ฟื้นฟูปอด หลังรอดโควิด-19 เพื่อทำให้การหายใจเป็นปกติ ไม่เหนื่อยง่าย
หลังเข้ารับการรักษาโควิดและหายดีแล้ว อาจจะยังมีรอยโรคหรือแผลเป็นในเนื้อปอด อาจจะมีทั้งข้างเดียวหรือสองข้าง พบคนไข้บางรายที่มีการอักเสบในร่างกายอย่างรุนแรง มักจะมีพังผืดหรือฝ้าขาวในเนื้อปอดอยู่เมื่อตรวจดูด้วย X-Ray หรือคนไข้บางรายมักจะรู้สึกร่างกายไม่สดชื่น ไม่แข็งแรง สามารถ ฟื้นฟูปอด หลังรอด Covid-19 ได้หรือไม่ ฟังคำตอบจาก นพ. พิเชษฐ์ เจริญศิริวัฒน์ อายุรแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านโรคระบบทางเดินหายใจ และภาวะวิกฤตโรคระบบทางเดินหายใจ
ความรุนแรงของโรคโควิด-19 และสถานการณ์การระบาดของโรคนั้นยังคงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง มีทั้งผู้ติดเชื้อหลักพัน และผู้เสียชีวิตในทุกๆ วัน รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ยังฉีดได้น้อยหากเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้นและมีอาการที่รุนแรงได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายโดยตรงกับ “ปอด” ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่สำคัญในระบบทางเดินหายใจ และส่งผลกระทบถึงการดำรงชีวิตที่อาจจะไม่เหมือนเดิมเมื่อหายจากโรคโควิด-19 แล้ว
ปอดอักเสบ / ปอดถูกทำลายได้อย่างไรจากโรคโควิด-19
เชื้อก่อโรคโควิด-19 นั้นเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านทางจมูกสู่ปอด ซึ่งแหล่งเก็บเชื้อนี้ก็คือปอดของมนุษย์เรา ดังนั้น เมื่อติดโควิด-19 แล้ว ก็จะส่งผลกระทบกับระบบทางเดินหายใจโดยตรง
ในระยะแรกๆ ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนติดเชื้อไวรัสทั่วไป เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว แต่อาการทางระบบทางเดินหายใจยังไม่ค่อยเด่นชัดนัก แต่หากผ่านไปสักระยะหนึ่ง ประมาณวันที่ 3-4 ของการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไอ เหนื่อยหอบ แบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อผู้ป่วยได้รับการเอกซเรย์ปอด จะเริ่มเห็นความผิดปกติ พบฝ้าขาวเกิดขึ้นในปอดจากฟิล์มเอกซเรย์ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องกังวลเนื่องจากผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการขาดออกซิเจนแล้วเกิดการอักเสบของปอดจนกลายเป็นปอดอักเสบในที่สุด
โดยทั่วไปแล้วลักษณะเฉพาะของคนที่เป็นโรคโควิด-19 นั้น ปอดอักเสบจะเกิดขึ้นมากกว่า 1 ตำแหน่ง โดยมักจะเกิดขึ้น 3-4 ตำแหน่ง และจะเป็นที่ปอดทั้ง 2 ข้าง ทั้งนี้ หากในระยะนี้ทำการรักษาได้ทันท่วงที ให้ยาที่เหมาะสม ทั้งยาต้านไวรัส ยาสเตียรอยด์ และยาอื่นๆ ปอดจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับไป จะมีอยู่ประมาณ 10% ที่จะเป็นปอดอักเสบรุนแรง และมีเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ปัจจัยที่ปอดถูกทำลาย
เมื่อเกิดการติดโควิด-19 จะเกิดปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดจากการอักเสบของปอด ทำให้มีพังผืดและแผลเป็นต่างๆ ในปอดตามมา ซึ่งจะมีมากน้อยแค่ไหน หรือสามารถฟื้นตัวหลังจากหายได้มากเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับ
- ปริมาณของเชื้อหรือมีการติดเชื้อชนิดอื่นซ้ำซ้อนหรือไม่
- พื้นฐานของสุขภาพร่างกายหรือระบบการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเป็นอย่างไร
- ความเร็วในการให้การรักษาอย่างทันท่วงที
สภาพของปอดหลังได้รับการรักษาจากโรคโควิด-19
เมื่อหายจากโรคโควิด-19 แล้ว การอักเสบของร่างกายอย่างรุนแรงจากเชื้อก่อโรคโควิด-19 จะมีผลทำให้เกิดเป็นรอยโรคพวกแผลเป็นหรือพังผืดต่างๆ ในเนื้อปอด ทำให้เนื้อปอดขาดความยืดหยุ่น และแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ไม่ค่อยดีนัก หากตรวจวัดสมรรถภาพปอด จะพบว่าสมรรถภาพปอดต่ำกว่าปกติ ซึ่งหากอยู่เฉยๆ อาจไม่ค่อยรู้สึก แต่หากต้องไปออกกำลังกายหรือทำอะไรกิจกรรมที่หนักๆ จะรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติมาก
ในส่วนของการฟื้นตัวของปอดหลังหายจากโรคโควิด-19 จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก เป็นช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังหายจากโรค สิ่งที่จะพบ คือ ยังพบฝ้าขาวที่ปอดในฟิล์มเอกซเรย์ แต่มีปริมาณเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงที่ติดเชื้อ และช่วงหลัง คือ ช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 หลังจากที่หายจากโรค ร่างกายมีการฟื้นฟูกลับมาบ้างแล้ว แต่จะยังรู้สึกว่าร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ไม่แข็งแรง ไม่กะปรี้กะเปร่า
การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด
ผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 และมีอาการปอดอักเสบร่วมด้วย เนื้อปอดจะมีพังผืดและแผลเป็นเกิดขึ้น ในช่วงแรกระบบการหายใจและสมรรถภาพของปอดนั้นจะยังไม่เป็นปกติ ทั้งนี้ สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้โดยให้มีการเคลื่อนไหวหรือขยับช่วงปอด เพื่อให้เนื้อปอดและถุงลมต่างๆ ค่อยๆ ฟื้นฟูตัวเองกลับมามีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงการออกกำลังกายเบาๆ เพื่อที่จะสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดังเดิม ดังนี้
- การฝึกการหายใจ (Breathing Exercise) การฝึกการหายใจนั้นจำเป็นในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการฟื้นตัว ทำได้โดยการออกแรงในการหายใจเข้าทางจมูกจนสุด แล้วควบคุมลมที่หายใจออกมาทางปากช้าๆ หรือพูดคำว่า “อู” ยาวๆ ช้าๆ จนกระทั่งลมหมดปอด แล้วหายใจเข้าใหม่ให้เต็มปอดแล้วออกช้าๆ เช่นเดิม เนื่องจากพังผืดจะทำให้เนื้อปอดมีความแข็ง พังผืดที่แข็งเมื่อได้ขยับบ่อยๆ ก็จะมีการยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ elasticity หรือความยืดหยุ่นของเนื้อปอดค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา
- การบริหารปอด จำเป็นในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการฟื้นตัวเช่นกัน เรียกว่าเป็นกลยุทธ์การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดอย่างหนึ่งที่ได้ผลดี ทำได้โดยการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ ที่เรียกว่า Triflow โดยให้คนไข้ดูดลูกปิงปองที่มีทั้งหมด 3 ลูก ใน 3 ช่อง ซึ่งจะลอยขึ้นกี่ลูกก็ขึ้นอยู่กับปริมาณลมที่สูดเข้าไป ยิ่งสูดลมเข้าไปมาก ลูกปิงปองก็จะลอยขึ้นเยอะ การดูดลมเข้าปอดโดยใช้เครื่อง Triflow นั้นจึงถือเป็นเทคนิคการบริหารปอดรูปแบบนึงที่ทำให้ปอดขยายเต็มที่ ช่วยให้ปอดมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และค่อยๆ ฟื้นตัวได้
- การออกกำลังกายเบาๆ สามารถทำได้ในสัปดาห์ที่ 3-4 เป็นต้นไป ในช่วงนี้ร่างกายอาจจะยังมีการอ่อนเพลีย แต่ปอดอาจจะเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว ดังนั้น จึงต้องมีการออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น โดยอาจเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ เช่น การลุกเดินบ่อยๆ ไม่อยู่เฉย พอร่างกายเริ่มชินแล้วค่อยขยับความหนักขึ้นไป อาจจะเดินให้ไวขึ้น หรือวิ่ง jogging เบาๆ ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดนั้น นอกจากการฝึกการหายใจ การบริหารปอดโดยใช้ Triflow และการออกกำลังกายเบาๆ แล้ว สิ่งที่จำเป็นและควรปฏิบัติตามเป็นประจำสม่ำเสมอเมื่ออยู่ในช่วงฟื้นตัวนั้นก็คือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสูดควันบุหรี่และมลพิษต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่นานและมีอาการรุนแรง เพื่อให้มีสุขภาพปอดที่ดี ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่แข็งแรง และสามารถกลับไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดังเดิมได้เร็วที่สุด
ข้อมูล : นพ. พิเชษฐ์ เจริญศิริวัฒน์ สาขาอายุรศาสตร์ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
ภาพ : Pexels
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
กรมการแพทย์เตือน ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ต้องวิธี rt-PCR เท่านั้น ที่ใช้ยืนยันเข้ารักษาได้
สรุปกินยา ไมเกรน ก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ เส้นเลือดจะหดตัวหรือเปล่า?
การรับมือกับ ‘ภาวะเครียด’ ทั้งก่อนและหลัง ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19