'ดื่มกาแฟ' เกินวันละ 2 แก้ว เสี่ยงท้องยาก

งานวิจัยชี้ ‘ดื่มกาแฟ’ เกินวันละ 2 แก้ว เสี่ยงท้องยาก

Alternative Textaccount_circle
'ดื่มกาแฟ' เกินวันละ 2 แก้ว เสี่ยงท้องยาก
'ดื่มกาแฟ' เกินวันละ 2 แก้ว เสี่ยงท้องยาก

กาแฟ เครื่องดื่มโปรดปรานของใครหลายๆ คน แม้จะมีงานวิจัยหลากหลายฉบับที่ออกมารายงานถึงประโยชน์ของ “คาเฟอีน” ในกาแฟ ที่นอกจากจะปลุกความตื่นตัวแล้ว ยังช่วยให้การทำงานของระบบการหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น มีสารต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ขณะเดียวกันหากดื่มในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการติดกาแฟ กระสับกระส่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อย่างไรก็ตามยังมีงานวิจัยหลายฉบับชี้ว่า ผู้หญิงที่ติดกาแฟ หรือ ดื่มกาแฟเกินวันละ 2 แก้ว เสี่ยงท้องยาก และแท้งบุตรสูงกว่าผู้หญิงทั่วไปที่ไม่ดื่มกาแฟ

งานวิจัยชี้ ‘ดื่มกาแฟ’ เกินวันละ 2 แก้ว เสี่ยงท้องยาก

 

ครูก้อย นัชชา ลอยชูศักดิ์ ผู้ก่อตั้งเพจให้ความรู้ผู้มีบุตรยาก babyandmom.co.th  เผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มผู้มีบุตรยากมีสูงขึ้น ซึ่งมีปัจจัยมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ผู้หญิงเป็นเวิร์คกิ้งวูแมนมากขึ้น ทุ่มเทกับการทำงานและความสำเร็จจึงทำให้แต่งงานช้า ความเครียดจากการทำงาน ไลฟ์สไตล์ รวมถึงสิ่งแวดล้อม สภาพเศรษฐกิจและสังคม โรคระบาด ทำให้ชะลอการมีบุตรออกไป ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีบุตรยาก นอกจากนี้การทานอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ รวมถึงการดื่มกาแฟทุกวันส่งผลให้มีบุตรยากเช่นกัน

จากการให้คำปรึกษาผู้หญิงที่มีบุตรยากที่อยู่ระหว่างการปรับโภชนาการเตรียมตั้งครรภ์ พบว่า 50% ของผู้หญิงมีบุตรยากชื่นชอบการดื่มกาแฟ และติดกาแฟจนบางครั้งต้องแอบดื่มกาแฟ แต่ตามหลักโภชนาการเตรียมตั้งครรภ์ห้ามดื่มกาแฟเด็ดขาด เนื่องจากคาเฟอีนส่งผลต่อสมดุลฮอร์โมนจึงส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ไข่และการฟอร์มตัวของผนังมดลูก โดยมีงานวิจัยจาก the National Institutes of Health and Ohio State University ศึกษาพบว่าผู้หญิงที่ดื่มกาแฟอย่างน้อย 2 แก้วต่อวัน หรือ ได้รับคาเฟอีนประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อวัน ก่อนตั้งครรภ์มีความเสี่ยงในการแท้งบุตร และหากบริโภคคาเฟอีนมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน มีความเสี่ยงสูงที่จะแท้งบุตรในช่วง 7 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการวิจัยเรื่อง Maternal caffeine consumption during pregnancy and the risk of miscarriage: a prospective cohort study ที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Obstetrics & Gynecology ศึกษาพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ทานคาเฟอีน 200 มิลลิกรัม หรือดื่มกาแฟประมาณ 2 แก้วต่อวันมีความเสี่ยงแท้งบุตรสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่มถึง 2 เท่า

ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำแนะนำว่าหากผู้หญิงดื่มกาแฟมากเกินไป โดยมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน ควรลดการบริโภคคาเฟอีนลง เพราะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด และการแท้งบุตร

ยังมีรายงานผลวิจัยจากโรงพยาบาลกลางมลรัฐแมสซาชูเซตส์ที่ได้จากการเก็บข้อมูลระหว่างปี 2550-2556 พบว่า สามีที่ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนประมาณ 265 มิลลิกรัมต่อวัน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะมีบุตรยาก มีความเสี่ยงที่จะทำให้ภรรยาตั้งครรภ์ได้ยากขึ้น เนื่องจากการกินกาแฟในปริมาณที่มากทำให้หลั่งอสุจิได้น้อยลง โดยปริมาณการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มคาเฟอีนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 88 มิลลิกรัมต่อวัน

นอกจากนี้การดื่มกาแฟที่ใส่นม น้ำตาล ครีม ยังทำให้ร่างกายได้รับคอเลสเตอรอลสูงเกินปกติได้ อ้วนง่าย โดยมีงานวิจัยศึกษาผู้หญิงที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25) ส่งผลให้ไข่ไม่ตก ประจำเดือนมาไม่ปกติ เซลล์ไข่ด้อยคุณภาพ ฮอร์โมนไม่สมดุล หากใช้กระบวนการทางการแพทย์รักษาจะมีอัตราความสำเร็จต่ำกว่ากลุ่มที่น้ำหนักปกติ ยิ่งถ้าค่า BMI อยู่ในระดับ 30 ส่งผลต่อการแท้งบุตรมากขึ้นอีกด้วย และมีงานวิจัยพบว่าคนอ้วนฮอร์โมนจะไม่สมดุล ก่อให้เกิด PCOS “ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง “เซลล์ไข่ด้อยคุณภาพ ท้องยากกว่าคนน้ำหนักปกติถึง 2 เท่า

ดังนั้น ผู้หญิงที่เตรียมตั้งครรภ์ที่ติดกาแฟ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มกาแฟ โดยการลดปริมาณกาแฟที่ดื่มไม่ควรเกินวันละ 1-2 แก้ว และไม่ควรดื่มต่อเนื่องทุกวัน หรือหากเป็นไปได้ ควรงดกาแฟช่วงเตรียมตั้งครรภ์ หรือเลือกดื่มกาแฟแบบดีคาฟ คือ กาแฟที่สกัดคาเฟอีนออก ( Decaffeinated Coffee) เป็นกระบวนการสกัดเอาคาเฟอีนออกจากเมล็ดกาแฟ ทำให้ปริมาณคาเฟอีนลดลงจนเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือประมาณ 1- 3%

ขณะเดียวกันผู้หญิงเตรียมตั้งครรภ์ต้องทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และได้รับโปรตีนที่เพียงพอ เนื่องจากโปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญที่สุดในการสร้างและซ่อมแซมเซลล์ การบำรุงไข่ให้ได้ไข่โตสวยสมบูรณ์ ไข่ตกตามปกติ และผนังมดลูกที่แข็งแรง ผู้หญิงเตรียมตั้งครรภ์ต้องทานโปรตีนให้เพียงพอต่อวัน 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยควรเลือกทานโปรตีนจากแหล่งที่ให้โปรตีนชั้นดี ให้โปรตีนสูง และปลอดภัย โปรตีนจากสัตว์ เช่น ไข่ เนื้อปลา นมแพะ อกไก่ โปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) เช่น ถั่วเหลือง อัลมอนด์ งาดำ ควินัว เมล็ดฟักทอง เป็นต้นมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of obstetrics and gynecology เมื่อปี 2008 ศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่เปลี่ยนการทานโปรตีนจากสัตว์มาเป็นโปรตีนจากพืชอาจช่วยลดความเสี่ยงจากการมีบุตรยากเนื่องปัญหาเรื่องไข่ไม่ตกได้ถึง 50% ซึ่งส่งผลต่ออัตราความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้ว และอัตราการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติด้วย


 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ออกกำลังกาย แค่วันละ 15 นาที 9 วินาที ช่วยยกระดับจิตใจได้ จริงหรือไม่?

ปรับ 7 พฤติกรรมทำร้าย ‘กระดูกสันหลัง’ ป้องกันบาดเจ็บ และเสริมบุคลิกภาพเป๊ะขึ้น

ผู้ป่วยไต ควรเลือกกินอาหารอย่างไร ให้อร่อยปาก ไม่ลำบากไต

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up