โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์

กูรูการเงิน “โค้ชหนุ่ม” แนะหนทางรอดปี 2022 ตั้งรับวิกฤติการเงินตามช่วงวัย

Alternative Textaccount_circle
โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์
โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์

แม้คาดกันว่าในปี 2022 สถานการณ์การเงินทั่วโลกยังอยู่ในสภาวะที่ไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากยังไม่รู้ว่าโควิดจะสร้างความผันผวนอย่างไรอีกหรือไม่ แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ แพรว มีคำแนะนำจาก “โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ถึงวิธีการตั้งรับสถานการณ์การเงินของแต่ละช่วงวัยมาฝาก

“ผมอยากให้มองสถานการณ์เป็นหลัก สิ่งที่สำคัญมากคือไม่ว่าช่วงอายุไหน สิ่งแรกที่ต้องมีคือเงินสำรอง สำหรับคนที่มีงานทำควรสำรองเก็บไว้ 6 เดือน ถ้าไม่มี ไม่ควรลงทุนใหญ่โต เพราะจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เราได้รับบทเรียนแล้วว่าพอต้องหยุดทำงานหรือ Leave Without Pay สาหัสกันแค่ไหน”

กูรูการเงิน “โค้ชหนุ่ม” แนะหนทางรอดปี 2022 ตั้งรับวิกฤติการเงินตามช่วงวัย

วัย 30 ปี

“วัยทำงานสร้างครอบครัว สร้างเนื้อสร้างตัว ระวังการซื้อสินเชื่อที่ต้องผูกระยะยาว เช่น กู้ซื้อบ้าน หรือซื้อรถ ในช่วงเวลาอึมครึมควรพิจารณาแหล่งรายได้ว่ามีความมั่นคงหรือไม่ หรือคุณมีรายได้มากกว่าหนึ่งทางหรือเปล่า ถ้ามีประจำก็สามารถลงทุนได้

“ต่อมาคือหลายคนหันมาสนใจลงทุนกับเงินดิจิทัลกันมากขึ้น เพื่อต่อยอดสร้างฐานะ แต่ควรแบ่งเงินลงทุน 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่ควรเสี่ยงเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบหรือเดือดร้อนยามที่ต้องใช้เงินด่วน เพราะหุ้นหรือคริปโตเคอร์เรนซี่มาคู่กับความเสี่ยง ผมแนะนำเพิ่มว่านอกจากบัญชีเงินฝาก ควรเก็บเงินกับกองทุนตราสารหนี้ สลากออมทรัพย์ หรือเงินฝากสหกรณ์ไว้บ้าง

“อีกอย่างที่ซื้อได้คือประกันออมทรัพย์ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าประกันภัยมีระยะเวลาในกรมธรรม์ยาว เช่น 10 – 20 ปี เหมาะกับการออมระยะยาว ส่วนคนที่ซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี ผมแนะนำว่าต้องเป็นประกันที่มีสัญญาคุ้มครอง 10 ปี ไม่แนะนำให้ใช้เทคนิคทำประกันปีนี้ เพื่อใช้ลดหย่อนปีหน้าแล้วยกเลิก เพราะสรรพากรอาจเรียกเงินคืนภายหลัง”

40 – 50 ปี

“กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีบ้าน รถ สิ่งที่ต้องประเมินคือถ้าชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลง ภาระที่คุณต้องผ่อนอยู่หนักเกินไปหรือเปล่า ผมแนะนำว่าไปเจรจากับทางธนาคาร เพื่อขอปรับลดยอดเงินผ่อน สามารถยืดเป็นการผ่อนช่วงสั้นๆ ได้ถึงปี 2567 เช่น ถ้าเคยผ่อนบ้าน 10,000 บาท อาจขอให้เหลือ 2,500 บาท แล้วพอสถานการณ์ดีขึ้นค่อยผ่อนเป็นขั้นบันได เพื่อให้ 1-2 ปีนี้หายใจได้คล่องก่อน

“สอง เรื่องการลงทุน ถ้าอีก 5 ปีจะเกษียณ ผมแนะนำให้คุณรักษาเงินต้นที่เก็บหอมรอมริบไว้ เพื่อเดินเข้าเส้นชัยแบบที่ไม่ต้องเสี่ยงมาก ควรจะลงทุนกับสินทรัพย์ที่มั่นคงมากกว่าลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยง ควรมีเงินฝากธนาคาร สหกรณ์ สลากออมทรัพย์ กองทุน สลากเงิน กองทุนตราสารหนี้ หรือลงทุนในทอง ซึ่งอยู่ได้ทุกยุค ถ้าเงินตกลง ทองเป็นตัวชดเชยให้ การเก็บออมพวกนี้ใช้เงินประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ก็พอ

“สำหรับผม เวลาเลือกลงทุนในเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ ผมไม่เก็งกำไรระยะสั้น จะถือยาวๆ ไม่ซื้อขายบ่อย ทยอยสะสมเก็บไว้ โดยเลือกเหรียญที่มีมูลค่าและมีอรรถประโยชน์สูง คือเหรียญที่มีคนเอาไปใช้งาน เช่น บิทคอยน์ ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือเหรียญอีเธอเรียม ที่ปัจจุบันนี้ก็มีการใช้ใน NFT แล้ว”

60 ปีขึ้นไป

“ผมเคยคุยกับผู้เกษียณหลายท่านที่กังวลว่าเงินจะไม่พอใช้ แล้วอยากนำเงินไปลงทุนใหญ่โต อันดับแรก ผมจะขอให้เช็กก่อนว่าถ้าอยากใช้เงินเดือนละ 10,000 บาท ตีว่าหลังเกษียณมีชีวิตเฉลี่ย 20 ปี ก็เป็นจำนวนเงิน 2,400,000 บาท บวกเงินเฟ้อไปหน่อย มีสัก 3,000,000 ถือว่าโอเค ไม่จำเป็นต้องลงทุนหวือหวาก็อยู่ได้สบายๆ แนะนำให้ลงทุนสลากออมทรัพย์ ตราสารหนี้ หรือเงินฝาก สหกรณ์จะปลอดภัยกว่า

“แต่ถ้ามีเงินเก็บอยู่เพียงล้านเดียว แต่อยากใช้ 3 ล้าน ผมแนะนำว่าควรหาอาชีพเสริม จะช่วยยืดเงินต้นที่มีออกไปได้อีก ถ้าคุณมีเงิน 2 ล้านกว่าบาท อยากเก็บให้ถึง 3 ล้าน สามารถลงทุนได้ แต่เหมือนเดิมครับ อย่าเสี่ยงมาก อย่าลงทุนกับหน่วยการลงทุนที่ไม่รู้จัก เพราะผู้เกษียณคือเหยื่ออันดับหนึ่งของมิจฉาชีพ ใครที่บอกว่าอยู่เฉยๆ แล้วจะได้เงินเยอะ หลอกทั้งนั้น”

เกษียณหรือถูกปลดพร้อมหนี้สิน

“สิ่งที่อยากให้ทำคือการเจรจา เพื่อปรับภาระการผ่อนหนี้กับธนาคาร ซึ่งทุกแห่งให้บริการนะครับ อย่าเพิ่งหาเงินมาใช้หนี้ ผมแนะนำให้เข้าไปพร้อมเอกสารจดหมายแนะนำตัวว่าเป็นใคร ติดภาระอะไร ขอปรับเงื่อนไขผ่อนเป็นกี่บาท

“สำหรับหนี้ใหญ่อย่างบ้าน มีผู้เกษียณหลายคนตัดสินใจขายทรัพย์สิน เช่น บ้านราคา 5 ล้าน เหลือผ่อนอีก 2 ล้าน บางคนไปต่อไม่ไหวจริงๆ ก็ตัดสินใจขายเลย ใช้เงินคืนแบงก์ 2 ล้าน เหลือ 3 ล้านใช้ในชีวิตประจำวันก็พออยู่ได้สบาย สุดท้ายถ้าปรับลดภาระการผ่อนหรือขายทรัพย์สินไม่ได้ ก็ต้องหางานทำเพิ่ม

“แม้ปีนี้สถานการณ์ยังไม่แน่นอน แต่อย่างไรก็น่าจะดีกว่าปีก่อน เพราะหลายธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดตัวแล้ว ขอให้มีสติในการใช้เงินและวางแผนให้ชัดเจนสำหรับอนาคตนะครับ”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 977

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สมศักดิ์ศรีกูรูการเงินตัวพ่อ “ฟลุค-เกริกพล” วางแผนการเงินสุดเป๊ะให้ลูกสาวตัวน้อย

แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ ถอดบทเรียนวิธีคิดผิดๆ จนทำให้เผชิญวิกฤต โรคแพนิค

เป้าหมายชีวิตปี 2022 ของ “เป๊ก-ผลิตโชค” เตรียมรัวผลงานใหม่ และทำงานเพื่อสังคม

Praew Recommend

keyboard_arrow_up