ZIPMEX ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์

ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล & พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ผู้นำวงการเงินดิจิทัล

ZIPMEX ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์
ZIPMEX ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์

Zipmex (บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด) หนึ่งในผู้นำการให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเจ้าแรกในเมืองไทยที่มาแรงในยุคนี้ มีเส้นทางการเติบโตที่น่าสนใจ เพราะไม่ได้เดินบนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ตั้งแต่วันที่ออกเสาะหานักลงทุนไปจนถึงการรอคอยขอใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. จนถึงวันนี้ที่ซิปเม็กซ์มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 400 เปอร์เซ็นต์

“คุณแบงค์ ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย และ “คุณพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด บริษัท ซิปเม็กซ์ เอเชีย เล่าถึงการต่อสู้กว่าจะถึงวันที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในโลกการเงินดิจิทัล

ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นซิปเม็กซ์สักนิดค่ะ

คุณแบงค์เริ่มก่อน “ผมเรียนจบด้านกฎหมายจาก Georgetown University แล้วเรียนต่อปริญญาเอกด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ดูจากที่เลือกเรียนก็ไม่คิดว่าจะมาทำงานด้านไฟแนนซ์ แต่ความโชคดีคือการได้เรียนที่อังกฤษตั้งแต่ 8 ขวบ ทำให้เห็นการบริการทางด้านการเงินในต่างประเทศ บวกกับมีโอกาสช่วยงานที่บ้านเกี่ยวกับด้านกฎหมายอยู่ประมาณ 6-7 ปี  ก่อนที่จะมาทำซิปเม็กซ์ครับ

“สำหรับซิปเม็กซ์ เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านทางออนไลน์ระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ลูกค้าสามารถซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกได้เองตลอด 24 ชั่วโมง โดยซื้อผ่านทางแอปพลิเคชั่นของเรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญบิทคอยน์ เหรียญ Ethereum ฯลฯ รวมไปถึงทองคำดิจิทัลด้วย นอกจากนี้ยังเลือกฝากสินทรัพย์ไว้ที่เราเพื่อรับโบนัสหรือดอกเบี้ยก็ได้ ชื่อของ Zipmex สื่อถึงการแลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว มาจากคำว่า Zip ที่หมายถึงความเร็ว ส่วน Mex แปลงมาจาก Exchange หรือการแลกเปลี่ยน เพราะผมต้องการทำทุกอย่างให้ง่าย สะดวกและรวดเร็วที่สุด”

คุณพราวเล่าบ้าง “ส่วนพราวหลังจากเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์ที่ London School of Economics ก็ไปทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท Boston Consulting Group ก่อนจะไปเรียนต่อ MBA ที่ Harvard Business School จบแล้วไปเป็นมือขวาของซีอีโอให้กับแบรนด์จิเวลรี่ John Hardy ได้เห็นตั้งแต่การสร้างโรงงานจนถึงกระบวนการทำธุรกิจจิเวลรี่จนพราวรู้สึกว่าน่าสนใจ จึงร่วมกับเพื่อนทำธุรกิจจิเวลรี่ชื่อ Ennovie ซึ่งยังทำอยู่จนถึงตอนนี้ค่ะ

“สำหรับเรื่องการเงินดิจิทัล พราวสนใจมานานแล้ว ตอนเรียนได้ยินเรื่องบิทคอยน์มาบ้าง เคยจะซื้อด้วยซ้ำแต่ติดที่ข้อกังวลสงสัยหลายอย่าง เช่น การที่ต้องจำรหัสของตัวเองให้ได้ถ้าลืมรหัสคือเงินหายเลย หรือความไม่มั่นใจในระบบว่าเงินที่ซื้อ จะไปอยู่ที่ไหน จึงยังชะลอความสนใจไว้ก่อน พอดีกับที่พี่แบงค์ชวนมาทำธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัล พราวตอบตกลงทันที  เพราะคิดว่าในอนาคตธุรกิจนี้ต้องโตแน่นอน”

เชื่อว่าหลายคนยังไม่เข้าใจวิธีการทำงานของการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น เงินลงทุนอยู่ที่ไหน หลายคนกลัวเงินหาย อยากให้อธิบายขั้นตอนการทำงานของแอปพลิเคชั่นให้ฟังหน่อยค่ะ

คุณแบงค์ “หลังจากลงทะเบียนกับทางซิปเม็กซ์และผ่านกระบวนการตรวจสอบที่เรียกว่า KYC (Know Your Customer กระบวนการยืนยันตัวตน)ก็สามารถโอนเงินลงทุนได้เลย เริ่มแค่ 30 บาทก็ลงทุนได้ ซึ่งเงินที่อยู่ในบัญชีลูกค้าไม่สามารถโอนให้คนอื่นได้แต่สามารถใช้ซื้อสินทรัพย์ทางดิจิทัล เช่น ซื้อบิทคอยน์แล้วโอนไปให้ใครก็ได้ หรือพอขายบิทคอยน์ได้แล้วอยากถอนเงินออกมาก็ทำได้ กระบวนการคือให้เข้าไปกดถอน เลือกสกุลเงินบาทไทย เงินจะโอนเข้ามาในบัญชีเงินฝากของคุณที่ลงทะเบียนไว้กับซิปเม็กซ์ หลังจากกดคอนเฟิร์มยืนยันการถอนเงินผ่านทางอีเมลแล้ว ก็สามารถไปกดเงินที่เอทีเอ็มได้เลย สำหรับเงินที่ลงทุนจะอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ในบัญชีสำหรับลูกค้าเท่านั้น เราไม่แตะเลย ขณะเดียวกันเมื่อลูกค้าไปซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล สินทรัพย์นั้นจะฝากอยู่ที่บริษัท BitGo ซึ่งรับดูแลความปลอดภัยสินทรัพย์ดิจิทัลให้เรา ตรงนี้ซิปเม็กซ์เข้าไปแตะไม่ได้เหมือนกัน เราจึงมีระบบส่งอีเมลคอนเฟิร์มยืนยันการถอนเงิน เพราะฉะนั้นเงินไม่หายไปไหนครับ”

ZIPMEX ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล

แล้วรายได้ของซิปเม็กซ์จะมาจากจุดไหนบ้างคะ

คุณพราวอธิบาย “จากหลายส่วนค่ะ อย่างในเมืองไทยเรารับให้คำแนะนำกับบริษัทที่สนใจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและบล็อกเชน ขณะเดียวกันเราก็มี Zipmex Token หรือเหรียญที่ทางซิปเม็กซ์ผลิตขึ้นเอง ลูกค้าสามารถใช้เหรียญนี้ในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้เหมือนกัน เราก็ได้เงินจากการซื้อและแลกเปลี่ยนเหรียญ สุดท้ายคือแม้ในเมืองไทยเราไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมในการสมัครหรือค่าธรรมเนียมการซื้อขาย เพราะอยากให้คนในประเทศหันมาใช้กันเยอะๆ แต่ในต่างประเทศ เราเก็บค่าธรรมเนียม ก็จะเกิดรายได้เพิ่มจากตรงนี้ค่ะ”

อะไรทำให้คุณแบงค์เชื่อมั่นในการทำธุรกิจนี้คะ

“ผมศึกษาเรื่องการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมาพอสมควร ตัวผมเองก็ซื้อขายหุ้นอยู่แล้ว เห็นพฤติกรรมของผู้ลงทุน เช่นผู้สูงอายุจะกลัวความเสี่ยงจึงลงทุนแบบความเสี่ยงต่ำ ขณะที่คนรุ่นใหม่กล้าเสี่ยงมากกว่า บางคนไม่ได้ลงทุนหุ้นแต่เลือกลงกับกองทุน ผมเคยทำงานด้านหลักทรัพย์ได้เห็นว่าบริษัทตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ๆ หลายเจ้ามีโบรกเกอร์ประมาณ 250 คนมีหน้าที่ชักชวนลูกค้าให้มาลงทุน ขณะเดียวกันผมก็ได้เห็นอีกเทรนด์ที่กำลังมา ในอเมริกามีแอปพลิเคชั่นชื่อ Robinhood ที่ผู้ใช้สามารถซื้อขายหุ้นได้เลยโดยไม่ต้องผ่านโบรกเกอร์ ไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่ต้องไปสาขาก็ลงทุนได้ ผู้ใช้งานสามารถศึกษาจากอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้ผมเห็นว่าโบรกเกอร์ที่เป็นตัวกลางในธุรกิจนี้จะหายไปและรู้เลยว่าสักวัน เทคโนโลยีการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเข้ามาในไทยแน่ๆ แต่จะทำอย่างไรให้ง่ายที่สุด นั่นเป็นจุดที่ผมอยากก่อตั้งซิปเม็กซ์

“สำหรับผม ผมรู้ว่าธุรกิจด้านบริการการเงินทำงานยังไงแต่ขาดความรู้เรื่องของเทคโนโลยี จึงชวนพาร์ตเนอร์คือคุณมาร์คัส ลิม ชาวสิงคโปร์ซึ่งตอนนี้เป็น CEO and Co-Founder ของซิปเม็กซ์ เขามีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมาช่วยกันก่อตั้ง เราเป็นบริษัทแบบ Fin Tech (Financial Technology บริษัทเทคโนโลยีทางด้านการเงิน) ช่วงแรกที่ก่อตั้งเรามีระบบแล้ว เทคโนโลยีพร้อมแล้วแต่ยังไม่มีลูกค้า จึงเชิญคุณพราวมาดูเรื่องกลยุทธ์และการตลาดให้ครบสูตร”

เส้นทางการเป็นเจ้าแรกของธุรกิจนี้ในไทยเป็นอย่างไรคะ

“ไม่ง่ายเลยครับ โดยเฉพาะการขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ใช้เวลารอถึง 18 เดือน คือเมื่อปี 2018 ทางก.ล.ต. ออกกฎหมายเปิดช่องทางอนุญาตให้บริษัทสามารถประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่มีการรับรองนี้ จึงต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดยิบ เช่น วิธีการรับลูกค้า การทำงานหลังบ้าน ทั้งเรื่องการถอนเงิน ฝากเงิน ไปจนถึงความปลอดภัยคือดูหมดทุกอย่าง แม้กระทั่งเรื่องของคำโฆษณาในเว็บไซต์ว่าเกินจริงหรือไม่ อย่างเรื่องที่เราเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลูกค้าฝากกับเราไว้ที่ไหน ความที่เป็นเรื่องใหม่บางครั้งทาง ก.ล.ต. ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องระบบต่างๆ เราต้องผ่านการพิสูจน์ตรวจสอบกันเยอะมาก ซึ่งผมมีหน้าที่ขอใบอนุญาตร่างนโยบายบริษัทมากกว่า 25 ฉบับ เช่น คู่มือการรับลูกค้า ตอบลูกค้ายังไง การวางระบบทุกอย่างใช้เวลานานมาก แต่สุดท้ายก็คุ้มค่าเพราะเราเป็นบริษัทแรกที่ได้รับใบอนุญาตและกำกับดูแลโดยหน่วยงานจาก 4 ประเทศทั่วโลก ในทางกลับกันผมเองก็ดีใจว่าเมื่อเราผ่านการตรวจสอบทั้งหมดนั่นแปลว่าระบบของเรามั่นคงแข็งแรง”

18 เดือนที่รอการอนุมัติ ระหว่างนั้นมีวิธีจัดการกับธุรกิจอย่างไรคะ

“ผมกับคุณพราวใช้วิธีบินไปนำเสนอธุรกิจถึงต่างประเทศเพราะเรารอไม่ได้แล้ว ไปทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย เยอรมนี ออสเตรเลีย เล่าแผนการทำงานของบริษัทเพื่อเรียกความเชื่อมั่น สำหรับผมอุปสรรคที่ยากที่สุดคือการระดมทุนในช่วงแรกไม่ใช่เรื่องของการหาเงินก่อตั้งธุรกิจนะ ตรงนั้นเราพอทำได้ แต่พอก่อตั้งแล้วยังไม่ได้ใบอนุญาตในประเทศไทย เรายังไม่สามารถรับลูกค้าได้ เราก็กังวลว่าการจะหานักลงทุนให้เชื่อมั่นในเราเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นธุรกิจน้องใหม่บวกกับช่วงนั้นมีวิกฤติโควิด ถ้าเขาลงทุนในเทคโนโลยีหรือสตาร์ตอัพอื่น เช่น ด้านสุขภาพ อาจจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าลงทุนกับเรา จึงมีนักลงทุนบางกลุ่มลังเล ที่สำคัญคือพอไม่มีเงินเราก็ไม่สามารถจ้างทีมงานเก่งๆ ให้มาร่วมงานกับเราได้ เขาก็ไม่เชื่อมั่น แต่พวกเราก็เสี่ยงบินไปนำเสนอแผนงาน โชคดีว่ามีคอนเซ็ปต์ของธุรกิจที่ชัดเจนกับทีมผู้ก่อตั้งที่มีประสบการณ์จากหลากหลายอุตสาหกรรมและเคยสร้างบริษัทที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว จึงมีนักธุรกิจตอบตกลง แต่ก็มีบางเจ้าตอบตกลงแล้วนะ แต่ยังไม่โอนเงินสักทีอย่างที่เวียดนาม ผมกับคุณพราวต้องบินไปหาเพื่อให้เขากดโอนเงินให้ เราระดมทุนจากทั่วภูมิภาค สุดท้ายพอได้เงินมาก็คลายล็อกหลายๆ อย่าง แล้วพอ ก.ล.ต. อนุมัติ เราก็กลับมาเปิดตัวที่เมืองไทยเมื่อปีที่แล้วเป็นประเทศล่าสุด

“นักลงทุนที่มาลงทุนกับเรามีทั้งแบบที่ให้เงินลงทุนอย่างเดียวกับนักลงทุนที่เป็นพันธมิตร ซึ่งเขาจะช่วยในเรื่องธุรกิจด้วย เช่นเราได้บริษัทระดับโลกอย่าง Jump Trading ที่ทำคริปโตเคอร์เรนซี่ (Cryptocurrency หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน)ให้กับแอปพลิเคชั่น Robinhood ก็ลงทุนกับเรา รวมไปถึงได้เงินจากนักลงทุนที่เป็นผู้มีพระคุณด้วย (ยิ้ม) คือมีเศรษฐีชาวอินโดนีเซียที่เชื่อมั่นในเรื่องบิทคอยน์ เขาเห็นว่าสิ่งที่เราทำนั้นน่าสนใจและเขาได้ทดลองใช้แอปพลิเคชั่นของเราแล้ว เขาโอนเงินมาให้เลย 30 ล้านบาท”

คุณพราวช่วยเสริม “ตอนแรกหาเงินยากมาก แต่ตอนนี้ต้องบอกนักลงทุนว่าเดี๋ยวก่อนนะ รอก่อนค่ะ (หัวเราะ) คือตอนนี้มีนักลงทุนที่อยากลงทุนกับเราเยอะมากจริงๆ ขณะเดียวกันเราก็อยากค่อยๆ พิจารณาไปทีละเจ้า ขนาดธนาคารยังสนใจที่จะลงทุนกับเราเลย

“ที่เขาสนใจเพราะเชื่อมั่นในทีมค่ะ คือตอนที่เราได้เงินลงทุนมาบางส่วน เราจ้างทีมเก่งๆ ที่มีประสบการณ์ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เช่น CTO (Chief Technology Officer หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี)ของเราเป็นคนออสเตรเลีย เคยเป็น Head of Engineering ที่ AirTasker และเป็นผู้ออกแบบและพัฒนา APIs รวมถึงระบบหลังบ้านต่างๆมาก่อน หรือ Chief Product Officer (ดูแลเรื่องโปรดักต์ต่าง)เป็นชาวญี่ปุ่น มีประสบการณ์การทำงานกว่า 10 ปีในงานด้าน Data Analytics และ Big Data สามารถทำงานพัฒนาอัลกอริธึมที่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น เหล่านี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้นักลงทุนมั่นใจ”

ZIPMEX พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์

ย้อนถามถึงช่วงที่ยังไม่มีเงินสนับสนุนจากนักลงทุน เป็นอย่างไรบ้างคะ

“ต้องทำงานกันหนักและประหยัดมากครับ ช่วงแรกเรามีพนักงานไม่กี่คนใช้วิธีเช่าคอนโดทำงานอยู่ด้วยกัน 1 ปี สภาพเราคือสตาร์ตอัพจริงๆ พอได้รับใบอนุญาตแล้ว เมื่อถึงกระบวนการทำงานเราก็ทำกันเองทั้งหมด ผมทำตั้งแต่การอนุมัติ KYC (กระบวนการยืนยันตัวตน) ต้องนั่งดูข้อมูลลูกค้าทีละคนว่ารูปของเขาตรงกับหน้าบัตรประชาชนหรือเปล่า เช็กกับกรมการปกครองว่าบัตรนี้ถูกขโมยมาหรือไม่ รวมถึงดูข้อมูลว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ คือตรวจสอบทุกอย่างตามข้อกำหนดของ ก.ล.ต. ถ้าผ่านจะได้รับการอนุมัติภายใน 1-2 ชั่วโมง หรืออย่างแต่ก่อนเรายังไม่มีระบบถอนเงินอัตโนมัติจากแอป ถ้าลูกค้าจะถอนเงินผมต้องตื่นกลางดึกเพื่อเข้าไปกดอนุมัติจากธนาคารผ่านทางมือถืออีกที หรือถ้าระบบขัดข้องก็ต้องลุกขึ้นมาตอบลูกค้าตอนตี 2 หรือบางทีลูกค้ามีคำถาม ซึ่งเรามีระบบแชตอยู่ในแอป ผมกับคุณพราวก็ต้องเข้าไปตอบคำถามลูกค้าเอง เพราะเราจะได้รู้ฟีดแบ็กด้วยว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ซึ่งที่จริงตอนนี้ก็ยังทำอย่างนั้นอยู่นะครับ(หัวเราะ) เราทำงานกันทั้งวันจริงๆ แทบไม่มีเวลาทำอะไรอย่างอื่นเลย เหนื่อยแต่สนุก เพราะคนเริ่มเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลก็มาเป็นลูกค้าเรามากขึ้น

“สิ่งที่ทำให้รู้ว่าเราทำธุรกิจมาถูกทางแล้วคือล่าสุดบริษัท Tesla มาลงทุนซื้อบิทคอยน์ จนตอนนี้ราคาบิทคอยน์พุ่งจากเดิมเหรียญละ 3 แสนบาท กลายเป็น 1.5 ล้านบาท(ยอดเดือนกุมภาพันธ์) ทีมงานทุกคนตื่นเต้นมากที่ได้อยู่กับช่วงปฏิวัติทางการเงิน ตอนนี้ขวัญกำลังใจของพนักงานบริษัทสูงมากๆ ลูกค้าเองก็เข้ามาเยอะ เราทำกระบวนการยืนยันตัวตนเพื่อรับลูกค้าถึงวันละ 1,000 ราย ซึ่งจริงๆ ยังไม่ทันเพราะทุกวันนี้มีคนสมัครเข้ามากว่า 2,000 คนต่อวัน จึงจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อดูเรื่องประวัติลูกค้าอย่างละเอียดโดยเฉพาะเพื่อไม่ต้องเจอปัญหาทีหลัง ขณะเดียวกันก็มีคนมาขอสมัครงานกับเราเยอะขึ้น บางคนยอมลดเงินเดือนตัวเองด้วยซ้ำ เพราะอยากอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง อยากเรียนรู้ เช่น ล่าสุดนี้เราได้จ้าง COO มาจาก ING Bank ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ บริษัทจึงอยู่ในสภาพพร้อมลุยเต็มที่ ผลจากการทำงานหนักคือตอนนี้เราเติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว 400 เปอร์เซ็นต์ จากที่ไม่มีกำไรก็กลายเป็นว่าไม่ต้องห่วงเรื่องเงินแล้ว”

อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ซิปเม็กซ์ประสบความสำเร็จไวขนาดนี้

คุณพราว “ตั้งแต่สมัยที่เรายังไม่มีเงินสำหรับการตลาด เราคิดกันแล้วว่าถ้าเราทำโปรดักต์ให้เจ๋งไม่เหมือนใครและชัดเจน คนจะอยากใช้แอปเอง ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ขณะเดียวกันพอมีเงินก็ทุ่มให้กับการตลาดและการหาพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ก็ต้องคิดเร็วทำเร็วค่ะ”

คุณแบงค์ “ในส่วนของกระบวนการทำงานสำคัญมากครับ ทุกเช้าผมกับคุณพราวและพนักงานบางกลุ่มจะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์คุยงานกันตั้งแต่ 9 โมงเช้า และทุกวันอังคารเราจะประชุมผู้บริหารถึงโปรเจ็กต์ต่างๆ เราทำอย่างสม่ำเสมอจนเป็นรูทีนไปแล้ว

“ที่ต้องทำงานหนักเพราะถือเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารด้วย เนื่องจากไม่ใช่มีแค่เราคนเดียวแต่มีพนักงานคนอื่นๆ ยิ่งมาเจอโควิดเขาไม่ควรตกงาน เราจึงต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่งหลักการทำงานของผมกับคุณพราวคือต้องเทรนพนักงานให้เก่ง อึด อดทนจนไปทำงานที่อื่นได้ ไม่ใช่ดีแค่กับเขาแต่ยังดีกับบริษัทด้วย ผมกับทีมงานให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก ซึ่งวิธีการทำงานเราค่อนข้างกันเอง เราเป็นองค์กรแนวราบ คุณพราวนั่งกับทีมของเขาไม่มีห้องแยก ผมก็เช่นกันพอมีปัญหาพนักงานก็เดินมาถามผมได้เลย ทุกคนจะรู้สึกอบอุ่น”

ตอนนี้การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมาแรง การแข่งขันระหว่างบริษัทเป็นอย่างไรคะ

คุณพราว “แอปที่ทำด้านสินทรัพย์ดิจิทัลในท้องตลาดตอนนี้มีอีกหลายเจ้าที่นอกเหนือจากซิปเม็กซ์ แต่เราไม่ได้ถือว่าเป็นคู่แข่ง เพราะลูกค้าคงไม่ได้ใช้แอปใดแอปเดียวเขาต้องบริหารความเสี่ยงด้วยเช่นกัน เหมือนกับการฝากเงินในธนาคารที่พราวเชื่อว่าคงไม่ได้ฝากแค่แบงค์เดียว อีกอย่างคือเราอาจมีโปรดักต์ที่แอปอื่นไม่มีขณะเดียวกันแอปอื่นก็อาจมีเหรียญที่เราไม่มีเช่นกัน เรียกว่ามีจุดเด่นต่างกัน นอกจากนี้เรายังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกแอป คุยกันบ่อยมาก ล่าสุดเราก็ได้คุยกับทางบริษัทสตางค์และ Kulap ถึงวิธีการที่จะทำให้อุตสาหกรรมนี้โตขึ้นด้วยกัน”

ถ้าอย่างนั้นอะไรคือจุดแข็งของซิปเม็กซ์คะ

“ผมไม่ได้มองว่าเป็นจุดแข็งแต่เป็นเรื่องที่ผมไม่เคยนิ่งนอนใจเลยก็คือ ความปลอดภัย ทั้งเรื่องของระบบการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนซิปเม็กซ์จึงทุ่มให้ทีม Tech Developer ที่ดูแลระบบหลังบ้าน ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทั้งการซื้อขายและระบบความปลอดภัย เราสามารถพูดได้ว่าเป็นทีมที่ใหญ่ที่สุดและมีคนเก่งอยู่กับเราหลายคน

“อีกอย่างคือเราเป็นตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เราถนัดเรื่องระบบการซื้อขายแต่ไม่ถนัดเรื่องการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล ฉะนั้นต้องหาผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาทำงานร่วมกัน เราจึงเลือกใช้บริษัท BitGo มาดูแลความปลอดภัยให้ ระบบเขาน่าเชื่อถือเพราะขนาดธนาคารใหญ่ระดับโลกอย่างโกลด์แมน แซคส์ก็ช่วยระดมเงินทุนให้เขา ที่สำคัญเขามีประกันภัยให้ด้วย เช่นถ้ามีโจรเข้ามาขโมยสินทรัพย์ต่างๆ ไป เขามีเงินประกันให้เรา 3 พันล้านบาท ถือว่าเยอะ ทำให้ผมสบายใจลูกค้าก็สบายใจ ขณะเดียวกันเราสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าด้วยการจัดอีเว้นต์และไลฟ์อย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบทุกข้อสงสัย รวมไปถึงทุกครั้งที่แอปสะดุดเราจะรายงานทุกๆ 15-30 นาทีว่ามีอะไรเกิดขึ้น

“เรื่องที่สองคือการให้บริการลูกค้าหรือ Customer Service เราไม่ใช้หุ่นยนต์และจะไม่ใช้ พนักงานทุกคนพร้อมตอบคำถามลูกค้าผ่านทางแชตตลอด 24 ชั่วโมง และอย่างที่เล่าว่าผมก็ตอบเองด้วย ข้อดีคือรู้ฟีดแบ็กจากลูกค้าได้ทันที”

วันนี้ผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างไรคะ

คุณแบงค์ “ลูกค้าท่านหนึ่งเป็นผู้หญิงอายุ 55 ปี ไม่เคยลงทุนอะไรมาก่อนเลยแต่ฝากเงินกับเรา 5 แสนบาท และเริ่มซื้อเหรียญบางส่วนไป โดยซื้อในช่วงที่บิทคอยน์ 1 เหรียญราคาแค่ 3 แสนบาท จนตอนนี้บิทคอยน์ 1 เหรียญราคาอยู่ที่ 1,500,000 บาท แต่ละเดือนเขาได้กำไรประมาณ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ เขาก็มองว่าดีกว่าเล่นหุ้นเยอะ จึงทยอยซื้อมาเรื่อยๆ จนตอนนี้มีเงินอยู่ 5 ล้านแล้ว

“ผมดีใจที่เห็นผลตอบแทนการลงทุนตรงนี้ จากผู้ใหญ่ที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการลงทุนแต่วันนี้ผมเชื่อแล้วว่าไม่ว่าอายุเท่าไร คุณสามารถหาเงินจากตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้”

วาดภาพซิปเม็กซ์ในอนาคตไว้อย่างไรคะ

“ผมมองว่าตัวเองกำลังสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะช่วยพัฒนาประเทศขึ้นมา ตอนนี้ทางฝ่ายภาครัฐก็เรียกเราเข้าไปปรึกษาในเรื่องการลงทุนต่างๆ ในอนาคตผมอยากให้ซิปเม็กซ์เป็น Digital Assets Bank of Asia คือไม่ใช่โตแค่ในตลาดไทย และประเทศใกล้เคียง แต่อยากเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย

“เมื่อคุณเริ่มลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอยากให้เริ่มที่ซิปเม็กซ์ครับ เพราะซิปเม็กซ์เปิดโลกการลงทุนรูปแบบใหม่เพื่อผลตอบแทนที่เหนือกว่า”

วิถีผู้บริหารยุคดิจิทัล

  • การทำงานต้องให้เกียรติกัน เคารพความเห็น เชื่อในความสามารถของพาร์ตเนอร์
  • การทำงานทุกอย่างต้องอยู่บนหลักธรรมาภิบาลและถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ผิดจรรยาบรรณแม้กระบวนการที่ถูกต้องจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม
  • การทำธุรกิจต้องยืนหยัดในแนวทางของตัวเองไม่ตามใคร
  • คิดเร็วทำเร็ว รับฟังฟีดแบ็กจากลูกค้าโดยตรงเพื่อนำมาพัฒนาทันที
  • ผู้บริหารต้องติดตามข่าวสารและศึกษาในเรื่องที่ตัวเองทำ เพื่อให้เข้าใจและรู้เท่าทันเทคโนโลยี

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 968

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ชีวิตจริงที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มาดามแป้ง นวลพรรณ CEO นักสู้หญิงเหล็ก

คัมภีร์นักสู้! ของคนจริง “ตัน ภาสกรนที” ยอมรับปัญหาให้ไว เริ่มแก้ไขให้เร็ว

ซูมชีวิต “เล็ก กรกนก ยงสกุล” เจ้าแม่แห่งวงการเทรนเนอร์พัฒนาศักยภาพ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up