รัฐธรรมนูญไทย ตลอดรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 (ตอนที่ 1)

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนารัฐธรรมนูญของไทยที่มีความผันผวนมาตลอด เพราะเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติในช่วงที่เมืองไทยเพิ่งเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2475 มาเป็นประชาธิปไตยได้เพียง 14 ปี
ความผันผวนของรัฐธรรมนูญในช่วงต้นรัชสมัย
นับตั้งแต่ประชาชนชาวไทยได้รับทราบถึงการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ความโศกสลดก็ครอบงําไปทั่วราชอาณาจักร รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์ให้ประชาชนไว้ทุกข์ถวาย มีกําหนด 1 ปี และในเวลา 20.00 น. ของวันเดียวกัน รัฐสภาได้ประชุมร่วมกันเป็นกรณีพิเศษ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา ความตอนหนึ่งว่า
“ที่ประชุมรัฐสภาได้รับทราบการสวรรคตด้วยความโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง และมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไป”
จากนั้นนายวิลาศ โอสถานนท์ ประธานพฤฒสภา นายไต๋ ปาณิกบุตร รองประธานพฤฒสภา นายเกษม บุญศรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายมงคล รัตนวิจิตร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ไปเข้าเฝ้าฯถวายพระพรและกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ให้ครองราชย์ตามมติของรัฐสภา และได้มีประกาศของทางราชการว่า
“ขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 เป็นต้นไป”
ณ บัดนั้น ปีที่หนึ่งแห่งรัชกาลปัจจุบันได้เริ่มต้นขึ้น แต่เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระเยาว์ รัฐธรรมนูญได้กําหนดให้มีผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวในครั้งแรก ได้แก่ พระสุธรรมวินิจฉัย (ชม วณิกเกียรติ) พระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) และนายสงวน จูฑะเตมีย์ สมาชิกพฤฒสภา ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
สถานการณ์การเมืองหลังจากนั้นก็มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา แต่ข่าวการสวรรคต การสืบสวนสอบสวน การจับผู้ต้องสงสัย และการฟ้องร้อง ตลอดจนพิจารณาคดี เป็นเรื่องใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ ในช่วงนั้นประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติลําดับที่ 55 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2489 และมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี
จากนายปรีดีเป็น พล.ร.ต.ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารนําโดย
พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ น.อ.กาจ กาจสงคราม และบุคคลอื่น เข้ายึดอํานาจจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ พร้อมกับยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และตั้งรัฐบาลให้
อ่านต่อหน้า 2

Praew Recommend

keyboard_arrow_up