ไว้ทุกข์ให้กับ “บุรุษผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดในเรื่องปลา”

ไม่ใช่ค้นพบปลาสายพันธุ์ใหม่ ไม่ใช่เชี่ยวชาญเก่งกาจในวิทยาศาสตร์เรื่องปลา

แต่ทำให้ปลา 10 ตัวกลายเป็น 220,000 ตันต่อปี

ทำให้ “ปลา” กับ “คน” มาเชื่อมต่อกันอย่างสุดที่ใครจะเปรียบได้

ผมไม่ตั้งใจเขียนบทความนี้ให้คุณร้องไห้ เพราะผมเขียนไม่ไหวแล้ว บทความ “โลกร้อน” ทำเอาผมเกือบตาย

ผมตั้งใจจะสื่อให้ชัดเจนว่า ทำไมผมถึง “กราบ”?

ผมไม่เคยกราบเพราะเขาบอกให้กราบ ไม่เคยกราบเพราะเขาสอนให้กราบ

ไม่เคยกราบเพราะคนอื่นเขากราบกัน ผมไม่กราบอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

ผมกราบ “ความจริง” เท่านั้น

ผมกราบสยบแทบเท้า กราบด้วยหัวจิตหัวใจ

กราบเพราะผมเห็นประจักษ์

กราบแทบเท้าพระองค์ท่าน

คำว่า “เหลือเชื่อ” ถูกใช้กันจนเกร่อ

แต่สำหรับผมแล้ว อย่างนี้สิถึงเป็น “เหลือเชื่อ”

คิดได้ไง…ทำได้ไง…เหลือเชื่อ

จึงทรุดกายกราบซบหน้าแนบดินด้วยความอาลัย

บุรุษผู้สร้างสิ่งที่ไม่สามารถแม้แต่จะจินตนาการได้

อย่างนี้สิมันถึงต้องกราบ อย่างนี้สิมันถึงต้องร้องไห้

ร้องให้ใจสลาย…

ร้องเพราะยิ่งค้น ยิ่งเขียน จึงยิ่งรู้ว่าเราสูญเสียมากเกินไป

มันมากเกินไปจริงๆ!

หมายเหตุ – ผมไม่เคยก้าวล่วงความคิดส่วนตัวของใคร จะคิดอย่างไรกับพระองค์ท่านเป็นสิทธิ์ของคุณ

ว่าแต่…คุณเคยกินปลานิลไหมครับ?

…..

ที่มา – งานเขียนชุดนี้ผมตั้งใจทำเพื่อเป็นบทเรียนของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ผมกำลังจะนำไปสอน มีทั้งหมด 3 ตอน “โลกร้อน” “จากปลาบู่ถึงปลานิล” และ “จับปลาอย่างไร”

ผมใช้ถ้อยคำธรรมดาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากไม่ถนัดในการใช้ราชาศัพท์ และผมตั้งใจเขียนให้คุณอ่านเข้าใจง่าย

ผมยินดีให้คุณแชร์ไปใช้ประโยชน์ได้ แต่หากมีการตีพิมพ์ รบกวนติดต่อผมก่อนครับ เพราะแต่ละเรื่องใช้เวลานานมาก และใช้เวลาร้องไห้นานกว่า

เรื่อง : ดร. ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์

ภาพ : ชีวจิต

 

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตอบคำถามที่หลายคนอยากรู้ หน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นอย่างไร?

ถ้าใครได้มีโอกาสดูคลิปวิดีโอเก่าๆที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ให้สัมภาษณ์กับทางสื่อต่างๆ จะเห็นได้ว่ามีคำถามอยู่คำถามหนึ่งที่สื่อทุกสื่อต้องถามพระองค์เกี่ยวกับหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นอย่างไร และเราเชื่อว่ามีหลายคนอยากรู้คำตอบข้อนี้จากพระองค์เหมือนกัน แพรวจึงถือโอกาสไปรวบรวมบทสัมภาษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ตอบคำถามเหล่านี้มาให้ทุกคนได้ทราบกันค่ะ

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2503 นั้น บรรดานักหนังสือพิมพ์อเมริกันได้กราบทูลถามถึง “หน้าที่พระเจ้าแผ่นดินของพระองค์เป็นอย่างไร” ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสตอบด้วยพระปรีชาว่า

“หน้าที่ของคนหนังสือพิมพ์กับหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินมีลักษณะอย่างเดียวกัน คือ ทำให้เกิดความเข้าใจและความถูกต้องอันดีขึ้นในมวลชน ข้าพเจ้าก็พยายามทำหน้าที่เช่นนั้น ชั่วแต่ว่าต้องทำด้วยพิธีรีตองและยศอย่างมากไปหน่อยตามธรรมเนียม”

1

นายซิมเมอร์มาน ผู้แทนนิตยสาร LOOK ของสหรัฐอเมริกา ขอพระราชทานสัมภาษณ์ในการที่พระองค์ทรงมีความรู้สึกว่า อะไรคือสิ่งตอบแทนในการที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ซึ่งมีพระราชดำรัสว่า

“ความรู้สึกที่เป็นรางวัลตอบแทนอันยิ่งใหญ่ที่สุดของข้าพเจ้าก็คือ การที่ยังมีชีวิตอยู่และไม่ถูกเชิญออกไปให้พ้นจากราชบัลลังก์ โดยแท้จริงแล้วข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ก็โดยที่ประชาชนเลือกกันขึ้นมา ดังนั้น ถ้าหากประชาชนของข้าพเจ้าไม่ปรารถนาในตัวข้าพเจ้าอีกต่อไปแล้ว ประชาชนนั่นแหละจะเป็นผู้เชิญให้ข้าพเจ้าออกไป และก็เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า เมื่อนั้นข้าพเจ้าก็จะเป็นคนว่างงานนั่นเอง”

2

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่ละฉบับที่ผ่านมาในแต่ละยุคสมัยได้กำหนดฐานะของพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขของชาติ แต่การประกอบพระราชกรณียกิจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรเป็นวัตรปฏิบัติที่อยู่นอกเหนือจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศจากบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงของอังกฤษ (BBC) ซึ่งขอพระราชทานสัมภาษณ์เมื่อปี พ.ศ.2522 เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ความตอนหนึ่งว่า

“…การที่จะอธิบายว่าพระมหากษัตริย์คืออะไรนั้น ดูเป็นปัญหาที่ยากพอสมควร โดยเฉพาะในกรณีของข้าพเจ้า ซึ่งถูกเรียกโดยคนทั่วไปว่าเป็นพระมหากษัตริย์ แต่โดยหน้าที่ที่แท้จริงแล้วดูจะห่างไกลจากหน้าที่ที่พระมหากษัตริย์ที่เคยรู้จักหรือเข้าใจกันมาแต่ก่อน หน้าที่ของข้าพเจ้าในปัจจุบันนั้นก็คือ ทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ ถ้าจะถามว่าข้าพเจ้ามีแผนการอะไรบ้างในอนาคต คำตอบก็คือ ไม่มี เราไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราก็จะเลือกทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับเรา…”

3

นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้แทนนิตยสาร NATIONAL GEOGRAPHIC เมื่อปี พ.ศ.2525 มีพระบรมราโชธิบายถึงประสบการณ์ในพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ ความตอนหนึ่งว่า

“…เมื่อข้าพเจ้าจะมารับหน้าที่นี้เมื่อ 36 ปีที่แล้วนั้น ข้าพเจ้าอายุเพียงแค่ 18 ปี ในเวลานั้นทุกอย่างดูทรุดโทรมไปหมด ในวันนั้นเก้าอี้และพรมก็ขาดเป็นรู พื้นแตกคร่ำคร่า วังทั้งวังก็เกือบจะพังลงมาเวลานั้นสงครามโลกเพิ่งสิ้นสุดลง ไม่มีใครสนใจกับอะไรทั้งสิ้น ข้าพเจ้าต้องค่อยๆก่อสร้างทุกๆอย่างขึ้นมาใหม่ โดยไม่ใช้วิธีทุบทิ้ง ข้าพเจ้าต้องค่อยๆทำไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นเวลา 36 ปีเข้าไปแล้ว ดังนั้นเราอาจเรียกรัชกาลนี้กระมังว่า เป็นรัชกาลแห่งการปฏิรูป ขนบธรรมเนียมเก่าแก่ถูกรักษาไว้และเปลี่ยนแปรมาโดยลำดับ เราเรียนรู้และได้ประสบการณ์ว่า ขนบประเพณีดั้งเดิมอาจนำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งเพื่อชีวิตในปัจจุบันและอนาคต…” และ “…ตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันนี้ไม่มีหน้าที่ที่จะบริหารประเทศ ต้องมีฝ่ายบริหารทำให้งานการทุกอย่างของชาติดำเนินไปได้ด้วยดี ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัวโดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นและก็ช่วยกันทำ…”

4

อย่างไรก็ตาม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ พระราชกรณียกิจต่างๆจึงเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ทรงทราบดีว่า พระองค์ทรงเป็นมิ่งขวัญและความหวังของประชาชนดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2546 ความตอนหนึ่งว่า

“…การปกครองสมัยนี้แปลกดี กลับไปเหมือนอย่างเก่า กฎหมายประชาชนรับผิดชอบ ตอนนี้คนที่เดือดร้อนคือข้าพเจ้าเอง เดือดร้อนท่านรองนายกฯมาบอกว่า ทรงเป็นซูเปอร์ซีอีโอ แล้วใช้คำอะไรจำไม่ได้แล้ว แต่ว่าเข้าใจว่าเป็นซูเปอร์ซีอีโอ เราก็ลงท้าย เราก็รับผิดชอบหมด ประชาชนทั้งประเทศโยนให้พระเจ้าอยู่หัวรับผิดชอบหมด ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญนะ รัฐธรรมนูญบอกเอาไว้ว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย นี่ท่านแถวนี้ก็เป็นนักกฎหมาย แล้วกฎหมายก็บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่รับผิดชอบอะไรเลย ตกลงเราไม่รับผิดชอบประเทศชาติ เมืองไทยไม่มีใครรับผิดชอบเลย ใครจะรับผิดชอบ…”

6

ตลอด 70 ปีบริบูรณ์ที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักมากที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก แม้ในยามที่ทรงพระประชวรก็ยังทรงงานอยู่ ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินตลอด 24 ชั่วโมง หากจะเปรียบประเทศไทยเป็นดังรูปพีระมิด พระองค์ก็เปรียบดังประทับอยู่บนยอดพีระมิดของสังคม แต่เป็นพีระมิดหัวกลับ นั่นหมายถึงว่า พระองค์ได้ประทับอยู่ด้านล่าง ทำให้ทรงต้องเป็นผู้รองและแบกรับปัญหาทุกๆอย่างของประชาชน จึงมีรับสั่งกับบรรดาบุคคลที่ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆอยู่เสมอว่า…“ความทุกข์ของประชาชนนั้น รอไม่ได้”

นิตยสารแพรวจึงขอกราบแทบเบื้องพระยุคลบาทด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันสุดจะพรรณนา เป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม และขอถวายพระพร ขอจงทรงพระเกษมสำราญ สถิตเป็นมิ่งขวัญของปวงเหล่าพสกนิกรไทยตลอดไปตราบนานเท่านาน

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับที่ 883 ปักษ์วันที่ 10 มิถุนายน 2559

ซาบซึ้งตราตรึงใจ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำรัสตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙

ย้อนรำลึกถึงพระราชดำรัสสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่สร้างความประทับใจและซาบซึ้งแก่เหล่าพสกนิกรไทยเป็นอย่างยิ่ง แม้ชาวต่างประเทศที่ได้ฟังก็พลอยชื่นชมประทับใจไปด้วย เมื่อครั้งผู้สื่อข่าวต่างประเทศตั้งคำถามถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

“อะไรเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันสูงสุดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อประเทศชาติและต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย”

คำถามจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศในที่ประชุมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ที่ได้ถามกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งพระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งตอบว่า

“ข้าพเจ้าคิดว่า ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งในข้าฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นข้าราชบริพารของพระมหากษัตริย์ และข้าพเจ้าก็มีความภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ถือกำเนิดใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเช่นนี้ ข้าพเจ้าคิดว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงมีความสำคัญและเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย สถาบันนี้มีบทบาทเป็นเส้นชีวิตในการรักษาเสถียรภาพของประเทศ เป็นแหล่งที่มาของกำลังขวัญ เป็นสถานะแห่งความชื่นชมของประชาชน และเป็นสถาบันที่ยึดเหนี่ยวประเทศเข้าไว้ด้วยกัน”

 

06
ภาพ : IG@longlivetheking901
08
ภาพ : FB@thailandimage
 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
ภาพ : IG@longlivetheking901

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ในหลวง
ภาพ : thailandimage

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์
และในส่วนของพระองค์เอง ตามรอยเบื้องพระยุคลบาททั้งในประเทศและต่างประเทศ

01
ภาพ : นิตยสารแพรว ปีที่ 23 ฉบับที่ 550 (25 กรกฎาคม 2545) หน้า 96-104 (ปี 2545)
02
ภาพ : นิตยสารแพรว ปีที่ 23 ฉบับที่ 550 (25 กรกฎาคม 2545) หน้า 96-104 (ปี 2545)
ภาพ : นิตยสารแพรว ปีที่ 23 ฉบับที่ 550 (25 กรกฎาคม 2545) หน้า 96-104 (ปี 2545)

ที่มา : นิตยสารแพรว ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๕๕๐ (๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๕)

วิทิตนันท์ โรจนพานิช

วิทิตนันท์ โรจนพานิช นักปีนเขาชื่อดัง…”ใจ” ดวงนี้พลีเพื่อ “พ่อ”

วิทิตนันท์ โรจนพานิช
วิทิตนันท์ โรจนพานิช

วิทิตนันท์ โรจนพานิช กับครั้งหนึ่งที่ยอมมอบชีวิตเพื่อ “พ่อ”

วิทิตนันท์ โรจนพานิช คือนักปีนเขาที่หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตากันมาบ้าง ถอยกลับไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ผู้ชายธรรมดาๆ คนนี้ได้สร้างปรากฏการณ์แห่งความจงรักภักดีด้วยการปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นภูเขาสูงที่สุดในโลกของทวีปเอเชีย เพื่อแสดงถึงความรักและศรัทธาที่เขามีต่อ “ในหลวง” พร้อมกับหลั่งน้ำตาแห่งความปีติที่สามารถทําภารกิจสุดโหดท้าทายความอึดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทําได้

วิทิตนันท์ โรจนพานิช ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงเหนือศีรษะ หลังปีนยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จ
ภาพนี้เมื่อครั้งปีนยอดเขาเอเวอเรสต์เมื่อ 9 ปีก่อน

เหมือนที่เขาบอกเราว่า “ชีวิตผมทําอะไรก็ได้ที่อยากทํา เผอิญสิ่งที่ผมทํามันยาก และต้องแลกมาด้วยชีวิต นั่นย่อมหมายความว่า ผมได้มอบชีวิตถวายแด่พระองค์ท่านแล้ว”

คุณหนึ่งจึงอยากสร้างประจักษ์พยานอีกสิ่งหนึ่งที่ทําให้คนเห็นว่า เขารักพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มากขนาดไหน และพระองค์ท่านทรงเป็นแรงบันดาลใจ สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนทํางานวงการบันเทิงที่ไม่เคยปีนภูเขาเลยให้สามารถปีนยอดเขาสูงที่สุดในโลกได้ เพราะฉะนั้นพระเจ้าอยู่หัวคือฮีโร่สําหรับเขา ที่สามารถทําให้เป็นอย่างนี้ได้โดยเริ่มจากการตัดสินใจก้าวข้ามความกลัวที่สร้างขึ้นมาเอง และเขาแสดงให้ทุกคนเห็นว่าได้ข้ามไปแล้ว และยังมีสิ่งอื่นๆ ที่ต้องก้าวข้ามไปเรื่อยๆ

วิทิตนันท์ โรจนพานิช ชูพระบรมฉายาลักษณ์ที่ยอดเขาคาร์สเทนซ์พีระมิด
ชูพระบรมฉายาลักษณ์ที่ยอดเขาคาร์สเทนซ์พีระมิด ยอดเขาสูงที่สุดของทวีปออสเตรเลีย

“ผมต้องการบอกให้ทุกคนรู้ว่า พระมหากรุณาธิคุณและความรักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ ได้ปกแผ่ไพศาลไปทั่วทั้ง 7 ทวีป เพราะไม่ว่าจะเดินทางไปประเทศไหน มักเจอคนไทยอยู่ทั่ว ทุกคนรักในหลวงเหมือนกัน”

ชูพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 บนยอดเขาวินสันแมสซิฟ
บนยอดเขาวินสันแมสซิฟ ที่ความสูง 4,000 กว่าเมตร

คุณหนึ่งยังเล่าถึงความรู้สึกของการปีนเขาแต่ละลูกได้เป็นผลสําเร็จว่า “การปีนเขาแต่ละแห่งยากมาก แต่ทุกครั้งที่ทําสําเร็จ ผมรู้สึกรักพระองค์ท่านมาก ที่ปีนเขาทุกลูกแล้วร้องไห้ เพราะเป็นความปีติ รู้สึกตื้นตัน เพราะสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทําเพื่อพสกนิกรยากกว่าสิ่งที่ผมทํามากมายนัก ถ้าผมปีนเขาพลาด ผมตายคนเดียว แต่ถ้าท่านพลาด หมายถึงพสกนิกรทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นเดิมพันใหญ่มาก แต่ท่านไม่เคยทรงทําพลาดเลย ทั้งที่ไม่ต้องทรงทําขนาดนี้ก็ได้ ทําให้ผมรู้สึกว่าเราโชคดีแค่ไหนที่มีพระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรมและรักเรามากขนาดนี้

“ถามว่าทําไมผมถึงรักและศรัทธาในสิ่งที่พระองค์ทรงทํา เพราะผมไปเห็นด้วยตามาแล้ว ตั้งแต่เด็กผมถูกสอนมาว่าให้รักในหลวงเหมือนทุกคนนั่นแหละ บ้านผมอยู่ริมถนนลาดพร้าว เวลามีตํารวจมายืนเป็นจุดๆ ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก นั่งกับคุณทวด คุณย่า ยืนรอดูขบวนเสด็จ 3 ชั่วโมง ไม่กล้าเข้าไปดื่มน้ำที่บ้าน กลัวกลับมาไม่ทัน แค่ได้เห็นพระองค์ท่านเสี้ยววินาที รู้สึกดีจังเลย พอโตเป็นนักศึกษา ผมถามตัวเองว่า สิ่งที่พระองค์ทรงทําคือการสร้างภาพหรือเปล่า ที่ทรงทํานั้นจริงไหม

ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 บนยอดเขาอากอนกากวา
ภาพนี้ที่ยอดเขาอากอนกากวา สูงที่สุดในทวีปอเมริกาใต้

“กระทั่งมีโอกาสเข้าไปในวังสวนจิตรลดากับพี่ชาย ในใจนึกเทียบกับพระราชวังต่างๆ ในยุโรปที่เราเคยเห็น ใหญ่โตโอฬาร เต็มไปด้วยทอง พอมาวังสวนจิตรลดา ทําไมมีแต่ทุ่งนา ตึกเก่าๆ มีเครื่องยนต์กลไกเต็มไปหมด ถามพี่ชายว่าทําไมเป็นแบบนี้ ไม่มีทองเลย วัดต่างจังหวัดยังสวยกว่าอีก ทําให้ผมเริ่มคิดตรวจสอบ ไตร่ตรองตามหลักโยนิโสมนสิการ

“จากนั้นผมตามไปดูโครงการชัยพัฒนา โครงการในพระราชดําริต่างๆ คุยกับชาวบ้านตามต่างจังหวัด เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว พวกชาวเขาเผ่าอีก้อและแม้วที่เลิกทําฝิ่น หันมาปลูกผักเมืองหนาว ตอนนั้นเขามีรายได้เดือนละหมื่นนะครับ ทุกวันนี้รายได้เป็นแสน ทํางานมีความสุขอยู่บนภูเขา สิ่งเดียวที่เขาบอกคือ เพราะในหลวงบอกให้ทําอย่างนี้ เขาเชื่อในหลวง และคําว่า ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ มีมานานแล้ว พระองค์ท่านทรงสอนคนให้รู้จักเพียงพอก่อน คนเราถ้ารู้จักพอแล้ว จิตจะนิ่ง ไม่รุ่มร้อน ทําทุกอย่างด้วยความมีคุณธรรมและด้วยใจบริสุทธิ์ ปลอดโปร่ง เมื่อถึงเวลา ทุกอย่างจะมาเอง

ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 บนยอดเขาคิลิมันจาโร
ส่วนภาพนี้ที่ยอดเขาคิลิมันจาโร ยอดเขาสูงที่สุดของทวีปแอฟริกา
ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 บนยอดเขาเอลบรุส
ต่อให้เหนื่อยยากสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน แต่เมื่อสามารถปีนถึงยอดเขาเอลบรุส ยอดเขาสูงที่สุดของทวีปยุโรป ที่ความสูงกว่า 5,000 เมตรได้สําเร็จ รอยยิ้มทั้งน้ำตากับการชูพระบรมฉายาลักษณ์ “ในหลวง” จึงเป็นสิ่งเดียวที่เขาสามารถแสดงออกถึงพลังศรัทธาและความจงรักภักดีที่เขามี

“การไปเห็นด้วยตานี่แหละ ที่ทําให้ผมรักและศรัทธาต่อแนวทางที่พระองค์ท่านทรงทํา และทรงสอนคนไทยมาตลอด 60 กว่าปี โดยไม่เคยทรงละทิ้งพวกเราเลย ความรักของพระองค์ท่านยิ่งใหญ่มาก”

เรื่อง : แพรวดอทคอม

 

เรื่องเล่าคนในวัง…รู้ไหมว่า 14 ปีที่แล้ว พระราชินีของเรา ได้ทำสิ่งนี้ให้กับคนไทย

จากการทำงานอย่างใกล้ชิดของบรรดาข้าราชการที่ถวายงานในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมีหลายเรื่องราวที่น่าสนใจ จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ในวันนี้ได้กลายเป็นความสำเร็จที่พระองค์ทรงสร้างไว้ให้กับคนไทยอีกครั้ง

ความสุขไม่ได้เกิดจากการที่มีเงินทองมากมาย แต่จะเกิดขึ้นได้เมื่อมนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายใจไม่ลำบาก มีอาชีพ มีรายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวอย่างพอเพียง และนี่ก็เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงห่วงใยราษฎรมาโดยตลอด โครงการตามพระราชดำริฯ ที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น จึงเกิดทั่วทุกภาคของประเทศมานานกว่า 40 ปี
และเมื่อ 14 ปีที่แล้ว พระองค์ทรงริเริ่มโครงการตามพระราชดำริอีกครั้ง จากความห่วงใยที่พระองค์มีต่อสถานการณ์ชายแดนบริเวณดอยดำ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งทางดร.จรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ ได้เล่าถึงเรื่องนี้ให้ฟังว่า
“พระองค์มีความห่วงใยในราษฎรมาก ครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2545 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพื้นที่ ณ จุดสูงสุดของยอดดอยดำ ต.เมืองแหง อ.เวียงแห จ.เชียงใหม่ เนื่องจากห่วงใยในสถานการณ์ชายแดนบริเวณดอยดำ พระองค์จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่” ครอบคลุมพื้นที่ 161,850 ไร่ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งการสร้างรายได้ทางการเกษตร เพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ พระองค์ทรงรับสั่งต่อคณะผู้ติดตามว่า ให้หาปลาที่เลี้ยงได้ดีในที่มีอากาศหนาว รับประทานอร่อยมาให้ชาวบ้าน จากนั้นพระองค์ทรงรับสั่งถามผมว่า

‘เราจะทดลองเลี้ยงปลาน้ำเย็นที่นำมาจากต่างประเทศดีไหม เลี้ยงได้ไหม จะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมไหม’

โครงการตามพระราชดำริ
ปลาเทราต์ที่ได้จากการเพาะพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นปลาจากต่างประเทศชนิดแรกที่นำเข้ามาทดลองเพาะพันธุ์จนสำเร็จ

เวลานั้นคณะทำงานจึงได้ศึกษาและดำเนินการตามพระราชดำริ โดยครั้งแรกได้นำปลาเรนโบว์เทราต์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศแคนาดามาทดลองเลี้ยงที่นี่ก่อน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2550 ได้มีพระราชดำริให้ศึกษาพันธุ์ปลาต่างประเทศชนิดอื่นมาเพาะเลี้ยงเพิ่มเติม ซึ่งทางรัฐบาลรัสเซียก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายไข่ปลาไซบีเรียน สเตอร์เจียน จึงพระราชทานให้กรมประมงนำไข่มาฟักที่โรงเพาะฟักบนดอยอินทนนท์ และนำไปทดลองเลี้ยงที่โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริดอยดำ ซึ่งด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดปี ทำให้ในวันนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ประเทศไทยสามารถเพาะพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในแถบอาเซียน

โครงการตามพระราชดำริ
เนื้อปลาสเตอร์เจียน

หลังจากที่ใช้เวลาเพาะเลี้ยงกว่า 8 ปี ซึ่งผลผลิตที่สำคัญนอกจากได้เนื้อปลาสเตอร์เจียนที่มีคุณภาพรสชาติอร่อยแล้ว มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นที่ต้องการของตลาดแล้ววัตถุดิบสุดล้ำค่าอย่าง “คาเวียร์” จากปลาสเตอร์เจียน ซึ่งเป็นของราคาแพงและมีชื่อเสียงระดับโลก เราก็สามารถผลิตได้ในประเทศแล้วเช่นกัน

โครงการตามพระราชดำริ
เมนูจากเนื้อปลาสเตอร์เจียน ที่ใช้เวลาเพาะพันธุ์ถึง 8 ปี จนสามารถนำมาทำอาหารได้ เมนูนี้มีชื่อว่า Baked Sturgeon Fillet,Mediterranean Style Vegetable and Saffron Beurre Blance

ทางคณะทำงานเมื่อครั้งที่ทราบว่าเราสามารถผลิตคาเวียร์เองได้แล้ว ก็ได้นำไปถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเสวย ทั้งสองพระองค์ทรงรับสั่งว่ารสชาติดีแล้ว เหมือนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ”

โครงการตามพระราชดำริ
คาเวียร์ที่ได้จากการเพาะพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนในประเทศ
โครงการตามพระราชดำริ
คาเวียร์ที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้แล้ว ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นเมนูรสชาติล้ำเลิศที่ชื่อว่า Caviar Malossol,Fresh Sea Urchin,Yuzu Cream

นอกจากปลาเทราต์ ปลาสเตอร์เจียน และคาเวียร์ ที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เองจากการริเริ่มของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ 14 ปีก่อนแล้ว อีกหนึ่งโครงการที่สำคัญคือ โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนีนาถ ซึ่งดร.สมชาย ธรณิศร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการฯ ได้เล่าให้ฟังว่า

โครงการตามพระราชดำริ
เนื้อห่านหัวสิงห์

“เมื่อปี 2551 ประเทศจีนได้ทูลเกล้าฯ ถวายไข่ห่านหัวสิงห์ จำนวน 100 ฟอง เพื่อทรงใช้ในโครงการตามพระราชดำริฯ ทรงพระราชทานให้กรมปศุสัตว์นำไปฟักไข่ และทดลองเลี้ยงในโครงการฟาร์มตัวอย่างบ้านยางกลาง จ.อ่างทอง จนสามารถเพาะพันธุ์เองได้ และเจริญเติบโตได้ในทุกภาคของประเทศ อีกทั้งยังเป็นห่านพันธุ์ที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลก และนำมาประกอบอาหารได้ทั้งแบบตะวันตกและตะวันออกอีกด้วย”

โครงการตามพระราชดำริ
ดอกเกลือ ผลผลิตจากโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ ที่จ.เพชรบุรี

ต่อจากนั้นผู้ถวายงานยังได้เล่าอีกว่า เคยมีบุคคลท่านหนึ่งถวายที่ดินติดทะเลกับพระองค์ พระองค์ก็ไม่ได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่กลับสร้างพื้นที่นั้นให้เป็นโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริฯ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรทางทะเลที่ถูกต้องไม่ทำลายสภาพแวดล้อมแก่ชาวบ้าน ลดปัญหาการตัดป่าชายเลน จึงได้จัดทำฟาร์มแบบ Zero Waste ซึ่งที่นี่ก็สามารถสร้างผลผลิตที่มีมูลค่า สร้างรายได้ให้กับราษฎรมากมาย โดยเฉพาะการทำนาเกลือ ที่สามารถผลิตดอกเกลือ วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการปรุงอาหารชั้นเลิศซึ่งมีราคาสูง

โครงการตามพระราชดำริ
ผักสดปลอดสารพิษมากมาย ผลผลิตจากโครงการตามพระราชดำริสถานีพัฒนาการการเกษตรที่สูง

นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้เป็นไรน้ำเค็ม ที่สามารถขายเป็นอาหารของสัตว์น้ำที่เลี้ยงไว้ รวมถึงผงเกลือสำหรับใส่ในตู้เลี้ยงปลาทะเลเพื่อปรับสภาพน้ำให้เหมือนน้ำทะเลจากธรรมชาติ
ปัจจุบันนี้ทุกโครงการตามพระราชดำริที่พระองค์ทรงริเริ่มให้พัฒนาขึ้น สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับราษฎรเป็นอย่างดี และเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่วัตถุดิบหลายชนิดจากต่างประเทศที่เคยนำเข้ามาในราคาสูง เราสามารถผลิตขายเอง และมีทานในประเทศได้แล้ว
และนี่ก็คือพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงทำเพื่อคนไทยมาโดยตลอด…ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ภาพ : มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
นิตยสารแพรวและแพรวดอทคอม

สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรฯ เล่าถึง “ในหลวงรัชกาลที่ 9” สมัยทรงผนวชอยู่สำนักเดียวกัน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณีของพระภิกษุ พระองค์ทรงมีขันติอย่างยิ่ง

ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับเรื่องราวต้นแบบความอดทน เมื่อครั้งทรงผนวชที่วัดบวรฯ เป็นเวลา 15 วันในปี พ.ศ.2499
โดยสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ได้เปิดเผยเรื่องราวครั้งแรก

buddha“ในสมัยนั้นอาตมาเป็นพระใหม่ ก็สังเกตเห็นว่าพระองค์ท่านทรงตั้งพระราชหฤทัยปฏิบัติด้วยความศรัทธา กิจวัตรประจำวันคือเสด็จฯไปบิณฑบาตในวังหรือในส่วนราชการบ้าง แล้วก็เสด็จฯไปบิณฑบาตให้ประชาชนได้ใส่บาตรตามปกติ ดังนั้นคนใส่บาตรให้พระองค์ท่านไม่ใช่ว่าต้องพิเศษจากไหน

“ทรงเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณีของพระภิกษุ พระองค์ทรงมีขันติอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น ในพระอุโบสถวัดเวลาทำวัตรสวดมนต์จะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ ทิศตะวันตกสำหรับพระเก่าที่ประจำอยู่ที่วัด ส่วนทิศตะวันออกคือส่วนของพระองค์ท่านกับพระที่บวชตามเสด็จ เวลาทำวัตรสวดมนต์ พระองค์ท่านจะประทับนังพับเพียบหันพระบาทไปทางทิศตะวันออก แล้วประทับอยู่แบบนั้นโดยที่ไม่พลิกพระบาทหันมาทางทิศตะวันตกเลยสักครั้ง เป็นเวลาเกือบชั่วโมง ทั้งช่วงเช้า บ่าย เพราะตามธรรมเนียม ผู้บวชทีหลังต้องเคารพนับถือพระใหญ่ที่บวชมาก่อน ซึ่งท่านทรงศึกษามาก่อนผนวชแล้ว ถึงนำมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดทุกประการ ขนาดอาตมาในฐานะที่บวชเณรมานาน แค่มาบวชพระปีเดียวกับพระองค์ท่านก็ยังปฏิบัติสู้ท่านไม่ได้

img_60041“อย่างไรก็ตาม แม้พระองค์จะเสด็จสู่สวรรคาลัย ก็อยากให้ประชาชนชาวไทยปฏิบัติบำเพ็ญตนตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา คิดดี ทำดี ละเว้นความชั่ว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล”

นอกจากนี้พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯยังกล่าวอีกว่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหารเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความอาลัยต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงผนวช ร่วมพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรมทุกวัน เป็นเวลา 30 วัน เวลา 20.00 น. ณ พระอุโบสถ และในวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 15.00 น. ณ ตำหนักเพ็ชร

เรื่อง : แพรวดอทคอม

ภาพ : http://thaprajan.blogspot.com/2010/12/blog-post.html

“ปลูกข้าวที่เชียงรายอยากให้ทำต่อไป” ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสแก่เบิร์ด – ธงไชย ศิลปินผู้ใช้ชีวิตตามหลักพ่อหลวง

เป็นเรื่องซาบซึ้งตรึงใจสำหรับศิลปินซูเปอร์สตาร์ เบิร์ด – ธงไชย แมคอินไตย์ ที่เคยได้มีโอกาสเข้าไปถวายงานร้องเพลงเฉพาะพระพักตร์เนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส 50 ปี และในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสประโยคที่ทำให้หัวใจที่แห้งเหือดของเบิร์ดที่เพิ่งเสียคุณแม่ไป กลับมาสดใสอีกครั้ง “ปลูกข้าวที่เชียงรายอยากให้ทําต่อไปนะ เบิร์ดเป็นคนดีที่หนึ่ง”

ศิลปินยอดนิยมอมตะ เบิร์ด – ธงไชย แมคอินไตย์ มีโอกาสได้เข้าไปถวายงานร้องเพลงเฉพาะพระพักตร์เนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส 50 ปี หลังจากร้องเสร็จได้เข้าเฝ้าฯส่งเสด็จฯกลับ ซึ่งเบิร์ดได้เล่าให้แพรวฟังว่า

“…เบิร์ดลงกราบพร้อมกับถือโอกาสจับพระบาทของทั้งสองพระองค์เอาไว้ สมเด็จพระนางเจ้าฯมีรับสั่งว่า ‘ร้องเพลงไพเราะมาก’ แต่ที่เหนือความคาดหมายคือ ในหลวงรับสั่งว่า ‘ปลูกข้าวที่เชียงรายอยากให้ทําต่อไปนะ เบิร์ดเป็นคนดีที่หนึ่ง’ เบิร์ดกราบทูลตอบว่า ‘รับใส่เกล้าพระพุทธเจ้าข้า’ เนื้อตัวตอนนั้นขนลุกไปหมด ในใจปลื้มจนไม่รู้จะปลื้มอย่างไร  เพราะหมายถึงพระองค์ท่านทรงอ่านเรื่องที่เบิร์ดเคยให้สัมภาษณ์ไว้ใน แพรว จึงทรงทราบว่าบ้านที่เชียงรายปลูกข้าว…พอส่งเสด็จฯเสร็จแล้วกลับขึ้นรถได้เท่านั้น เบิร์ดร้องไห้ซะ กลับถึงบ้านรีบจุดธูปเล่าให้แม่ฟัง แต่แม่คงเห็นแล้ว เพราะเบิร์ดพารูปแม่ติดใส่กระเป๋าเสื้อตรงหน้าอกซ้ายเข้าวังด้วย พลังใจจากการได้เข้าเฝ้าฯครั้งนั้นทำให้ใจเบิร์ดที่เคยหดหายเพราะแม่เพิ่งจากไปไม่นาน กลับมาสดใสอีกครั้ง ซึ่งชีวิตนี้คิดว่าครั้งนั้นคือสูงสุดแล้ว…”

เบิร์ด ธงไชยย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2545 แพรวได้ไปเยือนบ้านไร่อุดมสุขที่จังหวัดเชียงราย ของศิลปิน เบิร์ด – ธงไชย ที่ได้ออกแบบร่วมกับพี่ชายที่เป็นสถาปนิก โดยหวังให้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับคุณแม่ โดยวันนี้แพรวจะขอย้อนไปโฟกัสยังบ้านไร่อุดมสุข สถานที่พักกายใจที่เบิร์ด – ธงไชย ได้นำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นหลักแนวทางในการใช้ชีวิต

“หลังจากนั้นเบิร์ดก็เกิดความคิดตามพระราชดำรัส เพราะไปเจอภาพฝีพระหัตถ์ของในหลวง ซึ่งพระองค์ท่านทรงวาดเอาไว้ในหนังสืออะไรสักอย่าง เป็นเรื่องเกี่ยวกับพอมีพอกินนี่แหละ เลยมาคิดกับพี่ๆว่า อย่าสักแต่มีบ้านเลย เรามาทำให้คนในพื้นที่ได้มีอะไรทำดีกว่า ลูกหลานเขาจะได้ไม่ต้องออกไปข้างนอก เขาปลูกอะไรอยู่ เราก็ช่วยหาทางที่จะให้เขาเกิดรายได้จากสิ่งที่เขาทำอยู่ เช่น ข้าว ลำไย ลิ้นจี่ พริก โดยทำโรงอบเพื่อเป็นแหล่งรับผลผลิตของหมู่บ้านเราหรือหมู่บ้านใกล้เคียง

“เบิร์ดทำตลาดให้เขาด้วย รับซื้อเขาด้วยราคากลาง ราคาอย่างที่เขาแฮ็ปปี้ เขาไปที่อื่นอาจจะไม่ได้อย่างนี้ อย่างราคาพริกนะ ขึ้นลงเหมือนกับราคาหุ้น เช้าถูก เย็นแพง เบิร์ดก็เอาพริกมาจากทั่วประเทศเลย แล้วทำวิจัยและทดลองปลูกขึ้นมา เสร็จแล้วแจกพันธุ์พริกให้กับชาวบ้าน พอเขาปลูกเสร็จก็เอาผลผลิตมาส่ง ได้เงินกลับไป

“แล้วเราไม่ได้ทำกันสุ่มสี่สุ่มห้านะ เราได้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาช่วยทำการวิจัยเป็นโครงการเลยว่าดินเราควรจะปลูกอะไร วิจัยน้ำว่ามีไนโตรเจน ออกซิเจนแค่ไหน พอที่จะปลูกพืชไร่ไหม นี่คือสาเหตุที่บ้านเบิร์ดต้องมีบึงกว้างๆ และมีน้ำพุเพื่อให้เกิดออกซิเจนในน้ำ เพื่อเอามาหมุนเวียน เลี้ยงปลาก็ได้ สูบเข้าเครื่องกรองเอามาใช้ในบ้านก็ได้ นาไร่ต่างๆเราก็สูบน้ำนี้ไปใช้ เบิร์ดตั้งใจมากที่จะทำให้มันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา

“เบิร์ดบอกชาวบ้านว่าให้ดูแลครอบครัว ดูแลที่ดินกันให้ดี แล้วเบิร์ดจะดูแลเขาให้มีงานทำ ใครมีปัญหาอะไรก็ให้มาพูดคุยกัน อย่าถึงขนาดขายที่ ไม่มีตังค์ก็มาบอกกันได้ ช่วงที่สร้างบ้านเขาก็มีรายได้ประมาณหนึ่ง พอโรงอบเสร็จ และเราสามารถรับซื้อผลิตผลของเขาได้ ลูกหลานผลัดต่อไปจะได้ไม่ต้องไปหางานที่อื่น เพราะเขามีนามีไร่ที่สามารถทำผลิตผลส่งได้”

เบิร์ด ธงไชย
บ้านนี้เบิร์ดออกแบบเอง ให้ง่ายๆเข้าไว้ เลยออกมาสูงๆ โปร่งๆ โล่งๆ ใหญ่ๆ เหมือนศาลาการเปรียญ ส่วนทะเลสาบหลังบ้านสร้างเป็นรูปหัวใจ ตกเย็นเบิร์ดจะพายเรือเล่น มองลงไปสิ เห็นปลาเพียบเลย
เบิร์ด ธงไชย
แปลงเพาะพริก อีกหน่อยถ้าทำคุณภาพดีๆได้ จะบอกให้ทั่วเลยว่านี่แหละ Bird’s Chilli

เบิร์ด ธงไชย เบิร์ด ธงไชยพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพ่อหลวง หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นประโยชน์ที่คนไทยควรยึดถือนำไปปฏิบัติจริงๆ ดังเช่นเบิร์ด – ธงไชย ที่ได้นำมาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต สร้างสุขแก่ตน สร้างประโยชน์ต่อคนอื่นๆ

 

ที่มา: นิตยสาร แพรว ปี 2558 ฉบับที่ 871 (10 ธ.ค. 58) หน้า 108-125, นิตยสาร แพรว ปีที่ 23 ฉบับที่ 538 25 ม.ค.45 หน้า 180-185 (ปี 2545)

ชุดไว้ทุกข์

In the mood of mourning ย้อนรอยประวัติศาสตร์ของชุดแห่ง “ความรัก ความคิดถึง และคราบน้ำตา” 

ชุดไว้ทุกข์
ชุดไว้ทุกข์

เป็นเวลากว่า 500 ปีแล้วครับ ที่มนุษย์ (สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล สัตว์ที่มีจิตใจสูง) ได้คิดหาเครื่องแต่งกายเพื่อการ “ไว้ทุกข์” ให้กับบุคคลอันเป็นที่รัก แม้ว่าจะมีให้เห็นในหลากโทนสี ทั้งม่วงเข้ม เทา ขาว หรือแม้กระทั่งเขียวเข้ม แต่ท้ายที่สุดแล้ว “สีดำ” ก็เป็นสีที่ถูกเรียกหามากที่สุด

Pound_Praewnista ขอพาย้อนกลับไปดูที่มาของชุดไว้ทุกข์ จากกว่า 100 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เพราะทุกเรื่องราวมีที่มา และเพราะว่า “เสื้อผ้า” ไม่ใช่เพียงสิ่งนอกกาย

b9ff6d74625a33f8da2b1dcd2edd4ce42e8abb00

2 22

ไม่สามารถระบุวันเริ่มต้นที่แน่ชัดได้ครับ ว่าใครคือผู้ริเริ่มคนแรกของโลกที่ลุกขึ้นมาบัญญัติให้มีการแต่งกายเพื่อวาระแห่งการไว้ทุกข์ แต่จากหลักฐานหลายแหล่งให้ความสำคัญไปที่พวกยุโรเปียน (ชาติที่มักยกตัวเองเป็นผู้นำด้านเสื้อผ้า) เป็นกลุ่มแรกที่ใส่ เพราะในช่วง Middle Age หรือช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 – 15 ยุโรปได้ออกกฎ แต่ไม่ใช่กฎหมายนะครับ เป็น Sumptuary Laws คือกฎระเบียบของเหล่าผู้ร่ำรวยหรือผู้ดีเก่ายุคนั้น ต้องเข้าใจอย่างนี้ครับว่าค่าที่ยุโรปมีประวัติศาสตร์ยาวนาน กลุ่มขุนนางเก่าแก่ก็มีมาก แต่ในขณะที่การค้ายุคนั้นก็เริ่มเจริญรุ่งเรือง คนรวยใหม่ก็มีเพิ่มขึ้น ชนชั้นที่คิดว่าตัวเองต้องเลิศต้องเก๋กว่าคนอื่นๆก็เลยออกกฎนี้ขึ้นมา เป็นกฎและระเบียบของเครื่องแต่งกาย ทั้งงานมงคล งานร้าย งานน้ำชา และอีกหลายๆงานครับ! แม้หลายเสียงจะบอกว่าพวกเขาออกกฎเพื่อแบ่งชนชั้นทางสังคม แต่ลึกที่สุดในใจผมว่า “ถ้าพวกเขาไม่รู้สึกเสียใจ รำลึก และคิดถึงผู้ตาย” ชุดไว้ทุกข์คงไม่ถูกระบุไว้ในกฎแน่ๆ ซึ่งกฎนั้นก็คือ ขุนนางทั้งหลายต้องใส่ชุด “สีดำ” เพื่อเข้าพิธีศพนั่นเอง โดยชุดในยุคนั้นหนักไปที่การใช้ผ้าหรูหรา ซึ่งความยาวของผ้าคือตัวชี้ฐานะ และนิยมตกแต่งปลายด้วยผ้าเครป (Crape) สีขาวหรือสีดำ ที่สำคัญต้องมีหมวกใบใหญ่เป็นการคอมพลีตลุคอันสมบูรณ์ หลังจากนั้นไม่นาน “โทนดำ” ที่ว่านี้ก็ส่งอิทธิพลถึงชุดของพระสงฆ์ พ่อค้า จนถึงคนทั่วไปทั้งชายและหญิงในเวลาต่อมา

แม้ว่าการใส่ “ชุดไว้ทุกข์” จะเกิดขึ้นในยุคกลางของยุโรป แต่โลกกลับยอมรับความสำคัญอันยิ่งใหญ่ของเครื่องแต่งกายนี้ในยุคทองของยุควิกตอเรีย (Victoria Era) หรือในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เหตุเพราะสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) ทรงสวมใส่ฉลองพระองค์สีดำตั้งแต่การจากไปของเจ้าชายอัลเบิร์ต (Prince Albert) ตั้งแต่ปี 1861 จนถึงวันสุดท้ายของพระองค์เอง (ปี 1901) นั่นด้วยเพราะพระองค์ทรงเข้าพระทัยถึงความเศร้าโศกอย่างที่สุด พระองค์ไม่เพียงแค่อยากบอกให้โลกรับรู้ว่าพระองค์ทรงทุกข์ แต่พระองค์ทรงต้องการบอกตัวเองว่านอกเหนือจากความเสียใจที่มีนั้น คุณค่าของความเป็นคนที่รักและซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกสูญเสียเป็นเช่นไร

1 5 12

ซึ่งทั้งหมดนั้นได้ทำให้เกิดบรรทัดฐานแห่งการใส่ชุด “ไว้ทุกข์”  โดยเน้นไปที่หญิงม่าย (Widow) จะยึดถือการไว้ทุกข์ยาวนานเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ซึ่งมีหลักการในการแต่งต่างกันออกไป

ปีแรก (Full Mourning) จะใส่ชุดสีดำเท่านั้น ไม่มีการปักประดับใดๆทั้งสิ้น ต้องสวมผ้าปิดหน้าตลอดเวลาเมื่ออยู่นอกบ้าน ไม่คบค้าสมาคมถ้าไม่จำเป็น แม้กระทั่งกับลูกด้วยเช่นกัน

ปีที่ 2 (Second Year) มีเครื่องประดับปักประดับเพิ่มได้ เช่น ตัวชุด ปลายกระโปรง ชายแขนเสื้อมีการตกแต่งขอบด้วยลูกไม้หรือเครปได้ตามสมควร แต่โทนสียังคงเป็นสีดำเท่านั้น

ครึ่งปีสุดท้าย (Half Mourning) ชุดสามารถเป็นสีอื่นที่ไม่ใช่สีดำได้ นั่นคือสีเทา สีม่วง หรือสีม่วงก่ำ

5 52

“ชุดไว้ทุกข์” แบบที่ว่านี้ได้ถูกยึดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมายาวนาน เริ่มต้นจากการเป็น “ชุดเพื่อความเศร้าโศก” สู่ “ชุดเพื่อมารยาททางสังคม” ซึ่งผู้ที่เรียกตัวเองว่า “มนุษย์” พร้อมใจกระทำเรื่อยมา แต่ด้วยความรุ่มรวยของดีเทลชุดและความฟุ่มเฟือยของการจัดเตรียม ชุดไว้ทุกข์แบบเดิมจึงถูกลบเลือนไปในที่สุด จนเข้าสู่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความฟุ่มเฟือยที่ว่าจึงถูกลดทอนลงเหลือแค่ “สีดำ” แต่ความหมายทั้งหมดยังคงเดิม นั่นก็เพื่อ “รำลึกถึงผู้เป็นที่รัก” และเป็นการประกาศให้สังคมรับรู้ถึงความเสียใจที่มากเกินกว่าจะพูดออกมาได้ เสื้อผ้าจึงไม่ใช่แค่เรื่องฉาบฉวย เฉกเช่นกับความรู้สึก “รัก คิดถึง” ที่มากทวีใจ แต่ต้องทนกับความ “สูญเสีย” และการจากไปของบุคคลอันเป็นที่สุดของดวงใจก็ด้วยเช่นกัน

และถ้าการสวมชุดเพื่อ “ไว้ทุกข์” คือการแสดงความรักอีกทางหนึ่ง มันก็เป็นเรื่องดีไม่ใช่หรือ เพราะอย่างน้อยชุดนั้นก็เป็นพลังอย่างหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาหัวใจที่ทุกข์ให้ดีขึ้นได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ซึ่งช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับหัวใจของแต่ละคน

ด้วยรักและคิดถึงสุดหัวใจ

เรื่อง :  pound_Praewnista

ทรงคุณค่าต่อจิตใจ กล้องที่ระลึกพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในหลวง

หากพระหัตถ์ของพ่อหลวงไม่เคยห่างจากแผนที่ฉันใด
กล้องถ่ายรูปก็อยู่เคียงข้างพระศอของพ่อฉันนั้น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช กับพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของประชาชนคนไทยและทั่วโลก

ดังนั้นหากย้อนกลับไปใน พ.ศ.2539 ช่วงพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก แบรนด์กล้องสุดหรูอย่าง Leica เองก็ได้เคยสร้างสิ่งที่มีคุณค่าทางใจให้กับประชาชนชาวไทย ด้วยการออกจำหน่ายกล้องฟิล์ม (Rangefinder) รุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น Leica M6 Golden Jubilee เพื่อเป็นที่ระลึกแด่ ๕๐ ปีแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ซึ่งตัวบอดี้และเลนส์ถูกชุบด้วยทองคำแท้ 24 เค ประทับตราพิธีกาญจนาภิเษก มาพร้อมเลนส์ Summicron 50mm f/2 โดยกล้องทองคำนี้ถูกผลิตมาเพียง 700 ตัว ในราคา 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ในสมัยนั้น) จัดทำมาเพื่อให้ซื้อสะสมเป็นที่ระลึก รายได้ทูลเกล้าฯถวายเพื่อใช้สำหรับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

กล้องที่ระลึกพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในหลวง

leica-m6-golden-jubilee-edition

leica-m6-golden-jubilee-edition-3

leica-m6-golden-jubilee-edition-4

เรียบเรียง : Red Apple_แพรวดอทคอม
ที่มา/ภาพ :thaimedicalnews.com

หมอก้อง-สรวิชญ์ ขอตามรอยคำสอนพ่อ “ผู้ปิดทองหลังพระ”

Alternative Textaccount_circle

พันตรี นพ.สรวิชญ์ สุบุญ
แพทย์ตรวจรักษาสำนักงานแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

“พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ผมเห็นชัดที่สุดและพยายามทำให้ได้คือ ทรงสอนให้ปิดทองหลังพระ จะมีคนเห็นหรือไม่ ไม่ต้องสนใจ ปิดไปเรื่อยๆ แล้วทองก็จะล้นมาที่หน้าองค์พระเอง ซึ่งก่อนหน้านั้นผมคิดแค่ว่า ทำความดีก็อยากให้คนอื่นชื่นชอบ ทำให้มีกำลังใจและรู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่ แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเคยเรียกร้องอะไรเลย ทรงทำความดีทุกวัน จนความดีเหล่านั้นปรากฏให้ประชาชนได้เห็นเองจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งยิ่งใหญ่มาก

“วันหนึ่งผมมีโอกาสได้ฟังเทศน์จากพระรูปหนึ่งว่า คนเราจะทำความดีเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อจะได้ดี แล้วหนีในสิ่งที่เคยทำไม่ดีไว้ ความคิดนั้นผิด เพราะความดีกับความเลวแยกกัน พระรูปนั้นสอนอีกว่า ทำไมหมอไม่คิดแค่ว่า ทำความดีเพื่อให้รู้ว่ายังมีความดีหลงเหลืออยู่บนโลก แค่นี้เพียงพอแล้ว

“แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่ให้ความดีจารึกอยู่บนโลก แต่พระองค์ทรงทำความดีเพราะทรงรักประชาชนทุกคนที่เป็นเหมือนลูกของพระองค์ แล้วเราในฐานะประชาชนจะทำอย่างไรที่ให้พระองค์ท่านทรงเหนื่อยน้อยลง จะทำอย่างไรให้คนที่ไม่รักชาติบ้านเมืองได้มีสติพิจารณาทบทวน แต่ผมเปลี่ยนแปลงใครไม่ได้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือ การพูดให้ทุกคนทราบว่า พระองค์ท่านทรงทำอะไรบ้าง ผมยอมรับว่าเคยรู้สึกเหนื่อย ท้อจนอยากจะหยุด แต่ความท้อเหล่านั้นหายไปเมื่อได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัว

“ถ้าถามผมตอนอายุ 8 ขวบว่ารักในหลวงเพราะอะไร ผมคงตอบว่า เพราะในหลวงรักประชาชน ซึ่งเป็นคำตอบที่พูดต่อๆกันมา ไม่ได้มาจากใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอโตขึ้นได้รับทราบและผ่านเหตุการณ์ต่างๆเกี่ยวกับพระองค์ท่าน ทำให้รู้แล้วว่า ทำไมผมรักในหลวง…

“เพราะพระองค์ท่านรักผม และรักทุกคนบนแผ่นดินไทยมากกว่าสิ่งอื่นใด”

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับที่ 823

พระนามบัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จำนวน 4 แบบ

Alternative Textaccount_circle

จากบทสัมภาษณ์ของคุณฮิโรมิ อินาโยชิ นักออกแบบชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ออกแบบพระนามบัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ชุดที่ท่านผู้อ่านเห็นอยู่นี้ ในวารสาร “ในวงการพิมพ์” (http://www.thethaiprinter.com) กล่าวไว้ว่า การได้รับโอกาสเป็นผู้ออกแบบ “พระนามบัตรในหลวง” นั้น มีที่มาจากการจัดนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบสัญลักษณ์และสีในงานของสหประชาชาติ ณ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี เมื่อปี พ.ศ.2545 และมีบุคคลในสำนักพระราชวังไปเห็นฝีมือ จึงให้ความสนใจและหารือถึงการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อถวายในหลวง เนื่องในโอโกาสครบรอบ 75 พรรษา โดยสรุปสุดท้ายที่การออกแบบนามบัตรจำนวน 4 แบบ ดังนี้

พระนามบัตรพระนามบัตร

แบบที่ 1 มีคอนเซ็ปต์มาจากตัว “A” ซึ่งเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือ “อดุลยเดช” และส่วนของจุดสีที่อยู่ภายในแทนสีของแก้วนพรัตน์ หรืออัญมณี 9 ประการ อันเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์

แบบที่ 2 มีคอนเซ็ปต์มาจากการพนมมือไหว้ของคนไทย อันเป็นเอกลักษณ์ที่สื่อได้ถึงความเป็นคนไทย ขณะเดียวกัน ก็มีจุดสีของแก้วนพรัตน์รายล้อมอยู่ภายใน สื่อถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ของไทย

แบบที่ 3 มีคอนเซ็ปต์มาจากเครื่องดนตรี คือ แซ็กโซโฟน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเป็นพิเศษ และมีจุดสีของแก้วนพรัตน์แสดงเอกลักษณ์ของพระมหากษัตริย์อีกเช่นกัน

แบบที่ 4 มีคอนเซ็ปต์มาจากพระนาม “ภูมิพล” ซึ่งเมื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษจะขึ้นต้นด้วยตัว “B” แล้วออกแบบรูปร่างทำเป็นปีกพญาครุฑ ภายในบรรจุจุดสีของแก้วนพรัตน์ แสดงเอกลักษณ์พระมหากษัตริย์ เพื่อให้เป็นในแนวทางเดียวกันทั้งหมด

เป็นที่น่าสังเกตว่า การออกแบบ “พระนามบัตร” จะเน้นภาพสัญลักษณ์มากกว่าการสื่อความหมายด้วยภาษาของตัวอักษรดังที่ปรากฎในนามบัตรทั่วไป โดยที่คุณฮิโรมิอธิบายว่า จริงๆแล้วการออกแบบนามบัตรทั่วไปส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง ถ้าพูดถึงระดับนานาชาติจะนิยมทำสัญลักษณ์มากกว่าใช้ภาษาของตัวอักษร

นามบัตรที่ดีจะไม่นิยมพิมพ์ชื่อตัวเองหรือชื่อบุคคลขนาดใหญ่ ตัวหนังสือจะออกแบบเพียงให้ดูเป็นมันขึ้นมาและสื่อภาษาเล็กน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนามบัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็คงไม่จำเป็นต้องเน้นชื่อ และไม่จำเป็นต้องใส่ที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์ สื่อเพียงแค่เป็นพระมหากษัตริย์ของไทยก็เพียงพอ

คุณฮิโรมิกล่าวว่า จริงๆแล้วการออกแบบสัญลักษณ์ไม่เหมือนกับภาพวาดทั่วไปที่มองเห็นของจริงแล้ววาดภาพเหมือนออกมา แต่งานออกแบบของตนเองไม่ได้มองภาพจริงแล้ววาดภาพเหมือน แต่เป็นการใช้จินตนาการนึกภาพออกมาเป็นสัญลักษณ์แทนตัวบุคคล

เมื่อถามว่าความคิดขณะออกแบบตั้งใจเพื่อให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้พระราชทานแก่บุคคลอื่นด้วยหรือไม่ คุณฮิโรมิหัวเราะก่อนตอบว่า ก็เห็นพระองค์ท่านมีการพระราชทานเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการมีรับสั่งให้พิมพ์เพิ่มด้วย โดยใช้โรงพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ดำเนินการ แต่พระนามบัตรซึ่งเป็นการออกแบบสัญลักษณ์นี้เป็นการใช้ส่วนพระองค์มากและไม่เป็นทางการ เพราะส่วนที่เป็นทางการพระองค์ท่านก็มีตราประจำรัชกาล หรือตราสัญลักษณ์เนื่องในโอกาสต่างๆอยู่แล้ว ความคิดขณะออกแบบจึงไม่ได้มุ่งให้เป็นงานเป็นการมากนัก

อย่างไรก็ตาม ความคิดขณะออกแบบนั้น สิ่งที่คำนึงถึงอย่างมากคือเรื่องระบบการพิมพ์ ซึ่งจะต้องมีลูกเล่นให้แปลกตา มีความหมายและลูกเล่นที่ไม่ซ้ำแบบใคร หรือทำการพิมพ์ลอกเลียนแบบไม่ได้ง่ายๆ “ระบบการพิมพ์จะค่อนข้างพิถีพิถัน อย่างเช่น การใช้สีพิเศษ กระดาษก็จะต้องเป็นของ Arjo Wiggins Fine ซึ่งเป็นกระดาษของฝรั่งเศส เครื่องพิมพ์ก็จะกำหนดให้ต้องใช้เครื่องพิมพ์โรแลนด์และไฮเดลเบิร์กเท่านั้น รวมทั้งอื่นๆซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยให้โรงพิมพ์ดำเนินการทั้งหมดเลย รวมทั้งจะเข้าไปดูแลและควบคุมการพิมพ์งานด้วยตัวเองด้วย” ขั้นตอนการพิมพ์ “พระนามบัตร” จะทำการพิมพ์สีพื้นก่อน แล้วทำการพิมพ์ฟอยล์ตบท้าย โดยในส่วนจุดสีของนพรัตน์หรือสีอัญมณีทั้ง 9 เม็ด จะต้องพิมพ์ทั้งหมด 18 สี กล่าวคือ พิมพ์ครั้งแรกจำนวน 9 สีหรือ 1 รอบ และพิมพ์ 9 สีอีก 1 รอบทับอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเท่ากับว่าแต่ละสีจะมีการพิมพ์ 2 ครั้ง โดยกว่าจะได้งานออกมาดังที่ตั้งใจต้องทำการปรู๊ฟถึง 12 ครั้ง

 

ที่มา Pantip.com : JabKungIT

จากต่างด้าวสู่เศรษฐีพ่อค้าผ้ารายใหญ่ชาวอินเดีย มีวันนี้ได้เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ที่ทำกิน

ไม่ใช่แค่การเป็นที่พึ่งพิงให้คนไทยเท่านั้น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยังมีพระกรุณาไปถึงคนต่างชาติต่างถิ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกด้วย เหมือนอย่างกับครอบครัวของคุณสาธิต เซกัล นายกสมาคมนักธุรกิจอินเดีย-ไทย ชาวอินเดียที่ได้รับโอกาสให้มีงานทำ มีรายได้ จนสามารถลืมตาอ้าปากอยู่สุขสบายจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งแพรวได้นำบทสัมภาษณ์ของเขามาเผยแพร่ให้คนไทยได้อ่านกันด้วยค่ะ

2

“ครอบครัวผมอพยพมาจากอินเดียเมื่อปี ค.ศ.1932 สมัยนั้นอินเดียยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ คุณลุงของผมตัดสินใจเดินทางมาด้วยคำชวนของเพื่อนที่ว่า ไปทำงานหากินที่ประเทศสยามดีกว่า “กษัตริย์ท่านใจบุญ ทรงดูแลประชาชนอย่างดี และต้อนรับชาวต่างชาติ” คุณลุงเริ่มทำงานรับจ้างได้เงินเดือน 200 บาท จนสามารถสร้างฐานะเป็นพ่อค้าผ้าชาวอินเดียรายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 จึงชวนพ่อแม่ ผม และน้องชาย มาอยู่ประเทศสยามในปี ค.ศ.1947 ฉะนั้นคุณลุงกับคุณพ่อจะสอนผมเสมอว่า ต้องไม่ลืมบุญคุณแผ่นดินไทยและบุญคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พวกเราไม่ลำบากและเหน็ดเหนื่อยเหมือนตอนอยู่ที่อินเดียก็เพราะพระองค์

1

คำเหล่านี้ฝังอยู่ในสมองผมมาตั้งแต่เด็ก คนส่วนใหญ่คิดว่าผมเป็นอัครเศรษฐี แต่ชีวิตผมที่อยู่กับคุณแม่สองคน ไม่ต้องการอะไรมากมาย อยู่แบบง่ายๆ สบายๆ ไม่เที่ยว ไม่ชอบสังคมหรูหรา ติดดิน รถของผมใช้มา 22 ปีแล้ว เพราะผมน้อมนำพระบรมราโชวาทเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ถ้าสังคมไทยนำเศรษฐกิจพอเพียงของท่านมาใช้ ปัญหาครึ่งหนึ่งจะหายไป  ซึ่งปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ความยากจนของประชาชน วันนี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งแทนที่จะนำคำสอนนี้ไปปฏิบัติ กลับหลงในสิ่งผิด นำเงินไปซื้อสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นในชีวิต ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาผมทำกิจกรรมเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เริ่มจากซื้อพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สั่งทำสติ๊กเกอร์ “เรารักในหลวง” เป็นหมื่นๆใบ แล้วเดินแจกตามสถานที่ที่มีการชุมนุม ผมทำคนเดียวเงียบๆ ไม่ต้องการดังหรือมีชื่อเสียง แต่สิ่งที่ผมได้รับคือความภูมิใจที่มีส่วนในการจุดประกายความรัก เคารพ และเทิดทูนสถาบันที่มีอยู่ในจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่แต่ไม่แสดงออก ถ้าเราไม่บอกหรือแสดงออกกับพ่อแม่ว่าเรารัก แล้วท่านจะรู้ไหม ผมมาจากประเทศอินเดียที่มีกษัตริย์เป็นร้อยๆพระองค์ ผมศึกษาประวัติของกษัตริย์ทั่วโลกทั้งอดีตและปัจจุบัน ทำให้ผมรู้ซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพราะทรงมีแต่ให้ ตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ทรงเหน็ดเหนื่อยกับประชาชนไทยมาตลอด เสด็จพระราชดำเนินไปช่วยเหลือประชาชนทั้งเหนือ อีสาน ใต้ แล้วเสด็จแปรพระราชฐานเป็นเดือนๆเพื่อหาทางสร้างอาชีพให้ชาวบ้านมีรายได้  สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกเสมอว่า “ไม่มีกษัตริย์ไหนในโลกนี้ที่ดีเท่ากับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9”

แหล่งที่มา : นิตยสารแพรว ปี 2557 ฉบับที่ 833 (10 พ.ค. 57) หน้า 28

ชื่อคอลัมน์ : คำพ่อสอน

 

“ลักษณ์ เท็ฆนิคการช่าง” ช่างซ่อมนาฬิกาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้พระทัยในฝีมือที่สุด

หากคุณเคยไปเดินเล่นย่านท่าพระจันทร์ คุณก็อาจสังเกตเห็นร้านนาฬิการ้านหนึ่งขึ้นป้าย “ลักษณ์ เท็ฆนิคการช่าง” และเหนือป้ายนั้นคือตราครุฑขนาดใหญ่สะดุดตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่คือร้านของช่างซ่อมนาฬิกาที่ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ท่านไว้พระทัยในฝีมือที่สุด และวันนี้เราก็มีเรื่องราวของช่างซ่อมนาฬิกาผู้นี้มาฝากกันด้วย

“คุณลักษณ์  ตาณพันธุ์” ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในฐานะช่างซ่อมนาฬิกาที่รับใช้พระองค์ท่านมากว่า 20 ปี จุดเริ่มต้นของการได้มีโอกาสถวายการรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เริ่มตรงที่เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ขณะที่คุณลักษณ์ยังเป็นช่างซ่อมนาฬิกาหนุ่ม มีนาฬิกาเรือนหนึ่งเป็นของเก่าตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 5 เป็นนาฬิกาเรือนใหญ่ ตั้งอยู่ในโบสถ์วัดพระแก้ว เสียมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ไม่มีช่างคนไหนซ่อมได้ คุณลักษณ์รู้เข้าก็รีบอาสาแก้ให้ เพราะเชื่อมั่นในฝีมือและความละเอียดประณีตซึ่งเป็นความพิเศษเฉพาะตัวที่ตัวเองมี แล้วก็แก้จนใช้การได้จริงๆ

หลังจากที่คุณลักษณ์ได้แสดงความสามารถในการซ่อมนาฬิกาเรือนนั้นได้สำเร็จ ผู้ใหญ่ที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รู้สึกเชื่อมือ จึงเริ่มนำนาฬิกาของพระองค์ท่านมาให้คุณลักษณ์ซ่อม เริ่มจากนาฬิกาตั้งโต๊ะตีเป็นเพลงเรือนหนึ่ง แล้วก็มีเรือนอื่นๆตามมา รวมไปถึงนาฬิกาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วย นอกจากนี้คุณลักษณ์ก็เริ่มมีหน้าที่ต้องเข้าไปดูแลนาฬิกาในพระที่นั่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

คุณลักษณ์เล่าถึงการดูแลนาฬิกาที่ทรงให้คนนำมาซ่อมว่า จะเก็บรักษาอย่างดี มีกล่องกำมะหยี่เฉพาะอยู่ในเซฟ และจะเร่งทำให้เสร็จโดยเร็ว นาฬิกาทุกเรือนของพระองค์ท่านนั้น คุณลักษณ์ซ่อมได้หมด ไม่เคยมีปัญหา “เคยมีฝรั่งมาถามผม เขาให้ผมบอกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดนาฬิกายี่ห้อไหน ถ้าผมบอก เขาจะสมนาคุณ แต่ผมโง่ ผมไม่บอก เรื่องอะไรผมจะให้เขาฉวยโอกาสเอาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของเราเป็นจุดโฆษณา ผมก็บอกท่านโปรดนาฬิกาทั่วๆไป ท่านมีหลายเรือน หลายยี่ห้อ เป็นของเกรดดีทั้งนั้น”

ส่วนเรื่องที่ได้รับพระราชทานตราครุฑนั้น คุณลักษณ์เล่าว่า ได้รับภายหลังจากที่ถวายการรับใช้ด้วยความซื่อตรงมานาน นอกจากพระราชทานตราครุฑแล้ว ยังทรงพระกรุณาพระราชทานเงินอีกเป็นจำนวนหลายแสนบาทเพื่อให้มาปรับปรุงร้าน ส่วนหนึ่งก็เพราะทรงเห็นว่าช่างซ่อมนาฬิกาของพระองค์ท่านไม่สู้จะยอมรับค่าแรงเอาเลย “สมเด็จฯท่านรับสั่งว่าสงสาร ให้คิดค่าแรงเถอะ ก็คิดบ้าง ไม่คิดบ้าง แต่ส่วนมากไม่ได้คิด สมเด็จฯท่านรับสั่ง…คิดบ้าง ฉันสงสารเธอ…ท่านเมตตาผมมากเหลือเกิน เราได้มีโอกาสถวายการรับใช้นี่ก็ถือเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลแล้ว ท่านทรงพระกรุณาขนาดไหน คิดดูเถอะ ภรรยาผมเสียก็พระราชทานพวงหรีด พระราชทานเพลิงศพ ทั้งที่ผมก็ไม่อาจเอื้อมกราบบังคมทูล พวงหลีดผมยังเก็บรักษาไว้เลย”

ทีนี้ย้อนมาถึงการซ่อมนาฬิกาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คุณลักษณ์เล่าว่า หากเป็นนาฬิกาของพระองค์ท่านหรือเจ้านายองค์อื่นๆ คุณลักษณ์จะทำเองกับมือ ไม่เคยให้ช่างในร้านแตะต้อง

“ผมซาบซึ้งที่พระองค์ท่านไว้พระทัย นาฬิกาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ฝังเพชรนะฮะ ท่านรับสั่งให้ผู้ใหญ่เอามาให้ลักษณ์ซ่อม ไม่เคยต้องออกใบรับหรืออะไร ท่านให้มาซ่อมเฉยๆเลย มีรับสั่งมาว่า…ไม่ต้องมีหลักฐาน ให้ลักษณ์เขาไว้นั่นละ นาฬิกาเรือนทอง นาฬิกาฝังเพชร นาฬิกาชั้นดีทั้งนั้น ท่านไม่เคยให้ออกใบรับเลยสักครั้ง แล้วท่านไม่เคยเร่ง ทุกพระองค์ไม่เคยเร่งว่าให้เร็วๆ เสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

“แต่ว่านาฬิกาของทุกพระองค์ผมต้องระวังเป็นพิเศษอยู่แล้ว เครื่องไม้เครื่องมือก่อนซ่อมผมต้องล้างเช็ดทำความสะอาดเรียบร้อย นาฬิกาของพระองค์ท่านที่ส่งมา ก่อนลงมือทำผมกราบก่อนนะ ทุกวันนี้ก่อนลงทำงานทุกเช้าผมก็จะกราบ รำลึกถึงท่าน ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และทุกพระองค์ ถวายพระพรให้ทรงสุขสำราญ ผมถือว่าตัวผมโชคดี ได้มีโอกาสถวายการรับใช้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมากมาย ได้อยู่สุขสงบร่มเย็นจนถึงวันนี้”

ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับที่ 198 ปักษ์วันที่ 25 พ.ย. 2530

 

ศิลปากรไม่ทิ้งลาย ทุกวิทยาเขตพร้อมใจวาดภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9

ความเสียใจของคนไทยทั้งชาติที่ต้องทำใจยอมรับข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กำลังเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดการร่วมมือร่วมใจเพื่อไว้อาลัยให้กับพระองค์ นอกจากเราจะได้เห็นคนไทยต่างพร้อมเพรียงมาเคารพพระบรมศพกันนับหมื่นนับแสนแล้ว

รอบรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนหน้าพระลาน ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง เหล่านักศึกษาและศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยต่างก็รวมใจกันสร้างสรรค์ภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์มีมาตลอด 70 ปี

ทั้งนี้ภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่นักศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้วาดนั้น ได้รวมเอานักศึกษาจากทุกชั้นปีมาร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งอาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากรยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มด้วยว่า หลังจากที่ข่าวจากสำนักพระราชวังประกาศออกมา ทางฝั่งมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ก็ได้มีการรวมตัวกันเพื่อวาดภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่เที่ยงคืนจนเสร็จประมาณ 9 โมงเช้า ในส่วนของวิทยาเขตวังท่าพระก็ได้เริ่มต้นวาดกันภายในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ก่อนจะนำไปติดตั้งที่ริมกำแพงด้านหน้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเพิ่งจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อรุ่งเช้าของวันนี้ ซึ่งทั้งหมดมี 9 ภาพ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ จนพระองค์ได้ชื่อว่าทรงเป็นองค์อัครศิลปิน

และตั้งแต่ในช่วงเช้าของวันนี้ ประชาชนที่เดินทางมาร่วมไว้อาลัยและแสดงความเคารพพระบรมศพต่างก็แวะเวียนมาชมภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กันไม่ขาดสาย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
ภาพ :SRIPLOI
ภาพพระบรมฉายาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9
ภาพ :SRIPLOI
image3
ภาพ :SRIPLOI
image4
ภาพ :SRIPLOI
image5
ภาพ :SRIPLOI
image6
ภาพ :SRIPLOI
image7
ภาพ :SRIPLOI
image8
ภาพ :SRIPLOI
image9
ภาพ :SRIPLOI

ผนังคณะมัณฑนศิลป์ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

%e0%b8%9c%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b8%93%e0%b8%b0%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%93%e0%b8%91%e0%b8%99%e0%b8%a8%e0%b8%b4%e0%b8%a5%e0%b8%9b%e0%b9%8c-%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%a3%e0%b8%b2
ภาพ : President Silpakorn University Chaicharn Thavaravej

ขณะวาดภาพในคณะจิตรกรรม

ศิลปากร วาดภาพพระบรมฉายาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9
ภาพ : President Silpakorn University Chaicharn Thavaravej

วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b8%95%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%88
ภาพ : President Silpakorn University Chaicharn Thavaravej

คณะ ICT วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

ศิลปากรไม่ทิ้งลาย
ภาพ : President Silpakorn University Chaicharn Thavaravej
รูป Unseen ในหลวง

มหัศจรรย์ Unseen รูปในหลวง คนไทยโชคดีกว่าใครในโลก

Alternative Textaccount_circle
รูป Unseen ในหลวง
รูป Unseen ในหลวง

ถ้าคุณเป็นคนไทยที่รับรู้เรื่องราวและสิ่งที่ “ในหลวง” ทรงทําเพื่อประเทศชาติและประชาชนมานานกว่า 7 ทศวรรษ คุณจะพูดถึงความรู้สึกที่มีต่อพระองค์ท่านอย่างไร

สําหรับบุคคลทั้ง 6 พวกเขาแสดงออกถึงความรู้สึกนี้ในรูปแบบแตกต่างกัน แต่เมื่อทุกคนมารวมตัวกัน จึงเป็น “มหัศจรรย์ Unseen รูปในหลวง” ที่คุณอาจไม่เคยเห็นจากที่ไหน

พระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวง และพระราชินี

ชูศักดิ์ วิษณุคํารณ
“ในหลวง” ของผมคือ “ภูมิพลโพธิสัตว์”
แค่เอ่ยชื่อ “อาจารย์ชู” ก็เชื่อว่าศิลปินวาดภาพ ลูกศิษย์ลูกหาหลายคนคงรู้จักผลงานเขาดี ในฐานะศิลปินสร้างสรรค์พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมานานกว่า 15 ปี และอาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปินคนเดียวที่ได้รับเลือกให้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยความสูงเท่ากับตึก 4 ชั้น อีกหนึ่งผลงานที่เขาภูมิใจและเผยให้แพรวเห็นเป็นที่แรก ยังไม่รวมอีกหนึ่งผลงานเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน ด้วยความยาว 80 เมตร ที่ทําให้รู้ว่าคนไทยโชคดีกว่าใครในโลก

พระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

พระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ

“ผมวาดรูปเลี้ยงชีวิตมาเกือบ 50 ปีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นงานเขียนรูปสวยงามที่คนซื้อไปประดับบ้าน พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงยืนคู่กัน สูง 8 เมตร จะนําไปติดที่อาคารสินธร เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ปี 2558 จะเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงและพระราชินีใหญ่ขนาดนี้ ให้คนรุ่นหลังเห็นว่าการเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงต้องเขียนพระราชอิสริยยศต่างๆ ให้ถูกต้องด้วย ซึ่งหลายท่านมักมองข้ามไป แต่นี่คือพระราชอิสริยยศของพระองค์ท่าน ถ้าเขียนผิด ภาพนี้ก็จะผิดไปนานเป็นร้อยๆ ปี เพราะฉะนั้นก่อนเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์องค์นี้ ผมจึงหาตํารามาศึกษาให้รู้จริงเกี่ยวกับเครื่องทรงทั้งหมด ทําทุกอย่างให้ถูกต้อง เพื่อเป็นต้นแบบให้ลูกหลานศิลปินรุ่นหลัง

“ส่วนอีกผลงานหนึ่งเป็นภาพวาดยาว 80 เมตร เป็นภาพพระราชกรณียกิจตั้งแต่วันขึ้นครองราชย์ จนถึงวันที่เหลืองเต็มแผ่นดิน เป็นการบันทึกเรื่องราวของพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยปีก็ตาม งานชิ้นนี้จะเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความรู้สึกของมหาชนที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ ใช้เวลาเขียน 3 ปีแล้ว ยังไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ตั้งใจจะใช้เวลาเขียนทั้งหมด 4 ปี แล้วนำไปติดที่ศาลาเฉลิมพระเกียรติวัดด่าน พระราม 3”

เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เขาสนิทสนมกับเจ้าของห้างซีคอนสแควร์ เพราะเคยช่วยวางแผนทำโฆษณามาก่อน ช่วงนั้นห้างเพิ่งเปิดได้ปีเดียว เขาจึงชักชวนเจ้าของห้างทำกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว เชิญศิลปินทั่วประเทศวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ โดยไม่มีการแบ่งรั้วแบ่งค่าย และนำพระบรมสาทิสลักษณ์เหล่านั้นมาจัดแสดง กลายเป็นต้นแบบของการจัดอาร์ตแกลเลอรี่ในห้าง เพราะเหตุนี้เขาจึงเริ่มศึกษาพระราชประวัติของพระองค์ท่านอย่างจริงจัง

“ผมชอบอ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พอได้มาศึกษาพระราชประวัติ ทำให้รู้ว่า ความจริงพระองค์ท่านทรงหลุดจากวงโคจรการเป็นกษัตริย์ตั้งแต่ทรงย้ายไปประทับที่ต่างประเทศแล้ว ไม่มีทางที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ได้เลย แล้วทำไมพระองค์ท่านจึงทรงมาอยู่ตรงนี้ ทำให้ผมเข้าใจกฎแห่งกรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เมื่อสองพันกว่าปีว่า ‘มนุษย์เรานั้นถูกกำหนดมาตั้งแต่อดีตชาติ ไม่มีอะไรที่จะเป็นเหตุบังเอิญ’

“ผมจึงเชื่อว่าพระองค์ท่านทรงถูกกำหนดให้มาทำคุณประโยชน์แก่ประเทศนี้ เป็นตระกูลที่ทำคุณให้แก่แผ่นดินทุกพระองค์ เฉพาะพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวก็ทรงมีโครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ มีมนุษย์คนไหนทำได้แบบนี้บ้าง ถ้าไม่ใช่ผู้มีบารมี หากคุณไม่สนใจก็อาจมองเป็นเรื่องธรรมดาว่า ก็เพราะเป็นพระเจ้าอยู่หัวนี่ แต่กษัตริย์ในประเทศอื่นมีแบบนี้ไหม หรือการที่คนใส่เสื้อเหลืองทั้งแผ่นดิน มีใครนัดคนให้ออกจากบ้านมาได้มากขนาดนี้ไหม ผู้คนในทุกจังหวัดต่างจุดเทียนชัยถวายพระพรในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา มีใครทำได้บ้าง ถ้าไม่ใช่เพราะพระบารมีที่สั่งสมมา ผมจึงเรียกพระองค์ท่านว่า ‘ภูมิพลโพธิสัตว์’ และถ้าอีกเป็นแสนปีที่มนุษย์เราต้องตายแล้วเกิด ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารไม่รู้กี่โกฏิชาติ ผมเชื่อว่าต่อไปเราอาจได้เรียนรู้เรื่องราวของ ‘ภูมิพลโพธิสัตว์’ เหมือนที่เราเรียนรู้เรื่องพระเจ้าสิบชาติอย่างพระมหาชนกหรือพระเตมีย์ใบ้ก็เป็นได้

“หลังจากอ่านและศึกษาพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านแล้ว จึงคิดว่าบั้นปลายชีวิตอยากเขียนเรื่องราวของพระเจ้าอยู่หัวให้คนรุ่นหลังได้เห็นไปอีก 300 – 400 ปี ศิลปินประเทศนี้เกือบทุกคนที่เขียนรูปเป็นจะรู้สึกเป็นบุญกุศล และภาคภูมิใจที่ได้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่าน ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ผมเขียนด้วยความเคารพเทิดทูน ใช้ความรู้และความสามารถของเรา เขียนจากการศึกษาและสิ่งที่เรารับรู้ ดังนั้นงานของผมจึงมีเอกลักษณ์คือ พระเจ้าอยู่หัวของผมต้องมีเทวดา มีความยิ่งใหญ่ มีเรื่องราวความเป็นมา ในความรู้สึกผม ไม่ว่าเสด็จฯไปที่ไหนจะมีเทวดาดูแล ถ้าลูกศิษย์ลูกหาผมเห็นปั๊บ ไม่ต้องดูลายเซ็นก็รู้ว่านี่คือผลงานของผม”

จนถึงวันนี้อาจารย์ชูยังวาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวทุกวัน จำนวนเป็นร้อยองค์แล้ว มีทั้งองค์ที่มีคนมาขอซื้อไปบูชาที่บ้าน บางองค์เขาเก็บไว้ที่สตูดิโอส่วนตัว และมีองค์หนึ่งที่เขาวาดและนำไปทูลเกล้าฯถวายที่โรงพยาบาลศิริราช

“การเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ไม่เหมือนเขียนรูปคนธรรมดา ผมยกมือไหว้ขอพระบรมราชานุญาตก่อนเขียนทุกครั้ง ในความรู้สึกผม การได้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ทุกวันก็เหมือนได้เข้าเฝ้าฯทุกวัน เขียนแล้วมีความสุข อย่างพระบรมสาทิสลักษณ์ที่ผมเขียนและนำไปทูลเกล้าฯถวายที่โรงพยาบาลศิริราช ชื่อรูป ‘ไกลกังวล หมายเลข 2’ ภาพของจริงมีพยาบาลและหมอยืนอยู่ด้านหลังพระองค์ท่านที่ประทับรถเข็น แต่ผมวาดโดยให้พระองค์ท่านทรงนั่งพระเก้าอี้สบายๆ กับคุณทองแดง พระองค์ท่านโปรดเกล้าฯให้ราชเลขาฯส่งหนังสือขอบใจมา ซึ่งผมเก็บหนังสือฉบับนั้นไว้เป็นมงคลชีวิต

“ผมคิดว่าคนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่าใครก็ตาม เมื่อพูดถึงพระองค์ท่านล้วนแต่เป็นสิ่งที่พวกเราคุ้นเคยทั้งสิ้น แต่ผมอยากให้ทุกคนมองว่าสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำทุกวันนี้ทรงทำเพื่ออะไร อยากให้ตีโจทย์ตรงนี้ เรื่องความดีงามของพระองค์ท่านคงไม่ต้องยกยอ ไม่ต้องสรรเสริญถวายพระพรให้วุ่นวาย เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในใจและสายเลือดพวกเราทุกคนหมดแล้ว แต่จงดูสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำ และทำตามด้วยความมุ่งมั่น

“ถามว่าพระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกเพื่ออะไร ทำไมจึงทรงนำเรื่องนี้มาบอกคนไทย พระองค์ท่านทรงมีนัยอย่างไร บางคนดูแค่สนุกและผ่านไป ที่มีความรู้มากหน่อยก็ไม่เชื่ออีกต่างหาก ผมคิดว่าการที่พระองค์ท่านนำเรื่องพระมหาชนกมาสอน เพราะทรงต้องการให้ลูกๆ ซึ่งเป็นคนไทยทั้งหมดยึดความพอเพียง และอย่าถอดใจเวลาทำภารกิจทุกอย่าง เพราะความเพียรจะนำไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริง

“ถอดใจ…เท่ากับแพ้”

ภาพ : โยธา รัตนเจริญโชค

ศรัณย์ ภัทโรพงศ์ กับพระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวง ผลงานของโลเล

ศรัณย์ ภัทโรพงศ์
เมื่อความพอเพียง = ความสุข
เพราะชอบงานศิลปะมาแต่ไหนแต่ไร ทุกครั้งที่มีโอกาสชมพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขาต้องรู้สึกอยากได้ไว้ครอบครอง แม้จะออกตัวว่าไม่ใช่นักสะสมศิลปะตัวเป้ง แต่คุณอู๋ – ศรัณย์ เจ้าของรีสอร์ท วิลล่า มารดาดี เชียงใหม่ ก็มักได้เป็นเจ้าของพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงที่มีเทคนิคแปลก และแตกต่างจากที่เห็นกันเกร่อตามท้องตลาด
พระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำ ในหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผลงานวธน กรีทอง
ความงามของสีน้ำ ผลงาน “วธน กรีทอง” ที่วาดออกมาเท่าไร คุณอู๋เหมาซื้อหมด

ภาพกลาง พระบรมสาทิสลักษณ์เทคนิคแปลกตา ด้วยการเกลี่ยน้ำบนพื้นและถ่ายรูป ผลงานของวรวิทย์ แก้วศรีนวม

“ผมชอบงานศิลปะ แรกๆ ไม่ได้เจาะจงว่าชอบอะไรเป็นพิเศษ แต่ทุกครั้งที่ดูงานศิลปะที่เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง ผมจะรู้สึกใจสั่น อยากได้มาอยู่กับเรา ซึ่งงานศิลปะพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงส่วนใหญ่มักเป็นงานการกุศล และสร้างสรรค์ขึ้นในหลากหลายเทคนิค ทั้งของคนจบศิลปากรที่ทำงานศิลปะและไม่ได้ทำงานศิลปะ

“กระทั่งสะดุดตาผลงานของคุณวรวิทย์ แก้วศรีนวม ดูไม่รู้ว่าเป็นภาพถ่ายหรือภาพวาด เขาบอกว่าเป็นภาพถ่าย เขานั่งดื่มน้ำแล้วน้ำหก จึงลองเอาน้ำเกลี่ย วาดเป็นพระพักตร์ในหลวงตามจินตนาการ แล้วถ่ายภาพนั้นเก็บไว้ ตั้งชื่อภาพว่า ‘น้ำแห่งชีวิต’ ผมเห็นครั้งแรกแล้วชอบ ขอซื้อเลย เป็นความประทับใจที่เขาคิดตรงกับเรา พระองค์ท่านทรงงานเกี่ยวกับน้ำมากมาย รวมทั้งน้ำพระทัยที่ทรงมีต่อประชาชนด้วย” เขายังได้รู้จักศิลปินผ่านโลกโซเชียลอีกเป็นจำนวนมาก อย่างอดีตผู้กำกับหนังโฆษณา วธน กรีทอง ที่ถึงจุดอิ่มตัวกับงานภาพยนตร์ และอยากกลับมาทำงานศิลปะ จึงหาเลี้ยงชีพด้วยการวาดภาพสีน้ำพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง

“วันหนึ่งคุณวธนบอกผมว่าจะอดตายแล้ว ผมจึงบอกว่าชอบงานของเขา อยากขอซื้อ ผมเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงทุกองค์ที่เขาวาดแล้วรู้สึกสะเทือนใจ เพราะเขาจับมุมมองเล็กๆ ของพระองค์ท่านมาขยาย สื่อความหมายได้อย่างกินใจ และเป็นมุมมองที่ทำให้ผมสื่อกับงานศิลปะที่เขาแสดงออกมา จึงเหมาซื้องานของเขามาตลอด จนทุกวันนี้มีงานของเขาไม่ต่ำกว่า 30 องค์ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเท่ากับในหลวงทรงให้โอกาสคนหาเลี้ยงชีพได้ด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่าน

“ส่วนภาพของศิลปินป็อปอาร์ตชื่อดัง โลเล – ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ซึ่งค้นพบเทคนิคนี้จากการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 5 ขณะทรงนั่งทอดปลาทู โดยการใช้สีอะคริลิกรองพื้นชั้นแรก พอสีแห้งปุ๊บสวยเลย ไม่ต้องทำอะไรต่อ พอเป็นในหลวงรัชกาลที่ 9 เขาก็ใช้เทคนิคนี้ ซึ่งคนมองว่าเป็นสีน้ำ แต่ที่จริงเป็นสีอะคริลิกบนผ้าใบ เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงที่ผมรักที่สุดก็ว่าได้ มีความสมบูรณ์ลงตัวโดยไม่ต้องบรรยาย

“พระบรมสาทิสลักษณ์องค์ต่อมา แม้ไม่ใช้เทคนิคพิเศษ แต่ใครเห็นภาพนี้ ส่วนมากต้องถามว่าเป็นภาพถ่ายหรือเปล่า พอบอกว่าเป็นดรออิ้ง ทุกคนจะบอกว่าไม่น่าเชื่อ เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงและพระราชินีเสด็จฯไปทรงเยี่ยมประชาชนทางรถไฟ เป็นรูปดรออิ้งขาวดำ ผลงานของลาภ อำไพรัตน์ แม้จะเป็นภาพที่เคยผ่านตามาบ้าง แต่ที่เคยเห็นไม่ชัดเจนเท่ารูปนี้ ผมชอบพระอิริยาบถที่ทรงทักทายประชาชน เห็นแล้วอบอุ่น สามารถจินตนาการย้อนกลับไปตอนที่พระองค์ท่านเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ได้ เห็นความอบอุ่นและไมตรีของพระองค์ท่าน ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณลาภ จึงรู้ว่างานดรออิ้งมีหลายระดับ แต่งานของเขารูปหนึ่งใช้เวลามาก ใช้พลังเยอะ จึงทำให้งานของเขาละเอียด ซึ่งคนวงการศิลปะหรือคนเขียนดรออิ้งล้วนให้การยอมรับผลงานของเขา เป็นอีกรูปที่ผมประทับใจมาก

“ถ้าย้อนกลับมาดูจะเห็นว่าเป็นเพราะพระบารมีของพระองค์ท่านที่ทรงแผ่ไปถึงประชาชนกลุ่มเล็กๆ ในวงการศิลปะและผมซึ่งเริ่มสนใจงานศิลปะได้มารู้จัก อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เกื้อกูลกัน” ทุกวันนี้พระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงนับร้อยองค์ที่เขามี ได้อัญเชิญไปประดิษฐานในห้องพักภายในรีสอร์ทของเขาทุกหลัง ด้วยเหตุที่ว่า

“ผมชอบคำที่บอกว่า รูปที่มีทุกบ้าน ผมทำรีสอร์ท มีชาวต่างชาติมาพัก จึงอยากให้เขารู้สึกว่าแต่ละห้องเป็นเหมือนบ้านของเขานะ จึงอัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์ไปประดิษฐานไว้ตามอารมณ์ของห้องนั้นๆ สลับหมุนเวียนกันไป และยังมีอีกหลายองค์ที่ยังไม่ได้ใส่กรอบ ถ้าเจอ ผมก็จะขอเก็บไว้อีก โดยไม่ได้สนใจว่าเป็นผลงานของศิลปินคนไหน ขอให้เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านก็พอ

“ยิ่งผมนำพระราชดำรัสคำว่า ‘พอเพียง’ ของพระองค์ท่านมาตีความ ทำให้ผมยิ่งเกิดความศรัทธา พระราชดำรัสนี้ลึกซึ้ง ทำให้เราพบความสุขได้ เงินน้อยหน่อย แต่มีความสุข และนำสิ่งนี้มาทำให้ชีวิตครอบครัวเรามีความสุขด้วย ผมคิดว่าถ้าทุกคนในเมืองไทยยึดหลักนี้ ทุกคนจะเกิดความสมดุล ประเทศเราจะมีความสุขกว่านี้

“ถ้าถามว่าผมรักพระองค์ท่านตรงไหน ก็ตรงที่ทรงเป็นผู้ให้ประเทศไทยมาตลอด ซึ่งผมเชื่อเหมือนกับเพลงที่คุณดี้ – นิติพงษ์ แต่งว่า พระองค์ท่านคือเทวดาที่มีลมหายใจ”

เรื่อง : ดั่มดั๊มพ์ ภาพ : โยธา รัตนเจริญโชค, วรสันต์ ทวีวรรธนะ

คุณเต้ย ณรัฐ นภาวรรณ นักสะสมพระบรมฉายาลักษณ์

ณรัฐ นภาวรรณ
นักสะสมพระบรมฉายาลักษณ์นับพันองค์! 
คุณเต้ย – ณรัฐ นภาวรรณ มีความสนใจและสะสมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากมายนับพันองค์ในทุกขนาด และบางองค์ก็มีมูลค่าสูงเกือบแสนบาท แต่เขาก็ยินดีสะสม

พระบรมฉายาลักษณ์ ของสะสมล้ำค่าของคุณเต้ย

“ผมว่าอาจมีคนสะสมพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงมากกว่าผม เพียงแต่เขาจะเปิดตัวหรือเปล่า ผมเริ่มสะสมจากความชอบนี่ละครับ แต่ผมสะสมรวมราชวงศ์ทั้งหมด ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นพระองค์ไหน ตอนแรกที่ซื้อไม่มีความรู้เลย เพราะไม่มีครูสอน ซื้อของจริงของปลอมก็ไม่รู้ ถ้าชอบและสวยถูกใจก็ซื้อเลย ตอนหลังเริ่มรู้ว่าอันไหนของจริงของปลอม อัดด้วยกระดาษอะไร รู้เรื่องมากขึ้น ก็ไปถูกทิศถูกทาง

“สมัยเด็กผมไม่ได้สนใจเรื่องนี้มาก่อน ก็สนใจศิลปะ แฟชั่นทั่วไป เหมือนเพิ่งมาระลึกชาติได้ตอนอายุ 30 ปี (หัวเราะ) สงสัยเคยเกิดในยุคก่อน เมื่อถึงเวลาจึงต้องหันมาสะสมภาพพวกนี้ ก็สะสมเรื่อยมา จนตอนนี้มีมากนับพันองค์ คิดเป็นจำนวนเงินก็เยอะอยู่ ต้องบอกว่าผมโชคดีที่ทำกิจการส่งออกของครอบครัว และคุณพ่อคุณแม่ก็สนับสนุน ตอนเศรษฐกิจรุ่งๆ กิจการที่บ้านปีหนึ่ง 365 วัน ทำงานกัน 364 วันบวกโอที หยุดวันแรงงานวันเดียว ทำไม่ทันจริงๆ มีออร์เดอร์ล้นข้ามปี แต่ช่วงหลังซบเซาลงมาก ผมก็ทำธุรกิจขายหนังสือเก่าออนไลน์เสริม ชื่อ ‘ร้านหนังสือลุงโจง’”

คุณเต้ยเล่าว่า พระบรมฉายาลักษณ์องค์แรกที่เขาซื้อมาสะสมนั้น ไม่ใช่ในหลวงรัชกาลปัจจุบัน “เริ่มจากว่าวันนั้นไปเดินแถวตลาดคลองถม แล้วเห็นภาพถ่ายโบราณพวกนี้วางอยู่ มีความรู้สึกว่าอยากได้ ภาพแรกที่ซื้อคือพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 7 ทรงชุดนายทหาร ราคาสัก 3,000 บาท เป็นภาพที่ทำขึ้นใหม่ ไม่ใช่ภาพออริจินัล ซื้อโดยไม่มีความรู้ จนตอนหลังรู้มากขึ้นจึงซื้อมาเรื่อยๆ และเน้นที่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 8

พระบรมฉายาลักษณ์ เหรียญเดี่ยว
(ซ้ายบน) พระบรมฉายาลักษณ์ที่คุณเต้ยซื้อมาในราคาสูงที่สุดถึง 70,000 บาท (ขวาบน) พระบรมฉายาลักษณ์ “เหรียญเดี่ยว” คุณเต้ยซื้อมาในราคา 35,000 บาท (ล่างซ้ายและขวา) พระบรมฉายาลักษณ์องค์เดียวกัน แต่องค์ขวาใช้เทคนิคการกลับฟิล์ม

พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความคมชัด สวยงาม และเป็นทางการ

“สำหรับในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเพราะผมเรียนรู้มาว่าพระองค์ท่านทรงทำคุณประโยชน์ให้แผ่นดินมากมาย และผมก็เกิดในรัชสมัย ถ้าถามถึงความประทับใจส่วนตัว ผมชอบพระราชจริยวัตรในสิ่งที่ทรงทำให้ประชาชนอยู่แล้ว ทรงเปรียบเสมือนพ่อ เหมือนพระ ทรงทำทุกอย่างเพื่อคนไทย ไม่เคยเห็นว่าทรงมีวันหยุด จนช่วงหลังมีพระชนมพรรษามากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะไม่เสด็จออกให้ประชาชนเห็น ก็คงเหมือนพ่อเราที่อายุ 70 – 80 ปีแล้ว จะให้ท่านออกมาเดินทำงานให้เห็นก็คงไม่ใช่ แม้จะทรงพระประชวรอยู่ แต่พระองค์ท่านก็ยังทรงงานอยู่ตลอด นี่เป็นความประทับใจส่วนตัว แล้วในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงทำประโยชน์สารพัด จึงเหมือนว่าผมโฟกัสไปที่พระราชกรณียกิจ และมีอินเนอร์ว่า พระองค์ท่านทรงทำเพื่อคนไทยมากมาย

“ตอนแรกผมเลือกซื้อจากที่เป็นพอร์เทรตก่อน เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีความคมชัด สวยงาม และเป็นทางการ ตอนหลังพออินมากขึ้น บางช่วงก็ไม่มีภาพจะให้ซื้อ จึงขยายขอบข่ายเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ในพระอิริยาบถต่างๆ ความจริงพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตามบ้าน ตามสถานที่ต่างๆ มีไม่กี่แบบหรอกครับ เวลาจะเลือกซื้อก็ต้องดูองค์รวม ถ้าจะดูว่าเป็นพระบรมรูปเก่าแค่ไหน ก็ต้องเปิดกรอบออกมาเพื่อดูเนื้อกระดาษ เพราะทุกวันนี้มีการทำปลอมด้วยการสแกนระบบดิจิทัล แล้วมีวิธีปรุงให้ดูเก่า หากรอบเก่าโบราณๆ ใส่มาหลอกขายว่าเป็นของเก่าก็เยอะ ซึ่งวิธีที่จะรู้ว่าเก่าจริงไหมคือดูเนื้อกระดาษของภาพ เท่าที่ผมซื้อมาก็ไม่ถึงกับได้เปิดดูเสมอไป ต้องใช้ความเชื่อใจกันในการซื้อ เพราะบางทีก็เปิดไม่ได้หรอก เจ้าของเขาไม่ยอม

“พระบรมฉายาลักษณ์ที่ผมซื้อมาทั้งหมดมีตั้งแต่ราคาหลักร้อยถึงเฉียดแสน ทั้งขนาดโปสต์การ์ดที่ส่วนใหญ่จัดพิมพ์โดยสภากาชาดไทย เพื่อนำออกจำหน่ายหารายได้เข้าการกุศลในสมัยก่อน จนถึงขนาด 20 × 24 นิ้ว ลักษณะเป็นภาพใหญ่ที่ติดตามบ้าน สถานที่ราชการ หรือสำนักงานเอกชน พระบรมฉายาลักษณ์องค์ที่แพงที่สุดคือราคา 70,000 บาท เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงฉลองพระองค์ทหารเรือ แม้จะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่คุ้นตากัน แต่เหตุที่มีราคาแพงเพราะความคมชัด ความเก่า แต่สภาพยังสมบูรณ์ ถ้าจะหาพระบรมฉายาลักษณ์เดียวกันนี้ที่มีความคมชัดกว่าที่ผมมีอยู่จริงๆ คงหาได้ยาก

“อีกภาพที่มีราคารองลงมา ผมซื้อในราคา 35,000 บาท ได้มาจากร้านขายข้าวแกงแถวบ้านผมนี่ละ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงประดับเหรียญอิสริยาภรณ์เพียงเหรียญเดียว ในวงการเรียกว่า ‘ภาพเหรียญเดี่ยว’ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงฉายพระรูปขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช พอเสด็จขึ้นครองราชย์ ทางสำนักพระราชวังก็ใช้พระบรมฉายาลักษณ์องค์นี้เป็นทางการแทน เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่เป็นทางการที่เก่าที่สุด หลังจากนั้นก็จะเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงประดับเหรียญเพิ่มเป็นสองเหรียญ สามเหรียญ ตอนไปขอซื้อภาพนี้ทีแรกภรรยาเจ้าของร้านไม่ยอมขาย จนผมได้เจอตัวเจ้าของร้าน เขาบอกผมว่าถ้าจะซื้อไปขายต่อ เขาไม่ขาย ผมบอกว่าจะซื้อมาเก็บไว้เพื่อสะสม และสักวันหนึ่งจะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เขาก็ยินดีขายให้เลย ซึ่งราคาขายนี่ เราสามารถสำรวจในตลาดของวงการนี้ได้ว่าน่าจะประมาณเท่าไร แต่เราต้องพิจารณาเองว่าคุ้มและชอบมากพอที่จะจ่ายเงินซื้อหรือเปล่า ซึ่งตอนนี้ราคาโดดขึ้นมามาก เมื่อเปรียบเทียบกับสิบปีก่อน ราคาขึ้นมาเกือบ 3 เท่า กับอีกเรื่องหนึ่งคือไม่มีของให้ซื้อด้วย เพราะถ้าไปอยู่ในมือของนักสะสมที่มีเงิน โอกาสปล่อยของออกมาก็ยาก แต่ถ้าอยู่ตามบ้านเก่า โอกาสแบบนั้นจะออกมาได้ง่ายกว่า”

“ทุกวันนี้ผมมีอยู่เป็นพันองค์นะครับ บางทีก็ซื้อมาซ้ำกัน ไม่ใช่ว่าลืม แต่คงเป็นเสน่ห์ของภาพเก่า อย่างตอนแรกที่ซื้อมา บางองค์มีรอยนิดหน่อย ไม่สวยงามสมบูรณ์ พอไปเจออีกองค์สภาพดีกว่านิดหนึ่งก็ซื้อ พอเจอองค์ที่สามสภาพดีกว่าก็ซื้ออีก องค์ที่สี่สภาพไม่ดีเลย แต่เขาขายราคาถูก ก็ซื้ออีก ซึ่งทุกองค์ที่ผมมี ผมไม่เคยสั่งให้ไปปลดมาจากฝาบ้านหรือสถานที่ไหนของใครมาขายผมนะครับ” (หัวเราะ)

สำหรับพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีอยู่มากมายนั้น คุณเต้ยมีความฝันไว้ว่า สักวันหนึ่งคงจะมีโอกาสจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ “พระบรมฉายาลักษณ์ที่มีตอนนี้ ผมยังไม่ได้จัดเป็นหมวดหมู่ เพราะยังไม่มีเวลา คิดว่าเท่าที่มีอยู่ก็มากพอจะจัดเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ แต่ต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะต้องบำรุงรักษา ปรับปรุงอีกหลายอย่าง ซึ่งผมยังไม่พร้อม และอยากใช้กำลังทรัพย์ของตัวเองมากกว่า ผมอยากทำให้คนเข้าชมได้เรียนรู้ อยากให้เด็กรุ่นใหม่เห็นว่าพระบรมฉายาลักษณ์สมัยก่อนเป็นอย่างไร กระดาษที่ใช้อัดรูปเมื่อก่อนเป็นอย่างไร แต่ถ้าทำจริงๆ ก็คงไม่ทำเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต มีการเก็บค่าเข้าชมมากมาย เอาแค่ช่วยเป็นค่าน้ำค่าไฟก็พอ ถามว่าฐานะผมลำบากไหม ก็ไม่ลำบาก แต่ไม่ใช่รวยล้นฟ้าขนาดนั้น

ผมว่าเป็นความสุขที่ได้แบ่งปัน บางคนอยากเห็น อยากมี แต่ไม่มีโอกาส ก็ถือว่าได้แบ่งปันให้ชมกัน

ต่อหน้า 2
คลิกหน้าถัดไปด้านล่าง

แต่งไว้ทุกข์อย่างไร สุภาพ เหมาะสม

แต่งไว้ทุกข์อย่างไร เหมาะสม สุภาพ ตอบคำถามทุกข้อที่เคยสงสัย

แต่งไว้ทุกข์อย่างไร สุภาพ เหมาะสม
แต่งไว้ทุกข์อย่างไร สุภาพ เหมาะสม

แต่งไว้ทุกข์อย่างไร ในภาวะที่หัวใจคนไทยทุกดวงเศร้าโศก การสูญเสียครั้งนี้ยิ่งใหญ่เกินว่าที่คนไทยจะละเลยถึงความเหมาะสม จุดแห่งความเหมาะสมไม่ได้แสดงออกเพียงแค่การแต่งกายสีดำ แต่คือการเลือกชุดที่สุภาพและถูกกาลเทศะ 

ขอเล่าย้อนกลับไปตามธรรมเนียมการแต่งกายไว้ทุกข์ของไทย สีของเสื้อผ้าจะเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียชีวิตและผู้แต่งกาย

  • สีดำ สำหรับผู้ที่แก่กว่าหรือมีศักดิ์สูงกว่าผู้ตาย
  • สีขาว สำหรับผู้ที่อ่อนกว่าหรือมีศักดิ์ต่ำกว่าผู้ตาย
  • สีม่วงแก่หรือสีน้ำเงิน สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นญาติเกี่ยวดองกับผู้ตาย

โดยในการพระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ราษฎรจะต้องนุ่งขาวทั้งหมดเพื่อไว้ทุกข์ ต่อมาวัฒนธรรมสากลแบบตะวันตกเข้ามามีบทบาท การแต่งกายไว้ทุกข์จึงเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีขาวดำ

ถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนมีข้อสงสัยว่า แต่งไว้ทุกข์อย่างไร จึงขอลิสต์รายละเอียดการแต่งกายที่เหมาะสม ไขข้อข้องใจจากกระทู้คำถามมากมายที่คราคร่ำในโลกโซเชียลตอนนี้

สีสุภาพ เหมาะสม ตรงกาลเทศะ

การแต่งกายไว้ทุกข์ด้วยชุดสีดำล้วน

การใส่สีดำล้วนสุภาพที่สุด ในกรณีไม่มีสีดำล้วน ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำเป็นพื้นฐาน คือมีสีดำในเครื่องแต่งกาย โดยสามารถใช้สีขาวหรือเทามาแซมได้ เช่น สีดำขาว หรือสีดำเทา

“ตามประเพณีไทย การแต่งกายของพสกนิกรไทยเพื่อไว้อาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของพระบรมวงศานุวงศ์นั้น จะต้องสวมเสื้อผ้าสีดำเป็นพื้นฐาน ใช้สีขาวและสีเทาสลับได้ เสื้อผ้าควรออกแบบอย่างสุภาพ ไม่มีลวดลาย” ซึ่งคุณธงทอง จันทรางศุ ได้เคยแนะนำไว้ในช่วงงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สามารถใช้สีขาวหรือสีเทามาแซมได้

สามารถใช้สีขาวหรือสีเทามาแซมได้

 

การแต่งกายเพื่อร่วมถวายสักการะพระบรมศพ

แต่งไว้ทุกข์อย่างไร เพื่อร่วมถวายสักการะพระบรมศพ

แต่งไว้ทุกข์อย่างไร เพื่อร่วมถวายสักการะพระบรมศพ

แบบสุภาพ สีดำล้วน ผู้หญิงควรสวมใส่กระโปรงหรือเดรสยาวคลุมเข่า ไม่รัดรูป เสื้อไม่แขนกุด กางเกงสีดำแบบสุภาพ ไม่รัดรูปหรือเลกกิ้ง ถ้าสวมสูทให้ใช้สีดำ รองเท้าแคชชูส์หุ้มส้นสีดำ

ผู้ชายควรสวมใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว เน็คไทดำ กางเกงดำ หากจะสวมเสื้อสูทหรือเสื้อคลุมให้ใช้สีดำ รองเท้าและถุงเท้าสีดำ

DOs ชุดสีดำสุภาพควรใส่ มีติดบ้านไว้ก็ไม่เสียหลาย

แต่งไว้ทุกข์อย่างไร กางเกงขายาว เนื้อผ้าแบบสุภาพทั่วไป

แต่งไว้ทุกข์อย่างไร กางเกงขายาวและกระโปรงคลุมเข่าสีดำ แบบเรียบ

แต่งไว้ทุกข์อย่างไร เดรสและกระโปรงยาวคลุมเข่าสีดำ แบบเรียบ

แต่งไว้ทุกข์อย่างไร เสื้อสีดำมีแขน แบบคอเสื้อสุภาพและไม่ลึกจนเกินไป

แต่งไว้ทุกข์อย่างไร เสื้อมีแขนหรือเสื้อเบลาส์สีดำ เครื่องประดับชิ้นเล็ก แบบสุภาพ

  • เสื้อมีแขน แบบคอเสื้อสุภาพ ไม่ลึกจนเกินไป คอปิดหรือเสื้อคอปก หรือเสื้อเบลาส์สีดำ
  • เดรสและกระโปรงมีความยาวคลุมเข่า แบบเรียบ
  • กางเกงขายาว เนื้อผ้าแบบสุภาพทั่วไป
  • เครื่องประดับชิ้นเล็กแบบสุภาพ

DON’Ts ชุดควรเลี่ยง เพื่อให้เกียรติ แสดงถึงความเคารพ

ควรหลีกเลี่ยงเสื้อแขนกุด คอคว้านลึก หรือเปิดไหล่

หลีกเลี่ยงเดรสและกระโปรงสั้นเหนือเข่า แต่งพู่ ระบายชั้นฟูฟ่อง เครื่องประดับดีไซน์แฟชั่นจ๋า

เลี่ยงเดรสสั้นเหนือเข่า รัดรูป คอคว้านลึก เปิดไหล่ หรือเว้าหลัง

เลี่ยงกระโปรงสั้นเหนือเข่า รัดรูป ดีไซน์หวือหวา หรือเสื้อคอคว้านลึก

  • เสื้อรัดรูป เสื้อแขนกุด จนถึงเสื้อคอคว้านลึกหรือเปิดไหล่ เกาะอก สายเดี่ยว เอวลอย เปิดเว้าหลัง
  • เดรสแขนกุด เดรสสั้นเหนือเข่า รัดรูป คอคว้านลึก เปิดไหล่ หรือเว้าหลัง
  • กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้นเหนือเข่า
  • ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ เดรส กางเกง หรือกระโปรง ควรเลี่ยงเนื้อผ้าและแบบที่หวือหวา เช่น ผ้าซีทรู การประดับปักลายเลื่อม กลิตเตอร์ แต่งพู่ ระบายชั้นฟูฟ่อง
  • การประโคมใส่เครื่องประดับชิ้นดีไซน์แฟชั่นจ๋า หวือหวาจนเกินงาม แม้จะอยู่ในโทนสีดำก็ตาม

มีชุดดำแบบแขนกุดก็สุภาพได้  

หากมีแต่เสื้อและเดรสแขนกุด ใช้เบลเซอร์หรือเสื้อสูทสีดำมาสวมทับก็ได้

หากมีแต่เสื้อและเดรสแขนกุด ใช้เบลเซอร์หรือเสื้อสูทสีดำมาสวมทับก็ได้

เสื้อแขนกุด เดรสแขนกุดไม่เรียบร้อย แนะนำให้หาแจ็กเก็ตแบบสุภาพ คือ Blazer หรือเสื้อสูทสีดำมาสวมทับ ยอมลงทุนซื้อแบบเนื้อผ้าและคัตติ้งดีสักตัว เพราะสามารถใส่ในลุคที่ต้องการความสุภาพและลุคโปรเฟสชันนัล ตั้งแต่สมัครงาน ประชุมสำคัญ จนถึงงานศพ

บรรดาแจ็กเก็ตหรือเสื้อคลุมทั้งหลายในโทนสีดำก็ใช้ได้เช่นกัน แต่ระดับความเป็นทางการจะลดลงมา  อีกทางเลือกคือ ใช้ผ้าพันคอหรือผ้าคลุมไหล่โทนสีดำคลุม

คุณแม่ตั้งท้องทำอย่างไร

สำหรับคุณแม่ท้องใช้ผ้าพันคอหรือเสื้อคลุมสีดำสวมทับชุดคลุมท้อง

ชุดคลุมท้องสีดำไม่ค่อยเป็นที่นิยม จึงหาได้ยาก จุดนี้คุณแม่ไม่ต้องกังวลไป อาจจะใช้ผ้าพันคอสีดำหรือเสื้อคลุมสีดำมาสวมทับ กลัดโบหรือริบบิ้นสีดำ (Mourning Ribbon) ไว้ที่หน้าอกหรือแขนเสื้อซ้ายเหนือข้อศอกก็ได้เช่นกัน

เสื้อสีดำไม่ค่อยมี เสื้อสีขาวหรือสีดำมีไม่ครบวัน ใส่กางเกงยีนได้ไหม ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

เลือกโทนสีเข้มเป็นหลัก สีกรมท่า สีเทา สีน้ำตาลเข้ม เลี่ยงสีฉูดฉาด ขอให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสม ในกรณีที่จะสลับใส่กางเกงยีน ขอให้มั่นใจว่าเป็นแบบไม่ฟอกลายหรือแต่งขาด เลือกในโทนสีดำหรือสีน้ำเงินเข้ม โดยเสื้อท่อนบนก็ยังควรอยู่ในโทนสีสุภาพ #ติดริบบิ้นดำไว้ที่หน้าอกหรือแขนเสื้อซ้ายเหนือข้อศอก

เจตนาอยู่เหนือปัจจัย ในช่วงเวลานี้หัวใจคนไทยทุกดวงควรส่งกำลังใจให้กันไม่ใช่หรือ

พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 เมษายน 2521 ความว่า “คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไปและเดี๋ยวนี้ ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติ ประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้”

หวังว่าคำสอนของพ่อจะทำให้หัวใจดวงอื่นที่ถูกดึงด้วยปัจจัยกลับมากอดแน่นๆ กับหัวใจดวงอื่นเหมือนเดิม เพราะเราเป็นลูกของพ่อคนเดียวกัน 

PHOTO : pinterest.com, stylebop.com, barneys.com, whowhatwear.com, polyvore.com, shopstyle.com, uniqlo.com/th, pandorathailand

รวมภาพประทับใจนางฟ้าแห่งภูฏาน พระจริยวัตรอันงดงามหมดจด ไม่ถือพระองค์ แม้ทรงเป็นสมเด็จพระราชินี

ข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น นอกจากจะนำความเศร้าโศกเสียใจมายังชาวไทยทั้งประเทศแล้ว อีกฟากฝั่งของประเทศเล็กๆอย่างราชอาณาจักรภูฏาน ก็ส่งสารแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังประเทศไทยทันที อีกทั้งสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ก็มีพระราชบัญชาปิดราชการภายในประเทศ 7 วัน พร้อมกับสวดมนต์เพื่อถวายความอาลัย

queen-phutan-9

และยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยซาบซึ้งเป็นอย่างมาก เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏานเสด็จเยือนประเทศไทยพร้อมกับสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2559 เพื่อเข้ามาถวายความเคารพต่อหน้าพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งสองพระองค์ยังคงมีพระจริยวัตรอันงดงาม ไม่ถือพระองค์แต่อย่างใด แต่กลับยกมือไหว้ประชาชนคนไทยที่มาร่วมรับเสด็จในวันนั้นด้วย

queen-phutan-7

ทั้งนี้สมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก พระองค์ก็เป็นหญิงสาวที่มีความสง่างามอย่างมาก อีกทั้งพระจริยวัตรก็สมดั่งเป็นสมเด็จพระราชินีเคียงคู่กับสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน ทรงอยู่ง่ายและติดดินอย่างมาก ซึ่งหากใครได้เคยเห็นพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อประชาชนชาวภูฏาน ก็จะเห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเป็นนางฟ้าแห่งภูฏานโดยแท้

queen-phutan-3

queen-phutan-4

queen-phutan-5

queen-phutan-6

และกับการเสด็จเยือนประเทศครั้งนี้ก็ยิ่งสร้างความประทับใจให้กับพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างมาก หลังจากที่พระองค์เสด็จมาถวายความเคารพพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรียบร้อยแล้ว พระองค์เสด็จมาซื้อของให้กับพระราชโอรสเยี่ยงสามัญชนคนธรรมดา โดยมีผู้ติดตามเพียงคนเดียว ซึ่งในเฟซบุ๊กของหญิงไทยคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ก็ได้ร่วมฉายพระรูป พร้อมกับโพสต์ลงอินสตาแกรมและพิมพ์ข้อความถึงความประทับใจครั้งนี้ด้วยว่า

queen-phutan-8

ภาพ: IG nalinympn

“นับเป็นบุญสูงสุดของข้าพระพุทธเจ้าและครอบครัว ที่ได้เฝ้าท่านใกล้ชิดเป็นครั้งที่สอง ทรงเสด็จมาซื้อของให้เจ้าชายน้อย ทรงพระดำเนินปะปนกับสามัญชนทั่วไปโดยมีคนติดตามเพียง 1 คน จนทำให้คนแถวๆนั้นไม่ได้สังเกตว่าพระองค์เป็นใคร แต่เรากับแม่จำได้เลยเดินเข้าไปก้มกราบ ทรงดึงแม่ให้ลุกขึ้นแล้วจับมือ แม่ร้องไห้ ท่านเข้ามากอด แล้วตรัสว่า I’m so sorry for your loss. Our country is very sad. หลังจากนั้นก็เอื้อมมือมาจับมือเรา เราน้ำตาไหล ท่านรับสั่งให้ดูแลแม่ให้ดีๆ และยกพระหัตถ์ไหว้แม่ด้วย…ปลื้มใจจนเกินจะหาคำใดๆมาพูดได้ ทรงเป็นถึงพระราชินี แต่ไม่ถือพระองค์เลยแม้แต่นิดเดียว ทรงสามารถซื้อของแบรนด์เนมได้เท่าที่ต้องการ แต่กลับเลือกแบรนด์ธรรมดาๆ…เราเชื่อว่าสมเด็จพระราชาจิกมีและพระองค์ท่านจะเป็น The Greatest King and The Greatest Queen และทรงสอนเราด้วยการกระทำว่าท่านกำลังดำเนินรอยตามปรัชญาพอเพียงอย่างที่พ่อหลวงของเราได้สอนไว้…สัญญากับตัวเองว่าจะต้องไปเที่ยวประเทศภูฏานให้ได้สักครั้งในชีวิต”

 

 

เรื่องเล่าตามรอยเท้าพ่อ

เรื่องเล่าตามรอยเท้าพ่อ จากอดีตนายแพทย์ที่ตามเสด็จเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่เหนือจรดใต้

เรื่องเล่าตามรอยเท้าพ่อ
เรื่องเล่าตามรอยเท้าพ่อ

แพรวได้รับเกียรติจาก “พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา” อดีตนายแพทย์ที่ได้โอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ไปยังพื้นที่ทุรกันดาร ตั้งแต่เหนือจรดใต้ของประเทศไทย เป็นเรื่องเล่าทรงคุณค่าที่แพรวอยากให้คนไทยทุกคนได้อ่าน

พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา เล่าว่า เริ่มทำงานที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าปี พ.ศ. 2516 โดยเป็นทั้งแพทย์และครูสอนนักศึกษา พอทำงานที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้ 1 ปี จากนั้นได้ทราบข่าวอันเป็นมงคลสูงสุดของชีวิตว่า นายแพทย์ประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พลโท นายแพทย์ หม่อมหลวงจินดา สนิทวงศ์ (ท่านน้าของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ) ต้องการแพทย์ผู้ช่วยในการตามเสด็จ เวลาเสด็จฯไปทรงงานทั่วประเทศ ท่านอยากได้ผู้ช่วยผลัดละ 2 คน ทำงานผลัดละ 14 วัน ตอนทราบข่าวว่าได้รับเลือก ผมรู้สึกภาคภูมิใจมาก เป็นโอกาสวิเศษสุดของชีวิตที่ได้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผมยังจำได้ไม่ลืมเกี่ยวกับข้อคิดสำหรับแพทย์ที่ตามเสด็จ มีทั้งหมด 4 ข้อ คือ หนึ่ง มีความรู้ความสามารถในวิชาการนั้นๆ สอง จงรักภักดีต่อราชวงศ์ สาม สามารถเข้ากับสังคมในพระราชสำนักได้ สี่ มีความเต็มใจ เพราะงานนี้ไม่มีการบังคับ ซึ่งผมก็รับคำด้วยความเต็มใจ

พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา
พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์ตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9

ในครั้งนั้นมีทีมแพทย์ถึง 4 ผลัดที่สลับสับเปลี่ยนกันทำงาน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์เดียวที่ทรงงานตลอดเวลา โดยจะทรงงาน 3 วัน พัก 1 วัน ทริปนั้นรวมเวลาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2517 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2518 พระองค์เสด็จฯไปหลายแห่ง ทั้งเชียงใหม่ แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก เป็นการเสด็จฯทั้งทางรถยนต์ เฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบิน ในแต่ละวันกว่าจะเสด็จฯกลับถึงพระตำหนักก็เป็นเวลา 2 – 3 ทุ่ม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดการขับรถยนต์มาก บ่อยครั้งพระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปทรงงานตามพื้นที่ทุรกันดารด้วยพระองค์เอง ครั้งที่ผมจำได้ไม่ลืมเลยคือตอนเสด็จฯไปภาคใต้ ตอนนั้นผมอยู่ในขบวนรถตามเสด็จประมาณคันที่ 3 ซึ่งระหว่างทางสะพานข้ามคลองเกิดชำรุด คนที่อยู่ในรถคันเดียวกันกับผมยังคุยกันว่าจะไปต่ออย่างไร แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งลุยน้ำข้ามคลองไปฝั่งตรงข้าม พอทุกคนเห็นอย่างนั้นจึงต้องลุยตาม (หัวเราะ) โอ้โฮ…น้ำไหลโครมเข้ามาข้างในรถ ถ้าเป็นเรื่องช่วยเหลือชาวบ้าน พระองค์ท่านถึงไหนถึงกันจริงๆ ถ้าตั้งพระทัยแน่แล้วว่าวันนี้จะทรงงานที่ไหน จะทรงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่

พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา เล่าถึงการตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9

หลายครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปทรงงานด้วยพระองค์เองจากพระตำหนักไปหลายพื้นที่ ทั้งในจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี บางแห่งมีการเปิดเต็นท์รักษาประชาชนที่เจ็บป่วย เชื่อไหมว่าบางเคสผมเห็นแล้วตกใจมาก อย่างเด็กคนหนึ่งเป็นฝีที่บั้นท้ายจนผิวหนังเหี่ยวย่น หนองบวมเป่ง ผมบอกเด็กคนนั้นว่าอดทนหน่อยนะ จากนั้นก็กรีดหนองแตกกระเด็นมาโดนหน้าผม (หัวเราะ) สิ่งที่อยากบอกคือ คนต่างจังหวัดในสมัยนั้นลำบากมาก โรงพยาบาลหรืออนามัยก็ไม่ได้มีมากเหมือนวันนี้ ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไม่เสด็จฯไปทรงช่วยเหลือ ไม่รู้ว่าหลายพื้นที่ต้องอยู่ในสภาพนั้นอีกนานแค่ไหน เหมือนเจ้าเด็กน้อยคนนั้น พอรักษาเสร็จก็ยิ้มแป้นกลับบ้าน แล้วทุกครั้งที่คณะแพทย์ต้องรักษาชาวบ้านในพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระเมตตาต่อพวกเรามาก อย่างครั้งหนึ่งขณะที่ผมกำลังรักษาคนไข้อยู่ แต่ถึงเวลาที่พระองค์ต้องเสด็จฯกลับพระตำหนักแล้ว แต่เมื่อเห็นคณะแพทย์ยังทำงาน จึงรับสั่งถามผมว่า “อีกนานไหมหมอ” พอผมตอบว่า เหลือคนไข้อีก 3 คนพระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงพยักพระพักตร์ แล้วทรงพระดำเนินไปคุยกับผู้ว่าราชการต่อ พระองค์ทรงรอให้แพทย์ทุกคนทำงานจนเสร็จสมบูรณ์ แล้วจึงออกเดินทางกลับพระตำหนักพร้อมกัน ทั้งที่ความจริงแล้วจะเสด็จฯกลับก่อนก็ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้รับพระเมตตาอย่างสูงคือ ถ้าพื้นที่บางแห่งมีคนไข้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ เช่น ไทรอยด์ หรือเนื้องอกที่เต้านม แบบนี้ต้องส่งไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะนัดให้คนไข้ไปเวลาเช้ามากๆ เพราะช่วงบ่ายต้องตามเสด็จไปทรงงานต่อ แต่ความที่บางวันมีคนไข้ 3 – 4 เคส กว่าจะกลับถึงพระตำหนักก็บ่าย 2 โมง หิวข้าวซ่กเลย แต่นั่นเป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ต้องเสด็จฯออกไปทรงงานแล้ว พอความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงรับสั่งว่า อย่าเพิ่งให้หมอชูฉัตรตามเสด็จ ให้พักกินข้าวก่อน ประมาณ 3 โมงเราค่อยออกไป

คุณหมอชูฉัตรครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผมยังจำเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่สกลนครได้ ตอนที่พระองค์เสด็จฯถึง มีราษฎรรอรับเสด็จสองข้างทางยาวเหยียดเลย จู่ๆ มีชายคนหนึ่งกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า “ขอสตางค์พระเจ้าค่ะ” พวกเราที่ตามเสด็จก็ตกใจกันใหญ่ แต่พระองค์ทรงถามชายคนนั้นว่า “นายชื่ออะไร ทำอาชีพอะไร ทำไมจึงไม่มีเงิน เป็นคนของหมู่บ้านไหน อำเภออะไร” หลังจากนั้นรับสั่งให้ตามผู้ใหญ่บ้านกับกำนันมาพบ กลายเป็นเรื่องใหญ่โต พระองค์ไม่ได้ทรงเรียกคนเหล่านั้นมาต่อว่านะครับ แต่ทรงถามด้วยความเป็นห่วงว่า ทำไมชายคนนี้ไม่มีเงิน ถ้าเขามีอาชีพ ต้องมีรายได้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นห่วงราษฎรและทรงละเอียดมาก ทรงไม่ปล่อยผ่านแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อย พระองค์ตั้งพระทัยช่วยเหลือราษฎรให้มากที่สุดเท่าที่ทรงทำได้

อีกครั้งที่ภาคใต้ ผมจำไม่ได้ว่าจังหวัดอะไร มีราษฎรมารับเสด็จกันเนืองแน่น จนผมแอบคิดไม่ได้ว่าคนทั้งเมืองมาอยู่ที่นี่กันหมดหรือเปล่า ชาวบ้านหลายคนเข้ามากราบ ขอจับพระหัตถ์ไปกอด จับพระบาทลูบไปมา ไม่ว่าราษฎรจะแสดงความรู้สึกจงรักภักดีเนิ่นนานแค่ไหนก็รับสั่งไม่ให้กีดกันเวลาราษฎรเข้าเฝ้าฯ กระทั่งครั้งหนึ่งความที่มีชาวบ้านจำนวนมาก เล็บของสักคนข่วนโดนพระหัตถ์ขวาของพระองค์จนพระโลหิตไหล ผมเห็นพระองค์ทรงสะดุ้ง แต่ไม่ได้รับสั่งว่าอะไร เพียงแต่ทรงพระดำเนินมาหาผม เพื่อขอให้ใช้แอลกอฮอล์ล้างแผลและติดปลาสเตอร์ยาที่พระหัตถ์ หลังจากนั้นจึงทรงพระดำเนินกลับไปหาชาวบ้านต่ออีกเป็นเวลานาน

พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา ทำแผลให้ในหลวงรัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงขอให้คุณหมอชูฉัตรใช้แอลกอฮอล์ล้างแผลและติดปลาสเตอร์ยาที่พระหัตถ์

พอเล่าถึงเรื่องนี้ ทำให้ผมไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่าเพราะเหตุใดหลายปีที่ผ่านมานี้ เวลามีข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯมาประทับที่โรงพยาบาลศิริราช หรือวันที่เสด็จฯกลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จึงมีผู้คนมากมายไปนอนค้างคืนที่โรงพยาบาล เพื่อรอเข้าเฝ้าฯและถวายพระพรทรงพระเจริญ เพราะหลายสิบปีก่อนหน้านั้น พระองค์ทรงทำหลายสิ่งอย่างเพื่อประเทศไทยและคนไทย พระองค์ทรงมีแต่ให้อย่างแท้จริง

ที่มา : คอลัมน์สัมภาษณ์ นิตยสารแพรว  ฉบับที่ 871

keyboard_arrow_up