หากใครได้รู้จักตัวตนของ มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ จะรู้ว่าในสารบบความคิดของเธอไม่มีคำว่า “ยอมแพ้” ไม่ว่าจะในสนามธุรกิจ หรืองานการกุศลช่วยเหลือสังคม เธอทุ่มเทสุดแรงกายแรงใจเสมอเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด หากบางครั้งรางวัลที่เธอภาคภูมิใจกลับไม่ใช่ผลกำไรหรือถ้วยรางวัล แต่เป็นรอยยิ้มของใครสักคนที่ได้รับความช่วยเหลือ ล่าสุดกับการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ที่ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของชีวิต
ชีวิตจริงที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มาดามแป้ง นวลพรรณ CEO นักสู้หญิงเหล็ก
ย้อนกลับไปครั้งที่เริ่มงานแรกของชีวิต (ฝ่ายบริการลูกค้าบริษัทลินตาส) ตอนนั้นเพราะอะไร คุณแป้งจึงไม่เลือกทำงานกับครอบครัวคะ
“เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นเรียนจบใหม่ๆ แป้งค่อนข้าง มีความเป็นตัวเองสูง พอได้เริ่มทำงานก็อยากทำงานในแบบที่เลือกเอง จนถึงวันที่ต้องกลับมาทำธุรกิจของที่บ้านจริงๆ คุณอาภูมิชาย ล่ำซำ สอนแป้งว่า ให้ลืมวิธีคิดแบบเดิมๆ แล้วมองการณ์ไกล รู้หรือไม่ว่าในอนาคตบริษัทประกันจะเป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิตประชาชน ไม่มีใครที่จะ Self Insured อีกต่อไป เราจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการรับความเสี่ยงของประชาชน ทั้งรถชน ไฟไหม้ อุบัติภัย ต่างๆ หรือแม้แต่การก่อการร้ายก็ตาม วันนั้นทำให้แป้งเปลี่ยนความคิดเลยค่ะ แล้วทำงานด้วยความเชื่อมาโดยตลอดว่า เวลาเกิดภัยเราพร้อมที่จะช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน และมองธุรกิจประกันภัยอย่างเราว่าเป็นธุรกิจที่ทำเพื่อสังคมอย่างแท้จริง”
เมื่อตัดสินใจเริ่มธุรกิจนำเข้าแบรนด์แอร์เมส คุณแป้งมีกลยุทธ์อย่างไรในการเอาชนะคู่แข่งจนได้รับเลือกให้เป็นผู้นำเข้าแบรนด์ดังระดับโลก
“บางทีอาจเพราะโชคชะตานะคะ เพราะแป้งเป็นเด็กที่เรียนโรงเรียนไทยมาตลอด ทำให้พูดภาษาอังกฤษไม่ดีนัก แม้จะไปเรียนต่อปริญญาโทที่บอสตัน ก็ไม่ทำให้ความรู้สึกนี้หายไป แต่ก็แปลกมากที่ตัวเองกล้าตัดสินใจส่งหนังสือไป ขอนำเข้าสินค้าแบรนด์เก่าแก่อย่างแอร์เมส แป้งใช้วิธีร่างหนังสือเป็นภาษาไทย แล้วส่งให้คนแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส จนทางแอร์เมสเรียกให้ไปสัมภาษณ์ยอมรับว่าตื่นเต้นมาก ด้วยภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง และภาษาฝรั่งเศสยิ่งไม่ได้เลย วันนั้นแป้งได้พบกับคุณฌองน์ หลุยส์ ดูมาส์ ทายาทรุ่นที่ 5 แห่งตระกูลแอร์เมส ซึ่งกำลังวาดภาพบนผ้าพันคออยู่ เขาถามว่ารู้ไหมนี่คือภาพอะไร แป้งตอบว่าดอกบัวดอกไม้ประจำชาติไทย เขาถามต่อว่าผมควรจะวาดภาพอะไรต่อ แป้งตอบไปว่า ช้าง เพราะเป็นสัตว์ประจำชาติของไทย จากนั้นก็เสร็จสิ้นการสนทนา กลับมาไทยได้ประมาณปีกว่าก็มีหนังสือตอบกลับจากแอร์เมสว่าเขาเลือกแป้ง
“จนวันนี้แป้งเองก็ไม่มีคำตอบให้กับเรื่องนี้ แต่สิ่งที่แป้งได้และมักจะสอนเด็กรุ่นหลังเสมอคือ ภาษาสากลที่เราร่ำเรียนกัน บางครั้งไม่สำคัญเท่ากับภาษากายที่เราแสดงออกไป นั่นคือความจริงใจทั้งจากคำพูดและการกระทำ อาจเป็นเหตุผลนี้ที่ทำให้แป้งได้ร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกจนถึงวันนี้ค่ะ”
ขออนุญาตถามความรู้สึกในฐานะทายาทรุ่นที่ 5 ของเมืองไทยประกันภัย กับที่มาของฉายา “สวยประหาร”
“ครอบครัวล่ำซำอยู่กับการค้าขายมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่อพยพมาแบบเสื่อผืนหมอนใบจากจีน ถึงวันนี้เมืองไทยประกันภัยมีอายุ 89 ปี ตั้งแต่ยุคก่อร่างสร้างตัวที่เริ่มจากกวางอันหลงประกันภัยมาเป็นล่ำซำประกันภัย พร้อมกับธุรกิจการเงิน ประกันภัย ประกันชีวิต จนกลายเป็นภาพจำของตระกูล ในฐานะของทายาท รุ่นที่ 5 แป้งรู้สึกว่านี่คือมรดกทางความคิดจากบรรพบุรุษ การมองการณ์ไกลตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดว่าประกันจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชน และวันนี้ในฐานะซีอีโอและผู้สืบทอดธุรกิจ จึงเป็นความภาคภูมิใจที่ธุรกิจของเราได้แบ่งเบาความทุกข์ แบ่งปันความสุขให้กับลูกค้าและสังคมไทย
“ส่วนที่มาของฉายา ‘สวยประหาร’ ไม่รู้ว่าเริ่มจากที่ไหน อาจเพราะงานที่แป้งทำมีความหลากหลาย ค่อนข้างฉีกแนวกันไปหมด ทั้งธุรกิจประกัน นำเข้า แบรนด์เนม กีฬาฟุตบอล ซึ่งไม่ค่อยมีผู้หญิงทำนัก อาจเป็นความแตกต่างที่ทำให้คนรู้จักแป้งมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้สวยอะไรขนาดนั้นค่ะ ปีนี้ 55 แล้ว” (หัวเราะ)
เล่าความยากของการเป็นผู้บริหารหญิงในธุรกิจประกันภัยสักนิดค่ะ
“แป้งว่าไม่ยากและไม่ง่าย อยู่ที่เราจะมองให้เป็นแบบไหน คุณพ่อ (คุณ โพธิพงษ์ ล่ำซำ) สอนว่าในเวทีธุรกิจไม่มีการแบ่งเพศหญิงหรือชาย คนที่จะอยู่ได้คือคนที่เก่งและแกร่งเท่านั้น…ใช่ค่ะ ไม่มีใครยอมอ่อนข้อให้ผู้หญิงอย่างแป้งเลย แต่แป้งก็ไม่เคยกังวลนะคะ แม้แป้งจะดูเป็นผู้หญิงอ่อนหวาน แต่ข้างในแมนมากมาตั้งแต่เด็ก กล้าลุย กล้าได้กล้าเสีย ไม่เคยยอมแพ้กับอะไรง่ายๆ สำหรับธุรกิจประกัน แป้งเริ่มต้นจากความเข้าใจและมองภาพชัดตั้งแต่ที่ได้คุยกับคุณอาภูมิชาย และมั่นใจเสมอว่าเมื่อเราพยายามมากพอ เราจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการเสมอ
“ธุรกิจประกันวันนี้มีกว่า 60 แบรนด์ในตลาด ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างต่อเนื่อง มีแบรนด์ล้มหายตายจากวงการไปไม่น้อย แต่เมืองไทยประกันภัยยังอยู่บนท็อป 5 ได้อย่างภาคภูมิ น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นตัวแป้งได้ดี”
ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ทำหน้าที่ผู้บริหารของเมืองไทยประกันภัย เหตุการณ์ทางธุรกิจที่ถือว่าหนักหน่วงที่สุดคืออะไร แล้วคุณแป้งพาทีมผ่านมาได้อย่างไรคะ
“หนักทุกเหตุการณ์เลยค่ะ (หัวเราะ) ทั้งน้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว สึนามิ เหตุจลาจลกลางกรุง เราเจอมาทุกรูปแบบ ถ้านำมาจัดอันดับที่หนักสุดคงจะเป็น ‘มหาอุทกภัย ปี 2554’ ทั้งบ้านเรือน รถยนต์ สิ่งปลูกสร้างจมอยู่ในน้ำนานหลายเดือน ได้รับความเสียหายที่สุด บริษัทขาดทุนหนักมาก เพราะเราไม่เก็บ ไม่ค้าง เร่งจ่ายเคลมเพื่อช่วยเหลือเยียวยาลูกค้าจริงๆ ตอนนั้นนวลพรรณต้องเดิน เข้าธนาคารเพื่อขอยื่นกู้ เงื่อนไขไม่มีอะไรมากค่ะ ธนาคารขอแค่ชื่อนวลพรรณ ลงนามในฐานะซีอีโอในการกู้ครั้งนี้ เราคือผู้นำที่ต้องนำพาองค์กรเดินต่อไปให้ได้ วันนั้นกลับมาพร้อมหนี้ก้อนใหญ่ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่ แต่ก็เชื่อว่าด้วยความดีและความซื่อสัตย์ที่มีต่อลูกค้ามาโดยตลอด เราจะผ่าน ไปได้ ปีต่อมาเราก็ใช้เงินกู้นั้นได้หมด และเป็นปีที่เรามีกำไรทันทีอย่างไม่น่าเชื่อ”
เมื่อต้องประสบกับวิกฤติทางธุรกิจต่าง ๆ คุณแป้งมีวิธีรับมืออย่างไรคะ รวมถึงสถานการณ์โควิดทั้งสองระลอก
“อันดับแรกคือต้องมีสติค่ะ สติคือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะสุดท้ายทุกปัญหามีทางออก ขอยกคำพูดของคุณพ่อที่สอนแป้งตอนเป็นโรคม่านตาอักเสบตอนอายุ 25 จนเกือบตาบอดว่า ถ้าตาซ้ายบอดก็ยังมีตาขวาเหลืออยู่ It’s not the end of the world. ไม่มีอะไรเป็นจุดสุดท้ายของโลก มันคือเรื่องจริงนะคะ โลกไม่สลายไปเพราะปัญหาของเรา เมื่อมีสติ เราก็จะมีปัญญาที่จะหาทางออก
“ในวันที่ทั่วโลกคิดว่าโควิด-19 คือสิ่งที่มา Disrupt แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่าไม่ใช่ แต่กลายเป็น Pandemic Disrupt ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกอย่างยากที่จะหยุดยั้ง สำหรับเมืองไทยประกันภัยอยู่บนหลักการที่ว่า องค์กรจะอยู่ได้ ทุกคนก็ต้องอยู่ได้เช่นกัน เพราะเรามีวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว เราไม่มีนโยบายลดคนเพียงแต่ขอความร่วมมือในการงดจ่ายโอที ลดรายจ่ายเพื่อ ประคับประคองบริษัทให้เดินต่อไปได้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากคนในองค์กรเป็นอย่างดี เหมือนใจแลกใจน่ะค่ะ ในยามยากเราไม่เคยคิดทิ้งใครไว้ สิ่งที่เราจะได้กลับมาคือพละกำลังของพนักงานทุกคนที่พร้อมจะช่วยกันทุกวิถีทางเพื่อรักษาบ้านหลังนี้เอาไว้”
นอกจากธุรกิจแล้ว ยังได้รับเชิญให้ทำหน้าที่สำคัญมากมายจุดที่คุณแป้งตัดสินใจเลือกรับผิดชอบงานเหล่านั้นคืออะไร และมีหลักในการบริหารอย่างไรคะ
“อันดับแรกไม่ว่าจะงานอะไร ต้องเป็นสิ่งที่แป้งรักและชอบก่อนเสมอ แต่หลายคนแปลกใจว่าทำไมถึงชอบฟุตบอล เพราะแป้งเล่นกีฬาไม่เป็นเลย จุดเริ่มต้นจากการได้ทำกีฬาคนพิการ ทั้งการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์และเฟสปิกเกมส์ จนได้รับเชิญมาทำหน้าที่ผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงช่วงปลายปี 2008 เรื่อยมาจนจบการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2019 ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ที่เราเข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก จนพาตัวเองมาทำฟุตบอลไทยลีกที่ว่ากันว่าเป็น ‘นรก’ จากคำกล่าวของคุณเนวิน ชิดชอบ ที่เคยบอกแป้งเมื่อเดินทางไปเยือนถิ่นบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในฤดูกาลแรกที่ทำทีมต้องประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งตกชั้น ดราม่า เสียน้ำตา มีครบหมดทุกโหมดจริงๆ
“หลักการบริหารทีมที่เหมือนกันทั้งธุรกิจประกันและกีฬาคือ การทำแบบใจแลกใจ เวลาแป้งตั้งใจทำอะไรจะให้หมดใจ ทุ่มสุดตัว เพราะเชื่อว่าถ้าเราใส่จนสุดแบบไหนเราก็จะได้กลับมาแบบนั้น ตอนทำนักฟุตบอลหญิงทีมชาติ แป้งดูแลเขาหมดทุกอย่าง ทั้งอาหาร ที่พัก เจ็บป่วย เลิกกับแฟน บ้านมีปัญหา อยากได้ชุดใหม่ รองเท้าสวยๆ แป้งจัดให้หมด เพื่อให้เขามีแรงพร้อมในการทำหน้าที่เพื่อชาติ คนอื่นมองว่าแป้งตามใจน้องๆ แต่แป้งคิดว่า ถ้าเขาต้องการอะไรที่เราสามารถทำให้ได้ แป้งพร้อมให้ทั้งหมดแบบไม่มีข้อแม้ ตัวเขาเองก็รับรู้ถึงความรักและความจริงใจของแป้ง เขาก็พร้อมตอบแทนด้วยกำลังกายเพื่อทีม เพื่อประเทศชาติ
“สำหรับสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ เป็นอีกหนึ่งบททดสอบการทำงานของแป้งที่มีความท้าทายมาก เพราะนี่คือทีมของเรา แป้งเริ่มทำตั้งแต่ 0 ถึง 100 นักฟุตบอล สต๊าฟโค้ช การวางแผน เรื่องเทคนิค แฟนบอล สนาม ทั้งหมดต้องอาศัยหลักใจแลกใจ เพื่อรวมทุกส่วนเป็นหนึ่งเดียวกัน”
เวลาคุณแป้งผิดหวัง เสียกำลังใจ มีวิธีเรียกคืนขวัญกำลังใจให้ตัวเองอย่างไรคะ
“แป้งจะคิดว่าชีวิตก็เหมือนเกมฟุตบอล มีแพ้ มีชนะ มีเสมอ บางวันซ้อมแทบตาย วางแผนมาดีเยี่ยม แต่ผลไม่เป็นดังหวัง แต่ใช่ว่าแพ้แล้วจะแพ้เลย จบเกมนี้ก็ยังมีเกมต่อไปให้ได้ลงเล่นใหม่ เรายังมีโอกาสแก้ตัวได้ หมายถึงถ้าเรารู้ว่าพลาดอะไร ก็ลงมือทำใหม่ได้เสมอ”
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำทางธุรกิจที่ช่วยเหลือสังคมเสมอ คุณแป้งมีแนวทางหรือนโยบายในการคืนสิ่งดีๆ กลับสู่สังคมอย่างไรคะ
“ในทุกบทบาทหน้าที่ที่แป้งได้รับ แน่นอนว่าความสำเร็จของงานคือเป้าหมายสำคัญที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่แป้งต้องคำนึงอยู่เสมอ ทั้งการทำหน้าที่ในบริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือการรับตำแหน่งในบริษัทใดก็ตาม นั่นคือการได้มีส่วนสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมไทย
“แนวทางหนึ่งที่แป้งได้วางไว้กับตัวเองคือ การทำงานหรือการดำเนินธุรกิจใดๆ แน่นอนว่าต้องมีกำไร แต่กำไรของแป้งจะต้องเกิดขึ้นท่ามกลางความสุขของคนที่อยู่รอบข้าง ทั้งคนในองค์กร ทุกคนที่ได้มีส่วนร่วม และชุมชนที่อยู่โดยรอบ แป้งมองว่าเราไม่สามารถเติบโตขึ้นได้เพียงลำพัง เพราะนั่นไม่ใช่ความยั่งยืน เราต้องเติบโตไปพร้อมๆ กับทุกคนที่อยู่รอบข้าง เราต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างกำไรทางใจร่วมกัน”
หลายคนมองว่าคุณแป้งเป็น Perfectionist คุณแป้งเองมองอย่างไรคะ
“ไม่จริงเลยค่ะ เหมือนที่แป้งออกพ็อกเก็ตบุ๊ก ‘มาดาม แป้ง…ชีวิตไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ’ ไม่มีอะไรที่ดีลงตัวสวยงาม เหมือนในละครหรือเทพนิยายหรอกค่ะ ทุกอย่างที่เป็นแป้ง หรือมาดามแป้งในวันนี้ล้วนผ่านการต่อสู้อย่างหนักทั้งนั้น สำคัญที่สุดคือแป้งไม่เคยมองว่าตัวเองสำเร็จ เพราะหากวันใดที่คุณคิดแบบนั้น จะเป็นขาลงของชีวิตทันที แป้งเพียงแต่ทำอะไรด้วยความตั้งใจและทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ”
เป้าหมายชีวิตของคุณแป้งนับจากนี้คืออะไรคะ
“ในวัย 55 ปี แป้งผ่านการทำงานมาหลากหลายด้าน รู้สึกมีความสุขกับทุกงาน แป้งมีพลังงานสูงและไม่ชอบอยู่นิ่ง ใครที่อยู่ใกล้ตัวจะรู้เลยว่าแป้งมีเรื่องที่ต้องคิดและทำอยู่ตลอดเวลา ถ้าถามถึงเป้าหมายของชีวิตตอนนี้ แป้งมองว่าคือการทำทุกวันให้ดีที่สุด อีกอย่างที่แป้งพยายามที่จะทำอยู่คือการ Work – Life Balance ในช่วงหนึ่งของชีวิตแป้งอยากใช้ชีวิตที่เรียบง่าย แบ่งเวลาการทำงานและชีวิตส่วนตัว ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวให้มากขึ้น มีเวลานั่งผ่อนคลายดูต้นไม้ที่ปลูกไว้ที่บ้านบ้าง” (ยิ้ม)
สุดท้ายขอแนวคิดดีๆ เพื่อให้กำลังใจนักสู้หน้าใหม่หรือผู้ที่กำลังฝ่าฟันวิกฤติอยู่ในขณะนี้ค่ะ
“ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากจริงๆ ค่ะ แต่ละคนล้วนมีปัญหาที่ต้องเผชิญแตกต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘กำลังใจ’ ค่ะ แป้งเชื่อว่าปัญหาทุกปัญหามีทางออก ขอให้เรามีพลังใจที่จะนำพาเราสู้ไปเพื่อหาทางออกค่ะ หาจุดกำเนิดของกำลังใจเราให้เจอ ซึ่งแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป สำหรับบางคนคือคนที่เรารัก บางคนคือของกินอร่อยๆ เพลงเพราะๆ สักเพลง หรือความฝัน ฯลฯ และขอให้ท่องไว้นะคะ ‘แล้วมันก็จะผ่านไป’ นี่เป็นสัจธรรมของโลกใบนี้ค่ะ ไม่มีอะไรคงทนถาวร แป้งขอเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในกำลังใจของทุกคนที่กำลังฝ่าฟันวิกฤตินะคะ ขอให้ทุกคนได้เจอกับกำลังใจของตัวเอง และผ่านพ้น วิกฤตินี้ไปได้ด้วยดีค่ะ”
บทเรียนนักสู้ “เชื่อแป้ง”
• หลักการบริหารทีมให้ประสบความสำเร็จ คือ การทำแบบใจแลกใจ ผู้นำต้องทุ่มสุดตัวและหัวใจ เมื่อพยายามมากพอความสำเร็จจะเป็นของเรา
• เมื่อชีวิตประสบกับวิกฤติต้องรีบเรียกสติ เพราะเมื่อมีสติก็จะมีปัญญาที่จะหาทางออกได้
• จงเชื่อมั่นในความดีและความซื่อสัตย์
• ถ้าวันใดที่คุณคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ จะเป็นขาลงของชีวิตทันที
ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 968
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เวิร์คกิ้งวูแมนตัวจริง มาดามแป้ง-นวลพรรณ กับแนวคิดการทำงานสร้างพลังบวก
เปิดใจคู่กันครั้งแรก มาดามแป้ง & ดร.ณรัชต์ ความรักดั่งบุพเพสันนิวาสครั้งสุดท้าย
ม้วนเดียวจบ! มาดามแป้ง เปิดใจถึง ปมทรัพย์สิน และ กระเป๋าแอร์เมส 240 ใบ