ว่าที่คุณหมอ “โจ-ธนจักร สินรัชตานันท์” ลูกพี่ลูกน้องของ “มิว-นิษฐา” ที่หลังเรียนจบด้านวิทยาศาสตร์จาก University of British Columbia ก็กลับมาช่วยดูแลธีรพลคลินิกของคุณพ่อ นพ.ชลทิศ สินรัชตานันท์ คุณหมอศัลยกรรมความงามอันดับต้นของเมืองไทย ควบคู่ไปกับการเรียนแพทย์ที่จุฬาฯ หนุ่มคนนี้มีความสามารถหลากหลาย เป็นทั้งนักกีฬากังฟู นักมายากล บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ แถมยังเคยชิมงานละครด้วย เรียกว่าเก่งครบเครื่องจริงๆ
เปิดวาร์ป! ว่าที่คุณหมอหนุ่มหล่อ “โจ-ธนจักร” ลูกพี่ลูกน้องของ “มิว-นิษฐา”
ทำไมเก่งหลายอย่างจังเลยคะ
(ยิ้ม) “ผมชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลาน่ะ อย่างความสนใจในสายวิทยาศาสตร์อาจมาจากสมัยเด็ก คุณป้าชอบปลูกต้นไม้ แล้วท่านอธิบายเรื่องราวของแต่ละ ต้นให้ฟังว่ามันเติบโตยังไง ทำให้ผมอินกับเรื่องชีววิทยา โดยไม่รู้ตัว ตอนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็รู้ว่าตัวเอง ต้องมาทางสายชีวะแน่ๆ ซึ่งปกติชีวะจะแบ่งเป็นสองสาย คือด้านสุขภาพกับสิ่งแวดล้อม ใจผมเทมาอย่างหลัง จึงเลือกเรียนที่ University of British Columbia ประเทศแคนาดา ซึ่งเด่นเรื่องนี้
“พอเข้าไปเรียนจริงๆ จึงรู้ว่าสาขานี้เรียนไม่ลึก แต่ต้องรู้รอบด้าน ทั้งเรื่องพืช ระบบนิเวศ ดิน ภูมิศาสตร์ สัตว์ มีแตะเคมีเล็กน้อย ไปจนถึงเศรษฐศาสตร์ ต้องศึกษาการบริหารจัดการ ไปจนถึงสังคมวิทยา และจิตวิทยาด้วย สำหรับคนที่เรียนจบสาขานี้ ต่อไป อาจเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัย แต่สำหรับผมแค่ อยากเรียนให้ได้ความรู้ เพราะทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมเป็น สิ่งสำคัญ”
มีประเด็นสิ่งแวดล้อมเรื่องไหนที่สนใจเป็นพิเศษไหมคะ
“ที่ผมติดใจคือความจริงประเทศเรามีระบบนิเวศ ที่สมบูรณ์ ทั้งเรื่องความเหมาะสมทางสภาพอากาศ ดิน ต้นไม้ เรียกว่าแคนาดายังสมบูรณ์ไม่เท่า แต่สิ่งที่เขาเด่น กว่าคือระเบียบในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เขาทำได้ ค่อนข้างดี ซึ่งถ้ามองย้อนกลับมาที่บ้านเรา มีหลายเรื่อง ที่ผมรู้สึกเสียดาย อย่างคลองในกรุงเทพฯที่จริงเป็นเสน่ห์ ของเมืองไทย แต่ไม่ได้มีการรักษาให้ยั่งยืน โดนถมเป็น ถนนไปมาก ถ้ามีการจัดการที่ดี สิ่งแวดล้อมจะดีตาม”
ถัดจากเรื่องวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องอะไรคะ
“กังฟูครับ (ยิ้ม) ผมเริ่มเรียนกังฟูมาตั้งแต่ ป.6 เพราะชอบออกกำลังกาย แล้วได้เจอกับเหล่าซือท่านหนึ่ง มาจากวัดเส้าหลิน ต้องเล่าก่อนว่าผมกับคุณย่าชอบดูหนัง ที่เฉินหลงแสดง พอมีโอกาสเรียนจึงอินมาก ฝึกมาเรื่อยๆ
“กระทั่งช่วง ม.ปลายผมย้ายไปเรียนที่สิงคโปร์ ก็ได้ เป็นตัวแทนโรงเรียนแข่งกีฬากังฟูที่นั่น ทั้งในประเทศและ นอกประเทศ อย่างมาเลเซีย เวียดนาม แมตช์ที่ถือว่าโหด สำหรับผมคือตอนที่แข่งกับมาเลเซีย ตอนนั้นคู่แข่งเก่ง กว่ามาก ผมจึงซ้อมหนัก ซึ่งที่จริงกีฬาชนิดนี้ซ้อมหนัก ไม่ได้ เพราะร่างกายจะพัง ตอนไปแข่งก็ลุ้นมากว่าจะ ชนะไหม สุดท้ายก็ได้เหรียญเงินกลับมา ดีใจมากครับ
“ทุกวันนี้ผมก็ยังเล่นกังฟูอยู่นะ ชอบในความเป็น กีฬาที่ได้ใช้ร่างกายทุกส่วน ต้องฝึกทั้งความแข็งแกร่ง ความ ยืดหยุ่น เพื่อนผมหลายคนก็มาขอให้ผมสอนให้”
แล้วนักมายากลกับบาร์เทนเดอร์ล่ะคะ
“เกิดขึ้นตอนไปเรียนที่แคนาดาครับ ได้เปิดหูเปิดตา หลายด้าน รวมถึงเรื่องมายากลและการเป็นบาร์เทนเดอร์ ต้องเล่าย้อนนิดหนึ่งว่าผมสนใจเรื่องมายากลตั้งแต่ เรียนมัธยม จุดเริ่มต้นคืออยากแกล้งเพื่อน จึงหาทริค ง่ายๆ จากยูทูบ กะจะอำให้เพื่อนตกใจ โดยพับกระดาษ วางไว้แล้วทำท่ายิงปืน ทำให้กระดาษล้ม ปรากฏว่าเพื่อน ไม่ได้ตกใจ แต่ทึ่งว่าเราทำได้ ผมจำโมเมนต์นั้นได้เลยว่า ชอบฟีดแบ็กที่ผู้คนทึ่ง คือไม่ได้รู้สึกเท่หรอก แต่รู้สึกดี ที่เขาอึ้ง
“พอไปอยู่ที่เมืองแวนคูเวอร์ ที่นั่นเล่นกลกันเยอะ นิยมจ้างนักมายากลไปเล่นตามปาร์ตี้ งานแฟร์ต่างๆ ผมก็เริ่มเล่นกับเพื่อน 4-5 คนในมหาวิทยาลัย ฝึกจากคลิปใน ยูทูบ ตั้งแต่ทริคเบสิกทั่วไป กับซื้อหนังสือมาอ่าน ซึ่ง เล่มหนามาก เหมือนตำราเรียนแพทย์เลยครับ เพราะ มายากลเป็นศาสตร์ที่มีมากว่าพันปีแล้ว นอกจากนี้ผมก็หา นักมายากลเก่งๆ มาสอนให้ ไม่ได้จ้างเขานะ คือวงการนี้ ค่อนข้างแคบ รู้จักกันหมด ก็ใช้วิธีไปตีซี้ ชวนเขากินข้าว คุยกันเรื่องมายากล บางครั้งคุยติดลม ผมเคยถึงขั้นหอบ กระเป๋าไปนอนกับเขาก็มี ซึ่งเขาก็ค่อยๆ สอนให้ แล้วแต่คน ว่าใครจะยอมถ่ายทอดให้ขนาดไหน บางคนปล่อยหมด บางคนก็เก็บทริคที่เขาต้องใช้ทำมาหากิน ซึ่ง ผมว่าศาสตร์นี้เรียนกันไม่มีวันจบหรอก เพราะมีทริคใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ
“หลังจากพอมีความรู้ ผมกับเพื่อนก็ก่อตั้งสมาคมมายากลขึ้นเป็นครั้งแรกในมหาวิทยาลัยเลยครับ ตอนนั้นได้รับความสนใจเยอะมาก พอมีงานปาร์ตี้เขาก็ชวนพวกผมไปเล่น ช่วงแรกฟรี ตอนหลังผม ทดลองเก็บเงิน เขาก็จ่าย จนเริ่มได้ลูกค้าวงกว้าง เช่น ไปเล่นตามงานออฟฟิศ จนถึงงานใหญ่อย่าง งานสภากาชาดที่แวนคูเวอร์
“ประสบการณ์ที่ผมชอบมากคือได้ไปแสดงที่สมาคมของนักเรียนจีนที่แคนาดา เป็นสมาคมใหญ่ ในมหาวิทยาลัย สนุกตรงที่ผมรู้จักกับเพื่อนหลายคนที่นั่น พอขึ้นเวทีทุกคนคุ้นหน้าเราอยู่แล้ว ดูไป ก็หยอกกันไป คุยกันเฮฮาดีครับ”
เวลาแสดงมายากล ขึ้นโชว์เดี่ยวหรือมีทีมด้วยคะ
“แล้วแต่โจทย์เลยครับ การเล่นมายากลมี 2 แบบ คือ Close up ที่ให้นักมายากลเดินไปทั่วงาน ถ้าเจอลูกค้าคนไหนยืนว่างๆ เราก็เข้าไปเล่นโชว์ให้ดู ซึ่งงานสภากาชาดเป็นแบบนี้ กับอีกแบบคือแสดง บนเวที มักเป็นงานแต่งงานหรือคอนเสิร์ต ซึ่งผมชอบการแสดงบนเวทีมากกว่า สนุกกว่า เล่น รอบเดียวจบ บวกกับคนดูเยอะ ประมาณ 50-300 คน”
เคยคิดการแสดงเองด้วยไหมคะ
“ยังครับ นักมายากลมี 2 สาย คือคิดมายากลเอง เล่นเอง กับสายที่เน้นการแสดง โดยมีทีม คิดให้ ผมถนัดอย่างหลัง คือเราแสดงไป โดยมีคนช่วยคิด หรือบางครั้งถ้าเราชอบทริคไหนมากๆ ก็ขอซื้อ ลิขสิทธิ์จากเขามาเล่น”
เคยพลาดบ้างไหม
“บ่อยครับ ถือเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเวลาผิดห้ามแสดงออก ต้องเนียนๆ ไป เป็นอีกทักษะที่ ต้องหัดเลยนะ กับเวลาเจอคนดูสายโหด ที่ในวงการเรียกผู้ชมประเภทนี้ว่า Tough Cookie คือคุกกี้ ชิ้นนี้แข็งมากเลย เคี้ยวไม่ลง ไม่ว่าเราแสดงอะไรไป เขาก็ไม่รับ นักมายากลจะต้องหัวไว สำหรับผมไม่มีเทคนิครับมือตายตัว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
“ที่เคยเจอคือคนดูตื๊อไม่เลิก คอยพูดว่าเมื่อกี้ยูทำอย่างนี้เหรอ บางคนเอามือเข้ามาล้วง รุกล้ำ พื้นที่ส่วนตัว ช่วงแรกที่เพิ่งแสดง เจอแบบนี้ก็หัวร้อนเหมือนกัน แต่แสดงออกไม่ได้ ต้องเป็นมืออาชีพ คือไม่สนใจเขา เล่นให้จบแล้วหนีออกมา ซึ่งถ้าเล่นไปนานๆ เราจะเดาออกได้เลยว่าคนดูคนไหน ที่มีแนวโน้มจะเป็นแบบนี้ ทางที่ดีที่สุดคืออย่าปะทะ”
ทุกวันนี้ยังเล่นมายากลอยู่หรือเปล่าคะ
“น้อยลงแล้วครับ มีเล่นให้เพื่อนๆ ดูบ้าง ไม่ได้รับเป็นงานเหมือนสมัยอยู่แคนาดา แต่ผมยัง ศึกษาวิธีการเล่นมายากลอยู่เรื่อยๆ นักมายากลที่ผมชอบคือเดวิด คอปเปอร์ฟีลด์ เขาเก่งในเรื่อง ทักษะและแสดงเก่ง อีกคนคือหลิวเชียน คนนี้ทั้งแสดงเก่งและหยอกล้อกับคนดูเก่งมากครับ”
มาถึงเรื่องบาร์เทนเดอร์บ้าง
“จุดเกิดเหตุคือตอนผมเรียนปี 2 ครับ (หัวเราะ) เพื่อนชอบวานให้ไปซื้อเครื่องดื่มสำหรับปาร์ตี้ ปัญหาของผมคือพอเข้าไปในร้านแล้วงงมาก เพราะเหล้ามี หลากหลายชนิด เลือกไม่ถูกว่าควรซื้ออะไร ตัดสินใจเข้าคอร์ส เรียนเลยว่ามีกี่แบบ ได้ใช้หรือไม่ได้ใช้ไม่เป็นไร อย่างน้อย มีความรู้ติดตัว ซึ่งพอได้เรียนจริงๆ ก็ต้องบอกว่าตกหลุมรัก
“ความน่าสนใจคือเหล้าแต่ละชนิดมีวัตถุดิบต่างกัน พอ นำมาผสมจะได้รสชาติที่ต่างกัน ไม่ตายตัว อีกเรื่องที่ผมชอบ คือวัตถุดิบของเหล้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเตกีลา รัม มาจาก พืชทั้งหมด ซึ่งวกกลับไปถึงความสนใจของผมที่มีต่อพืช ตอนนั้นผมซื้อหนังสือ The Drunken Botanist มาอ่าน ผู้เขียน บอกว่าเหล้าแต่ละประเภททำมาจากอะไร พืชชนิดไหน อ่าน เพลินเลย
“อีกสิ่งที่สนุกคือลีลาในการชง เพราะสุดท้ายรสชาติขึ้นอยู่ กับลูกค้าว่าชอบแบบไหน แต่ลีลาน่ะมากมาย แทนที่จะหยิบช้อนเฉยๆ อาจมีท่าควงนู่นนี่ ซึ่งยากมาก ที่เล่านี่ผมยังทำไม่ได้นะ (หัวเราะ) หลังจากเทคคอร์สที่แคนาดาสั้นๆ ช่วงปิดเทอมปี 2 ผมได้กลับมาอยู่เมืองไทย 3-4 เดือน ก็ไปลองเป็นบาร์เทนเดอร์ ที่ The House Club โรงแรม W Hotel ตอนนั้นเห่อ อยากลอง ความรู้ที่เรียนมา สิ่งที่ผมชอบที่สุดจากการเป็นบาร์เทนเดอร์คือ ได้พูดคุยกับลูกค้า เพราะบรรยากาศของบาร์คือผู้คนรีแล็กซ์ ไม่ว่า คุณจะอยู่สถานะอะไร ลูกน้อง หัวหน้า ฯลฯ มันถูกละลาย ไปหมด ทุกคนสามารถเป็นเพื่อนกันได้”
บาร์เทนเดอร์โจมีสูตรเด็ดที่ใครชิมก็ชมไหมคะ
“สูตรพีน่าโคลาดาครับ ผมได้มาจากเม็กซิโก ใช้น้ำมัน มะพร้าว เหล้ารัม สับปะรด ผสมกะทิเล็กน้อย อร่อยมาก”
แล้วเรื่องเรียนล่ะคะ จบกลับมาเมืองไทยเมื่อไหร่
“ผมกลับมาประมาณ 3 ปีที่แล้วครับ ตอนนี้กำลังเรียนต่อ แพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเรียนทั้งหมด 6 ปี ผมเหลือเรียน อีก 3 ปีก็จะจบออกมาเป็นหมอเลย คือนอกจากได้ความรู้ ยังเอามาปรับใช้กับธุรกิจของครอบครัวซึ่งเป็นคลินิกศัลยกรรม ด้วย
“ผมเรียนพร้อมกับทำงานที่บ้านไปด้วย เช่น ต้อนรับ แขกวีไอพีที่มาใช้บริการ ทำงานร่วมกับทีมขาย ตั้งแต่การบริหาร หน้างานจนถึงหลังใช้บริการ ดูว่าลูกค้าอยากทำโปรแกรมอะไร แล้วคอยให้คำแนะนำเบื้องต้น เลือกแพทย์ตามความเหมาะสม
“แม้จะเป็นธุรกิจของครอบครัว แต่ก็มีความยากและท้าทาย อุปสรรคของการทำธุรกิจครอบครัวคือความคิดเห็นไม่ตรงกัน อย่างเรื่องมาร์เก็ตติ้งสมัยคุณพ่ออาจใช้ไม่ได้ในยุคนี้ บวกกับสื่อ เทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภคแตกต่างไป ก็ต้องปรับตัว บวกกับเดี๋ยวนี้มีคลินิกศัลยกรรมมากมาย ซึ่งผมคิดว่าวงการ ศัลยกรรมจะอยู่ได้ก็ด้วยฝีมือของหมอและความศรัทธาของลูกค้า สำหรับคลินิกเรานับว่าโชคดีที่ได้รับความไว้วางใจเยอะ”
นอกจากสายธุรกิจ ทราบว่าโจเคยลองงานบันเทิงมาบ้าง
“ใช่ครับ มีพี่ๆ ชวนผมให้ไปลองถ่ายโฆษณา ล่าสุดได้ รับเชิญให้รับบทเป็นแม็กกี้ในเรื่อง ให้รักพิพากษา ก็สนุกดี นะครับ คือเป็นศาสตร์การแสดงที่คล้ายมายากล ถ้าในอนาคต มีโอกาสเข้ามาอีก ผมก็อยากจะลองทำดูครับ”
ปรึกษาพี่มิวบ้างไหมคะ
“พี่มิวเคยพาผมไปช่อง 3 พร้อมกับให้คำแนะนำเรื่องการวางตัว เช่น อย่าทำอะไรเสียหาย แต่ ส่วนใหญ่เราคุยเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องงานครับ เราเห็นกันมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะคุณพ่อของพี่มิวเป็นน้องชาย ของคุณแม่ผม ผมอายุห่างกับพี่มิวไม่เกิน 5 ปี เริ่มมาสนิทและแฮ้งเอ๊าต์กันตอนโตแล้ว เรื่องที่พูดคุย กันตอนนี้ก็จะมีเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องแฟน เราจะถามในฐานะที่เขาโตกว่าและได้มุมมองของความเป็น ผู้หญิงครับ ที่จะเจอเป็นเรื่องเป็นราวหน่อยก็เวลาไปทริปครอบครัว
“เป็นธรรมเนียมของบ้านเราที่จะจัดทริปใหญ่พาอาม่าไปเที่ยวปีละครั้ง มีผมกับพี่มิวและลูกพี่ลูกน้อง คนอื่นซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 สมัยเด็กเราต้องไปกับคุณพ่อคุณแม่ พอพวกเราโตขึ้นก็จัดทริปไปเที่ยว กันเองได้แล้ว เช่น ไปเกาหลี ไต้หวัน อย่างตอนที่ผมเรียนอยู่แคนาดา พี่มิวต้องบินไปทำงานที่แอลเอ พวกเราญาติๆ ก็จะนัดเจอกันที่แอลเอครับ เป็นทริปสนุกๆ ตามประสาเด็กวัยรุ่น ส่วนใหญ่คือนั่งเมาท์กัน ในโรงแรม เรียกว่าเมาท์ไปได้เรื่อยๆ ทุกเรื่องครับ
“ถ้าอยู่ที่เมืองไทย ญาติๆ มักจะชอบมารวมตัวกันที่คอนโดผม เพราะมีบาร์ไว้ชงเครื่องดื่มเสิร์ฟให้ ทุกคน บางครั้งก็เล่นมายากลโชว์ด้วย หรืออย่างน้องชายผมเป็นสายนักดนตรี ก็จะจัดงานสังสรรค์ เฮฮาเป็นประจำ“แต่ช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด ผมกับพี่มิวไม่ได้เจอกันเลยครับ พอพี่มิวท้อง เราก็เป็นห่วง ความปลอดภัย หรืออย่างอาม่าเองก็อายุมากแล้ว จึงยังไม่ได้มีโอกาสรวมญาติ ผมยังไม่มีโอกาสเจอ น้องมารินตัวจริงเลย เห็นผ่านออนไลน์อย่างเดียว คุยกันทางไลน์ตลอด คอยอัพเดตกันเรื่อยๆ ครับ”
สำหรับโจ พี่มิวเป็นอย่างไร
“ช่วงที่พี่มิวเข้าวงการบันเทิง ผมไปเรียนที่แคนาดาแล้ว เริ่มเห็นพี่มิวเป็นนางเอกเอ็มวี จากนั้นก็ เป็นนางเอกละคร พี่มิวขยันและตั้งใจมาก ผมว่านิสัยเขามีเสน่ห์ บวกกับหน้าตาสวย แล้วมีทักษะเรื่อง การแสดงด้วย จึงไม่แปลกใจเลยที่ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้”
โจมองอนาคตไว้ยังไง หรือมีอะไรที่อยากเรียนเพิ่มเติมอีกไหมคะ
“สิ่งที่อยากจะเรียนรู้เพิ่มเติมในอนาคตคือโหงวเฮ้งครับ ผมว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของโหราศาสตร์ แต่มีหลักการอย่างอื่นเข้ามาผสมด้วย ผมชอบศาสตร์ของตะวันออกนะ ซึ่งหลายๆ อย่างก็ค่อนข้างตรง ตอนนี้กำลังเริ่มศึกษาอยู่
“แต่ถ้าเป็นภาพรวมของชีวิต ผมไม่มองยาวๆ เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน จะมองแค่ 3-5 ปีข้างหน้า หน้าที่หลักก็ยังคงเป็นเรื่องเรียน ส่วนงานด้านอื่นๆ ถ้ามีโอกาสเข้ามา ผมก็อยากจะคว้าไว้ พยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ครับ”
ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 978
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
รู้จักสาวเก่ง “เพชร-ศสิพร อำนวยเดชกร” พี่สาวที่แสนดีของ “พีพี-กฤษฏ์”
งานดีไม่แพ้น้องชาย! คุยลึกถึงตัวตน “แบงค์-ชินดนัย ภูวกุล” พี่ชายแบมแบม
แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ ถอดบทเรียนวิธีคิดผิดๆ จนทำให้เผชิญวิกฤต โรคแพนิค