ทั้งชีวิตอุทิศเพื่อประชาชน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานตลอด 70 ปี (ตอนที่ 1)

หลังการขึ้นครองราชย์ของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้เสด็จฯกลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เพื่อทรงศึกษาวิชากฎหมายและการปกครอง เนื่องจากต้องรับพระราชภาระเป็นพระมหากษัตริย์ ในด้านวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ทรงตั้งพระทัยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศเกี่ยวกับพื้นฐานและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ เพื่อนำมาเป็นแนวปรับปรุงแก้ไขประเทศไทยให้เจริญขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ทรงเป็นตัวอย่างของผู้ที่เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมอย่างแท้จริง ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ คอยบำบัดทุกข์บำรุงสุขของพสกนิกรมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะทรงถือว่า “การให้และการเสียสละเป็นการกระทำอันมีผลกำไร” กล่าวคือ กำไรแห่งความอยู่ดีมีสุขของปวงประชา ซึ่งไม่สามารถประเมินเป็น “มูลค่า” แต่กลับมี “คุณค่า” ทางจิตใจมากกว่า เข้าทำนองที่ว่า “ขาดทุนคือกำไร”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีความเพียรพยายาม อันเป็นหนึ่งในคุณธรรมและจริยธรรมที่บริบูรณ์ยิ่ง สังเกตได้จากหลากหลายโครงการพระราชดำริที่ทรงริเริ่มขึ้น ล้วนประสบสัมฤทธิผลได้ด้วยพระราชวิริยอุตสาหะเป็นสำคัญ สอดคล้องกับวิริยบารมีของพระโพธิสัตว์ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก แปลว่า “พ่อผู้ยิ่งใหญ่” ซึ่งมีพระราชประสงค์ในการปลูกฝังให้คนไทยทุกภาคส่วนมีความเพียรพยายามในการทำงานและทำความดี สอดคล้องกับพระราชปรารภที่ว่า “ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์”

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เคยเล่าถึงการจดจ่อทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “พระองค์ทรงประยุกต์พระสมาธิในการประกอบพระราชกรณียกิจทุกอย่างทั้งน้อยและใหญ่ จึงทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนักในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้โดยไม่ทรงสะทกสะท้านหรือหวั่นไหว ไม่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไปไกลๆ อย่างเลื่อนลอยและเปล่าประโยชน์ ไม่ทรงอาลัยอดีตหรืออนาคต ไม่ทรงเสียเวลาหวั่นไหวไปกับความสำเร็จหรือความล้มเหลวอันเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทรงจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทรงสนพระราชหฤทัยอยู่แต่กับพระราชกรณียกิจเฉพาะพระพักตร์เท่านั้น”

พระองค์ทรงตระหนักอยู่เสมอว่าความทุกข์ยากของพสกนิกรย่อมเปรียบเสมือนความทุกข์ยากของพระองค์เอง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนไทยจึงมักเห็นภาพพระพักตร์ของพระองค์ที่เต็มไปด้วยหยาดพระเสโท อันเป็นผลมาจากความตรากตรำพระวรกาย จนไพร่ฟ้าประชาชนต่างกล่าวขานกันว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ทรงเอาพระราชหฤทัยจดจ่อ ไม่ทรงยอมให้ขาดจังหวะจนกว่าจะเสร็จ และไม่ทรงทิ้งขว้างแบบทำๆ หยุดๆ ดังนั้นพระราชกรณียกิจทั้งหลายนั้นจึงสำเร็จลุล่วงไปเป็นส่วนใหญ่

ภาพที่พระองค์มักทรงถือแผนที่ด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงจับปากกา พระศอสะพายกล้องถ่ายรูป ได้กลายเป็นภาพที่ชินตาและอยู่ในหัวใจของราษฎรไทยทุกภาคส่วน อุทิศพระองค์เพื่อทรงงานหนัก โดยไม่ทรงเห็นแก่ความตรากตรำพระวรกาย ในบางครั้งรถพระที่นั่งต้องฝ่าเข้าไปในกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก หากรถไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำได้ พระองค์ก็เสด็จฯลงจากรถเพื่อทรงพระดำเนินต่อไปด้วยสองพระบาท

พระองค์มีพระราชประสงค์ในการใช้ “สายพระเนตร” สอดส่องสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตราษฎร ใช้ “สองพระกรรณ” สดับรับฟังความเดือดร้อนของพสกนิกรจากปากของพวกเขาเอง แล้วทรงใช้ “พระปัญญา” คิดวิเคราะห์หาแนวทางในการแก้ไขปัญหา จากนั้นทรงใช้ “พระหัตถ์” ลงมือปฏิบัติทดลองด้วยพระองค์เอง ทั้งหมดนี้ด้วยทรงเล็งเห็นว่าความทุกข์ยากของประชาชนนั้น หากไม่ลงมือแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ก็ย่อมไม่เกิดคุณประโยชน์อันใดขึ้นมา

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up