ตลอดระยะเวลา 40 ปี ศูนย์การค้าเซ็นทรัลผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงโควิด-19 แต่เซ็นทรัลยังคงเป็นนักสู้ที่ยืนหนึ่งมาโดยตลอด เบื้องหลังผู้คุมเกมการตลาดของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดมากว่า 15 ปี คือ ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ถึงเวลาเผยเคล็ดลับแล้ว…เตรียมจด
นักสู้แห่งเซ็นทรัลพัฒนา ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้นำทีมการตลาด Retail Developer เบอร์หนึ่งของไทย
ย้อนเล่าถึงการเข้ามาร่วมงานกับเซ็นทรัลพัฒนาสักนิดค่ะ
“15 ปีที่แล้วผมเป็นผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด (Chief Marketing Officer) บริษัทไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด พอดีเซ็นทรัลเวิลด์กำลังจะเปิดตัว ซึ่งเวลานั้นถือเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่มาก ขนาดพื้นที่เท่ากับ 3 ศูนย์การค้ารวมกัน ทางคุณกอบชัย จิราธิวัฒน์ ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเซ็นทรัลพัฒนา ชวนให้ผมมาทำแบรนด์ให้เซ็นทรัลเวิลด์ คุณกอบชัยอาจจะเห็นว่าผมมีประสบการณ์การทำแบรนด์ซัมซุงในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จมาก่อน
“ก่อนหน้านั้นผมเคยทำบริษัทโฆษณา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทเทเลคอม ทำคอนซูมเมอร์โปรดักต์ซึ่งไม่เคยทำงานด้านรีเทลเต็มตัวอย่างนี้เลย แต่ทุกครั้งที่เปลี่ยนสายงาน ผมจะมีความกระตือรือร้นที่ได้เจอสิ่งใหม่ๆ ทำให้ช่วง 6 เดือนแรกผมทำงานหนักมาก อยู่ออฟฟิศตั้งแต่เช้าจน 4 – 5 ทุ่มทุกวันไม่เว้นเสาร์-อาทิตย์ เพื่อจะได้เรียนรู้งานให้ครบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำงานจนถึงเรื่องคน
“ช่วงแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์เปิดตัวผมไปนั่งสังเกตพฤติกรรมลูกค้าที่เดินในแต่ละโซนว่าทำไมเลือกเดินโซนนี้ ไม่เดินโซนอื่นเพราะอะไร เรื่องนี้ผมเรียนรู้จากการทำงานที่ผ่านมาว่าต้องสังเกตทุกอย่างที่เกี่ยวกับลูกค้า อย่างเวลาลูกค้ามาเลือกดู ผลิตภัณฑ์ คำถามของลูกค้ามักเป็นเรื่องอะไร เขาตัดสินใจซื้อเพราะอะไร นอกจากสังเกตพฤติกรรมลูกค้าแล้ว ยังต้องสังเกตพนักงานขายด้วย เพราะเขาเป็นเหมือนตัวแทนบริษัทที่จะสื่อสารกับลูกค้าโดยตรงและมีผลต่อการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อของลูกค้า ผมจึงนำแพตเทิร์นเหล่านี้มาใช้ในการทำงานที่เซ็นทรัลพัฒนา เริ่มจากสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าเวลาเดินช็อปปิ้ง เมื่อเดินผ่านประตูเข้ามาลูกค้าจะเดินไปทางซ้ายมือก่อนแล้วค่อยอ้อมมาทางขวา นั่นเพราะความเคยชิน ทำให้เรานำพฤติกรรมนี้ของลูกค้ามาเป็นหลักในการจัดวางของภายในศูนย์การค้า โดยเลือกของที่สามารถดึงดูดให้ลูกค้าช็อปปิ้ง เช่น จัดวางเสื้อผ้าคอลเล็คชั่นใหม่ไว้ทางด้านซ้ายมือเสมอ เป็นต้น”
ศูนย์การค้าเป็นธุรกิจที่มีรายละเอียดมากการแข่งขันก็สูง แนวทางการบริหารองค์กรของดอกเตอร์เป็นอย่างไรคะ
“ผมให้ความสำคัญกับการสร้างทีม สร้างวัฒนธรรมที่คนทุกเจเนอเรชั่นทำงานสอดคล้องและประสานกันได้เป็นอย่างดี จึงต้องจัดการเรื่องคนเป็นอันดับแรกด้วยการแมตช์งานกับตัวคนให้ได้ก่อน ถือเป็นโจทย์ยากในช่วงแรกๆ ฉะนั้นผมจึงทำหน้าที่เหมือนโค้ชทีมฟุตบอล พยายามจัดวางตำแหน่งคนให้ตรงกับความสามารถ อย่างคนที่เป็นแบ็กซ้ายก็ต้องเตะเท้าซ้ายได้ กองหลังก็ต้องสกัดลูกได้ รับลูกโหม่งได้ กองกลางต้องวิ่งเร็ว กองหน้าต้องยิงประตูได้ คือพยายามเซตทีมแล้วทำงานเป็นทีมเวิร์คเพราะผมไม่เชื่อเรื่องเก่งคนเดียว ทำงานคนเดียว
“ผมชอบฟุตบอล บินไปดูฟุตบอลที่อังกฤษตั้งแต่อายุ 12 ปี ชอบอ่านหนังสือฟุตบอล โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาของการเป็นโค้ชทีมฟุตบอล คิดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ผมนำมาใช้ในการบริหารคนทำงาน
“คุณสมบัติของการเป็นผู้จัดการทีมที่ดีหรือเป็นโค้ชที่ดี อันดับแรกคือสร้างวัฒนธรรมองค์กร ตั้งแต่ผมเข้ามาทำงานที่เซ็นทรัลพัฒนาผมสร้างวัฒนธรรมการเป็น ‘Winning Spirit’ เราต้องเป็นทีมที่ชนะ คือทุกงานที่ทำเราต้องเป็นผู้ชนะด้วยกัน ดังนั้นจึงต้องใส่จิตวิญญาณของทีมเข้าไปด้วยการระดมสมองของทุกคน นี่คือเหตุผลว่าทำไมเซ็นทรัลเวิลด์จึงมีอีเว้นต์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย
“อันดับสองคือการสร้าง Competitive Edge คือต้องทำงานให้ดีขึ้นทุกปี ผมเคยให้ปรัชญากับทีมไว้ว่า ‘ลืมความสำเร็จที่ทำในปัจจุบันไปซะ แล้วเริ่มใหม่ทั้งหมด’ คือไม่ยึดติดกับความสำเร็จที่ทำไปแล้ว ต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือ Never Stop Learning สูตรความสำเร็จเดิมๆ เราสามารถนำมาเรียนรู้ได้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นทุกปี”
วิกฤติไหนที่ถือว่าท้าทายความสามารถนักสู้แห่งธุรกิจรีเทลอย่างเซ็นทรัลพัฒนาคะ
“แต่ละเคสมีความท้าทายแตกต่างกัน อย่างตอนที่เซ็นทรัลเวิลด์ประสบวิกฤติการเมืองเมื่อปี 2553 ตอนนั้นเราเป็นศูนย์การค้าที่แทรฟฟิกดีมากเรียกว่าอันดับท็อปของประเทศ พอเกิดความเสียหายอย่างมากจากเพลิงไหม้ทำให้ผมเห็นว่าเราเป็น ‘มืออาชีพ’ ทุกฝ่ายของเซ็นทรัลพัฒนามีคนที่เป็นมืออาชีพสูงมากจริงๆ เวลาเกิดวิกฤติ อะดรีนาลินของทุกคนมาเร็วมาก ต่างมารวมตัวกันทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่ฟูมฟาย ไม่ท้อถอย พยายามให้เซ็นทรัลเวิลด์กลับมาเปิดให้เร็วที่สุด โดยเราปิดปรับปรุงเพียง 4 – 5 เดือนแล้วกลับมาเปิดได้อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเร็วมากโจทย์ที่ท้าทายอย่างมากสำหรับทีมเซ็นทรัลพัฒนาคือ ‘จะทำอย่างไรให้ลูกค้าที่คิดถึงเรา กลับมาหาเรา’ คือการเปลี่ยนวิกฤติที่ต้องหยุดดำเนินธุรกิจ 4-5 เดือนให้กลายเป็นโอกาส จะสามารถดึงลูกค้าและคู่ค้ากลับมาให้เหมือนเดิมได้อย่างไร
“ตอนนั้นเราคิดกลยุทธ์เพื่อแก้วิกฤตินี้ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ ทำอย่างไรให้คนที่เป็นห่วงเราได้แสดงออกถึงความรู้สึกที่มีต่อเรา จึงจัดกิจกรรมให้แฟนๆ เซ็นทรัลเวิลด์ได้มาวางดอกไม้ที่ด้านหน้าของศูนย์การค้าถือเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อให้ทั่วโลกรู้ว่าคนไทยเป็นห่วงและไม่ลืมเซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์แฮชแท็ก #LoveCentralWorld ในโลกออนไลน์ทำให้ธุรกิจของเรากลับมาดีเหมือนเดิมได้ภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือน อีกทั้งส่งผลให้แผนการตลาด Recovery Plan ในครั้งนั้นได้รับรางวัล Best-of-The Best VIVA Award Honoree–Marketing จากสมาคมศูนย์การค้าโลก (ICSC : International Council of Shopping Centers) เรียกได้ว่าเป็นรางวัลออสการ์ของวงการรีเทล เลยทีเดียว” (ยิ้ม)
กับแผนการตลาดที่ตอนแรกอาจมั่นใจสุดๆ แต่กลับพลาดอย่างแรง ดอกเตอร์มีวิธีการแก้เกมอย่างไรคะ
“งาน Central World Bangkok Countdown ได้รับเลือกให้เป็นแลนด์มาร์คเคานต์ดาวน์อันดับ 3 ของโลกจาก CNN เมื่อ 2 – 3 ปีที่แล้ว สำหรับ Central World Bangkok Countdown 2021 ล่าสุดนี้ตรงกับช่วงโควิด-19 ระบาดระลอก ใหม่พอดีทำให้ผู้คนไม่สามารถมาร่วมฉลองได้ วิธีรับมือคือเราแค่ทำให้เป็นแผนปกติมีปัญหาอะไรก็แก้ไขไป เพราะเราแก้ปัญหาทุกวันอยู่แล้ว จึงใช้วิธีปรับเปลี่ยนเป็น Central World Bangkok Countdown 2021 ในรูปแบบ New Normal เป็นการเคานต์ดาวน์แบบไม่ต้องมีคนมาชมหน้าเวทีเปลี่ยนเป็นรอชมทางทีวีแทน ทำให้เราไม่ต้องจัดบนเวทีใหญ่ คอนเทนต์ที่ถ่ายทอดสดก็มีรูปแบบครบจนถึงการจุดพลุเฉลิมฉลองปีใหม่เหมือนเช่นทุกปี
“สำหรับผลกระทบที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้นไม่มีเลย อันนี้ต้องขอบคุณน้ำใจของทุกฝ่ายที่เข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เนื่องจากตามที่วางแผนไว้ในตอนแรกจะมีการถ่ายทอดสดเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เดือดร้อนใครเราจึงตัดสินใจลดเวลาถ่ายทอดสดให้เหลือเพียงครึ่งชั่วโมง โดยเน้นการแสดงบนเวทีที่เป็นไฮไลต์ทำให้ต้องมีการยกเลิกการแสดงของศิลปินบางคน ซึ่งตัวศิลปินและทางค่ายเข้าใจว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย รวมทั้งออร์แกไนเซอร์ที่เราต้องลดสเกลเวทีให้เล็กลง ต้องบอกว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้เห็นว่าคนไทยมีน้ำใจช่วยเหลือกันในยามวิกฤติเสมอ”
คาถาการบริหารศูนย์การค้าให้ “รอด” ในทุกวิกฤติสำหรับดอกเตอร์คืออะไรคะ
“เซ็นทรัลพัฒนาให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก เราต้องปรับตัวตลอดเวลาให้ลิงก์กับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละยุคให้มากที่สุด เราจึงมีการปรับเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ของศูนย์การค้าทุก 3 – 5 ปี จะมีการทำ Minor Renovation และทุก 7 – 8 ปีจะทำ Major Renovation เพื่อให้ศูนย์การค้ามีการอัพเดตตลอดเวลา ซึ่งตอนนี้เซ็นทรัลพระราม 3, เซ็นทรัลลาดพร้าว และเซ็นทรัลพระราม 2 ก็กำลังปรับปรุงอยู่ตามแผนครับ
“เพราะ ‘เราเป็นศูนย์การค้าที่ไม่หยุดนิ่ง’ มีการหมุนเวียนนำร้านใหม่ๆ เข้ามาเสิร์ฟลูกค้าตลอดเวลานี่คือเหตุผลที่ทำให้เรา ‘รอด’ ในทุกวิกฤติครับ”
สถานการณ์การต่อสู้ของธุรกิจศูนย์การค้า ณ เวลานี้เป็นอย่างไรคะ
“เนื่องจากเวลานี้คนไทยใช้เวลาอยู่กับออนไลน์ เราจะทำอย่างไรให้พวกเขากลับมาออฟไลน์แล้วมาใช้เวลาที่ศูนย์การค้าของเรา เซ็นทรัลพัฒนาจึงพยายามทำศูนย์การค้าให้อยู่ในใจของประชาชน เพราะเราเป็นมากกว่าสถานที่ซื้อของ เราเป็น ‘Center of Life’ เป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตของทุกไลฟ์สไตล์และทุกกิจกรรมที่สร้างความสุขให้ทุกคน
“ดังนั้นศูนย์การค้าของเราจึงมีคอนเซ็ปต์ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ อย่างคอนเซ็ปต์ Sport Community เราทำลู่วิ่งให้คุณมาวิ่งที่นี่ คอนเซ็ปต์ Pet Society คุณสามารถพาหมามาเดินเล่นด้วยได้ ถ้าคุณชอบทำอาหารเรามีโรงเรียนสอนการประกอบอาหารอย่างเลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต, ABC Cooking Studio หรือสายบิวตี้เราก็มีคลินิกความงามชั้นนำมาดูแลเพื่อให้ผู้คนมาใช้เวลาร่วมกันที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นี่คือกลยุทธ์ Combination ที่เราใช้สู้กับออนไลน์
“ผมเชื่อว่าคนไทยไม่ได้อยากอยู่แต่ในโลกออนไลน์อย่างเดียวเพราะเราเบื่อง่าย สังเกตได้จากช่วงคลายล็อกโควิด-19 ระลอกแรก เมื่อศูนย์การค้าเริ่มเปิดให้บริการมีผู้คนเข้ามาใช้บริการกันอย่างคึกคัก นั่นเพราะเขาอยากมาเจอเพื่อน อยากรับประทานอาหารนอกบ้าน ผมเล่าให้เพื่อนชาวสิงคโปร์ฟังว่าบ้านเรามีไลน์กรุ๊ปตั้งแต่วัยอนุบาล มีกรุ๊ปเรียนพิเศษ กรุ๊ปเที่ยว กรุ๊ปปฏิบัติธรรม แล้วแทบทุกกรุ๊ปต้องนัดเจอ นัดกินข้าวกัน นี่คือสิ่งที่สังคมไทยเป็น คือชื่นชอบการทำกิจกรรมเราจึงยังคงต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมให้คนมาใช้ชีวิตนอกบ้าน”
ปีนี้จะมีโปรเจ็กต์ใหม่ๆ อะไรบ้างคะ
“ปีนี้เราเตรียมเปิดโครงการ Mixed-use 3 โปรเจ็กต์ใหญ่คือ เซ็นทรัลอยุธยา, ศรีราชา, จันทบุรี เราไม่เคยหยุดนิ่ง บิสเนสของเราจึง Diversified ตลอด และเรายังเข้าไปสร้างประโยชน์ให้ชุมชนทุกที่ที่เราเข้าไป มองภาพใหญ่ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เซ็นทรัลพัฒนาเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทยรายเดียวที่ติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ DJSI World (Dow Jones Sustainability Indices) ต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน และติดในกลุ่มตลาด เกิดใหม่ (Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7
“เพราะการที่บริษัทจะยั่งยืนได้ไม่ได้วัดที่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่วัดจากการทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนี่คือสิ่งที่เซ็นทรัลพัฒนาทำมาตลอด 4 ทศวรรษ”
ถ้าเปรียบเซ็นทรัลพัฒนาเป็นคน ถือว่าเป็นนักสู้ตัวจริงคนหนึ่งที่ไม่เพียงฝ่าฟันปัญหาจนประสบความสำเร็จ แต่ยังเปิดพื้นที่ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือเหล่านักสู้หน้าใหม่ ตลอดจนนักสู้ที่ต้องการโอกาสด้วย
“ถือเป็นวัฒนธรรมองค์กรของเราครับ เราไม่ยอมแพ้ ทุกฝ่ายจะรวมตัวกันเพื่อฝ่าวิกฤติ ซึ่งเป็นมายด์เซตหลักของทุกคน ช่วงเหตุการณ์วิกฤติโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 เกิดมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ทางบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด (Central Group) ให้นโยบายไว้ว่าเซ็นทรัลพัฒนาต้องช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งพนักงานบริษัทที่ตกงาน พ่อค้าแม่ค้าตลอดจนเกษตรกร เราช่วยกันทำงานตลอด 24 ชั่วโมง จนทำให้เกิดโปรเจ็กต์ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยยกพื้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวมกันกว่า 40,000 ตารางเมตรให้เกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้มาเปิดขายของฟรีภายใต้ชื่อ‘ตลาดรวมใจ’
“แม้แต่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลภายในกรุงเทพฯ ก็เปิดพื้นที่ให้ผู้ที่ตกงาน เช่น ตลาดของแอร์โฮสเตส สจ๊วร์ต ตลาดของนิสิตที่จบจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้เขาได้มีโอกาสหารายได้
“สำหรับเกษตรกรที่ผลิตสินค้า OTOP เราร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดงาน ‘Fresh Farm Market รวมของเด็ดสินค้าเกษตร’ ในทุกศูนย์การค้าทั่วประเทศ
“นอกจากนี้เรายังเปิดคอร์สธุรกิจ CPN Lead ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยคัดคนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจ SMEs และ Start up มาเข้าร่วมโปรแกรมเพื่อให้ธุรกิจของเขาเติบโตขึ้น ตอนนี้จบคอร์สรุ่นที่ 3 แล้ว ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เข้าคอร์สสามารถต่อยอดธุรกิจและขยายสาขาได้จริง จนทำให้ CPN Lead ได้รับการยอมรับว่าเป็นรีเทลคอร์สที่ดีที่สุดคอร์สหนึ่งของไทย
“ฉะนั้นจุดยืนของเราคือองค์กรที่ทำเพื่อสังคม ผมไม่เชื่อว่าองค์กรที่ทำการค้าอย่างเดียวแล้วจะอยู่รอดได้ในอนาคต
“อย่างการที่เซ็นทรัลพัฒนาร่วมมือกับนิตยสารแพรวในการจัดงาน Praew Talk ครั้งนี้ เพราะเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือต้องการให้กำลังใจคนไทยในช่วงที่สังคมเกิดวิกฤติ เวลานี้ทุกคนต้องการกำลังใจเพื่อสู้ต่อไป วิกฤติอาจจะทำให้เราท้อแท้ แต่ถ้ามีคนมาให้กำลังใจด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตที่ต้องฝ่าฟันวิกฤติต่างๆ จนผ่านพ้นมาได้โดยมีเวทีให้พวกเขาได้ขึ้นมาพูดให้กำลังใจกันและกันถือเป็นเรื่องดีๆ นั่นแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ดี เวลาเกิดวิกฤติเราพร้อมใจจะช่วยเหลือและอยู่เคียงข้างกันเสมอ”
ฝากกำลังใจถึงคนที่กำลังต่อสู้กับวิกฤติในเวลานี้สักนิดค่ะ
“ผมเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพในตัวเองมากกว่าที่คิดและยังนำออกมาใช้ไม่เต็มร้อย ฉะนั้นอย่าจำกัดศักยภาพของตัวเอง วิธีปลุกศักยภาพในแบบผมคือ เราต้องมีวิธีคิดหรือมุมมองในแง่บวกเข้าไว้ คิดว่าทุกอย่างเป็นไปได้แม้จะเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก เพราะการคิดในแง่บวกจะทำให้เรามีกำลังใจขึ้นและเชื่อในศักยภาพตัวเองว่า ‘เราทำได้’ แม้อาจต้องทำงานเหนื่อยกว่าคนอื่นก็ตาม สรุปคือต้องมุ่งมั่น ดึงศักยภาพตนเองมาใช้ให้เต็มที่ มองทุกอย่างในแง่บวก มองปัญหาให้เป็นโอกาสแล้วเราก็จะฝ่าฟันวิกฤติไปได้
“อีกอย่างหนึ่งคือต้องเชื่อว่าในทุกวิกฤติมีทั้งขึ้นและลง ช่วงขาลงเราต้องดูแลตัวเองให้ดี รู้จักใช้ชีวิต ประหยัด รอบคอบ หรือแม้ต้องตกงานเราต้องมองวิกฤตินี้ว่าเป็นโอกาสให้ออกไปหาอาชีพใหม่ทำ อย่างนักบินไปรับจ้างขับรถรับส่งของ คือเขาไม่แคร์ว่าต้องขับเครื่องบินตลอดชีวิต หรือโรงแรมไม่มีรายได้จากห้องพักก็มาทำอาหารขายเพื่อหารายได้มาเป็นเงินเดือนพนักงาน เราต้องไม่อยู่เฉยเพื่อรอเวลาตอนขาขึ้น เราก็จะสามารถขึ้นไปกับคนอื่นได้เช่นกัน”
เคล็ดลับยืนหนึ่ง
- ไม่หยุดนิ่ง พร้อมปรับตัวตลอดเวลาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละยุคสมัย
- สร้างแนวคิดที่ว่า “Winning Spirit” เราต้องเป็นทีมที่ชนะ
- ลืมความสำเร็จที่ผ่านมาแล้วเริ่มใหม่ทั้งหมด อย่ายึดติดกับความสำเร็จในอดีต
- องค์กรที่ทำเพื่อการค้าอย่างเดียวไม่ใช่ทางรอดจากวิกฤติอีกต่อไป แต่ “การคิดดีทำดี” เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมคาถานี้จะช่วยให้พ้นทุกวิกฤติได้อย่างยั่งยืน
ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 968
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล & พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ หัวเรือใหญ่แห่ง ZIPMEX ผู้นำวงการเงินดิจิทัล
ซูมชีวิต “เล็ก กรกนก ยงสกุล” เจ้าแม่แห่งวงการเทรนเนอร์พัฒนาศักยภาพ
คัมภีร์นักสู้! ของคนจริง “ตัน ภาสกรนที” ยอมรับปัญหาให้ไว เริ่มแก้ไขให้เร็ว