จากกรณีที่มีการแชร์ข่าวไม่ควรสระผมก่อนอาบน้ำ เพราะอาจส่งผลทำให้เส้นเลือดแตกนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ล่าสุดทาง กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา ได้เผยสระผมก่อนอาบน้ำ ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยง “เส้นเลือดสมองแตก” ไม่มีผลทำให้อุณหภูมิหลักของร่างกายเปลี่ยนแปลง และไม่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง
สระผมก่อนอาบน้ำ…ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยง “เส้นเลือดสมองแตก“
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดของโรคทางระบบประสาท เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองแตก เป็นโรคที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ป่วยทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพและมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง และจากกรณีที่มีการแชร์ข่าวไม่ควรสระผมก่อนอาบน้ำ เพราะอาจส่งผลทำให้เส้นเลือดแตกนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการสระผมไม่ว่าจะเป็นการสระด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น อุณหภูมิภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ได้ส่งผลกับหลอดเลือดในทันที เพราะสมองและเส้นเลือด ถูกปกป้องด้วยผิวหนัง กล้ามเนื้อ กะโหลก และเยื่อหุ้มสมอง ดังนั้น การสระผมก่อนอาบน้ำจึงไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงของเส้นเลือดสมองแตก
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแตก ได้แก่
- ภาวะความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- อายุที่มากขึ้น
- การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญและสามารถควบคุมได้ด้วยตนเอง
สำหรับการสระผมก่อนการอาบน้ำ หรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ แต่หากพิจารณาจะเห็นว่าเรามักพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตกในห้องน้ำ หรือหลังจากเข้าห้องน้ำ ซึ่งเกิดจากการปรับตัวจากการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ จากท่านั่ง เป็นท่ายืน หรือแม้แต่การก้มตัว มีผลทำให้หัวใจต้องปรับการทำงานให้พอเหมาะกับร่างกาย ซึ่งในคนสูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจ หลอดเลือดที่ไม่แข็งแรงและมีปัญหาจะไม่สามารถรับกับการปรับตัวดังกล่าว จึงทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองได้
อย่างไรก็ตาม อาการเตือนสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองที่สังเกตได้ คือ พูดลำบาก ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง มึนงงทรงตัวไม่อยู่ หากมีอาการเหล่านี้ทันทีทันใดควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความเสี่ยงจากความพิการ เพราะโรคหลอดเลือดสมอง รู้ เร็ว รอด ปลอดอัมพาต
ข้อมูล : กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา
ภาพ : Pexels
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เตือนข่าวเท็จ “ผู้หญิงที่ย้อมสีผมบ่อย เสี่ยงมะเร็งเต้านมมากขึ้น 60%”
ฝุ่น PM 2.5 เสี่ยง “มะเร็งปอด”มากถึง 1-1.4 เท่า ร้ายแรงเทียบเท่ากับสูบบุหรี่