เฟื่องลดา

นางฟ้าไอทีร้อยล้าน “เฟื่องลดา” สู้และขยัน ทำงานตั้งแต่ 19 ฝันเลี้ยงพ่อแม่ให้สบาย

Alternative Textaccount_circle
เฟื่องลดา
เฟื่องลดา

เฟื่องลดา – สรานี สงวนเรือง นางฟ้าไอทีร้อยล้าน ไม่ใช่ความน่ารักที่ร่ายมนตร์สะกดจนมีผู้ติดตามนับล้าน แต่เป็นเรื่องราวการต่อสู้ ความขยัน และความฉลาด ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเธอคนนี้ ที่ทำให้อยากรู้จักเธอมากขึ้น

เฟื่องลดาท้าชน

“เฟื่องทำงานตั้งแต่อายุ 19 ปี ได้รับโอกาสดีๆ มากมาย เมื่อเทียบกับเพื่อนวัยเดียวกัน ซึ่งการที่เฟื่องเริ่มงานเร็วไม่ได้เกิดจากสถานการณ์บังคับหรือที่บ้านอยากให้ดูแลตัวเอง เพียงแต่ตอนปี 2540 เฟื่องอายุ 7 ขวบ คุณพ่อเป็นมนุษย์เงินเดือนอายุ 50 กว่าที่ประสบปัญหาถูกเลย์ออฟ จากที่เคยอยู่บ้านเดี่ยว พวกเราต้องขยับไปอยู่ อพาร์ตเมนต์เล็กๆ ก่อนขยับมาอยู่ทาวน์เฮ้าส์ ชีวิตไม่ถึงกับลำบากมาก แต่เฟื่องรู้สึกว่าชีวิตครอบครัวน่าจะดีได้กว่านั้น บวกกับพ่อแม่มีเฟื่องตอนอายุมาก มีพี่สาว 1 คน อายุห่างกัน 2 ปีครึ่ง จึงทำให้รู้สึกมาตลอดว่าท่านอายุมากแล้ว เรามีเวลาตอบแทนน้อย จึงตั้งใจที่จะเรียนพร้อมกับทำงานไปด้วย อยากรับผิดชอบตัวเองและครอบครัวได้ เพื่อวันหนึ่งพ่อแม่จะได้สบาย

เฟื่องลดา

“ความที่ชอบร้องเพลงจึงไปประกวด AF รุ่น 7 – 8 เข้ารอบ 50 คนสุดท้ายทั้งสองครั้ง ที่สุดได้มาทำพิธีกรรายการข่าวบันเทิง ทรูอินไซด์ ตอนเรียนปี 3 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเรามองว่าเป็นโอกาส เป็นปีที่ทุกอย่างมาพร้อมกัน เพราะการเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษก็หนัก กิจกรรมก็แน่น เพราะเฟื่องเป็นนักร้องวงซียูแบนด์ของจุฬาฯ และวง I Hear Band ร่วมกับรุ่นพี่ด้วย งานพิธีกรก็อยากทำ จึงต้องบริหารจัดการเวลาขนานใหญ่ด้วยการพกหนังสือเรียนไปด้วยทุกที่ ว่างเมื่อไหร่เปิดอ่านเมื่อนั้น

“กระทั่งเรียนปี 4 ใกล้จบ วงไอเฮียร์แบนด์ไปบรรเลงในงาน ‘สนุกดอทคอม’ เฟื่องไปร้องเพลง ทำให้ได้รู้จักพี่หนุ่ย (พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์) ที่มาเป็นพิธีกร และฟอลโลว์กันทางทวิตเตอร์ ผ่านไป 4 – 5 เดือนเฟื่องทวีตชวนคนมางานรับปริญญา เขาเห็นแล้วคงจำได้ จึงส่งข้อความถามว่าสนใจมาแคสติ้งงานพิธีกรคู่รายการ แบไต๋ไฮเทค ไหม ตอนนั้นเรียนจบปริญญาตรีพอดี จึงลองไปแคสต์ เจอคนเก่งเต็มไปหมด พี่หนุ่ยรู้ว่าเฟื่องชอบร้องเพลง จึงให้นำข่าวไอทีที่ใช้แคสต์วันนั้นมาร้อยเป็นเพลงแล้วร้องส่งมาภายในสองวัน เฟื่องเลือกร้องข่าวไอทีเป็นเพลง Part of Your World ของดิสนีย์ พี่หนุ่ยน่าจะประทับใจจากจุดนั้น จึงทำให้เฟื่องได้มาทำพิธีกรรายการไอทีทางช่อง 9 อสมท.”

เฟื่องลดา

“พยายาม” + “อดทน” คาถาความสำเร็จ

“ยอมรับว่างานพิธีกรต้องใช้ความพยายามมาก ตอนนั้นพี่หนุ่ยทำรายการมา 9 ปีแล้ว ทุกคนที่ทำรายการนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่อยู่กับไอทีมาตลอดเวลา เรียกว่ามีความรู้ขั้นเทพ ขณะที่เฟื่องเป็นน้องใหม่ แม้จะมีทีมงานทำสคริปต์ให้ แต่เราเองก็ต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

“ทำได้ไม่ถึงเดือน พี่หนุ่ยส่งไปทำรายการสดทุกวันจันทร์ – ศุกร์ วันละหนึ่งชั่วโมง เราจึงจำเป็นต้องเก่งอย่างก้าวกระโดด ต้องเข้าใจเนื้อข่าวและสามารถเพิ่มเติมได้ เฟื่องต้องอ่านข่าวไอทีทุกวัน วันละอย่างต่ำหนึ่งชั่วโมง ติดตามทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ทั้งดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง สตาร์ตอัพ จนถึงแก็ดเจ็ตออกใหม่ พี่หนุ่ยให้เฟื่องทำสรุปข่าวไอทีมาส่งทุกสัปดาห์ เหมือนบังคับให้ต้องเรียนรู้ตลอดเวลานั่นเอง สิ่งไหนไม่รู้ก็ให้ถามจนรู้ ศึกษาหาข้อมูลเพิ่ม ทำให้เริ่มรู้สึกชอบงานพิธีกรด้านเทคโนโลยีที่เป็นเรื่องใหม่ๆ น่าตื่นเต้น มีประโยชน์ทุกวัน

“แต่ก็มีบางช่วงที่รู้สึกท้อ ความที่เราเป็นผู้หญิงคนเดียวในรายการ ต้องพยายามเอาตัวรอด ด้วยการหาวิธีแทรกในบทสนทนาหรือหยอดมุก เพื่อให้ดูกลมกลืนกับคนอื่น ซึ่งพอรายการอัพโหลดในยูทูบ เราไปเปิดดูตัวเอง เพื่อศึกษางานที่ผ่านไปแล้ว ปรากฏว่าอ่านคอมเม้นต์แล้วห่อเหี่ยว ประมาณว่าคนนี้มาทำอะไร ไม่รู้เรื่อง เอาออกไปดีกว่า ว่าเราแรงๆ มากมาย รู้สึกท้อใจ อึดอัด จนต้องแอบไปร้องไห้คนเดียว

เฟื่องลดา

“เฟื่องตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเป็นเด็กจบใหม่ มีหลายเส้นทางให้เลือกทำ จำเป็นต้องเดินทางนี้ไหม งานนี้ใช่ตัวเราหรือเปล่า แต่ที่สุดตัดสินใจว่าเราต้องไม่ยอมแพ้ เพราะเราชอบเนื้องานที่ทำ ในเมื่อโอกาสมาถึงแล้ว จะปล่อยไปได้อย่างไร ความรู้อาจยังไม่เพียงพอเท่าคนที่อยู่ในวงการนี้มานาน เขาจึงคอมเม้นต์เพราะคาดหวังให้เรารู้มากกว่านั้น เฟื่องจึงศึกษาและพยายามให้มากขึ้นอีก ด้วยการไปร่วมงานสัมมนาต่างๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีไอที ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง จนรู้มากขึ้นๆ เวลาไปทำพิธีกรงานอีเว้นต์ต่างๆ ก็เลือกนั่งแถวหน้า รู้สึกตื่นเต้นที่ได้ความรู้มากมายแล้วจดไว้ พี่ๆ ทีมงานรายการก็พร้อมซัพพอร์ตความรู้ให้ตลอด อยากรู้อะไรเพิ่มก็ถามเขา

“ผ่านไปสองปีรายการเลิก เฟื่องกับพี่หนุ่ยแพ็คคู่กันไปอ่านข่าวรายการ ข่าวเช้าโซเชียล ที่ไทยรัฐทีวี ต้องตื่นตี 3 ตี 4 มาทำรายการที่สตูดิโอทุกวัน พอบ่ายไปเป็นดีเจคลื่นวิทยุ 103 Like FM ต่อ ช่วงเวลาที่ว่างเฟื่องเริ่มเขียนบล็อก ทำเว็บไซต์เฟื่องลดาดอทคอม อัดคลิปวิดีโอรีวิว ตัดต่อเอง กระบวนการทั้งหมดนั้นทำให้รู้สึกว่าได้ เป็นตัวของตัวเอง พูดเรื่องที่อยากพูด เลือกเรื่องที่อยากนำเสนอเอง ทำทุกอย่างเองคนเดียว ทำแล้วเห็นอิมแพ็กต์ว่าคนเสพคอนเท้นต์เราแล้วมีประโยชน์นะ จึงทำงานออนไลน์ด้วยความสนุก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของเฟื่อง เพราะตอนเป็นพิธีกรอ่านข่าวเทคโนโลยีรู้สึกว่าทุกอย่างถูกเซตมาแล้ว ไม่ตอบโจทย์เป้าหมายที่เราอยากเป็นเจ้าของกิจการเอง

“พอตกผลึก เฟื่องก็ตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำทั้งหมด แล้วเปิดบริษัท Flourish Digital ด้วยทุนตัวเองคนเดียวเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสออนไลน์มาพอดี พอทำบริษัทของตัวเองแล้วรู้สึกว่าใช่เลย นี่แหละที่เป็นเรา ค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยการทำคอนเท้นต์ครีเอเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราถนัด แล้วก็เริ่มมีลูกค้า ขณะที่เพจ ‘เฟื่องลดา’ มีจำนวนผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงลุยงานด้านนี้เป็นหลัก”

เฟื่องลดา

กับฉายา “นางฟ้าไอที”

“ตั้งแต่ปีแรกที่ทำรายการ แบไต๋ไฮเทค มีสื่อมาสัมภาษณ์และเขียนข่าวในฐานะที่เราเป็นผู้หญิงพูดเรื่องไอที ซึ่งเป็นวงการที่มีแต่ผู้ชาย แล้วเราคงพูดด้วยน้ำเสียงยิ้มๆ สนุกๆ แบบผู้หญิงมั้ง จึงได้ฉายาว่าเป็น ‘นางฟ้าไอที’

“แต่จุดยืนใหม่ของเฟื่องตอนนี้คือไม่มีคำว่า ‘นางฟ้า’ และ ‘ไอที’ เฟื่องได้ระเบิดตัวตนนั้นทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นคนธรรมดาที่อยากใช้ชีวิตในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลอย่างมีความสุข และรีแบรนด์เพจ ‘เฟื่องลดา’ มาเป็น ‘LDA ลดา – Ladies of Digital Age’

“เหตุที่ระเบิดคำว่านางฟ้า เพราะลึกๆ เราเชื่อเรื่องความเท่าเทียมกัน ชีวิตที่ผ่านมาเฟื่องเป็นคนธรรมดาที่ได้รับโอกาสที่ดี มีความพยายาม ขยัน อดทน จึงทำให้มายืน ณ จุดนี้ แต่คำว่านางฟ้าดูเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งเฟื่องคิดว่าตัวเองเป็นตัวแทนของคนธรรมดา ที่หากพยายามมากพอ คุณก็เป็นเหมือนกับที่เฟื่องเป็นได้

“ส่วนในมิติของคำว่า ‘ไอที’ เพราะเทคโนโลยีคือเรื่องที่ทุกคนควรรู้และควรเข้าใจ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต ถ้าไม่รู้ อาจทำให้เสียเปรียบ โดนคนอื่นแซง แต่ถ้ารู้ก็ทำให้ได้โอกาสมากกว่า ได้ต่อยอดอีกมากมาย จึงเกิดเป็นมิชชั่นในการคัดน้องๆ ที่ไม่เก่งมาก่อน แต่มีความพยายาม ตั้งใจเรียนรู้ มาต่อยอดสร้างเป็นกลุ่มสาวๆ ที่สนใจเรื่องราวเทคโนโลยีและถ่ายทอดให้เข้าใจได้ง่าย สื่อสารผ่านเพจ LDA ที่เฟื่องพยายามดันน้องๆ ให้มาทำตรงนี้มากขึ้น เพื่อบอกว่าผู้หญิงกับวงการไอทีสามารถมีได้ไม่อั้น ไม่จำเป็นต้องมีแต่เฟื่องเท่านั้น

“แต่แน่นอนว่าเหรียญย่อมมีสองด้าน การเป็นผู้หญิงหน้าตาดี สิ่งแรกที่คนมองจึงไม่ใช่เรื่องความรู้ความสามารถ มีคนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ที่มาคอมเม้นต์น้องๆ ในเพจ LDA ว่า ‘สวย’ หรือไม่ก็ ‘น่ารักจัง’ แทนที่จะมองถึงคอนเท้นต์ที่เราทำ จนบางทีอยากบอกว่าช่วยสนใจคอนเท้นต์ที่เราทำหน่อยได้ไหม เพราะเราก็ตั้งใจทำไม่แพ้ใคร จึงทำให้รู้สึกท้อถอยบ้าง แต่อีกด้านคือผู้หญิงที่ทำเรื่องที่มีผู้ชายสนใจมากและอยู่ในสปอตไลต์ที่มีไฟส่อง มักจะมีผู้รับสารบางกลุ่มที่เข้ามาป่วน ซึ่งก็ต้องหาทางรับมือกันไป”

เฟื่องลดา

โดดเด่นด้วย KOL

“เฟื่องมองว่าเราอยู่ในยุค KOL (Key Opinion Leader) ไม่ใช่กูรู ไม่ใช่ครู ไม่ใช่โค้ช ไม่ใช่ไลฟ์โค้ช แต่เป็นยุคของการที่ People Follow People ถ้าเขามีวิธีคิดแบบเดียวกับเรา ชอบจริตในการนำเสนอแบบเรา ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นกูรูแล้วบอกว่าตัวเองรู้ทุกเรื่อง เฟื่องมีความเชื่อส่วนตัวว่ายิ่งคิดว่าเป็นกูรู จะยิ่งจำกัดชีวิตเราให้แคบลง เพราะในโลกนี้มีเรื่องที่เราไม่รู้จริงๆ มากมาย ปัจจุบันโลกเปลี่ยนเร็วมาก ความรู้ที่เคยเรียนมา 30 ปีอาจถูกทิ้งภายใน 1 ปี หรือ 2 ปีก็ได้ บริษัทของเราจึงมีจุดยืนว่าเราพร้อมเปลี่ยนแปลงเสมอ ซึ่งจะทำให้เราไม่หยุดอยู่กับที่และถูกคนอื่นแซง

“จากวันแรกที่เปิดบริษัทมีพนักงาน 5 คน ผ่านไป 3 ปีครึ่งมีพนักงาน 30 คน บางคนอาจสงสัยว่าเราแค่ทำเพจและเป็นยูทูบเบอร์ จะมีพนักงานขนาดนี้ไปทำไม เฟื่องอยากทำบริษัทให้มั่นคงแข็งแรง ดูแลพนักงานได้ดี ตอบโจทย์สังคมได้ดี จึงมองหาบิสเนสโมเดลใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อให้บริษัทมีธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่การผลิตคอนเทนต์อย่างเดียว สิ่งที่เราสร้างรากฐานไว้จะถูกสานต่อ และเพิ่มเติมด้วยการสร้างคนที่มีของ มีฝัน มีเรื่องอยากเล่า ให้เป็น KOL รวบรวมเป็นคอมมูนิตี้ที่มีความเชื่อและวิธีคิดแบบเดียวกัน เพื่อให้เขาโดดเด่นในสิ่งที่เป็นเขามากที่สุดและหารายได้ได้ด้วย

“ตั้งแต่เปิดบริษัทมา ยอดรายได้จนถึงวันนี้เป็นหลักร้อยล้านบาทแล้ว ซึ่งถือว่าเร็วมากกับระยะเวลาเริ่มต้น อาจมีล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ถือว่าโตเร็ว เพราะตอนที่ตัดสินใจเปิดบริษัทก็ไม่คิดว่าจะมาถึงวันนี้ ซึ่งเฟื่องไม่ได้มีวิชั่นใหญ่โตว่าต้องอยู่จุดไหน แต่ด้วยแพสชั่นที่ชัดเจน บวกกับการร่วมมือของทีมงาน ถือว่าเราทำได้ค่อนข้างดีเกินจุดฝันไปมาก แต่แน่นอนว่าบริษัทต้องไปต่อ เพื่อให้พนักงานทุกคนเป็น The Best Version ของตัวเองให้ได้”

เฟื่องลดา

Digital Detox เป็นสิ่งสำคัญ

“โลกดิจิทัลเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ขณะเดียวกันเราต้องปรับตัวตามให้ทัน เพราะถ้าทุกอย่างหมุนเร็วไปหมด จะทำให้ขาดมิติความเป็นมนุษย์ การใช้ชีวิตของเฟื่องทุกวันนี้จึงสำคัญที่การบาลานซ์ชีวิต การกลับมามีเวลาอยู่กับตัวเอง จัดเวลาให้ตัวเองได้ตกผลึกทางความคิดบางอย่างหรืออยู่เงียบๆ บ้าง โดยไม่จับโทรศัพท์มือถือ เป็นการทำดิจิทัลดีท็อกซ์ เพื่อให้เรายังมีสติอยู่ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาเฟื่องบาลานซ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร จนบางทีรู้สึกเหนื่อยจัง เพราะมีไอเดียใหม่ตลอดเวลา บ้างานและลงมือทำทันที จนบางช่วงรุ่นพี่ต้องไล่ให้เฟื่องไปพัก ห้ามคุยงาน 3 วัน เพื่อไม่ให้หมกมุ่นจนเกินไป พาพ่อแม่ไปเที่ยวญี่ปุ่น โดยไม่อัพรูปหรือสตอรี่เลย ซึ่งไม่เคยรู้สึกดีแบบนั้นมาก่อน

“เมื่อก่อนจะรู้สึกว่าโซเชียลมีเดียเร้าให้เราต้องคุยกับมันตลอดเวลา แทนที่จะดื่มด่ำกับความรู้สึกตรงหน้าด้วยตัวเอง หลังๆ จึงเล่นโซเชียลน้อยลงมาก เพราะรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ของการโชว์ออฟบางอย่าง ไม่ใช่พื้นที่เฮลตี้สำหรับเรา ทุกวันนี้เด็กๆ เสียเวลาเป็นชั่วโมงกับการถ่ายรูป แต่งรูปก่อนโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ขณะที่เด็กในประเทศอื่นอาจไม่สังคมโซเชียลจ๋าเหมือนบ้านเรา เขาไม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการแต่งรูป แต่ใช้สำหรับอ่านหนังสือ ฟังพ็อดแคสต์หรือเท็ดทอล์คเติมความรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง การบาลานซ์เวลาและชีวิตในโลกดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญด้วย”


ข้อมูลและภาพ : นิตยสารแพรว ฉบับ 966, faunglada

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เมื่อไหร่จะมีแฟน ? ฟังจากปาก โป๊ป ธนวรรธน์ สเป็คสาวและมุมมองความรักที่เปลี่ยนไป

เปิดใจคู่กันครั้งแรก มาดามแป้ง & อธิบดีเอ ความรักดั่งบุพเพสันนิวาสครั้งสุดท้าย

คุยเอ็กซ์คลูซีฟ “พัคยูชอน” ความรักเมืองไทย + ความสนิทกับ “บอย พีซเมกเกอร์”

Praew Recommend

keyboard_arrow_up