หลิง จันทิมา ติยะวัชรพงศ์ HappyMate

20 ปี บนเส้นทางอาหารสุขภาพ “หลิง-จันทิมา ติยะวัชรพงศ์” ผู้บุกเบิกแบรนด์ HappyMate

Alternative Textaccount_circle
หลิง จันทิมา ติยะวัชรพงศ์ HappyMate
หลิง จันทิมา ติยะวัชรพงศ์ HappyMate

ด้วยใจรักในอาหารสุขภาพและอยากส่งต่อสุขภาพที่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้ “คุณหลิง-จันทิมา ติยะวัชรพงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามพรานฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ HappyMate (แฮปปี้เมท) มุ่งมั่นต่อสู้เพื่อสร้างแบรนด์และคงไว้ซึ่งคุณภาพของผลิตภัณฑ์มาตลอด 20 ปี

20 ปี บนเส้นทางอาหารสุขภาพ “หลิง-จันทิมา ติยะวัชรพงศ์” ผู้บุกเบิกแบรนด์ HappyMate

เล่าถึงแรงบันดาลใจของการทำธุรกิจอาหารสุขภาพสักนิดค่ะ

“ต้องย้อนเล่าไปสมัยวัยรุ่นค่ะ หลิงอ่านหนังสือต่างประเทศ A New World ที่บอกว่าร่างกายมนุษย์ไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์หรือดื่มนม ซึ่งความจริงคุณแม่ก็ไม่กินเนื้อสัตว์นะคะ ท่านพยายามให้ลูกๆ เลิกกินด้วย แต่ไม่มีใครทำตาม พออ่านเล่มนี้หลิงอินมาก บวกกับตอนนั้นไปปล่อยปลากับเพื่อน เราไม่เคยเดินตลาดมาก่อน พอเห็นคนทุบหัวปลา เย็นนั้นเลิกกินเนื้อสัตว์เลย ซึ่งตอนนั้นหลิงอายุแค่ 19 ปีเอง ที่ทำได้ทันที คิดเองนะคะว่าอายุยังน้อย กิเลสจึงน้อย (ยิ้ม)

“หลังจากเลิกกินเนื้อสัตว์ ก็ทำให้สนใจต่อว่าแล้วเราจะกินอย่างไรให้ได้สารอาหารครบ หลิงเริ่มจากเน้นกินถั่ว ผักสด ถ้าไปกินข้าวข้างนอกแล้วไม่มีข้าวกล้อง ก็ทนหิวกลับมากินที่บ้าน ไม่แตะน้ำมันเลย ต้องมีถ้วยใส่น้ำร้อนวางไว้ข้างๆ สำหรับล้างอะไรที่มันๆ ออกก่อน

“ผลของความสุดโต่งครั้งนั้น ผ่านไป 3 เดือน ผมร่วง ตัวเหลือง อาจเพราะกินมะละกอและแครอตเยอะ จากนั้นประจำเดือนขาดๆ หายๆ หมอให้ฮอร์โมนมากิน แต่หลิงคิดว่าไม่ใช่ทางออก จึงหาหมอจีนด้วย หมอบอกว่าเรากินไม่ถูกต้อง ก็ลดความสุดโต่งลงมา ปรับอาหารไม่ให้เคร่งจนเกินไป สุดท้ายกว่าร่างกายจะฟื้นตัวได้ใช้เวลานานถึง 3 ปีเลยทีเดียว

“ช่วงเรียนปริญญาตรีหลิงมีโอกาสไปงานแฟร์ Natural Food Expo ที่แอลเอ พี่สาวคุณแม่ ซึ่งเป็นคนมาเลเซีย มีร้านอาหารสุขภาพอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ และต้องหาผลิตภัณฑ์ต่างประเทศมาขาย จึงชวนหลิงไปงานนี้ ความรู้สึกเราคือเหมือนเป็นสวรรค์ของเรา มีทั้งอาหารสุขภาพ วิตามิน สกินแคร์ออร์แกนิก ซึ่งเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วเมืองไทยยังไม่มี เห็นแล้วอยากนำเข้ามาขายบ้าง โดยเฉพาะแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ ซึ่งคุณป้านำเข้ามาขายที่มาเลเซียอยู่แล้ว จริงๆ ที่เมืองไทยก็มีบ้าง แต่ไม่ใช่แบบไม่ผ่านการกรอง ไม่ผ่านความร้อน และออร์แกนิกเหมือนอย่างแบรนด์ Bragg ที่คุณป้านำเข้าจากอเมริกา ซึ่งคนรู้จักทั่วโลก

“ในงานแฟร์นั้น หลิงได้เจอแพททริเซีย ซึ่งเป็นลูกสาวของ Paul Bragg ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Bragg เธออายุ 70 กว่าแล้ว แต่ดูสดใส กระฉับกระเฉง พอรู้ว่าเขาเป็นมังสวิรัติและกินแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ หลิงจึงยิ่งอิน”

หลิง จันทิมา ติยะวัชรพงศ์ HappyMate

แล้วจากความสนใจ ต่อยอดเป็นธุรกิจได้อย่างไรคะ

“ตอนแรกหลิงมีแผนไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ แต่คุณพ่อ (สุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์) เห็นว่าสนใจแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ ท่านจึงแนะนำให้เรียนในไทย แล้วเริ่มทำธุรกิจไปเลยในขณะเรียน หลิงทำตำแหน่ง QMR (ตัวแทนฝ่ายบริหารด้านคุณภาพ) ให้โรงงานสิ่งทอของคุณพ่อ และขายอาหารสุขภาพให้พนักงานในโรงงาน โดยขับรถกระบะไปซื้อข้าวกล้องจากวัด ซื้อจมูกข้าว งา แชมพูสมุนไพรอัญชัน วุ้นเส้นไม่ฟอกสี ฯลฯ ซึ่งของเหล่านี้เรากินและใช้อยู่แล้ว จุดประสงค์ตอนนั้นคืออยากให้พนักงานได้รู้จักและกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ได้คิดกำไรมากมาย เช่น ซื้อข้าวกล้องมา 50 บาท ขาย 55 บาท โดยขายเดือนละ 2 ครั้ง ช่วงเงินเดือนออก

“หลิงขยันขายทุกเดือนจนคุณพ่อเห็นความตั้งใจ อนุญาตให้เปิดสหกรณ์เล็กๆ ดีใจมาก ไปรับน้ำนมข้าวโพด น้ำสมุนไพร ข้าวต้มมัดเจ้าอร่อยมาขายเพิ่มเติม อย่างข้าวต้มมัด เราซื้อมาคู่ละ 4 บาท แต่ขาย 2 บาท ตั้งใจขายขาดทุน เพราะรู้ว่ามีประโยชน์ สารอาหารครบ แถมไม่มีเนื้อสัตว์ ทั้งอิ่มและอร่อย

“ช่วงนั้นหลิงเรียนปริญญาโท MBA Inter ภาคค่ำที่นิด้า ทำวิทยานิพนธ์เรื่องแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ว่าจะปลูกที่ทางเหนือของไทยได้ไหม สรุปคือไม่ได้ แต่เรื่องน่าสนใจคือยังไม่มีใครนำแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ออร์แกนิกเข้ามาขายสักที จึงติดต่อแบรนด์ที่นิวซีแลนด์ โดยให้เขาผลิตให้เรา เพราะหลิงตั้งใจจะทำแบรนด์สินค้าไทยส่งขายต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็นำเข้าแบรนด์ Bragg มาขายในเมืองไทยด้วย นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำบริษัทอาหารสุขภาพ ตอบโจทย์ทั้งเราและคนอื่นๆ ที่รักอาหารสุขภาพ ซึ่งคุณพ่อไม่ว่าที่หลิงไม่รับช่วงต่อกิจการสิ่งทอ ท่านเห็นด้วยที่หลิงเลือกมาแนวอาหารสุขภาพ เพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่ดี”

เส้นทางของการทำธุรกิจแรกเป็นอย่างไรคะ

“หลิงทำทุกอย่างเองทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องใหญ่อย่างเครื่องจักร จนถึงติดฉลากสินค้า ทำโบรชัวร์ ทำใบเสนอสินค้า นำสินค้าไปเสนอห้าง ซึ่งตอนนั้นหลิงเสนอแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ตัวเดียว เขางงกันหมด แต่โชคดีที่ Bragg เป็นแบรนด์มีชื่อและน่าสนใจ ทำให้หลายๆ ห้างยอมรับ แรกๆ เจอปัญหา ความที่คนยังไม่รู้จักโปรดักต์ พอเห็นตะกอนในขวด ซึ่งเป็นธรรมชาติของแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ ก็แจ้งให้มารับคืน เราก็ต้องอธิบายว่าไม่ได้เสียนะ ธรรมชาติเขาเป็นอย่างนั้น เนื่องจากการหมักแอ๊ปเปิ้ลออร์แกนิกจะไม่ผ่านการกรองและไม่ผ่านความร้อน จึงทำให้เกิดใย ไม่ใสกิ๊งเหมือนหลายแบรนด์ บางคนเข้าใจผิด คิดว่าตกตะกอน แต่จริงๆ แล้วเป็นเส้นใยบางๆ ที่เรียกว่า มาเธอร์ (Mother) เป็นส่วนที่มีสารอาหารทั้งวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากที่สุด

“หลังจากขายแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ หลิงก็ขายน้ำผึ้งป่าควบคู่ไปด้วย เพราะใช้ผสมทานด้วยกันได้ ตอนนั้นเราทำเป็นจุกก๊อก เพราะอยากใช้ของจากธรรมชาติ ปรากฏว่าจุกขวดกระเด็นออกจากขวดในโกดังเก็บของ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ข้างในเกิดแรงดันบวกกับโดนอากาศร้อน จึงกระเด็นออกจากขวด สุดท้ายต้องเปลี่ยนเป็นแบบฝาเกลียวหมุน ยอมทิ้งจุกก๊อกหมด”

จากแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ คุณหลิงต่อยอดโปรดักต์อย่างไรคะ

“หลิงเริ่มจากความสนใจของตัวเอง เช่น ครีมงาดำ สำหรับใครที่กินมังสวิรัติ เราจะขาดงาไม่ได้ เนื่องจากเป็นแหล่งของแคลเซียมและโปรตีน จากนั้นก็มีน้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มบ๊วย ซึ่งหลิงไม่ใช้น้ำส้มสายชูกลั่นธรรมดา แต่ใช้แอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำตาลทรายแดงให้มีรสชาติหอมอร่อย สินค้าเหล่านี้หลิงคิดเองนะคะ ใช้เซ้นส์ล้วนๆ ไม่ได้มีการสำรวจตลาด กับมีความโชคดีผสมอยู่ด้วย อย่างผลิตภัณฑ์ซอสแมนดาริน หลิงได้สูตรจากคุณป้าท่านหนึ่งที่ทำร้านอาหาร ทำซอสเหล้าแดงกับกระเทียมโทนดองอร่อยมาก แล้วใจดียอมบอกสูตรให้

“แต่กระบวนการที่จะเปิดโรงงานไม่ง่ายนะคะ สินค้าทุกอย่างต้องผ่านมาตรฐานของ อย.ให้เรียบร้อยก่อน ต้องมีการตรวจสถานที่ การจัดวางสินค้า อีกเรื่องที่ยากคือการขอการรับรองว่าเป็นโปรดักต์ออร์แกนิก ซึ่งต้องตรวจว่าไม่มีสารอะไรที่ไม่ใช่ออร์แกนิกปนเปื้อนในอาหาร นอกจากนี้ยังมีมาตรฐาน HACCP คือการตรวจเพื่อไม่ให้เกิดจุดเสี่ยงติดเชื้อ เช่น เราผลิตถั่วขวด จุดเซ้นสิทีฟคืออุณหภูมิ เขาจะมาดูว่าควบคุมความร้อนอย่างไร อุณหภูมิประมาณไหน ภาชนะที่ใช้บรรจุต้องสะอาดจริงๆ

“แล้วกว่าที่แต่ละผลิตภัณฑ์จะได้เลข อย. คือนานมาก อย่างซีเรียลใช้เวลาขอ อย. นาน 2 ปี เพราะมีเรื่องของนมผง ต้องไปขอที่ อย. กลาง รวมไปถึงการตรวจคำโฆษณา อย่างยุคนั้นคำว่าออร์แกนิกยังไม่แพร่หลาย หลิงก็คิดว่าควรใช้คำว่าไร้สารพิษ แต่ อย. ให้ใช้คำว่าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเราก็กลัวลูกค้าจะคิดว่าเราขายปุ๋ย (หัวเราะ) แต่เขาก็ยังยืนยันให้ใช้คำว่าเกษตรอินทรีย์มาถึงตอนนี้”

ฟีดแบ็กจากธุรกิจแรกเป็นอย่างไรคะ

“ต้องบอกว่าผลิตภัณฑ์เราเป็นที่รู้จัก แต่ไม่ได้ทำเงิน เพราะคนไทยไม่ได้กินถั่วกับขนมปังเป็นหลัก จึงอาจจะไม่ได้ซื้อครีมถั่ว Peanut Butter ซ้ำใน 1 เดือน แต่เราไม่ขาดทุน เพราะมียอดขายจากแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ จึงพอมีกำไรจากตรงนั้นมาช่วย อย่างช่วงแรกเรานำเข้าแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์มาไม่เยอะ แต่ทุกวันนี้ต้องสั่งมาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ (ยิ้ม)

“ถ้าพูดตามตรง หากขายเฉพาะผลิตภัณฑ์ของ HappyMate เราคงขาดทุน แต่ก็ขอทำต่อไป เพราะใจรักจริงๆ อย่างน้ำจิ้มไก่ คนไม่เข้าใจอาจจะบอกว่าแพง แต่ เพราะเราใช้แอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ ไม่ได้ใช้น้ำส้มสายชูกลั่นทั่วไป หรืออย่าง Peanut Butter ที่ช่วงแรกขายไม่ดี เพราะเขาคิดว่าที่น้ำมันแยกตัวคือเสีย ที่จริงมันเป็นธรรมชาติและดีต่อสุขภาพมากกว่า และที่เนื้อถั่วแยกเป็นชั้น เนื่องจากเราไม่ใช้เนยเทียม ซึ่งถ้าให้หลิงใส่เนยเทียมก็คงไม่ทำออกมาขาย เพราะพูดไม่ออกว่าดีต่อสุขภาพยังไง แรกๆ ที่ถูกตีคืน หลิงเสียดายของ จึงนำไปบดรวมกับช็อกโกแลต แล้วแจกบ้านเด็กกำพร้า หรืออย่างธัญพืชอื่นๆ ที่เหลือกลับมา แต่ยังไม่หมดอายุ หลิงบดรวมทำซุปงาดำแจกในเทศกาลกินเจที่หน้าบ้านคุณพ่อทุกปี เพิ่งมาเว้นช่วงตอนโควิด

“หรืออย่างเท็มเป้ (ทำจากถั่วเหลือง มีโปรตีนสูง ย่อยง่าย) เป็นสินค้าที่หลิงรักมาก แม้ไม่ใช่โปรดักต์ที่จะเลี้ยงบริษัท แต่ก็ทำและฝ่าฟันมาตั้งแต่ยุคแรก ไปขายในห้างก็ถูกตีกลับมาเยอะ เพราะคนไม่รู้จักว่าคืออะไร จนต้องเลิกขายในบางห้าง จนตอนหลังคนรู้จักเท็มเป้เยอะขึ้น ก็มีหลายที่มาขอสั่งกับเราประจำ และที่สุดก็ได้กลับไปขายในบางห้าง

“เช่นเดียวกับ Peanut Butter ที่เมื่อเราสู้ต่อ ที่สุดมีบล็อกเกอร์ฝรั่งพูดชมผ่านสื่อว่า Peanut Butter ของเราเป็นแบรนด์ไทยที่ดีที่สุด ฟังแล้วเหมือนได้รับรางวัลเลยทีเดียว เช่นเดียวกับตอนไปเจอผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนาการที่อยู่โรงแรมธัญปุระ เขาบอกว่าวันนี้เขาได้เจอฮีโร่ ที่ผ่านมาเขาแนะนำ Peanut Butter ของเราให้ลูกค้าหลายคน ฟังแล้วปลื้มมาก คือสินค้าเราอาจจะไม่ได้ทำเงิน แต่ทำชื่อเสียงและความภาคภูมิใจ”

หลิง จันทิมา ติยะวัชรพงศ์ HappyMate

ในช่วงที่คนไทยยังไม่อินเรื่องออร์แกนิก ทำอย่างไรให้สินค้าเป็นที่รู้จักคะ

“หลิงโชคดีที่ได้รับโอกาสเชิญไปเป็นนักพูดเรื่องสุขภาพผ่านทางรายการวิทยุ ทีวี และนิตยสาร จึงเป็นจุดที่มีโอกาสบอกต่อคนอื่นๆ แต่ก็เหมือนตอนที่คนยังไม่ฮิตเรื่องการดูแลสุขภาพ เวลาเราแนะนำว่าอย่ากินเนื้อสัตว์เลย คนก็ยังไม่เชื่อ เพราะยังไม่มีข้อมูลให้เขาค้นหามากพอ แต่ทุกวันนี้คนเข้าใจมากขึ้น เพราะสามารถเสิร์ชหาข้อมูลได้มากมาย การไม่กินเนื้อสัตว์ไม่ใช่แค่ดีเฉพาะร่างกายของเรา แต่ยังดีต่อโลกและสิ่งแวดล้อมด้วย หลิงคิดว่าเรื่องสุขภาพสำคัญมาก โดยทั่วไปถ้ายังไม่ป่วยก็มักจะยังไม่สนใจสุขภาพ ฉันยังแข็งแรงดี กินอะไรก็ได้ แต่หลิงกลับมองอีกมุมว่าไม่ต้องรอให้ป่วยดีกว่าไหม ถ้าเราอยากแข็งแรงจนวันตาย ไม่ต้องนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล”

อุปสรรคที่คนทำธุรกิจอาหารสุขภาพต้องเจอคืออะไรคะ

“ต้องทำใจว่าจะขายไม่ออกค่ะ สำหรับคนที่จะทำธุรกิจนี้ให้เตรียมใจไว้เลยว่า ต่อให้สินค้าดีแค่ไหนก็อาจจะขายไม่ได้ แม้จะอยู่ในเทรนด์สุขภาพก็ตาม เพราะบางคนเห็นผลิตภัณฑ์แล้วอาจไม่รู้ว่าจะนำไปทำเป็นอาหารอะไรดี

“สิ่งที่ต้องทำคือต้องใช้ความอดทนเข้าสู้ อย่าง 3 ปีแรกหลิงเหนื่อยมาก กลับบ้านคือหมดแรง เพราะเวลาไปออกบู๊ธแต่ละครั้งหลิงต้องพูดแนะนำโปรดักต์ตลอด เพราะเรารู้จักสินค้าดีที่สุด เรียกว่าตอบจนมึน ข้าวกลางวันได้กินตอนเย็น เลิกงานขับรถกระบะไปส่งลูกน้องที่บ้านอีก ทำทุกอย่างเองหมด จำได้ว่าไหล่เกร็งเป็นประจำ และไม่มีเวลา วันๆ ขลุกอยู่แต่ในโรงงาน

“เพราะฉะนั้นใจต้องรักจริงๆ ถึงของที่คุณผลิตจะขายไม่ออก แต่คุณก็ยังต้องรักและอยากขายมันต่อ แล้ววันหนึ่งลูกค้าจะสัมผัสได้เอง เคยไปออกบู๊ธแล้วมีลูกค้าชมว่าผลิตภัณฑ์ของเราคุณภาพดี ฉะนั้นวันแรกเราอาจจะขายไม่ได้ แต่ถ้าลูกค้ากินแล้วดี เขาจะบอกต่อเอง”

เมื่อไรที่พูดได้เต็มปากว่า แบรนด์ HappyMate ประสบความสำเร็จคะ

“ผ่านไป 3 ปี แฮปปี้เมทก็เริ่มเป็นที่รู้จักค่ะ เคยมีลูกค้ามาที่โรงงาน และถามว่าบริษัทก่อตั้งมา 3 ปีเองเหรอ เพราะเขาเห็นว่าแบรนด์เรามีผลิตภัณฑ์เยอะ ต้องอายุมากแล้วแน่ๆ เพราะตอนนั้นเรามีทั้งแอ๊ปเปิ้ลไซเดอร์ ครีมงา กระเทียมโทนดอง ซอสมะขาม น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มบ๊วย น้ำผึ้งป่า ซีเรียล งาดำ ช็อกโกแลต ห้างเองก็ยอมรับมากขึ้น ให้ไปทำชั้นวางของสำหรับอาหารสุขภาพ โดยเฉพาะบางห้างเชิญไปขายโดยไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าก็มี” (ยิ้ม)

ในยุคที่เทรนด์สุขภาพมาแรง การแข่งขันระหว่างแบรนด์อาหารสุขภาพดุเดือดไหมคะ

“พอสมควรค่ะ แต่หลิงไม่ได้เน้นทำการตลาดมากนัก ยึดมั่นเรื่องคุณภาพ แม้ลูกค้าอาจจะไปลองของเจ้าอื่นบ้าง แต่ถ้าของเราคุณภาพดี เชื่อว่ายังไงเขาก็กลับมา อย่างเครื่องดื่มธัญญาหาร เราเก็บคืนมากกว่าขาย เพราะรสชาติจืด คนอาจจะไม่คุ้น เนื่องจากไม่ใส่น้ำตาล ไม่ผสมสีหรือผสมแป้ง อย่างเช่น รสมันม่วงก็คือมันม่วง 100 เปอร์เซ็นต์ รสข้าวแดงก็เช่นกัน ซึ่งที่จริงสะดวกกับยุคนี้ เพราะคุณสามารถใส่กับน้ำร้อนต้มกินเป็นข้าวต้มได้เลย ถ้าได้ลองจะรู้เลยว่ามันดีต่อสุขภาพจริงๆ

“หรือผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่หลิงภูมิใจอย่างถั่วต้ม ที่ผ่านมาหลิงซื้อถั่วกระป๋องแบรนด์ต่างประเทศกินตลอด โดยต้องคอยระแวงสาร BPA (Bisphenol A เป็นสารเคมีที่ถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพลาสติก เพื่อให้บรรจุภัณฑ์นั้นมีความใสและแข็งแรง) แม้เขาจะบอกว่าถ้าเจือปนนิดหน่อยไม่เป็นไร แต่เราไม่อยากได้ จึงคิดทำเอง โดยซื้อเครื่องที่ฆ่าเชื้อโรคในอาหาร และสามารถบรรจุในขวดแก้วได้โดยไม่ต้องแช่เย็น อีกอย่างคือถั่วของเราต้มด้วยน้ำ ไม่มีสารเคมี ไม่มีเกลือ ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ และขวดแก้วยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย หลิงชอบเอาถั่วต้มมาทำเป็นซุปถั่ว ปรุงรสด้วยเกลือดำกับพริกไทย หรือใช้ทำสลัดก็ได้”

ในฐานะผู้บริหาร คุณหลิงมีวิธีบริหารจัดการอย่างไรคะ

“ด้วยปัจจุบันหลิงมีครอบครัวและมีลูก 3 คน หลิงจึงปล่อยงานบางจุดให้ลูกน้อง ไปทำ แทนที่ตัวเองจะจัดการเองทุกเรื่อง ตอนที่ท้องลูกคนโต (น้องพุด – ด.ช. พุฒิลักษณ์ 14 ปี) ยังทำงานเต็มร้อย เดินเยอะมาก สุดท้ายลูกคลอดก่อนกำหนดตอน 7 เดือน ถ้าวันไหนพี่เลี้ยงลากลับบ้าน หลิงกลัวมาก เพราะนอนกับลูกไม่เป็น เนื่องจากเราใช้พลังไปกับงานทั้งวัน ถ้าตอนกลางคืนลูกร้องกวนคงไม่ไหว พอมีลูกคนที่สอง (น้องกิมมี่ – ด.ญ.ภริดา 12 ปี) ก็ยังทำงานหนัก เครียดเหมือนเดิม จำได้เลยว่าตอนปีใหม่ขลุกอยู่ในโรงงาน เพราะกลัวทำกระเช้าส่งห้างไม่ทัน บวกกับต้องทำออร์เดอร์จากต่างประเทศด้วย จบช่วงปีใหม่ไปนั่งวิปัสสนา กินข้าวน้อย ไม่กิน เนื้อสัตว์ สุดท้ายลูกสาวคลอดออกมาเป็นโรคหัวใจ ทั้งที่ครอบครัวไม่เคยมีใครมีประวัติเลย ตอนนั้นทำให้หันมามองตัวเองว่าความเครียดมีส่วนมาก สุดท้ายพอมีลูกคนที่ 3 (น้องเคน – ด.ช.ภูริวัฒน์ 10 ปี) หลิงปล่อยงานบางส่วนให้ลูกน้องไปทำต่อ ปรากฏว่าลูกเลี้ยงง่าย แข็งแรง เล่นกีฬาแทบจะทุกอย่างในโรงเรียน

“ขณะเดียวกันพอปล่อยให้พนักงานทำเองในส่วนนั้นๆ เขากลับเก่งขึ้นด้วยซำ้ ต่างจากแต่ก่อนที่เราไม่เคยปล่อย ตอนนี้เขาวางแผนการผลิตได้ดีขึ้น จึงได้รู้ว่าที่จริงเราไม่ได้เก่งอยู่คนเดียว คนอื่นอาจจะเก่งกว่าก็ได้ ถ้าเราไว้ใจให้เขาแสดงฝีมือ

“เมื่อไหร่ที่มีโอกาสพูดกับทีมงาน หลิงจะบอกพวกเขาเสมอว่า ถ้าคุณทำ คุณ ได้ และงานของเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับสัตว์ ไม่ได้ทำบาป แล้วยังช่วยทำให้คนสุขภาพดี ถ้าคุณทำอาหารที่ดีมีคุณภาพออกไป คุณก็จะได้บุญด้วย ทำให้ทุกคนมีใจทำงาน”

อะไรคือแรงบันดาลใจในการทำงานของคุณหลิงคะ

“การที่ได้ทำประโยชน์ให้คนอื่นค่ะ หลิงภูมิใจมากที่ทำอาชีพนี้ ตอนแรกหลิงตั้งเป้าที่จะส่งออกขายต่างประเทศเยอะๆ ตอนนี้ไม่ได้เน้นแบบเดิม เพราะภูมิใจกับการขายในประเทศ ขณะเดียวกันลูกค้าฝรั่งที่ซื้อของเรากินและชมสินค้าเราก็มี ซึ่งเป็นอะไรที่ยิ่งกว่าแรงบันดาลใจ หรือการไปเจอลูกค้าตอนออกบู๊ธ แล้วเขาบอกว่าช่วยทำขนมดีๆ อร่อยๆ ออกมาให้กินหน่อย แค่นี้ก็รู้สึกว่าเขาเชื่อมั่นในตัวเราแล้ว

“อีกอย่างที่รู้สึกว่าสินค้าเราตอบโจทย์ความตั้งใจของหลิงคือ แฮปปี้เมท เป็นผลิตภัณฑ์ที่กินได้ทั้งครอบครัว อย่างเด็กยังต้องการความหวาน เราก็มีโปรดักต์ช็อกโกแลต หรือผู้ใหญ่ต้องการความจืด เราก็มีซีเรียลที่ไม่มีน้ำตาล เพราะความต้องการอาหารของแต่ละวัยไม่เท่ากัน เราจึงใส่ใจที่จะทำผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจคือเงิน เราไม่สามารถขาดทุนจนเลี้ยงตัวเองไม่ได้ สำหรับสินค้าที่ขายไม่ดี หลิงจะให้โอกาสเขาฝ่าฟันไปอีกสัก 2 ปี ถ้ายังขายไม่ได้จริงๆ ค่อยยกเลิก แต่ทั้งหมดคือเรามั่นใจว่าเราทำสิ่งที่ดี

“สิ่งสำคัญคือหลิงจะยึดความรู้สึกแรกไว้เตือนตัวเองเสมอว่าทำไมเราจึงทำผลิตภัณฑ์นี้ออกมา เราทำเพราะมันเป็นสิ่งดี เราไม่ได้หลอกลูกค้า ถ้าเขาได้กินก็จะรู้ นี่คือพลังและแรงบันดาลใจให้ยังสู้และทำต่อไปค่ะ”

HappyMate’S STYLE

  • ทำงานด้วยใจรัก
  • ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ยึดแนวทางธรรมชาติ
  • มุ่งมั่นทำในสิ่งที่ดี ไม่เปลี่ยนไปตามกระแส
  • ปล่อยให้ลูกน้องทำงานเองบ้าง เพื่อให้เขาเก่งและเติบโต

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 969

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ชีวิตจริงที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มาดามแป้ง นวลพรรณ CEO นักสู้หญิงเหล็ก

คัมภีร์นักสู้! ของคนจริง “ตัน ภาสกรนที” ยอมรับปัญหาให้ไว เริ่มแก้ไขให้เร็ว

ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล & พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ หัวเรือใหญ่แห่ง ZIPMEX ผู้นำวงการเงินดิจิทัล

Praew Recommend

keyboard_arrow_up