สรยุทธ

เปิดใจครั้งแรก “สรยุทธ” ชีวิตในเรือนจำ และการคัมแบ็กทวงบัลลังก์ “เจ้าพ่อเล่าข่าว”

Alternative Textaccount_circle
สรยุทธ
สรยุทธ

นับตั้งแต่ถูกศาลตัดสินให้รับโทษไปเมื่อต้นปี 2563 ไม่รวมระยะเวลาที่หายไปต่อสู้คดีหลายปีก่อนหน้านั้น ยังไม่เคยมีใครได้รู้ความรู้สึกลึกๆ ในใจของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” กระทั่งได้รับอิสรภาพกลับมาทวงตำแหน่ง “เจ้าพ่อเล่าข่าว” อย่างเต็มภาคภูมิ วันนี้เขาพร้อมแล้วที่จะบอกเล่าเรื่องราวในทุกแง่มุมกับ แพรว เป็นครั้งแรก

เปิดใจครั้งแรก “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ชีวิตในเรือนจำ และการคัมแบ็กทวงบัลลังก์ “เจ้าพ่อเล่าข่าว”

ขออนุญาตย้อนถามถึงเหตุการณ์วันที่ศาลตัดสินนะคะ

“ต้องบอกว่าวันนั้น (21 มกราคม 2563) ตอนฟังศาลอ่านคำพิพากษาไปกว่าครึ่ง ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของผมในหลายประเด็น แต่สุดท้ายผลก็อย่างที่รู้กันคือผมถูกตัดสินให้รับโทษ 6 ปี 24 เดือน ความรู้สึกคือชาๆ เดินตามเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ลงไปด้านหลังศาล พอหันไปเจอเจ้าหน้าที่ อสมท. จำเลยที่ 1 ผมก็ถามสิ่งที่อยู่ในใจผมมาตลอดออกไปต่อหน้าผู้คุมหลายคนในห้องว่า ‘ผมสั่งคุณลบคิวโฆษณาตอนไหน’ เขาตอบว่าไม่มี แล้วร้องไห้ นาทีนั้นผมตัดสินใจอโหสิกรรมให้และบอกเขาว่า จากนี้ขอเพียงแค่ถ้าใครถามเรื่องนี้ ขอให้พูดความจริงแบบที่พูดกับผม แม้แค่กับหนึ่งคน ผมก็ดีใจแล้ว

“จากนั้นเจ้าหน้าที่ให้เปลี่ยนเป็นชุดเสื้อยืดคอกลมสีขาว กางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน กับรองเท้าแตะ ที่ทีมงานพากันไปซื้อมาให้เดี๋ยวนั้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนที่เรือนจำ พอไปถึงเรือนจำมีการตรวจค้นร่างกายด้วยเครื่องเอกซเรย์ว่ามีอะไรซุกซ่อนมาหรือเปล่า ถอดเสื้อ ถ่ายรูปหน้าตรง ด้านข้าง ด้านหลัง จากนั้นพิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจสุขภาพเบื้องต้น เขาให้ทำอะไร ผมก็ทำตามไปโดยอัตโนมัติ ก่อนจะถูกส่งเข้าแดน ซึ่งเพื่อนนักโทษอุตส่าห์มีน้ำใจไปหาพวกอุปกรณ์ยังชีพเบื้องต้น เช่น ขัน สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน กับผ้าขนหนูบางๆ มาส่งให้”

คืนแรกในเรือนจำเป็นอย่างไรบ้างคะ

“ความรู้สึกคืนนั้นต่างจากคืน 29 สิงหาคม 2560 ตอนไปฟังศาลอุทธรณ์แล้วถูกตัดสินให้จำคุก 13 ปี 4 เดือน แล้วต้องอยู่ในเรือนจำ 15 วัน เนื่องจากไม่ได้ประกันตัว ตอนนั้นผมเหวอ ไม่ทันตั้งตัว นึกได้แค่ถอดสร้อยพระ นาฬิกา สูท ให้ทีมงานเก็บ เข้าไปถึงเรือนจำตอนโพล้เพล้ ใจเสีย ทำอะไรไม่ถูก อาบน้ำก็ถอดหมด เพราะเข้าใจว่าต้องทำอย่างนั้น นักโทษคนอื่นต้องสะกิดว่าใส่กางเกงในอาบได้ ในหัวคิดแต่เรื่องจะสู้คดียังไง ฎีกายังไง จะสู้หรือยอมแพ้ คิดวนอยู่แค่นี้ รุ่งขึ้นออกมาพบทนายกับทีมงานที่มาเยี่ยม ยอมรับว่าน้ำตาไหล ผมถามออกไปด้วยความรู้สึกน้อยใจว่าทำไมประเด็นที่เราต่อสู้ไม่ถูกพูดถึงเลย และในช่วงที่ติด 15 วันครั้งนั้น ความคิดวนเวียนอยู่ที่จะยอมแพ้ดีไหม ไม่สู้ต่อ ให้คดีจบแค่ชั้นอุทธรณ์ ยอมติดคุกไปเลย เพราะมีเจ้าหน้าที่กับนักโทษจำนวนไม่น้อยที่คอยบอกว่าจบดีกว่า เห็นมาเยอะแล้ว สู้ไปก็ไม่ชนะ ‘สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน’ ยอมติดวันนี้ รออภัยโทษดีกว่า…

“แต่ครั้งนี้ทุกอย่างจบแล้ว คดีสิ้นสุด ต้องบอกว่าผมทำใจมาประมาณหนึ่งแล้วด้วย ตลอด 4 ปีตั้งแต่หลังจากได้ประกันออกมาสู้คดี ผมฝึกซ้อมให้ตัวเองไม่ติดกับความสบายต่างๆ เช่น นอนที่พื้น ไม่นอนบนเตียง ไม่เปิดแอร์ เปิดแค่พัดลม ร้อนยังไงก็ทน เวลามองกำแพงบ้านก็คิดว่าถ้าอยู่ในคุก เราเห็นกำแพงสูงๆ จะคิดอะไร จะมองเห็นอะไรบ้าง

“คืนแรกผมอยู่แดน 1 เป็นแดนแรกรับที่มี 13 ห้อง ชั้นบน 10 ชั้นล่าง 3 ห้อง ที่ชั้นล่างห้องนอนน้อย เพราะแบ่งเป็นห้องเก็บอุปกรณ์กับห้องพักเจ้าหน้าที่ด้วย ผมนอนห้อง 13 ขนาดของห้องคะเนจากสายตาน่าจะประมาณ 8 เมตรหรือ 10 × 10 เมตร ข้างในมีห้องน้ำที่เรียกว่าบ็อกซ์ 2 ห้อง ลักษณะคือเป็นแผ่นไม้กั้น แค่เอวแทนประตู ใครเข้าก็เห็นหน้ากันหมด จำนวนนักโทษไม่แน่นอน ประมาณ 20 – 40 คน แล้วแต่วัน ขึ้นอยู่กับว่ามีใครออกไปศาลหรือมีคนใหม่เข้ามาหรือไม่

“เมื่อนักโทษขึ้นเรือนนอน ผู้คุมจะปิดประตูที่เป็นกรงติดมุ้งลวดลั่นกุญแจสองชั้น แล้วส่งลูกกุญแจออกไปฝ่ายควบคุมกลางที่อยู่ด้านนอกนู่นเลย ด้วยเหตุผลทางความมั่นคง ผมอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเกิดไฟไหม้จะทำอย่างไร กว่าจะมีใครมาเปิดประตูให้ เคยมีกรณีนักโทษไม่สบาย กว่าจะพาตัวออกไปได้ ต้องรอเจ้าหน้าที่ไปเอากุญแจข้างนอกมาเปิด แล้วค่อยแบกคนป่วยส่งสถานพยาบาลในเรือนจำ

“นักโทษทุกคนจะได้รับแจกผ้าห่ม 3 ผืน ใช้ปูพื้นแทนที่นอน 1 ผืน พับแทนหมอน 1 ผืน อีกผืนใช้ห่ม หรือหน้าร้อนก็ใช้ปูพื้นสองชั้นให้ที่นอนหนาขึ้นอีกนิด ความกว้างของที่นอนก็ประมาณคนละ 3 แผ่นกระเบื้อง ส่วนระยะห่างระหว่างที่นอนของแต่ละคนมีแค่ไม่กี่นิ้ว อ้อ เรือนนอนไม่มีการปิดไฟนะ หลายคนจึงใช้ผ้าปิดตาหรือนอนคลุมโปง โชคดีว่าผมสามารถนอนแบบเปิดไฟได้ คืนแรกนั้น อาจเพราะคืนก่อนขึ้นศาลแทบไม่ได้นอนเลย จึงหลับยาวถึงเช้าจนโดนปลุกให้ตื่นขึ้นมาเข้าแถว ปกติเขาจะปล่อยลงจากเรือนนอนประมาณ 6 โมงเช้า แต่ถ้าฟ้ายังไม่สว่าง ก็ต้องรอก่อนตามกฎความปลอดภัย บางวันเลยไปจนถึง 6 โมงครึ่งผู้คุมถึงจะมาเปิดห้องขัง”

สรยุทธ

ชีวิตข้างในเรือนจำเป็นอย่างไรบ้างคะ

“หลักๆ คือต้องปรับตัว อย่างช่วงก่อนที่จะเข้าไป ผมชินกับการนอนเกือบเช้าตื่นบ่าย ก็ต้องปรับให้เป็นเวลาที่เขากำหนด เช้าแรกผมตื่นมาแบบเจ็บไปทั้งตัว โดยเฉพาะสะโพก เพราะผ้าห่มบางๆ กับพื้นกระเบื้อง ไหนจะน้ำหนักตัว จากนั้นยืนร้องเพลง สดุดีจอมราชา ต่อด้วยสวดมนต์ผ่านทีวีภายในเรือนจำ ซึ่งฟังไม่ค่อยได้ศัพท์หรอก ปิดท้ายด้วยแผ่เมตตาและร้องเพลง สรรเสริญพระบารมี จบแล้วเข้าแถวรอผู้คุมมาเปิดประตูห้องขัง ถึงเวลาก็เช็กยอด คือขานนับจำนวนไปจนครบคน แล้วจึงได้ออกมา

“พอลงมาส่วนมากทุกคนจะยกมือไหว้ขอพรพระพุทธชินราชจำลองที่ศาลาเล็กๆ หน้าแดน สำหรับผมไหว้อธิษฐานขอให้อยู่ในนั้นได้อย่างไม่มีปัญหา ขอให้สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วย โชคดีที่ผมนอนชั้นล่าง จึงเดินออกมาได้เร็วกว่าคนอื่นหน่อย รีบอาบน้ำให้เสร็จก่อนที่คนจำนวนมากจะลงมา ที่อาบน้ำเป็นบ่อซีเมนต์ยาวให้ยืนตักอาบ ในนี้ไม่ให้เอ้อระเหย แต่ไม่ถึงขนาดนับขัน อาบเสร็จแล้วจะซักผ้าเอง หรือจ้างเขาซักก็ได้ แล้วเปลี่ยนใส่เสื้อขาว กางเกงสีน้ำเงินหรือสีดำที่ต้องซื้อเองจากร้านของเรือนจำ เขามีการกำหนดสีเสื้อนักโทษด้วยเพื่อให้จำง่าย ถ้าสีขาวอยู่ในแดน สีฟ้าไปเยี่ยมญาติกับไปหาหมอที่เรือนพยาบาล และสีน้ำตาลไปศาล

“สิ่งที่นักโทษใหม่ต้องทำของเช้าแรกคือตัดผมสั้นกุด แล้วทำประวัติ ถอดเสื้อ ถ่ายรูปใหม่สำหรับใช้เป็นรูปประจำตัว พอ 8 โมงรวมตัวกันเคารพธงชาติ สวดมนต์ เช็กชื่อ ออกกำลังกาย อบรม จากนั้นพวกคนเก่าจะแยกย้ายไปเข้ากองงานต่างๆ ส่วนคนมาใหม่ยังไม่มีหน้าที่ ก็กินข้าวเช้าในโรงเลี้ยงแล้วกระจายตัว รอญาติมาเยี่ยม

“เรื่องเยี่ยม แต่ละคนออกมาพบญาติได้วันละครั้ง ประมาณ 20 นาที เว้นวันหยุดราชการ มีแค่วันเสาร์ที่จะสลับให้เยี่ยมเสาร์เว้นเสาร์ ผมคิดว่ากรมราชทัณฑ์ควรพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ เนื่องจากญาติส่วนใหญ่ต้องทำงานจันทร์ – ศุกร์ ว่างแค่ เสาร์ – อาทิตย์หรือวันหยุดต่างๆ การงดเยี่ยมวันหยุดจึงน่าเห็นใจผู้ต้องขังที่รอให้มีใครมาหา ที่ผมเห็นคือบางคนมีพ่อแม่ ภรรยา ลูกมาเยี่ยมทุกวัน ขณะที่บางคนไม่มีเลย แต่ก็มีเหมือนกันนะที่ญาติมาทุกวัน แล้วพอรู้ว่ามีวันหยุด ภรรยาถึงกับเฮ เพราะจะได้มีเวลาไปทำอะไรอย่างอื่นบ้าง อันนี้ก็เศร้าไปอีกแบบ

“สำหรับผม ถ้าเป็นวันหยุดไม่ได้ออกมาเยี่ยมญาติ ผมก็จะอยู่แถวๆ ‘พัฒนาแดน’ ที่เขาทำงานพวกปรับปรุงสนาม ฉาบปูน ทาสี นอกจากนี้ก็มีกองการกีฬา กองโยธา เรือนนอน ห้องตัดผม ร้านค้าสงเคราะห์ กองดนตรี ซึ่งขยันซ้อมมาก วันหนึ่งผมได้ยินนักร้องซ้อมเพลง ราชทัณฑ์ปันสุข ท่อนจบร้องว่า ‘ราชทัณฑ์ทั้งแผ่นดิน’ ฟังแล้วสะดุ้ง ติดคุกกันทั้งประเทศจะดีเหรอ พอมีโอกาสจึงขออนุญาตแนะนำเขาไปว่าน่าจะปรับเนื้อ เขาก็ขอบใจใหญ่

“ตอนหลังผมขอให้ทีมงานช่วยส่ง พล นิกร กิมหงวน กับนิยายกำลังภายในของกิมย้ง กระบี่เย้ยยุทธจักร เข้าไปอ่านก่อนนอน ชอบเนื้อเรื่องที่มีฝ่ายธรรมะ อธรรม และวิญญูชนจอมปลอมในฝ่ายธรรมะ (ยิ้ม) แต่บอกเลยว่าตลอดปีกว่าที่อยู่ในนั้น ผมนอนหลับๆ ตื่นๆ เป็นระยะ ก่อนจะตื่นจริงตอนตี 5 เพื่อเริ่มต้นกิจวัตรอีกครั้ง”

เรื่องอาหารการกินล่ะคะ

“เรื่องนี้หลายคนน่าจะเข้าใจผิดเหมือนผม ที่ทีแรกคิดว่าญาติจะสามารถหิ้วข้าวปลาอาหารไปฝากไปเยี่ยมได้ ความจริงไม่ได้นะครับ เขาให้ญาติสั่งซื้อผ่านร้านค้าในเรือนจำตามเมนูที่กำหนดไว้ให้ สรุปก็คือเป็นอาหารเรือนจำเท่านั้น มีฟรีกับเสียเงิน แล้วก็มีร้านค้าสงเคราะห์ที่ขายพวกขนม นม น้ำ ของใช้เล็กๆ น้อยๆ ถ้าญาติฝากเงินไว้ให้ เราก็จะมีสิทธิ์ใช้ได้วันละ 300 บาท โดยใช้นิ้วโป้งกดจ่าย

“ผมกินง่าย ส่วนใหญ่ทีมงานจะสั่งไว้ให้ล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อวาน (สั่งวันนี้ ได้วันรุ่งขึ้น) มากินรวมกับเพื่อน กับข้าวก็จะวนเวียนอยู่แถวๆ แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด ไส้กรอก ไข่ลวก ใครที่ไม่มีเงิน ถ้าไม่รับจ้างทำงานพวกซักผ้าก็ต้องกินที่โรงเลี้ยง ซึ่งเท่าที่ผมเห็นและเคยลองกินก็พอกินได้แหละ แต่คงไม่ง่าย เมนูอาหารก็อย่างที่เขาอำกัน คือมีหลากหลาย แบบแกงฟักใส่หมู แกงหมูใส่ฟัก ผัดผักใส่หมู ผัดหมูใส่ผัก แค่สลับคำก็หลากหลายแล้ว และเป็นสูตรสุขภาพ คือเน้นผักเป็นหลัก ส่วนรสชาติ…เอาเป็นว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถือว่าเป็นสวรรค์ของนักโทษ เพราะเก็บเครื่องปรุงมาใช้ต่อได้

“ผลไม้ก็มีนะ แม้เขาจะมีคำถามล้อกันว่าผลไม้หน้าไหนแพงที่สุด คำตอบคือผลไม้หน้าเรือนจำจ้ะ (หัวเราะ) ผมมักจะสั่งกล้วยน้ำว้า ซึ่งเป็นสินค้ายอดฮิต ตั้งใจอยากกินวันละ 2 ลูก จะได้ช่วยเรื่องขับถ่าย แต่อย่าไปนึกถึงกล้วยสวยๆ แค่แบบธรรมดายังไม่เจอ มีแต่แบบเหลี่ยมแน่นๆ สีเขียวแล้วยังไม่ทันเหลืองก็ข้ามไปน้ำตาลเลย ข้างในจึงแกนๆ เฝื่อนๆ ตอนหลังมีนักโทษร้องเรียนเรื่องคุณภาพกล้วย ที่สุดกล้วยก็หายสาบสูญไปจากบัญชีสั่งของ ประมาณว่าถ้ามีปัญหา การแก้ปัญหาก็คือไม่ต้องมีสิ่งนั้น จบเลยไม่ได้กินกล้วยน้ำว้าอีก จนถึงวันออกมา ก็ยังไม่มีกล้วยน้ำว้าให้สั่ง

“มีคำขวัญติดไว้ที่ประตู ‘เป็นมิตร แต่ไม่ใช่เพื่อน’ คงอยากบอกเป็นนัยว่า ผู้คุมไม่ใช่เพื่อนเล่นนะจ๊ะ (หัวเราะ) สรุปว่าความกินง่ายของผมทำให้ไม่ค่อยมีปัญหานัก”

แล้วแต่ละวันต้องมีทำกิจกรรมอะไรไหมคะ

“ถ้าทั่วไปคือผมมักจะเดินแกว่งแขน ซึ่งสภาพเป็นแบบอึดอัด เพราะมันแออัดไปด้วยผู้คนที่อยากออกกำลังกายเหมือนกัน แต่ความที่ร้อนมาก จะเดินบนสนามปูนคงไม่ไหว ก็ต้องเดินรอบเรือนนอนที่เป็นทางเดินแคบๆ ประมาณเมตรนิดๆ ซึ่งฟากหนึ่งเป็นที่อาบน้ำ ถ้าเดินตอนที่มีคนอาบน้ำรอบบ่ายก็จะแฉะๆ หน่อย ถัดไปเป็นที่ฉี่ อึ กลิ่นมาแน่นอน ส่วนรอบสนามปูนเป็นถังก่อซีเมนต์ขอบคมๆ ที่ด้านล่างน่าจะเป็นอึ ฉะนั้นวันแรกที่ผมคิดว่าสามารถเดินออกกำลังด้วยรองเท้าแตะ ก็ต้องเปลี่ยนใจเป็นใส่ผ้าใบ เพราะไม่อยากเสี่ยงลื่นล้มหัวฟาดพื้นกองอยู่แถวนั้น

“ผมตั้งใจเดินทุกวัน จนถูกแซวว่าผมเป็นชายผู้มุ่งมั่นเดินรอบเรือนจำ วันหนึ่งมีนักโทษคดีดังปล้นทองในห้างไปบอกผู้คุมว่าสรยุทธเครียดมาก เดินเหม่อลอยทุกวัน…ก็คนเดินออกกำลังกาย จะให้แหงนหน้ามองฟ้าหัวเราะก็ใช่ที่

“เวลากลับขึ้นเรือนนอนคือบ่าย 3 โมง แต่ตอนเย็นกลุ่มคนที่กลับจากทำงานตามกองต่างๆ คนที่ออกไปศาล คนที่ไม่ได้ประกัน คนที่คดีสิ้นสุด เพิ่งถูกตัดสิน จะกลับเข้าไปประมาณ 5 โมง ซึ่งช่วงแรกผมได้รับหน้าที่ให้คอยแนะนำข้อปฏิบัติ ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ในการปรับตัวแก่ผู้ต้องขังที่มาใหม่ พูดให้กำลังใจเขานิดหน่อย จึงได้ขึ้นเรือนนอนรอบ 5 โมง แต่พอเกิดโควิดก็เหลือแค่รอบบ่าย 3 รอบเดียว

“ในห้องขังช่วงเย็นอาจได้ดูทีวี ส่วนมากเป็นหนังช่องโมโนหรือรายการทีวีที่ไม่ใช่ข่าว ถ้าเป็นข่าวเขาจะเปลี่ยนช่องทันที มีการแซวกันว่าการจะได้ดูอะไรขึ้นอยู่กับรายการที่ผู้คุมที่ส่วนควบคุมกลางชอบหรือดูอะไรค้างไว้ อาจเป็นรายการเพลง หนังจีน ซึ่งส่วนตัวผม รายการอะไรก็ดีกว่าการเปิดให้ดูหนังที่จะไม่มีทางได้ดูตอนจบ เนื่องจากถึงเวลาปิดทีวีก่อนทุกครั้งไป และไม่ว่าอะไรก็คงดีกว่าชาวแดน 8 ที่เขาว่ามีห้อง 24 ที่ใครโดนเรื่องวินัยหนักสุดจะถูกลงโทษให้อยู่ห้องนี้ ไม่มีหน้าต่าง มีกล้องจับภาพและต้องดูรายการธรรมะทั้งวัน”

สรยุทธ

ถ้าประมวลเรื่องความไม่สบายกาย คุณสรยุทธทุกข์กับอะไรที่สุดคะ

“คงเป็นตอนหน้าร้อนที่ร้อนแบบทารุณ สำหรับห้องที่ผมอยู่ แม้มุมที่ผมนอนค่อนข้างสว่าง ติดประตู มีฝุ่นเยอะ เพราะคนเดินผ่านกันทั้งวันเนื่องจากใกล้จุดเข้าออก แต่ก็ไกลบ็อกซ์ออกมาหน่อย ไม่ต้องอยู่กับความชื้นและกลิ่นไม่พึงประสงค์

“ส่วนเวลาอยู่นอกเรือนนอน ผมตั้งใจเลยว่าถ้าพ้นโทษออกมาจะหาเก้าอี้ไม้ตั้งวางทุกจุดที่เดินผ่านในบ้าน เพราะเก้าอี้ในเรือนจำแทบไม่มีเลย ถ้ามีก็เป็นแบบ พลาสติกอยู่ในห้องสมุด ยังไงก็ไม่พอ ไม่แน่ใจว่าเขากลัวจะเอามาใช้เป็นอาวุธกันหรือเปล่า นักโทษจึงนั่งพื้น ไม่ก็นั่งบริเวณบ่อเกรอะหน้าเรือนนอนหรือบนขอบปูน ที่ใช้ล้อมต้นไม้ ซึ่งทั้งแดนมีอยู่สองต้น ขณะที่คนในแดนมีประมาณ 500 ที่จริงมีศาลา มีบ่อปลาด้วย แต่ติดป้ายห้ามเข้า เป็นที่สำหรับเจ้าหน้าที่เท่านั้น

“เวลาหน้าร้อนต่างคนต่างพยายามหาจุดที่เย็นที่สุด อย่างแดน 1 กองงานกีฬาคือเป้าหมายหลัก ลักษณะเป็นห้องขังขนาดใหญ่อยู่ในร่ม นักโทษจะนอนแผ่กันอยู่ เป็นร้อยๆ กับอีกจุดที่เย็นหน่อยคือโรงเลี้ยง แต่เปิด – ปิดเป็นเวลาตามมื้ออาหาร ไม่ใช่จู่ๆ จะเดินเข้าไปนั่งได้ เพราะฉะนั้นน้ำเย็นกับน้ำแข็งเป็นของมีค่ามาก ซึ่ง นักโทษต้องสั่งซื้อล่วงหน้ากันเอง”

ถ้าเป็นทางใจล่ะคะ

“ทางใจคือการนับทุกวันว่าอยู่มานานแค่ไหนแล้ว แรกๆ นับเป็นวัน ตอนหลังเปลี่ยนเป็นสัปดาห์ คิดเองว่าทำให้มีกำลังใจมากกว่า เพื่อนๆ ยกสกอร์บอร์ดที่ใช้นับคะแนนเวลาแข่งฟุตซอลในแดนมาให้ผมใช้พลิกแผ่นสำหรับนับแต้มแทนการนับวัน แม้ใครจะบอกว่ายิ่งนับยิ่งช้า แต่ก็อดใจที่จะนับไม่ได้ วันๆ ผมใช้เวลาไปกับการนับวันนี่แหละ วันเวลาในคุกจึงกลายเป็นของไม่มี ‘ค่า’ ที่ทุกคนอยาก ‘ฆ่า’ ให้หมดไปเร็วๆ

“เวลาใครไปเยี่ยมแล้วปลอบว่าแป๊บเดียว ผมบอกเลยว่าคนที่อยู่ข้างในไม่รู้จักคำนี้ อาจพอใช้ได้บ้างกับคนที่อยู่มานานหลายปี แต่สำหรับผม คำนี้ ไม่เคยใช้ได้ ยิ่งพอรู้เค้าลางว่าจะมีสิทธิ์พักโทษ เห็นปลายทางวันยิ่งช้า กว่าจะผ่านไปแต่ละชั่วโมง ผมถึงขั้นเขียนลงสมุดเป็นปฏิทินของตัวเอง ดีหน่อยที่มีงานให้ทำ ในความรู้สึกเราเวลาจึงไหลผ่านไปเร็วขึ้นบ้าง”

หมายถึงรายการ เรื่องเล่าชาวเรือนจำ ใช่ไหมคะ (พยักหน้า)

“ผมได้ทำงานอยู่ฝ่ายการศึกษาและพัฒนาจิตใจ เริ่มจากเป็นพิธีกรงานภายในเรือนจำก่อน มีตั้งแต่งานพิธีตัดเมลอนที่ปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ (แพรว ขำเลยโดนดุ) เรื่องจริงนะ แล้วก็มีงานประกวดร้องเพลง จนถึงงานประกวดประดิษฐ์หน้ากากแฟนซีช่วงโควิดมาใหม่ๆ

“ส่วนรายการ พอรู้ว่าทางกรมราชทัณฑ์มีนโยบายอยากให้ทำรายการสำหรับนักโทษ ผมก็ยินดี คิดชื่อรายการเดี๋ยวนั้นว่า ‘เรื่องเล่าชาวเรือนจำ’ คอนเซ็ปต์คือเล่าข่าวที่เป็นประโยชน์ ไม่กระทบใคร ไม่มีอาชญากรรมความรุนแรง ไม่มีการเมือง กลุ่มผู้ชมคือนักโทษ 4 แสนคนทั่วประเทศ มีทีมงาน ตากล้อง ฝ่ายตัดต่อเป็น นักโทษ เรียกว่ารายการของนักโทษ โดยนักโทษ เพื่อนักโทษ ซึ่งนี่จะเป็นครั้งแรกที่ผมทำงานโดยต้องลงมาทำเองทุกขั้นตอน

“เบื้องหลังการทำงานก็ไม่ง่ายเลย อย่างหนังสือพิมพ์ที่ใช้อ่านข่าว กติกาคือต้องคืนให้ครบจำนวนเป๊ะๆ ทุกวัน ทีนี้มันวุ่นวายตรงทำงานเป็นสัปดาห์ คืนไปแล้วจะสรุปประเด็นยังไง ที่สุดต้องให้ทีมงานพริ้นต์ข่าวกับแนบคลิปที่ขอจากช่อง 3 ส่งเข้าไปให้เขาตรวจก่อนที่ผมจะอ่านแล้วคัดเลือกประเด็นออกมา ขณะทำรายการก็ต้องใช้ความจำจากที่อ่านว่าเรื่องนี้จะใส่คลิปแบบนี้ เพราะไม่มีมอนิเตอร์ให้ดู เสร็จแล้วต้องคุมตัดต่อใส่ภาพ เพื่อให้ได้งานออกมาใกล้เคียงที่คิดไว้ ซึ่งตอนทำงานข้างนอกผมไม่ต้องทำทุกอย่างขนาดนี้ ทีมที่ทำงานด้วยกันก็ต้องใช้ใจอย่างมาก เพราะต้องทำเกือบทุกวัน อย่างตอนน้ำท่วม 50 จังหวัด ต้องนั่งไล่ดูคลิปแต่ละที่แล้วตัดต่อ ผมเองแต่ละคืนต้องหอบงานเป็นปึกเข้าไปอ่านในห้องขังในสภาพนอนคว่ำอ่านแล้วเขียนโน้ตไว้ เจ็บตัวเจ็บศอกมาก ตอนหลังขอโต๊ะญี่ปุ่นเพื่อให้พอนั่งเขียนได้ แต่โต๊ะก็เล็กมาก ต้องก้มจนเมื่อยไปอีกแบบ แล้วความที่หน้าโต๊ะทำเป็นลายตารางหมากรุก พอมีตรวจค้นเขาก็หาว่าลักลอบเอาเข้าไปเล่น โดนยึดอีก ต้องไปทำเรื่องขอคืนวุ่นวาย

“18 กุมภาพันธ์ 2563 ทดลองทำเทปแรก บังเอิญผมรู้ว่าแดน 6 ทำเพลง ขอโอกาส แต่ง ร้อง เล่นโดยนักโทษ ซึ่งเนื้อหาดี ลีลาการร้องก็ใช้ได้ ผมจึงเอามาเปิดในรายการแล้วฝากทีมงานไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าฟีดแบ็กภายนอกดีมาก ทีนี้พอแดนต่างๆ รู้ก็อยากให้ช่วยโปรโมตเหมือนแดน 6 บ้าง ผมก็อยากช่วยนะ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าทุกคนจะมาร้องเพลงกันหมดไม่ได้มั้ง (หัวเราะ)

“ความยาวรายการกำหนดเวลาไว้ประมาณหนึ่งชั่วโมง แต่ทำครั้งแรกก็ชั่วโมง สี่สิบห้า – ห้าสิบ ล่าสุดเป็น 2 ชั่วโมงละ (ยิ้ม) และแม้จะพ้นโทษแล้ว ผมก็ยังตั้งใจอัดเทปรายการส่งเข้าไป เพราะรู้ดีว่าคนข้างในรอดู เนื้อหารายการหลักๆ คือสถานการณ์โควิด ดินฟ้าอากาศ ท่องเที่ยว ปรากฏการณ์สังคม จนถึงคลิปตลก สถานการณ์ตอนนั้นเริ่มงดเยี่ยมพอดี กรมราชทัณฑ์เกรงว่านักโทษจะเครียด ซึ่งต้องเล่าก่อนว่าพอทำเทปแรกเพื่อออนแอร์วันเสาร์ ปรากฏว่าเสาร์นั้นที่บุรีรัมย์เกิดเหตุเผาเรือนจำ ผมใจไม่ดี คิดว่าเขาดูรายการแล้วไปก่อเหตุ แต่ความจริงคือเรือนจำบุรีรัมย์ยังไม่ได้เปิดเทป เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับการส่งเทป โหลดเทป ตรวจสอบ โล่งไป

“อ้อ มีหมายเหตุนิดหน่อยว่าทีมงานคุณภาพของ เรื่องเล่าชาวเรือนจำ ประกอบด้วย 1. วิ่งราว 2. ลักทรัพย์นายจ้าง 3. ปล้นธนาคาร 4. ฆ่าคนตาย ถ้าขึ้นเครดิตท้ายรายการคงมีสีสันน่าดู”

สรยุทธ

ฟีดแบ็กรายการเป็นอย่างไรคะ

“ตอนนั้นบอกเลยว่าผมก็ไม่ได้มั่นใจมาจากไหน เทปแรกลุ้นมาก เพราะไม่รู้ว่าช่วงเวลาที่ผู้คุมเปิดเทปรายการจะไปขัดจังหวะการดูหนัง ซีรี่ส์ แล้วจะโดนโห่หรือเปล่า คือทุกเย็นผมมักจะได้ยินเสียงทีวีแบบเบลอๆ ฟังไม่ค่อยได้ศัพท์ แต่วันนั้นได้ยินเสียงผมเล่าข่าวชัดเจน ไม่มีเสียงอื่น แปลว่าเขาหยุดดูกันจริงจัง ถ้ามีอะไรตลกก็หัวเราะพร้อมกัน คือในนั้นอย่าให้เขาทำอะไรพร้อมกัน มันจะดังมาก อย่างเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯมีคนเกือบห้าพัน

“การออกอากาศช่วงแรกขลุกขลักพอสมควร ขนาดเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯที่เป็นแม่ข่ายยังเปิดทีหลังที่อื่น ด้วยอุปสรรคสารพัด ทีวีเสียบ้าง เครื่องเล่นเสียบ้าง บางทีรายการหายไปเลยสองเทป ขณะที่ฝั่งนโยบายอยากให้มีทีวีเรือนจำ ให้ผมช่วยคิดผังรายการ แต่ระดับปฏิบัติชัดเจนว่าเขาเฉยๆ กัน

“สำหรับเรตติ้งต้องดีอยู่แล้วสิ ก็บังคับดูนี่ (หัวเราะ) ซึ่งถ้ายอดคนดูลดลง เราดีใจนะ เพราะแปลว่ามีคนพ้นโทษออกไป ฟีดแบ็กได้รู้กันเช้าวันรุ่งขึ้นทันทีทุกที่ทุกเวลา เพราะคุณผู้ชม เรื่องเล่าชาวเรือนจำ จะเดินมาบอกถึงตัวว่าชอบ บางคนบอกว่าดูบางคลิปแล้วร้องไห้ คนพูดนี่สักทั้งตัวเลยนะ บางคนบอกว่าไม่ได้เห็นข้างนอกเป็นสิบปีแล้ว แต่มาได้เห็นจากข่าวน้ำท่วมหรือสภาพเมืองที่เหมือนร้างตอนช่วงล็อกดาวน์ หรืออย่างคลิปท่องเที่ยว ถนนหนทางมีดอกไม้สวยๆ มันเป็นความสุขผ่อนคลายอย่างหนึ่งของเขา เชื่อไหม มีจดหมายจากเรือนจำทั่วประเทศมาเยอะมาก ข้อความน่าประทับใจทั้งนั้น ที่สุดรายการผมจึงมีช่วงตอบจดหมายด้วยนะ

“ทำไปสักพักผมเสียดายเนื้อหาที่เหลือเยอะในแต่ละครั้ง จึงเกิดรายการ กำลังใจสู่ชาวเรือนจำ คิดรูปแบบง่ายๆ ว่าให้คนดังหรือดารามาพูดให้กำลังใจ ซึ่งพอทีมงานติดต่อไปหลายคนบอกว่าอยากทำมาก แต่จะให้ทำอะไร พูดอะไรล่ะ อันนี้ผมเข้าใจเลยนะ คือไม่ใช่การพูดให้กำลังใจในภาวะโควิดหรือเกิดสถานการณ์น้ำท่วม แต่ต้องพูดให้กำลังใจนักโทษที่ถูกตัดสินว่าผิดน่ะ หลายคนจึงทำได้แค่รับปาก แต่ไม่เกิดงาน ผมไม่แน่ใจว่าเพราะเขาไม่รู้จะพูดอะไรหรือไม่อยากทำ อันนี้ไม่ว่ากัน มีบางคนติดเรื่องค่าย เรื่องช่อง ขนาดรายการในเรือนจำยังติดว่าผมอยู่ช่อง 3 ส่วนหลายคนที่ส่งกำลังใจมาอย่างน่ารัก ผมขออภัยที่เอ่ยชื่อไม่หมด อย่างเบลล่า เธอมาแบบลั้นลาเต้นติ๊กต่อกให้ดู โป๊ปก็ตอบรับทันที ที่มีเรื่องเล่าคือพี่ปู – พงษ์สิทธิ์ มอบเพลง เราจะกลับมา ให้ผม กับอีกเพลงที่มอบให้ผู้ต้องขังคือ มือปืน (หัวเราะ) คือพี่ปูคงเห็นเป็นเพลงดังที่คนชอบ คนรู้จักเยอะ แต่เนื่องจากเปิดในเรือนจำ ผมจึงต้องขออนุญาตเปลี่ยนไปใช้เพลง เราจะกลับมา แทน

“ที่จำแม่นอีกคนคือน้าแอ๊ด คาราบาว ส่งคลิปเพลง ทะเลใจ มาให้ วันที่รายการออกอากาศ พอผมทำงานเสร็จ เดินเข้าไปในเรือนนอน บรรยากาศเงียบ เสียงที่ได้ยินคือนักโทษร้องเพลง ทะเลใจ ตามน้าแอ๊ดกันดังกระหึ่ม ผมฟังแล้วขนลุก

“ส่วนคุณตัน สไตล์ผู้ชายคนนี้ต้องมาแบบพิเศษ ระหว่างที่พูดให้กำลังใจ คุณตันก็พาเดินดูบ้านจนทั่ว แถมบอกว่าไม่เคยให้ใครดูเลยนะ เปิดครั้งแรกให้นักโทษดู ความยาวเป็นสิบนาทีแน่ะ”

แล้วที่สอนทำอาหารล่ะคะ

“อันนั้นเป็นไฮไลต์ในรายการ กำลังใจสู่ชาวเรือนจำ ที่นำเสนอเกี่ยวกับการแนะนำอาชีพ กับคลิปกิจกรรมจากเรือนจำต่างๆ ที่มักจะมาเป็นคลิปร้องเพลง

“เล่าก่อนว่าเดิมข้างในเขาก็มีฝึกอาชีพอยู่แล้วนะ เช่น อัดกรอบพระ หมัก ไส้เดือน เลี้ยงจิ้งหรีด ตัดผม ฯลฯ ทีแรกผมอยากเรียนตัดผม แต่คิดอีกที มันคงทำอะไรไม่ได้มากหรอก เพราะทุกคนต้องตัดสั้นเกรียนแบบเดียวกันหมด จะพลิกแพลงยังไง วิกให้ซ้อมมือก็ไม่มี ผู้คุมเขาก็คงไม่เสี่ยงมาลองให้มั้ง จึงคิดถึงเรื่องฝึกทำอาหาร เพื่อให้นักโทษมีวิชาติดตัว เมื่อเขาพ้นโทษออกไปแล้วจะได้ใช้สูตรทำอาหารเมนูต่างๆ ไปหาเลี้ยงชีพ ไม่กลับไปทำผิดซ้ำอีก

“ส่วนผลพลอยได้นอกจากได้เรียนรู้สูตรการทำอาหารต่างๆ แล้ว ยังทำให้ได้กินอะไรที่นอกเหนือจากอาหารในเรือนจำด้วย โดยนักโทษต้องสปอนเซอร์กันเอง ให้ญาติขอนำเข้ามาตามระเบียบ เพราะเรือนจำไม่มีงบส่วนนี้หรอก วันหนึ่งขณะประชุมแผนงานกันว่าจะทำอะไรดี มีคนคิดถึงขนาดอาจทำส่งขายแดนอื่นๆ จนใครสักคนทักขึ้นมาว่าจะวางแผนกิจการอะไรนัก คิดจะตั้งรกรากในนี้หรือไง (หัวเราะ) ถึงได้สติ เออ จริง

“ตอนแรกเริ่มจากนักโทษทำกันเอง แม้จะอัตคัดอุปกรณ์ก็ดัดแปลงกันไป มีหลายเมนู เช่น ผัดไทยประตูแดน ล้อเลียนผัดไทยประตูผี แล้วก็ปาท่องโก๋ อันนี้ผมอยากทำมาก อย่างที่หลายคนดูคลิปที่ทีมงานโพสต์ไว้ในเพจกรรมกรข่าว จะเห็นว่าผมอินมาก คือต้องเข้าใจก่อนว่าการได้กินปาท่องโก๋ร้อนๆ ซึ่งไม่มีทางได้เจอในเรือนจำ มันตื่นเต้นมากนะ วันนี้ผมก็ยังเก็บสูตรไว้อยู่

“ผมเคยรู้ว่าคุณหรีด (รพีพรรณ เหลืองอร่ามรัตน์) เคยเข้าไปสอนทำอาหารในเรือนจำหญิง ก็ให้ทีมประสานให้เข้าไปช่วยสอนด้วย ซึ่งก็จัดเต็มให้เคล็ดลับตามสไตล์คุณหรีด อย่างกล้วยทอดที่ใช้แป้ง 5 อย่าง ฮือฮากันใหญ่ หลายเรือนจำส่งข่าวมาว่าทำขาย ส่งภาพมาให้ดู แต่ไม่ส่งกล้วยมานะ มีคนพ้นโทษเขียนจดหมายมาบอกว่านำสูตรไปทำขายด้วย แล้วก็มีข้าวผัดกะเพราแบบต่างๆ หมูคอนโด หมูปิ้ง ฟีดแบ็กส่วนใหญ่มีแต่ขอสูตร เพราะจดไม่ทัน จะทันได้ไง เขาไม่ให้นักโทษพกปากกาเข้าไปในเรือนนอน”

สรยุทธ

มีเรื่องที่ทำให้เสียน้ำตาบ้างไหมคะ

“คนเรานะ อิสรภาพสำคัญที่สุด รู้ไหม คนที่อยู่ข้างในบางคนบอกว่ายอมให้ตัดแขน ตัดขา หรือควักลูกตาก็ได้ ถ้าเขาจะได้ออกไปเป็นอิสระ บางคนเห็นนกบินเข้ามา แล้วได้บินออกไปก็ร้องไห้ สำหรับผมไม่ถึงขนาดนั้น แค่ตอนเย็นโพล้เพล้ พระอาทิตย์ตกเห็นเป็นลูกกลมสีส้มแดงจะคิดถึงบ้าน หรือเวลามีใครพ้นโทษ พักโทษมาลากลับบ้านก็จะคิดถึงตัวเอง แล้วผมเป็นคนที่นักโทษส่วนใหญ่จะชอบมาลา ‘พี่ยุทธ อายุทธ ผมกลับบ้านแล้วนะ’ เคยมีวันหนึ่งเดินเรียงมาลากัน 8 คน

“ปกติผมเซ้นสิทีฟอยู่แล้ว แต่อยู่ข้างนอกอาจต้องเจออะไรถึงร้อยจึงจะร้อง ไม่เหมือนอยู่ข้างในที่แค่ห้าก็น้ำตารื้น อะไรก็ดูจะกระทบใจง่ายเหลือเกิน กลางคืนนอนน้ำตาไหล ไม่ใช่แบบสะอึกสะอื้นนะ แต่มันน้อยเนื้อต่ำใจ เจ็บปวดเวลาคิดถึงอิสรภาพว่าทำไมเราต้องมาอยู่แบบนี้ แล้วก็จะย้อนนึกถึงที่ถูกตัดสิน

“เช็คที่เป็นปัญหาในคดี ที่สุดศาลฎีกาก็วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่าเช็คมีที่มาที่ไปถูกต้อง ไม่ใช่สินบน เป็นการจ้างเจ้าหน้าที่ อสมท.จำเลยที่ 1 ทำงานอย่างถูกต้อง แต่ศาลมองว่าทำให้จำเลยที่ 1 ไม่รายงานโฆษณาเกิน ซึ่งผมต่อสู้มาตลอดว่าเขารายงานแล้วทุกวันและมันปกปิดไม่ได้ ส่วนตัวผมเคยเชื่อว่าคดีอาญาต้องปราศจากข้อสงสัย ถ้ามีแม้แต่นิดเดียวที่จะไม่ใช่ ตามหลักต้องยกประโยชน์ไม่ใช่หรือ คดีฆ่าคนตายต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยว่ามีศพ มีอาวุธ ต้องมีประจักษ์พยาน แต่คดีเราไม่ต้องพิสูจน์แบบนั้นเลยหรือ ที่เขาชอบพูดกันว่าสรยุทธโกงไปเป็นร้อยล้าน ผมเรียนไว้ตรงนี้อีกครั้งว่าผมใช้ให้ไปนานแล้วและใช้เกินด้วย แม้ว่าส่วนที่ อสมท. เกินผม เขาจะไม่ได้คืนอะไรมาสักบาทก็เถอะ ที่เจ็บปวดคือที่บอกว่าไม่มีเหตุให้รอลงอาญา เพราะผมเป็นสื่อมวลชนอาวุโส ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ตอนเกิดเหตุ ปี 2548 – 2549 ก็ 15 – 16 ปีก่อน ผมอายุย่าง 40 ปี เพิ่งเปิดบริษัทครั้งแรกในชีวิตนะ และคดีนี้ก้ำกึ่งว่าเป็นคดีแพ่ง มันอยู่ที่การตีความสัญญา ที่จริงมีคนแนะนำให้ไม่ไปฟัง คือให้อ่านลับหลังแล้วหนี แต่ผมเคารพในกฎกติกาของกระบวนการยุติธรรม

“ที่สุดผมบอกตัวเองว่าตัดสินใจถูกที่สู้ต่อถึงชั้นฎีกา อย่างน้อยคำพิพากษาศาลฎีกาก็ยังพิสูจน์ได้ว่าผมไม่ได้ติดสินบน และครั้งนี้มีกำหนดเวลาชัดเจน 8 ปี ถ้าผมไม่ตาย มันจะจบแล้วได้เริ่มต้นใหม่ ไม่ต้องทุกข์ทรมานอีก

“ถ้าถามว่าย้อนไปถ้าให้เลือกระหว่างเป็นนักข่าวธรรมดากับกรรมกรข่าวที่ต้องติดคุกจะเลือกอะไร ผมเลือกเป็นกรรมกรข่าวที่ติดคุก เพราะได้ดูแลแม่อย่างดีที่สุดตลอดเวลาที่แม่ป่วย ได้จัดงานศพที่ถ้าแม่รับรู้คงดีใจ ภูมิใจ ซึ่งถ้าผมไม่มีฐานะ เป็นนักข่าวธรรมดาคงทำไม่ได้ขนาดนี้

“ตอนอยู่ข้างในเวลามีใครถามเรื่องคดี ผมจะรู้สึกดีที่มีโอกาสเล่า ผมถึงขนาดวาดชาร์ตไว้อธิบายประกอบเป็นกราฟิกเลย ใครฟังมักจะบอกว่า อ้าว แล้วคุณผิดตรงไหน…ก็ไม่เป็นไร ผมยอมรับไปตามกระบวนการ แต่ผมยังเป็นปุถุชนธรรมดา ไม่ได้บรรลุ การจดจำว่าใครทำอะไรไว้กับผมหรือสาปแช่งบางคนในใจบ้าง ก็น่าจะเป็นสิทธิ์ของผมมั้ง ยกเว้นเจ้าหน้าที่ อสมท.คนนั้นคนเดียวที่ผมอโหสิกรรมให้ ไปแล้ว”

ตอนอยู่ในเรือนจำคิดเรื่องกลับมาทำงานไหมคะ

“คิด แต่ในมุมว่าถ้าถึงเวลาได้ออกไป คนดูจะยอมรับเราไหม จะให้โอกาสไหม ไม่ได้คิดเป็นเรื่องใหญ่โตหรือคิดว่าจะกลับมาเป็นเหมือนก่อนหยุดทำงาน เพราะผมหยุดไป 5 ปีเลยนะ วันที่ได้พักโทษไปใส่กำไลอีเอ็ม ออกมาเจอนักข่าวรุ่นน้องๆ รออยู่เต็ม ใจผมคิดมาบ้างว่าคงมีการทำข่าวแหละ แต่ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ภาพจำคือทุกครั้งผมจะถูกถามด้วยคำถามเชิงอคติ ถามแบบเอาเรื่อง วันนั้นผมรู้สึกได้ถึงการเป็นมิตรเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี และผมก็ไม่รู้หรอกว่าเขาคาดการณ์กันว่าผมจะกลับมาทำรายการแน่นอน ใครเจออย่างผม หยุดทำรายการ ไป 5 ปี จะเอาอะไรมามั่นใจล่ะ

“ทุกคนถามว่ากลับมานั่งหน้าจอวันแรกตื่นเต้นไหม ทีแรกผมไม่คิดว่าตัวเองจะตื่นเต้น ไม่ต้องซ้อม ตอนถ่ายโปรโมตก็สบายมาก แต่ถึงเวลาทำรายการจริง มือกลับสั่น เสียงสั่น เป็นความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูก คือนี่เรากลับมาทำงานอีกครั้งแล้ว อยู่ตรงนี้แล้ว นาทีนั้นอะไรจะเกิดก็เกิด ดีก็ดี พังก็พัง ว่ากันไปตามธรรมชาติของผมนะ (หัวเราะ) ที่ยังคงไม่มีสคริปต์ ไม่มีการรันคิวใดๆ เหมือนเดิม อันนี้น้องไบรท์น่าจะตอบได้ดีที่สุด อย่างที่เคยบอกไปว่าสำหรับผม การทำงานคือการออกไปใช้ชีวิต วันนั้นก็คือผมได้กลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง”

ทำไมเลือกใช้คำว่ากรรมกรข่าวคัมแบ็กคะ

“ใครเป็นแฟนรายการ ติดตามผลงานผม หรือแม้แต่แฟน แพรว คงรู้ดีว่า ผมผูกพันกับคำนี้มาตั้งแต่ก่อนออกพ็อกเก็ตบุ๊กกับ แพรว อีก ผมเคยอธิบายไว้ว่า เพราะข่าวไม่มีวันหยุด ผมจึงทำงานแบบไม่มีวันหยุด ตอนจะกลับมาทำรายการ คิดกันว่าวันไหนดี หลายคนบอกให้เริ่มที่ เรื่องเล่าเช้านี้ จันทร์ที่ 3 พฤษภาคม แต่ผมตัดสินใจเริ่มวันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม วันแรงงาน วันกรรมกร (ยิ้ม)

“แม้จะพบว่ารายการข่าวเปลี่ยนไป เช่น มีการทำกราฟิกกับข่าวอาชญากรรมแบบจำลองเหตุการณ์ ซึ่งผมทำไม่เป็น ผมพูดไว้ในวันที่ได้รับการปล่อยตัวว่าขอดูก่อนว่าโลกของข่าวสารเปลี่ยนไปขนาดไหน ซึ่งที่สุดก็ยึดแนวทางของตัวเอง และพิสูจน์ได้แล้วระดับหนึ่งว่าคนโหยหาข่าวแบบนี้ พอรู้ว่ามีคนดูข่าวทีวีที่มีความเป็นสื่อหลักเพิ่มมากขึ้นก็ดีใจครับ”

หลายคนดีใจที่คุณสรยุทธกลับมาทันได้ช่วยประสานความช่วยเหลือในสถานการณ์โควิดพอดี

“ตอนที่ออกมาไม่คาดคิดว่าสถานการณ์จะหนักขนาดนี้ (วันสัมภาษณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุ 20,000 ผู้เสียชีวิตทะลุ 200) แต่ผมก็เลือกใช้คำว่ามหันตภัยโควิด ตั้งแต่วันแรกที่กลับมาทำงาน

“การทำงานในสถานการณ์โควิดที่ทุกอย่างเร็วมาก ทำให้ผมไม่ได้โฟกัสเรื่องอื่นเท่าไหร่ แต่พอรู้ว่าฟีดแบ็กดีก็ชื่นใจ ส่วนฟีดแบ็กไม่ดี ผมมองว่าปกติ อะไรก็ตามถ้าคุณทำแบบเพลนๆ มันก็อยู่แค่นั้น เรื่องเดียวกันที่คนทั่วไปทำไม่มีอะไร แต่คนที่โดดขึ้นมาจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จะต้องเจอแรงเสียดทาน แน่นอนว่าเมื่อมีคนรักมาก ก็ต้องมีคนเกลียดหรือหมั่นไส้มาก ผมอยู่มานานจนรู้ว่าต้องนิ่ง เรื่องไหนพูดผิดก็ขออภัย ถ้าไม่ผิดก็ชี้แจง ด้วยความเป็นสื่อที่คนจับตามอง ในอดีตผมเคยตั้งคำถามว่าเรื่องเดียวกันทุกที่ทำหรือส่วนใหญ่ทำ แต่ทำไมเราโดนคนเดียว ตอนนี้ไม่ถามแล้ว ก็เราได้มากกว่าคนอื่น เราเป็นเป้าใหญ่ คนสนใจเยอะ การโดนแซะจึงเป็นเรื่องปกติที่ต้องยอมรับ ยิ่งเดี๋ยวนี้การสื่อสารทำให้เกิดการรีแอ๊คทันทีทันควัน ไม่เหมือนเมื่อก่อน ฝั่งหนึ่งบอกว่าพูดแบบนี้เป็นการโจมตี อีกฝั่งบอกทำไมไม่พูดให้มากกว่านี้ เราจึงไม่สามารถทำให้ถูกใจใครทั้งหมด ยกเว้นจะทำละคร แต่ละครก็ยังมีคนไม่ชอบนะ ที่สุดก็ต้องพยายามทำใจและดึงตัวเองลงให้ทัน”

สรยุทธ

เคย “ขึ้น” ในรายการไหมคะ

“บ่อย ที่ผ่านมาการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการนำเสนอข่าวถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ติดใจ แต่เวลาเสนอข่าวโควิดแล้วเห็นข้อความทำนอง ‘ทำไมนำเสนอแต่เรื่องหดหู่ ไม่เสนอแง่มุมบวกของเรื่องดีๆ ให้ความหวังคนบ้าง’ อ่านแล้วมันเจ็บปวด ข้างนอกนั่นมีคนป่วยหนัก คนตายจริง แต่คุณแค่อยากพ้นออกไปจากความหดหู่ หรือบางคนบอกว่าถ้าไม่มีโควิด คนก็ตายด้วยอุบัติเหตุ มะเร็ง เบาหวานอยู่แล้ว หรือโทษว่าเพราะเขาไม่ดูแลตัวเองจนไปติดมา โอ้โฮ คนที่คิดแบบนี้ได้ ใจทำด้วยอะไร จะบอกว่าคนเหล่านี้สมควรตายเหรอ คือถ้าคุณจะไม่ดู แล้วอยู่แต่ในโลกของคุณก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ไม่ใช่มาโน้มน้าวหรือแซะให้คนอื่นคิดแบบคุณท่ามกลางคนมากมายที่ป่วย เดือดร้อน ล้มตาย ครอบครัวเขาสูญเสีย เจ็บปวด คนนอนหายใจพะงาบ คุณมาบอกว่าอย่านำเสนอ หรือตั้งคำถามว่าทำไมต้องขยายความเรื่องตายให้เป็นดราม่า อ่านแล้วมันขึ้นน่ะว่าสังคมไทยมีคนคิดอย่างนี้ ประเทศเราจะอยู่กันยังไง ถ้ามีการพูดกันแค่ตัวเลขแล้วจบ ผู้หญิงที่ตายพร้อมลูกในท้อง เด็กที่กลายเป็น กำพร้าไม่เหลือใครเลย มีคนตายอยู่ในบ้านอย่างทุกข์ทรมาน หายใจไม่ออก หรือตามถนนที่มีศพถูกทิ้งไว้หลายชั่วโมง คนที่เห็นความตายแบบนี้เป็นเรื่องปกติได้ ใจต้องอำมหิตมาก

“การนำเสนอเคสที่เกิดขึ้นแต่ละวันไม่ได้ต้องการให้เกิดดราม่า แต่เพื่อสะท้อนว่าการบริหารจัดการมีปัญหา พอนำเสนออะไรออกไปก็จะเห็นการพยายามแก้ไข มากหรือน้อยว่ากันไป แต่ถ้าไม่นำเสนอ คนที่นอนรอความช่วยเหลืออย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครสนใจ เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือใดๆ เขาจะรู้สึกอย่างไร ความเจ็บป่วย ตาย การสิ้นหวังของคนคือปัญหาที่มองเห็นชัดๆ ขณะที่ฝั่งหนึ่งบอกว่าเตียงพอ ยาพอ วัคซีนพร้อม แต่ฝั่งหนึ่งบอกว่ายังไม่ได้ฉีดวัคซีน นอนรอเครื่องช่วยหายใจ ยาก็ไม่มี มันคือการสะท้อนปัญหา ไม่ใช่นำเสนอดราม่าเพื่อเรตติ้ง พูดถึงดราม่า วันหนึ่งผมเจอหลายข่าวที่หนักๆ กระทบใจรุนแรง ใจมันไม่ไหวกับข่าวตายกันหลายๆ คนในบ้าน ข่าวหนึ่งอาแปะนอนตายในร้านขายของชำ อีกข่าวติดโควิดทั้งครอบครัว นอนป่วยเต็มพื้นบ้าน ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงชีวิตวัยเด็กที่โตมาในตึกแถวแบบนั้น บรรยากาศมันใกล้ตัว พอเบรกโฆษณาผมร้องไห้ แล้วไบรท์ถ่ายไว้ มีคนด่า หาว่าดราม่าจัดฉากร้องไห้ คนเหล่านี้ดูจะมีปัญหากับน้ำตาผมมาก เจออย่างนี้ผมสบถอยู่ในใจเลย แล้วไม่ต้องห่วง เรื่องแบบนี้ผมแน่วแน่อยู่แล้วที่จะ (หยุดไปสองวินาที) ด่ากลับแน่นอน ต้องรอให้เรื่องไปเกิดในครอบครัวของคนเหล่านั้นหรือเปล่า เขาถึงจะเข้าใจ”

คุณสรยุทธมองสถานการณ์วิกฤติโควิดยังไง

“บอกยากว่าสถานการณ์จะจบลงตรงไหน เมื่อไหร่ เพราะจากที่สัมผัสโดยตรงยังไม่มีสัญญาณที่ดี ทุกวันนี้เวลานักข่าวไปทำข่าวเคสที่มีคนตายคาบ้าน ครอบครัวคนตายมักจะบอกว่าเขาดีใจที่มีคนเห็นและอยากให้บ้านเขาเป็นรายสุดท้าย ไม่อยากให้เกิดกับใครอีก

“ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งจากวิกฤตินี้คือ เรื่องเล่าเช้านี้ ทำโครงการเรื่องเล่าแบ่งปัน แจกข้าวกล่อง เป็นโครงการที่ผมคิดตั้งแต่ยังอยู่ในเรือนจำ ออกมาก็ยังทำต่อ สักพักก็คิดจะหยุดเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ไม่อยากรบกวนใครมาก แต่ที่สุดต้องทำต่อเพราะสถานการณ์หนักขึ้น อย่างเรื่องช่วยพาคนป่วยกลับไปรักษาที่จังหวัดบ้านเกิด คนสองคนก็ต้องพาไป เพื่อให้เขาเข้าสู่ระบบการรักษา เนื่องจากที่กรุงเทพฯเตียงล้นแล้ว พอตอนหลังรัฐเข้ามาทำเรื่องไปส่งผู้ป่วย เราจึงขยับมาซื้อเครื่องมือแพทย์ พวกเครื่องวัดออกซิเจน เครื่องผลิตออกซิเจน

“งานจริงของเราคือช่วยประชาสัมพันธ์ ช่วยประสานงานสนับสนุนให้หน่วยงานที่เขามีทีมลงพื้นที่ช่วยเหลือ อย่างมูลนิธิกระจกเงา กลุ่มเส้นด้าย อีจัน ตอนหลังเริ่มมีผู้ป่วยขอความช่วยเหลือตรงมาที่รายการ หรือที่เพจกรรมกรข่าว เราจึงต้องมีเครื่องผลิตออกซิเจนสแตนด์บายไว้ด้วย น่าเศร้าที่เราไม่สามารถช่วยได้ทุกคน บางทีการได้น้ำเกลือแร่ไปช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ให้ที่วัดปริมาณออกซิเจนพร้อมคำแนะนำ หรือเครื่องผลิตออกซิเจนไปช่วย อย่างน้อยเขาก็จะไม่ทุกข์ทรมานเกินไป”

สุดท้ายค่ะ จากนี้วางเป้าหมายชีวิตไว้ไหมคะ

“อยู่ตรงนี้โหดนะ มีเรื่องกระทบใจทุกวัน แต่มุมหนึ่งคือผมดีใจที่ได้กลับมาทำหน้าที่สื่อ สะท้อนภาพความเป็นจริง ด้วยหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ไข พร้อมทั้งประสานช่วยเหลือผู้คนในสถานการณ์ที่ใหญ่มากของประเทศและของโลก จากที่เคยเจออะไรที่คิดว่าใหญ่แล้ว อย่างสึนามิ น้ำท่วม โควิดมันเกินจากนั้นมากจริงๆ

“ส่วนที่ถามถึงแผนชีวิต เรื่องตลกร้ายคือตอนอยู่ในเรือนจำผมคิดไว้ว่าออกมาจะไปเที่ยว เดินทางไปต่างประเทศบ้าง อย่างน้อยก็ขอให้ได้ไปแอนฟีลด์ (สนามขอลิเวอร์พูลที่อังกฤษ) แต่พอออกมาจริง เขาก็ไม่เดินทางกันอีก ฉะนั้นชีวิตคงกำหนดมาให้ทำงาน ก็ทำไปก่อน

“กลับมาครั้งนี้ แม้ผมจะไม่ได้คาดหวัง แต่ใจก็รับรู้ได้ว่ามีคนไม่น้อยรอผม ให้การยอมรับ และถ้าสังเกตนะ ผมไม่เคยเลี่ยงการพูดถึงอดีตในเรือนจำ หลายครั้งที่ผมพูดในรายการว่าผมเคยติดคุก เคยอยู่ในเรือนจำ ไม่อายที่จะพูด ต้องการแสดงให้เห็นด้วยว่าคนเคยติดคุกแล้วยอมรับโทษตามกฎเกณฑ์ไปแล้ว ไม่ต้องอาย เพราะไม่ใช่คนขี้คุกหรือติดคุกซ้ำซาก

“ผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกกำลังใจ ทุกเสียงตอบรับ ทุกคำอวยพรและมิตรภาพที่มีให้ผมเสมอ ผมเคยเขียนลาไว้วันที่ศาลตัดสินว่าจนกว่าจะมีโอกาสพบกันใหม่…วันนี้ผมกลับมาแล้วครับ” 


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 974

เรื่อง : ศิริน

ภาพ : กฤตธี ผ่องเสรี

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ชีวิตใหม่ในวัย 40 ของ “แพท พาวเวอร์แพท” บทเรียนราคาแพงที่กลายเป็นแรงบันดาลใจ

บทเรียนจากความพ่ายแพ้พา เทนนิส- พาณิภัค สู่ตำนานฮีโร่กีฬาเทควันโดไทย

รู้จัก “บุ๋ม – ยุวดี” แห่งแบรนด์ไทย Pony Stone เจ้าของกางเกงยีนส์สุดปังใน MV ลิซ่า

Praew Recommend

keyboard_arrow_up