ดื่มน้ำ ลดพุง

8 เวลาสำคัญที่ควรดื่มน้ำที่สุด ดื่มถูกจังหวะช่วยลดพุง ลดไขมัน เพิ่มภูมิคุ้มกัน

Alternative Textaccount_circle
ดื่มน้ำ ลดพุง
ดื่มน้ำ ลดพุง

ควรดื่มน้ำเมื่อถึงเวลาดื่ม ไม่ใช่ดื่มตอนที่ร่างกายหิวน้ำ เพราะจะแปลว่าร่างกายกำลังเข้าสู่ภาวะขาดน้ำ (dehydration) ซึ่งภาวะนี้อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการเวียนหัว ตัดสินใจไม่ฉับไว ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยอยู่ การทำงานของระบบเผาผลาญแย่ลง การนอนหลับผิดปกติ การทำงานของฮอร์โมนผิดปกติ ดังนั้น จึงควรดื่มน้ำในเวลาที่จำเป็นและไม่ควรปล่อยให้ร่างกายรู้สึกหิวน้ำขึ้นมาบ่อยๆ

และน้ำที่ดีที่สุดก็คือ น้ำเปล่า น้ำแร่ ไม่ใช่น้ำที่ผสมสารเพิ่มวิตามินต่างๆ โดย นพ.นันทพล พงศ์รัตนามาน อาจารย์ที่ปรึกษา แผนกศัลยศาสตร์หลอดเลือด ร.พ.พระมงกุฎเกล้า ได้แนะ 8 ช่วงเวลาสำคัญในการดื่มน้ำให้มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะการดื่มน้ำสำคัญต่อระบบการทำงานในร่างกายของเรา หากเลือกช่วงเวลาในการดื่มน้ำที่เหมาะสม จะยิ่งช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพโดยรวม ระบบเผาผลาญพลังงาน การทำงานของฮอร์โมนต่างๆ และภูมิคุ้มกันโรค เพราะแค่ดื่มคนละช่วงเวลา สุขภาพก็ต่างกันได้

8 เวลาที่ควรดื่มน้ำที่สุด! ช่วยลดพุง ลดไขมัน เพิ่มภูมิคุ้มกัน ตลอดชีวิต

  1. หลังตื่นนอน

หลังจากที่ร่างกายไม่ได้ดื่มน้ำเลยแม้แต่หยดเดียวระหว่างที่เข้านอนเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง (ตามเวลานอนปกติ) จึงควรรีบดื่มน้ำทันทีหลังจากตื่นนอน เพื่อให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ลดอาการเวียนศีรษะ เพราะขาดน้ำเป็นเวลานาน ดังนั้น หลังตื่นนอนควรดื่มน้ำอย่างน้อย 1 แก้ว (200 cc.) เพื่อเติมน้ำและสร้างความสดชื่นให้กับร่างกาย

เคล็ดลับในการดื่มน้ำหลังตื่นนอน ควรดื่มน้ำหลังตื่นนอนทันทีโดยไม่ต้องแปรงฟัน เพราะแบคทีเรียในช่องปากหลังตื่นนอนที่เราดื่มน้ำตามลงไปด้วย จะช่วยทำให้การทำงานของระบบขับถ่ายดีขึ้นได้อีกด้วย

  1. ขณะ/หลังออกกำลังกาย

การออกกำลังกายทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำผ่านทางเหงื่อมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้นไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำทั้งในขณะที่ออกกำลังกายและหลังออกกำลังกาย ควรจิบน้ำเล็กน้อยระหว่างออกกำลังกายเรื่อยๆ ไม่ให้ร่างกายรู้สึกขาดน้ำตลอดการออกกำลังกาย แต่ไม่ควรดื่มน้ำหมดทั้งแก้วใหญ่ๆ หรือหมดขวดในครั้งเดียว เพราะอาจทำให้เกิดอาการจุกเสียดขึ้นได้ การดื่มน้ำระหว่างออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยให้ประสิทธิภาพของการออกกำลังกายดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเวียนศีรษะ และหน้ามืดระหว่างออกกำลังกายได้อีกด้วย

เคล็ดลับในการดื่มน้ำระหว่างและหลังออกกำลังกาย สามารถดื่มน้ำเปล่าธรรมดาๆ ได้เลย ไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำเกลือแร่ เพราะน้ำเกลือแร่มีน้ำตาลสูง 1 ขวดประมาณ 6-10 ช้องชา ที่ค่าน้ำตาลที่เราควรได้รับต่อวันเพียง 6 ช้อนชาเท่านั้น น้ำเกลือแร่เหมาะกับคนที่ออกกำลังกายหนักมากๆ เท่านั้น ถ้าออกกำลังกายตามปกติ ดื่มน้ำเปล่าธรรมดาก็เพียงพอแล้ว โดยจะดื่มน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้องก็ได้ แต่ไม่แนะนำน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน เพราะอาจทำให้ร่างกายอุณหภูมิสูงขึ้นได้

  1. ก่อนทานอาหาร 30 นาที

การดื่มน้ำก่อนทานอาหาร 30 นาที จะเป็นการกระตุ้นร่างกายว่ากำลังจะเริ่มทานอาหารเข้าไปแล้วนะ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารเตรียมพร้อมต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การดื่มน้ำก่อนทานอาหารยังอาจทำให้อิ่มเร็วขึ้น มีความอยากอาหารน้อยลง จึงเป็นวิธีที่ดีต่อคนที่กำลังลดน้ำหนักอยู่ด้วย แต่ไม่ควรดื่มน้ำก่อนทานอาหารมากเกินไป อาจทำให้จุกเสียดท้องได้

  1. ก่อนอาบน้ำ

การดื่มน้ำในช่วงก่อนอาบน้ำ เหมาะสำหรับคนที่ชอบอาบน้ำอุ่น เพราะการอาบน้ำอุ่นทำให้เลือดไหลเวียนไปตามผิวหนังมากยิ่งขึ้น เลือดส่งไปเลี้ยงสมองน้อยลง และอาจเสี่ยงต่ออาการเวียนศีรษะ หรือหน้ามืดจากภาวะความดันโลหิตลดลงได้ ซึ่งเป็นอาการที่อันตรายมาก การดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนอาบน้ำสามารถช่วยลดความเสี่ยงภาวะความดันตกระหว่างอาบน้ำอุ่นได้ เพื่อป้องกันอาการหน้ามืดระหว่างอาบน้ำอุ่นได้

  1. ก่อนเข้านอน

การดื่มน้ำก่อนเข้านอนจะช่วยลดความเสี่ยงภาวะขาดน้ำระหว่างที่นอนไปหลายชั่วโมงได้ แต่อย่าดื่มน้ำก่อนเข้านอนมากจนเกินไป เพราะอาจรบกวนร่างกายให้ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะระหว่างที่นอนหลับอยู่บ่อยๆ ได้ ดังนั้น ควรดื่มน้ำไม่เกิน 1 แก้วก่อนเข้านอน หรือหากดื่มน้ำเพียง 1 แก้วแล้วยังทำให้ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางดึก แนะนำให้ดื่มน้ำเพียงครึ่งแก้วก็ได้

  1. เมื่อรู้สึกว่ามีไข้ ไม่สบาย

ในช่วงเวลาที่มีไข้ อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น การดื่มน้ำช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย และขับความร้อนออกทางปัสสาวะ ทำให้หายไข้ได้ไวยิ่งขึ้น และยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย คนที่มีไข้แต่ดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจใช้เวลาในการหายไข้นานกว่าคนที่ดื่มน้ำมากกว่า แต่ไม่ควรดื่มน้ำครั้งเดียวทั้งขวด ควรค่อยๆ จิบระหว่างวันมากกว่า

  1. เมื่อรู้สึกอ่อนเพลีย

หากมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย เบื่อ หงุดหงิดง่าย อาจเป็นสัญญาณของภาวะขาดน้ำได้ ดังนั้นการดื่มน้ำเย็นๆ สักแก้ว สามารถช่วยให้อาการเหล่านี้ลดลงได้ โดยการดื่มน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะขาดน้ำ คือน้ำเปล่าประมาณ 2-3 ลิตร และไม่ควรดื่มน้ำรวดเดียวในปริมาณมาก ควรค่อยๆ จิบ ค่อยๆ ดื่มไปตลอดทั้งวันจะดีกว่า

  1. เมื่อต้องอยู่เฝ้าไข้ผู้ป่วย หรือต้องอยู่ในบริเวณที่เต็มไปด้วยผู้ป่วย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า การดื่มน้ำช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อจากผู้ป่วยที่อยู่รอบตัวเราได้ เพราะการดื่มน้ำช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันนั่นเอง นอกจากนี้การดื่มน้ำบ่อยๆ ในช่วงที่อยู่กับผู้ป่วย ยังช่วยลดความตึงเครียดและอาการอ่อนเพลียจากการดูแลผู้ป่วยได้อีกด้วย


ข้อมูล : นพ.นันทพล พงศ์รัตนามาน อาจารย์ที่ปรึกษา แผนกศัลยศาสตร์หลอดเลือด ร.พ.พระมงกุฎเกล้า
ภาพ : Pexels

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Food Coma คืออะไร? แล้วทำไมมักเกิดอาการง่วงนอนหลังกินอิ่ม

เผยสาเหตุ “ภาวะผมร่วง” ผิดปกติ จากที่ทุกวันควรร่วงไม่เกิน 30-50 เส้น

เช็คลิสต์ 6 ข้อที่ทำให้การลดน้ำหนักด้วย IF บางคนได้ผล บางคนไม่ได้ผล!!

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up