สัญญาก่อนแต่งงาน หรือ สัญญาก่อนสมรส ในภาษาอังกฤษเรียกว่า prenuptial agreement จะเรียกกันสั้นๆ ว่า prenup คือสัญญาที่คู่รักหรือว่าที่คู่แต่งงานทำขึ้นเพื่อจัดการทรัพย์สินและผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายทั้งก่อนแต่งงาน ระหว่างแต่งงาน และในกรณีถ้าเกิดมีการหย่าร้างหรือเสียชีวิต ว่าที่คู่แต่งงานจำเป็นจะต้องพูดคุยถึงทรัพย์สินและผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายควรได้หรือไม่ได้รับก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสมรสและใช้ชีวิตร่วมกันในฐานะคู่แต่งงาน ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่าย เพราะการใช้ชีวิตร่วมกันของคู่รักนั้น บางทีอาจจะมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ การเตรียมตัวไว้ก่อนจึงเป็นเรื่องดีในการรับมือกับปัญหาที่อาจจะตามมาทีหลังได้ แพรวเวดดิ้ง มีคำแนะนำดีๆ ในการทำ สัญญาก่อนแต่งงาน มาฝากว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวที่กำลังจะแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ให้ช่วยกันพิจารณาว่าคู่ของคุณเข้าข่ายจะต้องทำสัญญาเหล่านี้หรือไม่ ทำแล้วมีผลดีผลเสียกับทั้งสองฝ่ายอย่างไรบ้าง ตามไปเช็คกันเลย
ทำไว้ไม่เสียใจ 8 เหตุผลที่คู่รักควรทำ สัญญาก่อนแต่งงาน เมื่อตกลงใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน
1. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายเคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว
สำหรับใครที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้วจะเข้าใจดีว่าการหย่านั้นมีเรื่องต้องให้จัดการยุ่งยากวุ่นวายแค่ไหน โดยเฉพาะคู่ไหนที่จบกันไม่ค่อยดีด้วยแล้วละก็ ดังนั้นจึงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อะไรแบบนั้นอีก การทำสัญญาก่อนแต่ง จะช่วยการันตีว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ผลประโยชน์สูงสุดและไม่ถูกเอาเปรียบจากอีกฝ่ายนั้นเอง
2. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายต่างมีบุตร
บ่อยครั้งที่คู่รักที่มีลูกติดมาจากการแต่งงานก่อนหน้า อยากจะปกป้องผลประโยชน์บางส่วนให้กับบุตร การทำสัญญาก่อนแต่งจะทำให้เรามั่นใจว่าทรัพย์สินและรายได้ของทั้งสองฝ่ายนั้นแยกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อสามารถส่งค่าเลี้ยงดูบุตรหรือมอบเป็นมรดกให้กับบุตรในกรณีเสียชีวิตได้อย่างไม่มีปัญหา
3. ฝ่ายหนึ่งมีทรัพย์สินและรายได้มากกว่า
กรณีนี้สัญญาก่อนแต่งจะช่วยปกป้องทั้งสองฝ่าย ในกรณีของฝ่ายที่ก่อนแต่งมีทรัพย์สินมากกว่าจะได้รับการการันตี ลิมิตที่ชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษรของทรัพย์สินและรายได้ที่คู่แต่งงานจะได้ไปจากเขาในขณะที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน บางคนก็อาจจะบอกว่าเป็นสัญญาที่ทำให้แน่ใจว่า อีกฝ่ายไม่ได้แต่งงานกับเราเพื่อเงินนั้นเอง การทำสัญญานี้ยังเป็นการรักษาผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย สมมุติในกรณีที่ฝ่ายที่มีทรัพย์สินน้อยกว่าก่อนแต่งงาน เมื่อเวลาผ่านไปหลังแต่งงานแล้ว กลายเป็นฝ่ายที่มีทรัพย์สินมากกว่าก็จะได้ผลประโยชน์จากสัญญานี้เช่นกัน
4. ฝ่ายหนึ่งมีหนี้สินมากกว่า
หากว่าอีกฝ่ายมีประวัติการใช้เงินที่ไม่ราบรื่นนัก มีการกู้หนี้ยืมสินติดตัวมาก่อนจะแต่งงานกัน และเราไม่ต้องการที่จะมีส่วนในการรับผิดชอบหนี้ส่วนนั้น การทำสัญญาก่อนแต่งก็จะช่วยการันตีว่าหนี้ส่วนตัวก่อนแต่งงานของอีกฝ่ายจะไม่มีผลกระทบกับรายได้และทรัพย์ในส่วนของชีวิตแต่งงาน นอกเหนือจากนั้น สัญญาก่อนแต่งยังมีเงื่อนไขว่า หนี้สินก่อนแต่งงานไม่สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่คู่สมรสมีร่วมกันระหว่างแต่งงานไปจ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนร่วม หรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อของทั้งสองฝ่ายเป็นเจ้าของร่วมกันก็ตาม
5. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายเป็นเจ้าของกิจการ
หากว่าคู่สมรสสร้างหรือเป็นเจ้าของกิจการก่อนที่จะแต่งงานและจดทะเบียนสมรสกัน การทำสัญญาก่อนแต่งจะช่วยการันตีว่าการแต่งงานครั้งนี้จะไม่มีผลกระทบกับกิจการ โดยเฉพาะในเรื่องของผลประโยชน์ หากว่าเรามีหุ้นส่วนคนอื่นในกิจการก็ยังเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาอีกด้วย นอกจากนี้ การทำสัญญาก่อนแต่งยังช่วยให้เราสามารถกำหนดการมีส่วนร่วมของคู่แต่งงานในกิจการของเราได้ และยังทำให้เรามีอิสระอย่างเต็มที่ในการบริหารกิจการทั้งในปัจจุบันและในอนาคตด้วย
6. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการเปิดเผยชีวิตส่วนตัว
ในสัญญาก่อนแต่งจะระบุว่า ถ้าไม่ได้มีการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากอีกฝ่าย ก็จะไม่สามารถนำข้อมูลส่วนตัวของอีกฝ่ายไปทำการเผยแพร่ บอกต่อบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่โซเชี่ยลมีเดียนั้นค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างแพร่หลาย ข้อมูลส่วนตัวใดๆ ที่คู่แต่งงานไม่ประสงค์ให้ออกสู่สายตาสาธารณะ หรือ คนอื่นๆ ได้รับรู้ หากไม่มีการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วละก็ จะถือว่าเป็นการทำผิดสัญญาก่อนแต่งงานทันที
7. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีมรดกตกทอดที่ต้องรักษา
ถ้าคู่แต่งงานได้รับมรดกตกทอดจากครอบครัว นั้นถือเป็นทรัพย์สินก่อนแต่งงานของฝ่ายที่ได้มรดก เว้นแต่ฝ่ายนั้นจะทำให้มรดกที่ได้รับตกทอดมานั้นกลายเป็นทรัพย์สินร่วมกันอย่างเช่น นำไปลงทุนในกองทุนร่วม หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ทั้งสองฝ่ายมีชื่อร่วมกันเป็นต้น การทำสัญญาก่อนแต่งจะช่วยให้มรดกที่ได้รับตกทอดมานั้นอยู่ในบัญชีทรัพย์แยกจากบัญชีคู่แต่งงาน และอยู่ในชื่อของผู้ได้รับมรดกคนเดียวเท่านั้น
8. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งวางแผนที่จะทำงานเป็น “พ่อบ้าน” หรือ “แม่บ้าน” ที่บ้าน
สัญญาก่อนแต่ง จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของคู่แต่งงานที่ตัดสินใจทำงานดูแลบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูลูก ดูแลในส่วนของงานบ้าน คู่แต่งงานจะต้องมีการตกลงกันถึงเรื่องของการดูแลอีกฝ่ายอย่างยุติธรรม อาจจะมีการให้เงินเดือนที่ชัดเจน สภาพแวดล้อมที่สะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต เป็นต้น
ข้อมูล : brides.com, prenuptialagreements.org, freepik.com
เรียบเรียง : KimZ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
หวานไม่สร่าง! 10 ไอเดีย ฉลองวันครบรอบ เติมความหวานให้ชีวิตคู่ไม่จืดจาง
7 วิธีรับมือ + เคลียร์ปัญหาคู่รักขาดระเบียบ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
คู่รักควรระวัง 6 สัญญาณบ่งบอกว่า “งาน” กำลังเบียดเบียน “ชีวิตคู่” ของคุณอยู่