ถุงขยะแชมเปี้ยน

28 ปี แห่งความสำเร็จ “ถุงขยะแชมเปี้ยน” ยึดคติ แตกต่าง มุ่งมั่น และไม่ยอมแพ้

Alternative Textaccount_circle
ถุงขยะแชมเปี้ยน
ถุงขยะแชมเปี้ยน

“คุณศักดิ์ชัย ดนุเดชสกุล” กรรมการผู้จัดการ และ “คุณรัชฎา อินทรชลิต” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดนุเดชอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิต “ถุงขยะแชมเปี้ยน” หรือ Champion Bags ที่มีสินค้ายอดนิยมอย่างถุงขยะมีกลิ่นหอมหลากสี ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ทำให้ 28 ปีที่ผ่านมากราฟแห่งความเติบโตจึงค่อยๆ พุ่งขึ้นอย่างมั่นคง

28 ปี แห่งความสำเร็จ “ถุงขยะแชมเปี้ยน” ยึดคติ แตกต่าง มุ่งมั่น และไม่ยอมแพ้

สร้างแบรนด์ด้วย “ความต่าง”

คุณศักดิ์ชัยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของถุงขยะแชมเปี้ยนว่า “ก่อนหน้านั้นผมและ ภรรยา (คุณตุ๋ย – รัชฎา) ทำงานอยู่ฝ่ายขายที่บริษัท Kao Commercial (คาโอ) และ มีโอกาสมาดูแลกลุ่มลูกค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตที่กรุงเทพฯ บวกกับตอนนั้นน้องชายผม (วีรยุทธ) เป็นฝ่ายขายที่บริษัทถุงขยะแห่งหนึ่งที่เจาะกลุ่มตามสำเพ็ง ผมจึงลอง ศึกษาตลาดถุงขยะในซูเปอร์มาร์เก็ต และเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการทำธุรกิจของ ตัวเอง เนื่องจากในเวลานั้นมีถุงขยะให้ผู้บริโภคเลือกน้อยมาก

“ผมคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะทำถุงขยะที่มีจุดขายไม่เหมือนคนอื่น เพราะ สมัยนั้นถุงขยะเป็นลักษณะของถุงรีไซเคิลเกือบทั้งหมด เป็นแบบปากเปิดธรรมดา และพับซ้อนกัน 20 – 30 ใบอยู่ในห่อ หยิบใช้ลำบาก รวมถึงราคาก็ค่อนข้างสูง ผมจึงคิดรูปแบบการพับถุงขยะใหม่ เพื่อให้ดึงออกมาใช้ได้สะดวกทีละใบเหมือน กระดาษทิชชู ไม่ต้องแกะออกมาทั้งห่อ และตั้งใจที่จะผลิตถุงขยะที่มีคุณภาพดี ไม่มีกลิ่นเหม็น และราคาไม่สูง นั่นคือจุดเริ่มต้นแบรนด์ถุงขยะแชมเปี้ยนหรือ Champion Bags โดยผมตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาสร้างธุรกิจของตัวเอง

“ตอนนั้นต้องช่วยกันทำเองหมดทุกอย่าง ตั้งแต่สร้างแบรนด์ ออกแบบสินค้า ดูการผลิต นำไปเสนอขายในห้างต่าง ๆ ความที่ผมเป็นเซลส์มาก่อนจึงมีประสบการณ์ และรู้จักกับผู้คนในแวดวงนี้ โดยเรามีจุดขายที่ชัดเจนคือสินค้าคุณภาพดี ราคา ถูกกว่า และเป็นถุงขยะที่ใช้งานสะดวก ซึ่งตอนนั้นโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) เริ่มมีการพัฒนาขึ้นมาก ผู้ซื้อมองหาสิ่งใหม่ ๆ เขาชอบสินค้าของเรา จึงได้รับเลือก ให้เข้าไปวางขายในห้างใหญ่ ๆ ถือเป็นความโชคดีที่เราเริ่มต้นแบรนด์ในช่วงนั้น จากแบรนด์เล็ก ๆ ก็ค่อย ๆ เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ 28 ปีแล้วครับ” (ยิ้ม)

ถุงขยะแชมเปี้ยน
(จากซ้าย) ศักดิ์ชัย ดนุเดชสกุล, รัชฎา อินทรชลิต และกฤทธิ์ ดนุเดชสกุล

เจออุปสรรคหรือปัญหาอย่างไรบ้างคะ

“เมื่อประมาณปี 2539 – 2540 ตอนนั้นประเทศเจอวิกฤติการเงิน ส่วนเรา เพิ่งเริ่มทำธุรกิจซึ่งเป็นไปแบบค่อย ๆ โต ไม่ขยายอะไรใหญ่เกินตัว ปัญหาที่เจอ จึงไม่ได้หนักหนามาก เพียงแต่ตลอดเวลาในการทำธุรกิจตรงนี้เราต้องวางแผน การออกไลน์สินค้าใหม่อยู่เป็นระยะ เพื่อให้มีความแตกต่างจากเดิม เป็นการ เพิ่มโอกาสและช่องทางการขายให้มากขึ้น ให้คนซื้อรู้สึกว่าเรามีการพัฒนาสินค้า อยู่ตลอด ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ซื้อและผู้ขาย

“อย่างช่วงโควิดปีที่แล้ว ปัญหาที่เจอคือการออร์เดอร์ที่ไม่ปกติ เพราะพอมี ข่าวว่าโควิดระบาด คนเริ่มกักตุนของ ทางห้างก็เร่งสั่งจากเราเข้าไปเติมสต็อก ทำให้ ต้องเร่งการผลิต แต่พอสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ออร์เดอร์ก็น้อยลงทันที ทำให้ บริหารสต็อกค่อนข้างลำบาก

“ช่วง 3 เดือนแรกในปี 2563 เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าพอเปิดตัวคุณโตโน่ (ภาคิน คำวิลัยศักดิ์) ในฐานะพรีเซ็นเตอร์ บริษัทต้องเติบโตเพิ่มขึ้นมาก แต่กลับเจอวิกฤติ โควิด ทำให้แผนทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด แต่ตัวเลขยังโตนะครับ เพียงแต่ไม่ถึงเป้า ที่ตั้งไว้ ซึ่งสไตล์การทำงานของเราคือเมื่อเจออุปสรรคหรือปัญหาต้องรีบแก้ไขทันที โดยลงไปจัดการด้วยตัวเอง มีส่วนร่วมในทุก ๆ ดีเทล ทำให้บางครั้งเวลาเจอปัญหา ใหญ่ ๆ เราจึงไม่ได้รู้สึกว่าหนักมาก”

คุณรัชฎาแชร์ถึงอุปสรรคและปัญหา “สามารถพูดได้ว่าเราไม่เคยเจอปัญหา หนัก ๆ ที่ทำให้เครียดมาก เพราะแต่ละวันเราทำงานเต็มที่อยู่แล้ว เมื่อเจอปัญหา ก็จัดการแก้ด้วยตัวเองทันที ไม่ทิ้งไว้ บวกกับความที่เราเป็นบริษัทเล็ก ๆ ดังนั้น การพูดคุยและตัดสินใจจึงรวดเร็ว

“ซึ่งอุปสรรคใหญ่อย่างหนึ่งของหลาย ๆ คนคือการเข้าไปในธุรกิจโมเดิร์นเทรด เพราะมีดีเทลและข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ ระบบการทำงานที่ซับซ้อน แต่โชคดีว่า เราสองคนทำงานตรงนี้มานาน จึงรู้ความต้องการของคู่ค้าและรู้ว่าจะแมตช์กันได้ อย่างไร

“อีกเรื่องหนึ่งที่นับเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจคือการบริหารต้นทุนสินค้า เนื่องจาก การขึ้นลงของราคาเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิตถุงขยะ ถ้าบริหาร ตรงนี้ไม่ดี ต้นทุนจะแกว่ง โดยที่เราไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ตามราคาต้นทุน เพราะฉะนั้นบางช่วงจึงต้องแบกรับราคาที่เพิ่มขึ้น แล้วพอต้นทุนลดลงก็ไปเน้นเรื่อง โปรโมชั่นให้ผู้บริโภค ดิฉันมองว่าความยากของเราอยู่ที่การบริหารจัดการราคา ต้นทุน ซึ่งต้องมีการคาดการณ์ล่วงหน้า วิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงเวลานั้นให้ออก เพื่อไม่โยนภาระให้ผู้บริโภค”

“ใช่ครับ” คุณศักดิ์ชัยช่วยขยายความต่อ “ต้นทุนการผลิตจะขึ้นลงตาม ราคาน้ำมันตลาดโลก จึงต้องวางแผนเรื่องราคาให้ดี รวมถึงการทำโปรโมชั่นอย่างไร ให้โดนใจตลาด

“แล้วพอตลาดใหญ่มากขึ้น คนที่เข้ามาต้องมีความพร้อมมากขึ้น ไม่ว่าทั้ง การเงิน ศักยภาพ โรงงาน ทุกอย่าง เพราะเดี๋ยวนี้การทำธุรกิจตลาดนี้ค่อนข้างยาก ต้องดูทั้งโรงงาน สินค้าต้องมี Innovation”

ถ้าพูดถึงสไตล์การทำงานของสอง CEO ล่ะคะ

คุณศักดิ์ชัยตอบก่อน “สำหรับผมคือขยันและต้องมีเครดิต ในที่นี้หมายถึง ทั้งเครดิตการเงินและการทำงาน ไม่ว่าเราจะพูดอะไรหรือรับปากใคร ต้องรับผิดชอบ คำพูด อย่างคุยกับลูกค้า รับปากอะไรไว้ก็ต้องทำให้ได้

“อีกอย่างคือต้องคิดวางแผนเผื่อวันข้างหน้า อย่ารอให้เกิดวิกฤติแล้วค่อยคิด อย่างการที่เราออกสินค้าใหม่ ๆ อยู่เสมอ คือไม่รอให้มีคู่แข่งเข้ามาแล้วค่อยคิด แต่คิดเผื่อไว้เสมอ ถ้ามองวันนี้ ตลอด 28 ปีกราฟจึงวิ่งขึ้นตลอด”คุณรัชฎาแชร์บ้าง

“ใช่ค่ะ เพราะอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในโมเดิร์นเทรดก็คือ การโดน Delete สินค้าหรือนำสินค้าของเราออก แล้วนำสินค้าคู่แข่งเข้าไปขายแทน ฉะนั้นเราต้องดูตลาดว่าทำอะไรกันอยู่ เขาไปถึงไหนแล้ว ต้องปรับตัวตลอดเวลาและคอยวางแผนพัฒนาสินค้า

“การซื่อสัตย์กับลูกค้าคือสิ่งที่ดิฉันยึดถือมาก ซึ่งส่วนนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดิฉัน ได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ทำงานที่บริษัทคาโอกว่า 23 ปี ทำให้ซึมซับถึงการดูแลลูกค้า ด้วยความจริงใจ โดยมีทีมงานที่ดูแลลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ มีปัญหาอะไรก็ช่วยเหลือ กัน จึงได้รับความเชื่อใจจากลูกค้ามายาวนาน รวมทั้งได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ให้เป็นผู้ผลิตภายใต้ตราสินค้าของลูกค้าเองด้วย

“ในการทำงานดิฉันเชื่อว่าคนเราทุกคนล้วนมีข้อดีอยู่ในตัวเองแตกต่างกันไป เราในฐานะหัวหน้าหรือผู้นำทีมต้องพยายามดึงจุดเด่น จุดดี และจุดแข็งของเขา ออกมาให้ได้ อย่าให้ข้อด้อยของเขาเกิดเป็นปัญหาในงาน ที่สำคัญต้องขยันค่ะ ดิฉัน บอกทีมงานว่าเงินทองรวมทั้งโอกาสมีอยู่มากมายเต็มท้องถนน อยู่ที่ว่าใครจะเห็น ใครจะเก็บได้ ถ้าคุณขยัน ตั้งใจ มองเห็นโอกาส คุณก็จะเก็บมันได้”

ถุงขยะแชมเปี้ยน
(จากซ้าย) วีรยุทธ – ศักดิ์ชัย ดนุเดชสกุล และรัชฎา อินทรชลิต

อะไรที่ทำให้แชมเปี้ยนยืนหยัดมาได้ถึง 28 ปีคะ

คุณศักดิ์ชัยตอบได้ทันที “อย่างแรกเลยคือคุณภาพสินค้าครับ ต้องอยู่ใน เกณฑ์ที่ดี ได้มาตรฐาน เมื่อผู้บริโภคซื้อไปต้องเกิดความรู้สึกอยากนำไปใช้ และ ใช้แล้วต้องไม่มีปัญหา จุดที่สองคือเรามีการพัฒนาสินค้าใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ทุกปี เพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกสบายมากขึ้นในราคาที่ไม่สูงมาก ซึ่งตอนนี้เรามีสินค้า กว่า 200 รายการแล้วครับ

“ถ้ามองย้อนกลับไปกว่า 20 ปีที่แล้ว ถุงขยะไม่ใช่สิ่งที่คนใช้แล้วจะแฮ็ปปี้ เพราะเมื่อก่อนถุงดำส่วนมากทำมาจากวัสดุรีไซเคิลที่อาจจะมาจากการนำขยะมาล้าง แล้วรีไซเคิล ซึ่งแม้เขาจะล้าง แต่ก็ยังมีกลิ่นเหม็นอยู่ดี ทำให้ไม่น่าใช้ เราจึงเกิด ไอเดียทำถุงขยะที่ไม่เหม็นและมีกลิ่นหอม โดยเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลที่มาจากไลน์ การผลิตในระบบอุตสาหกรรม ไม่ใช่จากขยะ ทำให้ถุงแชมเปี้ยนไม่มีกลิ่นเหม็น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเน้นซื้อไปใช้งานในบ้าน เราก็ต้องพัฒนาสินค้าให้เป็นไป ตามความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคด้วย

“เมื่อเราทำถุงขยะรีไซเคิลไปสักพักหนึ่ง วัตถุดิบในตลาดรีไซเคิลหายาก เพราะไม่ใช่ว่ามีเงินก็ซื้อได้นะครับ วัตถุดิบรีไซเคิลที่อยู่ในระบบมีจำนวนค่อนข้าง จำกัด ฉะนั้นถ้าตลาดเราใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จะไปพึ่งวัตถุดิบแหล่งเดียวไม่ได้ ผม จึงเลือกวัตถุดิบเกรดเอมาผลิตเป็นถุงขยะแบบมีหูผูก

“ซึ่งผมได้ไอเดียมาจากถุงที่แขวนอยู่ตามร้านขายของ ที่เขาจะมีหูที่สามไว้ เกี่ยวกับเหล็ก เวลาจะใช้ก็ดึงให้หลุดออกมา ผมจึงเกิดไอเดียดีไซน์ออกมาเป็น ถุงขยะแบบมีหูผูกเกรดเอ ถึงแม้จะมีราคาสูงกว่าวัตถุดิบแบบรีไซเคิล แต่ด้วย คุณภาพที่ดีกว่า เมื่อคำนวณแล้วกลับมีความคุ้มค่ามากกว่า เพราะเป็นการใช้ ถุงขยะให้ถูกประเภทการใช้งาน ทำให้ในที่สุดสามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ ช่วงแรกที่วางขายผู้บริโภคให้การตอบรับดีเลยครับ เพราะผิวของถุงมีความลื่น น่าใช้ แถมมีที่ผูกให้ด้วย ทำให้วันนี้สินค้าตัวนี้ขายดีเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มของถุงขยะหูผูก

“หรือก่อนหน้านี้ช่วงที่เดินทางไปต่างประเทศผมเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต เห็นเขาใช้ ถุงแบบม้วนที่ฉีกใช้ทีละใบซึ่งสะดวกมาก ผมจึงกลับมาทำบ้าง แต่ช่วงแรกขายไม่ดี เลยครับ จนห้างยกเลิกออร์เดอร์ ต้องคิดกันใหม่ว่าเป็นเพราะอะไร หรือความเป็น สีดำทำให้เหมือนกับแบบอื่น ๆ จึงไม่น่าสนใจ ผมจึงปรับใหม่ เปลี่ยนเป็นสีขาว สีเขียว แล้วเข้าไปวางขายอีกรอบ ปรากฏว่าขายดีขึ้นเยอะเลย

“หลังจากนั้นผมไปเที่ยวออสเตรเลีย ก็ไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตอีก เจอถุงกลิ่นส้ม กลิ่นสตรอว์เบอร์รี่ รู้สึกว่าน่าสนใจมาก จึงกลับมาให้ภรรยาช่วยติดต่อบริษัท ทำน้ำหอม คิดค้นกลิ่นเฉพาะของแบรนด์เรา เกิดเป็นสินค้าใหม่ ถุงขยะมีกลิ่นหอม ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นที่ชื่นชอบและมีการเติบโตทุกปี ถือได้ว่าเราเป็นบริษัทแรกที่ทำการตลาดและพัฒนาถุงขยะแบบมีกลิ่นหอม ซึ่งถึงวันนี้ได้วางตลาดมากว่า 8 ปีแล้ว

“แต่ตลาดถุงขยะมีกลิ่นหอมยังเล็กกว่าถุงดำเยอะครับ เพียงแต่มีแนวโน้ม ที่ดีในอนาคต เป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ ถึงขนาดมีลูกค้าโทร.มาที่บริษัทเพื่อ ขอบคุณที่เราทำสินค้าตัวนี้ออกมา เขาไม่เคยคิดเลยว่าจะมีถุงขยะที่น่าใช้แบบนี้ (ยิ้ม)

“และล่าสุดเดือนนี้ (พฤษภาคม 2564) เราเปิดตัวสินค้าใหม่ โดยใส่กลิ่นหอม เข้าไปในโปรดักต์ขายดี นั่นคือถุงขยะดำแบบมีหูผูกและมีกลิ่นหอมของมินต์เลมอน ซึ่งจากนี้ไปถุงดำต้องหอม ต้องเหนียว เป็นคอนเซ็ปต์ที่เราวางไว้เพื่อช่วยกระตุ้น ตลาดอีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากการรณรงค์สนับสนุนกิจกรรมแยกขยะ เพื่อช่วยลดขยะที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรามีภาพยนตร์โฆษณาชื่อชุดถุงดำ ต้องหอม แสดงโดยคุณโตโน่ และสามารถหาซื้อถุงขยะดำกลิ่นมินต์เลมอนได้ใน ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วไป”

อีกเรื่องที่แบรนด์แชมเปี้ยนทำมาตลอดคือ การรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม

คุณรัชฎารับหน้าที่อธิบาย “ค่ะ ประเทศไทยเริ่มมีการรณรงค์เรื่องการ แยกขยะ เพราะจะช่วยลดปริมาณขยะได้ดีที่สุด ทำให้การจัดการขยะทำได้ อย่างมีประสิทธิภาพ แต่บางครั้งก็ยังมีความสับสนอยู่ว่าจะทิ้งอะไรในถังไหน และ นี่เองเป็นจุดที่ทำให้แบรนด์ของเราโฟกัสเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยการใช้ถุงขยะแยกสี เป็นตัวช่วย เช่น สีเหลืองขยะรีไซเคิล สีเขียวขยะเปียก สีฟ้าขยะทั่วไป และ สีแดงสำหรับขยะอันตราย พร้อมทั้งการให้ความรู้โดยร่วมกับองค์กรต่าง ๆ รวมไปถึง สนับสนุนกิจกรรมในด้านนี้

“อย่างที่หมู่บ้านปัญญา (พัฒนาการ) ถือเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการแยกขยะ โดยทุกบ้านมีการแยกขยะอย่างเป็นระบบ ซึ่งแบรนด์ของเราช่วยสนับสนุนด้วย หรือที่วัดจากแดง ท่านเจ้าอาวาสอุทิศตนทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมมาตลอด สามารถ ทำให้ชุมชนในละแวกนั้นเรียนรู้และมีการแยกขยะอย่างเป็นระบบ รวมถึงการนำ ขยะรีไซเคิลไปหมุนเวียนใช้ใหม่ด้วย

“แบรนด์เรายังได้ร่วมกับคุณโตโน่สนับสนุนโครงการเก็บรักษ์ของเขา ที่ช่วยเกี่ยวกับเรื่องขยะในท้องทะเล และตอนนี้มีแพลนจะไปสถาบันการศึกษา โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เพื่อไปให้ความรู้เด็ก ๆ นักศึกษา รวมถึงการพัฒนา สินค้าของถุงขยะแชมเปี้ยนให้สอดคล้องกับการแยกขยะด้วย

“อย่างที่โรงงานของแชมเปี้ยนก็ตั้งถังขยะสี 4 สำหรับแยกประเภทตามจุด ต่าง ๆ รวมถึงที่บ้านเราเองด้วยนะคะ เพราะดิฉันเชื่อว่าการแยกขยะต้องเริ่ม มาจากทุกคน ทุกครอบครัว จากนั้นจึงขยายไปสู่สังคมในวงกว้าง ซึ่งเราหวังว่า จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณขยะได้”

ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังอยากเริ่มทำธุรกิจของตัวเองสักนิดค่ะ

คุณศักดิ์ชัยตอบก่อน “ถ้าเทียบกับสมัยก่อน ผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่มีโอกาส ในอีกรูปแบบหนึ่งนะ อย่างพวกอีคอมเมิร์ซ ซึ่งการเริ่มต้นทำธุรกิจพวกนี้ไม่ได้ ใช้ทุนเยอะ เพียงแต่ต้องกล้าที่จะทำ

“แต่ที่สำคัญคือก่อนทำต้องมีการวางแผน ต้องสร้างสินค้าที่มีความแตกต่าง จากของคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด ตามด้วยการวางเป้าหมาย ลูกค้าเป็นใคร กลุ่มไหน จากนั้นก็ลงมือทำ ลองขายดูครับ อย่าคิดอย่างเดียว ต้องคิดแล้วทำ

“ขณะเดียวกันปัญหาหนึ่งที่เด็กรุ่นใหม่เป็นกันคือ อยากมีธุรกิจ ไม่อยาก เป็นลูกจ้าง ทำให้ขาดการเรียนรู้หลายอย่าง ผมสอนลูกหลานเสมอว่า ไม่ว่าจะไป ทำงานที่บริษัทอะไร ถ้ามีโอกาสได้เข้าไปทำแล้ว จงคิดว่าเราได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์ แถมได้เงินเดือนด้วย เพราะตอนเรียนคุณต้องจ่ายค่าเทอมนะ แต่การเรียนรู้จาก บริษัทเขาจ่ายเงินเดือนให้คุณได้เรียนรู้งาน ฉะนั้นคุณต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด เพราะ ผลงานที่ดีจะติดตัวเราไปตลอด

“ถ้าลองทำแล้วพลาด ล้ม ก็ถือเป็นประสบการณ์ชีวิต แล้วเริ่มใหม่ มอง เป็นข้อดีว่าเราจะไม่พลาดอีก จะวางแผนให้ดีกว่าเดิม ปรับปรุง พยายามทำให้ดีขึ้น”

คุณรัชฎาปิดท้าย “เราสองคนมีความดุเดือดที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ไม่ยอมแพ้ (ยิ้ม) ไม่ว่าจะทำงานอะไร คุณต้องรักในงานที่ทำ เพราะถ้าไม่รัก รู้สึก เหมือนโดนบังคับ ทำเท่าไรผลงานก็จะออกมาไม่ดี แต่ถ้าทำด้วยความรัก รัก และตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมาย ผลก็จะออกมาดี ถึงแม้จะพลาดก็ไม่เป็นไร เริ่มใหม่ได้เสมอตราบที่เรายังมีแรง

“และสำหรับคำว่าประสบความสำเร็จ ดิฉันจะไม่ค่อยให้น้ำหนักกับมัน เนื่องจากไม่ได้รู้สึกว่าวันนี้สำเร็จแล้วหรือยังไม่สำเร็จ แค่ตั้งใจทำงานทุกวันให้ดี ที่สุด มีเป้าหมาย และตั้งใจทำเกินร้อย ผลของมันจะเป็นความภาคภูมิใจที่จะติดตัวไปตลอด”

CHAMPION’S STYLE

  • สร้างความแตกต่าง = จุดเริ่มต้นที่ดี
  • คุณภาพสินค้าต้องได้มาตรฐาน คุณภาพของคนก็เช่นกัน
  • ไม่กลัวปัญหา แก้ทันที ไม่ทิ้งไว้
  • ตั้งใจทำด้วยความรัก แม้พลาดล้มลงก็เริ่มใหม่ได้เสมอ

ถุงขยะแชมเปี้ยน

หลังจากเรียนจบคณะ MEng Materials Science and Engineering มหาวิทยาลัย Imperial College London “คริส – กฤทธิ์ ดนุเดชสกุล” ทายาทรุ่นที่ 2 ของถุงขยะ แชมเปี้ยน เตรียมนำความรู้ ความสามารถมาพัฒนาและต่อยอดธุรกิจของครอบครัว อย่างการศึกษาเรื่องพลาสติก

“ส่วนหนึ่งของการทำโปรเจ็กต์ปริญญาโทของผมคือการเลือกหยิบ ปัญหาโลกเกี่ยวกับมลภาวะจากพลาสติกที่อยู่ในสังคมมานานแล้ว จากข้อมูล ระบุว่า ทุกปีมีขยะพลาสติกกว่า 270 ล้านตันถูกทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม นอกจาก เรื่องโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เป็นผลพวงมา จากการใช้พลาสติกแล้ว การพัฒนาพลาสติกแบบย่อยสลายได้โดยใช้ ไมโครพลาสติกก็กำลังเป็นที่น่าสงสัยและต้องศึกษาต่อว่ามันเป็นผลดีต่อ สิ่งแวดล้อมจริง ๆ หรือเปล่า เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึง ผลกระทบของการเปลี่ยนถ่ายของไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหาร แต่ ผลกระทบนั้นยังไม่แน่ชัด ดังนั้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงเลี่ยงการใช้ พลาสติกธรรมดาทั่วไป (Conventional Plastic) แล้วเปลี่ยนไปใช้พลาสติก ชีวภาพที่ผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้ (Biodegradable Plastic) ด้วยเชื่อว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง

“โปรเจ็กต์ที่ผมทำอยู่จึงโฟกัสไปที่การประเมินวัตถุดิบนี้ โดยเฉพาะ ในเรื่องผลกระทบของไมโครพลาสติกจากพลาสติกชีวภาพที่มีต่อการเติบโต ของพืช ก็ต้องศึกษากันต่อไปครับ”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 970

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เจาะมุมมองหัวเรือใหญ่ DTAC “ชารัด เมห์โรทรา” ย้ำหนักแน่น “เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

คว้าโอกาสในวิกฤติ “เอิร์น ธัญนิจ ขุนพินิจ” ผู้สร้างแบรนด์ Avia by Union Alcohol

ตี๋ พัฒนพงศ์ & เพชร กวินวัชร์ ฝ่าวิกฤติธุรกิจสปา สู่ Supplement หน้าใหม่ยอดขายกระฉูด

Praew Recommend

keyboard_arrow_up