แพรี่พาย

อมตะ จิตตะเสนีย์ “แพรี่พาย วันนี้ไม่ต้องดังระดับโลก แต่ขอเป็นแพรี่พายที่ใจดีขึ้น”

account_circle
แพรี่พาย
แพรี่พาย

ก่อนหน้านี้ชื่อ “แพรี่พาย” เจิดจรัสอยู่ในวงการบิวตี้ แฟชั่น แต่แล้ววันหนึ่ง เธอตัดสินใจก้าวออกจากสิ่งคุ้นชินที่ทำรายได้มหาศาลสู่การทำค่ายเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เธอบอกกับเราว่า แพรี่พายในวันนี้ไม่จำเป็นต้องดังระดับโลก แต่ขอเป็นแพรี่พายที่ใจดีมากขึ้นและค้นพบความสุขในแบบตัวเอง

อมตะ จิตตะเสนีย์ “แพรี่พายวันนี้ไม่ต้องดังระดับโลก แต่ขอเป็นแพรี่พายที่ใจดีขึ้น”

ล่าความท้าทายสำหรับการใช้ชีวิตในมุมใหม่ให้ฟังหน่อยสิคะ
“อย่างแรกการที่เคยใช้ชีวิตสุขสบาย อยู่ในสังคมเมือง ทำให้ไม่คุ้นชินกับความยากลำบากในการอยู่แต่ละพื้นที่หรือชุมชน ยิ่งช่วงพีคๆของแพรี่พายสมัยก่อนที่ได้รับเชิญไปต่างประเทศ  ต้องนั่งเฟิร์สต์คลาส  ดื่มแชมเปญ  นอนห้องหรูวิวอลังการมีคนขับรถพาไปนู่นนี่ มีคนช่วยถือของ มาตอนนี้ที่แพรได้ลองไปใช้ชีวิตที่เชียงดาว อาบน้ำแบบใช้ขันตัก  อากาศดี แต่มีความชื้นเยอะ ยุงก็ชุม เจอแมงมุมก็กลัว เวลาหนาวก็หนาวจัด แต่พอถึงฤดูร้อนก็ถึงขั้นไม่มีน้ำใช้ ต้องคิดว่าน้ำขันเดียวจะใช้แปรงฟัน ล้างหน้าอย่างไร ขณะที่ถ้าอยู่กรุงเทพฯอาบน้ำคราวละครึ่งชั่วโมง นี่คือความลำบากในเรื่องความเป็นอยู่ ส่วนเรื่องกินโอเคเลยค่ะ แพรสนุกที่จะได้ลิ้มรสอาหารแต่ละประเภท แต่ละฤดูกาลอยู่แล้ว

“อีกความท้าทายคือการรอคอย ถ้าวันนี้ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ กว่าจะได้กินต้องใส่ใจรดน้ำพรวนดิน ไม่ใช่หว่านปุ๊บได้ดังใจเลย ระหว่างรอก็จะมีหนอนมากินมีปัญหานู่นนี่ ซึ่งยอมรับว่าแพรเองยังไม่มีสมาธิที่จะมารออะไรแบบนี้ ด้วยชีวิตที่เคยอยู่กับความเร็ว ขณะเดียวกันก็เข้าใจคนอื่นที่เคยชินกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ การที่เรานำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาในชุมชนบางครั้งอาจเป็นอะไรที่ย่อยยาก มีเมสเสจออกไปคนดูก็จะตื่นเต้น แต่พอขาดช่วงคนดูก็จะไม่สนใจเลยเพราะเขาขี้เกียจรอ แล้วก็มีเมสเสจใหม่ๆที่เบนความสนใจเข้ามาตลอด

“เมื่อก่อนแพรโพสต์รูปในอินสตาแกรม (@pearypie) ได้ไลค์หกหมื่น ตอนนี้เหลือแปดพันก็ถือว่าเยอะแล้ว อย่างโพสต์วิธีทำกาวมะขาม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาสำหรับใช้ทำผนังวัด ต้องแกะเม็ดมะขามมาคั่วบดแล้วกวนจนหน้าดำ ถ่ายคลิปตัดวิดีโอเลือกรูปเขียนแคปชั่นแทบตาย ยอดไลค์สามพัน ไม่มีคอมเมนต์ด้วย (หัวเราะ) แต่ไม่กระทบกับความรู้สึกของแพรนะ แพรภูมิใจกับทุกโพสต์ อินสตาแกรมเรายังสวย (หัวเราะ) ถ้าใครเข้าไปดูจะเห็นเป็นเนื้อหาความรู้หมดเลย

“แพรเชื่อในเรื่องผีเสื้อกระพือปีกที่จะส่งแรงกระเพื่อมได้ อาจมีกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของสิ่งที่แพรตั้งใจทำ  สมมติจากเต็มร้อย แพรขอแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ก็พอ

“สิ่งที่ทำให้แพรสตรอง ไม่หวั่นไหวกับยอดไลค์ คือความสุขแท้จริงที่แพรได้ค้นพบ ซึ่งเมื่อก่อนแพรมีความสุขแบบฉาบฉวย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชื่อเสียงที่คนอื่นตั้งให้ เรื่องเงิน พวกเปลือกข้างนอก วันนี้แพรมีความสุขได้ง่ายๆแบบไม่ต้องไขว่คว้าอะไรมาก และได้เพื่อนเยอะขึ้นทั่วประเทศ สมมติไม่มีเงินเลย แพรก็อยู่ได้ในทุกที่ ช่วยชาวบ้านทำความสะอาดบ้าน กินอยู่ง่าย ตอนแรกทุกคนที่บ้านไม่เชื่อว่าแพรจะอยู่ได้ ตอนนี้กลายเป็นว่าเอาไปเลยรางวัลใช้น้ำน้อยสุดในบ้าน” (หัวเราะ)

กำลังจะถามว่าที่บ้านเข้าใจไหมคะ


“แม่พูดกับเพื่อนๆว่าชอบแพรแบบเก่ามากกว่า แบบนี้ไม่เห็นสวยแต่แพรว่าแบบนี้ก็สวยในอีกแบบนะคะ แม่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำแบบนี้เหนื่อย ไม่เห็นได้เงินเลย คือทำค่ายทุ่มเทปาดเหงื่อแบกของได้เงินห้าพัน ทั้งที่เมื่อก่อนรีวิวสินค้าได้สองแสน ตัวเงินห่างกันลิบลับ แต่แพรรู้สึกว่าเงินห้าพันที่ได้ เราได้ช่วยกระจายให้ชุมชนด้วย ให้เขาได้มีทุนทำอะไรต่อ มีค่าเทอมส่งลูก ให้เขาได้มีกิน อย่างน้อยให้เขาไม่ต้องไปเผาป่า ใครไม่เข้าใจไม่เป็นไร แต่แพรแฮ็ปปี้ที่ได้ทำแบบนี้ ส่วนแม่ก็ต้องให้เวลาเขาหน่อย” (ยิ้ม)

แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เป็นแพรี่พายในวันนี้คะ


“แพรว่าตัวเองไหลตามน้ำไปหลายปี อยากเป็นเมคอัพอาร์ติสต์ อยากทำงานแบ็กสเตจก็ได้ทำ มีคนชื่นชม อารมณ์เหมือนดาราดังที่มีคนทำอะไรให้ตลอดเวลาไปงานมีการ์ดคอยมากัน มีแฟนคลับยืนถือป้ายไฟรอ มีครั้งหนึ่งเป็นงานอีเว้นต์เครื่องสำอางที่ญี่ปุ่น ทั้งเอเชียเขาเลือกแพรไปร่วมงาน ตอนนั้นรู้สึกเทพมาก ในงานมีบล็อกเกอร์จากหลายประเทศ เดินไปไหนมีแต่คนเข้ามาชม รู้สึกพราวด์มาก แต่เป็นความพราวด์ที่มีอีโก้

“กระทั่งครั้งหนึ่งแพรไปงานอีเว้นต์ที่แอลเอ ทุกคนถือมือถือเข้ามาไลฟ์ชื่นชมให้เราทักทายแฟนคลับ ต่อแถวมาถ่ายรูป แต่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ที่เป็นคนจริงๆ นั่นเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้แพรคิดถึงอะไรที่ธรรมดาและเรียบง่าย บวกกับปัญหาที่มีเข้ามาหลากหลาย อย่างเรื่องงานที่หลายคนต้องการจากแพรเยอะเกินไป ซึ่งเราเข้าใจว่า ทุกคนต้องการสร้างยอดขาย แต่หลายครั้งที่เราถูกหักเรื่องความคิดสร้างสรรค์ไปเยอะและมีปัจจัยเรื่องเงินเข้ามา ปกติแพรจะตื่นเต้นและมีเอเนอร์จี้กับทุกงานที่เข้ามา สมมติเขาอยากขายลิปสติกสีนี้ แพรก็มีไอเดียคิดกลับให้ทันที ซึ่งลูกค้าชอบเลยนะ แต่ขอกลับไปถามเจ้านายก่อน สุดท้ายเราก็ต้องรอไปจนเหงือกแห้ง (หัวเราะ) ไฟมอด พอโปรเจ็กต์วนกลับมาเราก็ไม่เอนจอยที่จะทำแล้ว จนแพรรู้สึกว่าตัวตนหายไป จึงเริ่มถามตัวเองว่าเป้าหมายเราคืออะไร ชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร

 

“วันหนึ่งตกตะกอนความคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นสิ่งที่เรานำมาสวมใส่คล้ายหัวโขน แพรต้องสวยงาม มีเมคอัพ คนถึงจะชอบ ต้องแต่งตัวเยอะคนถึงจะจำ คนส่วนมากที่เข้ามาเป็นเรื่องของธุรกิจ น้องแฟนคลับกลุ่มที่ชอบแพรจริง ๆ กลับไม่กล้าเข้ามาคุย ซึ่งเมื่อก่อนการที่เราอยู่กับความเป็นแพรี่พายตรงนั้นทำให้มองข้ามบางอย่างไป  พอได้มีสติจริง ๆ ก็เข้าใจทันที อารมณ์เหมือนตาที่ปิดอยู่ถูกเปิดออก ตอนแรกก็มีเป๋นะ จนได้มารู้จักกับผ้าไทย ทั้งที่ไม่เคยสนใจมาก่อน”

ไม่ได้รู้สึกว่าสวยหรือเข้าใจ เพราะเขาไม่ได้พูดถึงเรื่องราวของผ้า แล้วเราก็เป็นเด็กที่อยู่กับความทันสมัย ต้องแต่งตัวตามแฟชั่นนิยม พอดีมีวันหนึ่งว่าง ไม่รู้จะทำอะไร เกิดความคิดอยากไปดูผ้าตามจังหวัดต่างๆ ก็ชวนคนขับรถไป  จังหวัดแรกคือขอนแก่น ไปถึงเห็นแม่ๆกำลังสาวไหมอยู่ ก็บุกเข้าไปโดยที่ไม่ได้นัดหมาย (หัวเราะ) ถามนู่นนี่ว่ากว่าจะเป็นผ้าหนึ่งผืนทำอย่างไร ระหว่างที่เขาโชว์ผ้าให้ดูก็สะดุดกับผ้าสีเทาราคาสามหมื่น จึงใช้ความเป็นแพรี่พายแต่งหน้าให้ เผื่อได้ลดราคา ซึ่งเขาไม่ลดให้อยู่แล้ว (หัวเราะ) แม่ๆเขาไม่รู้จักแพรี่พาย เราแต่งหน้าให้เสร็จเขาก็ชอบ จูงมือพาไปดูบ้านอื่นๆแล้วชวนกินข้าวเย็น นอกจากความเป็นเด็กแก่น แพรก็มีความเป็นเด็กอ้วนที่อยากลองชิมนั่นชิมนี่ เขาก็เอ็นดู

“ผ้าไทยผืนสีเทาวันนั้น แพรใช้ตัดเป็นสูทไปงานแฟชั่นโชว์ดิออร์ที่ฝรั่งเศส พอมีคนมาชมชุด เราพูดได้เป็นเรื่องราวว่านี่คือผ้าไทยที่ทำจากสีเปลือกไม้ธรรมชาติจากกลุ่มชาวบ้านในประเทศไทย กลายเป็นเรามีเรื่องคุยกับคนอื่น ส่งต่อข้อมูลเรื่องราวดีๆที่ได้รับ

“พอเริ่มอินก็ทำให้อยากรู้ต่อว่าผ้าไทยในจังหวัดอื่นเป็นอย่างไร อยากเห็นผ้าในหลายพื้นที่ ซึ่งการได้ลงไปชุมชนต่าง ๆทำให้ได้เห็นความน่ารักของชาวบ้านซึ่งมีองค์ความรู้ แล้วยังได้เห็นความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน บ้านนั้นเลี้ยงไหม บ้านนี้ปลูกหม่อน บ้านโน้นทำสีธรรมชาติ อีกบ้านทำหน้าที่ทอ ที่สำคัญเขารักในสิ่งที่ทำและไม่ต้องการอะไรที่เยอะเว่อร์วัง อยู่กันแบบเรียบง่ายแต่มีความสุข ชวนกันมากินข้าว กับข้าวไม่มีอะไรมาก แต่ทุกคนหัวเราะยิ้มแซวกันไปมา ฉันมีอันนี้ ฉันแบ่งให้เธอ เต็มไปด้วยความรู้สึกที่อยากจะให้ ความรัก ความเมตตา เป็นอะไรทดีต่อใจ ดีต่อร่างกาย ดีต่อคนที่อยู่ด้วย ไม่ได้ปรุงแต่ง เป็นความจริงใจที่เราหาได้ยากจากในเมือง ซึ่งการที่ได้อยู่กับกลุ่มคนเหล่านี้ทำให้แพรรู้สึกว่าหัวใจตัวเอง

เริ่มกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
“นอกจากนี้แพรยังได้เชื่อมโยงกับรากเหง้าจริง ๆ นอกจากวัฒนธรรมในเรื่งของผ้าไทย การใช้สีธรรมชาติ การทอ การใช้ลวดลาย ก็มีเรื่องของสมุนไพรการดูอแลป่า อย่างที่บุรีรัมย์นำดินมาย้อมผ้า เขาจะรู้ว่าระบบนิเวศเป็นอย่างไร ทำไมนำมาใช้ได้แค่นี้ เขาให้ความเคารพกับสถานที่ที่เขาอยู่ เพราะนี่คือบ้านของเขาที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อม  อยู่กันอย่างเป็นระบบพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือกัน”

จากความอยากรู้เรื่องผ้าต่อยอดสู่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไรคะ

“ช่วงที่ทำผ้าไทยยังไม่ค่อยแน่ใจว่าเราอยากแต่งหน้าต่อไหม ซึ่งในจังหวะนั้นได้เรียนรู้เรื่องสีจากธรรมชาติไปด้วย  เรื่องผ้าทำให้แพรได้สัมผัสกับวิถีชุมชนระดับหนึ่งแต่ความเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติไม่มีเลย โชคดีที่รู้จักกับพี่มล (จิราวรรณ  คำซาว) ซึ่งแพรยกให้เขาเป็นครู อยู่ที่เชียงดาวที่แพรไปทำค่าย ทำการเกษตรด้วย เรารู้จักกันผ่านอินสตาแกรม แพรมีเพื่อนในอินเตอร์เน็ตเยอะ เพราะแพรโตมากับโลกนี้ พี่มล เป็นนักวิจัย เกษตรกร และเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย ทำเรื่องจุลินทรีย์ คลุกคลีกับเรื่องสีดิน เขาต้องการคนช่วยพัฒนาเรื่องสีธรรมชาติ พอได้คุยกันแล้วคลิกเลย
ปัจจุบันเรียกได้ว่าพี่มลเป็น Partner For Life

“ตอนที่แพรขึ้นไปหาพี่มลครั้งแรกที่เชียงดาวเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว เขาพาแพรไปเดินป่าชุมชน ตอนนั้นตื่นเต้นมาก ทุกอย่างสีเขียว อากาศสดชื่น น้องๆ ในชุมชนพาไปเก็บถั่วลายเสือ  ดึงฝักออกจากดินแล้วไปล้างน้ำที่ลำธาร  แกะกินสดๆ รู้สึกประหลาดใจมาก ถั่วอะไร ทำไมอร่อยแบบนี้ ปกติกินถั่วลิสงฉีกซอง (หัวเราะ) อย่างข้าวโพดก็หวานมาก ดึงออกมาจากฝักสดๆ อร่อยที่สุดในชีวิต เรียกว่าที่นั่นแพรได้เห็นอะไรหลายอย่าง ตอนหลังพอมีโอกาสเดินป่าทุกฤดูกาลทำให้เห็นความสวยงามที่ยิ่งใหญ่ ครั้งแรกไปหน้าหนาวจะมีน้ำ ครั้งต่อมาได้เข้าไปในช่วงไฟป่า จากป่าที่อุดมสมบูรณ์ไหม้หมดเลย แล้วก็ได้เข้าป่าช่วงหน้าฝน น้ำป่าหลาก มันคือความเจ๋งมากว่าต้นไม้ต้นเดิมเขาอยู่กับความเปลี่ยนแปลงมาแล้วทุกแบบ พอได้กลับมาคิดทบทวนกับตัวเอง บางทีสุดท้ายเราก็อาจเป็นต้นไม้ต้นหนึ่งในป่าก็ได้นะ ที่ได้เจอเรื่องราวในชีวิตหลายแบบ แต่เราจะยืนหนึ่งได้ยังไงไม่ให้ล้มตายไป

“ในระบบนิเวศ ต้นไม้ทุกชนิดตั้งแต่สกุลที่เล็กมาก เป็นรา เห็ด หรือ แม้แต่สัตว์เล็กๆจนถึงใหญ่ ล้วนมีหน้าที่เป็นของตัวเองและอยู่กันแบบปรองดอง อย่างฉันเป็นรา ฉันขออยู่ด้วยนะ จะช่วยย่อยอาหารตรงนี้เพื่อที่เธอจะได้ดูดอาหารง่ายเป็นระบบที่น่ารัก ซึ่งตรงกับจุดหนึ่งที่แพรชอบมากคือการทำงานในชุมชน พี่มลสอนให้แพรได้เห็นถึงการช่วยเหลือพึ่งพากันฉันมิตร และถ้าชุมชนแข็งแรง มีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรก็ไม่สามารถทำลายเขาได้ เขาสามารถปลูกเองอยู่ได้ด้วยตัวเอง เป็นอะไรที่เจ๋งมาก  ทำให้แพรเริ่มทำค่ายธรรมชาติเพื่อให้คนได้มาสัมผัส มาอยู่กับตัวเองในแบบที่แพรเคยสัมผัสมา โดยผ่านกระบวนการที่เป็นศิลปะ”

ค่ายธรรมชาติในแบบแพรี่พายเป็นแบบไหนคะ


“ความที่เราไม่อยากทิ้งรากเหง้าของแพรี่พายที่มาจากสายศิลปะ จึงนำมาปรับเข้ากับสิ่งที่เราชอบ โดยปัจจุบันไม่ได้เน้นกับการที่ฉันจะต้องเป็นแพรี่พายที่ดังระดับโล แต่เป็นแพรี่พายที่ใจดีมากขึ้น ค่ายหรือเวิร์คชอปไม่ได้เน้นว่าจะต้อง
ได้เงิน แต่เน้นส่งต่อองค์ความรู้ทางด้านระบบนิเวศ ชุมชน สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาต่างๆที่ได้ไปเรียนมาหลายที่

“อย่างค่ายธรรมชาติที่ทำกับพี่มลจัดอยู่ที่เชียงดาวใช้ชื่อว่า Chiang Dao Classroom ซึ่งก่อนที่แพรจะเข้ามาแจมด้วย เขาทำค่ายกันมาหลายปีแล้ว นำเด็กๆและพ่อแม่มาอยู่ด้วยกัน เรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ เดินป่า เวิร์คชอปทำของต่างๆ
จากธรรมชาติ พอแพรเข้ามาร่วมทำงานก็นำความเป็นศิลปะผ่านสีธรรมชาติมาใช้ซึ่งการจัดค่ายแต่ละครั้งเราไม่ได้กำหนดเวลาแน่นอนด้วยสถานการณ์ในตอนนี้ แต่เราตั้งใจจัดในทุกฤดู โดยออกแบบค่ายให้เข้ากับทุกฤดูกาล อย่างต้นเดือนเมษายนที่เพิ่งจบค่ายไปพูดถึงเรื่องน้ำผึ้งเดือนห้าและผลผลิตต่างๆที่ออกมาในช่วงฤดูร้อนวิธีเก็บอย่างไรเพื่อไม่ไปทำลายระบบนิเวศ ซึ่งเราเชิญคุณตาคุณยายในชุมชนที่มีภูมิปัญญาแท้จริงมาส่งต่อความรู้ในการสกัดขี้ผึ้งบริสุทธิ์100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแพรสอนเรื่องนำดอกไม้ฤดูร้อนมาสกัดเป็นสีวาดรูป ส่วนในฤดูฝนที่ระบบนิเวศในป่าสมบูรณ์ครบจะเริ่มในช่วงเดือนสิงหาคม ส่วนฤดูหนาวก็อาจจะมีการเกี่ยวข้าว

“ส่วนค่ายของแพรเองใช้ชื่อว่า Pearypie Smiley Camp เป็นการนำกระบวนการศิลปะและองค์ความรู้ที่แพรเรียนมาส่งต่อ ซึ่งจะเน้นเรื่องสีสันและวัฒนธรรมเป็นหลัก เช่น การย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ การสกัดสีจากน้ำดอกไม้ จุดเริ่มมาจากแพรถามตัวเองว่านอกจากสกิลด้านการแต่งหน้าแล้วเราถนัดอะไรบ้างก็ต้องขอบคุณโควิดในช่วงปีที่แล้วที่ทำให้มีเวลาลองเปิดห้องทดลองย้อมสีธรรมชาติเองที่บ้าน หยิบขยะที่เหลือใช้จากในครัวอย่างผักผลไม้หรือดอกดาวเรืองที่ทิ้งตามวัดมาย้อมผ้า

“พอคลายล็อกดาวน์จากโควิดรอบแรกที่คนเริ่มออกมาจากบ้าน จึงได้เริ่ม Pearypie Smiley Camp จริงจัง พร้อมกับเป็นพาร์ตเนอร์กับมูลนิธิสติ จัดเวิร์คชอปทุกสัปดาห์ รวมถึงองค์กรต่างๆอีก อย่างค่ายที่เชียงดาว เป็นต้น

“แพรตั้งใจพาเวิร์คชอป Pearypie Smiley Camp ไปทั่วประเทศ เพื่อให้คนได้เข้ามาซึมซับวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นทั่วไทย เป็นแรงบันดาลใจจากเมื่อสามปี ที่แล้วที่แพรไปสุรินทร์แล้วได้เรียนย้อมผ้ากับอาจารย์สุรโชติ  ตามเจริญ  ตอนนั้นชวนเพื่อนๆ แม่ และน้าไปด้วย ทำให้ได้เห็นเลยว่าคนทุกวัยสามารถที่จะมาเรียนรู้ได้และคงดีไม่น้อยที่จะเปิดโอกาสให้คนอื่นๆสามารถมาลงพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไปด้วยกัน

“ตอนนี้เพื่อนสนิทในแก๊งไปเดินป่ากันหมดแล้วค่ะ หมูอายแวร์ก็ไปนะ แต่ต้องเคลียร์ป่าให้หน่อย (หัวเราะ) ไม่งั้นจะตกใจแมลง หรือเพื่อนแก๊งที่เป็นดีไซเนอร์ไปถึงวันแรกเจอน้ำหลากเลย ตอนแรกยืนกันสวยๆโพสท่าถ่ายรูป สุดท้ายตัวเปียก กล้องพัง แต่ทุกคนสนุก เพราะได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเจอ แพรได้พาพวกเขาไปรู้จักกับผ้าชุมชน สีย้อมจากธรรมชาติ สุดท้ายทุกคนเข้าใจและซัพพอร์ตในสิ่งที่แพรทำ

“การจัดค่ายแต่ละครั้งเป็นการทำงานร่วมกับชุมชน เราจะไปตามหาว่าบ้านไหนมีองค์ความรู้ ภูมิปัญญาเรื่องอะไรบ้าง  แล้วกระจายรายได้ให้เข้าสู่ชุมชน ซึ่งค่ายเราไม่ได้คิดราคาแพง ไม่ได้ทำในเชิงพาณิชย์จริงจัง เพราะอยากให้คนส่วนมากเข้าถึงได้ตามจุดประสงค์ที่อยากส่งต่อแนวคิดเรื่องชุมชน  การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
ชาวบ้านที่มาช่วยจะได้เงินตามจำนวนที่เหมาะสม แม้ไม่มาก แต่ก็ดีกว่าการที่เขาไปเผาป่า เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ความยากจน ความเลื่อมล้ำล้วนมาจากปัญหาเรื่องปากท้องของชาวบ้านทั้งนั้น

“ใครสนใจทั้ง Chiang Dao Classroom และ Pearypie Smiley Camp ติดตามได้ที่อินสตาแกรมและเฟซบุ๊กแพรนะคะ สิ่งที่แพรตั้งใจคือให้คนได้กลับมาสื่อสารกับตัวเอง สื่อสารกับธรรมชาติ และส่งต่อแนวคิดเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมออกไป

“ยังจำวันที่จบค่ายครั้งแรกได้ดี แพรได้เห็นทุกคนมีความสุข ยิ้มให้กัน กอดกัน บางคนตื้นตันจนน้ำตาไหล แพรรู้ได้เลยว่านี่คือความสุขจริงๆ เป็นความอิ่มใจ ไม่ต้องมีเงินเป็นล้าน แต่เราก็เผื่อแผ่ความรู้สึกจากใจให้กันและกันได้ แพร
ขอเป็นหยดน้ำเล็กๆที่ส่งต่อพลังงานดีๆให้ทุกคน

“วันนี้ถ้าไม่ได้มีนัดสัมภาษณ์แพรก็คงไม่แต่งหน้า (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้ใช้แชมพูมะกรูดสระผม แพรหันมาใส่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้มาจากไหน เป็นเมื่อก่อนแพรจะมีสเต็ปครีมไล่ตั้งแต่หนึ่งถึงสิบอย่าง แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าถ้าเราหันมาใส่ใจเรื่องการกินเช่น ถ้าลดการกินมัน หน้าก็ไม่มัน ไม่เห็นต้องใช้อะไรที่ดูดความมัน หันมากินผักผลไม้ก็ไม่ต้องกินวิตามินเยอะๆให้เสี่ยงกับโรคไต

“ในอนาคตอีกสิบปี เพื่อนแพรหรือคนที่อายุใกล้เคียงกัน ร่างกายเขาอาจจะไม่ได้แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน ตอนนั้นเขาจะตระหนักว่าสิ่งที่แพรกำลังทำอยู่มันดีนะส่วนแพรอาจจะเป็นคนที่สามารถให้คำปรึกษาได้ ซึ่งตอนนี้แพรกำลังสั่งสมประสบการณ์อยู่

“แพรเลือกแล้วว่าความสุขของแพรจะต้องมีประโยชน์กับตัวเองและคนอื่นด้วย”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 970

Praew Recommend

keyboard_arrow_up