ย้อนรำลึก "พระปฐมบรมราชโองการ" ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแห่งกษัตริย์จักรีวงศ์
พระปฐมบรมราชโองการ

ย้อนรำลึก “พระปฐมบรมราชโองการ” ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแห่งกษัตริย์จักรีวงศ์

Alternative Textaccount_circle
พระปฐมบรมราชโองการ
พระปฐมบรมราชโองการ

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อีกหนึ่งความสำคัญและความศักดิ์สิทธิ์ที่จะได้รับการจารึกไว้ตลอดไป คือการที่พระมหากษัตริย์จะพระราชทาน “พระปฐมบรมราชโองการ” หลังจากพราหมณ์ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภคแล้ว

โดยพระปฐมบรมราชโองการ นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาล 9 มีเนื้อความและใจความสำคัญที่แตกต่างกันไป ตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยนั้นๆ ซึ่งล้วนแสดงถึงพระราชปณิธานในฐานะทรงเป็นผู้รับพระราชภาระแห่งชาติบ้านเมือง

ในโอกาสที่ใกล้จะถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 แพรวดอทคอม จึงรวบรวมพระปฐมบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 9 มาให้ประชาชนชาวไทยได้รำลึกนึกถึงกัน

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

พ.ศ. 2328

พระปฐมบรมราชโองการ

“…พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรปรารถนาเถิด…”

(ที่มา : phralan.in.th)

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2352

พระปฐมบรมราชโองการ

“ แต่บรรดาพฤกษาและแม่น้ำใหญ่ น้อย และสิ่งของทั้งปวง ซึ่งมีในแผ่นดิน ทั่วขอบเขตแดนพระนคร ซึ่งหาเจ้าของหวงแหนมิได้ ให้พระราชทานแก่ สมณะ พราหมณ อณาประชาราษฎร์ทั้งปวง ตามแต่ปรารถนาเถิด ”

(ที่มา : phralan.in.th)

 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2367

พระปฐมบรมราชโองการ

“เจ้าพระยา และพระยา ของซึ่งถวายทั้งนี้ จงจัดแจงบำรุงไว้ให้ดี จะได้รักษาแผ่นดิน”

ในการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พบหลักฐานพระปฐมบรมราชโองการหลังจากพิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ที่พระที่นั่งภัทรบิฐ พบแต่ “ พระราชโองการปฏิสันถาร ” ในการเสด็จมหาสมาคม ซึ่งโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้าเฝ้าเพื่อรับการถวายราชสมบัติ จากนั้นจึงมีพระราชโองการตรัสปฏิสันถารกับเจ้าพระยา และพระยาทั้งปวง ซึ่งมีข้อความเดียวกันทุกรัชกาล ต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ยกเลิกพิธีส่วนนี้ มีแต่เพียงการถวายพระพรชัยมงคลจากขุนนางฝ่ายหน้าและข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในเท่านั้น (ที่มา : phralan.in.th)

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394

พระปฐมบรมราชโองการ

“ พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด ”

(ที่มา : phralan.in.th)

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 

ครั้งแรก วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411

พระปฐมบรมราชโองการ

“แต่บรรดาที่ไม่มีเจ้าของผลไม้ทั้งน้ำในห้วยละหารตรท่าก็ดี ตามแต่สมณพราหมณาจารยอาณาประชาราษฎรจะมาแต่จตุระทิศต่างๆ ตามแต่จะปรารถนา”

(ที่มา : phralan.in.th)

 

ครั้งหลัง วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416

พระปฐมบรมราชโองการ

คำภาษามคธ

“อิทานหํ สพฺเพสํ อนุมติยา ราชา มุทฺธาวสิตฺโต สฺยาเมสุ อิสฺสราธิปจฺจํ รชฺชํ กาเรมิธ ธฺมมิกราชปเวณิยา อนุชานามิ ยนฺติ สฺยามวิชิเต อปรปริคฺคหิตํ ติณกฏฺโจทกํ สมณพฺราหฺมณาทโย สพฺเพสฺยามรฏฺฐิกา ยถาสุขํ ปริภุญฺชนุตุฯ”

คำแปล

“ครั้งนี้ท่านทั้งปวงพร้อมใจกัน ยอมให้เราเปนเจ้าครองราชสมบัติได้รับมุรธาภิเษกเปนใหญ่ในสยามราษฎร์วราณาจักรนี้แล้ว เราขออนุญาตยอมให้ โดยธรรมิกราชประเพณี พรรณพฤกษชลธีในสยามราษฎร์วราณาจักรนี้ ซึ่งไม่มีเจ้าของหวงแหนนั้น ตามแต่สมณพราหมณาจารย์ ประชาราษฎรทั้งปวงจะปรารถนาใช้สอยเทอญ ฯ”

(ที่มา : phralan.in.th)

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453

พระปฐมบรมราชโองการ

คำภาษามคธ

“อิทานาหํ พฺราหฺมณา ราชภารํ วหนฺโต พหุโน ชนสฺส อตฺถาย หิตาย สุขาย ธมฺเมน สเมน รชฺชํ กาเรมิ ตุมฺหากํ สปริคฺคหิตานํ อุปริ ราชกํ อาณํ ปสาเรตฺวา นาโถ หุตฺวา ธมฺมิกํ รกฺขาวรณคุตฺตี สํวิทหามิ วิสฺสฏฺฐา หุตฺวา ยถาสุขํ วิหรถ ฯ”

คำแปล

“ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญ ฯ ”

(ที่มา : phralan.in.th)

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468

พระปฐมบรมราชโองการ

คำภาษามคธ

“อิทานาหํ พฺราหฺมณา ราชภารํ วหนฺโต พหุโน ชนสฺส อตฺถาย หิตาย สุขาย ธมฺเมน สเมน รชฺชํ กาเรมิ ตุมฺหากํ สปริคฺคหิตานํ อุปริ ราชกํ อาณํ ปสาเรตฺวา นาโถ หุตฺวา ธมฺมิกํ รกฺขาวรณคุตฺตี สํวิทหามิ วิสฺสฏฺฐา หุตฺวา ยถาสุขํ วิหรถ ฯ”

คำแปล

“ ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เปนที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญ ฯ ”

(ที่มา : phralan.in.th)

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8

เสด็จสวรรคตก่อนทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

พระปฐมบรมราชโองการ

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”


 

ข้อมูล : phralan.in.th, หนังสือ ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์

ภาพ : หนังสือ ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up