ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับรัฐธรรมนูญในช่วงปัจฉิมแห่งรัชกาล

ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงเวลานั้นได้ยุติลงชั่วคราว เมื่อถึงเหตุการณ์ครั้งสําคัญและยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ คือ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในเดือนมิถุนายน ประชาชนต่างมีความสุขที่ได้เฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม หลังจากนั้นไม่นาน…ในที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็มีอายุใช้งานได้เพียง 9 ปี เพราะวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นําคณะยึดอํานาจจากรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และเชิญ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ของประเทศไทย

เมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมปีเดียวกันแล้ว นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ดํารงตําแหน่งอยู่ราว 8 เดือนเศษ ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้พ้นจากตําแหน่ง เพราะกระทําการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ดํารงตําแหน่งแทน แต่การเมืองในช่วงนั้นมีความผันผวนสูง จึงดํารงตําแหน่งได้นาน 84
วันก็ต้องมอบหมายให้นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ดํารงตําแหน่งแทนได้ 15 วันก็พ้นตําแหน่ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคคนละ 5 ปี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าบริหารงานในตําแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยความยากลําบาก เพราะเป็นการเข้ามาท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายที่ยังเห็นชอบกับรัฐบาลเดิม จนกระทั่งได้ยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทย โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หัวหน้าพรรค ชนะการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ แต่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเมืองไทยมาได้ราว 2 ปีเศษ ก็ถูกคณะบุคคลเรียกร้องให้ลาออก แต่รัฐบาลตัดสินใจยุบรัฐบาลและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจึงต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี แต่รัฐบาลได้ตั้งตัวแทนขึ้นมาท่ามกลางความวุ่นวายที่ส่อความรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นําโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ทําการรัฐประหารแบบเรียบง่ายและสงบ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 และได้ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมารัฐบาลได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นฉบับที่ 19 และแต่งตั้งให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนสําเร็จ ผ่านการลงมติยอมรับร่างฯจากประชาชนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เรียบร้อยแล้ว และรอการลงพระปรมาภิไธย แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสวรรคตเสียก่อน…
ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งรัชสมัย การเมืองไทยมีการผันผวนปรวนแปรอยู่ตลอดเวลา ผ่านการมีรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ แต่ละฉบับใช้บังคับในช่วงเวลาอันจํากัด ทําให้กฎเกณฑ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น การเลือกตั้ง อํานาจ
หน้าที่ของสมาชิกสภา โครงสร้างของรัฐสภา สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย สภาพเช่นนี้ทําให้การเมืองไทยมีลักษณะไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน และมีผลกระทบต่อภาพพจน์ทางการเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชน และความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อการเมืองและนักการเมือง แต่ก็ยิ่งทําให้เห็นชัดว่า
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมิได้เพียงแต่ทรงศึกษาวิชารัฐธรรมนูญมาอย่างลึกซึ้ง หากแต่ภายใต้รัชกาลของพระองค์ได้ครอบคลุมรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ที่ใช้ปกครองประเทศไทย จึงทรงรอบรู้และผ่านปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในทุกรูปแบบมาอย่างยาวนาน ครั้นเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นในหลายๆ คราว ก็ทรงแก้ไขวิกฤติของประเทศให้กลับคืนสู่ปกติสุขได้ ทรงพยายามสร้างต้นแบบและแนวทางของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” ได้อย่างแยบยล และเป็นที่ยอมรับนับถือของนักวิชาการทางกฎหมายมหาชนอย่างถ้วนหน้า
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงเป็นพระประมุขของประเทศที่ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ มามากกว่าประมุขของประเทศใดๆ ในโลกนี้

ที่มา : บทความพิเศษ นิตยสารแพรว ฉบับที่ 895 ปักษ์วันที่ 10 ธันวาคม 2559

Praew Recommend

keyboard_arrow_up