ตัน ภาสกรนที

คัมภีร์นักสู้! ของคนจริง “ตัน ภาสกรนที” ยอมรับปัญหาให้ไว เริ่มแก้ไขให้เร็ว

ตัน ภาสกรนที
ตัน ภาสกรนที

ถ้าให้บรรยายความเป็นนักสู้ของ ตัน ภาสกรนที แค่สั้นๆ ก็คงต้องบอกว่า เขาสู้จริงๆ! พอจบมัธยมต้น เริ่มงานแรกด้วยการแบกหาม ตามด้วยการเปิดแผงขายหนังสือ ขยับขยายจนมีร้านของตัวเอง ก่อนจะเป็นเจ้าของธุรกิจน้ำดื่มและอื่นๆ อีกมากมาย ที่สำคัญเขาผ่านการเป็นหนี้ เจอปัญหาอุปสรรค วิกฤติมานับไม่ถ้วน เพราะอะไร ตัน ภาสกรนที จึงประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ไปเปิดคัมภีร์ของเขาพร้อมๆ กันค่ะ

คัมภีร์นักสู้! ของคนจริง “ตัน ภาสกรนที” ยอมรับปัญหาให้ไว เริ่มแก้ไขให้เร็ว

ถ้าย้อนไปถึงการสู้ในงานแรกกับวันนี้เป็นอย่างไรคะ

“แน่นอนว่าตอนเริ่มทำงานแรกกับวันนี้ วิธีการทำงาน แนวคิดต่างๆ ย่อมต่างกัน สำหรับผมเป็นเพราะผ่านประสบการณ์ ผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง อย่างครั้งแรกที่เจอวิกฤติ ตอนนั้นยังไม่มีประสบการณ์จึงมีเบลอๆ บ้าง ท้อแท้บ้าง เปรียบง่ายๆ เหมือนวัยรุ่นที่อกหักครั้งแรก รู้สึกเหมือนจะขาดใจตาย ท้อแท้ ทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นกับเรา ทั้งที่ความจริงแล้วมันเกิดกับทุกคนเป็นเรื่องปกติ และไม่ถึงตายหรอก แค่เราต้องอยู่ให้ได้และให้เวลามันหน่อย

“การทำธุรกิจครั้งแรกก็เหมือนกัน เมื่อเจออุปสรรค เจอวิกฤติโดยไม่มีประสบการณ์ ไม่มีที่ปรึกษาที่ดี มันก็ย่อมจะต้องหนักหน่อย อาจจะทำให้ตัดสินใจผิดพลาด อาจจะเลิกทำไปเลยหรือคิดสั้น แต่ถ้าใช้ประสบการณ์บวกคำแนะนำที่ดี ก็จะพอเห็นทางออกและบทสรุปว่าการทำธุรกิจต้องเจออุปสรรคเป็นเรื่องธรรมชาติ ต้องยอมรับและอยู่กับมันให้ได้ แม้เราจะไม่อยากเจอก็ตาม แต่สุดท้ายเดี๋ยวมันก็ผ่านไปเหมือนกับเวลาอกหัก พอได้คุยกับพ่อแม่ มีคนให้คำปรึกษาก็มีกำลังใจขึ้น

“จากที่ผมชอบฟังผู้ใหญ่คุยกันมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ยิ่งเห็นชัดเจนว่าคนที่ผ่านวิกฤติมาได้คือคนที่ยอมรับในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมจึงรู้ว่าเวลาปัญหามา เราต้องนิ่ง ตั้งสติ หาวิธีแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ที่สำคัญต้องอดทน ผมเชื่อว่าเดี๋ยวสิ่งดีๆ จะกลับมาหาเราอย่างแน่นอน

“อย่างสมมติว่าตอนนี้เราเลี้ยงหมู แล้วปรากฏว่าราคาตก มีหลายเจ้าล้มหายไปจากตลาด แต่เราประคับประคองชีวิต รักษาเนื้อรักษาตัวให้ผ่านไปให้ได้ ผ่านไปสักพักราคาหมูกลับมาดีขึ้น ตอนนั้นเราจะเป็นผู้รอดที่ยังอยู่

“เหมือนกับวิกฤติโควิด หลายธุรกิจเจ๊งไปแต่เดี๋ยวพอทุกอย่างกลับมา อาจกลายเป็นว่าสินค้าที่เราผลิตอยู่จะเป็นที่ต้องการของตลาดมากๆ ก็ได้ เพราะโลกนี้มีดีมานด์กับซัพพลาย ถ้าไม่เกินก็ขาด พอขาดแล้วมีคนสร้างเยอะขึ้นๆ จนเกินความต้องการ ถ้าตั้งรับไม่ดีก็ต้องมีคนปิดกิจการไป แล้วก็จะกลับไปขาดตลาดอีก หมุนเวียนเป็นวัฏจักร เหรียญมีสองด้านเสมอ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกอยู่ตรงไหน ซึ่งทั้งหมดคือประสบการณ์จากที่ผมเจอด้วยตัวเองและได้เห็นได้ยินมา สุดท้ายแล้วธรรมชาติของธุรกิจมันเป็นแบบนี้ครับ”

ตัน ภาสกรนที

ย้อนไปตอนอกหักครั้งแรก เจ็บขนาดไหนคะ

“ครั้งแรกแน่นอนว่าเฮิร์ต แต่ก็ไม่ได้หนักหนาหรอก ผมคิดว่าถ้าเราอกหักตั้งแต่วันแรกๆ ความเสียหายยังไม่มาก อาจฝังใจ แต่เดี๋ยวความเจ็บก็ผ่านไป กลับกันเมื่อคุณโตขึ้น มีความรักที่ผูกพันลึกซึ้ง มีครอบครัว มีลูก มีธุรกิจ มีทรัพย์สินร่วมกัน แล้วต้องอกหักหรือต้องแยกทางกัน ความรู้สึกจะหนักหนากว่ากันเยอะนัก

“ช่วงผมทำธุรกิจแรกๆ ยังไม่ได้กู้เงินหรือลงทุนมากมาย เริ่มจากขายหนังสือพิมพ์ เจอวิกฤติครั้งแรกก็โดนไป 50,000 บาท แต่บางธุรกิจที่เขาไม่เคยเจอวิกฤติ พอเจอการขาดทุนเดือนละเป็นพันล้านก็ไปไม่เป็น ฉะนั้นเจอตั้งแต่แรกดีกว่า มีประสบการณ์ในการรับมือแล้ว ไม่ได้หมายถึงตัวเงินนะ แต่คือวิธีคิด”

คุณตันมีวิธีหรือแนวคิดในการพาบริษัทก้าวผ่านแต่ละวิกฤติอย่างไรคะ

“ย้อนกลับไปผมผ่านวิกฤติใหญ่ๆ มาประมาณ 5 ครั้ง ครั้งแรกน่าจะประมาณ พ.ศ. 2527 ราชาเงินทุนต่อด้วยวิกฤติต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ น้ำท่วม แล้วก็โควิด-19 ซึ่งผมต้องขอบคุณวิกฤติต้มยำกุ้ง (วิกฤติการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540) นะ เพราะทำให้ผมมีประสบการณ์ พอมาเจอช่วงแฮมเบอร์เกอร์ (Subprime Crisis หรือวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ พ.ศ. 2550 – 2551) จึงรู้วิธีรับมือแล้ว ถ้าไม่มีประสบการณ์มาก่อนผมคิดว่าเราอาจจะไม่ได้มานั่งสัมภาษณ์กันแบบวันนี้หรอก

“ตอนนั้นผมใช้วิธีตัดแขนขารักษาชีวิต อันนี้สำคัญมากนะ ซึ่งก็มาจากประสบการณ์ที่ผมฟังผู้ใหญ่คุยกันว่าเมื่อเจอวิกฤติ คนที่รอดคือคนที่ยอมตัดใจ ตัดแขนขารักษาชีวิต หมายถึงยอมตัดทรัพย์สิน อะไรขายได้ขายไปก่อน ฉะนั้นคนที่ตัดสินใจเร็วจะสามารถกลับมาได้เร็ว เผลอๆ ซื้อของที่เคยขายไปกลับมาได้ด้วย แต่คนที่ไม่รอดคือคนที่ไม่ยอมตัด ยื้อ ดันทุรัง พยายามประคองถือไว้ จนมันบานปลายกลายเป็นดินพอกหางหมู และสุดท้ายไปต่อไม่ไหว เรื่องนี้เป็นประสบการณ์สำคัญที่ผมใช้มาจนถึงทุกวันนี้

“พอถึงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ต้องบอกว่าเชี่ยวชาญแล้ว (หัวเราะ) เพราะอกหักมาหลายครั้ง และนี่เป็นครั้งที่ผมกลับมาได้เร็วที่สุด ตอนนั้นคำพูดประจำตัวที่ผมใช้บอกตัวเองและคนอื่นคือ เราไม่ได้ลำบากที่สุด

“ตอนนั้นผมเพิ่งขายกิจการเก่ากำลังจะเปิดกิจการใหม่ ผมยืมเงินภรรยา (อิง ภาสกรนที) มาร้อยล้านบาทเพื่อนำไปช่วยน้ำท่วม ซื้อเรือ เสื้อชูชีพ กับข้าวของสำหรับทำถุงยังชีพ ตอนนั้นผมเริ่มมีแฟนคลับบ้างแล้ว พอประกาศว่าขอกำลังคนมาช่วยแพ็คถุงยังชีพที่ทองหล่อ คนก็มากันเต็มเลย จนได้แพ็คของ ทำกันคนละนิดละหน่อย

“พอรู้ว่าน้ำท่วมโรงงาน จำได้ว่าผมซึมๆ งงๆ อยู่แค่วันเดียว เพราะพอลงพื้นที่ไปช่วยน้ำท่วม ผมเจอผู้หญิงคนหนึ่งยืนแช่น้ำอยู่ หน้าตาเศร้ามาก ผม ถามว่าเป็นอะไรหรือเปล่า เขาบอกว่าไม่เหลืออะไรแล้ว ไม่มีงานทำ โรงงานที่เขาทำงานอยู่น้ำท่วม บ้านเช่าก็น้ำท่วมใจผมคิดทันที ทำไมเศร้าขนาดนั้น บ้านเช่าไม่ใช่บ้านตัวเอง ตกงานเดี๋ยวหางานใหม่ พอถึงตรงนั้นผมก็คิดได้เลยว่าผมยังมีบ้านอยู่ โรงงานก็ยังอยู่ ยังมีครอบครัว ทุนก็ยังพอหาได้ แค่นั้นแหละผมก็เลิกซึม

“ผมตัดสินใจขายที่แปลงหนึ่งเพื่อเป็นทุนในการสั่งเครื่องจักรใหม่หมด เพราะของเดิมที่โดนน้ำท่วม ถ้ารอซ่อมแบบที่ประกันแนะนำก็ไม่รู้ว่าจะได้เริ่มงานเมื่อไหร่ ซึ่งถ้าผมสั่งช้ากว่านั้นอีก 2 สัปดาห์ก็ไม่ทันแล้วนะ ของไม่มีคนงานจะติดตั้งก็ไม่มี เพราะคนอื่นๆ จะสั่งเหมือนกัน ฉะนั้นประสบการณ์และการตัดสินใจสำคัญมากๆ

“ยกตัวอย่างผู้ชายคนหนึ่ง รถเฟอร์รารี่จมอยู่ในน้ำท่วมเขาตัดสินใจซ่อม ไม่ขาย ซ่อมเสร็จรถแทบจะขับไม่ได้เลย เดี๋ยวดับเดี๋ยวเสียเหมือนตอนที่ประกันแนะนำให้ผมซ่อมเครื่องจักร แต่ผมตัดสินใจขายทิ้งไปเลย เพราะเกรงว่าถ้าซ่อมต่อไปเวลาใช้งานอาจเจอปัญหาเสียบ่อยๆ ขณะที่บางโรงงานยังไม่ได้ตัดสินใจย้ายของออกจากที่น้ำท่วม บางคนลังเลว่าจะซ่อมหรือไม่ซ่อม ส่วนผมลุยผลิตของออกมาขายได้เลย เรื่องทุกอย่างมีขึ้นมีลง พอลงปุ๊บก็มีขึ้น อยู่ที่ว่าตอนที่ขึ้นคุณจะคว้ามันไว้ได้ไหม

“เหมือนที่ผมบอกทีมงานเสมอว่าเด็กรุ่นใหม่บางคนเก่งกว่าเราเยอะนะ แต่สิ่งที่เขาขาดคือประสบการณ์ โดยเฉพาะประสบการณ์ในการล้มเหลว เนื่องจากเขาไม่เคยแก้ปัญหายากๆ ไม่เคยผ่านวิกฤติทำให้บางทีตัดสินใจผิด ฉะนั้นคนรุ่นเก่าต้องการคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่ก็ต้องการคนรุ่นเก่า อย่างบริษัทผมก็ต้องมีคนทั้งสองรุ่น เพราะต้องใช้ความสามารถของคนรุ่นใหม่มาขับเคลื่อนการทำงาน และใช้ประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เหมือนที่เขาว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนหรือเคยอกหักมาก่อนนั่นแหละ”

ตัน ภาสกรนที

ล่าสุดกับสถานการณ์โควิด-19 คุณตันมีวิธีรับมืออย่างไรคะ

“ต้องยอมรับว่าโควิด-19 หนักและยาวนาน ใครทำธุรกิจจะได้มาก ได้น้อย ไม่ได้เลย ขาดทุนหรือเจ็บตัวก็ต้องยอม เพื่อประคองตัวเองไว้ สำคัญที่สุดคือต้องเก็บลมหายใจเพื่อให้อยู่ได้ รอให้วันของเรากลับมา

“ช่วงปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะโรงงานของผมหรือของคนอื่นก็ต้อง ตรียมแผนรับมือไว้ เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก โรงงานผมใช้วิธีแบ่งพนักงานเป็นทีม A กับทีม B เพื่อที่ว่าถ้าเกิดเหตุกับทีมหนึ่ง จะยังมีอีกทีมที่ทำงานได้อยู่

“ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด เมื่อธุรกิจเกิดความเสียหายก็ต้องมีคนเจ็บตัว และผมเชื่อว่าโลกนี้ยังไม่มีอะไรเป็นที่สุด ในอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกก็ไม่รู้ สมัยก่อนเมืองไทยไม่มีภัยพิบัติ ไม่มีแผ่นดินไหว แต่ปัจจุบันก็เกิดแล้ว แต่ถ้าไปคุยเรื่องนี้กับคนญี่ปุ่นหรือไต้หวัน เขามีทัศนคติไม่เหมือนคนบ้านเรา คือเขาจะคิดเสมอว่าเขาไม่ปลอดภัย จึงต้องมีเงินออม ต้องมีแผน 2 ให้ชีวิต

“ผมว่าเราควรต้องคิดแบบสมมตินะว่า…สมมติ (ร้องเป็นเพลง) คือคิดเผื่อไว้ก่อน เช่น สมมติถ้าจะสร้างคอนโดมิเนียมขาย ก็ต้องสมมติต่อด้วยว่าถ้าสร้างเสร็จแล้วไม่มีคนซื้อ จะยังอยู่ได้ไหม ถ้าไม่ได้…อย่าทำครับ หรือสมมติค้าขายแล้วขายไม่ดี เจ๊ง จะอยู่ได้ไหม อยู่อย่างไร ฝึกหาคำตอบไว้ คือก้าวไปขาหนึ่งแล้ว อีกขาก็ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดด้วย เดี๋ยวนี้ผมเองก็ต้องสมมติไว้ตลอด เช่น ถ้าโควิดยังอยู่ไปอีก 3 – 4 ปีจะทำอย่างไร ต้องอยู่ ร่วมกับมันให้ได้”

มีวิธีเติมกำลังใจในวันที่ท้ออย่างไรคะ

“ผมเก็บกำลังใจจากคนรอบข้างน่ะ อย่างคำสอนที่เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ถ้าคุณขี่มอเตอร์ไซค์มองไปข้างหน้าเห็นคนขับรถเก๋ง คุณอาจท้อ เพราะรถเขาแอร์เย็นไม่ต้องตากแดด แต่ถ้ามองไปข้างหลังเห็นคนขี่จักรยาน คุณก็ยังดีกว่าที่ไม่ต้องออกแรงถีบ หรือถ้าคุณปั่นจักรยานมองไปข้างหลังเห็นคนกำลังเดิน คุณก็ยังโชคดีที่มีจักรยานนะ อยู่ที่มุมมองของเราเองว่าเปรียบตัวเองกับใคร

“ฉะนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราดีที่สุด อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับอะไรที่ทำให้ท้อ เพราะพอท้อแท้…ก็ไม่มีแรง เมื่อไม่มีแรง…ก็ไม่มีเงิน ไม่มีเงิน…ก็ยิ่งไม่มีแรง หมุนวนไปอย่างนั้น แต่ถ้าเรายังมีกำลังใจก็จะมีพลังต่อสู้ และที่สุดจะมีเงิน ฉะนั้นใจเราต้องสู้ไว้ก่อน

“แม้จะเจอวิกฤติ ธุรกิจเสียหาย แต่ถ้าใจไม่ล้มตามยังไงเราก็ไม่ล้ม แต่ถ้าเจอวิกฤตินิดเดียวแล้วใจล้มนำไปก่อน เหมือนเจอ 100 แต่ใจพังไป 1,000 ก็จบเลย จำไว้ว่าไม่มีใครไม่เคยตัดสินใจพลาดหรอก ผมก็เคยพลาด แต่ทุกครั้งที่พลาดหรือเสียหายก็รีบเริ่มใหม่

“หลายคนบอก ใช่สิ สินค้าคุณตันขายดี ความจริงผมมีสินค้าหลายตัวที่ขายไม่ดีนะ เพียงแต่เมื่อรู้ว่าขายไม่ดีก็เลิก ไม่ดันทุรังทำต่อ เพราะถ้าฝืน จากที่จะเสียหายแค่เงินหลักล้าน อาจเสียไปถึงเครดิต ถึงครอบครัว ผมว่าคนเราแพ้บ้างก็ได้ไม่เป็นไร ถ้าผิดพลาดก็หยุดแล้วเริ่มใหม่ เหมือนผมที่ยอมรับเร็ว ทำใจง่าย เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจนะ ทุกอย่างในชีวิตก็เหมือนกัน”

เลิกง่าย และเริ่มให้เร็ว

“ใช่ครับ ถ้าย้อนกลับไปดูธุรกิจของผม ยังไม่เคยมีอะไรที่ปล่อยให้อยู่จนคนไม่นิยมหรือหมดเทรนด์ในตลาดแล้ว ตรงกันข้าม บางอย่างยังขายดีอยู่เลย แต่ผมตัดสินใจเลิกเพราะเห็นปัญหา ซึ่งไม่ได้มีเวลาตายตัวในการตัดสินใจ สินค้าบางอย่างออกมา 6 เดือน 1 ปี เราก็ประเมินได้แล้ว ย้อนไปสมัยผมทำร้านกิฟต์ช็อป 2 ร้าน ที่ชลบุรี ซึ่งดังพอๆ กับร้านในกรุงเทพฯเลยนะ แต่ผมตัดสินใจเลิกทั้งที่ยังขายดี เพราะเมื่อก่อนสินค้ากิฟต์ช็อปเป็นของนำเข้าจากญี่ปุ่น กระเป๋าใบหนึ่งซื้อมา 100 บาท ขาย 500 บาท ได้กำไรดี แต่ผ่านไปประมาณ 5 – 6 ปีเริ่มมีการผลิตสินค้าในเมืองไทย จากกำไรเบื้องต้น 35 เปอร์เซ็นต์ พอต้องสต๊อกสินค้าเหลือกำไรนิดเดียว ผมตัดสินใจเลิก แม้ลูกค้าจะยังเยอะอยู่ ซึ่งบางคนไม่เข้าใจ แต่ผมประเมินจากกำไรที่เหลืออยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจอยู่ไม่ได้น่ะ”

นอกจากการทำธุรกิจ สิ่งที่ทำให้คุณตันได้รับคำชื่นชมเสมอคือ การช่วยเหลือสังคมและชุมชน

“พูดแบบไม่อายเลยนะ ตอนอายุ 40 ผมไม่เคยปลูกต้นไม้เลย จนวันหนึ่งผมรู้สึกว่าเราใช้ธรรมชาติเยอะ อีกอย่างที่ผมพูดบ่อยๆ เราเคยเป็นลูกหลานของพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ เป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ที่ท่านมอบสิ่งดีๆ มาให้เรา หมายถึงเราได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น พอวันหนึ่งเรากลายเป็นพ่อแม่ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นหัวหน้า เราก็ต้องมอบสิ่งที่ดีไปให้รุ่นต่อไปด้วย ถ้าถามว่าวันนี้ผมต้องใช้เวลาไปหาเงินเพิ่มอีกไหม กลับกันจริงๆ ผมควรเอาเวลาที่เหลือไปใช้เงินมากกว่า แล้วถามว่าใช้เงินคืออะไร สำหรับผมไม่จำเป็นต้องไปกินไปเที่ยวอย่างเดียว แต่เป็นอะไรที่ทำแล้วมีความสุข

“ผมไม่ได้เป็นคนดีเด่นอะไร แค่พยายามทำเท่าที่ทำได้ อย่างน้อยบั้นปลายชีวิตก็มอบให้คนรุ่นหลัง แต่อย่าเรียกว่าช่วยเหลือคนอื่นเลยนะ ถือว่าผมทำสิ่งที่ตัวเองชอบแล้วคนอื่นได้ประโยชน์ด้วย”

ตัน ภาสกรนที

ความสำเร็จในมุมมองของคุณตันคืออะไรคะ

“ตอนนี้ผมเกินเป้าไปแล้ว ใครจะคิดว่าจบแค่ ม.3 จะได้เป็นเจ้าของโรงงาน เจ้าของโรงแรม เจ้าของตึก ผมเคยคิดแค่ว่าขอให้ไม่เป็นหนี้ มีบ้านอยู่กับครอบครัวก็ภูมิใจแล้ว (ยิ้ม)

“ถ้าถามว่าความสำเร็จคืออะไร ผมคิดว่าคือการที่เราสามารถภูมิใจในสิ่งที่ทำ สามารถทำธุรกิจแล้วก็ทำประโยชน์ให้คนอื่นไปพร้อมกันได้ ดังนั้นถ้าถามว่าผมภูมิใจอะไรที่สุด อาจจะภูมิใจที่ได้ปลูกต้นไม้เยอะๆ ยิ่งแก่ตัวผมยิ่งชอบต้นไม้มาก อย่างที่เชียงใหม่ผมก็ภูมิใจว่าได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้ถนนบางเส้นร่มรื่นขึ้น กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งผมอยากจะทำแบบนี้อีกหลายๆ ที่ถ้าเป็นไปได้

“ตอนนี้ความสำเร็จจึงไม่ได้อยู่ที่เงิน กำไร แต่อยู่ที่จะสามารถสร้างอะไรให้ท้องถิ่นหรือแผ่นดิน และถ้าถามว่าธุรกิจอะไรที่ผมภูมิใจที่สุด คำตอบอาจจะไม่ใช่อิชิตัน ไม่ใช่โรงแรม แต่เป็นตลาดนัด (ตลาดนินจาอมตะ จังหวัดชลบุรี ตลาดนัดกล้วยๆ จังหวัดลพบุรี) (ยิ้ม) พ่อค้าคนหนึ่งบอกว่าเขาลาออกจากงาน มาเปิดร้านที่ตลาดของผมที่แรก ผมบอกเลยนะ น่ากลัวมากคุณไม่กลัวเหรอ เกิดตลาดนัดของผมเจ๊งจะทำยังไง เขาบอกคุณตันไม่มีทางเจ๊งหรอก…ผมเองยังไม่แน่ใจเลย แล้วเขาแน่ใจได้อย่างไร (หัวเราะ) จนตอนนี้ผ่านไป 2-3 ปี ร้านเขามี 10 สาขาแล้วนะ นี่แหละคือความสำเร็จและความภูมิใจของผม” (ยิ้ม)

วิถีคุณตัน

• เมื่อเจอวิกฤติ คนที่รอดคือคนที่ยอมตัดใจ ตัดแขนขารักษาชีวิต คนที่ตัดสินใจเร็วจะสามารถกลับมาได้เร็ว คนที่ไม่ยอมตัด ยื้อ ดันทุรัง สุดท้ายจะไม่รอด

• ใช้ความสามารถของคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนการทำงาน และใช้ประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

• คนเราแพ้บ้างก็ได้ ไม่เป็นไร ฝึกยอมรับปัญหาเร็ว ทำใจเลิกง่าย และเริ่มใหม่ให้เร็ว

• อยากประสบความสำเร็จต้องทำในสิ่งที่ทำได้ดีจริงๆ ทำเป็นคนแรกๆ และทุ่มเท…ทุนไม่ใช่ปัญหา ถ้าทำแล้วดีหรือดัง จะมีคนพร้อมขอเข้าหุ้น

• เมื่อเราเคยได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น ถึงวันหนึ่งเราก็ควรมอบสิ่งที่ดีให้คนรุ่นต่อไปด้วย


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 968

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ครั้งแรก! เปิดบ้านริมทะเลสาบสุดอลังของ “ตัน ภาสกรนที” และครอบครัวแสนอบอุ่น

ชีวิตจริงที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มาดามแป้ง นวลพรรณ CEO นักสู้หญิงเหล็ก

ชัยชนะบนวีลแชร์ สายสุนีย์ จ๊ะนะ ความพิการไม่ใช่ขวากหนามชีวิต สู่สุดยอดนักกีฬา

Praew Recommend

keyboard_arrow_up