พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ควรค่าแก่การรู้ 4 ขั้นตอนสำคัญอันศักดิ์สิทธิ์ของ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

Alternative Textaccount_circle
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ก่อนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 สิ่งหนึ่งที่พสกนิกรชาวไทยภายใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ท่านควรรู้ไว้เป็นอย่างยิ่ง คือ ลำดับขั้นตอนต่างๆ ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อจะได้มีส่วนร่วมกับพระราชพิธีสำคัญนี้ได้อย่างถูกต้อง และซาบซึ้งกับขนบธรรมเนียมประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ งดงาม และล้ำค่าได้อย่างสมบูรณ์

สำหรับ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปรากฏหลักฐานของลำดับขั้นตอนที่ชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย โดยขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆ ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามยุคสมัยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมพระราชพิธี

ขั้นตอนการเตรียมพระราชพิธี ประกอบด้วย การทำพิธีตักน้ำและที่ตั้งสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก จารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร เตรียมตั้งเครื่องบรมราชาภิเษก และเตรียมสถานที่จัดพระราชพิธี

การเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก

ขั้นตอนการเตรียมพิธีจะต้องมีการตักน้ำจากแหล่งสำคัญๆ เพื่อนำมาเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษก และเพื่อทำน้ำอภิเษกก่อนที่จะนำไปประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามตำราโบราณของพราหมณ์ น้ำอภิเษกจะต้องเป็นน้ำจาก “ปัญจมหานที” คือ แม่น้ำใหญ่ทั้ง 5 สายในชมพูทวีป หรือในประเทศอินเดีย ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำมหิ แม่น้ำยมนา แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู เพราะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเชื่อว่า แม่น้ำทั้ง 5 สายนี้ไหลมาจากเขาไกรลาส ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร จึงถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เหมาะสำหรับนำมาใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ เช่น น้ำสรงพระมุรธาภิเษก น้ำอภิเษก และน้ำพระพุทธมนต์

การจารึกพระสุพรรณบัฏ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล เป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งในการเตรียมประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยจะต้องถวายพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธยก่อนที่จะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ และต้องเชิญแผ่นดวงพระบรมราชสมภพและพระราชลัญจกรประจำรัชกาลขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เจ้าพนักงานอาลักษณ์เชิญพานพระสุพรรณบัฏพร้อมด้วยดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ออกจากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเข้ากระบวนแห่อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระแท่นมณฑล ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

โดยการจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย และดวงพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ จัดขึ้นในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โหรหลวงเป็นผู้กำหนดพระฤกษ์พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ เมื่อกำหนดพระฤกษ์ได้วันจารึกพระสุพรรณบัฏแล้ว ตอนเย็นก่อนถึงวันพระฤกษ์ พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ ส่วนโหรหลวงจะสวดบูชาเทวดา เช้าวันรุ่งขึ้นก่อนเวลาพระฤกษ์ พระราชวงศ์ที่ทรงเป็นประธานในพิธีจะทรงถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว ประธานในพิธีจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการและทรงศีล จากนั้นจึงเริ่มพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏและแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

การจัดเตรียมสถานที่

สถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละรัชกาลตามความเหมาะสม เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประกอบพระราชพิธี ณ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกปราสาท พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประกอบพระราชพิธี ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ประกอบด้วย พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เนื่องด้วยพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทซึ่งสร้างขึ้นแทนที่พระที่นั่งอมรินทราภิเษกปราสาทเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ซึ่งได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2453 ณ พระที่นั่งหมู่พระมหามณเฑียร ต่อมาใน พ.ศ. 2454 ได้ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประกอบพระราชพิธี ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร

ขั้นตอนที่ 2 พระราชพิธีเบื้องต้น

ขั้นตอนพระราชพิธีเบื้องต้น ประกอบด้วย การเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัยและเจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในเวลาเย็นทรงจุดเทียนนมัสการพระรัตนตรัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ วันรุ่งขึ้นทรงถวายภัตตาหารเช้า เป็นเวลา 3 วัน ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา ส่วนพิธีพราหมณ์อาจกระทำมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เอกสารไม่ได้กล่าวถึง ปรากฏหลักฐานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า โปรดให้ประกอบพิธียกพระเศวตฉัตร 7 ชั้นที่พระที่นั่งอัฐทิศ และพระที่นั่งภัทรบิฐ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พร้อมทั้งการถวายเครื่องพลีกรรมบวงสรวงเทวดา ณ เทวสถานต่างๆ ในพระนคร และการถวายน้ำสังข์ ถวายใบมะตูมให้ทรงทัด กับถวายใบสมิต (ใบมะม่วง ใบทอง ใบตะขบ) เพื่อทรงปัดพระเคราะห์ ก่อนจะมอบให้พระมหาราชครูนำไปบูชาชุบโหมเพลิงเพื่อป้องกันอันตรายทั้งปวง หลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระแท่นบรรทมเพื่อทรงสดับพระสงฆ์สวดเจริญพระปริตรต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทางประตูเทเวศร์รักษา สู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อประกอบพิธีจุดเทียนชัย วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

ขั้นตอนพระราชพิธีดังกล่าวเป็นแบบอย่างสืบมาจนถึงในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนตามความเหมาะสม โดยก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โปรดให้ประกอบพระราชพิธีในเวลาเย็นวันเดียว คือ วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เจริญพระพุทธมนต์บนพระแท่นลา หน้าตั่งทุกตั่งตั้งบัตรเทวรูปนพเคราะห์ 3 ชั้น สำหรับโหรบูชาเทวดานพเคราะห์เฉพาะวันนี้ และจะถอนไปในวันรุ่งขึ้น รวมทั้งการจัดเครื่องบูชาพระมหาเศวตฉัตร 5 แห่ง ประกอบด้วย พระมหาเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระมหาเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระมหาเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระมหาเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม พระมหาเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และปูชนียสถานและสิ่งสำคัญ 13 แห่งในพระนคร

ขั้นตอนที่ 3 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย พิธีสรงพระมุรธาภิเษก พิธีถวายน้ำอภิเษกจากผู้แทนทิศทั้ง 8 ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ และพิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

พิธีสรงพระมุรธาภิเษก

“มุรธาภิเษก” แปลว่า การรดน้ำที่พระเศียร น้ำที่รดเรียกว่า “น้ำมุรธาภิเษก” การสรงพระมุรธาภิเษก หมายถึงการยกให้ หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ซึ่งตามคติความเชื่อของพราหมณ์ถือว่า การยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ ทรงสิทธิ์อำนาจนั้น จะต้องทำพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่บรรจุในทุ้งสหัสธารานั้น เจือด้วยน้ำปัญจมหานทีในมัธยมประเทศ (อินเดีย) และน้ำเบญจสุทธคงคา แม่น้ำสำคัญทั้งห้าของราชอาณาจักรไทย น้ำสี่สระ เจือด้วยน้ำอภิเษก ซึ่งทำพิธีพลีกรรม ตักมาจากปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร และเจือด้วยน้ำพระพุทธปริตรที่ได้ทำพิธีเตรียมไว้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทองคำ สถิตเหนืออุทุมพรราชอาสน์ ในการสรงพระมุรธาภิเษก

พิธีถวายน้ำอภิเษก

พิธีถวายน้ำอภิเษกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีขั้นตอนโดยสังเขปดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สรงพระมุรธาภิเษกแล้วทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์เสด็จออกจากหอพระสุลาลัยพิมาน ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ ภายใต้เศวตฉัตร 7 ชั้น ผู้แทนสมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษก และพระราชครูวามเทพมุนีทูลเกล้าฯ ถวายน้ำเทพมนตร์เวียนไปครบ 8 ทิศ เมื่อเสด็จมาประทับยังทิศบูรพาอีกครั้ง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานวุฒิสภา กราบบังคมทูลถวายชัยมงคลเป็นภาษามคธ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายน้ำอภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประทับนั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ภายใต้พระสัปตฎลเศวตฉัตร ทรงแปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพาเป็นปฐม นายควง อภัยวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายน้ำอภิเษก

พิธีถวายสิริราชสมบัติ และถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์

พิธีถวายสิริราชสมบัติ และถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีลำดับขั้นตอน คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จไปยังพระราชอาสน์อีกด้านหนึ่ง เรียกว่า พระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร พระราชครูวามเทพมุนีร่ายเวทสรรเสริญศิวาลัยไกรลาสจบแล้วถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องขัตติยราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในตอนนี้ อันเป็นขั้นตอนสำคัญแห่งพิธี จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ บัณเฑาะว์ ฆ้องชัย ฯลฯ พระอารามทั้งหลายย่ำระฆัง หลังจากพิธีถวายสิริราชสมบัติ และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่พระที่นั่งภัทรบิฐแล้ว พระครูพราหมณ์ฝ่ายต่างๆ ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะมีพระปฐมบรมราชโองการเป็นภาษาไทย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ พระราชครูวามเทพมุนี ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหาพิชัยมงกุฎ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชครูวามเทพมุนี ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระแสงขรรค์ชัยศรี
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระปฐมบรมราชโองการแก่ประชาชนชาวไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แล้วทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจโดยทศพิธราชธรรมริยา ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการดำรัสตอบขอบใจผู้ที่มาเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล

ขั้นตอนที่ 4 พระราชพิธีเบื้องปลาย 

ขั้นตอนพระราชพิธีเบื้องปลาย ประกอบด้วยการเสด็จออกมหาสมาคม สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา ถวายบังคมพระบรมศพ พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนๆ เสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร และเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและทางชลมารค เพื่อให้อาณาประชาราษฎร์ได้เฝ้าชมพระบารมี จึงเป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ให้ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อถวายเครื่องราชสักการะ ต้นไม้ทอง เงิน บูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และมีพระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

ทั้งนี้สำหรับ รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3 มีการเสด็จเลียบพระนครทางสถลมารคเพียงอย่างเดียว รัชกาลที่ 4 มีทั้งทางสถลมารคและทางชลมารค รัชกาลที่ 5 มีแค่ทางสถลมารค และรัชกาลที่ 6 – รัชกาลที่ 7 มีทั้งทางสถลมารคและทางชลมารค ส่วนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไม่ได้เสด็จเลียบพระนคร

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งราชยานพุดตาล เสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนพยุหยาตราโดยทางสถลมารคเลียบพระนคร มาทางถนนพระสุเมรุ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เรือหลวงในกระบวนพยุหยาตราโดยทางชลมารคเลียบพระนคร บริเวณหน้าวัดอรุณราชวราราม

 

ข้อมูล : หนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ภาพ : หนังสือ ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up