หน้ากากอนามัย

“หมอเอ้ก” แจง หน้ากากอนามัย ต้องใส่ทุกคนไหม และหน้ากากผ้าป้องกันได้หรือไม่

Alternative Textaccount_circle
หน้ากากอนามัย
หน้ากากอนามัย

“หมอเอ้ก” แจง 2 ประเด็น เรื่อง หน้ากากอนามัย ต้องใส่ทุกคนไหม และหน้ากากผ้าป้องกันได้หรือไม่

ช่วงนี้ประเด็นที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ คงหนีไม่พ้นเรื่อง หน้ากากอนามัย ที่บ้านเราใส่เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ และไวรัสโควิด-19 (COVID-19 ) แต่ก็อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า ตอนนี้หน้ากากอนามัย ทั้งขาดตลาด หายาก แพงหูฉี่ แถมเสี่ยงโดนของปลอมใช้ซ้ำ และไม่ได้คุณภาพไปอีก และถึงอย่างงั้น ทุกคนก็พยายามไปเสาะหามาเพื่อใส่ป้องกัน แต่เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีหลายคนแชร์ข่าวจากต่างประเทศว่า จริงๆ แล้ว หน้ากากอนามัย ไม่จำเป็นต้องใส่ ที่จำเป็นควรล้างมือให้สะอาดตลอดเวลาจะดีกว่านั้น ทาง หมอเอ้ก คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ได้ชี้แจง 2 ประเด็นที่เกี่ยวกับ หน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้า ไว้ผ่านทางเฟสบุ๊คส่วนตัว โดยเริ่มจากประเด็นแรก ก็คือ

หน้ากากอนามัย

หน้ากากอนามัย ต้องใส่ทุกคนหรือไม่ ? 

โดยหมอเอ้ก ได้ชี้แจงไว้ว่า หลังจากที่ผมเเชร์บทความของ Forbes เกี่ยวกับเรื่องความจำเป็นในการใส่หน้ากากในเฟสส่วนตัวและมีคนถามมาหลังไมค์เยอะมาก รวมถึงนำไปแชร์ต่อ จึงอยากมาเเชร์ในเพจเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันครับ

ขออนุญาตนำเรียนอย่างนี้ครับ เชื้อนี้ แพร่กระจายผ่านทาง droplet (ฝอยละออง) ในระยะประมาณ 3 ฟุต ไม่ได้แพร่แบบ Airborne เหมือนโรคหัด ดังนั้น การที่ใส่หน้ากากเพื่อที่จะหวังว่าจะกรองเชื้อในอากาศระหว่างเดินไปมา จึงไม่จำเป็น

ยิ่งเป็นหน้ากากอนามัยแบบที่หากันอยู่ที่เป็นแบบ Flat Surgical Mask ตอนใส่ ยังไงอากาศก็เข้ามาทางข้างๆ อยู่ดี จึงกันได้เฉพาะถ้ามีคนมาไอหรือจามในระยะประชิด แล้วสารคัดหลั่งนั้นจะกระเด็นเข้าใส่หน้าเรา

ดังนั้น หน้ากากเหล่านี้นั้น จึงแนะนำให้ใส่ในบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคคลที่ต้องดูแลผู้ที่ป่วยหรือมีความเสี่ยง ในระยะใกล้ๆ หรือผู้ที่มีอาการเพื่อไม่ให้ไปไอจามใส่คนอื่น

นอกจากนี้ใน Article นี้ ยังบอกด้วยว่าการใส่แล้วไม่ระวังตัว ระหว่างใส่-ถอด มือของเราที่ไม่ได้ล้างแล้วไปสัมผัสสิ่งของต่างๆ มา อาจจะนำเชื้อมาติดด้วยซ้ำ

สิ่งสำคัญที่สุดคือการล้างมือบ่อยๆ ขออนุญาตลองรบกวนจินตนาการตามนะครับ วันๆ หนึ่งที่เราออกจากบ้านไป เราจะไปซื้อกาแฟ เดินผลักประตูเข้าไป (คิดว่าประตูตรงนั้นมีคนกี่คนจับมาแล้วครับ) เราเดินไปที่เคาน์เตอร์ มือเท้าเคาน์เตอร์เพื่อสั่งกาแฟ(เคาน์เตอร์นั้นก็อาจจะผ่านมือคนมาหลายร้อยพันคนแล้วครับ) พอสั่งซื้อเสร็จเราให้เงินพนักงานขาย พนักงานขายก็ให้เงินทอน(เงินทอนนั้นก็ผ่านมือมาไม่รู้กี่มือแล้วเช่นกัน) นี่แค่กิจวัตรเดียวนะครับ ยังไม่รวมโดยสารโดยรถไฟฟ้า นั่งรถแท๊กซี่ กดลิฟท์ ฯลฯ จะเห็นได้ว่า Scale ของการแพร่กระจายแบบ Contact นั้นมากกว่าไปโดนคนไอจามใส่มากๆ ครับ

ผมพยายามเต็มที่แล้วที่จะช่วยทำความเข้าเกี่ยวกับตัวโรค รวมถึงวิธีป้องกันตัวเอง ตลอดจนนำเสนอนโยบายในเรื่องของหน้ากาก แต่เสียงผมดังไม่พอครับ ก็ต้องฝากทุกๆ คนช่วยกันด้วยนะครับ

หลายๆ คนอาจจะคิดว่า เราอาจจะใส่เป็นแฟชั่นหรือเพื่อความสบายใจก็ได้ เพราะไม่ได้เสียหายอะไร ถึงแม้ราคาจะขึ้นเป็นสิบๆ บาท ก็ถือว่าถูกมาก ก็ต้องกราบเรียนอย่างนี้ครับว่า ทรัพยากรนั้นมีจำกัด หน้ากากก็เช่นเดียวกัน ตอนนี้มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่เขาจำเป็นต้องใช้แต่ใกล้จะไม่มีใช้แล้ว ตอนนี้หลายๆ รพ.เริ่มขาดแคลนกันแล้วครับ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตอนนี้ ซึ่งก็คือทหาร ที่สู้รบอยู่ในแนวหน้า ก็จะไม่มีใช้

และแน่นอนครับ เมื่อทหารแนวหน้าบาดเจ็บล้มตายแล้วเมื่อไร ผลร้ายสุดท้ายก็จะตกอยู่ที่ประชาชนที่เหลือ แล้วคราวนี้ จะเหลือใครไปช่วยรักษาให้ละครับ

และอีกประเด็นก็คือ ว่าด้วยเรื่องของ หน้ากากผ้า

หมอก็ได้ชี้แจงไว้ว่า (คำเตือน เป็นโพสต์ที่ผมเขียนเองค่อนข้างยาวและอาจจะมีคำศัพท์ทางการแพทย์เยอะ (ใครเบื่อข้ามได้เลย) แต่จะพยายามทำให้เข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเขียนโดยมีเจตนาเพื่อพูดคุยและถกกันเพื่อก่อครับ ใครสนใจก็ร่วมวงกันครับ)

หลังจากที่ผมได้ไปแลกเปลี่ยนถึงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อนโยบายเรื่องของหน้ากาก ที่รายการ แฉ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 63 https://www.facebook.com/chaeshow/videos/186652509296606/?vh=e&d=n ในช่วงที่ประเทศเรากำลังจะเข้าสู่การระบาดระยะที่3 ก็มีประเด็นที่พูดถึงเรื่อง หน้ากากผ้า ซึ่งผมชี้แจงไปว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอ และยังมีคำถามที่ต้องการคำตอบอีกหลายอย่าง ก่อนจะแนะนำให้ทั้งบุคลากรทางการแพทย์หรือประชาชนทั่วไปนำไปใช้

ผมตื่นมาก็พบว่ามีการแชร์และพูดกันถึงบทความทางการแพทย์ใน BMJ ปี2015 ที่มีการเปรียบเทียบระหว่างหน้ากากอนามัย (surgical mask/medical mask) กับ หน้ากากผ้า (cloth mask) และได้บอกว่าหน้ากากอนามัยนั้นดีกว่าหน้ากากผ้า แต่ก็ไม่ใช่ว่าหน้ากากผ้าไม่ได้มีผลอะไร การใส่หน้ากากผ้ามันดีกว่าไม่ใส่อะไรเลย ผมก็ตกใจ เพราะก่อนผมให้สัมภาษณ์ผมก็เช็คดูบทความ และก็จำได้ว่าเผอิญได้อ่านบทความของ BMJ ปี2015 ผ่านตาไปเหมือนกัน (หรือว่าในปี2015 มันมีคนทำ trial เรื่องนี้มากกว่าหนึ่งอัน)

ผมจึงเปิดอ่านอีกรอบ ก็พบอยู่บทความเดียว ซึ่งก็คือบทความนี้ครับ https://bmjopen.bmj.com/content/5/4/e006577#F3 (ถ้าใครเจอบทความอันอื่น ขอให้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะครับ เพื่อที่จะได้ถกเถียงกันเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม) ซึ่งเป็น RCT ทำในประเทศเวียดนาม ในหอผู้ป่วย 74 หอ ใน 15 รพ. ซึ่งประกอบไปด้วยหอผู้ป่วยฉุกเฉิน ติดเชื้อ/โรคปอด หอผู้ป่วยหนัก และเด็ก

เขาแบ่งขาผู้ร่วมงานวิจัยเป็น 3 ขา คือขาหน้ากากอนามัย(3 ชั้น ใช้วัสดุที่เป็น non-woven material) ขาหน้ากากผ้า(2ชั้น cotton material) และขา control(คือ ปฏิบัติตัวตามปกติ) โดยมีผลที่ต้องการวัดอยู่ 3 อย่าง 1.อาการทางระบบหายใจ 2.อาการที่เข้าได้กับไข้หวัดใหญ่ 3.การเจอเชื้อไวรัสในทาวเดินหายใจ

หลังทำวิจัยไป ผลปรากฎเป็นดังคาดครับเกือบทุกผล กลุ่มที่ป้องกันได้ดีที่สุดคือ หน้ากากอนามัย ตามมาด้วยกลุ่มควบคุม(พบว่าในกลุ่มควบคุมประมาณ 37%ใช้หน้ากากอนามัย 8%ใช้หน้ากากผ้า 53%ใช้สลับไปมา และมี compliance เพียงแค่ 26%) และที่ป้องกันได้น้อยที่สุดคือหน้ากากผ้า

***ซึ่งประเด็นสำคัญมันอยู่ตรงนี้ครับ ผู้ทำวิจัยก็ได้เขียนในบท discussion ว่า ผลที่ออกมานั้น ข้อจำกัดหนึ่งในงานวิจัยนี้ ก็คือไม่มีกลุ่มที่ไม่ใส่หน้ากากมาให้เทียบครับ จึงไม่รู้ว่าสรุปแล้วผลที่ได้มามันเกิดจาก เพราะว่า หน้ากากอนามัย มีคุณสมบัติป้องกันที่ดีกว่าจริงๆ หรือ หน้ากากผ้ามันไปเพิ่มการติดเชื้อ(?!) หรือว่าจะเป็นจากทั้งสองอย่างผสมกัน ในวิจัยนี้ตอบไม่ได้ครับ แต่ผู้ทำวิจัยได้อธิบายไว้ว่า ด้วยคุณสมบัติของหน้ากากผ้าที่ยังไม่รู้ความถี่และวิธีการที่เหมาะสมในการซัก การใช้ซ้ำ การที่มีความชุ่มชื่นคั่งค้างบนตัวหน้ากาก อาจจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อมากขึ้น รวมถึงการที่ใช้ซ้ำและการถอดเข้าถอดออกที่ไม่ถูกวิธี มือก็อาจจะเปื้อนเชื้อไปด้วย (ซึ่งคุณสมบัติในการกรองของหน้ากากผ้าในงานวิจัยนี้นั้นเกือบเท่ากับ 0)

หรือมองอีกมุม ผู้ทำวิจัยบอกว่าผลของงานวิจัยนี้เกิดจากประสิทธิภาพที่ดีของหน้ากากอนามัยอย่างเดียว(ไม่ได้เกิดจากความไม่ดีของหน้ากากผ้า) ผู้ทำวิจัยก็บอกว่ามันก็ไม่เข้ากับผลของ 2 RCT ที่ผ่านมา และยังรวมถึงอัตราในการเจอเชื้อไวรัสในผู้ที่ใส่หน้ากากอนามัยในงานวิจัยนี้กับ RCT 2 อันที่แล้วนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราที่เจอเชื้อไวรัสในงานวิจัยที่เป็น RCT อีกอันของจีนนั้นใกล้เคียงกับ ในผู้ที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ก็มีข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น ไม่มีขาที่ไม่ใส่หน้ากาก ไม่มีการตรวจสอบ compliance ของการล้างมือ คุณภาพของหน้ากากแต่ละชนิด ฯลฯ

โดยสรุป ผู้ทำวิจัยจึงคิดว่า ผลของงานวิจัยนี้ น่าจะมีผลเสียของการใช้หน้ากากผ้าร่วมเป็นสาเหตุอยู่ด้วย (ต้องใช้คำว่า น่าจะ เนื่องจากไม่ใช่เหตุผลโดยตรง แต่เป็นเหตุผลสนับสนุน)

ดังนั้นนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม หน้ากากผ้า ถึงยังมีเหตุผลสนับสนุนไม่เพียงพอ และ อาจจะก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี (เน้นอีกทีว่า อาจจะ เพราะต้องการวิจัยเทียบกับไม่มีหน้ากากตรงๆเพิ่ม) ส่วนการจะให้ความเห็น แชร์ข้อมูล หรือชี้นำสังคมต่อไปอย่างไรก็แล้วแต่จะพิจารณากันครับ


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก FB : หมอเอ้ก คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์

Link ข่าวที่อ้างถึงข้างต้น : https://www.forbes.com/…/no-you-do-not-need-face-masks-fo…/…
Link ข้อแนะนำเกี่ยวกับหน้ากากของ WHO หรือ องค์การอนามัยโลกครับ : https://youtu.be/Ded_AxFfJoQ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เตือน! เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ต้องเข้มข้นเกิน 70% ถึงฆ่าเชื้อ COVID-19 ได้

เปิดเทคนิคเมคอัพเน้นงานผิวติดทน รองพื้นไม่ติดแมส พร้อมสวยสู้ทุกสถานการณ์

เหตุผลที่ควร มาส์กหน้า ทางลัดฟื้นฟูผิว หลังหลบอยู่ใต้หน้ากากอนามัยทั้งวัน!!

รู้ไหมว่า 24 ชั่วโมงในแต่ละวัน อวัยวะภายในร่างกาย ตอกบัตรทำงานช่วงไหนบ้าง

ฮาวทูดูแลผิวจาก ฝุ่นพิษ PM 2.5 ภัยเงียบที่ทำให้เกิดสิว ผดผื่น และหมองคล้ำ

รู้ไหมว่า 24 ชั่วโมงในแต่ละวัน อวัยวะภายในร่างกาย ตอกบัตรทำงานช่วงไหนบ้าง

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up