ช็อกโกแลตซีสต์

ปวดท้องน้อยอย่าปล่อยผ่าน ‘ช็อกโกแลตซีสต์’ รักษาไว หายได้ด้วยยา ไม่ต้องผ่าตัด

Alternative Textaccount_circle
ช็อกโกแลตซีสต์
ช็อกโกแลตซีสต์

#ปวดท้องน้อยอย่าปล่อยผ่าน รณรงค์ให้ผู้หญิงทุกคนตระหนัก และสังเกตตัวเองว่ามีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังหรือไม่ เพราะอาจเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ ช็อกโกแลตซีสต์ โรคนี้เกิดได้อย่างไรหลายคนๆ คงสงสัย เกิดมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกไปอยู่ผิดที่ จากปกติต้องอยู่ในโพรงมดลูก แต่ไปอยู่ในรังไข่ ซึ่งเราเรียกว่า เป็นช็อกโกแลตซีสต์ หากไปอยู่ในเนื้อมดลูกเกิดพังผืดมดลูก ทำให้มดลูกโต เรียกชื่อเฉพาะว่า อะดีโนไมโอซิส (adenomyosis) ซึ่งโรคนี้ถือเป็นภัยเงียบของผู้หญิง เนื่องจากมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งได้ หรือหากปล่อยทิ้งไว้นานช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงน้ำรังไข่ จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมีโอกาสแตกในท้อง เกิดการตกเลือดในท้อง 

นอกจากนี้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่อาจไปเกิดในอวัยะอื่นได้ด้วยตั้งแต่หัวจรดเท้า บางรายไปเกิดที่สมอง ตับ ปอด สะดือ หรือลำไส้ ในกรณีเกิดที่ปอด เวลามีประจำเดือนก็จะมีอาการหายใจไม่ออก พบว่าถ้าสะสมจนขนาดใหญ่ขึ้นอาจทำให้ปอดแตกได้ กรณีเกิดที่ลำไส้ ทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เพราะการขับอาหารผ่านลำไส้ไม่ดี เป็นต้น 

ปวดท้องน้อยอย่าปล่อยผ่าน ‘ช็อกโกแลตซีสต์’ รักษาไว หายได้ด้วยยา ไม่ต้องผ่าตัด

ช็อกโกแลตซีสต์ 1

สาเหตุของโรค มาจากการบีบตัวไหลย้อนกลับของประจำเดือนไปอยู่ในบริเวณต่างๆ ทำให้เกิดรอยโรค เกิดเป็นซีสต์ ก้อน ถุงน้ำ หรือที่พังพืด ผู้หญิงจำเป็นต้องสังเกตตัวเอง ซึ่งอาการเด่น ๆของโรคนี้  ได้แก่  ปวดประจำเดือนรุนแรง ประจำเดือนมามากผิดปกติ แต่บางกรณีไม่มีประจำเดือนก็ปวดได้ และเป็นการปวดเรื้อรังติดต่อกัน 6 เดือนขึ้นไป หรือมีบุตรยาก ในบางรายพบว่ามีหน้าท้องยื่นออกมามากคล้ายคนท้องก็มี หรือกรณีปวดเวลามีเพศสัมพันธ์ หากมีอาการแบบนี้ต้องรีบมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัย

ผู้หญิงกลุ่มไหนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ ภาวะโรคเกิดได้ตั้งแต่วัยเด็กที่เพิ่งเริ่มมีประจำเดือน แต่บางคนไม่แสดงอาการมาก และไม่เคยตรวจ พอสะสมนานวันเมื่อไหร่ที่ร่างกายไม่แข็งแรง โรคก็จะปรากฏออกมา ดังนั้นเราจึงเห็นคนที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว ก็ยังเป็นโรคนี้ได้ 

ช็อกโกแลตซีสต์ 2

การรักษาโรคนั้นสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การใช้ยากิน และการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้กินยาก่อน ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนายารักษาไปมาก สามารถลดขนาดซีสต์ และรักษาอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพถึง 80%  อย่างเช่นยากินที่เป็นฮอร์โมนโปรเจสติสเดี่ยว ที่ผลิตมารักษาโรคนี้โดยตรง เช่น ไดโนเจส (Dienogest) ซึ่งหากมาพบแพทย์เร็ว สามารถรักษาได้ด้วยการกินยา

ส่วนในบางรายต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาซีสต์ออก ช่วยลดอาการของช็อกโกแลตซีสต์ได้ อย่างไรก็ตามหลังผ่าตัดไปแล้ว ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสามารถรักษาโรคให้หายได้อย่างถาวร เพราะสาเหตุของโรคมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งผลิตเยอะเกินปริมาณที่บริเวณรังไข่ ในขณะที่การผ่าตัดโดยทั่วไปจะไม่ได้ตัดรังไข่ออก ดังนั้นในรายที่เป็นชนิดรุนแรง และฝังลึกเข้าไปในอวัยะต่างๆ หากผ่าตัดแล้วยังสามารถเป็นซ้ำได้ จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยหลังการผ่าตัด มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ 10% ต่อปี นั่นหมายถึงหากผ่าตัดไปแล้ว 5 ปีกลับมาเป็นซ้ำได้ถึง 50-60% ดังนั้นหลังการผ่าตัด คนไข้กลุ่มนี้ยังต้องกินยาที่รักษาโรคนี้โดยตรงอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันกลับมาเป็นซ้ำ สำหรับในรายที่ต้องการมีบุตร ไม่ต้องเป็นกังวล เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว สามารถมีบุตรได้ 

ช็อกโกแลตซีสต์ 4

ดังนั้น หากมีอาการต่างๆ ที่เข้าข่ายเป็นช็อคโกแลตซีสต์ ผู้หญิงต้องรีบมาตรวจวินิจฉัย พบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยจากแพทย์ในระยะเริ่มต้น สามารถป้องกันไม่ให้โรคสะสมรุนแรง โดยแพทย์จะทำการตรวจประเมินด้วยวิธีอัลตราซาวด์ ดังนั้นผู้หญิงไม่ต้องกลัวและกังวล หากมีอาการควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว 

โรคช็อกโกแลตซีสต์ ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวผู้หญิง หากปล่อยให้โรคลุกลาม จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้หญิงและกระทบการใช้ชีวิตไ ดังนั้น หากมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยแม้เพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นเรื้อรังไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป รีบมาตรวจเพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที


ข้อมูล : สูตินรีแพทย์ พันตำรวจโท นายแพทย์อรัณ ไตรตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประจำโรงพยาบาลตำรวจ เจ้าของเพจอรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน
ภาพ : Pexels

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up