ภิสสรา อุมะวิชนี Parfums Dusita

รู้จัก “ภิสสรา อุมะวิชนี” แห่ง Parfums Dusita แบรนด์น้ำหอมที่คว้ารางวัลระดับโลก

Alternative Textaccount_circle
ภิสสรา อุมะวิชนี Parfums Dusita
ภิสสรา อุมะวิชนี Parfums Dusita

นี่คือเรื่องราวการเดินทางของกลิ่นหอมที่อบอวลไปด้วยความสุขและความรักของ “พลอย – ภิสสรา อุมะวิชนี” นักปรุงน้ำหอมและผู้ก่อตั้งแบรนด์ Parfums Dusita ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปก่อตั้งแบรนด์ในประเทศฝรั่งเศส ดินแดนที่ได้ชื่อว่าหวงแหนศาสตร์การทำน้ำหอมยิ่งกว่าใคร แม้คุณพลอยจะบอกว่า Parfums Dusita เป็นแบรนด์เล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่ แต่ชื่อเสียงของแบรนด์ที่เกิดจากการบอกต่อกันปากต่อปากกลับกลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับในเหล่าผู้เชี่ยวชาญในแวดวงน้ำหอม จนคว้ารางวัลน้ำหอมระดับโลกมาครองได้อีกด้วย

ความหลงใหลในกลิ่นหอม

คุณพลอยเล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจในกลิ่นหอมว่า “พลอยโตมาในบ้านที่รายล้อม ไปด้วยน้ำหอมและหนังสือ คุณพ่อ (คุณมนตรี อุมะวิชนี) เคยเรียนและทำงานที่ฝรั่งเศสก่อนจะกลับมาเป็น อาจารย์ที่เมืองไทย ท่านชอบซื้อน้ำหอมให้คุณแม่และตัวเองอยู่บ่อย ๆ เช่นเดียวกับคุณป้าและคุณยาย ที่ชอบน้ำหอมมาก พลอยจึงซึมซับมาทีละนิดจนชอบ ยิ่งพอเข้าเรียนที่นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แล้วมาเจอเพื่อน ที่ชอบน้ำหอมเหมือนกันอย่างคุณอนุชี่ (คุณอนุชา บุญยวรรธนะ) ที่ปัจจุบันเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เลยยิ่งไป กันใหญ่ พากันศึกษาสูตร หาหนังสือมาอ่าน ยิ่งรู้ข้อมูลก็ยิ่งรู้สึกว่าน่าค้นหา จากนั้นก็เริ่มสั่งวัตถุดิบจากที่ ต่าง ๆ ทั่วโลกมาผสมเล่นกันเองเป็นเดือน ๆ ถึงเที่ยงคืนตีหนึ่ง ตื่นมาก็ผสมต่อ หมกมุ่นมาก (หัวเราะ)

“หลังจากเรียนจบและทำงานในเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่งมาพักใหญ่ พลอยก็ตัดสินใจลาออก คือ ตอนนั้นพลอยตั้งธงในชีวิตไว้สองอย่าง หนึ่งคือ อยากสร้างอะไรด้วยมือตัวเอง แต่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร สอง พลอยสัญญากับคุณพ่อก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตว่าจะทำให้บทกวีภาษาอังกฤษที่ท่านชอบเขียนไว้ ให้เป็นที่รู้จัก จึงลองไปเรียนต่อด้านการทำน้ำหอมที่ฝรั่งเศส แต่ปรากฏว่าสมัยนั้นเขายังสงวนอาชีพนี้ไว้ สำหรับคนฝรั่งเศสเท่านั้น การเรียนการสอนเป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด และคนที่เรียนด้านนี้ต้องจบด้าน เคมีหรือวิศวกรรมเคมีเท่านั้น พลอยจบการสื่อสารจึงไม่สามารถสมัครเรียนได้ แต่ปัจจุบันเขาเปิดกว้าง แล้วนะคะ พอไม่ได้เรียนด้านน้ำหอม พลอยจึงเบนเข็มไปเรียนแฟชั่นเพื่อช่วยเสริมเรื่องความคิด สร้างสรรค์แทนจนจบ โดยระหว่างนั้นก็คอยหาความรู้เพิ่มเติมเรื่องน้ำหอมที่เราสนใจไปด้วย” (ยิ้ม)

ภิสสรา อุมะวิชนี Parfums Dusita

การเดินทางของ “กลิ่นหอม”

แม้จะไม่ได้เรียนด้านน้ำหอมอย่างใจหวัง แต่คุณพลอยก็ไม่ทิ้งความฝัน “ระหว่างที่เรียนแฟชั่น วันหนึ่งพลอยบังเอิญไปเจอร้านที่อยู่ในวงการน้ำหอมนีช (Niche) ที่ไม่ได้มีน้ำหอมแบบตลาดทั่วไป จึงนำตัวอย่างน้ำหอมที่เราผสมเล่น จากเมืองไทยติดไปให้เจ้าของร้านลองดม หนึ่งในนั้นคือกลิ่น ‘อิสระ’ เพราะอยากฟัง คำวิจารณ์จากมืออาชีพ ซึ่งเขาบอกว่ารู้จักน้ำหอมมากกว่า 400 แบรนด์ กลิ่น ของเรายูนีคมาก น่าสนใจ น่าจะขายได้ เขาถามว่าแบรนด์ของคุณชื่ออะไร พลอยตอบตรง ๆ ว่า ‘ยังไม่มีแบรนด์’ (หัวเราะ) แล้วบอกไปว่าอีก 3 เดือนจะกลับ ไปหาเขาใหม่ โดยจะทำทุกอย่างให้เสร็จเรียบร้อย

“ปรากฏพลอยใช้เวลาถึง 3 ปี (หัวเราะ) คือตอนนั้นคิดว่าการทำแบรนด์ คงไม่ยาก แต่ความจริงมีหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นคอนเซ็ปต์ Positioning การสื่อสารกับลูกค้า ขวดน้ำหอม ไอเดีย ฯลฯ แล้วด้วยความที่พลอยตั้งใจว่า อยากทำแบรนด์ที่ฝรั่งเศส โดยใช้วัตถุดิบทั้งหมดจากที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน ผลิตน้ำหอม ขวดน้ำหอม แพ็คเกจจิ้ง ฯลฯ ซึ่งคุณภาพสูงมาก แล้วก็ยากที่คนต่างชาติอย่างเราจะเข้าไปทำธุรกิจและสร้างแบรนด์ได้ เพราะส่วนใหญ่แบรนด์ น้ำหอมของที่นี่จะเป็นธุรกิจในครอบครัวที่ตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคนอย่าง Guerlain เพราะเป็นศาสตร์และศิลป์ที่เขาหวงแหน หรือถ้าเป็นแบรนด์ใหม่ ส่วนใหญ่เจ้าของจะมีคอนเน็กชั่นกับคนในแวดวงนี้มาก่อนแล้ว

ภิสสรา อุมะวิชนี Parfums Dusita
น้ำหอมกลิ่น Mlodie de l’Amour ได้รางวัล Art & Olfaction Award for Excellence in Perfumery (ปี 2017) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากงาน Art and Fashion Award ที่ LA

“อีกอย่างการจะเป็น Perfumer หรือนักปรุงน้ำหอมที่นี่ เราทำได้แค่คิดสูตร น้ำหอมและปรุงแต่ละกลิ่นขึ้นมา แต่ไม่สามารถผลิตเองได้ ต้องมีโปรดักชั่นเฮ้าส์ ที่ได้รับอนุญาตเป็นผู้ผลิตหัวน้ำหอมให้เท่านั้น พลอยจึงต้องเริ่มจากการหา โปรดักชั่นเฮ้าส์ที่มีคุณภาพให้ได้ก่อน และต้องมั่นใจว่าเขาจะเก็บสูตรของเราเป็น ความลับ ปรากฏว่าได้เจ้าของร้านน้ำหอมที่เราไปปรึกษานี่แหละแนะนำโรงงาน มาให้ อยู่ใกล้ ๆ เมืองกลาสส์ (Glasse) แหล่งผลิตน้ำหอมขึ้นชื่อของฝรั่งเศส ซึ่งพลอยเพิ่งรู้ตอนไปถึงว่าที่นั่นเป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ที่ดีที่สุดของฝรั่งเศส ชื่อ Accords et Parfums และเป็นบ้านของ Edmond Roudnitska นักปรุง น้ำหอมชื่อดัง ผู้เริ่มทำคอลเล็คชั่นน้ำหอมของคริสเตียน ดิออร์ ในยุคแรก ๆ ที่มีน้ำหอมมาสเตอร์พีซอย่าง Diorissimo, Miss Dior, Eau Sauvage ที่ยังได้รับความนิยมอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันท่านเสียชีวิตไปแล้วนะคะ

“ปรากฏว่าโรงงานแห่งนี้ตกลงผลิตน้ำหอมให้ โดยมีข้อแม้ว่าพลอยต้องเลือก ใช้วัตถุดิบ (Raw Materials) จากเขา ทำให้พลอยต้องกลับมาทำสูตรน้ำหอมใหม่ เพราะแม้ว่าเป็นวัตถุดิบชนิดเดียวกัน แต่ถ้าแหล่งที่มาไม่เหมือนกัน กลิ่นจะเปลี่ยน ซึ่งต้องบอกว่าโชคดีมากที่พลอยได้ที่นี่เป็นพาร์ตเนอร์ เพราะคุณภาพของเขาดีจริง ๆ ที่สำคัญตอนนี้เขาไม่รับลูกค้าเพิ่มแล้ว เนื่องจากเขาเป็นแหล่งผลิตให้บริษัท ทำน้ำหอมยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งต้องใช้กำลังการผลิตสูงมากจนรับลูกค้าใหม่ไม่ได้

ภิสสรา อุมะวิชนี Parfums Dusita

“พอได้น้ำหอมที่ถูกใจแล้ว ก็ยังต้องวิ่งติดต่อส่วนอื่น ๆ อีกหลายที่ ไม่ว่า จะเป็นการผลิตกล่อง ขวดแก้ว ฝา หัวฉีดสเปรย์ คือทุกอย่างแยกกันหมดเลย พอได้ของทุกอย่างมาแล้วก็ต้องส่งให้อีกโรงงานบรรจุน้ำหอมลงขวด ซึ่งปรากฏว่า เขาเอาของเราไปแช่ไว้ในโกดังอยู่ 4 เดือน ไม่ยอมผลิตให้ ขณะที่เราต้องจ่ายเงิน ค่าวางของในโกดังด้วย สุดท้ายพลอยทนไม่ไหว ไปหาชื่อผู้อำนวยการของโรงงาน แล้วเขียนอีเมลไปหาว่า ‘ฉันรอมานานแล้ว ติดต่อไปก็ไม่มีคนรับ จะขอเดินทาง ไปพบคุณพรุ่งนี้’ แล้ววันรุ่งขึ้นพลอยก็บุกไปโรงงานเลย ปรากฏว่าเขารีบกรอกให้ ตอนที่พลอยเข้าไปนั่นแหละ แล้วบอกว่า ‘ไม่ลืม ๆ’ คือเขาทำงานกันค่อนข้าง ชิลค่ะ ไม่ได้มีประสิทธิภาพหรือเร็วมาก เราต้องคอยกระตุ้น”

ภิสสรา อุมะวิชนี Parfums Dusita

กลิ่นแห่งความสุข…

หลังจากง่วนทำทุกอย่างด้วยตัวเองคนเดียว สุดท้ายแบรนด์น้ำหอมของ คุณพลอยก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่างในปี 2016 “พลอยใช้ชื่อแบรนด์ว่า ‘Dusita’ มาจากชื่อของสวรรค์ชั้นดุสิต โดยเรามีคอนเซ็ปต์ว่าเป็นแบรนด์แห่ง ‘ความสุข’ ผ่าน น้ำหอมแต่ละกลิ่น โดย 3 กลิ่นแรกคือ Issara ถ่ายทอดความสุขที่เกิดจาก ความรู้สึกเป็นอิสระตอนเดินเที่ยวในป่าสนริมทะเลในจังหวัดกระบี่ Mlodie de l’Amour เป็นเรื่องราวความรักของคุณพ่อที่มีให้พลอย และ Oudh Infini ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินทางไปในที่ใหม่ ๆ โดยพลอยนำบทกวีภาษาอังกฤษ ที่คุณพ่อแต่งไว้มาประกอบเพื่อเล่าเรื่องราวของน้ำหอมแต่ละกลิ่น ผ่านความสุข ในแต่ละแง่มุมของชีวิต อย่างกลิ่น ‘อิสระ’ ใช้บทกวีที่เกี่ยวกับความสุขของการ ปล่อยวางและเป็นอิสระเมื่อเราได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เป็นต้นค่ะ (ยิ้ม)

“Dusita เปิดตัวครั้งแรกในงานนิทรรศการน้ำหอมชื่อ ‘Esxence’ ที่จัดใน มิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งคนในวงการรู้กันว่าถ้าอยากเปิดตัวต้องไปที่นี่ ซึ่งมีน้ำหอม หลากหลายแบรนด์ทั่วโลกไปพรีเซ้นต์ที่นั่น พลอยไปกับคุณแม่สองคน เราได้อยู่ตรงหน้าห้องน้ำเพราะจองเป็นคนสุดท้าย (หัวเราะ) ขณะที่แบรนด์อื่นตกแต่งอย่าง หรูหรา แบรนด์เรามีแค่โลโก้ ดอกไม้สองช่อ กับหนังสือคุณพ่อสองเล่ม แต่ ปรากฏว่าวันแรก (งานมี 4 วัน) เอดิเตอร์จาก ‘Fragrantica’ เว็บไซต์เกี่ยวกับ น้ำหอมชื่อดังที่คนอ่านเยอะที่สุด ติดใจน้ำหอมกลิ่น Oudh Infini ของเรา บอก ว่าเป็นกลิ่นที่มีมิติและดีที่สุดในความคิดของเขา วันรุ่งขึ้นคนจึงแห่มาหาเราและ มีบูติกน้ำหอมจากสวิตเซอร์แลนด์มาขอซื้อน้ำหอม 2,000 ยูโร (ยิ้ม) ด้วยงานนั้น ทำให้เราได้รับความสนใจจากสื่อที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำหอมเยอะมาก มีเพจ และบล็อกดัง ๆ ติดต่อมาสัมภาษณ์ตลอด

ภิสสรา อุมะวิชนี Parfums Dusita

“หลังจบงาน ความที่ยังไม่มีหน้าร้าน พลอยจึงโฟกัสที่การทำมาร์เก็ตติ้งผ่าน โซเชียลมีเดียเป็นหลัก ขยันเขียนบทความโน่นนี่นั่น แล้วก็คอยส่งตัวอย่างน้ำหอม ไปให้คนนั้นคนนี้ลอง ปรากฏว่าปีนั้นแบรนด์ Parfums Dusita สามารถคว้า รางวัล The Scents of Excellent (ปี 2016) จากงาน Esxence ที่มิลานของ อิตาลีมาได้ ปีถัดมาพลอยจึงลองส่งน้ำหอมกลิ่น Mlodie de l’Amour ไปประกวด ปรากฏว่าได้รางวัล Art & Olfaction Award for Excellence in Perfumery (ปี 2017) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากงาน Art and Fashion Award ที่จัดขึ้นที่ ลอสแอนเจลิส เป็นรางวัลใหญ่มากจนพลอยงงไปเลย หลังจากนั้นมาน้ำหอมของเราก็ได้รางวัลใหญ่มาเรื่อย ๆ ค่ะ อย่างกลิ่น Erawan ก็ได้รางวัลที่ 1 FiFi Awards Breakthrough Fragrance of the Year ในปี 2018 ที่มอสโก และกลิ่น Le Pavillon d’Or ก็ได้รางวัล Niche Customer Choice จากเวทีเดียวกัน ในปี 2019 เป็นต้นค่ะ” (ยิ้ม)

ภิสสรา อุมะวิชนี Parfums Dusita
น้ำหอมกลิ่น Moonlight in Chiangmai ได้รับเลือกจาก CaFleureBon ให้เป็น “Top 10 Best Fragrances in 2020”

Dusita ในวันนี้

คุณพลอยบอกว่าหลังจากเปิดแบรนด์มา 4 ปี “ตอนนี้ Parfums Dusita ก็มีบูติกหน้าร้านเป็นของตัวเองในใจกลางกรุงปารีสที่ใช้เป็นออฟฟิศไปด้วย ส่วน ทีมงานก็ขยับขยายจากที่ทำอยู่คนเดียวมาเป็น 10 คน ซึ่งถือเป็นทีมงานรุ่นใหม่ ที่มีคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์สูง และอินกับแบรนด์มาก รวมถึงมี Product Manager ที่มีประสบการณ์ในด้านนี้มานาน และ Export Manager ที่คอยดูแล การส่งสินค้าออกต่างประเทศที่เก่งมาก ๆ ด้วย ส่วนน้ำหอมของ Parfums Dusita ก็มีมากถึง 12 กลิ่นแล้ว โดยกลิ่นล่าสุดคือ Cavatina และกลิ่น Anamcara ที่จะออกในเดือนกันยายนนี้ค่ะ นอกจากเป็นที่ยอมรับในยุโรปแล้ว แบรนด์กำลัง ขยายออกไปทั้งในตลาดจีนและตะวันออกกลางที่เราเข้าไปได้เกือบทุกประเทศ และได้อยู่ในห้างใหญ่ ๆ อย่าง Saks Fifth Avenue, Harvey Nichols หรือ Galeries Lafayette ด้วยค่ะ ส่วนเมืองไทยรออีกนิดนะคะ พลอยหวังอยากมี หน้าร้านในเมืองไทยมาก แต่ขอให้หลาย ๆ อย่างลงตัวก่อน

“แล้วก็โชคดีว่าช่วงที่โควิดเพิ่งเริ่มระบาดใหม่ ๆ เราคุยกันในทีมว่าจะมา โฟกัสที่การขายออนไลน์ให้จริงจังขึ้น จึงทำทั้งจดหมายข่าว ออกโปรโมชั่นใหม่ ๆ และทำไลฟ์ทางโซเชียลมีเดียสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง รวมถึงทำเว็บไซต์ parfums dusita.com ให้ลูกค้าซื้อน้ำหอมเราได้โดยตรง ปรากฏว่ามีคนลองสั่งซื้อไซส์เล็ก ไปเทสต์กันเยอะ คือเราทำขวดเล็กขึ้นมาเพื่อให้คนได้ลองก่อนในราคาที่ไม่แรง มาก (4.5 ยูโร) เพราะการเลือกน้ำหอมที่ถูกใจต้องใช้เวลา วันแรกเราอาจยัง ไม่รักมัน แต่วันที่สามกลับรู้สึกว่าใช่ แล้วน้ำหอมของเราราคาแพงกว่าแบรนด์ อื่น ๆ เพราะเราให้ความสำคัญกับคุณภาพจริง ๆ จึงอยากให้ลูกค้าชัวร์ก่อนว่า ชอบกลิ่นไหนแล้วค่อยซื้อขวดใหญ่ (100 มิลลิลิตร เริ่มที่ 150 – 395 ยูโร) ปรากฏว่า ในปี 2020 เราทำยอดขายขึ้นมาถึง 100 เปอร์เซ็นต์ของปีก่อน ส่วนปีนี้ผ่านมา 6 เดือน เราทำยอดขายได้มากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว (ยิ้มดีใจ)

ภิสสรา อุมะวิชนี Parfums Dusita

“ต้องบอกว่าเพราะโควิดทำให้มุมมองของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดิมที่ คนเคยใช้น้ำหอมเพื่อบอกตัวตนของเขา โดยการฉีดน้ำหอมก่อนออกไปทำงาน หรือพบเจอผู้คน กลายเป็นการใช้น้ำหอมเพื่อเติมเต็มความสุข หลายคนฉีด น้ำหอมตอนอยู่บ้านเฉย ๆ อย่างมีพยาบาลผู้หญิงคนหนึ่งเขียนมาเล่าให้ฟังว่า เขาเคยมีตัวอย่างน้ำหอมกลิ่น Fleur de Lalita ของเราอยู่ ซึ่งชอบมาก แต่ ไม่คิดจะซื้อขวดใหญ่เพราะแพง แต่หลังจากที่เขาและสามีติดโควิด ต้องอยู่บ้าน ยาว เขาเกิดความคิดว่าชีวิตมันสั้น จึงตัดสินใจซื้อน้ำหอมขวดใหญ่ของเราไป บอกว่าขอเลือกซื้อของที่รักและทำให้มีความสุขตั้งแต่ตอนนี้เลยดีกว่า

“เวลาได้ยินอะไรแบบนี้แล้ว ในฐานะคนปรุงน้ำหอมก็ชื่นใจค่ะ พลอย ว่าศาสตร์การทำน้ำหอมก็คล้ายกับศิลปินวาดรูป ทุกคนมีวัตถุดิบเป็นสีเหมือนกัน แต่จะเลือกผสมสีและวาดออกมาเป็นอะไร ก็อยู่ที่การนำความคิดสร้างสรรค์ มาตีความออกมาเป็นกลิ่นตามสไตล์ส่วนตัวของแต่ละศิลปิน ซึ่งจะออกมา ไม่เหมือนกัน แล้วกว่าจะทำออกมาได้แต่ละกลิ่นก็ไม่ใช่ง่าย ๆ ต้องคอยอ่าน อัพเดตข้อมูลและลองสั่งวัตถุดิบใหม่ ๆ มาลองผสมดู เป็นการหาความรู้ ที่ไม่มีวันสิ้นสุด บางทีสั่งมาแล้วไม่ได้ใช้เพราะไม่ชอบ และต้องทุ่มเทเวลา เยอะกว่าจะได้กลิ่นที่ลงตัว อย่างกลิ่น Cavatina พลอยใช้เวลาทำ 2 ปีครึ่งกว่า จะปรับแต่งให้ออกมาเป็นสไตล์เราจริง ๆ อีกกลิ่นที่อยากให้ลองคือ ‘Erawan’ (เอราวัณ) ขายดีที่สุดในประวัติการณ์ ออกมาทีไรหมดตลอด ท็อปโน้ตเป็นกลิ่น ดอกไม้ป่าที่หอมจาง ๆ มิดเดิ้ลโน้ตเป็นกลิ่นเขียว ๆ ให้ความรู้สึกเหมือนเดินทาง เข้าป่าในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นอะไรที่พลอยไม่ได้ทำตามหลักตำราเลย แต่กลับ ได้รับความนิยมสูงมาก

ภิสสรา อุมะวิชนี Parfums Dusita
น้ำหอมกลิ่น Le Pavillon d’Or ได้รางวัลประเภท “Niche Customer Choice” จากเวที FiFi Awards ในปี 2019 ที่มอสโก

“พอนึกย้อนไป แม้การสร้างแบรนด์จะไม่ง่าย แต่ที่พลอยผ่านมาได้ ทั้ง ๆ ที่เจออุปสรรคมากมาย เป็นเพราะได้เจอสิ่งที่ตัวเองรักและพากเพียรไปกับมัน พลอยทำธุรกิจโดยไม่ได้คิดเรื่องเงินเป็นหลัก แต่ทำเพราะงานนี้มอบคุณค่าและ ความสุขให้เราและคนอื่น ยิ่งเมื่อเห็นผลงานออกมาดี ก็ยิ่งภูมิใจและมีความสุข”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 947

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

รู้จัก “บุ๋ม – ยุวดี” แห่งแบรนด์ไทย Pony Stone เจ้าของกางเกงยีนส์สุดปังใน MV ลิซ่า

รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ ผู้พัฒนา “วัคซีนใบยาสูบ” สู้โควิด-19 ความหวังของคนไทย

บทเรียนจากความพ่ายแพ้พา เทนนิส- พาณิภัค สู่ตำนานฮีโร่กีฬาเทควันโดไทย

Praew Recommend

keyboard_arrow_up