กว่าจะมีวันนี้! โม – โมรียา เม – เอรียา จุฑานุกาล สองพี่น้องผู้เขย่าวงการกอล์ฟโลก
เป็นข่าวกระหึ่มโลกเมื่อโปรเม – เอรียา จุฑานุกาล คว้าแชมป์เมเจอร์ที่ 2 ของปี “ยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พร้อมรับเงินรางวัลเบาๆ 31.5 ล้านบาท!
กว่าเมกับโมจะมาถึงวันนี้ ขอบอกว่าไม่ง่าย เรามาย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของสองพี่น้องเมื่อครั้งมาคุยกับแพรว แล้วมาปรบมือให้เธอดังๆ พร้อมกัน

- ในช่วงเริ่มต้นของการเป็นนักกอล์ฟ ครอบครัวจุฑานุกาลขายที่ดิน บ้านกับรถ เพื่อนำเงินมาส่งให้ลูกทั้งสองคนแข่งขันกอล์ฟ
- โมกับเมเรียนจบแค่ ม.6 แล้วออกมาตีกอล์ฟ ไม่เคยมีชีวิตวัยรุ่น ไม่เคยเที่ยวกับเพื่อน เวลาเพื่อนๆ คุยเรื่องละครหรือซีรี่ส์เกาหลีกัน เราก็ไม่รู้เรื่อง เพราะตอนนั้นไม่เคยได้ดู ใช้เวลากับกอล์ฟครึ่งหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เรียกว่าเห็นลูกกอล์ฟพอๆ กับจานข้าวก็ว่าได้
- ช่วงแข่งกอล์ฟที่อเมริกาใหม่ๆ เมกับโมต้องประหยัดเงิน ไม่เคยกินข้าวตามร้านอาหาร แต่จะซื้อของสดมาทำเองแบบง่ายๆ ยิ่งวันไหนมีแข่ง พ่อจะทอดไข่เจียวใส่กล่องให้ไปกินที่สนามกอล์ฟ
ย้อนกลับไปวันแรกที่กอล์ฟเข้ามาในชีวิตของทั้งคู่หน่อย
โมเล่าต่อ “ตอนนั้นโม 7 ขวบ ส่วนเม 5 ขวบ พ่อเปิดร้านขายอุปกรณ์กอล์ฟในสนามกอล์ฟ เราสองคนต้องไปอยู่ที่นั่นหลังเลิกเรียนทุกวัน และความที่ไม่อยากให้ลูกวิ่งซนขณะทำงาน พ่อจึงตัดปัญหาด้วยการให้ตีกอล์ฟแบบเล่นๆ ไม่ได้จริงจัง แต่พอเล่นไปพักหนึ่งก็มีผู้ใหญ่แนะนำว่า ทำไมไม่ลองไปแข่งระดับเยาวชนดูล่ะ พ่อกับแม่จึงลองพาไปแข่งสนามเล็กๆ ปรากฏว่าเราทำผลงานได้ดี จากรายการเล็กก็ขยับไปแข่งรายการที่ใหญ่ขึ้น ตอนนั้นพ่อคงเห็นแววอะไรบางอย่าง จึงให้เราเล่นกอล์ฟแบบจริงจัง โดยจัดตารางฝึกซ้อมกอล์ฟ เช่น ให้วิ่งตอนเช้าก่อนเข้าเรียนเป็นเวลา 30 นาที ถ้าถามว่าเราชอบไหม…
“ไม่ชอบเลย” (เมกับโมตอบพร้อมกัน แล้วหัวเราะพร้อมกัน ก่อนที่โมจะเล่าต่อ) “ต้องบอกว่าพ่อออกกำลังกายหนักมาก เพราะหลังจากเริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับกอล์ฟไม่นานก็ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ซีกซ้ายของร่างกาย นอกจากนี้ยังเส้นเลือดตีบในสมองและโรคหัวใจด้วย”
หายเพราะออกกำลังกายหรือครับ
เมเล่าบ้าง “น่าจะมาจากความมุ่งมั่นมากกว่า นิสัยของพ่อคือไม่ว่าใครจะบอกว่าไม่ได้ ถ้าพ่อบอกว่าได้ ก็จะทำให้ได้ อย่างตอนที่ป่วย พ่อไม่เคยไปหานักกายภาพบำบัด แต่ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เช่น ใช้แขนขวาที่ปกติยกแขนซ้าย หรือถ้าอยากเข้าห้องน้ำ พอแม่ทำท่าจะช่วย พ่อก็บอกว่าไม่ต้อง แล้วค่อยๆ หย่อนตัวลงจากเตียง จากนั้นค่อยๆ ไถตัวไปที่ห้องน้ำ พ่อทำทุกอย่างด้วยตัวเองแบบนี้ จนอาการดีขึ้นและเริ่มกลับมาใช้ร่างกายทางฝั่งซ้ายได้เหมือนเดิม ตั้งแต่นั้นก็กลายเป็นมนุษย์บ้าออกกำลังกาย แล้วพ่อคิดว่าการเป็นนักกีฬาที่ดีต้องมีร่างกายที่แข็งแรงด้วย จึงให้เราเริ่มวิ่งตอนเช้าก่อนเข้าเรียนวันละ 30 นาที
“แต่เราไม่ได้ตื่นไปวิ่งเช้ามากนะ เพราะพ่อเชื่อว่าการนอนเยอะเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงเป็นเด็กที่เข้าห้องเรียนช้าอยู่เป็นประจำ โดยพ่อให้เหตุผลกับครูว่า เด็กปกติต้องท่องศัพท์ เข้าแถวตอนเช้า แต่ลูกผมจะไปถึงโรงเรียนตอนที่ครูเริ่มสอนนะครับ ถ้าเริ่มตอน 8 โมงครึ่ง ลูกผมก็จะไปตอนนั้น
“พ่อช่วยทำการบ้านให้เราด้วยนะ ซึ่งครูก็รู้ทันที เพราะเด็กอะไรลายมือเหมือนผู้ใหญ่ พอโดนครูว่า พ่อก็ไปคุยกับครูว่า ลูกผมไม่มีเวลาครับ เขาเป็นนักกีฬา ต้องซ้อมวิ่ง ว่ายน้ำ และตีกอล์ฟ ถ้าครูจะให้การบ้านเยอะ ผมกับภรรยาต้องช่วยทำให้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ครูทำได้คือไม่ให้การบ้านเยอะ”
คุณพ่ออินดี้มากนะ
เมทำหน้าจริงจัง “ใช่ พ่อเทพมาก เรื่องโปรแกรมออกกำลังกายก็จริงจังมาก ขอเริ่มใหม่ตั้งแต่ตื่นนอนนะ พออาบน้ำแต่งตัวเสร็จ เรากินข้าวเช้าในรถ ไปถึงโรงเรียนก็วิ่งรอบสนาม 30 นาที จากนั้นเปลี่ยนชุดนักเรียนในรถ โดยพ่อตกลงกับทางโรงเรียนไว้ว่าขอให้เราสองคนเรียนแค่ครึ่งวันเพื่อไปซ้อมกอล์ฟต่อ เพราะฉะนั้นพอเรียนเสร็จตอนเที่ยง เราก็เข้ามากินข้าวกลางวันในรถระหว่างที่พ่อขับไปสนามกอล์ฟ พอตอนเย็นเราก็ไปว่ายน้ำต่อกับทีมว่ายน้ำที่มีนักกีฬาทีมชาติด้วย โดยลงสระตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม ครูจะสั่งเป็นเซต เช่น ว่ายท่าผีเสื้อ 200 เมตร 4 นาที พักแป๊บหนึ่งก็ว่ายต่อ โดยเฉลี่ยหนึ่งวันเราจะว่ายน้ำเป็นระยะทางอย่างน้อย 3 กิโลเมตร ถ้าวันไหนเยอะหน่อยก็ไป 4 – 5 กิโลเมตร เรียกว่าว่ายกันเป็นบ้าเป็นหลัง”

เคยถามคุณพ่อไหมว่า ทำไมจึงมั่นใจว่าเมกับโมจะประสบความสำเร็จในการเป็นนักกอล์ฟ
เมตอบ “พ่อไม่มั่นใจหรอก แต่สิ่งที่พ่อคิดตลอดคือ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ครอบครัวเชื่อเสมอ คือถ้าตั้งใจ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ พ่อจึงไม่เคยหยุดที่จะพยายามหาสิ่งใหม่ๆ มาพัฒนาเราตลอดเวลา รวมถึงทุ่มเงินส่งไปแข่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เราเด็กๆ”
กว่าจะมีวันนี้! โม – โมรียา เม – เอรียา จุฑานุกาล สองพี่น้องผู้เขย่าวงการกอล์ฟโลก
นั่นคือเหตุผลที่ครอบครัวนี้ขายทั้งบ้านทั้งรถเพื่อสานฝันให้ลูกๆ เป็นนักกอล์ฟระดับโลก
เม “ใช่ค่ะ พ่อขายที่ดิน บ้านกับรถ แต่ตอนนั้นเรามีบ้านหลายหลังกับรถหลายคัน สมัยก่อนฐานะครอบครัวโอเค ไม่ได้แย่ แต่ถ้าถามว่าตีกอล์ฟจนเงินหมดไหม…ก็ใช่” (หัวเราะ)
โมอธิบาย “ส่วนหนึ่งโดนธนาคารยึดด้วย โมคิดว่าตอนนั้นพ่อมีเงินพอที่จะนำบ้านกลับคืนมาได้ แต่ก็ไม่ทำ เพราะใช้เงินทั้งหมดกับเรื่องกอล์ฟ โดยเฉพาะใช้ในการแข่งขันที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ตอนที่เราอายุ 12 – 13 ปี เริ่มจากไปอยู่ครั้งละ 2 – 3 เดือน แล้วเพิ่มเป็น 6 เดือน
“โมเริ่มเล่นอาชีพรายการแอลพีจีเอที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 18 ปี ส่วนเมอายุน้อยกว่า 1 ปี ช่วงปีแรกจึงต้องเล่นทัวร์อื่นๆ เช่น ยูโรเปียนทัวร์ก่อน ช่วงนั้นจึงต้องแยกกันเดินทาง โดยเมไปกับพ่อ ส่วนโมไปกับแม่ แต่ถึงแม้จะไม่ได้เล่นรายการใหญ่ๆ ในอเมริกา แต่เมก็ทำผลงานได้ดีมาก จนได้รับเชิญให้เข้ามาเล่นรายการแอลพีจีเอที่สหรัฐอเมริกาด้วย ในขณะที่อันดับโลกก็พุ่งเร็วมาก จากที่ร้อยกว่ามาอยู่ที่ 15 ของโลก ถือว่าคูลมาก เพราะเมแทบไม่ได้เล่นรายการใหญ่ๆ เลย”
ตอนลุยอเมริกาใหม่ๆ ทั้งเรื่องแข่งกอล์ฟกับการใช้ชีวิตยากขนาดไหนครับ
โมตอบเอง “มากค่ะ เพราะเราต้องนับหนึ่งใหม่กับทุกเรื่อง ตั้งแต่การเช่ารถ จองโรงแรม วางแผนว่าจะเล่นทัวร์นาเมนต์ไหนบ้างที่จะดีต่ออันดับโลก ช่วงแรกเรามีญาติที่อยู่อเมริกาคอยเสิร์ชข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตให้ จากนั้นพ่อ แม่ โม กับเมก็ลุยกันเอง 4 คน
“และที่เหนื่อยมากคือ เราต้องใช้ชีวิตเหมือนคนเร่ร่อน เพราะต้องเดินทางไปแข่งทั่วสหรัฐฯ แล้วมีรายการแข่งขันทุกสัปดาห์ นั่นหมายความว่าเราต้องเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ ตอนนั้นใช้วิธีเช่าโรงแรม 1 ห้องอยู่ด้วยกัน ไม่มีที่ไหนที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นบ้านหรือเป็นที่ที่เราได้พักจริงๆ”
เมยิ้มเมื่อคิดถึงชีวิตในช่วงนั้น “ช่วงแรกสาหัสหน่อย แต่ไม่เคยคิดว่าลำบากนะ เพราะเราอยู่ด้วยกัน 4 คน ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน แต่เรื่องเปลี่ยนโรงแรมก็ทำให้ชีวิตเหนื่อยจริงๆ ไม่เข้าใจว่าทำไมฉันต้องแพ็คกระเป๋าทุกวันอาทิตย์ เพราะปกติกอล์ฟจะแข่งในวันพฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ พอวันอาทิตย์เราต้องเริ่มเก็บกระเป๋า แล้วหาตั๋วเครื่องบินไปแข่งทัวร์นาเมนต์ต่อไป พอไปถึงเมืองนั้นก็ต้องเช่ารถ แบกของขึ้นรถขับไปที่โรงแรม พอเข้าห้องก็ต้องนำของออกจากกระเป๋า แล้วก็เริ่มแข่ง พอถึงวันอาทิตย์ก็เก็บทุกอย่างลงกระเป๋า แล้วชีวิตก็วนกลับไปเหมือนเดิม เราใช้ชีวิตเหมือนคนเร่ร่อนแบบนี้อยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนจะซื้อบ้าน”
เรื่องอาหารการกินล่ะ เป็นอย่างไรครับ เรื่องใหญ่ไหม
เมตอบ “ช่วงไปอเมริกาใหม่ๆ ต้องประหยัดกันพอสมควร เราไม่เคยกินข้าวตามร้านอาหาร พ่อจะซื้อของสดมาทำเองแบบง่ายๆ ยิ่งวันไหนมีแข่ง พ่อทอดไข่เจียวใส่กล่องให้ไปกินที่สนามกอล์ฟ คือกินแค่พออิ่มเท่านั้น หรือตอนเริ่มเล่นกอล์ฟที่เมืองไทย เราไม่เคยกินข้าวที่คลับเฮ้าส์ แต่จะกินที่โรงอาหารของแคดดี้ เพราะพ่ออยากประหยัด กระทั่งเป็นนักกอล์ฟอาชีพจึงค่อยดีหน่อย เพราะมีอาหารให้นักกีฬา เราก็กินมื้อเที่ยงกับเขา ส่วนมื้อเย็นก็กลับมาทำอาหารกันเองที่บ้าน”

จากที่เริ่มต้นด้วยความฝันของพ่อ แล้วทั้งคู่เริ่มชอบกอล์ฟจริงๆ เมื่อไร
โมกับเมมองหน้ากัน จากนั้นให้พี่สาวเปิดใจก่อน “เอาตรงๆ ช่วงแรกโมไม่รู้ว่าตัวเองชอบกอล์ฟหรือเปล่า รู้แต่ว่านี่คือแพลนของชีวิตว่า พออายุ 18 ก็เทิร์นโปรเป็นนักกอล์ฟอาชีพ พยายามเข้าไปเล่นในรายการใหญ่ๆ อย่างแอลพีจีเอ นอกจากนี้เราอยากดูแลพ่อแม่ได้ แล้วกอล์ฟก็เป็นอาชีพที่ทำให้ความคิดนั้นเป็นจริง เราเริ่มด้วยความคิดแบบนั้น แต่พออยู่กับมันทุกวันก็เหมือนว่ากีฬากอล์ฟค่อยๆ ซึมซับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต จนวันนี้ที่บอกได้ว่า คงรักมันเข้าแล้วจริงๆ”
เม “พอเริ่มอินกับกอล์ฟก็รู้สึกว่าชีวิตที่มีเป้าหมายนั้นมีความสุข ยิ่งพอมาถึงวันนี้ก็รู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เงินหรือชื่อเสียง แต่คือการที่เราได้ภูมิใจในตัวเอง ทำให้มีกำลังใช้ชีวิตในวันต่อไป”
ย้อนกลับไปคิดถึงเด็กสองคนที่ต้องตื่นไปวิ่ง ซ้อมกอล์ฟ แล้วว่ายน้ำจนถึงดึก รู้สึกว่าเด็กสองคนนั้นเดินทางมาไกลขนาดไหน
โมยิ้มกว้าง “รู้สึกดีใจและโชคดี ความลำบากทำให้เราเข้มแข็ง ปัญหาทำให้เราโตขึ้นจนมาวันนี้ได้ โมรู้สึกโชคดีที่พ่อแม่ผลักดันให้ทำทุกอย่าง และก็อยากขอบคุณตัวเองด้วยที่พยายามมาตลอด
“โมว่ากอล์ฟเป็นกีฬาที่ทุกคนเล่นได้ แต่ถ้าจะเล่นให้ดีก็ต้องทุ่มเท อดทน และแลกกับอะไรหลายอย่าง โมกับเมเรียนจบแค่ ม.6 แล้วออกมาตีกอล์ฟ ไม่เคยมีชีวิตวัยรุ่น ไม่เคยเที่ยวกับเพื่อน บางทีเพื่อนๆ ที่โรงเรียนก็คิดว่าเราได้รับสิทธิพิเศษเรียนแค่ครึ่งวัน หรือเวลาเพื่อนๆ คุยเรื่องละครหรือซีรี่ส์เกาหลีกัน เราก็ไม่รู้เรื่อง เพราะตอนนั้นไม่เคยได้ดู ใช้เวลากับกอล์ฟครึ่งหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เรียกว่าเห็นลูกกอล์ฟพอๆ กับจานข้าวก็ว่าได้ ที่สำคัญ โมเชื่อว่าคนที่จะประสบความสำเร็จต้องรู้ก่อนว่าตัวเองทำอะไรได้ดี คนส่วนใหญ่รู้ข้อเสียของตัวเอง โมก็รู้ แต่หลายคนไม่เคยมองว่าแล้วอะไรที่เป็นข้อดีของตัวเอง แล้วก็ทุ่มเทแบบเต็มที่”
เมปิดท้าย “ถ้าพูดแบบโกหกคือ พอมองกลับไปสมัยเด็กๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองทำทั้งหมดนั้นได้อย่างไร แต่เมเชื่อว่า ถ้ามีฝัน แรงผลักดัน และเป้าหมาย เราสามารถทำอะไรก็ได้”
เรื่อง : ปารัณ เจียมจิตต์ตรง