ในโลกนี้ไม่มีอีกแล้ว ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานตลอด 24 ชั่วโมง

ในหนึ่งวันทุกคนมีเวลาเท่ากัน 24 ชั่วโมง คุณเองเคยนั่งคิดไตร่ตรองกับเวลาที่ได้มาหรือไม่ว่าหมดไปกับการทำอะไรบ้าง?…

บางคนอาจหลงลืม มองผ่าน ใช้เวลาให้หมดไปวันๆ 24 ชั่วโมงที่มีอยู่เท่ากันจึงได้อะไรบ้าง ไม่ได้บ้าง เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทำทุกอย่างเพื่อประชาชนอย่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงมีเวลาเท่ากับทุกคน คือ 24 ชั่วโมง แต่ด้วยความรับผิดชอบใหญ่หลวงที่จะต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนในประเทศ แม้แต่วินาทีเดียวพระองค์ก็ไม่สามารถละเลยไปได้

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นนักข่าวหนังสือพิมพ์ของอเมริกาได้กราบบังคมทูลถามถึง “หน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินของพระองค์เป็นอย่างไร” พระองค์พระราชทานสัมภาษณ์ไว้ว่า

“ตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินในปัจจุบันไม่ได้มีหน้าที่บริหารประเทศ ต้องมีฝ่ายบริหารทำให้งานการทุกอย่างของชาติดำเนินไปได้ด้วยดี ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำแต่เฉพาะหน้าที่นั้น เพราะถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัวโดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกอย่างจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นและช่วยกันทำ”

คำตอบที่พระองค์พระราชทานในวันนั้นเรียบง่าย และไม่ยากที่จะทำให้เราทุกคนเข้าใจ ตลอดเวลาที่ผ่านมา 70 ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ พระองค์ไม่ใช่แค่ตรัสอย่างเดียว แต่ทรงปฏิบัติมาโดยตลอดเวลา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักมากที่สุดในโลก แม้ในยามทรงพระประชวรก็ยังทรงงาน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเวลาทั้งหมดของพระองค์ที่ทรงมีเท่ากับประชาชนคนทั่วไป พระองค์ไม่เคยละเลยในการทำหน้าที่เลยแม้แต่วินาทีเดียว อีกทั้งยังเคยมีรับสั่งกับบรรดาบุคคลที่ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ อยู่เสมอว่า…

“ความทุกข์ของประชาชนนั้น รอไม่ได้”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับรัฐธรรมนูญในช่วงปัจฉิมแห่งรัชกาล

รัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ถูกประกาศใช้ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 นับเป็นฉบับที่ 16 ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ทําให้ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีรัฐธรรมนูญมากที่สุดประเทศหนึ่ง

เมื่อรัฐบาล พล.อ.ชวลิตจําต้องลาออกไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 อันเนื่องมาจากผลของภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยํากุ้ง” รัฐบาลจึงเปลี่ยนขั้วมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ นําโดยนายชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ได้บริหารงานต่อจนครบวาระ และได้จัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทย นําโดยนายทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นผู้นําในการจัดตั้งรัฐบาล และสามารถบริหารประเทศจนครบวาระ 4 ปี รัฐบาลได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และนายทักษิณได้กลับมาดํารงตําแหน่งอีกวาระหนึ่ง ท่ามกลางเสียงขับไล่จากผู้ชุมนุมประท้วง เพราะรัฐบาลมีความเป็นเผด็จการทางรัฐสภา และความไม่โปร่งใสในการทํางานได้ปรากฏมากขึ้น โดยกลุ่มประท้วงได้มีการกล่าวถึงมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 เรียกร้องขอ “นายกฯพระราชทาน” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระราชดํารัสในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด (นายอักขราทร จุฬารัตน) นําตุลาการศาลปกครองสูงสุดเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตําแหน่งหน้าที่ ณ พระตําหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 ความตอนหนึ่งว่า

“ถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีทางจะปกครองแบบประชาธิปไตย ของเรามีศาลหลายชนิดมากมาย และมีสภาหลายแบบ และทุกแบบจะต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดทางที่จะแก้ไขได้ ที่พูดอย่างนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ขอร้องอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาก็บอกว่าต้องมาตรา 7 มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่ามาตรา 7 นั้นไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอํานาจที่จะทําอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่ มาตรา 7 นั้นพูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสิน ทําได้ทุกอย่าง ถ้าทํา เขาจะนึกว่าพระมหากษัตริย์ทําเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยพูด ไม่เคยทําเกินหน้าที่ ถ้าทําเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย อ้างถึงก่อนนี้ เมื่อรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่มีทําเกินอํานาจของพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นมีสภา สภามีอยู่ มีประธานสภา รองประธานสภามีอยู่ ทําหน้าที่ และมีนายกฯที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญ
 
“…นายกฯพระราชทานหมายความว่า ตั้งนายกฯโดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย ตอนนั้นมีกฎเกณฑ์ เมื่อครั้งอาจารย์สัญญาได้รับตั้งเป็นนายกฯ เป็นนายกฯที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ รองประธานสภานิติบัญญัติ อันนั้นไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ ท่านก็ทราบว่ามีกฎเกณฑ์ที่รองรับ แล้วก็งานอื่นๆก็มี แม้จะที่เรียกว่าที่สภาสนามม้า เขาหัวเราะกัน สภาสนามม้า แต่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ นายกรัฐมนตรี อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็สบายใจว่าทําอะไรแบบถูกต้องตามครรลองของรัฐธรรมนูญ
 
“แต่ครั้งนี้ก็จะให้ทําอะไรผิดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบนะ แต่ว่าเขาจะให้ทํา ฉะนั้นขอให้ช่วยปฏิบัติอะไร คิดอะไรไม่ให้ผิดกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ จะทําให้บ้านเมืองผ่านพ้นสิ่งที่เป็นอุปสรรคและมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป…”
อ่านต่อหน้า 2

“อีกนานไหมหมอ” เรื่องเล่าจากพลเอก ชูฉัตร อดีตแพทย์ผู้ตามเสด็จ

ตามรอยเสด็จ : เรื่องเล่าจาก พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา อดีตแพทย์ที่ถวายงานให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9

เป็นที่ทราบกันดีว่าหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชนนั้นก็คือ การที่พระองค์และสมเด็จพระบรมราชินีนาถนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังถิ่นทุรกันดารพร้อมกับหน่วยแพทย์

หลายครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปทรงงานด้วยพระองค์เองจากพระตำหนักไปหลายพื้นที่ ทั้งในจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี บางแห่งมีการเปิดเต็นท์รักษาประชาชนที่เจ็บป่วยด้วย ทั้งนี้อดีตแพทย์ผู้ตามเสด็จอย่าง พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา ได้เล่าถึงความทรงจำเมื่อครั้งได้ถวายงาน ซึ่งเป็นความประทับใจที่จดจำมาถึงทุกวันนี้ก็คือ

“ทุกครั้งที่คณะแพทย์ต้องรักษาชาวบ้านในพื้นที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระเมตตาต่อพวกเรามาก อย่างครั้งหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังรักษาคนไข้อยู่ แต่ถึงเวลาที่พระองค์ต้องเสด็จฯกลับพระตำหนักแล้ว แต่เมื่อเห็นคณะแพทย์ยังทำงาน จึงรับสั่งถามผมว่า ‘อีกนานไหมหมอ’ พอผมตอบว่า เหลือคนไข้อีก 3 คนพระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงพยักพระพักตร์แล้วทรงดำเนินไปคุยกับผู้ว่าราชการต่อ พระองค์ทรงรอให้แพทย์ทุกคนทำงานจนเสร็จสมบูรณ์แล้วจึงออกเดินทางกลับพระตำหนักพร้อมกัน ทั้งที่ความจริงแล้วจะเสด็จฯกลับก่อนก็ได้”

 

รัฐธรรมนูญไทย ตลอดรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 (ตอนที่ 2)

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้มีบุคคลจํานวนหนึ่งก่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว เจ้าหน้าที่ตํารวจได้เข้าจับกุมผู้ก่อการ จนมีการปะทะกัน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดชุมนุมประท้วงการจับกุมและอภิปรายโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง ต่อมานิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันรวมตัวกันก่อการประท้วงด้วย เหตุการณ์ไม่สงบลุกลามไปทั่วกรุงเทพมหานคร
พระบารมีคลี่คลายเหตุการณ์มหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516
ในคืนวันที่ 13 ตุลาคม 2516 รัฐบาลได้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม และให้คํารับรองว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเวลาไม่เกินหนึ่งปี แต่ไม่อาจสลายการชุมนุมได้ จนกระทั่งในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เกิดการปะทะกันขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารกับนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชน จนถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก จอมพลถนอมได้ลาออกจากตําแหน่ง และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองคมนตรี ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์ความไม่สงบจึงคลี่คลายลงโดยเร็ว
การระงับเหตุการณ์ครั้งนั้นอาศัยพระบุญญาธิการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยแท้ มิฉะนั้นแล้วเหตุการณ์คงลุกลามมากขึ้น เพราะการต่อสู้ได้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว มีการทําลายสถานที่ราชการและทรัพย์สินต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนหลายแห่ง ในตอนดึกของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
9 ได้มีพระราชกระแสรับสั่งทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ว่า
“วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา 7 – 8 วันที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องและเจรจากันจนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทําความตกลงกันได้ แต่แล้วการขว้างระเบิดขวดและยิงแก๊สน้ำตาขึ้น ทําให้เกิดการปะทะกันและมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนคร ถึงขั้นจลาจลและยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิตนับร้อย ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติเร็วที่สุด
“อนึ่ง เพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขอลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุน เพื่อคณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดินได้โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม และแก้ไขสถานการณ์ให้คืนสู่สภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสุข ความเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน”
ที่มา : บทความพิเศษ นิตยสารแพรว ฉบับที่ 895 ปักษ์วันที่ 10 ธันวาคม 2559

จดจำจนวันตาย เปิดบันทึกสุดซาบซึ้งของ ลักษณ์ ตาณพันธุ์ ทรงพระเมตตาหาที่สุดมิได้

ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง เชื่อว่าทุกคนคงมีความทรงจำเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในหลายเรื่อง เรื่องที่เห็นคล้ายๆ แต่ก็มีไม่กี่คนที่จะมีโอกาสใกล้ชิดกับพระองค์ ซึ่งก็นับว่าเป็นบุญอันสูงสุดในชีวิต

ลักษณ์ ตาณพันธ์ุ ช่างซ่อมนาฬิกาที่มีโอกาสได้ถวายงานรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้เล่าถึงความประทับใจเกี่ยวกับการทำงาน จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในหลายๆ เรื่อง เพื่อเป็นการตอบแทนที่ถวายงานรับใช้ด้วยความซื่อตรงมาโดยตลอด พระองค์พระราชทานตราครุฑแก่ป้ายชื่อร้านลักษณ์ เท็ฆนิคการช่าง และพระราชทานเงินอีกจำนวนหลายแสนบาทเพื่อปรับปรุงร้าน เนื่องจากทรงเห็นว่าคุณลักษณ์ไม่ยอมรับค่าแรงในการซ่อมนาฬิกาเลย

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งว่าสงสาร ให้คิดค่าแรงเถอะ ก็คิดบ้าง ไม่คิดบ้าง แต่ส่วนมากไม่ได้คิด พระองค์รับสั่งว่า…คิดบ้าง ฉันสงสารเธอ พระองค์ทรงพระเมตตาผมมากเหลือเกิน เพราะเรามีโอกาสถวายงานรับใช้นี่ก็ถือเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลแล้ว ทรงพระเมตตาขนาดไหนคิดดูเถอะ ภรรยาผมเสียก็พระราชทานพวงหรีด พระราชทานเพลิงศพ ทั้งที่ผมก็ไม่อาจเอื้อมกราบบังคมทูล พวงหรีดผมยังเก็บรักษาไว้เลย”

บันทึกความทรงจำที่จังหวัดสกลนคร “ขอสตางค์พระเจ้าค่ะ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงดูแลทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชนในทุกๆด้าน และลงรายละเอียดในทุกๆเรื่อง อย่างเมื่อครั้งเสด็จไปยังจังหวัดสกลนคร ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ประชาชนที่มารับเสด็จพระองค์ในวันนั้น จะกล้ากราบทูลขอสตางค์ต่อพระพักตร์กันซื่อๆแบบนี้

“ขอสตางค์พระเจ้าค่ะ” ชายคนหนึ่งกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรประชาชนที่มาเข้าเฝ้าฯสองฝั่งข้างทาง หลังจากสิ้นเสียงของชายคนนั้น พระองค์ทรงถามกลับไปว่า “นายชื่ออะไร ทำอาชีพอะไร ทำไมถึงไม่มีเงิน เป็นคนหมู่บ้านไหน อำเภออะไร” พร้อมกับรับสั่งให้ตามผู้ใหญ่บ้านกับกำนันมาพบ แต่เรื่องนี้พระองค์ไม่ได้ทรงเรียกใครมาต่อว่า แต่ทรงถามด้วยความห่วงใยว่า ทำไมชายคนนี้ไม่มีเงิน

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงห่วงราษฎรและทรงละเอียดมาก ไม่ปล่อยผ่านแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อย พระองค์ตั้งพระทัยที่จะช่วยเหลือราษฎรให้มากที่สุดเท่าที่ทรงทำได้

(จากบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งของ พลเอก ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา)

“อยากฟังแม่สอนอีก” สมเด็จย่า ต้นแบบแห่งชีวิต

“อยากฟังแม่สอนอีก” สมเด็จย่า ต้นแบบแห่งชีวิต…

ตลอดระยะเวลาของการทรงเป็นยุวกษัตริย์ ในหลวงทรงเชื่อฟังพระราโชวาทของสมเด็จพระบรมราชชนนีเป็นอย่างดี

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นจอมปราชญ์ที่ทรงพระอัจฉริยภาพในหลากหลายศาสตร์ศิลป์นั้น ล้วนเกิดจากการน้อมนำเอาพระราโชวาทของพระราชมารดามาปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชปณิธานที่ทรงปรารถนาให้พสกนิกรไทยอยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้า

ถ้อยรับสั่งของสมเด็จย่าที่มีต่อในหลวงนั้น มักทรงเน้นย้ำในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมในด้านความรับผิดชอบเป็นหลัก ดังพระราโชวาทหนึ่งที่มีความว่า “ในครอบครัวเรา ความรับผิดชอบเป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนอันแรกคือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย ถ้าไม่มีความรับผิดชอบจะไปช่วยเมืองไทยได้อย่างไร…”

ทุกครั้งที่สมเด็จย่าตรัสสอนไม่ว่าเรื่องใด ในหลวงจะทรงนำกระดาษมาจดและมีพระราชดำรัสตอบว่า “อยากฟังแม่สอนอีก” อยู่เสมอ

ต้นแบบของชาวพุทธ “พระราชาผู้ทรงธรรม” เผยพระราชจริยวัตรในหลวงรัชกาลที่ 9

“พระราชาผู้ทรงธรรม”…ช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2499 ถือเป็นช่วงเวลาของการบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมในพระราชหฤทัยได้อย่างดียิ่ง ซึ่งเป็นไปตามพระราชปณิธานที่ตั้งมั่นในการทรงผนวชมาก่อนหน้านี้แล้วว่า

“…พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเรา ทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้าเอง ก็เห็นเป็นศาสนาดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอนอันชอบธรรม คำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล ซึ่งเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณี…”

แม้พระองค์ทรงผนวชในระยะเวลาอันสั้น แต่ธรรมะที่ทรงน้อมนำมาใช้ในการปกครองไพร่ฟ้าประชาชนกลับสืบทอดยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่ได้ทรงผนวชด้วยพระวรกายแค่เพียงอย่างเดียว ทว่ากลับทรงผนวชด้วยพระราชหฤทัยที่ถึงพร้อม ดังพระโอวาทของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ความว่า

“…การทรงผนวชวันนี้เป็นประโยชน์มาก…บวชด้วยกายอย่างหนึ่ง บวชด้วยใจอย่างหนึ่ง ถ้าทั้งสองอย่างผสมกันเข้าแล้วจะเป็นกุศล…”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในธรรมะชั้นสูงในขั้นปฏิบัติกรรมฐาน เพื่อให้ทรงมีสมาธิตั้งมั่นอยู่กับการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรได้อย่างเต็มพระกำลัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักบำเพ็ญธรรมส่วนพระองค์ไว้ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นสถานที่วิเวก เหมาะอย่างยิ่งแก่การเจริญภาวนา ทั้งนี้ทรงปฏิบัติสมาธิเป็นประจำและประทับเป็นเวลานานด้วย

ก่อนที่จะทรงงานทุกครั้ง พระองค์จะเสด็จฯเข้าห้องสวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิจิตใจให้สงบระยะหนึ่งแล้วจึงทรงงาน ทรงเคยมีพระราชปรารภว่า การที่พระองค์ทำเช่นนั้นรู้สึกว่างานได้ผลดี เพราะเมื่อมีสมาธิในการทำงาน งานที่ทำก็ทำได้อย่างมีระเบียบเรียบร้อยได้คุณภาพดี และจิตใจก็ปลอดโปร่งแจ่มใส

นอกจากนี้ยังมีพระราชจริยวัตรที่พิเศษอีกประการหนึ่งซึ่งคนทั่วไปปฏิบัติได้ยากคือ ในคืนวันธรรมสวนะ (วันพระ) พระองค์จะทรงรักษาอุโบสถศีลอย่างเคร่งครัด และทุกวันจันทร์พระองค์จะทรงถวายสังฆทานเป็นนิตย์ ด้วยตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ ซึ่งราชกิจวัตรนี้ได้ทรงกระทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยทรงอาราธนาพระสงฆ์จากวัดต่างๆมารับสังฆทานภายในพระตำหนัก

พระราชจริยวัตรอันงดงามเช่นนี้ทำได้ยากยิ่ง ถ้าจะต้องใข้ความสม่ำเสมอเช่นนี้ แต่พระองค์ก็ทรงเป็นแบบอย่างให้เห็นว่า หน้าที่ของพระมหากษัตริย์นั้นไม่ใช่แค่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องของพระพุทธศาสนา พระองค์ก็ยังทำหน้าที่เป็นต้นแบบ เพื่อให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการทะนุบำรุงศาสนาอีกด้วย

 

ทั้งชีวิตอุทิศเพื่อประชาชน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานตลอด 70 ปี (ตอนที่ 1)

หลังการขึ้นครองราชย์ของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้เสด็จฯกลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เพื่อทรงศึกษาวิชากฎหมายและการปกครอง เนื่องจากต้องรับพระราชภาระเป็นพระมหากษัตริย์ ในด้านวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ทรงตั้งพระทัยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศเกี่ยวกับพื้นฐานและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ เพื่อนำมาเป็นแนวปรับปรุงแก้ไขประเทศไทยให้เจริญขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ทรงเป็นตัวอย่างของผู้ที่เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมอย่างแท้จริง ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ คอยบำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกรมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะทรงถือว่า “การให้และการเสียสละเป็นการกระทำอันมีผลกำไร” กล่าวคือ กำไรแห่งความอยู่ดีมีสุขของปวงประชา ซึ่งไม่สามารถประเมินเป็น “มูลค่า” แต่กลับมี “คุณค่า” ทางจิตใจมากกว่า เข้าทำนองที่ว่า “ขาดทุนคือกำไร”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีความเพียรพยายาม อันเป็นหนึ่งในคุณธรรมและจริยธรรมที่บริบูรณ์ยิ่ง สังเกตได้จากหลากหลายโครงการพระราชดำริที่ทรงริเริ่มขึ้น ล้วนประสบสัมฤทธิผลได้ด้วยพระราชวิริยอุตสาหะเป็นสำคัญ สอดคล้องกับวิริยบารมีของพระโพธิสัตว์ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก แปลว่า “พ่อผู้ยิ่งใหญ่” ซึ่งมีพระราชประสงค์ในการปลูกฝังให้คนไทยทุกภาคส่วนมีความเพียรพยายามในการทำงานและทำความดี สอดคล้องกับพระราชปรารภที่ว่า “ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์”

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เคยเล่าถึงการจดจ่อทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “พระองค์ทรงประยุกต์พระสมาธิในการประกอบพระราชกรณียกิจทุกอย่างทั้งน้อยและใหญ่ จึงทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนักในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้โดยไม่ทรงสะทกสะท้านหรือหวั่นไหว ไม่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไปไกลๆ อย่างเลื่อนลอยและเปล่าประโยชน์ ไม่ทรงอาลัยอดีตหรืออนาคต ไม่ทรงเสียเวลาหวั่นไหวไปกับความสำเร็จหรือความล้มเหลวอันเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทรงจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทรงสนพระราชหฤทัยอยู่แต่กับพระราชกรณียกิจเฉพาะพระพักตร์เท่านั้น”

พระองค์ทรงตระหนักอยู่เสมอว่าความทุกข์ยากของพสกนิกรย่อมเปรียบเสมือนความทุกข์ยากของพระองค์เอง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนไทยจึงมักเห็นภาพพระพักตร์ของพระองค์ที่เต็มไปด้วยหยาดพระเสโท อันเป็นผลมาจากความตรากตรำพระวรกาย จนไพร่ฟ้าประชาชนต่างกล่าวขานกันว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ทรงเอาพระราชหฤทัยจดจ่อ ไม่ทรงยอมให้ขาดจังหวะจนกว่าจะเสร็จ และไม่ทรงทิ้งขว้างแบบทำๆ หยุดๆ ดังนั้นพระราชกรณียกิจทั้งหลายนั้นจึงสำเร็จลุล่วงไปเป็นส่วนใหญ่

ภาพที่พระองค์มักทรงถือแผนที่ด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงจับปากกา พระศอสะพายกล้องถ่ายรูป ได้กลายเป็นภาพที่ชินตาและอยู่ในหัวใจของราษฎรไทยทุกภาคส่วน อุทิศพระองค์เพื่อทรงงานหนัก โดยไม่ทรงเห็นแก่ความตรากตรำพระวรกาย ในบางครั้งรถพระที่นั่งต้องฝ่าเข้าไปในกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก หากรถไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำได้ พระองค์ก็เสด็จฯลงจากรถเพื่อทรงพระดำเนินต่อไปด้วยสองพระบาท

พระองค์มีพระราชประสงค์ในการใช้ “สายพระเนตร” สอดส่องสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตราษฎร ใช้ “สองพระกรรณ” สดับรับฟังความเดือดร้อนของพสกนิกรจากปากของพวกเขาเอง แล้วทรงใช้ “พระปัญญา” คิดวิเคราะห์หาแนวทางในการแก้ไขปัญหา จากนั้นทรงใช้ “พระหัตถ์” ลงมือปฏิบัติทดลองด้วยพระองค์เอง ทั้งหมดนี้ด้วยทรงเล็งเห็นว่าความทุกข์ยากของประชาชนนั้น หากไม่ลงมือแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ก็ย่อมไม่เกิดคุณประโยชน์อันใดขึ้นมา

 

 

‘วินัย อดออม ให้’ คัมภีร์แห่งความพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9

คัมภีร์แห่งความพอเพียง : “ลูกอยากได้ก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มาก ค่อยเอาไปซื้อ”…

ในฐานะ “แม่” ของยุวกษัตริย์ที่กำลังเจริญพระชนมพรรษามากขึ้นทุกวัน ในวันนั้นสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) มีพระราโชวาทสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงน้อมนำมาปฏิบัติเสมอมา และยังทรงเป็นต้นแบบให้แก่ประชาชนด้วยก็คือ การประหยัดอดออม แม้พระองค์จะทรงอยู่ในฐานะที่สามารถเลือกหาสิ่งต่างๆ มาให้พระโอรสได้อย่างไม่ยากลำบากก็ตาม

ดังนั้นเมื่อพระองค์มีพระประสงค์สิ่งใด ก็จะทรงอดออมเก็บเงินค่าขนมที่ได้สัปดาห์ละครั้งอย่างมัธยัสถ์ และยังทรงรู้จักนำเงินไปต่อยอด ทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย แล้วนำเงินที่ได้มาซื้อเมล็ดผักปลูกเพิ่ม ซึ่งทำให้ยุวกษัตริย์พระองค์นี้ทรงเรียนรู้หลักพอเพียงสมถะมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยจะมีคัมภีร์แห่งความพอเพียง 3 ข้อ คือ “วินัย อดออม ให้”

และเมื่อถึงวันปีใหม่ สมเด็จย่าจึงรับสั่งกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า

“ปีใหม่แล้ว เราไปซื้อจักรยานกัน ให้แคะกระปุกดูว่ามีเงินเท่าไหร่” และสมเด็จย่าก็ทรงแถมเงินเพิ่มให้อีกด้วย

 

4 ข้อคิดการทำงานของหน่วยแพทย์อาสา ตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9

พระราชกรณียกิจที่สำคัญของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงปฏิบัติมาเป็นเวลายาวนานอย่าง การเสด็จพระราชดำเนินไปยังถิ่นทุรกันดารพร้อมกับสมาชิกหน่วยแพทย์อาสา เพื่อเข้าไปดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชน เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นกันจนชินตามาโดยตลอด

พลเอกชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา อดีตนายแพทย์ที่ได้มีโอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นานเกือบ 20 ปี ไม่ว่าจะขึ้นเหนือหรือลงใต้ก็จะเห็นการทรงงานของพระองค์ที่นึกถึงแต่ประชาชนก่อน และไม่คิดถึงความยากลำบากเลยแม้แต่น้อย พระองค์ทรงเป็นตัวอย่างให้แก่บรรดาจิตอาสาทุกคนได้เห็นว่าความทุกข์ของประชาชนต้องมาก่อนอย่างแท้จริง ซึ่งข้อคิดในการทำงานของหน่วยแพทย์อาสา 4 ข้อนี้ พลเอกชูฉัตรก็ยังจำได้ไม่มีวันลืม คือ

  1. มีความรู้ความสามารถในวิชาการนั้นๆ
  2. รักภักดีต่อราชวงศ์
  3. เข้ากับสังคมในพระราชสำนักได้
  4. มีความเต็มใจ เพราะงานนี้ไม่มีการบังคับ

ข้อที่ 4 นั้นสำคัญมาก เพราะการทำงานแบบจิตอาสาให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ขึ้นอยู่กับหัวใจที่ทุ่มเทและมุ่งมั่น ไม่กลัวความลำบากมาเป็นอันดับแรก

นิตยสารแพรว คอลัมน์สัมภาษณ์ ฉบับที่ 781

ไม่มีขาย แต่แจกฟรี “หนังสือราชรถ ราชยาน” ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวัง อีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่อยากให้คนไทยไปเยือนก็คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่นี่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย รวมถึงยังเป็นที่ตั้งของราชรถ ราชยาน ที่จะนำมาใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกด้วย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล หรือส่วนหนึ่งของที่ประทับวังหน้า (พื้นที่พระราชวังของสมเด็จพระบวรราชเจ้าตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา) ที่นี่เป็นแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โดยแบ่งการจัดแสดงเป็น 3 หัวเรื่องใหญ่ๆ คือ ประวัติศาสตร์ชาติไทย จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย จัดแสดงตามยุคสมัย คือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงในอาคารส่วนหลังของพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน และสมัยประวัติศาสตร์ จัดแสดงในอาคารใหม่ 2 หลังที่สร้างขนาบสองข้างของหมู่พระวิมานเมื่อ พ.ศ.2510 โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สมัยก่อนพุทธศักราช 1800 ได้แก่ สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย และสมัยลพบุรี จัดแสดงในอาคารมหาสุรสิงหนาท และส่วนที่ 2 คือ สมัยหลังพุทธศักราช 1800 เป็นต้นมา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงในอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์

ด้านประณีตศิลป์และชาติพันธุ์วิทยา จัดแสดงในหมู่พระวิมาน คือ พระที่นั่งวสันตพิมาน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ และพระที่นั่งพรหมเมศธาดา ศิลปโบราณวัตถุที่จัดแสดง ได้แก่ เครื่องทอง เครื่องถม เครื่องมุก เครื่องดนตรี เครื่องไม้จำหลัก ผ้าโบราณ เครื่องถ้วย เครื่องสูง ราชยาน คานหาม อาวุธโบราณ เครื่องใช้ในพิธีพระพุทธศาสนา และอัฐบริขารของสงฆ์ และเครื่องการละเล่นต่างๆ เช่น หัวโขน หุ่นกระบอก หุ่นเล็ก และหนังใหญ่

นอกจากนี้ยังมีราชรถที่ใช้ในกระบวนแห่พระบรมศพ คือ พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตราชรถ ราชรถน้อย และเครื่องประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยจะจัดแสดงในอาคารโรงราชรถ ซึ่งใครที่ไปเยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในช่วงนี้ จะได้รับหนังสือราชรถ ราชยาน ซึ่งภายในเนื้อหาจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของราชรถ ราชยานทั้งหมด

สำหรับใครที่ตั้งใจจะไปเคารพพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สามารถแวะเวียนไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เช่นกัน นอกจากจะได้ซึมซับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชาติแล้ว ยังได้รับหนังสือเล่มนี้เก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย

ภาพ : คิมคานา

 

ทั้งชีวิตอุทิศเพื่อประชาชน ในหลวงรัชกาลที่9 ทรงงานตลอด 70 ปี (ตอนที่ 2)

ทุกครั้งที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยือนราษฎรในท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จะทรงไต่ถามทุกข์สุขหรือความต้องการของประชาชน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกร ทรงมีเป้าหมายหลักคือ ต้องการเห็นประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่ผู้อื่น

พระองค์มีพระราชภาระอันใหญ่ยิ่งในการดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรทั่วทั้งประเทศ ซึ่งการทรงงานของพระองค์นั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้ในยามที่ทรงพระประชวรก็ยังไม่เคยละเว้นจากการปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะพ่อแห่งแผ่นดิน ที่ต้องดูแลลูกไทยมากกว่า 60 ล้านคนให้อยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้า ดังเหตุการณ์เมื่อปี 2518 พระองค์ทรงพระประชวรด้วยเชื้อไมโคพลาสมา พระอาการหนักมากจนเป็นที่วิตกของคณะกรรมการการแพทย์ที่ถวายการรักษา แต่ทรงห่วงใยราษฎรมากกว่าความปลอดภัยของพระองค์เอง ถึงกับรับสั่งกับนายแพทย์ว่า

“จะใช้เวลารักษานานเท่าไร ขอรอไว้ก่อนนะ ฉันทนได้ วันนี้ขอไปดูราษฎรและช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมก่อน”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีกระบวนการพระราชดำริอย่างเป็นระบบและมีเหตุผล เห็นได้จากพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองหลายกรณี อาทิ แนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวพระราชดำริ “บวร” หมายถึง บ้าน วัด และโรงเรียน เพื่อร่วมสร้างความสมานฉันท์ภายในสังคม แม้แต่แนวพระราชดำริ “ระเบิดจากข้างใน” ก็เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาชุมชนจากภายในสู่ภายนอกสังคมตามลำดับ

ครั้งหนึ่งที่พระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยมโครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเปียกฝนกันทุกคน เมื่อทรงเห็นดังนั้นจึงรับสั่งให้องครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงเยี่ยมข้าราชการและราษฎรท่ามกลางสายฝน ทรงนึกถึงแต่ประชาชน แม้กระทั่งวันที่พระองค์ทรงกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดพระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ก็ยังรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งคอมพิวเตอร์เดินสายออนไลน์ไว้ เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ เพื่อพระองค์จะได้ทอดพระเนตรมอนิเตอร์ เผื่อน้ำท่วมจะได้ช่วยเหลือทัน

นอกจากนี้ยังทรงตระหนักว่าทุกข์ที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นั้นเป็นทุกข์ดังพุทธพจน์ที่ว่า “อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคย่อมเป็นลาภอันประเสริฐ ทำให้พระองค์ทรงส่งเสริมพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของไทยให้เกิดความเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง

ครั้งหนึ่งพระองค์มีพระราชดำรัสว่า “ข้าวกล้องมีประโยชน์ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวเม็ดสวย แต่เขาเอาของดีออกไปหมดแล้ว มีคนบอกว่าคนจนกินข้าวกล้อง เรากินข้าวกล้อง เรานี่ก็คนจน” สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ราษฎร ไม่เว้นกระทั่งเรื่องสุขอนามัย

ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ก่อตั้ง “มูลนิธิชัยพัฒนา” เพื่อสนับสนุนส่งเสริมโครงการหรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการพัฒนาตนเองและพัฒนาชุมชน จนกระทั่งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สอดรับกับพระราชดำรัสเกี่ยวกับมูลนิธิชัยพัฒนาตอนหนึ่ง ความว่า “มูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งมีหน้าที่ที่เขาตั้งไว้สำหรับมูลนิธิ ให้พัฒนาประเทศจนมีชัยชนะ ชัยของการพัฒนานี้มีจุดประสงค์คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดีของประชาชน…”

ทรงมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในระดับรากหญ้าตามพื้นที่ชนบท ด้วยทรงเล็งเห็นว่าความเป็น “รากหญ้า” ย่อมเต็มเปี่ยมด้วย “รากเหง้า” ทางภูมิปัญญาอันเป็น “รากฐาน” ทางสังคมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อุปมาดั่งต้นไม้ที่มี “รากแก้ว” ซึ่งสามารถเจริญเติบโตไปเป็น “รากแกร่ง” ที่ลำเลียงธาตุอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้นจนแตกกิ่งก้านสาขา ผลิร่มเงาได้อย่างยั่งยืน เป็นที่มาของโครงการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ โดยมีพระราชประสงค์ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง จนชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

โครงการพระราชดำริทุกโครงการล้วนเกิดขึ้นจากพระราชหฤทัยที่ทรงพระเมตตาต่อพสกนิกรเป็นสำคัญ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า “…การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศ ทางภูมิศาสตร์ และทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศตามสังคมวิทยาคือนิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราต้องเข้าไปช่วย โดยที่จะดัดเขาให้เข้ากับเราไม่ได้ แต่เราต้องเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ หลักการของการเข้าไปพัฒนาจึงจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง”

เรียกได้ว่าตลอดพระชนมายุ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อมวลพสกนิกรไทย โดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทนอื่นใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความโปร่งใสแห่งห้วงพระราชหฤทัยที่ใฝ่เมตตาธรรมเป็นสำคัญ

 

พระอัจฉริยภาพในศาสตร์และศิลป์ของในหลวงรัชกาลที่ 9

พระอัจฉริยภาพในศาสตร์และศิลป์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยการวาดภาพตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาและฝึกหัดการวาดภาพด้วยการทรงซื้อตำราการเขียนภาพมาศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง และทรงฝึกหัดวาดภาพเรื่อยมา

กระทั่งเสด็จนิวัตประเทศไทยก็โปรดให้จิตรกรที่มีความสามารถเข้าเฝ้าฯเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อให้เหล่าศิลปินร่วมโต๊ะเสนอ และทรงให้แต่ละบุคคลวิจารณ์ผลงานฝีพระหัตถ์ ซึ่งทรงเปิดพระทัยรับคำติชมอย่างไม่มีอคติ

เมื่อพระองค์เสด็จฯไปยังที่ใดก็มักจะทรงนำกล้องถ่ายภาพติดพระองค์เสมอ โปรดที่จะถ่ายภาพบันทึกความก้าวหน้าของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่เนืองๆ และบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ทรงสนับสนุนให้ใช้การถ่ายภาพเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือสังคม ไม่ใช่เพียงเพื่อบันทึกความสวยงามหรือเพียงเพื่อความรื่นเริงใจ ดังพระราชดำรัสว่า…

“ศิลปะเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาประเทศได้อีกทางหนึ่ง”

การถ่ายภาพยนตร์เป็นอีกพระอัจฉริยภาพหนึ่งของในหลวง โดยเมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครนั้น ทรงนำกล้องถ่ายภาพยนตร์มาทรงถ่ายประชาชนที่เฝ้าฯรับเสด็จอยู่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ทรงริเริ่มให้สร้างภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดี คือ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ซึ่งได้มีการจัดฉายเพื่อหารายได้จากผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล โดยทรงนำไปช่วยเหลือพสกนิกรในด้านต่างๆ เช่น สภากาชาดไทย โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กิจกรรมป้องกันรักษาโรคโปลิโอ เป็นต้น

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยเรื่องดนตรีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาวิชาดนตรีขั้นพื้นฐานอย่างจริงจังตามคำแนะนำจากพระอาจารย์อย่างเข้มงวดนานกว่า 2 ปี ทรงได้รับการฝึกฝนตามแบบการดนตรีอย่างจริงจัง เครื่องดนตรีที่โปรดคือเครื่องเป่าทุกชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ต และยังทรงกีตาร์ ทรงเปียโนได้ด้วย โปรดการทรงดนตรีมาก โดยเฉพาะดนตรีแจ๊ส ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีประเภทนี้มาก โดยหนังสือพิมพ์โฮโนลูลู แอดเวอร์ไทซิ่ง ได้ถวายพระนามว่าพระองค์ทรงเป็น “ราชาแห่งดนตรีแจ๊ส”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ สำหรับการทรงดนตรีกับวงนี้ เพื่อพระองค์จะได้ทรงใช้เวลานี้เป็นการทรงพระสำราญพระอิริยาบถ และบรรเลงดนตรีออกอากาศเผยแพร่ทางสถานีวิทยุ อ.ส.ที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารกับพสกนิกรของพระองค์ในอีกทางหนึ่ง

รัฐธรรมนูญไทย ตลอดรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 (ตอนที่ 1)

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนารัฐธรรมนูญของไทยที่มีความผันผวนมาตลอด เพราะเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติในช่วงที่เมืองไทยเพิ่งเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2475 มาเป็นประชาธิปไตยได้เพียง 14 ปี
ความผันผวนของรัฐธรรมนูญในช่วงต้นรัชสมัย
นับตั้งแต่ประชาชนชาวไทยได้รับทราบถึงการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ความโศกสลดก็ครอบงําไปทั่วราชอาณาจักร รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์ให้ประชาชนไว้ทุกข์ถวาย มีกําหนด 1 ปี และในเวลา 20.00 น. ของวันเดียวกัน รัฐสภาได้ประชุมร่วมกันเป็นกรณีพิเศษ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา ความตอนหนึ่งว่า
“ที่ประชุมรัฐสภาได้รับทราบการสวรรคตด้วยความโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง และมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไป”
จากนั้นนายวิลาศ โอสถานนท์ ประธานพฤฒสภา นายไต๋ ปาณิกบุตร รองประธานพฤฒสภา นายเกษม บุญศรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายมงคล รัตนวิจิตร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ไปเข้าเฝ้าฯถวายพระพรและกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ให้ครองราชย์ตามมติของรัฐสภา และได้มีประกาศของทางราชการว่า
“ขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 เป็นต้นไป”
ณ บัดนั้น ปีที่หนึ่งแห่งรัชกาลปัจจุบันได้เริ่มต้นขึ้น แต่เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระเยาว์ รัฐธรรมนูญได้กําหนดให้มีผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวในครั้งแรก ได้แก่ พระสุธรรมวินิจฉัย (ชม วณิกเกียรติ) พระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) และนายสงวน จูฑะเตมีย์ สมาชิกพฤฒสภา ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
สถานการณ์การเมืองหลังจากนั้นก็มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา แต่ข่าวการสวรรคต การสืบสวนสอบสวน การจับผู้ต้องสงสัย และการฟ้องร้อง ตลอดจนพิจารณาคดี เป็นเรื่องใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ ในช่วงนั้นประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติลําดับที่ 55 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2489 และมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี
จากนายปรีดีเป็น พล.ร.ต.ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารนําโดย
พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ น.อ.กาจ กาจสงคราม และบุคคลอื่น เข้ายึดอํานาจจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ พร้อมกับยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และตั้งรัฐบาลให้
อ่านต่อหน้า 2

ในหลวงรัชกาลที่ 9 อัครศาสนูปถัมภกแห่งสยามประเทศ

แม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะ หรือธรรมทายาททางพระพุทธศาสนา แต่ก็ทรงดำรงพระองค์ในฐานะ อัครศาสนูปถัมภก ควบคู่กันไปด้วย

เพราะทรงให้อิสระแก่ราษฎรในการเลือกครรลองเสริมสร้างความปกติสุขในชีวิตด้วยหลักคำสอนของแต่ละศาสนาอย่างเท่าเทียม ด้วยทรงตระหนักดีว่าจุดมุ่งหมายของแต่ละศาสนาล้วนแล้วแต่ปรารถนาให้ศาสนิกชนดำรงตนเป็นคนดี มีจริยธรรมด้วยกันทั้งสิ้น นี่เป็นเหตุว่าทำไมพระองค์จึงทรงส่งเสริมทะนุบำรุงทุกศาสนาโดยทั่วถึงกันมาตลอด

ครั้งหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชกระแสให้จุฬาราชมนตรีแปลความหมายของคัมภีร์อัลกุรอานจากฉบับภาษาอาหรับให้เป็นภาษาไทย และได้พิมพ์แจกจ่ายแก่มัสยิดหลายแห่งทั่วราชอาณาจักร โดยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอานตอนหนึ่ง ความว่า

“…คัมภีร์อัลกุรอานมิใช่จะเป็นคัมภีร์สำคัญในศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ยังเป็นวรรณกรรมสำคัญของโลกเล่มหนึ่ง ซึ่งมหาชนยกย่องและได้แปลเป็นภาษาต่างๆ การแปลออกเผยแพร่เป็นภาษาไทยครั้งนี้ เป็นการสมควรชอบด้วยเหตุผลอย่างแท้จริง เพราะจะเป็นการช่วยเหลือในอิสลามิกบริษัทในประเทศไทยที่ไม่รู้ภาษาอาหรับ ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะในศาสนาได้สะดวกและแพร่หลาย”

เลี้ยงลูกอย่าให้เป็นเทวดา! พ่อดู๋ สัญญาส่งน้องเอมฝึกงาน สอนให้เป็น ‘ลูกผู้ชาย’ เต็มตัว

เกิดเป็นลูกคนเดียว พ่อแม่รักดั่งดวงใจ…แต่ถ้าเลี้ยงแบบโอ๋เกินไป เห็นทีจะไม่ได้เรื่อง! ในเมื่อคุณพ่อคนเก่งอย่าง ดู๋ สัญญา คุณากร ก็ผ่านชีวิตมาเยอะกว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ได้ทีที่ลูกชายโตเป็นหนุ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว พ่อดู๋ สัญญา เลยส่งน้องเอมไปฝึกงานซะเลย

เป็นอีกหนึ่งครอบครัวคนดังที่อบอุ่นและเลี้ยงลูกได้มีคุณภาพมาก สำหรับดู๋ สัญญา คุณากร พิธีกรชื่อดัง ซึ่งมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนเพียงคนเดียวนั่นก็คือน้องเอม-สรรเพชญ์ คุณากร นับวันฉายความหล่อสไตล์โอปป้ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่การเกิดมาเป็นลูกชายบ้านนี้ ถึงจะเป็นลูกคนเดียวก็ไม่ได้จะถูกเลี้ยงให้เป็นเทวดาเสมอไป เพราะฝ่ายคุณพ่อคนเก่งเน้นอยากฝึกให้ลูกชายได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงเพื่อปลูกฝังให้รู้จักความอดทนในทุกๆ ด้าน

นักศึกษาวิชาทหารปีที่2แล้ว นึกถึงตอนตัวเองเด็กๆ ผมว่าโดยรวมมันก็สนุกดีนะ … และก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากลำบากอะไรนัก … บางที การหาที่ฝึกวิชา”อดทน” เป็นเเรื่องดี และจำเป็น.. ของชีวิต ครับ IG@sanyakunakorn

โดยก่อนหน้านี้พ่อดู๋ก็แลดูจะภูมิใจลูกชายมากๆ ที่สามารถอดทนกับการเรียนวิชาทหาร จะคลุกฝุ่นตากแดดตากลมมากเท่าไหร่พ่อยิ่งปลื้ม และล่าสุดยังส่งลูกชายไปฝึกงานเป็นเบลบอยอยู่ที่โรงแรงหรูใจกลางเมืองอีกด้วย งานนี้เลยอดภูมิใจไม่ได้ที่เห็นลูกชายขยันขันแข็งและรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้

จริงๆงานที่ลูกทำก็ไม่ได้ลำบากมาก หรือยิ่งใหญ่มากแต่อย่างใด แต่ผมสอนเขาว่า งานทุกงานมีคุณค่าเสมอ อยู่ที่แง่มุมมองและกำลังสติปัญญาของเรา ว่าเข้าใจอย่างถ่องแท้หรือไม่ … ผมไม่เคยสอนให้ลูกโตขึ้นไปเป็นเจ้าคนนายคน … ถ้าทุกคนเป็นนายหมด ใครจะเป็นผู้ปฏิบัติ แล้วโลกจะขับเคลื่อนอย่างไร….IG@sanyakunakorn
ตอนนี้เอมอายุ17 สองปีแล้วที่ผมทำแบบนี้ เมื่อลูกปิดเทอม ผมจะให้ลูกหางานทำ หาที่ฝึกงาน ให้ได้รู้จักชีวิตคนทำงาน ต้องตื่นเช้า กลับค่ำ รถติด เดินทางเองด้วยระบบขนส่งสาธารณะ อดทน เป็นผู้รับใช้ ให้บริการผู้อื่น ทำวันละ8ชั่วโมง ให้รู้ว่า กว่าผู้คนจะหาเงินมาเลี้ยงตน เป็นอย่างไร……
โชคดีจัง …. ลูกเห็นด้วย IG@sanyakunakorn

ปลูกฝังลูกได้ดีแบบนี้รับรองอนาคตไกล พร้อมสานต่อธุรกิจของพ่อดู๋ได้แน่นอน…ว่าแต่แบกกระเป๋า ยิ้มแย้มแจ่มใสขนาดนี้ สาวๆกรี๊ดไม่น้อยแน่ๆ ว่าไหม

 

กระชับรักด้วย ‘อ่างอาบน้ำ’ ไอเท็มเด็ดที่ขาดไม่ได้ในเรือนหอ

account_circle

อ่างอาบน้ำ  ไอเท็มชิ้นเด็ดที่ RIYA แนะนำว่าควรมีในเรือนหอ เพราะนอกจากจะเป็นการอาบน้ำที่แสนผ่อนคลายแล้ว ใครจะไปคิดว่าอ่างอาบน้ำยังเป็นสถานที่กระชับรักให้แน่นแฟ้นได้ด้วยนะ

อ่างอาบน้ำ

อ่างอาบน้ำแบ่งบออกเป็น 2 แบบหลักๆ คือ อ่างอาบน้ำประเภท อ่างลอยตัว  ซึ่งอ่างแบบนี้มักจะมีดีไซน์สวยๆ เพราะต้องโชว์ตลอดทั้งเรือนร่าง แถมข้อดีคือซ่อมบำรุงง่าย ตัวอย่างที่เห็นกันบ่อยๆ ก็พวก อ่างถังไม้ อ่างอาบน้ำวินเทจ

อ่างอาบน้ำแบบที่สองคือ อ่างฝังตัว ที่ต้องมีการก่อปูนเป็นแท่นรองรับ หรือฝังลงไปในพื้น โผล่มาแค่ขอบอ่าง ซึ่งก็เป็นแบบที่เราเห็นได้บ่อยๆนั่นแหล่ะ แถมอ่างแบบนี้ราคายังถูกกว่าอ่างแบบลอยตัวด้วยนะ

วิธีการเลือกก็ไม่ยาก เพราะมีหลักการง่ายๆ 4 อย่าง คือ วัสดุที่นำมาผลิต ขนาด รูปร่าง และระบบของอ่าง

เธอนั่นหนา ทำมาจากอะไร

วัสดุที่นิยมนำมาทำอ่างอาบน้ำตอนนี้มีอยู่ 2 อย่าง คือ อะคิริค ที่นอกจากจะทนทานแล้ว ยังทำความสะอาดง่าย และมีความยืดหยุ่นสูง จะบิด จะเบี้ยว จะเล่นท่ายากกี่ท่าก็ได้โม้ดดดดดด

ส่วนอีกวัสดุคือ ไฟเบอร์กราสเคลือบเจล มีน้ำหนักเบา ราคาไม่แรง แต่ข้อเสียรุนแรงคือ ไม่ค่อยทนเท่าไหร่ ใช้ไปสักระยะจะปรากฏรอยแตกลายงาได้ ฉะนั้นรู้ไว้เลยนะคะว่า อ่างชนิดนี้ไม่ทนต่อกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวรุนแรง

ใหญ่โต อลังการ

อ่างอาบน้ำ

อ่างอาบน้ำมีหลายขนาด สำหรับอาบคนเดียว จะมีความกว้างแค่ประมาณ 60-80 เซนติเมตร ลงไป 2 คนเนี่ยอึดอัดทำอะไรก็ไม่ถนัดหรอก สำหรับสองคนต้องมีเนื้อที่กว้างสัก 90 -120 เซนติเมตร กำลังดี คราวนี้จะลงเดี่ยว ลงคู่ ไปพลิกคว่ำ พลิกหงายแค่ไหนก็สบาย

ทรวดทรงองค์เอว

อ่างอาบน้ำ

รูปทรงของอ่างอาบน้ำก็สำคัญเช่นเดียวกัน ว่าเหมาะกับห้องน้ำขนาดเล็กใหญ่ อย่างอ่างอาบน้ำสี่เหลี่ยมยาว ที่เราเห็นกันจนชินตาใช้พื้นที่น้อย เหมาะกับไว้ในห้องน้ำเล็กๆ

อ่างเข้ามุม สำหรับชาวห้องน้ำเล็กเช่นเดียวกัน แต่เบื่ออะไรที่มันซ้ำซากจำเจ แถมแบบเข้ามุมเนี่ย ถ้าบริหารพื้นที่ดีๆ นั่งทับซ้อนกันสักหน่อย ก็ลงพร้อมกัน 2 ได้สุขสำราญเลยละ

สุดท้ายทรงกลม อันเนี้ย กว้างใหญ่มว๊าก ถึงจะดำผุด ดำว่ายไม่ได้ แต่ปูไต่ได้สบายมาก

น้ำพุ น้ำผุด

อ่างอาบน้ำราคาแรงๆ ส่วนใหญ่มักจะมีลูกเล่นที่คล้ายเป็นการนวดผ่อนคลายไปในตัว ซึ่งก็มีอยู่ 2 ระบบเช่นเดียวกัน ระบบแรก คือ Whirlpool Jets ที่จะเป็นการดูดเอาน้ำในอ่างนั่นแหล่ะ พ่นผ่านหัวเจ็ท ให้อารมณ์การนวดที่รุนแรงถึงใจ แต่ใช้ไปสักระยะจะมีปัญหาเรื่องน้ำค้างอยู่ในระบบ ทำให้ไม่ค่อยถูกสุขอนามัยสักเท่าไหร่

อีกระบบคือ Air Pool Pump เป็นระบบที่อ่างอาบน้ำจะพ่นอากาศออกมาเป็นรูเล็ก ระบบนี้จะไม่ก่อปัญหาทางสุขอนามัย แต่ว่าสัมผัสที่ได้มันออกจะนุ่มนวลไม่เร้าใจสักเท่าไหร่ อาจต้องหันมานวดกันเองเพื่อคลายเมื่อย

สาธยายครบทั้ง 4 ด้าน น่าจะทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น แต่ว่าทางทีดีเวลาเลือกซื้อ RIYA อยากให้ไปลองเองกับตัวด้วยว่า อ่างที่เราเลือก มันเข้ากับรูปร่าง ความสูงของเราหรือเปล่า เพราะเจ้าอ่างอาบน้ำเนี่ย ราคาก็ไม่ใช่ถูกๆ แถมไม่ได้ซื้อกันบ่อยๆด้วย จริงม่ะ

ข้อมูลและภาพ : http://community.akanek.com , http://www.pqsenior.com , www.ajc.com ,www.minimalisti.com ,www.diamondspas.com

 

keyboard_arrow_up