หมู่พระมหามณเฑียร สถานที่สำคัญ สำหรับใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์
ใกล้ถึงวันสำคัญของประชาชนชาวไทย เข้ามาทุกทีแล้วสำหรับ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร แพรวดอทคอมจึงขอถือโอกาสรวบรวมสถานที่สำคัญต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยข้อมูลทั้งหมดนี้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เผยแพร่เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ในพระราชพิธีสำคัญนี้
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงรับเสวยราชสมบัติและเปลี่ยนสถานะเป็นองค์สมมติเทพอย่างสมบูรณ์ โดยผ่านขั้นตอนพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผสมผสานระหว่างคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ มีขั้นตอนสำคัญประกอบด้วยการถวายน้ำสรงมุรธาภิเษก หมายถึงการรดน้ำที่ศีรษะ มาจากคำว่า มุรฺธ แปลว่า ศีรษะ กับคำว่า อภิเษก แปลว่า การรดน้ำ และขั้นตอนสำคัญประการถัดมาคือการถวายน้ำอภิเษก ถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์อันเป็นขัตติยราชูปโภค สถาปนาพระราชวงศ์ และเฉลิมพระราชมณเฑียร ซึ่งเป็นราชประเพณีที่สืบเนื่องจากกรุงศรีอยุธยามาสู่กรุงรัตนโกสินทร์
สถานที่สำคัญในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์ คือ พระมหามณเฑียร หรือ หมู่พระมหามณเฑียร ประกอบด้วยพระที่นั่งที่เชื่อมต่อกันหลายองค์ ใช้เป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ นับเป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่หมู่แรกที่สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวังและถือเป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์สำคัญยิ่ง
หมู่พระมหามณเฑียรตั้งอยู่บริเวณย่านกลางของพระบรมมหาราชวัง หันหน้าไปทางทิศเหนือ ตั้งอยู่ต่อเนื่องในเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน มีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมไทยประเพณีโดยเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เครื่องหลังคาซ้อนชั้นตามคติความเชื่อเรื่องปราสาทหรือเรือนฐานันดรสูง ประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ที่เรียกเครื่องประดับกรอบหน้าบันนี้โดยรวมว่า เครื่องลำยอง หลังคาของหมู่พระมหามณเฑียรมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว ขอบสีส้มคาดสีเหลืองตามฐานานุศักดิ์แห่งสถาปัตยกรรมไทยประเพณี เป็นไปตามคติความเชื่อที่ว่าอาคารที่ประดับด้วยเครื่องหลังคามุงกระเบื้องเคลือบหลากสีและประดับเครื่องลำยองในลักษณะนี้เป็นเรือนฐานันดรสูงหรือปราสาทอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามพระที่นั่ง ๓ องค์ซึ่งเป็นหลักของพระมหามณเฑียรไว้อย่างคล้องจองกัน ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน นามดังกล่าวแสดงออกถึงคติความเชื่อในราชสำนัก ตลอดจนหน้าที่การใช้งานและความสำคัญของพระที่นั่งแต่ละองค์ นอกจากนี้ ยังมีหอพระสุลาลัยพิมานซึ่งเป็นหอประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปสำคัญในราชสำนัก และหอพระธาตุมณเฑียรซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์บางรัชกาล
ข้อมูล : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภาพ : wikipedia
ติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่
กำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตลอดเดือนเมษายน-พฤษภาคม
งดงาม “เข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เตรียมเปิดขายรอบปฐมฤกษ์แล้ว
สมพระเกียรติ ประมวลภาพการฝึกซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เลอค่าน่าสะสม แสตมป์ที่ระลึกชุดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.10 อยากได้ต้องทำอย่างไร
งดงามและเปี่ยมความหมาย ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562
พสกนิกรปลื้มใจ! ในหลวง ร.10 พระราชทานแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว
ควรค่าแก่การรู้ 4 ขั้นตอนสำคัญอันศักดิ์สิทธิ์ของ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”
กรมธนารักษ์ เปิดจองเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
“หน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์” เครื่องมุทิตาบรรณาการจากศรีลังกา เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
กระทรวงวัฒนธรรมเปิดตัวหนังสือองค์ความรู้เกี่ยวกับ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”
ย้อนรำลึก “พระปฐมบรมราชโองการ” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแห่งกษัตริย์จักรีวงศ์
ความคืบหน้า ริ้วขบวนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ความเป็นมา “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” โบราณราชประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ไทย
“พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ถ่ายทอดสด 170 ประเทศ พร้อมเปิดเว็บไซต์-เฟซบุ๊กให้ข้อมูล
กำหนดการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกาศ 6 พ.ค. วันหยุดราชการ
สมเด็จพระเทพฯ ทรงร่วมประชุมคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 1/2562
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก