‘สุขพอที่พ่อสอน’ แอพพลิเคชั่นที่รวบรวมคำสอนของในหลวง

สวัสดีค่ะ อย่างที่ทราบกันว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่คนไทยทั้งประเทศกำลังโศกเศร้าเสียใจต่อการจากไปของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวงของเรา แต่การจมปรักเสียใจอยู่ตลอดเวลา ก็มีแต่จะถอยหลังเข้าคลอง ดังนั้นจุ๊เลยอยากแนะนำแอปพลิเคชั่น สุขพอที่พ่อสอน เพื่อแสดงความเสียใจ และเป็นประโยชน์แก่ตัวเราค่ะ

1

แอพพลิเคชั่นนี้ชื่อว่า “สุขพอที่พ่อสอน”  ที่รวบรวมพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของในหลวง เป็นแหล่งข้อมูลให้ประชาชนและผู้สนใจสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกต้องและได้รับพระบรมราชานุญาติอย่างถูกต้อง โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีผ่านอุปกรณ์ได้ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์เลยค่ะ
2

หลังจากที่จุ๊ดวน์โหลดมาครั้งแรก จะเห็นว่าแอพพลิเคชั่น “สุขพอที่พ่อสอน” แบ่งได้เป็น 4 หมวดหมู่ด้วยกัน ประกอบไปด้วย

พระราชดำรัส

3

กดเมนูเพื่อเลือกพระราชดำรัส หรือพระบรมราโชวาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 9 หมวด ได้แก่ การศึกษา การพัฒนา ความพอเพียง รู้จักสามัคคี ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ประโยชน์ส่วนรวม คุณธรรมจริยธรรม ความสุข และความปรารถนาดี ความยุติธรรม

พระบรมฉายาลักษณ์

4

ผู้ใช้สามารถเลือกพระบรมฉายาลักษณ์และภาพพระราชกรณียกิจ ซึ่งสำนักงานราชเลขาธิการได้ขอพระราชทานมาจัดทำระบบเพื่อแอพพลิเคชั่นดังกล่าว เพื่อประกอบกับข้อความพระราชดำรัสที่เลือก

เลือกข้อความ

5

คุณสามารถเลือกพระราชดำรัส หรือพระบรมราโชวาท ที่ต้องการแบ่งปัน หรือเก็บไว้ ซึ่งในแอพพลิเคชั่นนี้มีให้เลือกถึง 88 พระราชดำรัสเลยล่ะค่ะ

ส่งต่อ

6

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนข้างต้น ผู้ใช้สามารถกดเมนูแบ่งปันไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ก อีเมล หรือบันทึกลงเครื่อง เพื่อเก็บไว้เองก็ได้ค่ะ

แค่ศึกษาและปฏิบัติตามคำที่พ่อสอน แค่นี้ก็ท่านสุขใจแล้วค่ะ

ติดตามความเคลื่อนไหวของจุ๊ได้ที่ www.iamsorada.com

บทเพลงพระราชนิพนธ์

ไพเราะจับใจ รวม 48 บทเพลงพระราชนิพนธ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9

Alternative Textaccount_circle
บทเพลงพระราชนิพนธ์
บทเพลงพระราชนิพนธ์

เพลงพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชปรีชาญาณในเรื่องของดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช รวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี 5 เพลง คือ “Echo“, “Still on My Mind“, “Old-Fashioned Melody“, “No Moon” และ “Dream Island

ในยุคแรก หลังจากที่เพลงพระราชนิพนธ์มีทำนองและคำร้องสมบูรณ์แล้ว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการหรือวงสุนทราภรณ์ เพื่อให้แพร่หลายทั่วไป ปรากฏว่าหลายเพลงกลายเป็นเพลงยอดนิยมทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ระยะหลังพระองค์มีพระราชกรณียกิจมากมาย ทำให้พระองค์ทรงไม่มีเวลาที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ๆออกมา เพลงสุดท้ายที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ออกมาคือเพลง “เมนูไข่” เป็นเพลงแนวสนุกสนาน เนื้อร้องโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษาแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2538

1. แสงเทียน (Candlelight Blues)

เพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน หรือ Candlelight Blues เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะบลูส์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย

2. ยามเย็น (Love at Sundown)

เพลงพระราชนิพนธ์ ยามเย็น หรือ Love at Sundown เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์ ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ 

3. สายฝน (Falling Rain)

เพลงพระราชนิพนธ์ สายฝน หรือ Falling Rain เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.๒๔๘๙ ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะวอลท์ซ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา

4. ใกล้รุ่ง (Near Dawn)

เพลงพระราชนิพนธ์ ใกล้รุ่ง หรือ Near Dawn เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์

5. ชะตาชีวิต (H.M. Blues)

เพลงพระราชนิพนธ์ ชะตาชีวิต หรือ H.M. Blues เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงพระนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ

6. ดวงใจกับความรัก (Never Mind the Hungry Men’s Blues)

เพลงพระราชนิพนธ์ ดวงใจกับความรัก หรือ Never Mind The Hungry Men’s Blues เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ในพ.ศ. ๒๔๙๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา วันเสาร์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ หลังจากได้เสวยพระกระยาหาร และนักดนตรีได้รับประทานอาหารแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และพระราชทานชื่อว่า Never Mind the H.M Blues เป็นการตอบปริศนาคำทายที่ว่า H.M. แปลว่าอะไร ของเพลง H.M. Blues

7. มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March)

เพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ชราชวัลลภ หรือ Royal Guards March เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๗ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๑ ชื่อ “ราชวัลลภ” และพระราชทานให้เป็นเพลงประจำกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อไว้ใช้ในพิธีสวนสนาม หลังจากนั้น ผบ.กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ได้มอบหมายให้พันตรี ศรีโพธิ์ ทศนุต แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย มีห้องเพลงยาวกว่าเดิม จึงขอพระราชทานทำนองเพิ่มเติมเพื่อให้เข้ากับคำร้องในการแก้ไขทำนองให้เข้ากับคำร้องนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) ช่วยตรวจทาน และได้พระราชทานนามเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า “มาร์ชราชวัลลภ” (The Royal Guards March) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕

8. อาทิตย์อับแสง (Blue Day)

เพลงพระราชนิพนธ์ อาทิตย์อับแสง หรือ Blue Day เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 8 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขณะประทับแรมบนภูเขาในเมืองดาโวส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย

9. เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You)

เพลงพระราชนิพนธ์ เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๙ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันจันทร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ขณะประทับ ณ เมืองดาโวส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาไทย

10. คำหวาน (Sweet Words)

คำหวาน หรือ Sweet Words เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๐ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

11. มหาจุฬาลงกรณ์ (Maha Chulalongkorn)

มหาจุฬาลงกรณ์ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 11 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง โดยมีท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และ สุภร ผลชีวิน เป็นผู้ประพันธ์เนื้อเพลง พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ให้เป็นเพลงประจำสถาบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตและบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะยืนตรงเมื่อเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ดังขึ้น

12. แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)

เพลงพระราชนิพนธ์ แก้วตาขวัญใจ หรือ Lovelight in My Heart เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๒ ทรงพระราชนิพนธ์ในพ.ศ. ๒๔๙๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นเพลงในจังหวะวอลท์ซ

ต่อหน้า 2

ในหลวงรัชกาลที่ 9

“ก็ปลื้มใจ ปลื้มใจว่ามีแม่ที่คนรัก…” พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 กษัตริย์ผู้รักแม่สุดดวงใจ

ในหลวงรัชกาลที่ 9
ในหลวงรัชกาลที่ 9

ในหลวงรัชกาลที่ 9 กษัตริย์ผู้ครองราชย์และดูแลทุกข์สุขประชาชนให้อยู่ใต้พระบารมีมากว่า 70 ปี พระองค์เปรียบเป็นศูนย์รวมใจของเหล่าพสกนิกรชาวไทย เป็นแสงสว่างชี้นำทางให้คนไทยเดินไปในเส้นทางสายกลาง พอเพียง มีความสุข เข้าใจความทุกข์ และเป็นกษัตริย์ที่คนไทยหลายสิบล้านคนเรียกพระองค์ว่า พ่อ

แม้ตอนนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา แต่พระบรมราโชวาท พระราชกรณียกิจทั้งหลาย รวมถึงเรื่องราวความรักต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หรือแม้แต่ความกตัญญูต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือที่นิยมเรียกพระนามว่า สมเด็จย่า ก็ยังคงสลักตราตรึงในใจของคนไทย เป็นต้นแบบที่ไม่มีวันสูญสลาย เพื่อให้คนไทยตระหนักและประพฤติปฏิบัติตาม

ในหลวงรัชกาลที่ 9ความกตัญญูรู้คุณต่อผู้ให้กำเนิดเป็นสิ่งสำคัญอันยิ่งใหญ่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นต้นแบบให้แก่ผู้ที่ได้ชื่อว่าลูกทุกคน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาแม้พระองค์จะทรงงานหนักแค่ไหน แต่พระองค์ก็ยังทรงใส่พระทัยหาเวลามาอยู่และดูแลแม่อย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา

พระองค์ทรงหาเวลามาเสวยข้าวร่วมกับสมเด็จย่าสัปดาห์ละ 5 วัน ในขณะที่พระองค์ต้องทรงงานกว่าพันโครงการตลอดทั้งสัปดาห์ เพื่อพัฒนาชีวิตชาวไทยให้อยู่ดีกินดีขึ้น พระองค์ไม่อายที่จะแสดงความรักต่อแม่ ทรงกอดและหอมแม่ ดูแลแม่ในยามที่ท่านประชวรเข้าโรงพยาบาล หรือแม้แต่พระองค์ประชวรเข้าโรงพยาบาลร่วมกับสมเด็จย่า พระองค์ก็ทรงอาสาเข็นรถนั่งให้สมเด็จย่าแทนนางพยาบาล

ในหลวงรัชกาลที่ 9เมื่อมีความโสมนัส ย่อมต้องมีความโทมนัสควบคู่กันไปเป็นสัจธรรม จากเหตุการณ์ที่สมเด็จย่าประชวร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมและมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จย่าว่า “อยากให้แม่สอนอีก” เหมือนเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ สมเด็จย่าตรัสกลับไปว่า “จะให้สอนอีกหรือ พระองค์ทรงภูมิรู้ เปี่ยมคุณธรรม สอนคนได้ทั้งประเทศ จะฟังคำสอนอะไรจากคนอายุมากคนหนึ่งอีกเล่า” พระองค์ทรงมีพระราชปรารภอย่างอภิชาตบุตรว่า “ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร สอนคนมากสักแค่ไหน แต่คำสอนของแม่ก็เป็นคำสอนที่ดีที่สุดของลูก คำสอนของแม่เหนือกว่าลูกเสมอ ลูกอยากฟังแม่สอนอีก”

จนกระทั่งวันที่สมเด็จย่าเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ด้วยพระชนมายุ 94 พรรษา สร้างความโศกเศร้าเสียพระทัยต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นอย่างมาก ในวันนั้นพระองค์เฝ้าสมเด็จย่าอยู่จนถึงตี 4 ตี 5 เฝ้าอยู่ทั้งคืน จับมือแม่ กอดแม่ ปรนนิบัติแม่ จนกระทั่งแม่หลับ แล้วจึงเสด็จฯกลับ พอไปถึงวังได้มีโทรศัพท์แจ้งมาว่าสมเด็จย่าสวรรคต พระองค์จึงรีบเสด็จฯกลับไปศิริราช เห็นสมเด็จย่านอนหลับตาอยู่บนเตียง พระองค์ตรงเข้าไปคุกเข่า กราบลงที่หน้าอกแม่ ซบพระพักตร์นิ่งอยู่ที่หน้าอกแม่ แล้วค่อยๆเงยพระพักตร์ขึ้นมาโดยมีน้ำพระเนตรไหลนอง สิ่งสุดท้ายที่พระองค์ทรงทำให้สมเด็จย่าคือ พระองค์ทรงหวีผมและแต่งตัวให้สมเด็จย่า ผู้เป็นแม่ให้สวยที่สุด

ในหลวงรัชกาลที่ 9นอกจากในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเป็นที่รักต่อพสกนิกรชาวไทยแล้ว สมเด็จย่าที่ได้ให้พระราโชวาท คอยสั่งสอนในหลวงรัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ก็ทรงเป็นรักแท้ของพสกนิกรชาวไทยเช่นกัน ซึ่งพ่อหลวง พ่อของแผ่นดินของปวงชนชาวไทยนี้ได้ให้พระราชดำรัชถึงสมเด็จย่าในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาว่า

ได้เห็นความรัก ความนับถือ ที่คนทั้งชาติมีต่อท่านก็ปลื้มใจ ปลื้มใจว่ามีแม่ที่คนรัก…ซึ่งก็แปลกดีเหมือนกัน ถ้าใครต่อใครเรียกว่า ‘สมเด็จย่า’ คนที่เรียกสมเด็จย่าก็เป็นหลานๆของเรา เป็นหลานเพราะว่าท่านเป็นแม่ แล้วท่านเป็นย่าของคนทั่วๆไป และเป็นสมเด็จย่าของลูกๆที่อยู่ข้างหลังนี้ ฉะนั้นเราก็เป็นญาติกันทั้งหมดนี้…”

(พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย 4 ธันวาคม 2538)

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 9เป็นรักแท้อันบริสุทธิ์ที่หาสิ่งใดเปรียบไม่ได้เลย และโชคดีสำหรับคนไทยที่ได้มีกษัตริย์ผู้ใกล้ชิดประชาชนเช่นนี้


ที่มา : นิตยสารแพรว ปีที่ 33 ฉบับที่ 774 (25 พ.ย. 54), หนังสือ มหาราชายอดกตัญญู
ภาพ : นิตยสารแพรว ฉบับที่ 774, แฟนเพจ Facebook – Supitcha Prakham

“สันทัด สีนะวัฒน์” ชายผู้มีหน้าที่ดูแลพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9

ถ้าถามว่าอาชีพไหนเป็นอาชีพที่ดีที่สุด คงเป็นคำถามที่ตอบยากเหลือเกิน แต่สำหรับคนไทยเราเชื่อว่าอาชีพใดก็ตามที่ได้ทำงานถวายใต้เบื้องพระยุคลบาทช่างเป็นอาชีพที่น่าภูมิใจอย่างหาที่สุดไม่ได้ เช่นเดียวกับคุณ “สันทัด สีนะวัฒน์” เขามีอาชีพเป็นช่างภาพส่วนพระองค์ วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์ของเขามาฝากกันค่ะ

“ผมเติบโตมาท่ามกลางครอบครัวที่จงรักภักดีและเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่สมัยคุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ – สวน สีนะวัฒน์ และคุณแม่ – พยอม สีนะวัฒน์ ซึ่งคุณเเม่ได้รับพระราชทานรางวัลศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2530 สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปะงานผ้า) เเละท่านจากไปเมื่อปี พ.ศ.2551 ตลอดระยะเวลาที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านทอผ้าไหมยกทองถวายพระบรมวงศานุวงศ์เป็นระยะ ทั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

1-1

“การได้มีโอกาสทำงานถวายใต้เบื้องพระยุคลบาทในฝ่ายช่างภาพส่วนพระองค์จึงถือเป็นความฝันสูงสุดในชีวิตของผม ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยความจงรักภักดี ความศรัทธาและเทิดทูนที่ผมมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทำให้ฝันของผมเป็นจริง

“หลังจากสำเร็จการศึกษา ผมเริ่มทำงานเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ซึ่งขณะนั้นสังกัดอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ท่านให้ความเมตตาผม โดยกรุณาเลือกผมให้ติดตามคณะจากกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปยังหลายประเทศในทวีปยุโรป

2

“ในเวลาต่อมาท่านได้ทราบว่าคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ต้องการผู้ที่จะเข้ามาช่วยงานในฝ่ายช่างภาพส่วนพระองค์ ท่านจึงได้เขียนจดหมายฝากฝังผมให้เข้ามาทำงานในสวนจิตรลดา ซึ่งนับเป็นความโชคดีที่ตลอดเวลาที่ทำงานที่นี่ผมได้รับความเมตตาจากคุณขวัญแก้วเช่นกัน

4

“ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ได้ทำงานในฝ่ายช่างภาพส่วนพระองค์ ผมได้เห็นภาพที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานอย่างไม่ทรงเหน็ดเหนื่อย ทำให้มีกำลังใจเเละได้เตือนตนเองเสมอว่าพระองค์ท่านทรงงานหนัก เราซึ่งเป็นข้าราชบริพารต้องทำงานถวาย จะย่อท้อไม่ได้ และงานในหน้าที่ที่สำคัญอีกประการคือการอนุรักษ์ฟิล์มที่บันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆไว้ตลอดระยะเวลา ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ โดยต้องจัดให้เป็นหมวดหมู่เเละสามารถสืบค้นได้ ถือเป็นสมบัติของแผ่นดิน

3

“ครอบครัวของผมตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรี โดยพี่สาวสองคน คือ อาจารย์มณเฑียรและอาจารย์วงจันทร์ได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อน้อมเกล้าฯถวายโฉนดที่ดินเนื้อที่ 15 ไร่ ซึ่งพระองค์ท่านพระราชทานแก่กระทรวงสาธารณสุข จัดสร้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสวนพยอม โดยมีเป้าหมายส่งเสริมความรู้สุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนก่อนที่จะมีอาการเจ็บป่วย ขณะนี้ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติงบประมาณในการจัดสร้างโรงพยาบาลนี้แล้ว

“ในฐานะที่ทำงานรับผิดชอบเกี่ยวกับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่าน ผมรู้สึกประทับใจในทุกๆภาพ เพราะได้เห็นพระจริยาวัตรที่ทรง ‘ทำให้ดู อยู่ให้เห็น’ โดยทรงทำเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานและในทุกๆเรื่อง

“สำหรับผมถือว่าในชีวิตนี้สมบูรณ์แล้ว ได้ทำงานที่ดี มีครอบครัวที่ดี เหนือสิ่งอื่นใด ได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท”

ที่มา : นิตยสารแพรว ปี 2555 ฉบับที่ 800

ส.ค.ส.พระราชทาน

เบื้องหลังคำอวยพรปีใหม่ ส.ค.ส.พระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่บางคนอาจยังไม่เห็น

ส.ค.ส.พระราชทาน
ส.ค.ส.พระราชทาน

เป็นที่ตั้งตารอของพสกนิกรชาวไทยทุกๆปีเมื่อถึงคราวนับวันเริ่มต้นเข้าสู่ปีใหม่ เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะทรงมอบคำอวยพรลงบนบัตร ส.ค.ส.พระราชทานแก่ประชาชน ซึ่งความพิเศษนั้นคือ พระองค์ทรงนั่งพิมพ์คำอวยพรและออกแบบบัตร ส.ค.ส.พระราชทานด้วยพระองค์เอง

ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและรวดเร็วในยุคปัจจุบันเข้าสู่คนไทยจำนวนมาก ความนิยมเรื่องการส่งบัตร ส.ค.ส. หรือบัตรส่งความสุขที่ผู้ส่งมักจะเขียนคำอวยพร ออกแบบวาดรูปลงบนบัตรเองเพื่อมอบให้แก่ผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนพ้อง ฯลฯ โดยมีเหล่าไปรษณีย์เป็นตัวเชื่อมสานสัมพันธ์จึงค่อยๆลดน้อยลง โดยมีการพิมพ์ข้อความอวยพรผ่านสื่อหรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆขึ้นมาแทน อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) ไลน์ (Line) อินสตาแกรม (Instagram)

ส.ค.ส.พระราชทาน card_20 card_29ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ทรงมอบพระราชดำรัส คำอวยพรผ่านบัตร ส.ค.ส.พระราชทานแก่ชาวไทยทุกๆปีในช่วงหลัง พ.ศ.2549 เป็นต้นมา หลายคนอาจได้เห็นและเก็บสะสมบัตร ส.ค.ส.พระราชทานที่มีสีสันสวยงาม เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์กับคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง แต่เมื่อมองย้อนขึ้นไปก่อนนั้น บัตร ส.ค.ส.พระราชทานจะเป็นภาพขาวดำ เรียบง่าย ที่สำคัญยังคงมีคำอวยพรที่สั้น กระชับ มีความหมายดีที่สื่อถึงช่วงเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นตลอดในปีนั้นๆ

วันนี้แพรวจึงได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์มาให้ได้ชม ซึ่งพระองค์ทรงใช้คอมพิวเตอร์เครื่องนี้พิมพ์บัตร ส.ค.ส.พระราชทานแก่ชาวไทยนั่นเอง

ส.ค.ส.พระราชทาน“เดี๋ยวนี้เด็กๆอายุ 10 ขวบเล่นคอมพิวเตอร์เป็น อย่างนี้ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่ามีปมด้อยขึ้นมาว่าเล่นคอมพิวเตอร์ไม่เป็น…แล้ววันหนึ่งก็มีคนหนึ่งเอาคอมพิวเตอร์มาให้ บอกว่าอันนี้เขียนดนตรีได้ ก็เลยรับเอาไว้ ที่จริงรับเอาไว้ เขาไม่ได้ให้  เพราะว่าไปซื้อมาก็เงินของเราเอง เราซื้อเราก็ยังกลัว มองดูแล้วไม่รู้ว่าจะทำยังไง แต่ถึงตอนปีใหม่ ก่อนปีใหม่นิดหนึ่งก็เอาคอมพิวเตอร์ไปตั้งในห้องทำงานแล้วก็จิ้มไป เขาบอกว่าเขียนหนังสือได้ เขียนรูปได้ ก็เริ่มลองเขียนหนังสือ เขียนสำหรับอวยพรปีใหม่ เป็นบัตร ส.ค.ส. แล้วก็เขียนๆไป เอ้อ…ออกมาได้ เขียนออกมาเป็นตัวได้ ก็แปลกดี”

(พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่นักศึกษา มศว. วิทยาเขตสงขลา
เมื่อ 28 กันยายน 2530)

โดยผู้ที่ทูลเกล้าฯถวายคอมพิวเตอร์คือ ม.ล.อัศนี ปราโมช เป็นคอมพิวเตอร์รุ่น Macintosh Plus ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ.2529 มีคุณสมบัติใช้งานง่าย สามารถพิมพ์โน้ตเพลงได้ง่าย และเชื่อมต่ออุปกรณ์ดนตรีได้ด้วย ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงใช้คอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์เป็นต้นมา

บัตร ส.ค.ส.พระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9

card_02 card_03 card_04 card_07 card_09 card_12 card_13 card_17 card_18

ที่มา : นิตยสารแพรว ปีที่ 33 ฉบับที่ 774 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2554, www.beartai.com
ภาพ : นิตยสารแพรว ฉบับที่ 774, http://www.ohm.go.th/th/monarch/card

คณะผู้บริหาร-ศิลปินแกรมมี่ ร่วมใจแสดงความอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

ไม่ว่าจะเป็นใครอยู่แห่งหนใด เวลานี้คนไทยทุกคนต่างก็มีความรู้สึกสูญเสียเช่นเดียวกัน กับการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลา 15.52 น. ล่วงเลยมาถึงขณะนี้ต่างก็ได้เห็นความสมัครสมานสมัคคีของคนไทยที่ต่างร่วมใจแสดงความอาลัยแด่พระองค์โดยอย่างไม่มีข้อแม้

grammy-6

ผู้บริหาร พนักงาน พร้อมศิลปิน บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมพิธีถวายสักการะ แสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๙ ณ บริเวณล็อบบี้อาคาร จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพลส

เหล่าผู้บริหารและศิลปินแกรมมี่
เหล่าผู้บริหารและศิลปินแกรมมี่
ร่วมลงนามแสดงความอาลัย
ร่วมลงนามแสดงความอาลัย
คณะผู้บริหารบริษัท GMM Grammy
คณะผู้บริหารบริษัท GMM Grammy
บี้ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว
บี้ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว
ใหม่ เจริญปุระ
ใหม่ เจริญปุระ
ธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินผู้ขับร้องบทเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่น ต้นไม้ของพ่อ ของขวัญจากก้อนดิน และราชาผู้ทรงธรรม
ธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินผู้ขับร้องบทเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่น ต้นไม้ของพ่อ ของขวัญจากก้อนดิน และราชาผู้ทรงธรรม

 

 

“ใช้กระดุมเม็ดเดียว” งานออกแบบจากฝีพระหัตถ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

อีกหนึ่งพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านแบบเสื้อโปโลพระราชทานที่ยึดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์สนับสนุนให้คนไทยใช้สินค้าไทย จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หอการค้าไทยสร้างตราสัญลักษณ์สินค้าที่เป็นของคนไทยภายใต้ชื่อ “สุวรรณชาด” ภายใต้โครงการ “ภูมิใจในตราสินค้าไทย” ซึ่งความหมายของตราสินค้าพระราชทาน “สุวรรณชาด” มาจากคำสองคำรวมกัน คือ สุวรรณ ซึ่งแปลว่า ทอง และชาด แปลว่า แดง รวมเป็น ทองแดง พ้องกับชื่อของ คุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง ที่พระราชทานนามสกุลให้ว่า “สุวรรณชาด”

ในช่วงเวลานั้นที่พระองค์ท่านออกแบบเสื้อครอบครัวทองแดงออกมาจำหน่ายก็ขายดีจนผลิตไม่ทัน ต่อมาหอการค้าไทย โดยคุณพินิจ พรประภา ร่วมกับบริษัทไอซีซี ได้จัดทำเสื้อโปโลตามดีไซน์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ขึ้นมา ซึ่งเนื้อผ้าผลิตจากคอตต้อนหรือใยฝ้าย 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สวมใส่สบาย แล้วนำไปย้อมสี ครั้งแรกที่ทำออกมามีอยู่ด้วยกัน 5 สี ได้แก่ ขาว แดง เบจ น้ำเงิน และดำ ภายหลังมีพระราชประสงค์ให้เพิ่มสีเหลืองที่ทรงโปรดอีกหนึ่งสีด้วย

และยังมีพระราชวินิจฉัยต่อไปว่า เสื้อคอโปโลทั่วไปมักจะติดกระดุม 3 เม็ด ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ เพราะปกติในชีวิตจริงเรามักจะติดกระดุมเพียง 1 เม็ดเท่านั้น จึงทรงออกแบบให้ติดกระดุมแค่เม็ดเดียว นอกจากไม่สิ้นเปลืองแล้วยังสวยอีกด้วย

ส่วนตรงหน้าอกข้างซ้ายปักเป็นลายรูปศีรษะคุณทองแดง มีตัวหนังสืออยู่ด้านล่างว่า “ทองแดง” คอเสื้อด้านในไม่ทรงโปรดให้มีแถบหรือตรายี่ห้อที่มักจะสร้างความรำคาญเวลาสวมใส่ แต่ทรงโปรดให้ปักตรา “สุวรรณชาด” สีทองไว้ด้านหลังแทน

“แบบพระราชทานนี้คงต้องรียกว่าเป็นรอยัลดีไซน์ที่ต่างชาติต้องทึ่ง ครั้งแรกนั้นเป็นภาพครอบครัวทองแดง คราวนี้เป็นทองแดงเดี่ยวๆ พระองค์ท่านทรงพระอัจฉริยภาพมากที่ทรงนำทองแดงมาอยู่ในเสื้อ ถือเป็นการตลาดที่ยอดเยี่ยม ไม่มีใครเลียนแบบได้” คุณพินิจ พรประภา กล่าว

untitled
ภาพ : นิตยสาร แพรว ปีที่ 24 ฉบับที่ 558

ที่มา : นิตยสาร แพรว ปีที่ 24 ฉบับที่ 558 (25 พ.ย. 45)
ภาพปก: นิตยสาร แพรว ปี 2555 ฉบับที่ 798 /statuscope.co/th

รักในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่แพ้คนไทย “คนูลท์ โคลเซ่” ฝรั่งหัวใจไทย 100 %

เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ผู้ชายคนนี้แสดงความรักที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการเป่าทรัมเป็ตถวายพระพรทุกวันที่ 5 ธันวาคม และในทุกครั้ง ทุกที่เมื่อมีโอกาส เพื่อให้ทุกคนรับรู้และได้ยินเสียงที่เปล่งออกมาจากหัวใจเขาว่า “ผมรักในหลวง”

รู้จัก “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ผ่านรูปที่มีทุกบ้าน

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่เขายังเป็นเพื่อนร่วมงานกับคุณหทัย (ภรรยา) ที่ศูนย์สาธารณสุข เมืองมุนสเตอร์ ประเทศเยอรมนี เขามักเห็นเธอพกรูปบุคคลหนึ่งติดตัวตลอดเวลา นั่งในรถก็เห็น ไปที่บ้านก็เจอ จนต้องเอ่ยปากถามว่ารูปใคร นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้รับรู้เรื่องราวและพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9

“ช่วงเที่ยงพักกินข้าวเรามักคุยกันถึงเรื่องเมืองไทย สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำเพื่อประชาชน เพื่อนชาวเยอรมันที่เคยมาเมืองไทยรักในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถมาก หทัยเองมักเล่าให้ฟังว่าคนไทยอยู่เย็นเป็นสุขได้เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ตอนนั้นผมไม่รู้จักเมืองไทยเลย เธอจึงชวนมาเที่ยว ลูกชายเธอพาผมไปดูหน่วยงานราชการต่างๆ พาไปเที่ยวเขื่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสร้าง เวลาดูทีวีหรืออ่านหนังสือ เขาอธิบายให้ผมฟังว่า ท่านทรงทำอะไรบ้าง ซึ่งไม่ว่าไปที่ไหนจะเห็นรูปท่านเสมอ ทำให้รู้ว่าคนไทยรักในหลวงรัชกาลที่ 9 และผมคิดว่าคงไม่มีแผ่นดินใดบนโลกใบนี้ที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินด้วยความเป็นธรรม เพื่อพสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุขเท่าประเทศไทยอีกแล้ว ขนาดทุกวันนี้ท่านมีพระชนมายุมากแล้ว แต่ก็ยังทรงงานไม่หยุด”

musician_01-553x420

เป่าทรัมเป็ตถวายพระพร

“ผมรักในหลวงมากๆครับ” ตั้งแต่นั้นมาเวลาสถานทูตไทยในเยอรมนีเป็นเจ้าภาพจัดงานฉลองพระชนมพรรษาวันที่ 5 ธันวาคม และเชิญเขากับภรรยาไปร่วมงานด้วย เขามักจะเป่าทรัมเป็ตเฉลิมฉลองวาระพิเศษนี้ เพียงแต่เปลี่ยนจากเป่าเพลงทั่วไปเป็นเพลงพิเศษ โดยขอให้ภรรยาร้องเพลงเกี่ยวกับในหลวงให้ฟังแล้วเขาแกะโน้ตดนตรีเอง

“เพลงแรกที่ผมเป่าทรัมเป็ตได้คือ ‘สดุดีมหาราชา’ และเพลงพระราชนิพนธ์ ‘สายฝน’ ที่ภรรยาผมชอบเป็นการส่วนตัว จากนั้นเพลงอื่นๆก็ตามมา อย่าง ‘พ่อแห่งแผ่นดิน’ ‘ยามเย็น’ ‘ความฝันอันสูงสุด’ ‘ค่าน้ำนม’ ‘วอลซ์นาวี’ ‘ขอให้เหมือนเดิม’ ฯลฯ” คุณโคลเซ่เล่าพร้อมกับเปิดสมุดโน้ตที่เขียนชื่อเพลงภาษาไทยด้วยลายมือตัวเองให้ดูเพื่อยืนยัน

จนเมื่อเกษียณอายุทั้งเขาและภรรยาเดินทางกลับมาเมืองไทย น้องสาวคุณหทัยจึงแนะนำให้พาคุณโคลเซ่ไปเป่าทรัมเป็ตที่งาน “80 ชั่วโมงร่วมด้วยช่วยร้อง” ซึ่งจัดที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ปรากฏว่ามีผู้บริจาคช่วงที่เขาเป่าทรัมเป็ตได้เงินกว่า 200,000 บาท นับแต่นั้นมาเขาจึงถูกเชิญให้เดินสายเป่าทรัมเป็ตในงานฉลองพระชนมพรรษาหรืองานอื่นๆ เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 และบางครั้งก็หาโอกาสเป่าทรัมเป็ตตามสถานที่ต่างๆที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะเป็นสนามหลวง วงเวียนใหญ่ ลานพระบรมรูปทรงม้า ฯลฯ เพื่อถวายพระพรและแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9

“แรกๆไปเป่าที่ไหนก็มีปัญหา โดนแม่ค้า เทศกิจ คนขับรถตุ๊กๆแถวศิริราชไล่ให้ไปเป่าที่อื่น ทั้งที่ผมไม่ได้เกะกะใคร จนภรรยาซึ่งเป็นคนพาผมไปรู้สึกท้อและอาย ถึงกับทะเลาะกันก็มี แต่ผมให้กำลังใจเขาว่า ผมทำสิ่งเล็กๆน้อยๆเพื่อแสดงออกว่ารักในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นสิ่งพิเศษสุดสำหรับผม ทั้งที่ผมไม่ใช่คนไทยยังไม่เห็นอายเลย แล้วเขาจะอายทำไม ตอนนี้ภรรยาจึงพาไปเป่าทรัมเป็ตด้วยความภาคภูมิใจในสิ่งที่ผมทำ

“พอเหนื่อยก็หยุด เปลี่ยนมาร้องเพลง ‘เถียนมีมี่’ หรือไม่ก็เพลงไทย ’ขอให้เหมือนเดิม’ แทน เพราะเป่าทรัมเป็ตต้องใช้พลังมาก เป่าได้อย่างมากแค่ 2 ชั่วโมง พอร้องจบผมยกมือไหว้และตะโกนว่า ผมรักในหลวงมากๆครับ ทรงพระเจริญๆ บางทีมีคนบริจาคเงิน ผมก็จะรวบรวมเงินไปบริจาคช่วยคนอื่นต่อ ล่าสุดเป่าทรัมเป็ตหาเงินบริจาคไปซื้อข้าวสาร อาหารแห้งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ”

musician_02-592x420

เดินตามรอยพ่อ

“เมื่อก่อนเวลาไปเป่าทรัมเป็ตตามสถานที่ต่างๆผมใส่เสื้อสีเหลือง ตอนหลังเปลี่ยนเป็นเสื้อเชิ้ตสีชมพูผูกไท ใส่สูท และสายรัดข้อมือสีส้มที่มีคำว่า ‘เรารักในหลวง’ สวมรองเท้าหนังขัดมันวับ มีพระบรมฉายาลักษณ์ใบเล็กๆ เป็นรูปสมเด็จย่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงฉายพระรูปร่วมกัน ใส่ซองพลาสติกติดที่กระเป๋าเสื้อ มีธงชาติไทยและธงตราสัญลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ติดไปด้วย

“ฝรั่งบางคนถึงกับเดินมาถามผมว่า ดูจากการแต่งตัวแล้วไม่ได้บ่งบอกว่าผมจน มาเป่าทรัมเป็ตอย่างนี้ไม่อายหรือ ผมบอกไปว่า เขามาเที่ยวเมืองไทยควรหัดเรียนรู้ว่าคนไทยรักในหลวง ผมมีภรรยาเป็นคนไทย ผมเป็นคนไทย และผมรักในหลวงรัชกาลที่ 9 การเป่าทรัมเป็ตไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่ผมมาแสดงถึงความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ถ้ามีคนบริจาคให้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งผมไม่ได้นำไปใช้ส่วนตัว แต่เก็บไปบริจาคช่วยเหลือคนไทยต่อไป เพราะฉะนั้นผมเลือกที่จะเป่าทรัมเป็ตบริเวณที่มีคนไทย เพราะเขาฟังแล้วซาบซึ้ง มีความภาคภูมิใจ รางวัลที่ผมได้รับคือเสียงปรบมือจากคนไทยที่เข้าใจในสิ่งที่ผมทำเพื่อแผ่นดินไทย ถ้าเป่าให้ฝรั่งฟังเขาก็แค่ยิ้มๆ เพราะไม่รู้เรื่อง

musician_03

“ทุกวันนี้ถ้าอยู่บ้าน ทุกหกโมงเย็นผมเป่าทรัมเป็ตเพลงชาติไทยกับเพลงสดุดีมหาราชาเพื่อถวายพระพร และตราบใดที่ปอดยังแข็งแรงผมจะแสดงออกซึ่งความรักในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการเป่าทรัมเป็ตตลอดไป  จนกว่าจะหมดลมหายใจสุดท้าย”

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับที่ 774 ปักษ์วันที่ 25 พ.ย. 54

ภาพ : Facebook – damnnakdontree

รถยนต์พระที่นั่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9

รถยนต์พระที่นั่งในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

Alternative Textaccount_circle
รถยนต์พระที่นั่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9
รถยนต์พระที่นั่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9

แพรวเชื่อว่าพวกเราปวงชนชาวไทยทั้งประเทศคงอยากทราบถึงพระราชประวัติ ของใช้ส่วนพระองค์ พระราชจริยวัตรต่างๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงรถยนต์พระที่นั่งในพระองค์ท่าน ที่คราใดมีขบวนเสด็จฯ เป็นต้องชะเง้อมองว่าคันไหนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับเป็นแน่ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่แพรวไปเจอเพจ Siam Bimmer เขียนโดย northyc ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่มีความหลงใหล และหลงรักเรื่องราวของรถยนต์พระที่นั่งในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงเป็นที่มาที่แพรวรวบรวมมาให้ได้ชมกัน

รถยนต์พระที่นั่งองค์แรก Mercedes-Benz 300SL Gullwing 1955
Mercedes-Benz 300SL Gullwing 1955

รถยนต์พระที่นั่งองค์แรก ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์รถยนต์พระที่นั่งโบราณในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ณ วังสุโขทัย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นคือ Mercedes-Benz 300SL Gullwing 1955

รถพระที่นั่ง Mercedes-Benz 300SL Gullwing 1955

Mercedes-Benz 300SL Gullwing 1955

รถยนต์องค์นี้เข้าประจำการเพื่อเป็นพระราชพาหนะในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2498 เป็นรถยนต์ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม น้อมเกล้าฯถวายในสมัยนั้น แล้วได้มีการเปลี่ยนทะเบียนจาก 1ด – 0010 ไปเป็น 1ด – 1110 ในภายหลัง ซึ่งได้มีการเปิดให้นิตยสารทั้งในและต่างประเทศเก็บภาพและทำประวัติไว้อย่างงดงาม รถยนต์พระที่นั่งองค์นี้ถือว่าเป็นซูเปอร์คาร์ในสมัยนั้นเลยก็ว่าได้ เป็นรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง และมีเพียง 8 คันในประเทศไทย ถือเป็นองค์ที่สภาพสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย และยังคงเป็นรถที่สมบูรณ์มากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน ทราบว่ารถยนต์พระที่นั่งองค์นี้ เมื่อปี ค.ศ. 2009 ได้ใช้งานไปเพียง 2,021 กิโลเมตร ด้วยอายุถึง 57 ปี ท่านทรงรักและดูแลรถยนต์พระที่นั่งองค์นี้อย่างดี


รถยนต์พระที่นั่ง Mercedes-Benz 600 SWB and 600 Pullman Landaulet

รถยนต์พระที่นั่ง Mercedes-Benz 600 SWB 1966
Mercedes-Benz 600 SWB 1966

Mercedes-Benz 600 SWB 1966

รถยนต์พระที่นั่ง Mercedes-Benz 600 SWB และ Mercedes-Benz 600 Pullman Landaulet ปัจจุบันทั้งสองคันได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ในคอลเล็คชั่นรถโบราณส่วนพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร

Mercedes-Benz รหัสตัวถัง W100 รุ่น 600 ทั้งสองคันนี้ เป็นอดีตรถยนตร์พระที่นั่งในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รถยนต์องค์ที่หนึ่งคือ 600 SWB 1966 หมายเลขทะเบียน 1ด – 0001 เป็นแบบตัวถังสั้น และจะมีแค่เพียง 4 ประตูเท่านั้น ใช้เครื่องยนต์ M100 6,322 cc V8 หรือเป็นเครื่องต้นแบบของตระกูล AMG ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ถูกใช้งานสนองเบื้องพระยุคลบาทมาเพียง 20,000 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น

รถยนต์พระที่นั่ง Mercedes-Benz 600 Pullman Landaulet
Mercedes-Benz 600 Pullman Landaulet

Mercedes-Benz 600 SWB และ 600 Pullman Landaulet

ภายในรถ Mercedes-Benz 600 Pullman Landaulet

รถยนต์องค์ต่อมาคือ 600 Pullman Landaulet หมายเลขทะเบียนปัจจุบัน ร.ย.ล. 9 สำหรับคันนี้มีความพิเศษกว่า 600 LWB มาก เพราะตัวถังจะยาวเหมือนกับลิมูซีนทั่วไปที่เราเคยเห็นกัน และองค์นี้ยังสามารถเปิดหลังคาส่วนหลังได้ หรือที่เรียกว่า “Landaulet” ใช้เครื่องยนต์ M100 6,322 cc V8 เช่นเดียวกับรุ่น 600 LWB และรถยนต์องค์นี้เป็นอีกหนึ่งองค์ที่มีความนิยมมากในพระมหากษัตริย์ประเทศต่างๆ และประเทศไทยก็มี 1 คันเท่านั้น และเคยมีนิตยสารต่างประเทศให้ข้อมูลไว้ว่า เป็น 1 ใน 32 คันในโลก สภาพเหมือนเดิมตั้งแต่ออกจากโรงงานมาเมื่อหลายสิบปีก่อน


รถยนต์พระที่นั่ง 300SEL 6.3 และ 450SEL 6.9

รถยนต์พระที่นั่งอีกหนึ่งองค์ที่หาได้ยากมากๆ ในประเทศไทย ในปัจจุบันเป็นคอลเล็คชั่นรถโบราณส่วนพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร อีกเช่นกัน

รถยนต์องค์แรกคือ Mercedes-Benz W109 300SEL 6.3 หมายเลขทะเบียน ร.ย.ล. 943 รถรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นที่ค่อนข้างหายากของ Mercedes-Benz S-Class ในสมัยก่อน ซึ่งเราจะเรียกรหัสตัวถังว่า W109 แต่ในรุ่นปกติที่เราใช้กันจะเป็น W108 ซึ่ง W109 หาได้ยากกว่าในประเทศไทย สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ W109 จะเป็นรุ่นที่มีแต่รหัส SEL และจะใช้ตัวถังเดียวกับ W108 SEL แต่สิ่งที่แตกต่างกันชัดเจนคือ W109 จะมีแต่เกียร์ออโต้ กระจกเป็นระบบไฟฟ้า และมีระบบเซ็นทรัลล็อก และมีเพียงแค่ภายในแบบหนังแท้และผ้ากำมะหยี่ ส่วนระบบช่วงล่าง W109 มีแต่รุ่นที่เป็นถุงลมเท่านั้น

รถยนต์องค์ต่อไปคือ Mercedes-Benz W116 450SEL 6.9 หมายเลขทะเบียน 1ด – 0106 รุ่นนี้ถือเป็นรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ใหญ่มากถึง 6900 cc และในไทยมีจำนวนไม่ถึง 10 คัน นี่คือหนึ่งในคันที่สภาพดีที่สุดในประเทศไทย


รถยนต์พระที่นั่ง Daimler-Benz 300 Automatic

รถยนต์พระที่นั่ง Rolls-Royce Phantom VI

Daimler-Benz เป็นรถพระที่นั่งทางราชการคันแรกของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันรถยนต์พระที่นั่งโบราณ ร.ย.ล. 1 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ได้ใช้ทรงงานแล้ว (Daimler-Benz 300 Automatic, Rolls-Royce Phantom VI) ได้ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์รถยนต์พระที่นั่งโบราณในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ณ วังสุโขทัย ทะเบียนกับธงยังคงเดิม เพียงแต่ไม่ได้รับการอุ่นเครื่องเลยตั้งแต่ย้ายไปพิพิธภัณฑ์

เชื่อไหมว่า รถยนต์องค์นี้คือพระราชพาหนะที่เรียกได้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้ทรงงานมากที่สุดถึง 30 ปี Rolls-Royce Phantom VI หมายเลขทะเบียน ร.ย.ล. 972


รถยนต์พระที่นั่ง Mercedes-Benz Maybach 62

และนี่คือพระราชพาหนะองค์สุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ Maybach 62 เป็นรถยนต์ที่มีความหรูหรามากที่สุดคันหนึ่งในโลกเลยก็ว่าได้ หมายเลขทะเบียน ร.ย.ล. 1

ต่อหน้า 2

ไม่มีพระราชวังไหนในโลกเหมือนวัง “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ต้นแบบความสุขที่ยั่งยืน

ไม่มีพระราชวังไหนในโลกเหมือน…พระตำหนักจิตรลดาฯ

พระราชวังของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้นไม่เหมือนวังอื่นๆ ซึ่งหรูหราอลังการด้วยสถาปัตยกรรมอันวิจิตรงดงาม เพราะที่นี่มีเพียงสิ่งปลูกสร้างเรียบง่าย แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยแนวทางสู่ความสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งพระองค์ท่านทรงวางไว้ให้เราหมดแล้ว

untitled-8

untitled-4

%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%88%e0%b8%b4%e0%b8%95%e0%b8%a5%e0%b8%94%e0%b8%b2“ไม่มีพระราชวังไหนในโลกเหมือนพระตำหนักจิตรลดาฯที่เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลาและไร่นาทดลอง อีกทั้งผองโคนม ผสมด้วยโรงสี และโรงงานหลากหลาย จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรและพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทำงานอย่างหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินด้วยพระองค์เอง” เบื้องต้นคือคำกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลของพลอากาศเอก หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2523

เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้นไม่เหมือนวังอื่นๆ ซึ่งหรูหราอลังการด้วยสถาปัตยกรรมอันวิจิตรงดงาม เพราะที่นี่มีเพียงสิ่งปลูกสร้างเรียบง่าย เน้นประโยชน์ใช้สอย มีทุ่งนา โรงงาน และโรงเรือนมากมาย แต่กลับดึงดูดผู้คนจํานวนมากจากทั่วประเทศ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้เข้ามาเยี่ยมชมทุกปี ทุกคนต่างมาเพื่อดูว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงทําสิ่งใดเพื่อประชาชนคนไทยบ้าง แล้วจะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านได้ทรงวางแนวทางสู่ความสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ให้เราหมดแล้ว

%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%88%e0%b8%b4%e0%b8%95%e0%b8%a5%e0%b8%94%e0%b8%b21สถานที่ในเขตพระราชฐาน พระตําหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตแห่งนี้ เป็นจุดกำเนิดของโครงการทั้งสิ้นกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งพระองค์ได้มีพระราชดําริ แล้วทรงใช้ที่ประทับส่วนพระองค์เพื่อศึกษาทดลองโครงการต่างๆตามแนวพระราชดําริด้วยพระองค์เอง เพื่อหาแนวทางพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางการเกษตรให้แก่ประชาชน โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดําเนินงานทั้งสิ้น จึงเป็นที่มาของชื่อ “โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา”

untitled-31

untitled-6พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูกป่าและทำนามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 โดยเริ่มจากในบริเวณสวนจิตรลดา เพราะไม่ไกลจากพระตำหนักสักเท่าไหร่ เวลาที่ทอดพระเนตรจะทรงเห็นได้ชัด แล้วยังมีพระราชดําริว่าการที่ชาวนาปลูกข้าวได้เพียงครั้งเดียวต่อปีนั้นไม่เพียงพอต่อการบริโภค จําต้องพัฒนาสายพันธุ์ข้าวซึ่งโตเร็ว ให้ผลผลิตสูง และใช้เวลาไม่นาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นําข้าวพันธุ์ต่างๆทั่วประเทศมาทดลองปลูกในแปลงนาทดลองส่วนพระองค์ ทั้งยังมีการศึกษาวิธีทํานาและการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อบํารุงดิน ก่อนจะนําความรู้ไปเผยแพร่แก่เกษตรกร

ofadq8en2zwqs7odfhg-o

untitled-5

คุณแก้วขวัญ วัชโรทัย เคยกล่าวไว้ว่า “จากการเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ พระองค์ทรงเห็นว่าประเทศเราเป็น ประเทศเกษตรกรรม จีงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดทําโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในเขตพระราชฐาน สวนจิตรลดา ทรงใช้เรื่องนี้เป็นตัวอย่าง เป็นโครงการทดลอง ผมคิดว่าคงจะเป็นแห่งเดียวในโลกที่ภายในพระราชวังมีกิจกรรมแบบนี้”

ยังมีโครงการในพระราชดําริอีกมากมาย เราเพียงต้องมองให้เห็น และนําแนวทางที่พระองค์ได้ทรงวางไว้ไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขของตัวเราเองและเพื่อพ่อหลวงของเราทุกคน

เรื่อง : แพรวดอทคอม

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา โทร 0-2282-7171-4, 0-2282-1150-1

 

ชาตินี้ไม่มีวันลืม โอ๊ต-ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี ผู้เคยฉายพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9

ในชีวิตที่เกิดมา คงมีไม่กี่คนที่จะมีโอกาสได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพระเจ้าแผ่นดิน สิบปีก่อนหน้านี้ สำหรับโอ๊ต-ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี จึงมีเรื่องเล่าความทรงจำมากมาย ที่ครั้งหนึ่งสมัยเขาอายุเพียง 19 ปี นั้นมีบุญเหลือเกินที่ได้เข้าไปรับใช้งานในสำนักพระราชวัง ในฐานะของช่างภาพ

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2549 ในพระราชพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ นับว่าเป็นวันแห่งความภาคภูมิใจในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสมาเป็นช่างภาพให้สำนักพระราชวัง เพื่อเก็บภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เสด็จพระราชดำเนินมาในพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้

ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี หรือโอ๊ต ในวันนั้นยังเป็นเพียงนักศึกษามหาวิทยาลัยที่พยายามเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพจากอาจารย์นพดล อาชาสันติสุข ซึ่งท่านเป็นเลขาฯสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ได้เปิดโอกาสชวนเขาให้ไปทำงานให้สำนักพระราชวัง ซึ่งโอ๊ตได้บรรยายถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า

“ตอนนั้นผมอายุประมาณ 19 ปี ยังเรียนหนังสืออยู่ และก็มีทำงานพิเศษถ่ายภาพด้วย พอดีอาจารย์ผมท่านสอนถ่ายภาพ และท่านเป็นเลขาฯสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยด้วย ทางกระทรวงกลาโหมได้ติดต่อขอช่างภาพ อาจารย์เลยคัดช่างภาพเข้าไปเพื่อให้ทำงานนี้

“ผมพูดอะไรไม่ออก มันคือครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้เห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 และได้ใกล้ขนาดนี้ ตอนนั้นทั้งตื่นเต้นและรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตผมมาก วินาทีที่ผมเห็นพระองค์ประทับอยู่ในรถยนต์พระที่นั่ง คือเร็วมากจนผมไม่กล้าที่จะละสายตาไปไหน คิดแต่ว่าต้องฉายพระบรมฉายาลักษณ์เท่านั้น ซึ่งระยะใกล้มากประมาณ 5-10 เมตรเอง และภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่ผมได้มาคือเห็นพระองค์จากด้านข้างเป็นส่วนใหญ่ เพราะผมถูกให้อยู่ประจำตำแหน่งนั้นเพื่อฉายพระบรมฉายาลักษณ์

king-of-thailand-9

“ผ่านมา 10 ปี วันนี้ผมก็ยังระลึกถึงความรู้สึกนั้นได้เสมอ ผมว่าตัวเองโชคดีมาก แต่พอทราบเรื่องจากประกาศสำนักพระราชวังเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ผมเองก็รู้สึกไม่ต่างจากคนไทยคนอื่นๆ ไม่เคยรู้สึกหดหู่ขนาดนี้ เพราะที่ผ่านมาผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนอุ่นใจที่มีพระองค์ตลอดเวลา”

 

 

 

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับพระปรีชาสามารถด้านดนตรี

“นั่นลูกศิษย์เรา” พระสุรเสียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ สุดประทับใจในชีวิตสายดนตรี

ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับพระปรีชาสามารถด้านดนตรี
ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับพระปรีชาสามารถด้านดนตรี

เป็นเรื่องราวที่ดีที่ควรค่าแก่การบอกต่อ เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 มิได้ทรงสอนแค่การเล่นดนตรี แต่ทรงสอนการใช้ชีวิต เพื่อให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงหน้าที่ของตัวเองและมีสติอยู่เสมอ

อย่างที่ทราบกันนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระปรีชาสามารถ ถนัดและเชี่ยวชาญหลายด้าน ไม่เว้นแม้แต่ด้านดนตรี ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงเป็นต้นแบบให้แก่คนไทยหัวใจรักดนตรี ได้หลงรักในเสียงเพลงและพยายามฝึกฝนเล่นดนตรีตามรอยพ่อหลวงของแผ่นดินจนประสบความสำเร็จ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแซ็กโซโฟน
แซ็กโซโฟน เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงหัดอย่างจริงจังมาตั้งแต่มีพระชนมพรรษาเพียง 14 พรรษา

ในหลวงรัชกาลที่ 9 สนพระราชหฤทัยเรื่องดนตรีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาวิชาดนตรีขั้นพื้นฐานอย่างจริงจังตามคําแนะนําจากพระอาจารย์อย่างเข้มงวดนานกว่า 2 ปี ทรงได้รับการฝึกฝนตามแบบการดนตรีอย่างจริงจัง เครื่องดนตรีที่พระองค์ท่านโปรดคือ เครื่องเป่าทุกชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ต แล้วยังทรงกีตาร์และทรงเปียโนได้ด้วย พระองค์ท่านโปรดการทรงดนตรีมาก โดยเฉพาะดนตรีแจ๊ส ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีประเภทนี้มาก โดยหนังสือพิมพ์โฮโนลูลู แอดเวอร์ไทซิ่ง ได้ถวายพระนามว่าพระองค์ทรงเป็น “ราชาแห่งดนตรีแจ๊ส” เลยทีเดียว

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า ราชาแห่งดนตรีแจ๊ส

ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี ทายาทของ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สมาชิกวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ได้มาเล่าถึงเรื่องราวที่เต็มเปี่ยมด้วยความทรงจำอันมีคุณค่า ที่เคยมีโอกาสเล่นดนตรีร่วมกับในหลวงรัชกาลที่ 9 และมีความประทับใจที่ติดแน่นอยู่ในชีวิตของ ดร.ภาธร นั่นคือ พระสุรเสียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่รับสั่งกับเขาว่า “นั่นลูกศิษย์เรา”

“ตั้งแต่เริ่มจำความได้ คุณพ่อก็พาผมเข้าเฝ้าฯในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนนั้นอายุประมาณ 3 – 4 ขวบ ท่านเล่าว่า คืนก่อนจะไปเฝ้าฯ ผมซ้อมกราบเท้าคุณพ่ออยู่หลายรอบ (หัวเราะ) แต่พอถึงเวลาจริง เมื่อพระองค์ท่านเสด็จฯมาถึงห้องทรงวิทยุ อ.ส. ด้วยความเป็นเด็กและตื่นเต้น ผมจึงไม่ได้ก้มลงกราบ คุณพ่อตกใจ รีบถามใหญ่ว่าเพราะอะไร ผมตอบไปตามประสาเด็กว่า ตอนอยู่ที่บ้านคุณพ่อไม่ได้ใส่รองเท้า แต่พระองค์ท่านทรงฉลองพระบาท จึงไม่ได้กราบ เมื่อพระองค์ท่านทราบก็ทรงพระสรวล นั่นคือครั้งแรกในการเข้าเฝ้าฯของผม (ยิ้ม)

“จากนั้นเรื่อยมาทุกวันศุกร์ที่คุณพ่อไปเล่นดนตรีกับวง อ.ส. ครอบครัวผมได้เข้าเฝ้าฯอีกหลายครั้ง และสิ่งที่ผมซึมซับมาตลอดคือ บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่คุณพ่อเล่นเป็นประจำ กระทั่งผมอายุราว 12 ขวบ คุณพ่อพาไปเข้าเฝ้าฯอีกครั้ง ได้เห็นพระองค์ท่านทรงแซ็กโซโฟน ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่รู้จักเครื่องดนตรีชนิดนี้เลย รู้แต่เพียงว่าเสียงที่เปล่งออกมาไพเราะมาก จึงอยากเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้เหมือนพระองค์ท่าน

“เมื่อกลับถึงบ้าน คุณพ่อเปิดกล่องใบใหญ่หยิบแซ็กโซโฟนออกมาให้ผมดู พร้อมกับเล่าว่า เป็นเครื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแด่คุณพ่อ ใช้ถวายการสอนแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อสมัยยังทรงเป็นนักเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา ผมถือว่ามีบุญมากที่มีโอกาสเริ่มหัดเล่นแซ็กโซโฟนด้วยเครื่องนี้ โดยเรียนกับคุณครูที่เป็นทหารอากาศ เพราะคุณพ่อบอกว่าพ่อลูกสอนกันเองไม่ถนัด

“เรียนอยู่เกือบปีก็ได้รับโอกาสเข้าร่วมเล่นในวง อ.ส. พระองค์ท่านทรงดนตรีตรงกลางวง คุณพ่อเล่นเปียโนอยู่ด้านขวา ส่วนผมเป็นกลุ่มเครื่องเป่า ก็จะอยู่อีกข้างหนึ่ง ผมจําได้แม่นว่าครั้งแรกที่ร่วมเล่นกับวงตื่นเต้นมากครับ เข้าไปถึงก็ได้โน้ตเพลงให้เล่นตามนั้นเลย ซึ่งความพิเศษของวง อ.ส. คือ เป็นวงไม่ใหญ่ คนไม่เยอะ แต่น่าสนใจตรงดนตรีที่พระองค์ท่านโปรดเล่นในขณะนั้นเป็นดนตรีบิ๊กแบนด์ ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี 15 – 20 ชิ้น แต่เรามีกันแค่ 10 คน ซึ่งวิธีที่พระองค์ท่านทรงทําคือ ใช้เครื่องอัดเสียงแบบเทปขนาดใหญ่อัดแยกเครื่องดนตรีทีละชิ้น กระทั่งได้เป็นเพลงที่รวมกันเป็นวงบิ๊กแบนด์จริงๆ  ถือเป็นเทคนิคพิเศษที่ทรงคิดและปรับใช้เอง ไม่มีใครทำได้ในสมัยนั้น (ยิ้ม)

“ชีวิตผมเปลี่ยนจากเด็กผู้ชายธรรมดากลายเป็นนักดนตรีที่มีนัดประจำทุก 2 ทุ่ม คืนวันศุกร์กับวันอาทิตย์ เป็นช่วงเวลาพิเศษของผมที่ได้เล่นดนตรีกับพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาส่วนพระองค์ ไม่มีพิธีรีตอง และเป็นช่วงเวลาที่พระองค์ท่านทรงได้พักผ่อนจากการทรงงานมาทั้งสัปดาห์ จากนั้นพระองค์ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานทุนการศึกษาส่วนพระองค์ให้ผมไปศึกษาต่อด้านดนตรีที่ต่างประเทศจนจบปริญญาเอก โดยทุกช่วงปิดเทอมผมจะกลับมาเข้าเฝ้าฯพระองค์ท่าน

“พระองค์ท่านมีพระเมตตามาก ทรงสอนดนตรีสมาชิกในวง ทรงแนะนำวิธีการเล่นต่างๆ ซึ่งตอนนั้นผมยังคงใช้อัลโต้แซ็กโซโฟนตัวเดิมที่คุณพ่อได้รับพระราชทานมา ต่อมาพระองค์ท่านพระราชทานเทนเนอร์แซ็กโซโฟนและอัลโต้แซ็กโซโฟนด้วย จนช่วงที่ผมเรียนปริญญาโท พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ให้ผมเล่นคลาริเน็ต จึงพระราชทานอีกเครื่องหนึ่ง และทรงพระเมตตาสอนด้วยพระองค์เอง

“เมื่อพระองค์ท่านเสด็จฯไปประทับที่หัวหิน วง อ.ส.จึงเปลี่ยนไปซ้อมทุกวันเสาร์แทน และไม่ว่าพระองค์ท่านจะเสด็จฯแปรพระราชฐานไปที่ใด พวกเราก็พร้อมจะตามไป ช่วงแรกแต่ละคนต่างขับรถยนต์ส่วนตัวไป แต่ช่วงหลังอายุมาก ขึ้นเลข 7 เลข 8 กันหมดแล้ว พระองค์ท่านจึงพระราชทานรถตู้ไว้ใช้สำหรับเดินทาง โดยผมรับหน้าที่ต่อจากคุณพ่อที่เป็นนายวง คัดเลือกว่าสัปดาห์นี้จะเล่นเพลงอะไรบ้าง โดยเฉพาะเพลงแจ๊สที่พระองค์ท่านโปรดเป็นพิเศษ

ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ เป่าแซ็กโซโฟน
ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี

“ครั้งที่ประทับใจที่สุดคือ งานเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นงานเลี้ยงภายใน จัดที่พระราชวังบางปะอิน พอช่วงดึก พระองค์ท่านจะทรงดนตรี แต่ปรากฏว่าไม่มีใครนำเครื่องดนตรีไปเลย มีเพียงผมที่นำแซ็กโซโฟนติดตัวไปด้วย พระองค์ท่านจึงรับสั่งให้ผมขึ้นไปเล่นก่อน ตอนนั้นแขกในงานต่างประหลาดใจว่าผมคือใครกัน แต่แล้วก็มีพระสุรเสียงมาจากโต๊ะของพระองค์ท่านว่า นั่นลูกศิษย์เราซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินพระองค์ท่านรับสั่งเรียกผมเป็นลูกศิษย์ ประทับใจมากครับ (ยิ้ม)

“ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ได้ถวายงานรับใช้ พระองค์ท่านทรงให้ความเป็นกันเอง ทรงพระเมตตา และทรงเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จในวันนี้ เพราะพระองค์ท่านมิได้ทรงสอนแค่การเล่นดนตรี แต่ทรงสอนการใช้ชีวิตด้วย ทรงเปรียบเทียบให้เห็นว่าการเล่นดนตรีในวงก็เหมือนกับการที่เราใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ทุกคนล้วนมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ไม่มีใครเด่นกว่าหรือใหญ่กว่าใคร และพระองค์ท่านไม่เคยรับสั่งสักครั้งว่า เราเป็นกษัตริย์ เป็นหัวหน้าวง พระองค์ท่านทรงเป็นได้ทุกตำแหน่ง และทรงสอนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะทำอะไร เราต้องรู้หน้าที่ตัวเอง

เช่นเดียวกับการใช้ชีวิต ที่ต้องรู้หน้าที่ของตัวเองและมีสติอยู่เสมอ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงกลองชุด

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเปียโน

ได้ฟังเรื่องราวแล้ว แพรวเชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระองค์ท่านในการเดินสายดนตรี

 

ที่มา : นิตยสารแพรว ปี 2559 ฉบับที่ 883 (10 มิ.ย. 2559)
ภาพ : Facebook – damnnakdontree

“ทรงเรียบร้อย ทรงเป็นช่างฝีมือดี ฉลองพระองค์จะไม่เลอะสีหรือกาวเลย” เรื่องเล่าจากรั้ววัง

“…ในหลวงรัชกาลที่ ทรงเรียบร้อย แล้วทรงเป็นช่างฝีมือดี ฉลองพระองค์จะไม่เลอะสีหรือกาวเลย…” 

 

เรื่องราวแสนพิเศษจากเหล่าทายาทของผู้ที่เคยถวายงานรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ ๙ อย่างใกล้ชิด ถ่ายทอดเป็นความประทับใจส่งต่อมายังรุ่นลูก และพวกเขายังได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

สืบเนื่องมาจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต และหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี พระธิดาและพระโอรสของพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กับหม่อมเจ้าหญิงพรพิมลพรรณ (วรวรรณ) รัชนี ได้ถวายงานในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาทั้งสององค์

“ท่านพ่อทรงเป็นนักกีฬามาตั้งแต่ยังทรงเป็นนักเรียน ทรงกีฬาแทบทุกชนิด แต่โปรดเรือใบเป็นพิเศษ ทรงต่อเรือใบเอง โดยทรงซื้อแบบเรือใบ (Pattern) มาจากเมืองนอก หาซื้อไม้อัดมาตัดตามแบบแล้วประกอบเป็นลำเรือขึ้นมา เมื่อต่อเป็นลำเรือสำเร็จแล้ว ท่านพ่อทรงนำไปแล่นที่ทะเลหัวหิน เวลานั้นทรงเรือกรรเชียงเพื่อทรงออกพระกำลังในตอนเช้า เมื่อพระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นท่านพ่อทรงเรือใบที่ต่อเอง ก็มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าฯและรับสั่งว่า อยากทรงเรือใบ และจะทรงต่อเรือเอง ตั้งแต่นั้นท่านพ่อได้เข้าเฝ้าฯที่วังสวนจิตรลดา เพื่อร่วมต่อเรือใบกับพระองค์ท่านจนเรือใบลำแรกสำเร็จ และพระราชทานนามว่า “ราชปะแตน”

“ท่านพ่อทรงนิพนธ์ในหนังสือตอนหนึ่งว่า ’…ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเรียบร้อย แล้วทรงเป็นช่างฝีมือดี ฉลองพระองค์จะไม่เลอะสีหรือกาวเลย…’ ขณะที่ท่านพ่อเลอะเต็มตัวไปหมด ต่อมาทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯเริ่มทรงเรือใบด้วย ซึ่งตอนนั้นดิฉันพอมีพื้นฐานด้านการเป็นลูกเรืออยู่บ้าง เพราะติดตามท่านพ่อไปพัทยาทุกสัปดาห์ ซึ่งดิฉันและน้องๆพอจะแล่นเรือใบเป็นจากการที่เคยเป็นลูกเรือของท่านพ่อกันทุกคน เวลานั้นในหลวงรัชกาลที่ ๙ และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯทรงเรือใบประเภทเอนเตอร์ไพร้ส์ ซึ่งมีผู้เล่นสองคน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเรือใบกับท่านพ่อดังที่รับสั่งว่า ท่านพ่อเป็นทั้ง ‘ครู’ ภาษาไทย (Teacher) และ ‘ครูว์’ ภาษาอังกฤษ (Crew ลูกเรือ) ของพระองค์ท่าน”

การได้ตามเสด็จทรงเรือใบนี้ ทำให้มีเหตุการณ์ที่ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต เมื่อปี พ.ศ. 2506 คุณหญิงนาวอายุได้ 24 ปี

“ตอนนั้นไปส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ ๙ และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯทรงแข่งเรือใบไปสวนสนประดิพัทธ์ จำได้ว่าคุณแม่เป็นลูกเรือของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ส่วนท่านพ่อทรงเรือใบประเภทโอเค (International OK Class) ที่เล่นคนเดียว ไม่ต้องมีลูกเรือ

“ครั้งนั้นพระองค์ท่านไม่ทรงมีลูกเรือ ทรงหันมาหาลูกเรือ แล้วทรงชี้มาที่ดิฉันให้มาทำหน้าที่ลูกเรือถวาย รู้สึกตื่นเต้นมากที่สุดในชีวิต ระหว่างทำหน้าที่เป็นลูกเรือราชปะแตนถวายรู้สึกประหม่ามาก…เมื่อเรือพระที่นั่งราชปะแตนแล่นผ่านหมู่เรือรักษาการณ์ ทหารเรือทั้งลำตั้งแถวถวายความเคารพ ดิฉันตื่นเต้นมาก ดูแถวทหารเรือในเรือรักษาการณ์ แล้วดูใบเรือ คอยดึงคอยผ่อนไม่ให้ใบเรือสะบัด บางครั้งก็ต้องขึ้นไปถ่วงนอกเรือไม่ให้เรือเอียง แต่ในที่สุดผลการแข่งขันทรงได้ที่สอง รางวัลเป็นไฟแช็กสลัก ‘วันเพ็ญ 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดัจฉราพิมล’ ดิฉันยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดีจนทุกวันนี้

“เมื่อขึ้นฝั่งหลังจบการแข่งขัน พระองค์ท่านมีรับสั่งเล่าให้ใครๆฟังถึงดิฉันว่า ‘เขานั่งหน้าอย่างนี้ (คุณหญิงนาวทำคิ้วขมวด) ตลอดเวลา’ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมที่ดิฉันไม่เคยลืมเลือน”

จนเมื่อปี พ.ศ.2538 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร ช่วงเดียวกับงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  ดิฉันได้ไปร่วมงานพระบรมศพแทบทุกวัน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อดิฉันคราวได้ตามเสด็จไปทรงสกีที่เมืองซาเนนโมเซอร์ (Saanenmõser) สวิตเซอร์แลนด์

untitled
หม่อมราชวงศ์ดัจฉราพิมล รัชนี

“วันหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ รับสั่งกับดิฉันเรื่องน้ำท่วมว่า ‘จะให้ช่วยไปถ่ายรูปมาว่าน้ำท่วมที่ตรงไหนบ้าง’ เวลานั้นดิฉันใช้กล้องถ่ายรูปธรรมดาของตัวเอง ภาพจึงออกมาเบลอๆ ไม่ชัด จึงพระราชทานกล้อง Minolta พร้อมกับทรงสอนอย่างละเอียด จากนั้นก็เริ่มถ่ายรูปทูลเกล้าฯถวายทุกวัน ทรงให้การบ้านว่ามีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรอะไรตรงไหน ดิฉันก็ไปถ่ายมาถวาย

“บางครั้งมีรับสั่งว่า ‘ไปดูตอม่อถนนบางนา-ตราด’ด้วยความไม่รู้ก็กราบบังคมทูลถามว่า ต้องไปถึงจังหวัดตราดเลยไหมเพคะ รับสั่งกลับมาว่า ‘ไม่ต้องถึง’ (หัวเราะ)

“วันรุ่งขึ้นก็ตรงไปใต้สะพาน สำรวจตอม่อทุกสะพานถนนบางนา-ตราด ทำให้พบปัญหาว่าบางแห่งที่น้ำไม่สามารถไหลผ่านได้เพราะมีคนไปสร้างบ้านอยู่ใต้สะพานขวางทางน้ำไหล บางแห่งก็ทิ้งกองโฟมไว้ จึงกั้นทางน้ำ ตอนไปดูสภาพน้ำท่วมที่ถนนเจริญนครและจรัญสนิทวงศ์ น้ำท่วมสูงมาก ต้องถอดรองเท้าลงเดิน ก็ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับชาวบ้านแถวนั้นว่าต้องการอะไร จนมาถึงบ้านริมคลองบางกอกน้อยหลังหนึ่งตรงข้ามวัดศรีสุดาราม เป็นของคุณยายเล็ก หนูพิมพ์ทองบอกว่า อยากได้เรือท้องแบน เพราะน้ำเข้าบ้านจนไม่มีที่นอน ดิฉันก็กลับมากราบบังคมทูล วันรุ่งขึ้นก็พระราชทานเรือท้องแบนหนึ่งลำ คุณยายเล็กซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมาก แม้น้ำจะลดเป็นปกติแล้ว คุณยายก็ยังคงนอนบนเรือท้องแบนนั้นจนวันสุดท้ายของชีวิต…

“หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นก็โปรดเกล้าฯให้ดิฉันมาช่วยงานที่มูลนิธิโครงการหลวง ปัจจุบันเป็นเลขานุการประธานมูลนิธิโครงการหลวงประจำกรุงเทพฯ รองประธานคณะกรรมการฝ่ายการตลาดและที่ปรึกษาฝ่ายงานหัตถกรรม มูลนิธิโครงการหลวง เป็นพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมที่ชีวิตนี้ได้ถวายการรับใช้ และเป็นบุญของชาวไทยที่มีพระมหากษัตริย์เช่นพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้…”

ที่มา : นิตยสาร แพรว ปี 2559 ฉบับที่ 883 (10 มิ.ย. 59)
ภาพ : Thailandimage

ในหลวง

14 เรื่องเล่าพระราชอารมณ์ขันของในหลวง เก็บไว้อ่านยามคิดถึงพ่อ!

Alternative Textaccount_circle
ในหลวง
ในหลวง

แพรวได้รวบรวมเรื่องเล่ามุมน่ารัก พระราชอารมณ์ขันของในหลวงที่เกิดขึ้นตามพระจริยวัตรของพระองค์ท่าน ยามเมื่อเสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์ท่านอยู่เป็นประจำ เรื่องราวบางส่วนนี้เมื่อได้ฟังแล้วยอมรับว่าอดอมยิ้มตามไม่ได้จริงๆ 

att00008b

“วันนี้ฉันเป็นในหลวง…คงผ่านซุ้มนี้ได้แล้วนะ…”
ระยะแรกราวปี พ.ศ.2498 เป็นต้นมา คราใดที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวลนั้น จะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปยังท้องที่ห่างไกลทุรกันดารย่านหัวหิน หนองพลับ แก่งกระจาน ด้วยพระองค์เอง ทำนองเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 โดยที่ราษฎรไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าทรงเสด็จฯมาถึงแล้ว

วันหนึ่งทรงขับรถยนต์พระที่นั่งผ่านไปถึงยังบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านหมู่บ้านห้วยมงคล อำเภอหัวหิน ซึ่งราษฎรกำลังช่วยกันตกแต่งประดับซุ้มรับเสด็จกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง และไม่คาดคิดว่าเป็นรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์ ต้องให้ในหลวงเสด็จฯก่อน แล้วพรุ่งนี้ถึงจะลอดผ่านซุ้มได้…”วันนี้ห้ามลอดผ่านซุ้มนี้ เพราะขอให้ในหลวงผ่านก่อนนะ”…ทรงขับรถพระที่นั่งเบี่ยงข้างทาง ไม่ลอดซุ้มดังกล่าว

วันรุ่งขึ้นเมื่อทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านนี้อย่างเป็นทางการ พร้อมคณะข้าราชบริพารผู้ติดตาม และมีพระดำรัสทักทายกับชายผู้นั้นที่เฝ้าอยู่หน้าซุ้มเมื่อวันวานว่า “วันนี้ฉันเป็นในหลวง…คงผ่านซุ้มนี้ได้แล้วนะ…”


“แหม ดีนะที่ชมว่าใช้ได้  แถมจะปรับตำแหน่งให้เป็นช่างอีกด้วย”
มีเรื่องหนึ่งเคยฟังจากผู้ใหญ่เล่าเมื่อนานมาแล้ว มีช่างไปทำฝ้าเพดานในวัง คนหนึ่งกำลังยืนบนบันได ส่วนหัวอยู่ใต้ฝ้า อีกคนคอยจับบันไดอยู่ด้านล่าง พอดีในหลวงเสด็จฯมา คนที่อยู่ข้างล่างเห็นในหลวงก็ก้มลงกราบ คนอยู่ด้านบนไม่เห็นก็บอกว่า “เฮ้ย จับดีๆหน่อยสิ อย่าให้แกว่ง” ในหลวงทรงจับบันไดให้ เขาก็บอกว่า “เออ ดีๆ เสร็จงานนี้จะให้เป็นช่างจริง” (สงสัยคงจะเพิ่งเข้ามาทำงาน ยังไม่ผ่านโปร) พอเสร็จก็ก้าวลง พอเห็นว่าในหลวงทรงจับบันไดให้ ถึงกับเข่าอ่อนจะตกบันได รีบลงมาก้มกราบ ในหลวงตรัสกับช่างว่า “แหม ดีนะที่ชมว่าใช้ได้  แถมจะปรับตำแหน่งให้เป็นช่างอีกด้วย”


“ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้น เชื้อโรคตายหมด”
เรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านให้เพื่อนๆฟังตั้งหลายเรื่อง วันนี้เริ่มเรื่องนี้ก่อนแล้วกันนะ เรื่องมีอยู่ว่า เหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2513 วันนั้นท่านเสด็จฯไปหมู่บ้านท้ายดอยจอมหด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ใหญ่บ้านลีซอกราบทูลชวนให้ไปแอ่วบ้านเฮา ท่านก็เสด็จฯตามเขาเข้าไปในบ้านซึ่งทำด้วยไม้ไผ่และมุงหญ้าแห้ง เขาเอาที่นอนมาปูสำหรับประทับ แล้วรินเหล้าทำเองใส่ถ้วยที่ไม่ค่อยจะได้ล้าง จนมีคราบดำๆจับ ทางผู้ติดตามรู้สึกเป็นห่วง เพราะปกติไม่ทรงใช้ถ้วยมีคราบ จึงกระซิบทูลว่า ควรจะทรงทำท่าเสวย แล้วส่งถ้วยพระราชทานผู้ติดตามจัดการ  แต่ท่านก็ทรงดวดเอง กรึ๊บเดียวเกลี้ยง ตอนหลังรับสั่งว่า “ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้น เชื้อโรคตายหมด” ซึ้งไหมล่ะ???


“ทำไมหน้าเหมือนในหลวงจัง?
เคยมีคนเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งพ่อหลวงเสด็จฯไปที่ตลาดสด ทรงแวะไปเสวยก๋วยเตี๋ยว แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวเห็นก็สงสัย จึงทูลถามท่านว่า “ทำไมหน้าเหมือนในหลวงจัง?” ท่านไม่ตอบอะไร ได้แต่ยิ้มๆ ทรงจ่ายเงินค่าก๋วยเตี๋ยวแล้วตรัสชมว่าก๋วยเตี๋ยวอร่อย ส่วนแม่ค้ามารู้ทีหลังว่าเป็นท่านก็ได้แต่ปลื้ม


“ผู้หญิงตกเป็นของใคร?”
บางครั้งในหลวงของเราก็ต้องทรงทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว เช่น ชาวเขาคนหนึ่งได้กราบบังคมทูลร้องทุกข์ว่าเขาได้ให้หมูสองตัวกับเงินก้อนหนึ่งแก่เมีย แต่พอเมียได้เงินแล้วกลับหนีตามชู้ไป พระองค์ก็ทรงตัดสินว่า สามีจะต้องได้รับเงินชดใช้ และให้ปล่อยภรรยาไปตามใจของเธอ ญาติของทั้งสองฝ่ายก็พอใจ รับสั่งเล่าด้วยพระราชอารมณ์ขันว่า “แต่ที่แย่ก็คือ ฉันต้องควักเงินให้ไป…ผู้หญิงคนนั้นก็เลยต้องตกเป็นของฉัน” รับสั่งแล้วก็ทรงพระสรวล สักครู่หนึ่งหญิงผู้นั้นก็นำสุราพื้นเมืองมาถวาย “ถ้าฉันเมาพับไป อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่รู้…”


“สามร้อยตุ่ม”
มีหลายหนที่ทรงงานติดพันจนมืดสนิท ท่ามกลางฝูงยุงที่รุมตอมเข้ามากัดบริเวณพระวรกาย รอบพระศอ พระกร พระพักตร์ รวมทั้งแมลงต่างๆที่เข้ามารุมรบกวนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะยังทรงทอดพระเนตรแผนที่อยู่ภายใต้แสงไฟฉายที่มีผู้ส่องถวายอย่างไม่สะดุ้งสะเทือน อย่างมากที่ทรงทำคือโบกพระหัตถ์ปัดไล่เบาๆเท่านั้น ครั้งหนึ่งมีรับสั่งเล่าเรื่อง “ยุง” ด้วยพระอารมณ์ขันว่า

“…ที่บางจาก แต่ไม่มีจากหรอกนะ ยุงชุมมากเลย ไปยืนดูแผนที่เลยโดนยุงรุมกัดขาทั้งสองข้าง กลับมาขาบวมแดง  ไปสกลนครกลับมาแล้วถึงได้ยุบลง มองเห็นเป็นตุ่มแดง ลองนับดูได้ข้างละร้อยห้าสิบตุ่ม สองข้างรวมสามร้อยพอดี..”


“แขนข้างนี้ไม่ได้ตกลงไปด้วย ตกข้างเดียว”
พระองค์ท่านเสด็จฯไปที่จังหวัดสกลนครเพื่อเยี่ยมเยียนชาวบ้าน และพระองค์ตรัสถามชายคนหนึ่งที่มาเข้าเฝ้าฯ เพราะแขนเจ็บเข้าเฝือก ในหลวงรับสั่งถามว่า “แขนเจ็บไปโดนอะไรมา” ชายคนนั้นตอบว่า “ตกสะพาน” แล้วในหลวงรับสั่งกลับไปอีกว่า “แล้วแขนอีกข้างหนึ่งล่ะ” ชายคนนั้นก็ตอบกลับมาอีกว่า “แขนข้างนี้ไม่ได้ตกลงไปด้วย ตกข้างเดียว” ในหลวงของเราก็ทรงพระสรวล


“ไม่เคยชิมสักที”
พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรทางภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส ทางใต้นี้มีปัญหาเรื่องดินเป็นกรด มีความเค็ม พระองค์จึงรับสั่งถามกับชาวบ้านที่มาเฝ้ารับเสด็จว่า “ดินหลังบ้านเป็นอย่างไร เค็มไหม” ชาวบ้านก็มองหน้ากันแล้วทำหน้างง ก่อนตอบกลับมาว่า “ไม่เคยชิมสักกที” ในหลวงก็รับสั่งกับข้าราชบริพารที่ตามเสด็จว่า “ชาวบ้านแถวนี้เขามีอารมณ์ขันกันดีนะ”


“…เราจับได้แล้ว…”
ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ…ครั้งหนึ่งในงานนิทรรศการ “ก้าวไกลไทยทำ” วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 The BOI Fair 1995 Commemorates the 50th Anniversary of His Majesty King Bhumibol Adulyadej’s Reign” (Board of Investment Fair 1995 BOI) หลังจากที่เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามศาลาการแสดงต่างๆ ก็มาถึงศาลาโซนี่ (อิเล็กทรอนิกส์) ภายในศาลาแต่งเป็น “พิภพใต้ทะเล” โดยใช้เทคนิคใหม่ล่าสุด “Magic Vision” น้ำลึก 20,000 Leagues จะมีช่วงให้เห็นสัตว์ทะเลว่ายผ่านไปมา ปลาตัวเล็กๆสีสวยจะว่ายเข้ามาอยู่ตรงหน้า ข้อสำคัญเขาเขียนป้ายไว้ว่า…ถ้าใครจับปลาได้ เขาจะให้เครื่องรับโทรทัศน์ พวกเราไขว่คว้าเท่าไหร่ก็จับไม่ได้ เพราะเป็นเพียงแสงเท่านั้น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า “เราจับได้แล้ว” พร้อมทั้งทรงยกกล้องถ่ายรูปชูให้ผู้บรรยายดู แล้วรับสั่งต่อ “อยู่ในนี้” ต่อจากนั้นคงไม่ต้องเล่า เพราะเมื่ออัดรูปออกมาก็จะเป็นภาพปลาและจับต้องได้ บริษัทโซนี่จึงต้องน้อมเกล้าฯถวายเครื่องรับโทรทัศน์ตามที่ประกาศไว้…


“…ทุกข์ยามดึก…”
พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพระดาบส อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข…การที่ได้ทรงพระกรุณารับฟังและติดต่อทางวิทยุตำรวจเป็นประจำ จึงทรงทราบความลำบาก ความเดือดร้อนของข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย

…ตำรวจประจำตู้ยามบางคนคับแค้นใจเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว ปัญหาการครองชีพ เมื่อเสพสุราแล้วครองสติไม่ได้ ไม่รู้จะระบายความในใจกับใคร จึงได้พล่ามบรรยายมาทางวิทยุ บางคนหลับยามไม่พอ กดคีย์ไมโครโฟนค้าง ทำให้มีเสียงกรนออกอากาศมาด้วย บางคนตะโกนร้องเพลงลูกทุ่งออกอากาศมาเป็นการแก้เหงาก็มี

…ที่จัดได้ว่าโชคดีคือ ศูนย์ควบคุมข่ายตำรวจแห่งชาติ “ปทุมวัน” กล่าวคือ ในยามดึกวันหนึ่ง พนักงานวิทยุคนหนึ่งได้ระบายความเดือดร้อนเนื่องจากหิวโหย ไม่สามารถหาอาหารรับประทานได้เพราะต้องเข้าเวร เมื่อทรงรับฟังแล้วทรงสงสาร จึงได้รับสั่งทางวิทยุกับผู้เขียนในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นโดยตรงว่า “โปรดเกล้าฯพระราชทานตู้เย็นเพื่อเก็บอาหารสำรองสำหรับเวรยามดึกให้ 1 ตู้”


“ทรงพระนามว่าเกาะช้าง”
ครั้งหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางทะเล ระหว่างทางผ่านเกาะช้าง ทรงถามข้าราชการท้องถิ่นคนหนึ่งว่า “เกาะนั้นชื่ออะไร” ข้าราชการทูลตอบว่า “เกาะนั้นทรงพระนามว่า เกาะช้างพะยะค่ะ” ตรัสว่า “ถ้างั้นก็เป็นญาติกับฉันน่ะสิ” (ถ้างงก็กลับไปอ่านอีกรอบ)


“ส่งเสี่ยกลับวัง”
เมื่อสมัยก่อนเสด็จแปรพระราชฐานไปยังหัวหิน มักจะเสด็จฯออกไปยังตลาดหัวหินบ่อยครั้ง และบางครั้งเสด็จฯไปโดยลำพัง มีครั้งหนึ่งระหว่างจะเสด็จฯกลับ ซาเล้งที่ตลาดทูลถามว่า “ไปไหมเสี่ย” ปรากฎว่าเสี่ยพระองค์นี้สนพระทัย ก็ตรัสจ้างไปยังพระราชวังไกลกังวล โดยที่ซาเล้งคนนั้นไม่รู้ นึกว่าเป็นข้าราชการ แต่พอถึงหน้าพระราชวัง ทหารสั่งวันทยาวุธเท่านั้นแหละ ซาเล็งถึงรู้ว่าเสี่ยที่มาส่งน่ะเป็นใคร


“เรียกน้าสิยาย!!”
วันหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรที่ต่างจังหวัด ก็มีชาวบ้านมาต้อนรับในหลวงมากมาย ซึ่งพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาตามลาดพระบาทหลวง ทีนี้ที่แถวหน้าก็มีหญิงชราแก่คนหนึ่งได้ก้มลงกราบแทบพระบาท แล้วก็เอามือของแกมาจับพระหัตถ์ของในหลวง แล้วหญิงชราท่านนั้นก็พูดว่า…ยายดีใจเหลือเกินที่ได้เจอในหลวง แล้วก็พูดกับในหลวงว่า ยายอย่างโน้นยายอย่างนี้อีกตั้งมากมาย แต่ในหลวงก็ทรงเฉยๆ มิได้รับสั่งตอบว่ากระไร

ทีนี้พวกข้าราชบริพารก็มองหน้ากันใหญ่ กลัวว่าพระองค์จะทรงพอพระราชหฤทัยหรือไม่ แต่พอพวกเราได้ยินพระองค์รับสั่งตอบกับหญิงชราคนนั้น ก็ทำให้เราถึงกับกลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหว เพราะพระองค์ตรัสว่า “เรียกว่ายายได้อย่างไร อายุอ่อนกว่าแม่ฉันตั้งเยอะ ต้องเรียกน้าสิถึงจะถูก”


“ชื่อเดียวกันเลย”
เรื่องการใช้ราชาศัพท์กับในหลวงดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ใครต่อใครเกร็งกันทั้งแผ่นดิน เพราะเรียนมาตั้งแต่เล็กแต่ไม่เคยได้ใช้ เมื่อออกงานใหญ่จึงตื่นเต้นประหม่า ซึ่งเป็นธรรมดาของคนทั่วไป และไม่เว้นแม้กระทั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายรายงาน หรือกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในพระราชานุกิจต่างๆนานัปการ

ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ เคยเล่าให้ฟังว่า ด้วยพระบุญญาธิการและพระบารมีในพระองค์นั้นมีมากล้น จนบางคนถึงกับไม่อาจระงับอาการกิริยาประหม่ายามกราบบังคมทูลฯ จึงมีผิดพลาดเสมอ แม้จะซักซ้อมมาเป็นอย่างดีก็ตาม

ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน มีข้าราชการระดับสูงผู้หนึ่งกราบบังคมทูลรายงานว่า “ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า “พลตรีภูมิพลอดุลยเดช” ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบบังคมทูลรายงาน…” เมื่อคำกราบบังคมทูล ในหลวงทรงแย้มพระสรวลอย่างมีพระอารมณ์ดีและไม่ถือสาว่า “เออ ดี เราชื่อเดียวกัน…” ข่าวว่าวันนั้นผู้เข้าเฝ้าฯต้องซ่อนหัวเราะขำขันกันทั้งศาลาดุสิดาลัย เพราะผู้กราบบังคมทูลรายงานตื่นเต้นจนกระทั่งจำชื่อตนเองไม่ได้

 

ข้อมูลและภาพ : doisaengdham.org
เรียบเรียง : Ppee_แพรวดอทคอม

 

“30 บาทรักษาได้หรือไม่ คนยากจนจะมีโอกาสไหม” จากพระทนต์พระราชาสู่รากฟันเทียมประชาชน

“30 บาทรักษาได้หรือไม่ คนยากจนจะมีโอกาสไหม” จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยประชาชนในเรื่องของรากฟันเทียม นับเป็นจุดกำเนิดของนวัตกรรมทางทันตแพทย์ครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง “รศ. ทพ. ดร.ปฐวี คงขุนเทียน” และ “วรวุฒิ กุลแก้ว”

1 ทันตแพทย์ 1 วิศวกร สองผู้ผลิตสู่คนไข้ของพระราชา แม้ทั้งสองไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 พวกเขาจึงได้ร่วมวันคืนที่มีทั้งน้ำตาแห่งความท้อแท้ และน้ำตาแห่งความปีติยินดีร่วมกัน หมอปอมหรือทันตแพทย์ปฐวีเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า “เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงรับการรักษาด้วยรากพระทนต์เทียมที่ทำจากไททาเนียม ก็ทรงพอพระทัยมาก รับสั่งถาม ผศ.วิจิตร ธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูงว่า ’30 บาทรักษาได้หรือไม่ คนยากจนจะมีโอกาสไหม’ อาจารย์วิจิตรกราบบังคมทูลว่า ‘เนื่องจากเมืองไทยยังผลิตไม่ได้ ราคาค่ารากเทียมต่อซี่รวมการรักษาจึงเป็นแสนบาท’

01

“พระองค์ท่านจึงมีรับสั่งต่อว่า ถ้าสมเด็จพระราชชนนียังมีพระชนมชีพ อยากให้รักษาด้วยรากฟันเทียม เพราะบ่นว่าเจ็บเสมอเวลาใช้พระทนต์ปลอม ฉะนั้นทันตแพทย์อย่าคิดจะรักษาอย่างเดียว ให้ค้นคว้าและวิจัยด้วย จากกระแสพระราชดำรัสวันนั้น จึงกลายเป็นโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ตอนนั้นผมเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน เยอรมนี มาเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์วิจิตรจึงเชิญมาร่วมงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เพราะที่เยอรมนีเรื่องรากฟันเทียมถือเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง ซึ่งผมคิดว่าศักยภาพของทันตแพทย์ไทยน่าจะทำได้ อาจารย์จึงเริ่มตั้งทีมคิดค้นร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง ซึ่งขณะนั้นเข้าเป็นโครงการในสำนักงาน สวทช. (สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาฯ และมหิดล กระทั่งได้ตัวต้นแบบรากฟันเทียม”

คุณวรวุฒิ อดีตวิศวกรบริษัทปูนซีเมนต์ ยอมรับว่าแม้เคยทำเรือรบหลวงจักรีนฤเบศร ใช้อะไหล่เป็นล้านชิ้น แต่เครื่องมือผลิตรากฟันเทียมที่มีอุปกรณ์เพียง 7 ชิ้นนี้ ถ้าไม่ใช่เป็นการทำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คงถอดใจ “เมื่อปี พ.ศ.2549 – 2550 เรื่องรากฟันเทียมยังใหม่มาก จึงไม่มีใครสนใจยอมลงทุนสร้างโรงงาน ผมมองว่าโครงการนี้ทำเพื่อถวายในหลวง จึงกู้เงิน 30 ล้านบาทในนามส่วนตัว รู้ว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จจะมีเงินงบประมาณในการซื้อเพื่อให้บริการประชาชน แต่ปรากฏว่าสร้างโรงงาน สร้างเครื่องมือเสร็จ ความที่เมืองไทย ณ ขณะนั้นไม่มี พรบ.เครื่องมือแพทย์ เราจึงต้องให้ทางคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านสาธารณสุขมาตรวจมาตรฐาน

02

“โดยมีข้อกำหนดว่าด้วยกฎหมายเครื่องมือแพทย์เทียบเท่ากับกฎหมายของอเมริกา เป็นกฎหมายที่คุ้มครองประชาชน 500 ล้านคนในสหภาพยุโรป หากเมื่อไหร่ที่ได้รับการประทับตรา คนไข้จะไม่มีอันตรายจากผลิตภัณฑ์นั้นเลย สามารถขายได้ในยุโรป นี่ละคือจุดเริ่มต้นของน้ำตา ปรากฏว่าผลิตไป ตรวจไป พัฒนาไปก็ไม่ผ่านมาตรฐานสักที ผมเริ่มติดหนี้ธนาคาร เงินที่เตรียมไว้สำหรับเงินเดือนพนักงานต้องนำมาจ่ายหนี้ ดูสภาพการณ์แล้วไม่น่ารอด อะไรจะเกิดก็เกิด ผมทำเพื่อพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อประเทศชาติ อย่างไรต้องทำให้จบ ไม่น่าเชื่อว่าเพราะพระบารมีจริงๆ หลังจากที่ทั้งผมและทีมของหมอปอมกัดฟันเดินหน้าต่อ ในที่สุดรากฟันเทียมของคนไทยก็ผ่านการรับรองมาตรฐานเทียบเท่ายุโรป”

หมอปอมเล่าถึงประสบการณ์ตอนออกหน่วยแพทย์ว่า “เราเริ่มอบรมทันตแพทย์ประจำโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศที่เข้าโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เพราะการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมเป็นการรักษาขั้นสูง ทันตแพทย์ต้องได้รับการฝึกอบรมก่อนจึงจะให้การรักษาได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยคือผู้สูงอายุทั่วประเทศ 10,000 คน ครั้งหนึ่งที่ไหนผมจำไม่ได้ แต่คำที่คุณลุงท่านหนึ่งพูด ชีวิตนี้คงลืมไม่ได้ ‘ตอนที่ไม่มีที่ทำกิน ในหลวงก็มาดูแลให้มีที่ทำกิน ไม่มีน้ำ ท่านก็หาน้ำมาให้ พอแก่ไม่มีฟันเคี้ยว ท่านก็พระราชทานฟันปลอม วันนี้ฟันปลอมไม่แน่น ก็พระราชทานรากฟันเทียมให้อีก’

“ผมเข้าใจที่ท่านเคยรับสั่งว่า ‘ทำงานกับเราไม่มีเงินจะให้ นอกจากได้ดื่มด่ำความสุขด้วยกัน’ เป็นเช่นนั้นจริงๆ” คุณวรวุฒิเสริมว่า “ปีที่แล้วเราไปพัทลุง เครื่องบินลงที่หาดใหญ่ แล้วต่อรถตู้เข้าไปในพื้นที่ คนไข้มารอประมาณ 2,000 คน คืนนั้นพายุเข้า ฝนตก ไฟดับ น้ำท่วม วันรุ่งขึ้นขณะที่เราเดินทางกลับ ปรากฏว่าน้ำท่วมทางขาด ผมติดเสื้อตราสัญลักษณ์ ภปร.ไปด้วย ก็ขอบารมีพระองค์ทรงช่วยคุ้มครองให้กลับไปขึ้นเครื่องได้ เพราะเป็นไฟลต์สุดท้าย พอวนรถกลับ เจอชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซค์สวนมา ผมให้ช่วยนำทางไปที่สนามบิน แม้จะเสนอเงิน 500 บาท แต่เขาไม่ไป ผมบอกว่าเป็นคณะแพทย์มาฝังรากฟันเทียมให้ผู้ป่วยที่พัทลุงถวายในหลวง คำว่า ‘ในหลวง’ ลุงรีบสตาร์ทมอเตอร์ไซค์นำทางให้เลย วันนั้นพอขึ้นเครื่องปุ๊บ รู้สึกเหมือนรอดตาย”

1

วันแห่งความปลื้มปีติหลังจากโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา พวกเขายังต่อยอดพัฒนาทำฟันเทียมเฉพาะซี่ และเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หมอปอมเป็นตัวแทนเล่าถึงวินาทีนั้นว่า “วันเข้าเฝ้าฯ นำโดยศาสตราจารย์พิเศษ ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช หัวหน้าทันตแพทย์ประจำพระทนต์ สิ่งที่ผมคาดไม่ถึงคือ พระองค์ท่านทอดพระเนตรทุกคนและทีละคนจนครบทั้งคณะ และทอดพระเนตรวิดีโอที่เราบันทึกตอนออกหน่วย ยิ่งถึงตอนที่ทันตแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลในชนบทพูดว่า ‘ไม่เคยแม้แต่จะได้เห็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่พอได้ทำโครงการนี้เหมือนได้รับใช้ใกล้ชิดใต้เบื้องพระยุคลบาท’ พระองค์ท่านแย้มพระสรวล เราเห็นภาพนั้นแล้วชื่นใจ พระองค์ท่านรับสั่งว่า ‘ขอบใจทุกคน รู้ว่ายากลำบาก แต่มีประโยชน์’ ขณะที่พระองค์ท่านรับสั่งคำว่า ‘ขอบใจทุกคน’ ทรงทอดพระเนตรพวกเราทุกคน และพระสุรเสียงแต่ละคำชัดเจน วินาทีนั้นผมไม่อยากได้อะไรแล้ว นี่คือสูงสุดของการได้เกิดเป็นคนไทย”

คุณวรวุฒิเสริมว่า “หลังจากที่พวกเราเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯถวาย ปรากฏว่าพระองค์ท่านพระราชทานกลับคืนมายังหน่วยทันตกรรมพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช เป็นผู้อำนวยการ ดังนั้นเราต้องนำฟันเทียมพระราชทานไปแจกจ่ายให้กับประชาชน จึงเกิดโครงการฟันเทียมและรากฟันเทียมพระราชทาน 999 ชุด พร้อมกับจัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิศูนย์ทันตนวัตกรรม โดยผมลาออกจากงานประจำมาเป็นเลขาธิการมูลนิธิเช่นกันกับหมอปอม เหนือสิ่งอื่นใดคือที่พระองค์รับสั่งครั้งแรก ณ วันนี้เป็นจริงแล้วครับ คือ 30 บาทรักษาได้”

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับที่ 774 ปักษ์วันที่ 25 พ.ย. 54

ในหลวงรัชกาลที่ 9

เผยมุมโรแมนติกในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรักพระราชินี ‘เหมือนเคย’ มิเปลี่ยนตั้งแต่แรกเจอ

ในหลวงรัชกาลที่ 9
ในหลวงรัชกาลที่ 9

เรื่องราวความรักระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นเรื่องราวที่คนไทยได้ฟังเมื่อใด หรือฟังซ้ำเกินหนึ่งครั้งก็ยังคงซาบซึ้ง ประทับใจมิเคยเปลี่ยน

ตั้งแต่เรื่องราว “รักแรกพบ” ในมุมของในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ “เกลียดแรกพบ” ในมุมของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อพระองค์ทั้งสองได้พบกันครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานสัมภาษณ์ถึงเรื่องราวเกลียดแรกพบ ก่อนจะกลายเป็นความรักผ่านโทรทัศน์ช่อง BBC จากสารคดี Soul of a Nation – The Royal Family of Thailand (ศูนย์รวมใจของชาติ – พระราชวงศ์ไทย) ซึ่งเคยออกอากาศเมื่อปี พ.ศ.2523 ว่า

ในหลวงรัชกาลที่ 9“เกลียดแต่แรกพบ เพราะพระองค์ตรัสว่าจะเสด็จมาถึงในเวลาสี่โมงเย็น แต่กลับเสด็จมาถึงในเวลาหนึ่งทุ่ม ทรงปล่อยให้ฉันยืนรออยู่ตรงนั้น และได้แต่ซ้อมถอนสายบัว ซ้อมแล้วซ้อมอีก ดังนั้นจึงเป็นความเกลียดแต่แรกพบ

“จากนั้นมันก็คือความรัก เป็นสิ่งธรรมดาๆ ที่คุณเคยได้ยิน รักแรกพบ ฉันไม่รู้ว่าพระองค์ทรงรักฉัน เพราะขณะนั้นฉันมีอายุเพียง 15 ปี และตั้งใจว่าจะเป็นนักเปียโน นักเปียโนคอนเสิร์ต

“พระองค์ประชวรอย่างหนักและพำนักอยู่ในโรงพยาบาล ตำรวจโทร.แจ้งพระราชชนนีของพระองค์ และพระราชชนนีเสด็จไปทันที แต่แทนที่จะตรัสทักทายพระราชชนนี พระองค์ทรงหยิบรูปของฉันออกมาจากกระเป๋า โดยที่ฉันไม่ทราบเลยว่าทรงมีรูปของฉันอยู่ และตรัสว่า ‘ช่วยไปตามเธอมา ฉัน…ฉันรักเธอ ช่วยไปตามเธอมา’

“ฉันคิดเพียงว่าจะอยู่กับผู้ชายที่ฉันรักเท่านั้น ไม่ได้คิดถึงเรื่องหน้าที่และภาระในฐานะพระราชินีเลย”

ในหลวงรัชกาลที่ 9หลังจากนั้น ทั้งสองพระองค์ก็ได้จัดพระราชพิธีหมั้นและพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ครองคู่เคียงข้างกันในทุกช่วงยามทั้งทุกข์และสุข นำพาความสุขสู่ใจชาวไทยกันถ้วนหน้า ถึงแม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงงานหนักเพราะทรงรักและห่วงใยพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่ใดเปรียบไม่ได้แค่ไหน แต่ความรักและความห่วงใยที่มีต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้เป็นรักแรกพบ และเป็นรอยยิ้มของพระองค์ ตามที่พระองค์เคยได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนไว้ว่า She is my smile. ก็ไม่น้อยลงไปตามกาลเวลาเลย

ล่าสุด ทางเฟซบุ๊กชื่อว่า Pinkan Tansuwanrat หรือคุณกุ๊ก-ปิ่นกาญจน์ ตันสุวรรณรัตน์ ลูกสาวของพลเรือเอก สุวรรณ ตันสุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการพิเศษ กรมราชองครักษ์ ผู้ถวายงานใกล้ชิดในหลวง ก็ได้โพสต์เรื่องราวความรักสุดแสนโรแมนติกระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไว้ดังนี้

ในหลวงรัชกาลที่ 9

ในหลวงรัชกาลที่ 9นับเป็นเรื่องราวความรักของทั้งสองพระองค์ที่หลายคนไม่เคยรับรู้มาก่อน และเมื่อได้รับรู้แล้วก็ทำให้ลูกของพ่อหลวงซาบซึ้งและประทับใจไปตามๆ กัน เพราะนอกจากในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต การรู้จักขยันอดทน หรือประหยัดอดออมแล้ว พระองค์ยังเป็นต้นแบบในฐานะคู่รัก คู่ชีวิต ที่คอยหมั่นเติมความรักให้แก่กันเหมือนวันแรกที่ได้เลือกพระราชินีมาเป็นคู่ชีวิต

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 9


เพลง เหมือนเคย – บอย โกสิยพงษ์

ข้อมูลและภาพ : แฟนเพจ Facebook: Pinkan Tansuwanrat, Supitcha Prakham

เรื่องเล่าจาก ดร.ธรณ์ เมื่อมหาปราชญ์ชวนจักรพรรดิญี่ปุ่นไปดูปลาที่คณะประมง

ทุกคนทราบว่าราชวงศ์ไทย – ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษ หลายคนทราบว่าปลานิลมาจากความสัมพันธ์ดังกล่าว แต่น้อยคนทราบว่า #ก่อนปลานิลยังมีปลาบู่ เมื่อสองกษัตริย์ชวนไปชมปลา #การทูตหยุดโลก #คือความหมายของเหลือเชื่อ

สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ทรงเป็น “มีนกร” (คำนี้หมายถึงผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลา เด็กประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เรียกตัวเองว่า “มีนกร” มาแต่ไหนแต่ไร)

พระองค์ทรงสนใจเรียนรู้เรื่องปลา จนจบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ ขณะนั้นพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นมกุฎราชกุมาร

ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างสองกษัตริย์ เริ่มจากกษัตริย์ของไทยเสด็จฯไปทรงเยือนญี่ปุ่นใน พ.ศ.2506 (27 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน) ก่อนเชิญมกุฎราชกุมารเสด็จเยือนไทย

มกุฎราชกุมารจากญี่ปุ่นเสด็จเยือนไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ.2507 ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ และจัดโปรแกรมช่วงหนึ่งให้ “ไปทอดพระเนตรปลา”

หากอ่านผ่านๆคุณอาจไม่คิดอะไร แต่ถ้าพิจารณาสักนิด มกุฎราชกุมารจากญี่ปุ่น มหาอำนาจแห่งเอเชีย เสด็จมาไทยเป็นครั้งแรก เราจะชวนไปดู “ปลา” ไหมครับ?

เป็นใครก็คงส่ายหน้า เป็นใครก็คงคิดไม่ถึง

เขามาเยือนเป็นครั้งแรก เราต้องจัดประชุมให้หนัก พูดคุยกันเรื่องการบ้านการเมือง มีงานเลี้ยงใหญ่โต ใครจะคิดถึงโปรแกรม “ไปดูปลา” แต่พระมหากษัตริย์ไทยคิด และเป็นความคิดที่ “หลุดกรอบ” มากที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอะเจอ

คนรุ่นนี้มักพูดกันถึงความคิดแปลกใหม่ เราเบื่อการยึดติด เบื่อโน่นนี่นั่น ถึงเวลานอกกรอบ เคยทราบไหมครับว่าใครคือผู้ “นอกกรอบ” ที่แท้จริง และนอกกรอบมาเมื่อกว่า 50 ปีก่อน

คนชอบปลามาเยือน ก็ต้องพาเขาไปดูปลาสิ

เป็นความคิดที่ห้าวหาญจนสุดจะจินตนาการไหว เมื่อคิดว่าทั้งผู้ต้อนรับและผู้มาเยือนเป็นกษัตริย์ ไม่มีใครทราบว่ามหากษัตริย์ของไทยคิดเช่นไร แต่ถ้าให้ผมวิเคราะห์ ผมคิดว่าท่านอาจคิดถึงประวัติศาสตร์ เพราะเคยมีคนทำมาก่อนหน้านั้น และทำจนสำเร็จ

ย้อนไปเดือนมีนาคม พ.ศ.2433 มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียตอบรับคำเชิญของในหลวงรัชกาลที่ 5 ถือเป็นครั้งแรกที่ราชวงศ์ชั้นสูงจากประเทศมหาอำนาจในยุโรปเสด็จมาเยือนไทย ในครั้งนั้นคือการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา รวมถึงการ “คล้องช้างครั้งสุดท้าย” ที่ช้างป่าถูกต้อนมากว่า 300 ตัว กลายเป็นความประทับใจที่ไม่มีวันลืมของมกุฎราชกุมาร ผู้ต่อมาทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ซาร์นิโคลัสที่ 2

และเมื่อสยามเดือดร้อนถึงขีดสุด รอบด้านล้วนตกเป็นอาณานิคม มหาอำนาจต่างชาติถึงขั้นเตรียมแบ่งประเทศเรา ในหลวงรัชกาลที่ 5 จำเป็นต้องเสด็จฯไปยุโรปเพื่อแสดงว่าเราเจริญแล้ว มิใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน ประเทศเดียวที่ต้อนรับเราด้วยไมตรีจิตคือรัสเซีย

เมื่อภาพคิงจุฬาลงกรณ์ประทับคู่ซาร์นิโคลัสที่ 2 ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ยุโรป ประเทศอื่นถึงยอมรับและต้อนรับพระองค์ จนทำให้ไทยยังคงเป็นไทยจนทุกวันนี้ และนั่นคือการทูตหยุดโลกที่เริ่มต้นจาก “ช้าง”

การทูตหยุดโลกเริ่มต้นอีกครั้งจาก “ปลา” ที่กษัตริย์แห่งไทยพามกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นไปทอดพระเนตร สถานที่คือพิพิธภัณฑ์ประมง ตั้งอยู่ในคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำงานของผม

บันทึกบอกไว้ มกุฎราชกุมารทรงพระสำราญมาก หยิบขวดโน้นยกขวดนี้ขึ้นมาดู รวมถึง “ปลาบู่”

ปลาบู่ดังกล่าวเป็นปลาบู่ที่พบในเมืองไทยเป็นครั้งแรกของโลก ตัวแรกๆที่ค้นพบและถูกนำมาศึกษาจนเป็นตัวอย่างต้นแบบอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

นั่นยังไม่แปลกอะไร แต่ความสำคัญมี 2 ประการ

1) ปลาบู่ชนิดนี้มีชื่อว่า “ปลาบู่มหิดล” ตั้งชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

2) ปลาบู่ชนิดนี้ค้นพบและตั้งชื่อโดย ดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ

มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นรักปลาเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อทรงทราบว่าปลาบู่ถูกตั้งชื่อตามพระราชบิดาของกษัตริย์ไทย ความประทับใจย่อมก่อเกิด

อย่าเอาความคิดเราไปตัดสินครับ ในสายของนักอนุกรมวิธาน การที่จะมีชื่อใครสักคนเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของสัตว์ชนิดหนึ่งเป็นเกียรติสุดๆ และชื่อนั้นถูกบันทึกไว้ใน พ.ศ.2496 นานแสนนานในครั้งที่โลกเรายังไม่ก้าวหน้าเช่นทุกวันนี้

การตั้งชื่อสัตว์ต้องมีที่มาที่ไป ในครั้งนั้น ดร.สมิธ ถวายชื่อให้เพราะพระบรมราชชนกทรงช่วยกิจการประมงไทยให้ตั้งต้นได้ รวมถึงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ส่งคนไปเรียนเมืองนอกในสาขาวิชาด้านนี้ ก่อนกลับมาเป็นบรมครูสอนพวกเรารุ่นต่อมา

ผมยังมีข้อ 2 นั่นคือ ดร.สมิธ ผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกา ในหลวงรัชกาลที่ 6 ขอตัวมาเมื่อจัดตั้ง “กรมรักษาสัตว์น้ำ” เพื่อเป็นเจ้ากรมคนแรก เพราะคนไทยยังไม่มีความรู้ทางนี้เลย ดร.สมิธถือเป็น “ระดับเทพ” แห่งวงการมีนวิทยาในยุคนั้น ใครศึกษาเรื่องปลาล้วนต้องรู้จักท่าน จึงไม่น่าแปลกใจที่มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นทรงหยิบขวดนี้ขึ้นมาดู พร้อมอุทานว่า “นี่เป็นปลาที่ ดร.สมิธเก็บหรือ?” (มีบันทึกอ้างอิง มิใช่คิดเอาเองครับ) และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความประทับใจสุดๆ จนกลายเป็นความสนิทสนมเป็นการส่วนพระองค์

เมื่อได้ใจ “คนรักปลา” ต่อมาใน พ.ศ.2508 พระองค์จึงขอพระราชทาน “ปลานิล” จากมกุฎราชกุมารญี่ปุ่น ผมเชื่อเหลือเกินว่าพระองค์ทรงเล็งเห็นอยู่แล้ว คนไทยต้องการโปรตีนเพื่อพัฒนาร่างกาย พัฒนาสมอง แต่โปรตีนจากเนื้อสัตว์อื่นใดล้วนมีราคาแพงเกินกว่าที่ชาวบ้านสามัญชนจะหากินได้ทุกวี่วัน มีแต่ปลาและปลาเท่านั้นที่ชาวบ้านจับได้ กินได้ และคนไทยก็กินปลามาแต่โบราณ เพียงแต่ขาดปลาที่เลี้ยงง่าย โตไว อยู่ได้ในทุกแหล่งน้ำ และไม่รบกวนระบบนิเวศเกินไป

ปลานิลอ้วน เนื้อเยอะและอร่อย ปลานิลที่มีถิ่นกำเนิดจากลุ่มแม่น้ำไนล์ จึงเป็นปลาที่น่าจะเหมาะสมที่สุด ตรงนี้มีข้อสงสัย พระองค์ทราบได้อย่างไรว่าต้องเป็นปลานิล?

คำตอบคือ เรากำลังพูดถึงใคร?

กรุณาเข้าใจว่าเรากำลังพูดถึง “มหาปราชญ์”

มกุฎราชกุมารถวายปลานิล 50 ตัวให้ด้วยความยินดี จากนั้นก็ตายไป 40 ตัว (ตามคำบอกเล่า) เหลือเพียง 10 ตัว พระองค์จึงรีบนำกลับมาเลี้ยงเองในวังสวนจิตรลดา หากใครสงสัยคำว่า “มหาปราชญ์” ที่ผมระบุไว้ น่าจะสิ้นสงสัยตรงนี้

คนที่แต่งเพลงได้เกือบ 50 เพลง สร้างและเล่นเรือใบก็ได้ ทำฝนเทียมก็ได้ เลี้ยงปลาที่คนอื่นเลี้ยงไม่รอดให้รอด คนแบบนั้นควรจะเรียกว่าอะไรครับ?

และอย่าลืมว่าท่านเป็นกษัตริย์ มีภารกิจมากมายมหาศาล มหาปราชญ์จึงเป็นคำที่ถูกต้องทุกประการ ไม่ได้มีการยอยศให้เกินเหตุ

หนึ่งปีผ่านไป พระองค์ตั้งชื่อ “ปลานิล” ให้เชื่อมโยงกับชื่ออังกฤษ (Nilotica – ปลาแม่น้ำไนล์) ก่อนพระราชทานให้กรมประมง 10,000 ตัว เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนเลี้ยง

ขอบอกวันที่สักนิด มกุฎราชกุมารถวายปลานิล 50 ตัวในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2508 พระองค์มีปลาเหลือ 10 ตัว เลี้ยงและขยายพันธุ์ พระราชทานให้กรมประมง 10,000 ตัว ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509

ในเวลาไม่ถึง 1 ปี ปลา 10 ตัวกลายเป็น 10,000 ตัว (ยังไม่รวมที่พระองค์เก็บไว้) ผมไม่ทราบจะอธิบายเช่นไร? มีอิทธิฤทธิ์ บุญบารมี?

แต่มีคำบอกเล่าว่า พระองค์ไม่เสวยปลานิลด้วยเหตุผลง่ายๆ “เลี้ยงมาเหมือนลูก จะไปกินลงได้อย่างไร” (ถ้อยคำจากคำบอกเล่า)

บุญบารมีคงมีจุดเริ่มมาจาก “เลี้ยงมาเหมือนลูก”

ทรงทุ่มเทฟูมฟักเหมือนเศรษฐีดูแลเอาใจใส่ปลาราคาแพงเพื่อเลี้ยงไว้ประดับบารมี

เผอิญพระองค์ทรงฟูมฟักปลานิล ไม่ใช่เพราะสวยดี ประดับบารมีได้ แต่เพราะปลานิลคือปลาที่พระองค์ทรงตั้งใจไว้ว่าจะเป็นทางออกให้ประชาชนชาวสยาม

เวลาผ่านมา 50 ปี ผมไม่ต้องหาตัวเลขใดๆมายืนยันว่าพระองค์ทรงประสบความสำเร็จ ขอเพียงคุณเดินไปตามตลาด คุณเห็นปลานิลย่าง ปลานิลทอดบนตะแกรงบ้างไหม?

มีปลาใดราคาถูกเท่านี้ มีเนื้อมากเท่านี้ และทุกคนกินได้กินดีดังเช่นปลานิล

ผมเพิ่มตัวเลขให้เพื่อความชัดเจน ปัจจุบันเมืองไทยผลิตปลานิลได้ปีละ 220,000 ตัน จากฟาร์ม 300,000 แห่ง สร้างงานให้ผู้คนเรือนล้าน ประเทศไทยยังส่งออกปลานิลไปทั่วโลก สร้างรายได้มหาศาล จนเป็นปลาส่งออกลำดับต้นๆ ของเมืองไทย

นำทุกอย่างกลับมาคิดใหม่

พ.ศ.2506 เสด็จฯไปทรงเยือนญี่ปุ่น

พ.ศ.2507 มกุฎราชกุมารเสด็จมา พาไปดูปลาบู่

พ.ศ.2508 ขอปลานิลมาเลี้ยง 50 ตัว

พ.ศ.2509 พระราชทานปลา 10,000 ตัวให้กรมประมง

พ.ศ.2559 ปลามากกว่า 220,000 ตันต่อปี สร้างงานให้คนนับล้าน เป็นโปรตีนราคาถูกและดีที่สุดของประเทศนี้

ผมพูดถึง “การทูตหยุดโลก” มาหลายครั้ง แต่ยังไม่อธิบายความหมายให้ชัดเจน

ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว

การทูตหยุดโลก = ปลาบู่ = ปลานิล = คนไทยมีกิน = คนมีงานทำ

เป็นสมการแสนง่าย แต่ใคร่ขอถามว่า แล้วใครจะคิดได้?

แล้วใครจะคิดได้เมื่อกว่า 50 ปีก่อน แล้วใครจะมองการณ์ไกลขนาดนั้น

สมัยผมเป็น สปช. เราช่วยกันทำยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี แค่นั้นยังปวดหัวแทบตาย

บางคนพูดว่าจะคิดไปได้ยังไงไกลขนาดนั้น บางคนบอกว่าสิงคโปร์ มาเลเซียเขาทำหมดแล้ว เขาก้าวหน้าไปไกลกว่าเราตั้งนาน

20 ปี? ก้าวไกลไปกว่าเราตั้งนาน?

50 ปี ปลาบู่ ปลานิล คน 66 ล้าน คิดคนเดียว ทำจนจบ

ยังไม่พูดถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของสองประเทศ ไม่พูดถึงปรากฏการณ์ที่ไม่มีมาก่อน เมื่อองค์จักรพรรดิญี่ปุ่น “ไว้ทุกข์” ให้พระสหายผู้สนิทสนมกว่า 50 ปี

ไว้ทุกข์ให้กับ “บุรุษผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดในเรื่องปลา”

ไม่ใช่ค้นพบปลาสายพันธุ์ใหม่ ไม่ใช่เชี่ยวชาญเก่งกาจในวิทยาศาสตร์เรื่องปลา

แต่ทำให้ปลา 10 ตัวกลายเป็น 220,000 ตันต่อปี

ทำให้ “ปลา” กับ “คน” มาเชื่อมต่อกันอย่างสุดที่ใครจะเปรียบได้

ผมไม่ตั้งใจเขียนบทความนี้ให้คุณร้องไห้ เพราะผมเขียนไม่ไหวแล้ว บทความ “โลกร้อน” ทำเอาผมเกือบตาย

ผมตั้งใจจะสื่อให้ชัดเจนว่า ทำไมผมถึง “กราบ”?

ผมไม่เคยกราบเพราะเขาบอกให้กราบ ไม่เคยกราบเพราะเขาสอนให้กราบ

ไม่เคยกราบเพราะคนอื่นเขากราบกัน ผมไม่กราบอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

ผมกราบ “ความจริง” เท่านั้น

ผมกราบสยบแทบเท้า กราบด้วยหัวจิตหัวใจ

กราบเพราะผมเห็นประจักษ์

กราบแทบเท้าพระองค์ท่าน

คำว่า “เหลือเชื่อ” ถูกใช้กันจนเกร่อ

แต่สำหรับผมแล้ว อย่างนี้สิถึงเป็น “เหลือเชื่อ”

คิดได้ไง…ทำได้ไง…เหลือเชื่อ

จึงทรุดกายกราบซบหน้าแนบดินด้วยความอาลัย

บุรุษผู้สร้างสิ่งที่ไม่สามารถแม้แต่จะจินตนาการได้

อย่างนี้สิมันถึงต้องกราบ อย่างนี้สิมันถึงต้องร้องไห้

ร้องให้ใจสลาย…

ร้องเพราะยิ่งค้น ยิ่งเขียน จึงยิ่งรู้ว่าเราสูญเสียมากเกินไป

มันมากเกินไปจริงๆ!

หมายเหตุ – ผมไม่เคยก้าวล่วงความคิดส่วนตัวของใคร จะคิดอย่างไรกับพระองค์ท่านเป็นสิทธิ์ของคุณ

ว่าแต่…คุณเคยกินปลานิลไหมครับ?

…..

ที่มา – งานเขียนชุดนี้ผมตั้งใจทำเพื่อเป็นบทเรียนของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ผมกำลังจะนำไปสอน มีทั้งหมด 3 ตอน “โลกร้อน” “จากปลาบู่ถึงปลานิล” และ “จับปลาอย่างไร”

ผมใช้ถ้อยคำธรรมดาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากไม่ถนัดในการใช้ราชาศัพท์ และผมตั้งใจเขียนให้คุณอ่านเข้าใจง่าย

ผมยินดีให้คุณแชร์ไปใช้ประโยชน์ได้ แต่หากมีการตีพิมพ์ รบกวนติดต่อผมก่อนครับ เพราะแต่ละเรื่องใช้เวลานานมาก และใช้เวลาร้องไห้นานกว่า

เรื่อง : ดร. ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์

ภาพ : ชีวจิต

 

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตอบคำถามที่หลายคนอยากรู้ หน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นอย่างไร?

ถ้าใครได้มีโอกาสดูคลิปวิดีโอเก่าๆที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ให้สัมภาษณ์กับทางสื่อต่างๆ จะเห็นได้ว่ามีคำถามอยู่คำถามหนึ่งที่สื่อทุกสื่อต้องถามพระองค์เกี่ยวกับหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นอย่างไร และเราเชื่อว่ามีหลายคนอยากรู้คำตอบข้อนี้จากพระองค์เหมือนกัน แพรวจึงถือโอกาสไปรวบรวมบทสัมภาษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ตอบคำถามเหล่านี้มาให้ทุกคนได้ทราบกันค่ะ

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2503 นั้น บรรดานักหนังสือพิมพ์อเมริกันได้กราบทูลถามถึง “หน้าที่พระเจ้าแผ่นดินของพระองค์เป็นอย่างไร” ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสตอบด้วยพระปรีชาว่า

“หน้าที่ของคนหนังสือพิมพ์กับหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินมีลักษณะอย่างเดียวกัน คือ ทำให้เกิดความเข้าใจและความถูกต้องอันดีขึ้นในมวลชน ข้าพเจ้าก็พยายามทำหน้าที่เช่นนั้น ชั่วแต่ว่าต้องทำด้วยพิธีรีตองและยศอย่างมากไปหน่อยตามธรรมเนียม”

1

นายซิมเมอร์มาน ผู้แทนนิตยสาร LOOK ของสหรัฐอเมริกา ขอพระราชทานสัมภาษณ์ในการที่พระองค์ทรงมีความรู้สึกว่า อะไรคือสิ่งตอบแทนในการที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ซึ่งมีพระราชดำรัสว่า

“ความรู้สึกที่เป็นรางวัลตอบแทนอันยิ่งใหญ่ที่สุดของข้าพเจ้าก็คือ การที่ยังมีชีวิตอยู่และไม่ถูกเชิญออกไปให้พ้นจากราชบัลลังก์ โดยแท้จริงแล้วข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์ก็โดยที่ประชาชนเลือกกันขึ้นมา ดังนั้น ถ้าหากประชาชนของข้าพเจ้าไม่ปรารถนาในตัวข้าพเจ้าอีกต่อไปแล้ว ประชาชนนั่นแหละจะเป็นผู้เชิญให้ข้าพเจ้าออกไป และก็เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า เมื่อนั้นข้าพเจ้าก็จะเป็นคนว่างงานนั่นเอง”

2

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่ละฉบับที่ผ่านมาในแต่ละยุคสมัยได้กำหนดฐานะของพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขของชาติ แต่การประกอบพระราชกรณียกิจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรเป็นวัตรปฏิบัติที่อยู่นอกเหนือจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศจากบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงของอังกฤษ (BBC) ซึ่งขอพระราชทานสัมภาษณ์เมื่อปี พ.ศ.2522 เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ความตอนหนึ่งว่า

“…การที่จะอธิบายว่าพระมหากษัตริย์คืออะไรนั้น ดูเป็นปัญหาที่ยากพอสมควร โดยเฉพาะในกรณีของข้าพเจ้า ซึ่งถูกเรียกโดยคนทั่วไปว่าเป็นพระมหากษัตริย์ แต่โดยหน้าที่ที่แท้จริงแล้วดูจะห่างไกลจากหน้าที่ที่พระมหากษัตริย์ที่เคยรู้จักหรือเข้าใจกันมาแต่ก่อน หน้าที่ของข้าพเจ้าในปัจจุบันนั้นก็คือ ทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ ถ้าจะถามว่าข้าพเจ้ามีแผนการอะไรบ้างในอนาคต คำตอบก็คือ ไม่มี เราไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราก็จะเลือกทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับเรา…”

3

นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้แทนนิตยสาร NATIONAL GEOGRAPHIC เมื่อปี พ.ศ.2525 มีพระบรมราโชธิบายถึงประสบการณ์ในพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ ความตอนหนึ่งว่า

“…เมื่อข้าพเจ้าจะมารับหน้าที่นี้เมื่อ 36 ปีที่แล้วนั้น ข้าพเจ้าอายุเพียงแค่ 18 ปี ในเวลานั้นทุกอย่างดูทรุดโทรมไปหมด ในวันนั้นเก้าอี้และพรมก็ขาดเป็นรู พื้นแตกคร่ำคร่า วังทั้งวังก็เกือบจะพังลงมาเวลานั้นสงครามโลกเพิ่งสิ้นสุดลง ไม่มีใครสนใจกับอะไรทั้งสิ้น ข้าพเจ้าต้องค่อยๆก่อสร้างทุกๆอย่างขึ้นมาใหม่ โดยไม่ใช้วิธีทุบทิ้ง ข้าพเจ้าต้องค่อยๆทำไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นเวลา 36 ปีเข้าไปแล้ว ดังนั้นเราอาจเรียกรัชกาลนี้กระมังว่า เป็นรัชกาลแห่งการปฏิรูป ขนบธรรมเนียมเก่าแก่ถูกรักษาไว้และเปลี่ยนแปรมาโดยลำดับ เราเรียนรู้และได้ประสบการณ์ว่า ขนบประเพณีดั้งเดิมอาจนำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งเพื่อชีวิตในปัจจุบันและอนาคต…” และ “…ตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันนี้ไม่มีหน้าที่ที่จะบริหารประเทศ ต้องมีฝ่ายบริหารทำให้งานการทุกอย่างของชาติดำเนินไปได้ด้วยดี ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัวโดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นและก็ช่วยกันทำ…”

4

อย่างไรก็ตาม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ พระราชกรณียกิจต่างๆจึงเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ทรงทราบดีว่า พระองค์ทรงเป็นมิ่งขวัญและความหวังของประชาชนดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2546 ความตอนหนึ่งว่า

“…การปกครองสมัยนี้แปลกดี กลับไปเหมือนอย่างเก่า กฎหมายประชาชนรับผิดชอบ ตอนนี้คนที่เดือดร้อนคือข้าพเจ้าเอง เดือดร้อนท่านรองนายกฯมาบอกว่า ทรงเป็นซูเปอร์ซีอีโอ แล้วใช้คำอะไรจำไม่ได้แล้ว แต่ว่าเข้าใจว่าเป็นซูเปอร์ซีอีโอ เราก็ลงท้าย เราก็รับผิดชอบหมด ประชาชนทั้งประเทศโยนให้พระเจ้าอยู่หัวรับผิดชอบหมด ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญนะ รัฐธรรมนูญบอกเอาไว้ว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย นี่ท่านแถวนี้ก็เป็นนักกฎหมาย แล้วกฎหมายก็บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่รับผิดชอบอะไรเลย ตกลงเราไม่รับผิดชอบประเทศชาติ เมืองไทยไม่มีใครรับผิดชอบเลย ใครจะรับผิดชอบ…”

6

ตลอด 70 ปีบริบูรณ์ที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักมากที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก แม้ในยามที่ทรงพระประชวรก็ยังทรงงานอยู่ ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินตลอด 24 ชั่วโมง หากจะเปรียบประเทศไทยเป็นดังรูปพีระมิด พระองค์ก็เปรียบดังประทับอยู่บนยอดพีระมิดของสังคม แต่เป็นพีระมิดหัวกลับ นั่นหมายถึงว่า พระองค์ได้ประทับอยู่ด้านล่าง ทำให้ทรงต้องเป็นผู้รองและแบกรับปัญหาทุกๆอย่างของประชาชน จึงมีรับสั่งกับบรรดาบุคคลที่ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆอยู่เสมอว่า…“ความทุกข์ของประชาชนนั้น รอไม่ได้”

นิตยสารแพรวจึงขอกราบแทบเบื้องพระยุคลบาทด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันสุดจะพรรณนา เป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม และขอถวายพระพร ขอจงทรงพระเกษมสำราญ สถิตเป็นมิ่งขวัญของปวงเหล่าพสกนิกรไทยตลอดไปตราบนานเท่านาน

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับที่ 883 ปักษ์วันที่ 10 มิถุนายน 2559

keyboard_arrow_up