ต้นแบบของชาวพุทธ “พระราชาผู้ทรงธรรม” เผยพระราชจริยวัตรในหลวงรัชกาลที่ 9

“พระราชาผู้ทรงธรรม”…ช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2499 ถือเป็นช่วงเวลาของการบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมในพระราชหฤทัยได้อย่างดียิ่ง ซึ่งเป็นไปตามพระราชปณิธานที่ตั้งมั่นในการทรงผนวชมาก่อนหน้านี้แล้วว่า

“…พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเรา ทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้าเอง ก็เห็นเป็นศาสนาดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอนอันชอบธรรม คำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล ซึ่งเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณี…”

แม้พระองค์ทรงผนวชในระยะเวลาอันสั้น แต่ธรรมะที่ทรงน้อมนำมาใช้ในการปกครองไพร่ฟ้าประชาชนกลับสืบทอดยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่ได้ทรงผนวชด้วยพระวรกายแค่เพียงอย่างเดียว ทว่ากลับทรงผนวชด้วยพระราชหฤทัยที่ถึงพร้อม ดังพระโอวาทของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ความว่า

“…การทรงผนวชวันนี้เป็นประโยชน์มาก…บวชด้วยกายอย่างหนึ่ง บวชด้วยใจอย่างหนึ่ง ถ้าทั้งสองอย่างผสมกันเข้าแล้วจะเป็นกุศล…”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในธรรมะชั้นสูงในขั้นปฏิบัติกรรมฐาน เพื่อให้ทรงมีสมาธิตั้งมั่นอยู่กับการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรได้อย่างเต็มพระกำลัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักบำเพ็ญธรรมส่วนพระองค์ไว้ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นสถานที่วิเวก เหมาะอย่างยิ่งแก่การเจริญภาวนา ทั้งนี้ทรงปฏิบัติสมาธิเป็นประจำและประทับเป็นเวลานานด้วย

ก่อนที่จะทรงงานทุกครั้ง พระองค์จะเสด็จฯเข้าห้องสวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิจิตใจให้สงบระยะหนึ่งแล้วจึงทรงงาน ทรงเคยมีพระราชปรารภว่า การที่พระองค์ทำเช่นนั้นรู้สึกว่างานได้ผลดี เพราะเมื่อมีสมาธิในการทำงาน งานที่ทำก็ทำได้อย่างมีระเบียบเรียบร้อยได้คุณภาพดี และจิตใจก็ปลอดโปร่งแจ่มใส

นอกจากนี้ยังมีพระราชจริยวัตรที่พิเศษอีกประการหนึ่งซึ่งคนทั่วไปปฏิบัติได้ยากคือ ในคืนวันธรรมสวนะ (วันพระ) พระองค์จะทรงรักษาอุโบสถศีลอย่างเคร่งครัด และทุกวันจันทร์พระองค์จะทรงถวายสังฆทานเป็นนิตย์ ด้วยตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ ซึ่งราชกิจวัตรนี้ได้ทรงกระทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยทรงอาราธนาพระสงฆ์จากวัดต่างๆมารับสังฆทานภายในพระตำหนัก

พระราชจริยวัตรอันงดงามเช่นนี้ทำได้ยากยิ่ง ถ้าจะต้องใข้ความสม่ำเสมอเช่นนี้ แต่พระองค์ก็ทรงเป็นแบบอย่างให้เห็นว่า หน้าที่ของพระมหากษัตริย์นั้นไม่ใช่แค่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องของพระพุทธศาสนา พระองค์ก็ยังทำหน้าที่เป็นต้นแบบ เพื่อให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการทะนุบำรุงศาสนาอีกด้วย

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up