ชารัด เมห์โรทรา DTAC

เจาะมุมมองหัวเรือใหญ่ DTAC “ชารัด เมห์โรทรา” ย้ำหนักแน่น “เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

Alternative Textaccount_circle
ชารัด เมห์โรทรา DTAC
ชารัด เมห์โรทรา DTAC

ดีแทค (DTAC) องค์กรที่อยู่คู่คนไทยมาโดยตลอด ล่าสุดส่งโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” ติดปีกให้ความรู้เรื่องการทำตลาดออนไลน์ให้คนที่ต้องเจอความยากลำบากจากวิกฤติโควิด โดยไม่เกี่ยงอายุหรืออาชีพ เพื่อให้พวกเขาเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง แพรว มีโอกาสคุยกับ “คุณชารัด เมห์โรทรา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทค ถึงการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสในโลกธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ได้ช่วยเหลือสังคมไทยไปพร้อมๆ กัน

เจาะมุมมองหัวเรือใหญ่ DTAC “ชารัด เมห์โรทรา” ย้ำหนักแน่น “เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ดีแทคต้องเจอกับอะไรบ้าง และคุณชารัดมีวิธีรับมืออย่างไรคะ

“ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายครับ โดยเฉพาะตอนที่เมืองไทยล็อกดาวน์ครั้งแรก เมื่อปีที่แล้ว ผมมองว่าเมื่อไรก็ตามที่เกิดวิกฤติ เราต้องมองโลกในแง่บวกเข้าไว้ แล้วรีบปรับตัว ให้เร็ว ถือเสียว่าเป็นโอกาสให้เราได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ อย่างภายในองค์กรเองเมื่อมีการประกาศ ล็อกดาวน์ ดีแทคก็เริ่มทำงานแบบ Work from Home ทันที ซึ่งปรากฏว่าพนักงานของเรา สามารถปรับตัวได้ดี มีความยืดหยุ่น คือสามารถทำงานจากที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ และใช้อุปกรณ์ การทำงานได้หลากหลาย ทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ผมดีใจที่สามารถผลักดันและสนับสนุน ให้พนักงานปรับตัวในเชิงบวก

“ขณะเดียวกันในส่วนของลูกค้าก็ปรับตัวเร็วมากเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้งานช่องทางดิจิทัล เพราะวิกฤติโควิดเป็นตัวเร่งให้คนจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย เนื่องจากสังคมมีระยะห่าง มาเจอกัน ยากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือกิจกรรมเพื่อความบันเทิงล้วนย้ายมาอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์และ แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ทำให้ทั้งคนอายุน้อยและอายุมากหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น อย่างโปรแกรม Zoom เติบโตขึ้นถึง 500 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา ส่วนแอพของดีแทคเองก็มีการใช้งานสูงขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสิ่งที่เราต้องรีบทำด่วนคือพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่นของเราให้ดีและรวดเร็วขึ้นอีก

“เริ่มจากรีบพยายามทำความเข้าใจลูกค้า เพื่อดูว่าในช่วงเวลาแบบนี้ลูกค้าอยากได้อะไรที่สุด หนึ่งในนั้นคือในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ทุกคนลำบาก ดังนั้นเราจึงต้องปรับราคาแพ็คเกจ มือถือให้ทุกคนเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันก็พยายามคิดค้นอะไรใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการ ใช้งานให้ลูกค้า เช่น การเปิดตัว dtac reward Coins โดย Coins คือเหรียญสะสมจากการที่ ลูกค้าดีแทคได้ทำรายการหรือกิจกรรมต่าง ๆ บนดีแทคแอพ เช่น ซื้อแพ็คเกจ ชำระค่าบริการ เช็กอิน หรือทำกิจกรรมที่กำหนด ก็จะได้เหรียญรางวัล โดยสามารถนำ Coins ที่ได้ไปแลกสิทธิพิเศษ เพิ่มเติมจาก dtac reward เช่น ส่วนลดอาหาร เครื่องดื่ม แพ็คเกจเสริม เป็นต้น เหมือน เป็นคริปโตเคอร์เรนซี่แบบหนึ่ง (ยิ้ม) ซึ่งได้ผลตอบรับดีมาก ทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลมาจากการที่ ดีแทครีบศึกษาเรียนรู้ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ และปรับเปลี่ยนทั้งรูปแบบการทำงานในองค์กร คิดพัฒนา ผลิตภัณฑ์เพื่อให้ใช้งานง่ายและคล่องขึ้น อีกทั้งตอบโจทย์ผู้บริโภคที่กำลังยากลำบาก ให้เขาได้ใช้เงิน อย่างคุ้มค่าและยังได้สิทธิประโยชน์ตอบแทนด้วย

“ดังนั้นสำหรับผม ในทุกวิกฤติและอุปสรรคที่เกิดขึ้น สิ่งจำเป็นที่สุดคือการปรับมายด์เซต ให้ถูกต้องและมองโลกในแง่บวกเข้าไว้ เมื่อคุณตั้งหลักได้และปรับมุมมองได้ถูกจุด อุปสรรคต่าง ๆ จะหายไป ทำให้เราสามารถหาวิธีรับมือได้ และอาจนำไปสู่ผลงานใหม่ ๆ ได้อีกด้วยครับ”

ชารัด เมห์โรทรา DTAC

ในฐานะผู้นำองค์กร คุณชารัดมีแนวทางในการบริหารงาน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างไรคะ

“ผมดีใจและมีความสุขที่ได้มาทำงานที่ดีแทคในช่วงเวลาที่เหมาะสม แม้จะต้อง เผชิญกับโควิด แต่ผมก็ชอบวัฒนธรรมไทยและชอบการทำงานกับคนไทย พูดตรง ๆ ผมว่าพนักงานดีแทคหลายคนมีพรสวรรค์ซ่อนอยู่เยอะมาก ดังนั้นในฐานะผู้นำ ผมจึงพยายามสนับสนุนคนในองค์กรให้กล้าตัดสินใจได้เร็วขึ้นและเรียนรู้ที่จะพัฒนา ทักษะต่าง ๆ ให้เร็ว

“ดังนั้นสไตล์การทำงานของผมคือ การทำให้ระบบยืดหยุ่นและคล่องตัวมาก ที่สุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ทีมงาน ผ่านคอนเซ็ปต์ Tight – Loose – Tight ‘ ชัดเจน – ยืดหยุ่น – ชัดเจน ’ ซึ่งเป็นลักษณะการทำงานแบบยืดหยุ่น โดย Tight แรก คือการคาดหวังผลงานในด้านต่าง ๆ ที่ต้องออกมาดี ส่วน Loose หมายถึงการ ส่งเสริมให้มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น ในแง่ของสถานที่ทำงานและเครื่องมือในการ ทำงาน คือทำงานที่ไหนก็ได้ ใช้อุปกรณ์อะไรก็ได้ พร้อมปรับตัวเปลี่ยนแปลง ส่วน Tight สุดท้ายหมายถึงการประเมินวัดผลว่าสิ่งที่คาดหวังไว้ตั้งแต่แรกจากพนักงานว่า ผลงานนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งช่วยให้ดีแทคกลายเป็นบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการ ทำงานได้รวดเร็วขึ้น ด้วยการลดขั้นตอนงานเอกสารลง สื่อสารกันมากขึ้น ซึ่งเรา พบว่าพนักงานกว่า 95 เปอร์เซ็นต์มีความสุขกับการทำงานด้วยคอนเซ็ปต์นี้ครับ (ยิ้ม)

“ขณะเดียวกันบทบาทของผมในการเป็นผู้นำ ผมต้องแน่ใจว่าสิ่งที่เราทำ คือสิ่งที่ลูกค้าต้องการและใช้งานง่าย เพราะฉะนั้นดีเเทคจึงมีโปรเจ็กต์ค่อนข้างเยอะ เพราะเราคอยปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า ซึ่งต้องยอมรับ ว่าเปลี่ยนแปลงเร็วมาก งานของเราจึงต้องพร้อมปรับและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา”

ในยุคที่พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงเร็ว ดีแทคมีวิธีอัพเดตความต้องการของลูกค้าแล้วนำมาปรับใช้อย่างไรคะ

“เรามีฟีดแบ็กจากผลสำรวจความพึงพอใจจากลูกค้าเวลาเขามาที่ช็อปหรือ ตอนที่ลูกค้าคุยกับคอลเซ็นเตอร์ เราจะรู้ได้ว่าอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง พฤติกรรม ลูกค้าเป็นอย่างไร รวมถึงเครื่องมืออะไรที่ลูกค้าต้องการ หรือแพ็คเกจใดที่ลูกค้า อยากได้ อย่างเรื่องการปรับราคาแพ็คเกจมือถือก็เป็นผลพวงมาจากที่เราเก็บ ฟีดแบ็กในช่วงโควิด โดยสิ่งหนึ่งที่ลูกค้าต้องการมากในช่วงนั้นคือ ‘ราคาที่เข้าถึงได้’ เราจึงทำแพ็คเกจซิมดีแทคเติมเงินในราคาที่ถูกและคุ้มทั้งการเล่นอินเทอร์เน็ตและ โทรศัพท์ เพราะในช่วงเวลาที่ไม่สามารถเจอกันได้นั้น ทุกคนจำเป็นต้องติดต่อสื่อสาร เราจึงมีส่วนช่วยให้ลูกค้าสามารถเชื่อมต่อกับชุมชนของเขาได้”

เป็นที่มาของ #BetterTogether ที่ปรากฏอยู่ในจอมือถือหรือเปล่าคะ

“ใช่ครับ อย่างที่บอกว่าพอต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ผู้คนเจอกันน้อยลง เราจึงคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้เขายังสามารถติดต่อกันได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก สิ่งที่ช่วยในการเชื่อมต่อคือโทรศัพท์มือถือ ที่กลายเป็นตัวกลางหลักในการสื่อสาร ไปแล้ว ผมจึงนึกถึงคำว่า Better Together ตามมาด้วยบริการต่าง ๆ เช่น การ ออกอินเทอร์เน็ตแพ็คเกจสำหรับซิมดีแทคเติมเงินในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างที่ เล่าไป หรือโครงการ dtac’s Jaidee Pharmacy หรือ ‘ดีแทค ใจดีช่วยค่ายา’ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการดีแทคทั้ง 19 ล้านหมายเลขได้ส่วนลดราคาจากร้าน ขายยาที่ได้รับใบอนุญาตทั่วประเทศ เพื่อที่จะได้ซื้อยาในราคาที่ถูกลง เรียกว่าเป็น Better Together ในแง่ที่มีสุขภาพดีไปด้วยกัน หรือดีแทคแอพพลิเคชั่นที่เล่าไป เบื้องต้นก็ล้วนตอบโจทย์การเป็นตัวกลางให้ผู้คนได้เชื่อมถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการ ผ่านการจัดหาสินค้าและบริการที่เหมาะสมจากเรา และยังมีอีกหลายโครงการที่เรา ทำเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือสังคมไทย ทำให้เราภาคภูมิใจในคำว่า #dtactogether มาก ๆ ครับ”

มีโครงการไหนที่ได้ผลตอบรับเกินคาดบ้างไหมคะ

“เรามี ‘ดีแทค เน็ตทำกิน’ (Net for Living) ซึ่งความจริงเราเริ่มโครงการนี้ มาพักใหญ่แล้ว แต่เนื่องจากช่วงโควิด-19 มีคนบางกลุ่มได้รับผลกระทบค่อนข้าง เยอะ เหมือนเขาโดนทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น กลุ่มที่ตกงาน หรือคนที่ไม่มีความรู้เรื่อง ดิจิทัล คนอีกมากยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เราจึงมีมิชชั่นว่าดีแทคจะติดตั้งเครื่องมือ ดิจิทัลให้คนเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือในเรื่องการทำมาหากิน

“โดยกลุ่มแรกที่เราลงไปช่วยคือคนที่ต้องออกจากงานเนื่องจากโควิด-19 กลุ่มที่สองคือกลุ่มแม่ค้าพ่อค้าในตลาดสด โดยเรานำอินเทอร์เน็ตจากเครือข่ายของเรา ที่มีคลื่น 700 MHz ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่สุด มาช่วยเขาทำมาหากิน เพื่อเปลี่ยนจาก การขายในตลาดสดมาสู่ตลาดออนไลน์ ตอนนี้มี 10 ตลาดสดใหญ่ในเมืองไทย ที่เข้าร่วมโครงการนี้ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งพอเราปล่อยแอพพลิเคชั่นนี้ไป ปรากฏว่า มีคนมาสมัครถึง 1,000 คนในสัปดาห์แรก แต่เราต้องจำกัดจำนวนคนไว้ก่อน เพราะ ยังอยู่ในช่วงทดลองและเรียนรู้ เราอยากทำให้ได้ผลออกมาดีจริง ๆ ซึ่งเราก็มั่นใจ ว่ามันจะออกมาดีมาก ๆ และหากช่วยให้เขาค้าขายทางออนไลน์ได้จริง เขาก็จะมั่นใจ พอเขามั่นใจ คนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือส่งเสริมสังคมต่อไป ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็จะสะท้อนกลับมาที่ดีแทค ทำให้เรามีความสุขไปด้วย ผมจึงตั้งใจให้ ‘ดีแทค เน็ตทำกิน’ เป็นโปรเจ็กต์หลักที่จะมีไปตลอด โดยจะทำต่อเนื่องเป็นซีรี่ส์

“อย่างในเดือนกรกฎาคมนี้จะมีโครงการ ‘ดีแทค เน็ตทำกิน’ ซีรี่ส์สาม ที่เราทำงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สอนการใช้งานสมาร์ทโฟน ให้ผู้สูงอายุ เพราะตอนนี้สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่หลายคนยังคิดว่า ไม่จำเป็นต้องใช้สมาร์ทโฟน หรือบางคนก็ใช้ไม่เป็น เราจึงอยากสนับสนุนให้เขาใช้ เทคโนโลยีเป็น เพื่อสร้างโอกาสในชีวิตหรือเพื่อประโยชน์ของเขาเอง เช่น มีเพื่อน ทางออนไลน์ หรือเผลอ ๆ เขาอาจจะได้เป็นเน็ตไอดอลวัยชราก็ได้ (หัวเราะ) เราจึง ใช้ชื่อโปรเจ็กต์นี้ว่า Net for Living Diamond Series โดยตั้งใจพัฒนาระบบ สำหรับผู้สูงอายุ อยากให้รอดูกันครับ”

ชารัด เมห์โรทรา DTAC

มีเคสที่น่าประทับใจจากโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” ไหมคะ

“ผมชอบเรื่องของคุณโกะครับ เราได้รู้จักเธอเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ตอนนั้นเธอคิดว่าผู้ก้าวพลาดอย่างเธอคงไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่แบบคนปกติ ได้อีก จนกระทั่งได้พบกับดีแทค เราสอนให้เธอขายของผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะคุณแม่ของคุณโกะมีร้านข้าวต้มในตลาด คุณโกะจึงช่วยขายสินค้าผ่าน ช่องทางออนไลน์ โดยมีสไตล์การขายที่เฉพาะตัวมาก (ยิ้ม) คือมีความนักเลง ๆ หน่อย เสียงดัง แต่กลายเป็นว่าเวิร์คมาก ทำยอดวิวได้เยอะ และใครที่ดูก็อยากเจอ คุณโกะแบบตัวเป็น ๆ จึงเริ่มไปซื้อของที่ร้านในตลาดมากขึ้นด้วย นี่คือตัวอย่างที่ว่า ทุกคนสามารถหาพื้นที่ของตัวเองในโลกออนไลน์ได้ แค่เพียงต้องมีใครช่วยชี้ทาง สักหน่อย

“หรือเรื่องราวของคุณแหม่ม เดิมเธอขายปูดองเกาหลีอยู่ในตลาดที่จังหวัด จันทบุรี เราได้เข้าไปช่วยแนะนำให้เธอขายปูดองผ่านเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าทุกวันนี้ ขายดีมาก ทำยอดขายถึง 7 หลัก จากเดิมที่ขายปูได้วันละ 10 ตัว ทุกวันนี้ เธอมีหน้าร้านของตัวเองและขายดีมาก กลายเป็นว่าคุณแหม่มรวยละ (หัวเราะ) นอกจากนี้คุณแหม่มยังก่อตั้งสหกรณ์ขึ้นมาด้วย เพราะหาปูไม่ทันยอดสั่งซื้อ ในออนไลน์ จึงต้องขอซื้อปูต่อจากชาวบ้านผ่านสหกรณ์ ถือเป็นการช่วยเหลือเพื่อนบ้านและชุมชนไปด้วยในตัว

“ส่วนเคสล่าสุดที่เราช่วยคือสอนชาวเขาและชนกลุ่มน้อยที่เชียงดาวให้ขาย สินค้าท้องถิ่นผ่านทางออนไลน์แทน เพราะหลังโควิดไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมา เขาขายของกันไม่ได้เลย เราช่วยหาวิธีให้เขาหาเลี้ยงชีพได้ ที่ดีแทคตั้งใจทำในส่วนนี้ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความอิ่มใจ แม้จะทำธุรกิจ แต่เรามองว่าเราต้องมีส่วน รับผิดชอบสังคมด้วย จึงคิดเสมอว่าดีแทคจะสนับสนุนผู้คนในแง่มุมไหน ได้บ้าง ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่มีโอกาสช่วยคลี่คลายความทุกข์ ทำให้ผู้คนยิ้มได้ เราก็ภาคภูมิใจครับ”

อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่ดีแทคให้ความสำคัญและจริงจังมาพักใหญ่แล้วคือโครงการด้านสิ่งแวดล้อม

“ครับ ต้องบอกว่าดีแทคเป็น 1 ใน 10 องค์กรใหญ่ในอุตสาหกรรม โทรคมนาคมที่มีส่วนสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมให้โลก ดังนั้นอย่างที่บอกว่า ในการทำธุรกิจเราจะคิดเสมอว่ามีอะไรที่สามารถทำเพื่อช่วยเหลือสังคม รวมไปถึง สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ เราจึงตั้งใจที่จะแสดงความรับผิดชอบในการลดก๊าซ เรือนกระจกอย่างจริงจัง แต่เรื่องนี้เป็นความท้าทายที่ดีแทคทำเองคนเดียว ไม่ได้ ต้องร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ด้วย โดยเรามีเป้าหมายที่จะลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 ดังนั้นเราต้องพยายามมาก ๆ ที่จะเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตพลังงาน รวมถึงการจัดการขยะ อิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง เพื่อให้แน่ใจว่าขยะเหล่านี้จะไม่ถูกนำไปกำจัด แบบฝังกลบ ซึ่งเป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อม และเราก็โชคดีที่ได้พาร์ตเนอร์ ทางด้านรีไซเคิลท้องถิ่นที่จะจัดการกำจัดขยะเหล่านี้อย่างถูกต้อง ตอนนี้ จึงตั้งเป้าหมายว่าภายใน 2 ปีจะไม่มีการกำจัดขยะแบบฝังกลบอีกต่อไป”

ในฐานะผู้นำองค์กรที่ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมา คุณชารัดมีวิธีสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานอย่างไรคะ

“ผมว่าหลักสำคัญคือเราต้องจัด Work-Life Balance ให้ดี คือทำงานให้เต็มที่ และจัดเวลาอยู่กับครอบครัวด้วย เพราะช่วงเวลาเหล่านั้นจะช่วยเติมพลังให้เราได้ ผมโชคดีที่มีลูกสาวน่ารักถึง 2 คน ดังนั้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมจะพาลูก ๆ ไปหาของกินอร่อย ๆ กัน โดยเฉพาะอาหารไทยที่เป็นเหมือนอาหารเพิ่มพลัง สำหรับผม (หัวเราะ) เป็นช่วงเวลาพิเศษที่สร้างแรงบันดาลใจดี ๆ ให้ผมได้

“ต่อมาคือคุณต้องรู้จักบทบาทการทำงานของตัวเองและผู้อื่น อย่างผม มองบทบาทของดีแทคว่าเราต้องเป็นอะไรที่เหนือกว่าแค่การเป็นผู้ให้บริการด้าน เทเลคอม นั่นหมายถึงเราทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้คนทั้งที่อยู่ในเมืองและต่างจังหวัด ให้เข้าถึงกันผ่านระบบของเรา พอคิดได้แบบนี้ ผมจึงรู้สึกว่ามีแรงบันดาลใจให้ อยากทำงานเพื่อคนอื่นมากขึ้นไปอีกครับ”

สุดท้ายอยากให้คุณชารัดส่งกำลังใจไปถึงบรรดานักสู้ที่ยังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากสักนิดค่ะ

“อย่างแรกขอให้มองโลกในแง่บวกเข้าไว้ครับ เชื่อมั่นในตัวเอง และคิดว่า เดี๋ยวมันจะผ่านไป ผมเชื่อว่าโควิด-19 ต้องจบลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเมื่อใด ที่มันจบลง เมืองไทยก็จะกลับมาคึกคักเหมือนเดิมอย่างแน่นอน ผมมั่นใจใน ศักยภาพของคนไทยที่เมื่อล้มแล้วก็จะลุกขึ้นมาได้ ขณะเดียวกันเราควรเก็บ ความทรงจำในช่วงเวลานี้ไว้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่เราต้องต่อสู้ผ่านความยากลำบาก ไปด้วยกัน

“ส่วนถ้าใครยังเผชิญกับความลำบาก หาทางออกไม่ได้ ลองคลิกเข้ามาดูโปรเจ็กต์ ‘ดีแทค เน็ตทำกิน’ ได้นะครับ โอกาสดีๆ ยังรอคุณอยู่”

SHARAD & dtac’s STYLE

  • ยืดหยุ่น ปรับตัว ต่อยอด
  • มองปัญหาในมุมบวก
  • Work-Life Balance แบ่งเวลาการทำงาน และการอยู่กับครอบครัวอย่างสมดุล
  • ธุรกิจจะประสบความสำเร็จดียิ่งขึ้น เมื่อคิดถึงประโยชน์ของผู้คนในสังคมด้วย

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 970

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

คว้าโอกาสในวิกฤติ “เอิร์น ธัญนิจ ขุนพินิจ” ผู้สร้างแบรนด์ Avia by Union Alcohol

ตี๋ พัฒนพงศ์ & เพชร กวินวัชร์ ฝ่าวิกฤติธุรกิจสปา สู่ Supplement หน้าใหม่ยอดขายกระฉูด

20 ปี บนเส้นทางอาหารสุขภาพ “หลิง-จันทิมา ติยะวัชรพงศ์” ผู้บุกเบิกแบรนด์ HappyMate

Praew Recommend

keyboard_arrow_up