ซาร่าห์ ศญพร เฮียงโฮม

เจาะตัวตนและหัวใจ “ซาร่าห์ – ศญพร เฮียงโฮม” ศิลปินสาวเท่เสียงดีสุดฮ็อต

Alternative Textaccount_circle
ซาร่าห์ ศญพร เฮียงโฮม
ซาร่าห์ ศญพร เฮียงโฮม

ซาร่าห์ – ศญพร เฮียงโฮม ศิลปินสาวเท่เสียงดีวัย 21 ปี จากค่าย marr ที่โด่งดังจากเพลง นะครับ (ได้ไหม) ด้วยบุคลิกสุดคูล ดูน่าค้นหา จึงมีทั้งสาวๆ และหนุ่มๆ เทใจให้ แม้บุคลิกของเธอในสายตาคนอื่นอาจไม่ชัดเจน แต่คำตอบของเธอชัดพอที่จะอธิบายว่าซาร่าห์คือใคร

เจาะตัวตนและหัวใจ “ซาร่าห์ – ศญพร เฮียงโฮม” ศิลปินสาวเท่เสียงดีสุดฮ็อต

ซาร่าห์ = ซาร่าห์

“ย้อนกลับไปสมัยเด็ก ร่าห์ไม่รู้ว่าตัวเองคือเพศอะไร แค่ว่าเล่นกับเพื่อนผู้หญิงไม่สนุก จึงมีแต่เพื่อนผู้ชาย และความที่สนิทกับพ่อมาก แล้วเป็นลูกคนเดียวด้วย จึงชอบทำอะไรตามพ่อ เรียกว่าซึมซับบุคลิกของพ่อมา พฤติกรรมจึงดูเป็นผู้ชายลุยๆ แมนๆ แต่ไม่ถึงขั้นพูดฮะ ส่วนความย้อนแย้งคือเราเป็นผู้หญิงชอบไว้ผมยาว เพียงแต่ไม่ห่วงสวย ชีวิตโฟกัสแค่อยากออกไปเล่นบาส รองเท้าขาดก็ไม่สนใจ

“พอครอบครัวดูจากพฤติกรรมก็ถามว่าเราเป็นอะไรกันแน่ ตอนนั้นตอบไม่ได้ เพราะยังงงอยู่ บวกกับความเป็นเด็กจึงไม่รู้จะตอบยังไง บอกได้แค่ว่า ‘เป็นผู้หญิงสิ’ เพราะร่าห์รู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิงจริงๆ แต่แม่ก็จะแย้งว่า ‘แล้วทำไมชอบแต่งตัวแบบนี้ล่ะ’ คือร่าห์ใส่แต่กางเกง เสื้อยืด ก็ตอบแม่ไปว่าชอบ เพราะกระโปรงไม่เข้ากับบุคลิก ร่าห์แค่อยากใส่อะไรที่ตัวเองมั่นใจ จนสุดท้ายที่บ้านก็เลิกตั้งคำถาม”

ซาร่าห์ ศญพร เฮียงโฮม

รักต้องฝ่าด่าน

“สำหรับเรื่องความรัก เราพบคำตอบว่าตัวเองชอบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เพราะไม่จำกัดว่าต้องเพศไหน ร่าห์มีแฟนผู้หญิงคนแรกตอนที่เรียนจบ ม.6 ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีคนมาชอบบ้าง ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย กับแฟนคนแรกเราชอบเขา เพราะหน้าตาน่ารัก นิสัยเข้ากันได้ เขาเป็นผู้หญิงที่ไม่จำกัดเพศตัวเองเหมือนกัน ความรักครั้งนั้นต้องบอกว่าใหม่ด้วยกันทั้งคู่ เราคบกันจนเรียนต่อมหาวิทยาลัย สังคมเริ่มเปิดกว้าง และแฟนก็สนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศด้วย เขาสอนให้เรากล้าพูดมากขึ้น มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ขณะเดียวกันเราอยากให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงเปิดตัวให้คนรอบข้างรับรู้

“ตอนแรกครอบครัวไม่เข้าใจ หนทางจึงขรุขระมาก รู้ซึ้งถึงรสชาติชีวิตเลยละ แต่ก็ยังดื้อคบต่อไปตามประสาวัยรุ่น จนในที่สุดครอบครัวยอมรับ ซึ่งต้องใช้เวลากับเหตุผลเยอะพอสมควร ร่าห์ว่าทั้งหมดขึ้นอยู่กับตัวเราด้วยว่าพยายามทำความเข้าใจแค่ไหน และครอบครัวยอมเปิดใจรับไหม ตอนนั้นอธิบายกับพ่อแม่ว่า ‘ขอความเข้าใจหน่อย ร่าห์ไม่ได้ทำอะไรผิด ร่าห์ยังเป็นลูก ยังเป็นคนดีเหมือนเดิม แค่ขอพื้นที่ให้เป็นตัวเองได้ไหม’ เราพูดความจริงและชัดเจน ให้การกระทำตัดสินว่าการที่เราเป็นแบบนี้ไม่ได้ทำอะไรไม่ดีสักหน่อย สุดท้ายครอบครัวก็เข้าใจว่าเราเป็นของเราแบบนี้แหละ

“พอเคลียร์ปัญหากับที่บ้านได้ โล่งใจมาก ความรู้สึกเหมือนได้พ่อแม่ใหม่ (ยิ้ม) คือเมื่อก่อนเราชัดเจนระดับหนึ่งแล้วก็จริง แต่ด้วยวุฒิภาวะ ความรู้ ประสบการณ์ ยังไม่สามารถให้เหตุผลได้ดีมากพอ แต่เมื่อโตพอจะตอบทุกอย่างได้ ที่บ้านจึงสบายใจ และเข้าใจว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ความรักไม่มีขีดจำกัดอีกต่อไป เรื่องเพศก็เช่นกัน”

ความหลากหลาย…ไม่ผิด

“ร่าห์ไม่ได้ศึกษาเรื่อง LGBT มากนัก เนื่องจากไม่ได้จำกัดตัวเองว่าต้องอยู่ในหมวดหมู่ไหน แค่อยากเป็นตัวเราแบบนี้ แต่ตอนนี้เริ่มศึกษาเพิ่มแล้วนะคะ เมื่อก่อนแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่า LGBT หรือ LGBTQ+ ที่มีเครื่องหมายบวกเพิ่มเข้ามาคืออะไร (เครื่องหมาย + แทนบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอื่น )

“ร่าห์เคยเจอผู้ใหญ่ถามว่า ‘เป็นอะไร’ สิ่งที่เขาถามไม่ผิดนะคะ เพราะเขาอาจจะไม่รู้จริงๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตอบแบบไหน ส่วนใหญ่ตอบไปว่าเป็นผู้หญิง เพราะเราก็เป็นผู้หญิงจริง แค่ชอบทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

“เมื่อก่อนเวลาเจอคำถามทำนองนี้เคยรู้สึกเคืองบ้าง ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องถาม ทำไมต้องอยากรู้ แต่เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว จึงเริ่มปรับตัวได้ เหมือนตอนที่โดนพ่อแม่ถามบ่อยๆ แล้วไม่รู้จะตอบยังไง ก็รู้สึกขุ่นมัวทุกครั้งที่ถูกถาม ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาคงไม่คิดอะไร แค่อยากได้คำตอบ เราก็ต้องตอบให้ได้ ส่วนเขาจะพอใจหรือไม่ เป็นเรื่องที่เขาต้องไปทำความเข้าใจกับตัวเอง มันทำให้ร่าห์ตั้งสติว่าจะไม่พอใจทุกครั้งที่ถูกถามไม่ได้ ทุกวันนี้จะตอบว่าร่าห์เป็นผู้หญิงที่มีความชอบไม่เหมือนคนอื่น แต่ยังไม่ถึงขั้นตกผลึกว่าจะไม่รู้สึกอะไรเลยเวลาถูกถาม เรายังมีอารมณ์อยู่บ้างในบางครั้ง ซึ่งก็ต้องดูที่เจตนาคนถามว่าถามเพื่ออะไร

“หรือเวลามีคนบอกว่าร่าห์เป็นทอม ก็รู้สึกนะ เพราะร่าห์ไม่ใช่ แต่พอมีคนพูดเยอะขึ้น ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจว่าที่เขาจำกัดความเราว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ เพราะเขาไม่ได้รู้จักชีวิตเราทั้งหมด สุดท้ายก็ปล่อย แล้วแต่ใครจะนิยามยังไง แต่ถ้ามีใครถาม ก็จะอธิบายว่าไม่ได้เป็นทอมค่ะ แค่เป็นผู้หญิงที่มีความชอบแบบนี้ ส่วนเวลาอ่านคอมเมนต์ในโซเชียล ถ้าเจอข้อความเชิงลบ ซึ่งน้อยมาก ก็เลือกไม่โฟกัส”

ซาร่าห์ ศญพร เฮียงโฮม

นะครับ (ได้ไหม)

นะครับ (ได้ไหม) เป็นเพลงแรกของร่าห์ที่แต่งเอง พยายามแฝงความคิดลงไปด้วย ตอนแรกร่าห์เลือกใช้คำว่า ‘นะคะ’ เพราะเราเป็นผู้หญิง แต่ก็คิดว่าถ้าใช้ ‘นะคะ’ เวลาผู้ชายร้องเพลงเรา เขาจะรู้สึกยังไงไหม จึงลองเปลี่ยนเป็น ‘นะครับ’ ให้ทุกคนร้องตามได้โดยไม่รู้สึกว่าแปลก เพราะเป็นผู้หญิงพูด ‘นะครับ’ ก็ดูน่ารัก หรือผู้ชายพูดก็ธรรมชาติ กลายมาเป็นเพลงนี้ที่อยากให้ทุกคนร้องตามได้โดยไม่เขิน

“การได้เข้ามาทำงานในวงการบันเทิง มีแฟนๆ กรี๊ดเราเยอะขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่ตอนหลังก็มีผู้ชายมาด้วย ภูมิใจนะคะ เหมือนเขาชอบในสิ่งที่เราเป็น ซึ่งร่าห์พยายามเป็นกระบอกเสียง พยายามพูดเสมอว่า ‘ตราบใดที่ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ก็เป็นตัวของตัวเองไปเถอะ’ พยายามทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องปกติที่สุด เวลามีใครบอกว่าเราเป็นไอดอลจึงดีใจ ชอบเข้าไปอ่านอินบ็อกซ์ข้อความในไอจี ผู้ชายคนหนึ่งพิมพ์มาว่า ‘ผมมีพี่เป็นไอดอล ผมเล่นกีตาร์เพราะเห็นพี่เล่น’ หรือผู้หญิงบางคนพิมพ์มาบอกว่าเราช่วยเยียวยารักษาจิตใจเขา ข้อความเหล่านี้ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น

“ร่าห์ดีใจที่ทุกวันนี้สังคมเปิดกว้างมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และคิดว่าในอนาคตจะดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนสามารถเป็นกระบอกเสียงที่เชื่อมทุกเพศเข้าหากันได้ อย่างไม่เคอะเขิน เป็นปกติและเท่าเทียม

“เคยมองไปถึงอนาคตว่าเราอยากแต่งงานเหมือนกันนะ เพราะอยากมีโมเมนต์ตัดเค้ก อยากใส่ชุดสวยๆ หล่อๆ สำหรับแฟนคนปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของเราไม่จำกัดตัวเอง เราเป็นทั้งเพื่อน พี่น้อง เป็นทุกอย่างที่คอยเกื้อกูลกัน ร่าห์มาเป็น นักร้อง แฟนก็เข้าใจ ให้พื้นที่การทำงาน 100 เปอร์เซ็นต์ และช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ตอนนี้อยากตั้งใจทำงานเก็บเงินไปก่อน อนาคตจะเป็นยังไงไม่มีใครรู้ วันนี้แค่มีความสุขกับสิ่งที่ทำก็พอค่ะ” 


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 987

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up