เทรนด์ศัลยกรรมความงาม 2022

รวบตึง 13 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ เทรนด์ศัลยกรรมความงาม 2022

Alternative Textaccount_circle
เทรนด์ศัลยกรรมความงาม 2022
เทรนด์ศัลยกรรมความงาม 2022

การทำศัลยกรรม สามารถทำการผ่าตัดหลายอย่างพร้อมกันได้ แต่มีข้อจำกัดคือต้องไม่ใช้เวลาผ่าตัดนานเกินไป แพทย์มีความเชี่ยวชาญ ทำในสถานที่ที่มีความพร้อม คนไข้มีเวลาพักฟื้นเพียงพอ และอยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย Safety Diamond 

แพทย์ศัลยกรรมตกแต่งก็เหมือนเป็นศิลปินแขนงหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความถนัดในแต่ละแบบ มีสไตล์เป็นของตัวเอง ผู้ที่สนใจจะทำศัลยกรรมควรติดตามผลงานของแพทย์ที่เราสนใจให้นานพอ เข้าไปปรึกษาก่อน แล้วพิจารณาว่าตรงกับความต้องการ ความชอบของเราหรือไม่ ก่อนตัดสินใจทำศัลยกรรม 

รวบตึง 13 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ เทรนด์ศัลยกรรมความงาม 2022

และด้านล่างนี่เป็นการรวบรวม 13 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ เทรนด์ศัลยกรรมความงาม 2022 ซึ่งคำตอบจะเป็นอย่างไร มาอ่านไปพร้อมๆ กันค่ะ

1. เทรนด์การทำศัลยกรรมในปี 2022 เป็นอย่างไร ส่วนไหนที่คนนิยมทำศัลยกรรมมากที่สุด?

ในช่วงโควิด คนใช้เวลาอยู่กับบ้าน อยู่กับตัวเองมากขึ้น ทำงานผ่านการประชุมออนไลน์ มีโอกาสได้เห็นหน้าตัวเองมากขึ้น เหมือนส่องกระจกตลอดเวลาก็จะสังเกตเห็นความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่เคยเห็น เช่น ชั้นตาไม่เท่ากัน จมูกไม่สวย หน้าตาไม่ขึ้นกล้อง ช่วงที่ยังใช้การออนไลน์ก็ยังสามารถใช้ Application ต่าง ๆ ช่วยแต่งได้ แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มกลับมาปกติ ต้องกลับมาพบเจอผู้คน ก็จะมีความอยากแก้ไขปรับปรุงใบหน้าตัวเอง  

หลาย ๆ คนเวลาทำงานที่บ้านจะกินอาหารมากขึ้น ร่วมกับไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ทำให้เกิดปัญหาอ้วนลงพุง ปัจจัยเร่งอีกอย่างหนึ่งคือการดู Social Media มากขึ้น เช่น Tik Tok มีการเต้นต่าง ๆ ที่อวดรูปร่างมากขึ้น หรือเริ่มออกไปเที่ยว แต่งตัวสวย ๆ ทำให้เกิดกระแส ต้องการทำตาม แต่กลัวรูปร่างไม่ดี ใส่ชุดไม่สวย จึงมีความอยากปรับปรุงรูปร่างตัวเองอย่างเร่งด่วน 

โดยสรุป เทรนด์ปัจจุบันก็จะเป็นเรื่องของยุคหลังโควิดที่จะกลับไปทำงาน ไปเที่ยว ทำให้สนใจการศัลยกรรมเกี่ยวกับใบหน้าและรูปร่าง ได้แก่ ตา จมูกปาก คาง เหนียงใต้คาง ดึงหน้า ดูดไขมัน ตัดไขมัน 

2. จริงหรือไม่ที่การทำศัลยกรรมในปัจจุบันเจ็บน้อยกว่าและมีอันตรายน้อยกว่าสมัยก่อน?

ด้วยการพัฒนาทางการแพทย์ทั้งในเรื่องการให้ยาระงับปวด และการใช้เครื่องมือต่างๆ ทำให้การทำศัลยกรรมในปัจจุบันง่ายขึ้นมาก  โดยเฉพาะการส่องกล้องช่วยในการผ่าตัดทำให้สามารถทำผ่าตัดได้ละเอียดมากขึ้น มองเห็นชัดเจนและระมัดระวังจุดสำคัญต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เกิดการกระทบกระเทือนเนื้อเยื่อน้อยลง ปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งเจ็บน้อยลงและฟื้นตัวเร็ว 

อย่างไรก็ตามเครื่องมือเหล่านี้ก็ไม่ได้มีพร้อมในทุกที่และไม่ใช่แพทย์ทุกท่านที่มีความเชี่ยวชาญ ผู้รับบริการควรศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมในจุดนี้ด้วย 

3 เทรนด์ศัลยกรรมความงาม 2022

3. ทำศัลยกรรมทุกส่วนในร่างกายภายในครั้งเดียวได้หรือไม่ เช่น ทำจมูก ทำตา พร้อมกับทำหน้าอก / สามารถทำศัลยกรรมได้มากที่สุดกี่ส่วนภายใน 1 ครั้ง?

เรื่องนี้เป็นเรื่องความปลอดภัยซึ่งเป็นหัวใจหลักขององค์กร ศัลยแพทย์ตกแต่งระหว่างประเทศหรือที่เรียกว่า ISAPS ซึ่งมีสมาชิกเป็นศัลยแพทย์ตกแต่งทั่วโลกกว่า 5,000 คน  องค์กรได้จัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เรียกว่า Safety Diamond ประกอบด้วย 4 หลักสำคัญ ได้แก่ 

  1. วิธีการ (Procedure) ต้องเป็นการผ่าตัดมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและต้องเหมาะสมกับผู้รับบริการ 
  2. ผู้รับบริการ (Patient) ผู้รับบริการต้องเป็นผู้ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี และมีสภาพที่เหมาะสำหรับการผ่าตัดนั้น 
  3. ศัลยแพทย์ (Surgeon) ศัลยแพทย์ต้องมีความสามารถและความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในหัตถการที่จะทำ  
  4. สถานที่ (Facility)  สถานที่ต้องได้มาตรฐาน มีเครื่องมือที่พร้อม รวมทั้งมีทีมที่สามารถให้การช่วยเหลือในทุก ๆ ด้าน เมื่อเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้รับบริการเป็นหลัก 

โดยสรุปคือ สามารถทำการผ่าตัดหลายอย่างพร้อมกันได้ ตราบเท่าที่เหมาะสมและมีความพร้อมในทุกองค์ประกอบ เช่น สุขภาพแข็งแรงดีไม่มีโรคประจำตัว แต่ข้อจำกัดคือต้องไม่ใช้เวลาผ่าตัดนานเกินไป แพทย์มีความเชี่ยวชาญ ทำในสถานที่ที่มีความพร้อม และมีเวลาพักฟื้นเพียงพอก็สามารถทำได้ 

4. หากต้องการทำศัลยกรรมหลายส่วนพร้อมกัน เช่น ตากับจมูกจะทำให้แผลบวมมากขึ้นหรือไม่ หรือมีผลข้างเคียงอื่น ๆ หรือไม่?

การผ่าตัดทำให้เกิดการรบกวนเนื้อเยื่อ ยิ่งทำมากก็ต้องมีผลตามมามากขึ้น โอกาสเกิดปัญหาก็จะมากขึ้นตามไปด้วย แพทย์ที่ดีจะพิจารณาถึงความเหมาะสมจากปัจจัยรอบด้านโดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้รับบริการเป็นหลัก

5. ควรเชื่อใคร? (รีวิวจากผู้ทำศัลยกรรม, สื่อโซเชียล, อินฟลูเอนเซอร์, ประวัติแพทย์, เพื่อน, ครอบครัว) หากตัดสินใจทำศัลยกรรมควรศึกษาข้อมูลจากที่ใดบ้าง?

คงต้องพิจารณา 2 ปัจจัยหลัก 

  1. ความปลอดภัย แพทย์ที่มาทำการผ่าตัดควรจะเป็นแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมเต็มหลักสูตรของแพทยสภา มีประสบการณ์ในการทำงานมาพอสมควร โดยสามารถหาข้อมูลของแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งได้จากเว็บไซต์แพทยสภาหรือเว็บไซต์สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย 
  2. สไตล์การผ่าตัด แพทย์ศัลยกรรมตกแต่งก็เหมือนเป็นศิลปินแขนงหนึ่งเปรียบเทียบได้กับนักดนตรีหรือจิตรกร ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความถนัดในแต่ละแบบ มีสไตล์เป็นของตัวเอง ผู้รับบริการแต่ละคนก็จะมีความชอบในแบบที่แตกต่างกัน ผู้ที่สนใจจะทำศัลยกรรมควรติดตามผลงานของแพทย์ท่านที่เราสนใจให้นานพอ  ลองเข้าไปปรึกษาก่อน แล้วค่อยๆ พิจารณาว่าตรงกับความต้องการ ความชอบของเราหรือไม่ ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องเชื่อตามคนอื่น ไม่ต้องเกรงใจคนที่ชักชวนหรือแนะนำ 
1 เทรนด์ศัลยกรรมความงาม 2022

6. จะทำศัลยกรรมต้องรู้อะไรบ้าง? (ข้อจำกัด ข้อห้าม ข้อยกเว้นในการทำศัลยกรรม การเตรียมตัวก่อนและหลังการทำศัลยกรรม)

ปัจจุบันมีข้อมูลให้ศึกษามากมาย จากแหล่งต่าง ๆ ควรจะศึกษาให้มากพอ แต่อย่าปักใจเชื่อทั้งหมด ลองพยายามรวบรวมข้อสงสัยเก็บคำถามมาปรึกษาพูดคุยกับแพทย์ หลังจากพูดคุยและเข้าใจดีแล้วหากตัดสินใจทำ แพทย์และทีมงานก็จะแนะนำการเตรียมตัวเตรียมความพร้อมทางร่างกาย เช่น โรคประจำตัว ยา ข้อห้าม ข้อควรระวังต่าง ๆ ในแง่ของการเตรียมความพร้อมของจิตใจ เมื่อได้พูดคุยซักถามข้อสงสัยทั้งหมดแล้วก็จะเกิดความมั่นใจ ลดความวิตกกังวลลงไปได้มาก นอกจากนี้ยังควรเตรียมระยะเวลาการพักฟื้นให้เพียงพอเพื่อผลการทำศัลยกรรมที่ดีด้วย 

7. การทำศัลยกรรม ต้องเน้นเรื่องอะไรเป็นสำคัญ เช่น อุปกรณ์เครื่องมือ เพศ ช่วงอายุที่เหมาะสม (หากมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์สามารถทำได้หรือไม่)

เรื่องสำคัญที่ต้องเน้นก็คือเรื่องความปลอดภัย safety diamond ทั้ง 4 ด้าน ตามรายละเอียดในหัวข้อก่อนหน้านี้ อีกเรื่องหนึ่ง ที่สำคัญก็คือเรื่องของความพึงพอใจ หากได้พูดคุยปรึกษาจนเข้าใจดีเข้าใจถึงข้อดีข้อเสีย ความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ของการผ่าตัดแล้ว มักจะได้รับผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ 

การผ่าตัดบางประเภทเกณฑ์อายุก็เป็นข้อสำคัญที่ควรพิจารณา เช่น ใบหูกางไม่ควรทำผ่าตัดก่อนอายุ 7 ขวบ เนื่องจากหูยังไม่เติบโตเต็มที่  หรือการผ่าตัดจมูกหรือกระดูกกรามก็ควรจะรอให้กระดูกส่วนนั้นเติบโตเต็มที่เสียก่อน ในแง่ของกฎหมาย ประเทศไทยยังใช้เกณฑ์อายุ 20 ปี ในการตัดสินใจทำการผ่าตัด หากอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร 

8. การทำศัลยกรรมในไทยกับเกาหลีต่างกันหรือไม่?

การทำศัลยกรรม ส่วนใหญ่เน้นที่ฝีมือและทักษะของแพทย์เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ได้ซับซ้อนมาก ซึ่งปัจจุบันแต่ละประเทศมีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทัดเทียมกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือประสบการณ์และความถนัดของแพทย์  

ในประเทศเกาหลี การทำศัลยกรรมตกแต่งมีพื้นฐานมาจากการตกแต่งโครงสร้างกระดูกใบหน้า เนื่องจากคนเกาหลีมีโครงกระดูกใบหน้าที่ใหญ่ แพทย์ก็จะมีประสบการณ์มากในการแก้ไขโครงสร้างกระดูกใบหน้า  

ส่วนในประเทศไทย มีความนิยมเรื่องจมูก หน้าอก แพทย์ศัลยกรรมตกแต่งก็จะมีประสบการณ์ทางด้านนี้มากกว่า รวมไปถึงเรื่องการแปลงเพศ ในประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการยอมรับความหลากหลายทางเพศมากกว่า ดังนั้นแพทย์ไทยก็จะมีประสบการณ์ทางด้านนี้มากกว่าเช่นกัน 

2 เทรนด์ศัลยกรรมความงาม 2022

9. จำเป็นหรือไม่เมื่อทำศัลยกรรมแล้วต้องกลับไปทำหรือแก้ไขเรื่อย ๆ เช่น การทำหน้าอก ต้องเปลี่ยนซิลิโคนทุกปี /การทำตา-จมูกรอบเดียวไม่จบ?

ข้อเท็จจริงคือ มีปัจจัยต่าง ๆ หลายปัจจัยที่อาจทำให้ต้องมีการทำผ่าตัดซ้ำ ได้แก่ 

  1. ร่างกายคนเรามีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ผ่านไป  
  2. วัสดุอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปในร่างกาย มีความเสื่อมหรือเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาการใช้งาน  เช่น เต้านมเทียม เป็นต้น 
  3. Concept of Beauty เปลี่ยนแปลงไปตามความนิยมของคน หรือดาราในยุคนั้นๆ เช่น สมัยก่อนชอบจมูกโด่งตรงเป็นสันชัดเจน ต่อมาชอบจมูกแบบหยดน้ำ ปัจจุบันจมูกชอบแบบน่ารัก เชิดนิดๆ เหมือนเกาหลี  
  4. การผ่าตัดครั้งแรกอาจจะเกิดปัญหาความไม่พึงพอใจหรือภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น 

ด้วยปัจจัยที่เปลี่ยนไปต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ในบางครั้งผู้ที่ทำศัลยกรรมไปแล้ว ต้องการแก้ไข ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ หากการทำผ่าตัดครั้งแรกทำไว้ดี เหมาะสม ถูกต้อง การผ่าตัดแก้ไขก็จะทำได้ไม่ยากและปลอดภัย ดังนั้น ควรเลือกทำการผ่าตัดกับแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง น่าไว้วางใจ ตั้งแต่ครั้งแรก 

10. การทำศัลยกรรมระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย แตกต่างกันหรือไม่?

ปัจจุบันจะเห็นว่าผู้ชายสนใจตัวเองมากขึ้น เป็นยุคที่ผู้ชายก็ดูแลตัวเองมาก มีการแข่งขันสูงในแง่ของสังคม หน้าที่การงาน lifestyle จึงมีการเลือกที่จะตัดสินใจทำศัลยกรรมมากขึ้นเช่นกัน การเตรียมตัวโดยทั่วไปไม่ต่างกัน แต่ที่สำคัญคือต้องเน้นเรื่องการดูแลหลังผ่าตัด เนื่องจากผู้ชายมักมี activity มาก ไม่ค่อยระวัง บางครั้งทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้มากกว่าในผู้ หญิง จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำหลังผ่าตัดอย่างเคร่งครัด 

11. หากมีข้อจำกัดเรื่องโรคสามารถทำศัลยกรรมได้หรือไม่?

อันนี้แล้วแต่กรณี เช่น ถ้ามีซีสต์แต่เป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้ายก็ไม่ใช่ข้อห้ามในการผ่าตัดหน้าอก หรือคนไข้ที่เป็นภูมิแพ้หรือไซนัสเรื้อรัง ซึ่งยังรักษาไม่หายยังมีน้ำมูกที่ต้องเช็ดหรือว่าต้องจับจมูกบ่อยๆ ก็ไม่สมควรทำจมูก หรือคนที่น้ำหนักมากอยากจะยกกระชับเต้านมก็แนะนำให้ลดน้ำหนักก่อนเพื่อไม่ให้เต้านมหย่อนคล้อยอีก หากไปลดน้ำหนักในภายหลัง ทั้งนี้ ผู้รับบริการควรให้ประวัติและปรึกษาแพทย์ก่อนทำการผ่าตัด 

12. เมื่อทำศัลยกรรมแล้ว จะคงอยู่ตลอดไปหรือไม่?

ร่างกายของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยปัจจัยต่างๆ ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ผลของการผ่าตัดนั้นไม่ถาวร แต่จากการเรียนรู้มาอย่างยาวนานในศาสตร์ของการผ่าตัดนี้ ทำให้แพทย์เลือกทำเฉพาะการผ่าตัดที่ให้ผลลัพธ์ที่ดี อยู่ได้นานพอสมควรและคุ้มค่าในการทำผ่าตัด  ยกตัวอย่างเช่น ยุคหนึ่งมีการตัดกล้ามเนื้อบริเวณด้านข้างดวงตาเพื่อรักษารอยย่นตีนกา แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ดีและอยู่ได้ไม่นานกล้ามเนื้อสามารถมายึดกันใหม่ได้ ปัจจุบันก็เลิกทำกันไป ซึ่งเป็นข้อเตือนใจที่ดีว่าอย่าเห่อกับการผ่าตัดเทคนิคใหม่ๆ ที่มีการโฆษณา ต้องผ่านการพิสูจน์ว่าจะได้ผลลัพธ์ที่คงทนและไม่มีปัญหาแทรกซ้อนที่ตามมาก่อน 

ในเรื่องการดูดไขมัน ปริมาณเซลล์ไขมันในร่างกายมีคงที่ตั้งแต่เกิดไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ เมื่อทำการดูดไขมันออกไปแล้วเราจะมีปริมาณเซลล์ไขมันลดลง  แต่เซลล์ไขมันแต่ละเซลล์สามารถสะสมไขมันได้แบบไม่จำกัด  หมายความว่าเมื่อดูดไปแล้วเซลล์ไขมันที่เหลืออยู่จะสามารถสะสมไขมันเพิ่มได้ ดังนั้นหากไม่ดูแลตัวเองต่อเนื่องก็จะทำให้รูปร่างกลับเป็นเหมือนเดิมก่อนดูดไขมันได้ 

13. ทำศัลยกรรมมากเพียงใดจึงจะเรียกว่าเสพติดการทำศัลยกรรม

เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การวินิจฉัยต้องอาศัยการติดตามพูดคุยต่อเนื่องโดยจิตแพทย์และนักจิตวิทยา  การทำเยอะทำบ่อยไม่ได้เป็นจุดหลักในการวินิจฉัย จุดหลักในการวินิจฉัยคือการไม่พึงพอใจในตนเอง โดยคิดว่าการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตนเองโดยการทำศัลยกรรมจะต้องเติมเต็มๆ ความรู้สึกขาดหายได้ จึงจำเป็นต้องทำศัลยกรรมซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดความพึงพอใจ  รู้สึกว่ายังดีไม่พอ คิดว่าจะต้องดีขึ้นกว่านี้ได้อีก 

ยกตัวอย่างเช่น คนที่ทำจมูกไปแล้วมีปัญหาแทรกซ้อนต้องไปแก้ หรือทำไปนานแล้วเกิดเทรนด์ความสวยงามเปลี่ยนจึงไปแก้อย่างนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นการเสพติด หากทำจมูกดีแล้ว ไปทำตาก็ดี แล้วก็ไปทำหน้าอก ไปทำก้น เพราะว่าพึงพอใจอย่างนี้ก็ไม่ใช่เสพติดศัลยกรรม  แต่หากทำจมูกไปแล้วดูดีแต่อยากได้ตรงนั้นอีกนิดตรงนี้อีกหน่อย ดูแล้วยังไงก็รู้สึกยังผิดปกติรู้สึกยังไม่สวยตลอด อย่างนี้ก็อาจจะเข้าข่ายเรื่องของการเสพติดศัลยกรรม 


ขอบคุณข้อมูล : นพ. วีรวัฒน์ ติรนันท์มงคล ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

ภาพ : Pexels

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up