ผู้ป่วยไต ควรเลือกกินอาหารอย่างไร

ผู้ป่วยไต ควรเลือกกินอาหารอย่างไร ให้อร่อยปาก ไม่ลำบากไต

Alternative Textaccount_circle
ผู้ป่วยไต ควรเลือกกินอาหารอย่างไร
ผู้ป่วยไต ควรเลือกกินอาหารอย่างไร

โครงการ คุยเรื่องไขความจริง โดย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เชิญ รศ. พญ. ปิยวรรณ กิตติสกุลนาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมโรคไต จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาแนะวิธีการปรับเปลี่ยนการทานอาหารสำหรับ ผู้ป่วยไต เพื่อชะลอการเปลี่ยนถ่ายไตในตอน อร่อยปาก ลำบากไต

ผู้ป่วยไต ควรเลือกกินอาหารอย่างไร ให้อร่อยปาก ไม่ลำบากไต

อาหารประเภทใดที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถทานได้ และประเภทใดที่ควรหลีกเลี่ยง

ผู้ป่วยโรคไตมักมีความกังวลเรื่องอาหาร ว่าหากทานมากเกินไป จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวาย หรือหากทานน้อยเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต หรือล้างไตทางหน้าท้อง ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องอาหารมากเป็นพิเศษ เพราะต้องช่วยลดภาระหน้าที่ของไตในการขับน้ำ ของเสีย และเกลือแร่

ผู้ป่วยโรคไตต้องเลือกทานอาหารเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกายสูงสุด ดังนี้

ผักและผลไม้

ควรหลีกเลี่ยงอาหาร ผักและผลไม้ที่มีสีเข้ม เพราะอาจจะมีโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง พร้อมเปลี่ยนมาทานอาหารที่มีรสชาติจืด สีสันอ่อน เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา เต้าหู้ ผักกาดขาว ฟัก แอปเปิ้ล และสาลี่แทน ทั้งนี้ หากผู้ป่วยต้องการที่จะทานผักสีเข้ม ยกตัวอย่างเช่น ผักบุ้ง จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหาร โดยการนำผักไปต้มในน้ำประมาณ 5 นาที เพื่อให้โพแทสเซียมที่อยู่ในผักลงไปอยู่ในน้ำ พร้อมรินน้ำที่มีเกลือแร่เหล่านั้นทิ้งไปก่อนประกอบอาหารขั้นต่อไป

หลีกเลี่ยงอาหารโซเดียมสูง

อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงอย่างสิ้นเชิง คืออาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น เกลือ ทั้งเกลือหวาน เกลือจืด และเกลือเค็ม รวมถึงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ทั้งประเภทอาหารหมักดองอย่าง กุนเชียง หมูยอ รวมถึงไข่แดง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ กาแฟ

ผู้ป่วยโรคไตสามารถทานอาหารในแนวทางคาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low Carb) ได้หรือไม่

นี่คือหนึ่งในคำถามที่มีผู้ป่วยกลุ่มวัยรุ่นถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดย รศ. พญ. ปิยวรรณ กิตติสกุลนาม ได้ให้คำตอบว่า ผู้ป่วยโรคไตที่อยู่ในช่วงก่อนบำบัดทดแทนไต หรือการฟอกไต ควรทานอาหารที่มีโปรตีนต่ำ (Low Protein) ดังนั้น การดูแลสุขภาพและร่างกายโดยเลือกทานอาหารในสูตรโปรตีนสูง (High Protein) คาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low Carb) จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคนี้เป็นอย่างยิ่ง

เทคนิคการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ

วิธีที่ผู้ป่วยโรคไตหรือทุกคนที่รักสุขภาพสามารถทำตามได้ คือการอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อสินค้า โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นหลัก คือ ปริมาณพลังงาน โปรตีน ไขมัน และเกลือแร่เมื่อเทียบกับปริมาณที่แนะนำให้ทานต่อวัน ทั้งนี้ หากตัวเลขดังกล่าวสูงเกินไปสำหรับผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยบางท่าน อาจพิจารณาตัวเลขจำนวนหน่วยบริโภคต่อผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม เพื่อลดหรือปรับจำนวนอาหารให้เหมาะสมได้

แต่หากใครที่ต้องการวิธีที่ง่ายและสะดวกยิ่งกว่านั้น สามารถมองหาตราสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ที่เป็นการแสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่า มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่เหมาะสม เพื่อเป็นการลดหวาน มัน เค็ม ที่เป็นการลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้เช่นกัน

คลิปเต็ม ตอน อร่อยปาก ลำบากไต  https://fb.watch/d2Iu20wBev/


ภาพ Cover : Pexels

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เช็คลิสต์อาหาร เมื่อเป็น “เบาหวาน” อะไรกินได้-กินไม่ได้

8 เวลาสำคัญที่ควรดื่มน้ำที่สุด ดื่มถูกจังหวะช่วยลดพุง ลดไขมัน เพิ่มภูมิคุ้มกัน

ปรับอาหารลดเสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมอง” เน้นกินแบบ DASH Diet หรือ Mediterranean Diet

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up