ซินดี้ สิรินยา บิชอพ

ล้วงลึกบทบาท แม่ & เมีย ฉบับ ‘ซินดี้ สิรินยา บิชอพ’ หญิงแกร่งแห่ง UN Women

Alternative Textaccount_circle
ซินดี้ สิรินยา บิชอพ
ซินดี้ สิรินยา บิชอพ

‘ซินดี้ สิรินยา บิชอพ’ เรารู้จักเธอในฐานะมิสไทยแลนด์เวิลด์ในปี พ.ศ. 2539 ซูเปอร์โมเดลตัวแม่ โฮสต์ประจำรายการ Asia’s Next Top Model ดารานักแสดง พิธีกร คุณแม่ของลูกๆ ที่น่ารักและครอบครัวที่อบอุ่น แต่ยังมีอีกหนึ่งบทบาทที่ซินดี้จริงจังไม่แพ้อย่างอื่น คือการเคลื่อนไหวเพื่อหยุดการคุกคามทางเพศและการเรียกร้องความเท่าเทียมในเพศหญิง

ในปี 2018 ซินดี้สร้างกระแสเผ็ดร้อนด้วยการโพสต์วิดีโอพร้อมติด #DontTellMeHowToDress #TellMenToRespect เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโนบายของภาครัฐที่แนะนำให้ผู้หญิง “อย่า” แต่งตัวเซ็กซี่ เพื่อป้องกันการโดนลวนลามในเทศกาลสงกรานต์ ก่อนจะลุกขึ้นมาทำนิทรรศการ และเป็นวิทยากรเพื่อรณรงค์ต่อต้านการคุกคามทางเพศและการเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี 2020 ซินดี้ได้รับการแต่งตั้งจาก UN Women ให้เป็นทูตสันถวไมตรี (Goodwill Ambassador) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นคนแรก พร้อมกับที่สำนักข่าว BBC ของอังกฤษยกย่องให้เธอ เป็น 1 ใน 3 หญิงไทยของ BBC 100 Women จากทั่วโลก

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ

ล้วงลึกบทบาท แม่ & เมีย ฉบับ ‘ซินดี้ สิรินยา บิชอพ’ หญิงแกร่งแห่ง UN Women

เล่าถึงที่มาของการได้มาทำงานกับ UN Women สักนิดนะคะ

“เริ่มมาจากตอนที่ซินดี้ทำแคมเปญ Don’t Tell Me How to Dress ขึ้นมาในปี 2018 แล้วก็ได้รับการติดต่อจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลให้มาช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ผู้หญิง พอดีเรามีไอเดียอยากทำนิทรรศการเกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศผ่านเครื่องแต่งกายที่ผู้หญิงสวมใส่ ซินดี้จึงเดินเข้าไปเคาะประตู UN Women เองเลยว่าเรากำลังจะทำนิทรรศการแบบนี้นะ เรามีเสื้อผ้าของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอยู่ในมือแล้ว แต่เราต้องการองค์กรมาช่วยซัพพอร์ต ผลจากการได้คุยกันครั้งนั้น จึงเกิดการนัดประชุมครั้งต่อๆ มา และเกิดนิทรรศการขึ้นจริงๆ นั่นคือโปรเจ็กต์แรก หลังจากนั้นมาซินดี้ก็ได้ทำงานร่วมกับทาง UN Women มาตลอด ทำให้เขาเห็นว่าซินดี้ทำงานอย่างต่อเน่อื ง ไม่ได้ทำครั้งเดียวจบ แล้วการทำงานตรงนี้ต้องใช้ข้อมูลเยอะ แต่ซินดี้หาข้อมูลไปเอง พูดได้เอง โดยที่ ทางเขาไม่ต้องให้ข้อมูล เขาจึงรู้สึกว่าเราอินจริงๆ วันหนึ่งทางนั้นจึงมาบอกว่าจะเสนอชื่อให้ซินดี้เป็น Goodwill Ambassador ของ UN Women”

 

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ครอบครัวซินดี้ปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิต่างๆ อย่างไรบ้างคะ

“ความจริงคุณแม่ซินดี้ไม่ได้สอนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอะไรนะคะ เพราะเขาก็เป็นคนเจเนอเรชั่นก่อน แต่คุณแม่จะแสดงออกเหมือนเป็นเฟมินิสต์โดยไม่รู้ตัว คือไม่ทนกับคำพูดอะไรที่รับไม่ได้ และจะบอกเลยว่าไม่โอเค หรือสมัยซินดี้อายุยังน้อย มีผู้ชายมาจีบ ซื้อของแพงๆ มาให้ ซินดี้ก็รับมาแบบไม่รู้เรื่อง พอแม่เห็นปุ๊บก็บอกว่า ‘ยังไม่ได้คบกันเลย ไปรับของเขามาได้ยังไง’ แล้วก็บอกให้นำไปคืน จนโตขึ้นมาจึงได้เข้าใจว่าการไปรับของเขามา ทำให้เราเป็นฝ่ายติดค้าง การที่แม่ไม่ให้รับของ ก็เหมือนกับไม่ให้ใครมาซื้อตัวเรา นี่คือมุมมองของแม่ ถ้าจะคบกันจริงต้องคุยกันนานๆ แล้วค่อยว่ากัน นี่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มีส่วนทำให้ซินดี้โตขึ้นมาเป็น Independent Woman แล้วคุณแม่ก็ปล่อยให้ซินดี้ทำงานตั้งแต่เด็กๆ คืออยากทำอะไรได้หมด ขอแค่ตั้งใจและอย่าเกเร”

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ

ฝั่งคุณพ่อล่ะคะ

“คุณพ่อก็สนับสนุนให้พึ่งตัวเองเหมือนกันค่ะ ตอนซินดี้เรียนจบไฮสกูล ท่านบอกซินดี้ว่าอย่าเพิ่งไปเรียนต่อ อายุ 17 ลูกยังไม่รู้หรอกว่าอยากทำอะไร ให้ออกเดินทางท่องเที่ยวและทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตก่อน คือท่านมีความคิดค่อนข้างปล่อย แล้วก็สอนให้ซินดี้เลี้ยงตัวเองตั้งแต่ 14 ทั้งช่วยงานทางบ้านที่ขายอุปกรณ์ดำน้ำด้วย จึงค่อนข้างมีความรับผิดชอบและแก่แดด (หัวเราะ) คือคุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติกับเราเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง แถมยังเป็นลูกคนเดียว เวลาไปไหนก็ไปกับคุณพ่อคุณแม่ตลอด จึงทำให้ซินดี้ค่อนข้างโตกว่าวัย” (ยิ้ม)

แล้วพอมาถึงลูกตัวเอง ซินดี้มีแนวทางในการเลี้ยงเขาอย่างไรคะ  

“ซินดี้กับไบรอนมีการประชุมกันเรื่องเลี้ยงลูก (เลล่า และเอเดน บิชอพ) ตลอด บ้านเราให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก จึงต้องคุยเพื่อปรับจูนให้ไปในทิศทางเดียวกัน หรือมีการปรับความคิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ เราอยากให้ลูกเป็นแบบไหน ซึ่งสำคัญมาก เพราะเราต้องทำงานเป็นทีม ถ้าเราตั้งกฎแล้วอีกคนไม่ทำ เด็กจะรู้ได้ทันที เพราะเขาฉลาด (หัวเราะ)

“ครอบครัวซินดี้มี Family Rules ที่ทุกคนในครอบครัวต้องทำตาม เป็นข้อตกลงที่เราสัญญากันไว้ กฎนี้เกิดขึ้นตอนไปเที่ยวอเมริกา แล้วลูกๆ ซนมาก จนซินดี้ปรี๊ดแตก บอกทุกคนหยุด! มานั่งตรงนี้เดี๋ยวนี้ ซินดี้ก็ให้เขาหยิบกระดาษออกมาคนละแผ่น แล้วให้ลูกๆ ตั้งกฎขึ้นมา เขียนไปเลยว่ามีอะไรบ้าง เขาก็พูดคำแรกเลยว่า ‘Be Kind’ ข้อ 2 ‘Don’t Interrupt’ คือ ณ วันนั้นเราไม่รู้จะจัดการยังไง จึงเปลี่ยนความรู้สึกนี้ให้เป็นอะไรที่สร้างสรรค์ที่สุดเท่าที่จะคิดออก สุดท้ายจึงออกมาเป็นกฎประจำครอบครัวที่ว่า Be Kind (มีเมตตา), Be Patient (อดทน), Support Each Other (สนับสนุนเกื้อกูลกัน), No Bad Secrets (ไม่มีความลับต่อกัน), อย่าพูดแทรก และ No Hitting คือเป็นกฎที่ชัดเจนมาก แล้วทุกคนในบ้านต้องเคารพกฎนี้อย่างเคร่งครัด”

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ

แล้วในแง่ของสิทธิส่วนบุคคลล่ะคะ บอกลูกอย่างไร

“ซินดี้นำสิ่งที่เขียนในหนังสือมาใช้ในบ้านด้วยค่ะ เราจะพูดตลอดเรื่องของการเคารพซึ่งกันและกัน อย่างเอเดนเข้าใจเรื่องความยินยอมตั้งแต่ 4 ขวบแล้ว เรายกตัวอย่างว่า สมมติว่าหนูมีคุกกี้ที่อร่อยมาก อยากให้พี่สาวชิม แต่พี่สาวไม่อยาก หนูจะยัดปากพี่ไม่ได้นะคะ (หัวเราะ) นั่นคือความยินยอม หรือบางทีพี่น้องวิ่งเล่นไล่จับกัน ตอนแรกก็เริ่มต้นด้วยดี เพราะอยากเล่นทั้งคู่ แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งที่คนหนึ่งพูดขึ้นมาว่าไม่อยากเล่นแล้ว ก็ต้องหยุด เพราะแสดงว่าเขา ไม่ให้ความยินยอมต่อไป ดังนั้นเวลาลูกๆ เล่นกัน ซินดี้จะแอบฟังตลอด ถ้ามีคนหนึ่งพูดว่าไม่ แล้วอีกคนไม่ฟัง ยังเล่นต่อ แล้วอีกคนร้องว่า ‘ไม่เอาๆ’ ซินดี้ก็จะเสียงดังขึ้นมาเลยว่า ‘I heard stop twice!’ (แม่ได้ยินคำว่าหยุดสองครั้งแล้วนะ) เขาจะรู้ทันทีว่าต้องหยุด

“ที่ต้องสอน เพราะวันนี้อาจเป็นแค่คุกกี้หรือวิ่งไล่จับ แต่วันหลังอาจจะเป็นเรื่องอื่นที่ใหญ่ขึ้นและซับซ้อนขึ้น ซึ่งถ้าไปพูดตอนนั้นจะยากแล้ว เราจึงต้องปูพื้นคอนเซ็ปต์นี้ไว้ให้เขาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งหลายครั้งพ่อแม่อาจจะมองข้ามเรื่องเล็กๆ ไป เพราะคิดแต่เรื่องใหญ่ๆ แต่ถ้ามองให้ดีจะเห็นเลยว่า นี่คือการวางพื้นฐานเรื่องการเคารพสิทธิของผู้อื่น”

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ

มีเรื่องอะไรที่บ้านนี้ให้ความสำคัญอีกคะ

“เรื่อง Gender Stereotype คะ่ บางบ้านเลี้ยงลูกผู้หญิงผู้ชายไม่เหมือนกัน แต่ซินดี้เลี้ยงเหมือนกัน และคิดว่าเรื่องเพศไม่เกี่ยวอะไรกับการเลี้ยงลูก ยกเว้นสิ่งที่เป็นเรื่องเฉพาะจริงๆ เช่น พัฒนาการทางร่างกาย อันนี้เราจะแยกสอน นอกเหนือจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการแสดงออก การเล่น ซินดี้ไม่จำกัดเลย เช่น มีครั้งหนึ่งเอเดนหกล้มแล้วเลือดออก พี่เลี้ยงเขาบอกว่าไม่ได้ๆ เด็กผู้ชายอย่าร้องไห้ ซินดี้บอกเลยว่าไม่เกี่ยวกัน ถ้าเขาเจ็บก็ปล่อยร้องไป เพราะการร้องไห้เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ ไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ดีเสียอีกที่ผู้ชายควรจะได้รู้จักการแสดงออกทางอารมณ์บ้าง เพราะหลายครั้งที่ผู้ชายได้แต่เก็บความเศร้าเสียใจไว้ เพราะถูกสอนมาแต่เด็กว่าห้ามแสดงอารมณ์ แต่ซินดี้จะบอกลูกเสมอว่านี่เป็นเรื่องธรรมชาติ มีอะไรให้พูดออกมา ไม่ใช่เรื่องอ่อนแอเลยที่พูดในสิ่งที่เรารู้สึก

“หรือซินดี้เคยทำคลิปแต่งหน้า ทั้งเลล่าและเอเดนก็มาเล่นเครื่องสำอาง แต่งหน้ากันสนุกสนาน ปรากฏว่ามีคนส่งคอมเม้นต์มาเยอะมาก ที่ซินดี้ให้ลูกชายเล่นเครื่องสำอาง ซินดี้ก็อยากถามกลับว่า แล้วถ้าลูกสาวจะไปซ่อมรถกับไบรอนไม่ได้เหรอ นี่แหละคือ Stereotype มันไม่มีเหตุผล แต่เราก็พยายามทำความเข้าใจว่านี่คือทัศนคติที่มีมานานแล้ว แต่บางครั้งก็เจอเหตุการณ์ที่ทำให้ซินดี้พูดไม่ออก อย่างเคยพาลูกไปเที่ยว แล้วมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเข้ามาคุยด้วย พอดีตรงนั้นมีร้านขายเครื่องประดับสวยๆ ตอนนั้นเอเดนอายุประมาณ 3-4 ขวบ คงเห็นอะไรวิบๆ วับๆ ก็เลยเข้าไปจับตามประสาเด็ก ปรากฏว่าผู้ใหญ่ท่านนั้นแทบจะตีมือแล้วบอกว่า ‘ไม่ได้ลูก ผู้ชายห้ามเล่นของแบบนี้’ เอเดนตกใจหันมามองหน้าแม่ ซินดี้ก็อึ้งไปเลย คือพยายามบอกลูกว่าไม่เป็นไร เล่นได้ แต่ทางผู้ใหญ่ยังคงห้ามอยู่ ซินดี้จึงต้องขอตัวออกมาปรับความเข้าใจกับลูกใหม่ว่า ‘ไม่เป็นไรนะลูก หนูเล่นได้ เพราะมันเป็นของสวยงาม’

“คือสำหรับคนอื่นอาจเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับซินดี้ไม่ใช่ เพราะสมมติว่าเด็กชอบจริงๆ โดยเขาอาจจะเป็นเกย์ หรือเขาแค่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์ พอเจอสถานการณ์อย่างนี้จะทำให้เขารู้สึกผิด แล้วเขาก็จะโตมากับความรู้สึก อับอายและรู้สึกผิดไปตลอด ยิ่งถ้าเขาแค่สนใจเฉยๆ ตามประสาเด็ก อย่างเอเดนก็เคยเล่นบาร์บี้ของเลล่า ที่สุดธรรมชาติของเขาจะปรากฏเอง เราไม่ต้องไปห้าม ถ้าเขาชอบทางนี้จริงๆ เรายิ่งไม่ควรไปฝืน”

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ

แสดงว่าซินดี้รับได้

“รับได้ค่ะ (เสียงหนักแน่น) วันก่อนเอเดนกลับมาแล้วถามว่า ‘แม่ครับ ผู้ชายแต่งงานกับผู้ชายได้ไหม’ ซินดี้ถามเขากลับว่า แล้วหนูคิดว่ายังไง เขาก็ไล่ชื่อเพื่อนสนิทของครอบครัวเราที่เป็นเกย์ แล้วแต่งงานไปหลายคู่กลับมา แค่นี้ซินดี้ก็ไม่ต้องตอบอะไรลูกเลย เขาตอบเองว่า ‘I think so.’ ซินดี้ก็บอกลูกเลยว่า ‘แม่ก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน เพราะรักก็คือรัก’ แค่นี้จบ ทำไมต้องเป็นเรื่องใหญ่ ในเมื่อนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ซินดี้จึงคิดว่าทัศนคติของพ่อแม่นี่แหละสำคัญมากในการวางพื้นฐานให้ลูก”

อัพเดตวีรกรรม “เลล่า” กับ “เอเดน” หน่อยค่ะ เป็นอย่างไรบ้าง

“แสบมาก (หัวเราะ) ตอนนี้เลล่าอายุ 11 ขวบ นิสัยคล้ายพ่อ มีความนิ่งและเป๊ะ ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะมีกระบวนการ 1 2 3 4 ตอนนี้กำลังอินกับการเต้น มี TikTok ของตัวเองด้วยนะ แต่เราเซตให้เป็นไพรเวต เพราะเขายังเด็ก ต้องระวังเรื่องนี้นิดหนึ่ง ส่วนเอเดนอายุ 8 ขวบ นิสัยเหมือนแม่ สนุกสนาน แล้วก็ฟรีสปิริต ออกแนวเอนเตอร์เทน (ยิ้ม) ที่แน่ๆ คือทั้งคู่แอ๊คทีฟ กิจกรรมเยอะ ทั้งเล่นกีฬาและดนตรี เพราะครอบครัวเราชอบทำกิจกรรมค่ะ ทั้งคู่จึงค่อนข้างขี้เล่นและสนุกสนาน”

ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในฐานะแม่ ซินดี้กลัวอะไรที่สุด 

“กลัวเยอะ นอยด์ไปหมด (หัวเราะ) แต่พยายามไม่คิดมาก สิ่งที่เราพอจะช่วยเหลือลูกได้คือทำให้เขามีความ Resilience คือสามารถรับมือกับปัญหาได้ ยอมรับว่าลูกไม่เหมือนซินดี้ตอนอายุเท่ากัน ซินดี้โตไวกว่า เพราะทำงานดูแลตัวเองตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่อยากให้ลูกรู้ชีวิตเร็วนัก อยากให้เขามีความอินโนเซ้นส์ตามวัย แต่ก็ไม่ถึงกับปิดหูปิดตาลูก เพราะความเป็นเด็กมีอยู่แค่แป๊บเดียวจริงๆ อยากให้เขาเอนจอยกับช่วงวัยของเขา ซินดี้จึงให้ความสำคัญกับการทำให้เขารู้ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเขาจะมีพ่อแม่อยู่ด้วย อยากให้เขาใกล้ชิดกับเราและรู้สึกปลอดภัย มีอะไรก็สามารถมาปรึกษาและขอคำแนะนำได้ แต่เราจะไม่กระโดดไปแก้ปัญหาให้เขา เพราะนี่คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้เขาเติบโตได้อย่างมั่นคง เรามีหน้าที่แนะนำแล้วให้เขาไปจัดการเอง ซึ่งถ้าทำให้เขามั่นคง เขาจะมั่นใจ พอเขาแน่นกับตัวตนของตัวเองแล้ว ในอนาคตเราก็คงไม่เป็นห่วงเท่าไร”

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ

บ้านนี้คุณพ่อคุณแม่แบ่งหน้าที่ในการดูแลลูกและครอบครัวกันอย่างไรคะ

“เราแบ่งเท่าๆ กันค่ะ ไม่มีใครทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งเฉพาะเจาะจง แต่จะแบ่งช่วงเวลากันเป็นรายวันบ้าง รายสัปดาห์บ้าง ซินดี้กับไบรอนจะประชุมกันทุกวันอาทิตย์ว่าวันไหนใครจะไปรับลูก หรือใครจะเป็นคนพาลูกคนไหนเข้านอน เราจะสลับกัน ไม่มีการแยกว่าลูกคนนี้ต้องไปกับพ่อหรือแม่ตลอด เรื่องอื่นก็เช่นกัน ไม่มีใครนำใคร เราแค่ต้องคุยและแบ่งเวลา เช่นเดียวกับงานบ้านที่เราทำเท่าเทียมกัน นี่เป็นอีกหนึ่งแคมเปญที่ทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและ UN Women พยายามผลักดันให้เป็น He for She ผู้หญิงช่วยผู้หญิงกันเองคงไม่พอ เราต้องการให้ผู้ชายมาช่วยด้วย โดยเริ่มง่ายๆ จากในบ้านนี่แหละ

“ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าหน้าที่การดูแลลูกและงานบ้านไม่ได้เป็นของฝ่ายหญิงอย่างเดียว ในเมื่อคุณก็อยู่ในบ้านเหมือนกัน การที่ผู้ชายไม่ทำงานบ้าน แล้วผู้หญิงทำอยู่ฝ่ายเดียว สุดท้ายจะนำไปสู่หลายปัญหา เช่น ผู้หญิงไม่มีอาชีพหลัก หรือไม่สามารถประสบความสำเร็จในการงานได้ เพราะมีภาระในการเลี้ยงดูลูก เหมือนพอท้องปุ๊บก็ลืมเรื่องอนาคตไปได้เลย ซึ่งซินดี้ว่าไม่ใช่ การเลี้ยงดูลูกถือว่าเป็นงานที่หนักและเหนื่อยมาก จะมีงานไหนในโลกนี้ที่ต้องทำตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่มีวันพัก ไม่มีวันลา และไม่มีค่าตอบแทน ซินดี้ไม่ได้เรียกร้องให้มาจ่ายค่าจ้าง แต่ขอให้รับรู้ว่านี่คืองานที่หนักมหาศาล หากจะมีใครที่พอช่วยตรงนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสามี หรือแม้กระทั่งผู้บริหารในองค์กรที่เข้าใจในเรื่องนี้ มีการออกนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่นให้พนักงานผู้หญิงที่เป็นแม่ พนักงานเองก็จะได้รู้สึกว่าเขาสามารถทำอะไรให้องค์กร ได้มากขึ้น ถ้าเราลองคิดนอกกรอบได้ ซินดี้ว่าจะดีมากๆ เลย”

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ

ซินดี้กับไบรอนถือเป็นอีกหนึ่งคู่ในวงการบันเทิงที่รักกันมายาวนาน มีวิธีดูแลกันอย่างไรให้ชีวิตคู่ราบรื่นยืนยาวคะ

“ซินดี้กับพี่ไบรอนอยู่ด้วยกันมาเข้าปีที่ 23 แล้ว สิ่งที่ทำให้เราไปกันได้ คือต้องสื่อสารและเสียสละทั้งสองฝ่าย ต้องพูดคุยเพื่อจูนกัน และต้องไม่เป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์จนกลายเป็นควบคุมอีกคน แต่เราต้องยอมรับในตัวตนของเขา เพื่อให้เขาสามารถเป็นตัวเองได้ อย่างแต่ก่อนซินดี้ก็คาดหวังอยากให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้ เช่น อยากได้ดอกไม้บ้าง (ยิ้ม) แต่ทุกวันนี้เลิกคิดว่าจะได้ดอกไม้แล้ว แต่ในทางกลับกันเขาก็มีของขวัญให้บ้างในโอกาสพิเศษจริงๆ แล้วพี่ไบรอนก็มีข้อดีในด้านอื่นอีกมาก เช่น เขาเป็นคนดีมีคุณธรรม ซื่อตรง และเสียสละมาก ชีวิตของเขาคือครอบครัวจริงๆ แล้วเขาก็ดูคนออกแบบทะลุปรุโปร่ง ถ้าคนไหนที่เข้ามาแล้วเขารู้สึกไม่โอเค เขาจะไม่สนใจเลยว่าคนนั้นเป็นใครมาจากไหน เขาบอกเลยว่าไม่อยากคุย เขาจึงไม่ค่อยเข้าสังคม แล้วก็จะเลือกเพื่อนที่คบ ต่างจากซินดี้ที่ชอบเข้าสังคม เพื่อนเยอะ ชอบทำโน่นทำนี่”

ซินดี้คิดอย่างไรกับค่านิยมการมีกิ๊กในสังคมไทย

“สังคมมองเรื่องนี้ว่าธรรมดา ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ผู้ชายที่มีกิ๊ก ผู้หญิงก็มี ทั้งที่ความจริงเมื่อแต่งงานไปแล้วคุณต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่ใช่ว่าพอแต่งงานแล้ว แต่ถ้าเขาก้าวเท้าออกจากบ้าน เขาจะไปทำอะไรก็ได้ เชื่อไหม ตอนซินดี้หมั้นกับพี่ไบรอน มีดาราผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำว่า ‘ซินดี้ต้องคิดแบบพี่นะ แล้วชีวิตคู่หนูจะราบรื่น คือเมื่อไรก็ตามที่สามีเดินออกจากบ้าน เราไม่ต้องคิดเลยว่าเขาเป็นของเรา…’ ฟังแล้วซินดี้ได้แต่อ้าปากค้าง คือเข้าใจว่าท่านหวังดีจริงๆ แต่ซินดี้รับไม่ได้ เชื่อว่ายังมีอีกหลายบ้านที่สอนลูกแบบนี้ นี่คือมายาคติและทัศนคติของสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่

“สำหรับซินดี้เรื่องนี้ไม่เคยอยู่ในหัวเลย แล้วพี่ไบรอนก็ไม่ได้ถูกปลูกฝังมาแบบนี้เหมือนกัน เขาเองก็ไม่เคยคิดว่าเรื่องการนอกใจเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพื่อนรอบข้างของเราสองคนก็ไม่มีใครคิดแบบนี้ เช่นเดียวกับเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เราก็รับไม่ได้ ถ้ามีใครในหมู่เพื่อนทำอะไรแบบนี้ จะถูกเด้งออกจากกลุ่มไปเลย ไม่ต้องมาคบกัน ซินดี้ถึงบอกว่าทัศนคติอยู่ที่การปลูกฝังและสังคมโดยรอบ ถ้าคุณอยู่ในสังคมที่เฮฮารับได้ ก็มีสิทธิ์ที่จะเกิดเรื่องนี้ขึ้น”

ซินดี้ สิรินยา บิชอพ

สำหรับคำชื่นชมถึงรูปร่างหน้าตาสวยงาม ครอบครัวอบอุ่น ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่ซินดี้ได้ยินบ่อย อยากบอกว่า…

“ชีวิตซินดี้ไม่ได้เพอร์เฟ็กต์เลย (ตอบจริงจัง) แต่ยอมรับว่าตัวเองเป็นเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ ทำอะไรต้องทำให้สำเร็จและดีที่สุด แต่พอทำหลายๆ อย่างเข้า อย่างช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่เรารับทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน ด้วยความที่จริงจังและทุ่มเทมาก จนบางทีลืมคิดถึงความต้องการของตัวเองและครอบครัว จนพี่ไบรอนต้องเตือนให้เพลาๆ ลงบ้าง ก็ทำให้ซินดี้ได้คิดถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ เพราะไม่ว่าเราจะเพอร์เฟ็กต์แค่ไหน แต่รอบๆ ตัวมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แล้วการสร้างมาตรฐานที่สูงเกินไปทำให้เราไม่มีความสุข ยิ่งถ้าทำแล้วไปเปรียบเทียบกับคนอื่น อยากเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราจะไม่มีทางแฮ็ปปี้

“มีช่วงหนึ่งพี่ไบรอนจะบ่นว่า ทำไมยูไม่หยุดแล้วเอนจอยกับสิ่งที่ทำบ้าง เพราะซินดี้จะเป็นประเภททำเรื่องนี้เสร็จปุ๊บ กระโดดไปทำอีกเรื่องต่อเลย พี่ไบรอนบอกว่ายูลองให้คะแนนตัวเองหรือยัง Enjoy the Moment นิดนึง คำเตือนของเขาทำให้ซินดี้ได้คิดว่าเราต้องหยุดคิดบ้างว่าเรากำลังทำอะไร ทำเพื่อใคร มีเวลาให้ครอบครัวไหม แทนที่จะต้องเพอร์เฟ็กต์ทุกอย่าง เราควรจะอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด แล้วตรงนี้แหละที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุขกับสิ่งที่มี โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร พอถึงจุดหนึ่งเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์คนนี้จึงไม่ต้องการความเพอร์เฟ็กต์อีกต่อไป ตอนนี้ซินดี้ก็กำลังพยายามทำทุกอย่างให้ช้าลง บาลานซ์ชีวิตให้มากขึ้น กำลังปรับอยู่ค่ะ โดยที่ยังยึดสิ่งสำคัญที่สุดไว้คืออย่าหยุดพัฒนาตัวเอง”

ใครคือแรงบันดาลใจที่ซินดี้ชื่นชมในด้านการใช้ชีวิตคะ

“ซินดี้ชอบโอปราห์ วินฟรี เขาเป็นผู้หญิงที่ไม่ว่าจะพูดหรือทำอะไร พลังในตัวที่สามารถส่งต่อให้คนอื่นได้จะสูงมาก เวลาที่ซินดี้รู้สึกนอยด์ๆ แล้วได้ฟังเขาพูดนะ เราจะมีพลังขึ้นมาเลย ซึ่งความรู้สึกดีๆ แบบนี้จำเป็นมากในการใช้ชีวิต บางทีเราอาจจะมองโลกอยู่แค่ในมุมมองของเรา แต่การได้ฟังและได้ดูสิ่งที่เขาทำมันคือการเปิดโลกและ Celebrate Powerful Woman โอปราห์จึงเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของซินดี้”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 966

ภาพ : cindysirinya

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เปิดใจคู่กันครั้งแรก มาดามแป้ง & ดร.ณรัชต์ ความรักดั่งบุพเพสันนิวาสครั้งสุดท้าย

นางฟ้าไอทีร้อยล้าน “เฟื่องลดา” สู้และขยัน ทำงานตั้งแต่ 19 ฝันเลี้ยงพ่อแม่ให้สบาย

เมื่อไหร่จะมีแฟน ? ฟังจากปาก โป๊ป ธนวรรธน์ สเป็คสาวและมุมมองความรักที่เปลี่ยนไป

Praew Recommend

keyboard_arrow_up