มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์

11 ปี สู้เพื่อฝัน “มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์” ผู้ชายที่ทำเต็มร้อยทุกเรื่องในทุกวัน

Alternative Textaccount_circle
มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์
มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์

นอกจากการเป็นนักแสดง “มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์” ยังควบอีกหลายบทบาท ทั้งว่าที่ ดร. เจ้าของสตูดิโอค่ายเพลงในชื่อ Mew Suppasit Studio รวมถึงพิธีกรรายการ TPOP STAGE ระยะเวลาที่เขาอยู่ในวงการบันเทิงมา 11 ปี ผ่านอุปสรรคหลากหลาย ที่เข้ามาทดสอบตั้งแต่วันแรก และยังคงทดสอบเขาอยู่จนถึงวันนี้

11 ปี สู้เพื่อฝัน “มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์” ผู้ชายที่ทำเต็มร้อยทุกเรื่องในทุกวัน

เล่าถึงวันที่กว่าจะเป็นมิวที่มีชื่อเสียงสักนิดนะคะ

“กว่าจะถึงวันนี้ผมเคยแคสติ้งเป็นร้อยงานเลยครับ ทั้งโฆษณา งานแสดง แต่ได้จริงๆ แค่ 3-4 งาน ช่วงนั้นผมอดทนมาก ไปนั่งรอแคสติ้งเป็นวันๆ ที่ยากอาจเพราะผมเรียนวิศวะ (คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ) มาทางสายคิดวิเคราะห์ที่เป็นระบบมากๆ บางทีจึงขาดจินตนาการบางอย่าง ขัดกับการแสดงที่ต้องมีความเชื่อในบทบาทนั้นสุดๆ ทั้งเชื่อในคาแร็คเตอร์ สถานการณ์ คือผมมักจะเกิดความคิดโต้แย้งว่า ถ้าเป็นเราจะไม่คิดอย่างตัวละครหรอก เราจะไม่พูดอย่างนั้น ช่วงแรกจึงเล่นอะไรไม่ได้เลย

“ตอนนั้นผมไม่ได้มองว่าตัวเองมีข้อเสียตรงจุดไหน คิดว่าโมเดลลิ่งเรียกเราไปแคสติ้งไม่ตรงกับคาแร็คเตอร์หรือเปล่า เพราะการแคสติ้งมีหลายประเภท เฉพาะความเป็นผู้ชายก็มีหลายลุค เช่น ลุคคนไทย ต่างชาติ นอกจากนี้ผมยังเคยคิดว่าทีมแคสติ้งคงไม่ชอบเรามั้ง รวมๆ คือโทษคนอื่นตลอด สุดท้ายโทษจนไม่รู้จะโทษใครแล้ว ก็วนมาที่การถามตัวเองว่าเราดีพอหรือยัง จึงได้คำตอบว่าเราขาดทักษะการแสดง นับแต่นั้นผมก็เลิกโทษคนอื่น

“เมื่อรู้ว่าเล่นไม่เก่ง ผมจึงไปเรียนแอ๊คติ้งอยู่หลายที่ แล้วค่อยกลับไปแคสติ้งใหม่ ปรากฏว่าผ่าน จึงได้บทเรียนว่าควรหมั่นรีเช็กตัวเอง ไม่ใช่เอะอะ ก็โทษคนอื่น เพราะปัญหาที่เกิดจากตัวเองแก้ได้ง่ายมาก คือแก้ที่ตัวเองครับ ผมจึงไปสมัครเรียนแอ๊คติ้ง 2 ปี เรียนทุกสัปดาห์ ทำการบ้านทุกวัน กระทั่งเริ่มแคสติ้งงานผ่านมากขึ้น”

ตอนที่ฝึก ทำการบ้านอย่างไรบ้างคะ

“แต่ละสัปดาห์ผมได้รับโจทย์ไม่เหมือนกัน ช่วงแรกเป็นการฝึกทักษะการแสดง ละลายพฤติกรรม จากนั้นเป็นการฝึกใช้ร่างกาย อารมณ์ ส่วนเรื่องคาแร็คเตอร์ ต้องทำการบ้านว่าบทนั้นมีภูมิหลังยังไง สามารถตีความแบบไหนได้บ้าง และนอกจากสคริปต์แล้ว เราสามารถแต่งเติมตัวละครให้สมจริงขึ้นได้อีกไหม เช่น ซีรี่ส์เรื่องใหม่ Aquarium Man ผมรับบทเป็นสัตวแพทย์ ในสคริปต์บอกมาแล้วว่าครอบครัวเป็นยังไง แต่เพื่อความสมจริงผมจึงฝึกดีเทลเพิ่มด้วย เช่น ตัวละครแปรงฟันยังไง ฟังเพลงแบบไหน คือยิ่งเราทำการบ้านละเอียด ก็สามารถลงไปในคาแร็คเตอร์ได้มากเท่านั้น ขณะเดียวกันก็จะศึกษาจากหนัง แม้กระทั่งผู้คนที่เจอก็เก็บคาแร็คเตอร์มาศึกษาได้หมดเลยว่าแต่ละคนมีพฤติกรรมยังไง นั่งท่าไหน รวมถึงต้องศึกษาจากกองถ่ายด้วย เพราะบางคนเรียนแอ๊คติ้งมาเยอะ แต่พอมาเจอกองถ่ายจริงจะตื่นเต้น การออกกองจะช่วยเพิ่มประสบการณ์ได้อย่างเห็นผลชัดเจนครับ”

มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์

นอกจากทักษะการแสดง เรื่องยากในวงการบันเทิงคืออะไรคะ

“เนื่องจากการเป็นศิลปินซึ่งทำหน้าที่สร้างผลงาน เรื่องยากคือจะทำยังไงให้เราสามารถสร้างผลงานได้เรื่อยๆ แน่นอนว่าถ้ามีเงินทุนก็สามารถทำได้ ถ้าไม่มีก็ต้องรอโอกาส หรือต้องวิ่งหาโอกาส ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมพร้อมรับโอกาสอยู่เสมอ เพราะถ้าอยู่เฉยๆ คนที่มีความสามารถรุ่นใหม่ๆ ก็พร้อมจะเข้ามาเต็มไปหมด การอยู่นิ่งๆ จะเหมือนเราเดินถอยหลัง

“ผมไม่เคยกดดันเวลาที่มีคนใหม่ๆ ก้าวเข้ามา เพราะรู้ว่าเป็นจังหวะเวลาของเขา เราเองก็มีช่วงเวลาของเรา ทุกคนมีทางของตัวเอง สุดท้ายเราจะไปเบียดเส้นทางเพื่อแย่งงานเขามาก็ไม่ใช่ ผมไม่อยากไปแข่งขันกับใคร แค่อยากตั้งใจทำผลงานของตัวเอง เพราะผมก็มีเส้นทางที่ชัดเจนมากๆ”

เป็นที่มาของการเปิดสตูดิโอทำค่ายเพลงของตัวเองใช่ไหมคะ

“ใช่ครับ การร้องเพลงเป็นหนึ่งในงานที่ผมชอบ เพราะได้เล่าเรื่องตัวเอง คนรู้จักตัวตนเราผ่านบทเพลง สำหรับเรื่องเพลงผมใช้วิธีเรียนรู้จากคนที่ทำงานด้วยกัน ทั้งโปรดิวเซอร์ ศิลปินที่มาร่วมแจม และผู้กำกับ รวมถึงศึกษาจากงานของตัวเองด้วย พอจบงานแต่ละชิ้นจะมาดูว่าแฮ็ปปี้ไหม บกพร่องตรงไหน แล้วจะเอาไปพัฒนาในเพลงอื่นได้ยังไง”

ในฐานะเจ้าของค่ายเพลง สู้เพื่องานตัวเองขนาดไหนคะ

“ผมลงดีเทลทุกขั้นตอน ตั้งแต่เลือกว่าจะชวนใครมาเป็นโปรดิวเซอร์ ให้ใครทำดนตรี ใครแต่งเนื้อร้อง เลือกนักร้องที่จะมาฟีเจอริ่ง จากนั้นก็ลงคอนเซ็ปต์ว่าเป็นเพลงแนวไหน เล่าอะไร พอเขาแต่งเนื้อเสร็จ ผมก็ต้องเข้าไปดู ส่วนเรื่องดนตรี ก็ต้องฟังเดโม่เพื่อดูว่าใส่เครื่องดนตรีอะไรลงไปได้อีกบ้าง พออัดเสียงเสร็จ ก็ถึงตอนมิกซ์เพลง แล้วส่งมาสเตอร์เพลงให้ผู้กำกับไปทำเอ็มวี ร่วมคิดคอนเซ็ปต์ เลือกนักแสดง เสื้อผ้า ฉาก ต้องลงทุนเท่าไร ตอนถ่ายก็ต้องนั่งดูมอนิเตอร์ พอตัดต่อเสร็จก็ตรวจงาน บางครั้งเขาเล่าเรื่องไม่ถูกใจ ผมก็เรียงใหม่นะ พอตัดเสร็จ ก่อนจะปล่อยเพลงก็ต้องวางแผนพีอาร์ว่าปล่อยช่องทางไหนได้บ้าง ระยะเวลา ตอนไหนดี เป็นต้นครับ”

ขั้นตอนที่ยากของการทำงานเพลงคืออะไรคะ

“จุดที่พอดีในเพลงนั้นครับ เพราะไม่รู้ว่าเวอร์ชั่นนี้คือเพราะที่สุดแล้วหรือยัง เวลาฟังเพลงผมจะไม่ให้ทีมงานเรียงลำดับมาว่านี่คือเวอร์ชั่น 1 2 3 4 เพื่อไม่ให้เกิดอคติ บางเพลงฟังเป็นร้อยรอบ แล้วค่อยโหวตว่าชอบอันไหน ซึ่งบางครั้งอันที่เราชอบก็คือเวอร์ชั่นแรกนั่นแหละ”

ใช้พลังจากไหนมาทุ่มให้กับงานขนาดนี้คะ

“มันคือสิ่งที่ผมชอบ อยากทำ และต้องทำครับ เวลาทำงานผมทุ่มให้เต็มร้อย เคยรับงานหนักสุดคือ 11 ชิ้นต่อวัน ซึ่งไม่ดีนะครับ เพราะสุดท้ายโหมหนักไปจนต้องเข้าโรงพยาบาล ตอนหลังถ้ามีเวลาพักผ่อนก็พยายามพักให้เต็มร้อย อย่างตอนนี้ผมอยากทำงานวงการบันเทิงให้เต็มที่ ก็พักเรื่องการเรียนปริญญาเอก (สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ) ไว้ก่อน”

มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์

ถ้าให้เปรียบเทียบเส้นทางในวงการบันเทิง สำหรับมิวคือคำว่าอะไรคะ

“สีสันครับ วงการนี้มีทุกอย่างจริงๆ มีทั้งวันที่เราแฮ็ปปี้กับวันที่เจอเรื่องแย่ บางครั้งรู้สึกว่าเราตั้งใจสร้างผลงาน แต่ทำไมต้องถูกโจมตี สุดท้ายเราคงไปห้ามใจใครไม่ได้ ทำได้แค่ตั้งใจทำงานของตัวเอง ซึ่งที่จริงก็เพราะไม่รู้เหมือนกันว่าควรต้องทำยังไง (ยิ้ม) รู้แค่ว่าถ้าไปตอบโต้ก็ไม่จบ ควรตั้งใจทำงานดีกว่า”

หมายถึงคอมเมนต์ในโซเชียลด้วยใช่ไหม

“ครับ ผมเข้าไปอ่านบ้าง แล้วแต่เรื่อง บางทีบอกตัวเองว่าแค่เราแฮ็ปปี้กับตัวเองก็พอ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สนใจเลย เพราะบางอย่างที่คนชมเยอะก็เอาไปต่อยอดได้ ถ้าเรื่องไหนคนไม่ชอบก็พัฒนา รวมถึงใช้วิธีคุยกับคนใกล้ตัวด้วย แต่สุดท้ายผมใช้ความพึงพอใจของตัวเองเป็นหลัก เพราะเคยผ่านช่วงเวลาที่เอาใจ ไปไว้ที่คนอื่นเยอะจนสุดท้ายเป็นทุกข์”

เล่าให้ฟังได้ไหมคะ

“สมัยเด็กผมไม่มั่นใจเลย ไม่กล้าออกไปพูดหน้าชั้น ไม่กล้าจับไมค์ เพราะมือสั่น กลัวไปหมดว่าครูกับเพื่อนจะคิดยังไง ที่พูดออกไปจะดีหรือเปล่า แต่ไม่เคยเช็กตัวเองว่าเตรียมตัวมาดีพอไหม เต็มที่หรือยัง เพราะถ้าเต็มที่กับมันแล้ว เตรียมมาแค่ไหนก็ได้แค่นั้น ถ้าเราเต็มที่ พึงพอใจ ก็จบ

“ผมเริ่มมีความมั่นใจตอนที่ไปเรียนร้องเพลงครับ แม้ร้องได้ไม่ดีมาก แต่นี่คือตัวเรา คนอื่นจะมองยังไงก็ช่าง และได้คำตอบว่าซ้อมมาแค่ไหนก็ได้แค่นั้น ถ้าอยากเก่งกว่าเดิมก็ต้องฝึก ต้องพัฒนา ผมจึงฝึกร้องมาเรื่อยๆ จนความรู้สึกกลัวความคิดคนอื่นเริ่มหายไป

“เหมือนวันนี้ที่ก่อนทำงานผมจะให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวทำการบ้าน และถ้าทำเต็มที่ก็คือสบายใจแล้ว พอแล้ว ไม่ต้องเช็กฟีดแบ็กเยอะ เพราะแน่นอนว่าเมื่ออยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ย่อมต้องมีคำวิจารณ์ ยิ่งไปอ่านคอมเมนต์ตัวพิมพ์ เราไม่รู้ว่าอินเนอร์ขณะที่เขาพิมพ์จริงๆ คืออะไร เขาอาจจะพิมพ์ภาษาห้วน แต่ไม่ได้ตั้งใจให้ความหมายเป็นเหมือนที่เรารู้สึกว่าเขาเหน็บก็ได้”

เวลาเจอเรื่องดราม่ารับมืออย่างไร

“เวลาเจออะไรก็กระทบใจเป็นธรรมดา แต่ผมอาจจะเป็นคนแปลกนิดนึง (หัวเราะ) เวลาโกรธมากๆ ผมจะศึกษามัน คือยังไม่ปล่อยไป เป็นการศึกษาเพื่อไว้ใช้กับงาน พอต้องเล่นซีนที่มีอารมณ์โกรธ แค่นึกถึงเรื่องที่เคยรู้สึก อารมณ์ก็จะจุดติดเลย แต่สำหรับคนทั่วไปผมแนะนำว่าปล่อยไปดีกว่าครับ อย่าเก็บเอาไว้

“ผมโชคดีอย่างหนึ่งที่ทำงานด้านนี้ พอผู้กำกับสั่งคัตก็โยนอารมณ์ตรงนั้นทิ้งลงได้ ซึ่งกว่าจะโยนทิ้งได้มันก็ไม่ง่าย ต้องฝึกการทำสติมาก่อนด้วย ผมไม่ได้ศึกษาธรรมะ แต่ได้เรียนรู้เรื่องสติจากวิชาแอ๊คติ้งล้วนๆ มันคือการอยู่กับปัจจุบัน ต้องมีสมาธิอยู่กับบทบาทนั้น เช่น เวลาจะเข้าฉากเราต้องเชื่อมากๆ ว่าเป็นตัวละครตัวนั้น ต้องอยู่กับบท แล้วจินตนาการบรรยากาศขึ้นมา

“สำหรับเรื่องโซเชียล ผมว่าบางคนอาจจะอินกับโลกในนั้นมากจนลืมโลกข้างนอกที่เราได้พบปะกันจริงๆ การออกจากโซเชียลสำหรับผมง่ายมาก แค่ปิดมือถือ ปิดอินเทอร์เน็ต ไปเล่นกับหมา อ่านหนังสือ ก็คือไม่เห็นแล้ว ผมไม่ได้ท้อแบบเครียดหนัก เพราะรู้สึกว่าทำงานนี้แล้วมีความสุข ขณะที่คนอื่นอาจจะมีมุมมองที่ต่างออกไป แค่มายด์เซตไม่ตรงกัน เรื่องพวกนั้นจึงไม่ได้บั่นทอนมากนัก”

ครอบครัวให้กำลังใจอย่างไรบ้าง

“ที่จริงผมนี่แหละต้องคอยซัพพอร์ตเขา (หัวเราะ) เผลอๆ เขาน่าจะหนักกว่าผมอีกครับ เพราะผมโยนทิ้งได้ แต่สำหรับพ่อแม่คงไม่ง่าย ก็ต้องให้กำลังใจกันว่าผมไม่เป็นอะไรครับ ผมไหว”

เป้าหมายและความฝันของมิวคืออะไรคะ

“เป้าหมายของผมตอนนี้คือทุ่มเทให้ซีรี่ส์และงานเพลงครับ ปีนี้ผมจะมีซีรี่ส์ออนแอร์และมีถ่ายอีก 2 เรื่อง รวมทั้งทำอัลบั้มตัวเอง มีทั้งหมด 10 เพลง ซึ่งจะมีซิงเกิ้ลที่ผมแต่งเองด้วย และอาจมีงานคอนเสิร์ต

“ส่วนความฝัน ผมอยากเล่นภาพยนตร์จังเลย (ยิ้ม) ฝากข่าวผ่าน แพรว ด้วยนะครับ ผมเต็มที่แน่นอน บทแปลกแหวกแนวมาได้หมด เพราะผมดูหนังเยอะ และได้อะไรจากหนังเยอะ จนอยากจะเป็นคนที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านหนังบ้าง”

ถึงวันนี้ให้คะแนนความพยายามและการต่อสู้ของตัวเองไว้ที่เท่าไรคะ

“มองกลับไป ผมเคยผ่านจุดที่ ‘ไม่มั่นใจ’ กับ ‘รอเวลา’ มาแล้ว ผมรู้สึกว่าการเสียโอกาสไปมันน่าเสียใจมากกว่าการที่เราทำแล้วคนอื่นไม่สนใจ จึงพยายามทำเต็มที่ทั้งกายและใจแบบสุดๆ บอกเลยว่าถ้าให้คะแนนตัวเองเต็ม 10 ในทุกๆ เรื่องเลยครับ” (ยิ้ม)

MEW’S MINDSET

  • ก่อนโทษคนอื่นให้มองดูข้อผิดพลาดของตัวเอง
  • ทำการบ้านให้หนัก ยิ่งทำได้ละเอียด งานจะยิ่งออกมาดี
  • เมื่อทุกข์ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน
  • อย่าเอาใจไปไว้ที่คนอื่นมากนัก
  • ทำในสิ่งที่ชอบ แม้ผลลัพธ์อาจจะยังไม่ดี แต่จะมีหนทางให้พัฒนาต่อได้

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 970

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

อมตะ จิตตะเสนีย์ “แพรี่พาย วันนี้ไม่ต้องดังระดับโลก แต่ขอเป็นแพรี่พายที่ใจดีขึ้น”

ตัวตนลึกๆ ที่ไม่ค่อยมีใครรู้ของ “ก๊อต จิรายุ ตันตระกูล” #สามีแห่งชาติ คนล่าสุด

กว่าจะเป็น #ลูกสาวแห่งชาติ “แอลลี่ อชิรญา” เคยกดดัน ไม่มั่นใจ ท้อจนเกือบถอย

Praew Recommend

keyboard_arrow_up