ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

สัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟ “รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

Alternative Textaccount_circle
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้งกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย 1,386,215 คะแนนที่เทให้กับ รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พร้อมความคาดหวังว่าผู้ว่าฯท่านนี้จะมาเป็นฮีโร่หรือความหวังของหมู่บ้าน ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ให้ “กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่” แพรว จึงขอทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้อ่าน ถามทุกคำถามที่อยากรู้กับท่านผู้ว่าฯชัชชาติ หรือสรรพนามที่หลายคนคุ้นชินที่จะเรียกเขาว่า “อาจารย์”

สัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟ “รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

วินาทีที่อาจารย์ทราบว่าได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อยากทำอะไรให้พี่น้องชาว กทม. เป็นอันดับแรกคะ

“ทำตามที่สัญญาไว้ครับ นั่นคือนโยบายที่เสนอ โดยมีแนวคิดที่ละเอียดและแผนการดำเนินการ ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนเลือกผมเข้ามา โดยมีธีมหลักคืออยากให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่ ของทุกคน ประกอบด้วยนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี และรองลงมาเป็นนโยบาย 214 ข้อ ตอนนี้เพิ่มเป็น 216 ข้อ แล้ว ซึ่งไม่ได้สร้างความหนักใจหรือยากอะไร เพราะเราคิดอย่างละเอียด หลังจากผมรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ข้าราชการ กทม.ก็ได้นำไปอ่านและศึกษาทันที และทีมงานของเรามี Action Plan ที่ชัดเจน คือทำตามนั้น ค่อย ๆ ไป” 

กับกระแสผู้ว่าฯฟีเวอร์อาจารย์รู้สึกอย่างไรบ้างคะ

“ผมคิดว่าคงจะเป็นช่วงหนึ่ง (ยิ้ม) อาจเพราะเราไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มานาน และครั้งนี้ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ จริง ๆ เพราะประชาชนเลือกเองโดยตรง ไม่ต้องเลือกตัวแทนไปเลือกอีกที เป็น Direct Election ผมว่าเดี๋ยวก็คงซาไป เหมือนกับทุก ๆ สิ่งในโลก จากนั้นก็จะ กลับมาดูที่เนื้องานมากกว่า เราอย่าไปยึดติดตรงนั้นมาก ซึ่งผมมองว่าการมี กระแสฟีเวอร์เป็นสิ่งที่ดี เพราะเราจะสามารถเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้เป็นความร่วมมือ และความหวัง ทำให้เราได้เห็นความร่วมมือร่วมใจกันในหลาย ๆ ด้าน ยกตัวอย่าง งาน ‘ดนตรีในสวน เพื่อความสุขและความหวัง’ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่สวนวชิรเบญจทัศ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่ถึงอาทิตย์ผมโทร.หาพี่โต้ง – ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ตอนเก้าโมงเช้า ให้ช่วยติดต่ออาจารย์สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการ ไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ผมแค่เรียนอาจารย์ไปว่าช่วยจัดงานนี้ได้หรือเปล่า อาจารย์สุกรีตอบรับทันที และมาดูสถานที่ในตอนเที่ยงวันนั้นเลย

“จากนั้นก็มีคุณหมอท่านหนึ่งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ติดต่อมาทางไลน์ของผม อาสาจะมาเล่นดนตรีแจ๊ส จึงทำให้เกิดงาน ‘สวิงในสวน Swing in the Park’ เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน ที่สนามหญ้าบริเวณศาลา ภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี นี่คือการเปลี่ยนความคาดหวัง ให้เป็นแนวร่วม ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ถาวรกว่า เพราะทุกคน เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ ทำให้เกิดความภูมิใจและ แรงบวก ผมถือว่าเป็นสิ่งที่ดีนะ”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

คนรุ่นใหม่ถือเป็นฐานเสียงกลุ่มใหญ่ของอาจารย์ อาจารย์มีวิธีสื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่อย่างไร และควรจะต่อยอดอย่างไร เพื่อให้เขาเป็นอนาคตที่ดีของชาติ

“ผมขอพูดก่อนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สนุกและ ไม่เคยมีมาก่อน มีหลายอย่างที่เปลี่ยนไป ซึ่งมาจาก ทีมงานที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ และด้วยผมเป็นผู้สมัครอิสระ ไม่มีพรรคการเมืองเข้ามากำหนด จึงไม่มีกรอบความคิด เดิม ๆ มาบังคับ ทำให้ความคิดเป็นอิสระ

“ถ้าถามว่าทำไมผมชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมว่าไม่ใช่เพราะเด็กรุ่นใหม่เท่านั้นนะ แต่เพราะเรา สามารถเจาะทุกกลุ่มคนและทุกวัย ตั้งแต่ผู้สูงอายุไป จนถึงเด็กอายุ 8 ขวบ เพราะมีพ่อแม่หลายคนบอกว่าลูกบอกให้เลือกชัชชาติ เพราะเรามีวิธีการสื่อสารกับคนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน กลุ่มผู้ใหญ่เราจะสื่อสาร ในแบบเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ ทีวี วัยเด็กลงมาก็เน้นสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และเด็กอายุน้อยสุดก็จะเป็น TikTok กับสื่อเสริมอย่างการ์ตูน ถามว่า การสื่อสารโดยใช้การ์ตูนดีอย่างไร สำหรับผมถือเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจ นโยบายต่าง ๆ ดีพอที่จะสามารถเล่าให้เข้าใจง่าย ๆ ด้วยการ์ตูนเพียง 3 ช่อง

“อย่างป้ายหาเสียง อันนี้เป็นไอเดียที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นประเด็น คือผม มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ แล้วเห็นป้ายต่าง ๆ ของเขามีขนาดเล็ก จึงโยน คำถามให้ทีมงานว่าทำไมเราทำอย่างนี้ไม่ได้ เขาจึงไปดีไซน์มา พอดีทีมงาน ทำข้อมูลเกี่ยวกับป้ายรถเมล์อยู่แล้ว จึงทำป้ายหาเสียงออกมาเป็นไซส์ที่สามารถ อยู่บนฟุตปาธได้โดยไม่กีดขวาง รวมถึงป้ายหาเสียงไวนิลที่มีประเด็นเรื่องการ นำไปทำกระเป๋า ผมมองว่าปลายทางของป้ายหาเสียงหลังเลือกตั้งคือกลายเป็น ขยะ เราสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง เราช่วยกันคิดหลายอย่าง อาทิ นำมา พลิกอีกด้านแล้วตีเป็นช่องตารางพยัญชนะไทย ก – ฮ เพื่อนำไปมอบให้ตาม โรงเรียนต่าง ๆ จะได้เกิดประโยชน์ ปรากฏว่าทำไม่ได้ เพราะอีกด้านไม่ได้เป็น พื้นขาวเรียบ ๆ สุดท้ายเราเห็นกระเป๋ายี่ห้อ Freitag ทำไมเราไม่ทำแบบเขาบ้าง จึงลองนำป้ายไวนิลเวอร์ชั่นแรก ๆ มาตัดเป็นกระเป๋าและนำมาใช้กันเอง

“คุณเห็นใบปลิวของผมไหม ทำเป็นไซส์หนังสือพิมพ์ ตัวหนังสือขนาด ใหญ่ ปรากฏว่ากลุ่มผู้สูงอายุชอบ เพราะอ่านใบปลิวแบบแผ่นพับไม่ถนัดแล้ว เราจึงนำไปแจกตามตลาด พ่อค้าแม่ค้านั่งอ่านในช่วงที่ไม่มีลูกค้า อันนี้คือสิ่งที่ เปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการสื่อสารด้วย TikTok เราเพิ่งทำช่วงหนึ่งเดือนก่อนเลือกตั้ง ตอนนี้ยอดไลค์ไปที่ 5 – 6 ล้านแล้ว และคนดูหลายคนเป็นเด็กอายุ 8 – 9 ขวบ

“จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ทุกเสียงมีคุณค่า แต่คนรุ่นใหม่จะเป็น คนที่รับผิดชอบดูแลเมืองนี้ในอนาคต ถ้านโยบายของผมทำมาแล้วเขาไม่เคยรับรู้ เลย เขาก็จะไม่รู้สึกถึงการมีส่วนร่วม เพราะเขาเป็นคนที่ต้องเกี่ยวข้องและได้รับ ผลกระทบต่อนโยบายมากที่สุด”

เคยดูข่าวว่าอาจารย์ถ่ายรูปชนหมัดกับประชาชนนานกว่า 4 ชั่วโมง

“คือประชาชนตั้งใจมาต่อคิว เราก็ต้องให้เกียรติ เขา อย่างวันก่อนผมขึ้นรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT มีเด็กนักเรียนยอมเสียค่าโดยสาร 15 บาทเพื่อมาเจอผม เหมือนมีคนยอมจ่ายให้ผม 15 บาทละ ผมแซวสนุก ๆ นะ (หัวเราะ) ผมขอบคุณทุกคนที่สละเวลาให้กัน มาถึงตอนนี้ผมรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว มีกำหนดการที่ค่อนข้างชัดเจน ถ้าเป็นการเจอกัน ระหว่างเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ อาจจะต้องขออนุญาต ขอตัวไว้ก่อนบ้างบางครั้ง”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ต่อไปสังคมเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น อาจารย์มีนโยบายที่รองรับในส่วนนี้อย่างไรคะ

“เราต้องเตรียมตัวรับมือ เราต้องมองผู้สูงอายุ เป็นสมบัติและทรัพยากรที่มีค่า เพราะเขามีความทรงจำ ประสบการณ์ และมีความรู้มาก หลาย ๆ คนยังสามารถ สร้างผลิตผลให้กับเมืองได้ ส่วนเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ ผมมองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยมองว่าเป็นภารกิจหลัก ของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลกลางจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า อย่างไรก็ตาม กทม.สามารถสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดระบบการดูแลและส่งเสริม การใช้ชีวิตของผู้สูงวัยอย่างมีความหมายได้ เช่น การพัฒนาสาธารณสุขใกล้บ้าน ที่มีคุณภาพ ผมเชื่อว่าจะมีมูลค่าและได้ประโยชน์ทั่วถึงมากกว่าจำนวนเบี้ยที่ กทม. อาจให้เปล่าได้ นอกจากนี้เรายังสนับสนุนด้านอื่นได้อีก เช่น ในหลายชุมชน มีการตั้งชมรมผู้สูงอายุ เพื่อให้เขามาทำกิจกรรม แทนที่จะติดบ้านหรือติดเตียง ก็เปลี่ยนเป็นติดเพื่อนแทน และหลายชุมชนมีการสร้างเศรษฐกิจ อย่างแถว พุทธมณฑลสาย 1 รวมตัวผู้สูงอายุรับจ้างเด็ดใบกะเพราเพื่อส่งออก นอกจาก มีรายได้แล้ว ยังทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกภาคภูมิใจ ไม่ใช่รอรับเพียงอย่างเดียว ผมว่า มีหลายอย่างที่เราสามารถแมตชิ่งงานกับผู้สูงอายุได้ อาจจะรับตัดเย็บ ซักผ้า รีดผ้า กทม.จึงเป็นตัวกลางในการจับขั้วความต้องการในตลาด ต้องสร้างมูลค่า ให้เขา อย่ามองว่าเป็นภาระ”

แล้วเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” ที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของสังคมเมืองล่ะคะ

“วิธีการแก้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีหลักง่าย ๆ คือ ลูกต้องดีและ มั่นคงกว่ารุ่นพ่อแม่ ใน 2 – 3 ชั่วอายุคนความเหลื่อมล้ำก็จะหายไป แต่ถ้ารุ่นลูก แย่กว่าพ่อแม่ ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งถ่างออกไป เพราะฉะนั้นปัจจัยสำคัญคือ การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เห็นได้ชัดจากการที่เราลงไปในชุมชน พ่อแม่ ขายของรถเข็น แต่ลูก ๆ จบปริญญาตรีกันหมด อย่างนี้ความเหลื่อมล้ำจะค่อย ๆ หายไป นั่นคือการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกัน

“แต่ปัญหาของการศึกษาบ้านเราคือคนจนหรือคนมีรายได้น้อยไม่สามารถ เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้มากนัก กลายเป็นแต้มต่อสำหรับคนมีเงินที่สามารถ ส่งลูกเรียนพิเศษหรือกวดวิชา ทำให้มีคนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่จบมหาวิทยาลัย ดี ๆ ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างขึ้นอีก ดังนั้นถ้าจะแก้ไขต้องเน้นไปที่การศึกษา มีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษากว่าครึ่งหนึ่งที่เข้าเรียนในโรงเรียนที่สังกัด กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทั้งหมด 437 โรงเรียน ฉะนั้นเราต้องลงทุนกับเด็กที่ไม่ใช่ แค่เด็กประถม แต่ต้องเป็นเด็กก่อนวัยเรียน เพราะสมองของเด็กจะพัฒนาได้เร็ว ที่สุดในช่วงอายุ 0 – 6 ขวบ ปัจจุบันเราไม่ได้ลงทุนกับเด็กเหล่านี้เลย อย่าง นักเรียนชั้นประถม เราให้ค่าอาหารกลางวันวันละ 40 บาท ส่วนเด็กก่อนวัยเรียน ให้วันละ 20 บาท แค่ซื้อนม 2 กระป๋อง ราคา 14 บาท เหลือเป็นค่าอาหาร ให้เขาเพียง 6 บาท เราต้องลงทุนตรงนี้ให้มากขึ้น เพราะผมเชื่อว่าการศึกษา จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้”

เป็นที่มาของนโยบาย “เรียนดี” ใช่ไหมคะ

“ครับ ผมมองว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญคือเราต้องคืนครูให้กับนักเรียน ปัจจุบันครูเสียเวลาไปกับงานเอกสารการทำวิทยฐานะ (การทำผลงานทางวิชาการ เพื่อขอรับการประเมินในการกำหนดตำแหน่งและเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการครู) ผมเชื่อว่าในอนาคตคำว่า ‘Education’ จะหมดความหมาย แต่ ‘Learning’ จะ สำคัญกว่า อย่างที่หนังสือ Know Your Rights and Claim Them ซึ่งเขียนโดย แอนเจลินา โจลี และศาสตราจารย์เจเรอดีน ฟาน บูเรน บอกไว้ Education ในที่นี้คือสิ่งที่คนอื่นทำให้คุณ เช่น หลักสูตร ป.1 – ป.6 แต่ Learning คือการ เรียนรู้เพิ่มเติมในชีวิต ผมถึงบอกว่าในอนาคตเราต้องปลูกฝังให้เด็กสามารถ เรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เพราะการเรียนรู้สามารถทำได้ตลอดชีวิต เช่น ความรู้ ที่ผมได้รับจากการเรียนจบปริญญาตรี ผมคืนอาจารย์ไปหมดแล้ว ความรู้ที่ผม ใช้ทำงานทุกวันนี้ไม่ได้มาจาก Education แต่มาจากการ Learning ทั้งการอ่าน หนังสือและเรียนรู้จากงานที่ทำ

“ถามว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเรียนรู้เป็น ทำอย่างไรให้เด็กคิดเป็น ผมว่า อันนี้สำคัญ ผมมีหนังสือที่อยากแนะนำคือ Think Again เขียนโดย Adam Grant นักจิตวิทยาชื่อดัง ผมมีโอกาสเขียนคำนำให้กับหนังสือเล่มนี้ฉบับแปล เป็นภาษาไทย เขาบอกว่าจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถ้าเราไม่เปลี่ยนความคิด เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนการกระทำได้ อย่างการหาเสียงของผมที่เล่ามาข้างต้น คือ เริ่มจากเปลี่ยนความคิดก่อน สอนให้เด็กคิดเป็น ไม่ใช่ให้ทำตามกฎระเบียบ ทุกอย่าง ครูต้องเข้าใจวิธีสอนและกระตุ้นให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น และเรียนรู้เป็น จึงเป็นที่มาของนโยบายเรียนดี 29 ข้อ”

สำหรับนโยบายหลักของอาจารย์ที่เป็นเรื่องของเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย อาจารย์คิดว่าดีกว่าหรือเป็นประโยชน์กว่าการแก้ปัญหาแบบเดิมอย่างไรคะ

“ผมว่าจริง ๆ แล้วเป็นการ Complement หรือเติมเต็มกัน ระบบหลาย ๆ อย่างในกรุงเทพฯมีความคล้ายกับร่างกายมนุษย์ที่มีทั้งเส้นเลือดใหญ่และ เส้นเลือดฝอยที่ฟีดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ขาดอะไรไปไม่ได้ เราต้องใช้ เส้นเลือดใหญ่ในการฟีดเลือดจากหัวใจลงไปยังเส้นเลือดฝอย ถ้าเส้นเลือดฝอย ไม่ฟีด เซลล์ต่าง ๆ ก็จะตายหมด ขณะเดียวกันถ้ามีแต่เส้นเลือดฝอย ไม่มี เส้นเลือดใหญ่ มนุษย์ก็ต้องตายเหมือนกัน จึงต้องช่วยเติมเต็มกันและกัน แต่ ที่ผ่านมาเราเน้นที่เส้นเลือดใหญ่ ผมขอเปรียบง่าย ๆ อย่างเรามีจุฬาลงกรณ์- มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่การศึกษา ติดระดับโลกเลย อันนี้คือเส้นเลือดใหญ่ ขณะเดียวกันศูนย์เด็กเล็กหรือ โรงเรียนใกล้บ้านกลับคุณภาพไม่ดี หรือเรามีโรงพยาบาลชื่อดังระดับโลก แต่ สำนักงานสาธารณสุขใกล้บ้านไม่ดี ทุกคนก็จะกระโดดข้ามสำนักงานสาธารณสุข ไปเข้าคิวที่โรงพยาบาลกันหมด หรืออย่างเรามีอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ แต่ท่อ ระบายน้ำหน้าบ้านไม่เคยลอกเลย

“ถามว่าทำไมเราเน้นไปที่เส้นเลือดใหญ่ เพราะเส้นเลือดใหญ่มันดูเซ็กซี่ เวลาบอกว่าคุณทำอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ราคาสองหมื่นล้าน มันดูเซ็กซี่หรือ ดีกว่าคุณไปลอกคลอง ลอกท่อ ถูกหรือเปล่า หรือคุณสร้างมหาวิทยาลัยที่ติด อันดับ 10 ของโลกกับการทำโรงเรียนใกล้บ้าน หรือทำรถไฟฟ้าแสนล้านกับการ ทำทางเดินเข้าบ้าน ความเซ็กซี่มันต่างกัน แต่ผมไม่ได้หมายความว่าเส้นเลือดใหญ่ ไม่จำเป็น แต่ต้องให้สมดุลกัน ดังนั้นช่วงนี้ผมจะทำเส้นเลือดฝอยให้บาลานซ์ คือการทำทางเดินเข้าบ้าน แสงสว่างหน้าบ้าน การเดินออกมาขึ้นรถไฟฟ้าง่ายขึ้น หรือป้ายรถเมล์ที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ก็จะทำให้ ชีวิตเราดีขึ้น สะดวกขึ้น การทำโรงเรียนดีให้อยู่ใกล้บ้าน สุดท้ายเด็กไม่ต้อง เดินทางไกล ไม่ต้องใช้ชีวิตบนรถ หรือไม่ต้องเรียนพิเศษมาก เพื่อเชื่อมไปยัง เส้นเลือดใหญ่คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีได้

“อีกอย่างคือการทำน้อยให้ได้เยอะ ที่ผ่านมาเราทำเยอะแต่ได้น้อย เช่น เราลงทุนกับอุโมงค์ระบายน้ำเป็นหมื่น ๆ ล้านบาท แต่น้ำน้อยไปไม่ถึง เราจึงต้อง เพิ่มเส้นเลือดฝอย คือการลอกท่อ ลอกคลอง ซึ่งใช้งบไม่มาก อย่างที่ผมได้ คุยกับทางกรมราชทัณฑ์ว่ากรุงเทพมหานครจะลอกท่อ 3,000 กิโลเมตร ใช้เงิน ไม่เยอะ ประมาณหลักร้อยล้าน แต่จะทำให้ระบบใหญ่ทำงานได้เต็มที่ หรือการ ลงทุนกับเด็กก่อนวัยเรียน จากค่าอาหารกลางวัน 20 บาท เราอาจจะเพิ่มเป็น 40 บาทต่อคน ซึ่งเรามีจำนวนเด็กก่อนวัยเรียนที่เข้าระบบการศึกษาในโรงเรียน กทม. ประมาณ 2 หมื่นคน วันหนึ่งเราเพิ่มแค่ 4 แสนบาท ปีหนึ่งก็ร้อยล้านบาท ถือว่าไม่แพงถ้าเทียบกับคุณภาพของเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคมต่อไป”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

สำหรับปัญหาคลาสสิกของกรุงเทพฯอย่างรถติด อาจารย์มองอย่างไรคะ

“พอเราเอาเรื่องรถติดมาพูด ท้ายที่สุดคือเราพยายามแก้ไม่ให้รถติด ด้วยการทำให้รถวิ่งเร็วมากขึ้น ปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องรถติด แต่เป็นเรื่องความ คล่องตัวมากกว่า หลาย ๆ เมืองในโลกก็มีรถติด แต่เขามีทางเลือกอื่น คือ รถไฟฟ้า รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT รถขนส่งมวลชน ฉะนั้นเราต้องทำให้ระบบ ขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความเชื่อมโยง เพื่อให้คนใช้รถสาธารณะมากขึ้น

“เอนริเก เปญาโลซา อดีตนายกเทศบาลเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เคยกล่าวไว้ว่า เมืองที่พัฒนาแล้วจะไม่ใช่เมืองที่คนจนหันมาใช้รถ แต่เป็นเมืองที่ คนรวยหันมาใช้ขนส่งมวลชน เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดและทำขนส่งสาธารณะให้ดี รถไฟฟ้าเริ่มดีแล้ว แต่ราคายังแพง และการเชื่อมต่อรถไฟฟ้ายังไม่ดี ทำอย่างไร ให้สะดวกกว่านี้ ทางเดินเท้าระยะ 800 เมตรก่อนถึงสถานีทำให้ดีได้ไหม หรือ มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีคุณภาพ หรือรถเมล์ที่เชื่อมโยง

“ที่รถติดเพราะเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของรถติด เราจึงต้องพยายามใช้ รถสาธารณะให้มากขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการเตรียมรถสาธารณะที่มี คุณภาพ ส่วนปัญหารถติดก็ต้องไม่ยอมแพ้ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ตำรวจจราจร ทางด่วน รถไฟฟ้า และ กทม.ต้องเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหา โดย การประสานงานกันของทุกฝ่าย”

ย้อนกลับไปเรื่องนโยบายนะคะ จาก 214 ข้อ เพิ่มเป็น 216 ข้อ ที่มาเป็นอย่างไรคะ

“ถ้าจำกันได้ ผมบอกไว้ว่านโยบายไม่ใช่ศิลาจารึก แต่คือไดนามิกที่ ต้องฟังเสียงประชาชนว่าเขาอยากได้อะไร นโยบายแต่ละข้อของผม ทีมงาน นำมาวิเคราะห์และพิจารณาความเป็นไปได้ พอมั่นใจว่าทำได้จึงจะปล่อยออกมา 

แสดงให้เห็นว่าทีมงานไม่ได้เชื่อผมเท่าไร ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะผมบอกทีมงาน เสมอว่าต้องการคนที่เถียงหรือกล้าว่าผม อันนี้สำคัญนะ ผมต้องการให้เป็น Radical Transparency ตามหลักของเรย์ ดาลิโอ (ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Bridgewater Associates หนึ่งในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก) คือ อย่าเก็บอะไรไว้ในใจ ถ้าสงสัยคุณต้องพูดออกมา แต่ให้เป็นแค่ความขัดแย้ง ในงาน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ทุกคนต้องกล้าเถียงแบบมีกึ๋นและต้องให้เกียรติกัน

“คีย์เวิร์ดของทีมงานผมมีแค่ 2 คำ คือ สนุก ถ้าไม่สนุก แสดงว่าคุณ มาผิดทางแล้ว กับคำว่าโปร่งใส ต้องกล้าเถียง อย่างนโยบายผู้ว่าฯสัญจร เกิดขึ้นตอนที่ผมลงพื้นที่หาเสียง มีชาวบ้านเข้ามาต่อว่าว่ามาแค่ตอนหาเสียง พอได้เป็นผู้ว่าฯเดี๋ยวก็หายไป บางคนถึงกับบอกว่าถ่ายภาพด้วยกันไว้ก่อน เดี๋ยว เป็นผู้ว่าฯก็จะไม่เห็นหัวแล้ว”

ทักกันขนาดนี้เลยหรือคะ

“เขาคงรู้สึกตามที่พูด เพราะเขาเคยเจอมาอย่างนั้น จึงเกิดนโยบายข้อที่ 215 ผู้ว่าฯสัญจร คือทุกวันอาทิตย์ผมจะลงพื้นที่ไปตามเขตต่าง ๆ ตอนเช้าไป ประชุมที่เขต บ่ายลงพื้นที่ตามชุมชนเพื่อไปพบปะประชาชน ถ้าผมทำอย่างนี้ 1 ปีก็จะครบ 50 เขตพอดี อย่างที่บอกคือผมไม่ใช่ข้าราชการที่ทำงานจนถึง เกษียณ แต่มีเวลาแค่ 4 ปี โดยไม่ได้หมายความว่าข้าราชการทุกคนต้องมาทำงาน วันอาทิตย์ แค่เฉพาะคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนนโยบายที่เพิ่มเป็นข้อที่ 216 คือ อยากให้กรุงเทพฯเป็นอารยสถาปัตย์หรือ Universal Design เหมือนพวกตึก ต่าง ๆ ในต่างประเทศที่มีทางลาดสำหรับผู้พิการ มีทางเดินเท้ากว้าง สะอาด เป็นระเบียบ”

อาจารย์มีกำหนดข้อห้ามสำหรับทีมงานอย่างไรไหมคะ

“คงเป็นเรื่องทุจริต การใช้ชื่อผมไปอ้าง หรือมาเพราะหวังตำแหน่ง หวัง ผลประโยชน์ เพราะเรามาเพื่อทำประโยชน์ คือทุกคนที่อยู่ในทีมไม่รู้ว่าอนาคต จะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ว่าจะได้เป็นรองผู้ว่าฯ การมาร่วมทีมเพราะอยากทำงาน ให้กรุงเทพมหานครจริง ๆ นี่คือแนวคิดที่ผมใช้เลือกทีมงาน”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ในบรรดานโยบายทั้ง 216 ข้ออาจารย์คิดว่าข้อใดสามารถทำได้เร็วที่สุดคะ

“มีหลายข้อที่ทำไปแล้วนะ อย่างเรื่องปลูกต้นไม้ หรือ Traffy Fondue แอพพลิเคชั่นสำหรับสื่อสารเรื่องปัญหาของเมืองระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่ รับผิดชอบก็ทำแล้ว และยังมีหลายเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก เช่น ลดค่าเช่าแผง สิ่งที่ดี อีกอย่างหนึ่งคือทางสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลบอกว่าหลาย ๆ โครงการ มีอยู่แล้ว เราสามารถดำเนินการได้เลย ทำให้สบายใจว่าผมไม่ได้มาผิดทาง”

กับประเด็นว่าข้าราชการไทยค่อนข้างมีอุปสรรคในการทำงาน อาจารย์มีวิธีการดูแลหรือให้นโยบายกับข้าราชการ กทม. อย่างไรคะ

“ข้อสำคัญคือเราต้องเข้าใจและให้เกียรติกัน ผมเชื่อว่าเรามีข้าราชการที่เป็น คนดีอยู่ในระบบจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาคนดีไม่ได้รับการเสนอหรือส่งเสริม ฉะนั้นเราต้องคอยสนับสนุนเขา ต้องยืนเคียงข้าง และทำให้เห็นว่าเราเป็นทีม เดียวกัน ผมจึงบอกว่าต่อไปนี้อย่าเรียกผมว่านาย เราเป็นเพื่อนร่วมงานที่เดิน ไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปลัด รองปลัด หรือพนักงานกวาดถนน จากที่ผมเห็น มาตลอด 7 วันที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าทุกคนมีจิตใจที่อยากช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ แต่เขาอาจมีแนวทางไม่ชัดเจน พอเห็นผมลงพื้นที่ ให้ความสำคัญกับประชาชน ถือเป็นการ Walk the Talk (พูดแล้วทำ) คล้ายกับว่า Leading by Example นำโดยทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งได้ผลนะ ผมลงพื้นที่ไปครั้งหนึ่ง ถนนบางจุดที่มีปัญหา ก็เรียบได้ในเวลารวดเร็วเลย”

การร่วมมือกับรัฐบาลล่ะคะอาจารย์มีแนวทางอย่างไร เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด

“ผมยกมือไหว้ไปทั่ว (ยิ้ม) คือเราอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวง มหาดไทย เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ประสานงาน ที่ผ่านมาทำให้ผมเห็นว่าทุกคน มีจิตใจดีที่อยากจะร่วมมือกัน เพราะตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง (ประมาณ 1 สัปดาห์) กทม.ได้ร่วมมือกับ 3 – 4 หน่วยงานแล้ว ผมเชิญการไฟฟ้านครหลวงมาร่วม พูดคุย ร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เมื่อเช้าผมเชิญกรมราชทัณฑ์มาเรื่อง ลอกคลอง ส่วนวันพรุ่งนี้ผมจะได้พบกับตำรวจจราจร ผมว่าทุกคนอยากร่วมมือ เพียงแค่เราต้องก้าวไปหาเขา เพื่อขอความร่วมมือและหาทางออกร่วมกัน อย่ามีอีโก้ เราต้องให้เกียรติทุกหน่วยงาน และที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร”

อีกเรื่องที่ถามกันค่อนข้างมากคือเรื่องงบประมาณของ กทม. อาจารย์มีการวางแผนงบประมาณอย่างไรคะ

“ต้องเข้าใจก่อนว่า กทม.ได้งบไม่เยอะ ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น ประมาณ 2.5 เปอร์เซ็นต์ของรัฐบาลกลางที่ได้งบ 3 หมื่นล้านล้านบาท ขณะที่ เราดูแลประชากร 15 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ

“ตอนช่วงหาเสียงสื่อสัมภาษณ์ว่าผมจะจัดงบประมาณอย่างไร วิธีที่ง่าย ที่สุดคือนำงบประมาณปีที่แล้วมาเพิ่ม 5 เปอร์เซ็นต์หรือ 3 เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือ การทำงบประมาณทั่วไป แต่จริง ๆ แล้ววิธีที่ถูกต้อง เราควรต้องดูว่างบประมาณ ของปีที่แล้วมีอะไรควรตัดทิ้งไหม อย่าง Zero-Based Budgeting (งบประมาณ ฐานศูนย์ คือการจัดสรรงบประมาณจากความจำเป็นของโครงการหรือกิจกรรม ให้มีประสิทธิภาพ) เป็นวิธีหนึ่งที่ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์และทำงบประมาณใหม่ ไม่ใช่เพิ่มเปอร์เซ็นต์จากงบปีก่อน บางทีอาจต้องลดไปเลย 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ เพิ่ม 20 เปอร์เซ็นต์

“ซึ่งเราต้องประเมินจากความคุ้มค่าของโครงการ อย่าทำตามแนวคิดที่ทำ ต่อ ๆ กันมา ต้องคิดใหม่ด้วย อย่างที่ผมบอกว่า ‘ทำน้อยได้เยอะ’ เพราะฉะนั้น แทนที่จะนำเงินไปลงกับอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์อีกสองหมื่นล้าน เราเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ มาทำเส้นเลือดฝอยด้วยการลอกท่อ ลอกคลอง แทนที่จะสร้างโรงพยาบาลใหญ่โต เรานำมาใช้ปรับปรุงสำนักงานสาธารณสุขก่อนดีกว่า ฉะนั้นวิธีการบริหารงบประมาณ ของผมคือต้องดูสิ่งที่จำเป็นและครอบคลุม อีกทั้งต้องหารายได้เพิ่มด้วย เช่น เรื่องวัสดุสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย เป็นต้น”

ในยุคที่ผ่านมาบ้านเราค่อนข้างมีความแตกแยกทางการเมือง อาจารย์คิดว่าควรทำอย่างไรให้สังคมกลับมาสามัคคีกัน เหมือนเดิม

“อันนี้เป็นมุมมองของผมเองนะ การทำงานของสมองมี 2 ระบบ คือ ใช้อารมณ์กับใช้เหตุผล หลาย ๆ ครั้งที่การเมืองมีการใช้อารมณ์ เพราะง่ายและ ติดนาน เวลาปลุกเร้าความเกลียดชังจะทำให้แบ่งแยกคนได้ แต่การใช้เหตุผล ต้องคิด เตรียมเหตุผล และอธิบาย เพราะฉะนั้นทำด้วยเหตุผลจึงเหนื่อยกว่า

“ผมว่าอันดับแรกเลยคืออย่านำความขัดแย้งมาเป็นเครื่องมือในทางการเมือง ผมเคยพูดตอนที่ผมรับตำแหน่งว่ามีคนได้ประโยชน์จากความแตกแยกของเรา ผมจึงพยายามพูดด้วยเหตุผล ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม เราต้องทำเป็นตัวอย่าง อย่าใช้ความโกรธหรือความเกลียดชังมาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร ใครจะด่า หรือว่าอะไรเรา อย่าไปทำให้กระแสแรงขึ้นด้วยการว่าตอบ เพราะจะยิ่งทำให้แตกแยก ถ้าเขาด่า แล้วเราบอกว่าขอบคุณครับ แค่นี้ก็จบ ไม่มีดราม่า แล้วทำงานต่อไป นี่คือสิ่งที่ ง่ายที่สุดที่เราทำได้แล้ว”

กว่าอาจารย์จะมาถึงจุดนี้ต้องผ่านอะไรมากมาย ทั้งเรื่องราวทางการเมืองและชีวิตส่วนตัว เพราะอะไรจึงไม่ท้อคะ

“สิ่งที่ผมทำทั้งหมดเพราะมีความสุขที่ได้ทำ ไม่ได้ฝืนใจทำ นั่นเพราะผมรู้แล้วว่า แพสชั่นของผมคือการทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้น ไม่ได้อยู่แค่ที่เนื้องาน แต่เป็นปฏิสัมพันธ์ ระหว่างผมกับคนรอบข้าง เพราะฉะนั้นแม้จะเปลี่ยนงาน แต่แพสชั่นก็ยังอยู่ เช่น ตอนเป็นอาจารย์ทำให้คนดีขึ้นได้ด้วยการให้ความรู้ ตอนทำบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็ทำให้ ชีวิตของลูกบ้านดีขึ้นด้วยการสร้างบ้านที่มีคุณภาพ และที่ผมลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ก็เพื่อ ทำให้กรุงเทพฯดีขึ้น

“ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ทุกคนทำเพราะมีเหตุผลของเขาเอง เราอย่าไปตัดสินใคร เราไม่รู้หรอกว่าเขาเจ็บปวดแค่ไหนในสิ่งที่ผ่านมา ผมจำได้ว่าตอนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผมเคยไปวิ่งที่สวนลุมพินี แล้วมีการตั้งม็อบในนั้น จู่ ๆ มีอาแปะคนหนึ่งเดินมาพูดว่าไอ้เฮีย!!! ตอนนั้นรู้สึกโกรธว่ามาด่าผมทำไม พอตั้งสติ มองว่าเขาคงมีประสบการณ์ที่ไม่ดี หรือมีเหตุผลบางอย่างที่แสดงออกอย่างนั้น ความโกรธ ก็ ลดลงเลย เพราะเราไม่ มี ทางรู้ว่าประสบการณ์ ไม่ ดี ที่เขาเคยเจอมาคื ออะไร การที่เราไปโกรธ หรือเกลียดตอบไม่มีประโยชน์

“ผมเชื่อว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนใจคนอื่นได้ ที่เปลี่ยนได้คือตัวเอง เหมือนเราจูงม้า ไปกินน้ำ เขาจะกินหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา ผมว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นบทเรียน”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

อาจารย์มีวิธีเติมพลังและความสุขให้ตัวเองอย่างไรคะ

“ผมชอบออกกำลังกายตอนเช้า ทำให้สมองโปร่งโล่งดี ทุกวันนี้ผมเข้านอน 4 ทุ่ม ตื่นตี 3 ออกวิ่งตอนตี 4 ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ผมชอบวิ่งริมคลอง เพราะทำให้เห็นเมืองในมุมที่ไม่เคยเห็น และได้เห็นชีวิตผู้คน อย่างคนไร้บ้านที่นอนตามฟุตปาธ คนทำงานกลางคืน พนักงานกวาดขยะ ที่ต้องมายืนกวาดถนนตั้งแต่ตี 4 มีแค่ไม้กวาดหนึ่งอันกับที่ตักผง เราไม่มีเทคโนโลยีอะไรช่วยเขาเลย เวลาไม้กวาดเสียก็ต้องซ่อมเอง บางครั้งก็ได้รับรู้ชีวิตของเขาลึกกว่าที่เห็น อย่างที่พนักงานกวาดถนนยื่นจดหมายที่เขาเขียนบอกเล่า ด้วยลายมือตัวเองว่าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แล้วไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังได้ทราบถึงปัญหาในพื้นที่จริงว่าเวลาฝนตกหนักน้ำจะท่วมตรงไหน กลับมาก็โทร.หา ผู้อำนวยการเขตได้เลย”

จากนี้จนครบวาระ 4 ปีในตำแหน่ง อยากให้ผู้คนจดจำผู้ว่าฯชัชชาติในแบบไหนคะ

“เป็นผู้ว่าฯที่ทำงานเพื่อประชาชนและทำตามสัญญาครับ” (ยิ้ม)

สุดท้ายค่ะ อาจารย์อยากบอกอะไรกับชาวกรุงเทพฯคะ

“กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีความหวังมากมาย เพียงแค่เรายังไม่ได้เจียระไนให้เปล่งประกาย แต่ช่วงไม่กี่วันที่เข้ารับตำแหน่ง ผมได้เห็นถึงพลังบวกและความหวังมากมาย ฉะนั้นผมจะพยายามทำทุกอย่างให้เต็มที่ ทำทุกอย่างที่สัญญาไว้เพื่อไม่ให้ทุกคนผิดหวัง และเราต้องมาร่วมมือกัน ผมไม่สามารถทำคนเดียวได้ มีหลายคนบอกผมว่าฝากกรุงเทพฯด้วยนะ ผมตอบเขากลับไปว่า ผมไม่รับฝากนะ เราต้องไปด้วยกัน

“เพราะเมืองไม่ใช่อาคารบ้านเรือน เมืองคือคน ถ้าอยากให้เมืองดีขึ้น เราต้องดูแลคนรอบตัว ดูแลบ้าน ดูแลความสะอาด ดูแลสิ่งแวดล้อม ถ้าทุกคนทำร่วมกันก็จะเป็นจิ๊กซอว์ให้เมืองนี้สมบูรณ์ได้” 


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 984

เรื่อง : Tomalin, กิดานันท์, ภัทรีพันธ์

ภาพ : อิทธิศักดิ์ บุญปราศภัย / ผู้ช่วยช่างภาพ : โซฟีแอนน์ธมลวรรณอดัมส์

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up