ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับรัฐธรรมนูญในช่วงปัจฉิมแห่งรัชกาล

รัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ถูกประกาศใช้ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 นับเป็นฉบับที่ 16 ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ทําให้ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีรัฐธรรมนูญมากที่สุดประเทศหนึ่ง

เมื่อรัฐบาล พล.อ.ชวลิตจําต้องลาออกไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 อันเนื่องมาจากผลของภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยํากุ้ง” รัฐบาลจึงเปลี่ยนขั้วมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ นําโดยนายชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ได้บริหารงานต่อจนครบวาระ และได้จัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทย นําโดยนายทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นผู้นําในการจัดตั้งรัฐบาล และสามารถบริหารประเทศจนครบวาระ 4 ปี รัฐบาลได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และนายทักษิณได้กลับมาดํารงตําแหน่งอีกวาระหนึ่ง ท่ามกลางเสียงขับไล่จากผู้ชุมนุมประท้วง เพราะรัฐบาลมีความเป็นเผด็จการทางรัฐสภา และความไม่โปร่งใสในการทํางานได้ปรากฏมากขึ้น โดยกลุ่มประท้วงได้มีการกล่าวถึงมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 เรียกร้องขอ “นายกฯพระราชทาน” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระราชดํารัสในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด (นายอักขราทร จุฬารัตน) นําตุลาการศาลปกครองสูงสุดเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตําแหน่งหน้าที่ ณ พระตําหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 ความตอนหนึ่งว่า

“ถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีทางจะปกครองแบบประชาธิปไตย ของเรามีศาลหลายชนิดมากมาย และมีสภาหลายแบบ และทุกแบบจะต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดทางที่จะแก้ไขได้ ที่พูดอย่างนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ขอร้องอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาก็บอกว่าต้องมาตรา 7 มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่ามาตรา 7 นั้นไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอํานาจที่จะทําอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่ มาตรา 7 นั้นพูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสิน ทําได้ทุกอย่าง ถ้าทํา เขาจะนึกว่าพระมหากษัตริย์ทําเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยพูด ไม่เคยทําเกินหน้าที่ ถ้าทําเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย อ้างถึงก่อนนี้ เมื่อรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่มีทําเกินอํานาจของพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นมีสภา สภามีอยู่ มีประธานสภา รองประธานสภามีอยู่ ทําหน้าที่ และมีนายกฯที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญ
 
“…นายกฯพระราชทานหมายความว่า ตั้งนายกฯโดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย ตอนนั้นมีกฎเกณฑ์ เมื่อครั้งอาจารย์สัญญาได้รับตั้งเป็นนายกฯ เป็นนายกฯที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ รองประธานสภานิติบัญญัติ อันนั้นไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ ท่านก็ทราบว่ามีกฎเกณฑ์ที่รองรับ แล้วก็งานอื่นๆก็มี แม้จะที่เรียกว่าที่สภาสนามม้า เขาหัวเราะกัน สภาสนามม้า แต่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ นายกรัฐมนตรี อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็สบายใจว่าทําอะไรแบบถูกต้องตามครรลองของรัฐธรรมนูญ
 
“แต่ครั้งนี้ก็จะให้ทําอะไรผิดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบนะ แต่ว่าเขาจะให้ทํา ฉะนั้นขอให้ช่วยปฏิบัติอะไร คิดอะไรไม่ให้ผิดกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ จะทําให้บ้านเมืองผ่านพ้นสิ่งที่เป็นอุปสรรคและมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป…”
อ่านต่อหน้า 2

Praew Recommend

keyboard_arrow_up