ทั้งชีวิตอุทิศเพื่อประชาชน ในหลวงรัชกาลที่9 ทรงงานตลอด 70 ปี (ตอนที่ 2)

ทุกครั้งที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยือนราษฎรในท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จะทรงไต่ถามทุกข์สุขหรือความต้องการของประชาชน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกร ทรงมีเป้าหมายหลักคือ ต้องการเห็นประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่ผู้อื่น

พระองค์มีพระราชภาระอันใหญ่ยิ่งในการดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรทั่วทั้งประเทศ ซึ่งการทรงงานของพระองค์นั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้ในยามที่ทรงพระประชวรก็ยังไม่เคยละเว้นจากการปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะพ่อแห่งแผ่นดิน ที่ต้องดูแลลูกไทยมากกว่า 60 ล้านคนให้อยู่ดีมีสุขกันถ้วนหน้า ดังเหตุการณ์เมื่อปี 2518 พระองค์ทรงพระประชวรด้วยเชื้อไมโคพลาสมา พระอาการหนักมากจนเป็นที่วิตกของคณะกรรมการการแพทย์ที่ถวายการรักษา แต่ทรงห่วงใยราษฎรมากกว่าความปลอดภัยของพระองค์เอง ถึงกับรับสั่งกับนายแพทย์ว่า

“จะใช้เวลารักษานานเท่าไร ขอรอไว้ก่อนนะ ฉันทนได้ วันนี้ขอไปดูราษฎรและช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมก่อน”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีกระบวนการพระราชดำริอย่างเป็นระบบและมีเหตุผล เห็นได้จากพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองหลายกรณี อาทิ แนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวพระราชดำริ “บวร” หมายถึง บ้าน วัด และโรงเรียน เพื่อร่วมสร้างความสมานฉันท์ภายในสังคม แม้แต่แนวพระราชดำริ “ระเบิดจากข้างใน” ก็เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาชุมชนจากภายในสู่ภายนอกสังคมตามลำดับ

ครั้งหนึ่งที่พระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยมโครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเปียกฝนกันทุกคน เมื่อทรงเห็นดังนั้นจึงรับสั่งให้องครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงเยี่ยมข้าราชการและราษฎรท่ามกลางสายฝน ทรงนึกถึงแต่ประชาชน แม้กระทั่งวันที่พระองค์ทรงกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดพระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ก็ยังรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งคอมพิวเตอร์เดินสายออนไลน์ไว้ เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ เพื่อพระองค์จะได้ทอดพระเนตรมอนิเตอร์ เผื่อน้ำท่วมจะได้ช่วยเหลือทัน

นอกจากนี้ยังทรงตระหนักว่าทุกข์ที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นั้นเป็นทุกข์ดังพุทธพจน์ที่ว่า “อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคย่อมเป็นลาภอันประเสริฐ ทำให้พระองค์ทรงส่งเสริมพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของไทยให้เกิดความเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง

ครั้งหนึ่งพระองค์มีพระราชดำรัสว่า “ข้าวกล้องมีประโยชน์ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวเม็ดสวย แต่เขาเอาของดีออกไปหมดแล้ว มีคนบอกว่าคนจนกินข้าวกล้อง เรากินข้าวกล้อง เรานี่ก็คนจน” สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ราษฎร ไม่เว้นกระทั่งเรื่องสุขอนามัย

ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ก่อตั้ง “มูลนิธิชัยพัฒนา” เพื่อสนับสนุนส่งเสริมโครงการหรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการพัฒนาตนเองและพัฒนาชุมชน จนกระทั่งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สอดรับกับพระราชดำรัสเกี่ยวกับมูลนิธิชัยพัฒนาตอนหนึ่ง ความว่า “มูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งมีหน้าที่ที่เขาตั้งไว้สำหรับมูลนิธิ ให้พัฒนาประเทศจนมีชัยชนะ ชัยของการพัฒนานี้มีจุดประสงค์คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดีของประชาชน…”

ทรงมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในระดับรากหญ้าตามพื้นที่ชนบท ด้วยทรงเล็งเห็นว่าความเป็น “รากหญ้า” ย่อมเต็มเปี่ยมด้วย “รากเหง้า” ทางภูมิปัญญาอันเป็น “รากฐาน” ทางสังคมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อุปมาดั่งต้นไม้ที่มี “รากแก้ว” ซึ่งสามารถเจริญเติบโตไปเป็น “รากแกร่ง” ที่ลำเลียงธาตุอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้นจนแตกกิ่งก้านสาขา ผลิร่มเงาได้อย่างยั่งยืน เป็นที่มาของโครงการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ โดยมีพระราชประสงค์ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง จนชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

โครงการพระราชดำริทุกโครงการล้วนเกิดขึ้นจากพระราชหฤทัยที่ทรงพระเมตตาต่อพสกนิกรเป็นสำคัญ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า “…การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศ ทางภูมิศาสตร์ และทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศตามสังคมวิทยาคือนิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราต้องเข้าไปช่วย โดยที่จะดัดเขาให้เข้ากับเราไม่ได้ แต่เราต้องเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ หลักการของการเข้าไปพัฒนาจึงจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง”

เรียกได้ว่าตลอดพระชนมายุ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อมวลพสกนิกรไทย โดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทนอื่นใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความโปร่งใสแห่งห้วงพระราชหฤทัยที่ใฝ่เมตตาธรรมเป็นสำคัญ

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up