เบื้องหลังโต๊ะข่าวของ "พุทธอภิวรรณ" ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวฝีปากกล้าแห่งอมรินทร์ทีวี

เบื้องหลังโต๊ะข่าวของ “พุทธอภิวรรณ” ผอ.ฝ่ายข่าวฝีปากกล้าแห่งอมรินทร์ทีวี

Alternative Textaccount_circle
เบื้องหลังโต๊ะข่าวของ "พุทธอภิวรรณ" ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวฝีปากกล้าแห่งอมรินทร์ทีวี
เบื้องหลังโต๊ะข่าวของ "พุทธอภิวรรณ" ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวฝีปากกล้าแห่งอมรินทร์ทีวี

ค้นโต๊ะข่าว เจาะเบื้องหลังการทำงานของ พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี ผอ.ฝ่ายข่าวฝีปากกล้า สร้างปรากฏการณ์ทุบโต๊ะข่าวฟีเวอร์

พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวและผู้ประกาศข่าวฝีปากกล้า จากช่อง อมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34 ด้วยลีลาการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ทำให้มีแฟนคลับอยู่ทั่วประเทศและต่างแดน การันตีด้วยรางวัลเกียรติยศสำหรับคนเล่าข่าวที่เขาได้รับมาตลอด 4 ปี

“หน้าจอของการอ่านข่าวไม่กี่ชั่วโมง หลังจอมีกระบวนการเตรียมงานหลายส่วนมาก ต้องใช้เวลากว่า 6-7 ชั่วโมงในทุกวัน เริ่มจากผมต้องมาถึงสถานีประมาณช่วงบ่าย เพื่อประชุมทีมงาน ดูภาพรวมของข่าวทั้งหมดตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเนื้อหา เคาะประเด็น แล้วควรจะเสนอประเด็นไหนก่อน หนึ่ง สอง สาม สี่ กำหนดเนื้อข่าวไล่เรียงไปตามลำดับความสำคัญของเนื้อข่าวในแต่ละวัน

“รวมทั้งกำหนดว่าจะทำอินโฟกราฟิก (การแสดงข้อมูลโดยใช้ภาพ) อย่างไร แล้วตอนนี้เรามี 3D Animation ประกอบด้วย จากยุคแรกมีแค่สองตัว แต่วันนี้มีประมาณ 10-20 ตัวต่อวัน ขึ้นอยู่กับเรื่องราวของข่าว เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน เช่น ตึกถล่มที่ว่าเกิดจากโครงสร้างเอียงนั้นคือเอียงแบบไหน เกิดรอยร้าวตรงไหน การสร้างภาพจำลองเหตุการณ์ทำให้คนดูเข้าใจง่ายขึ้น

เบื้องหลังโต๊ะข่าวของ "พุทธอภิวรรณ" ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวฝีปากกล้าแห่งอมรินทร์ทีวี

“สำหรับเนื้อข่าวที่ต้องเตรียมสำหรับนำเสนอทั้งหมดที่พริ้นต์ออกมาจะหนาเหมือนวิทยานิพนธ์เลย ประมาณ 200-300 แผ่นต่อวันที่ต้องอ่าน แล้วแต่ละข่าวไม่ได้มีข้อมูลแค่ไม่กี่บรรทัด เนื่องจากเราหาข้อมูลเพิ่มจากที่อื่นนอกจากที่ทีมเราหามาด้วย นี่คือความยากในการเตรียมพร้อมของทุบโต๊ะข่าวก่อนออกอากาศ

“พอจบรายการก็ต้องประชุมสรุปงานกันต่อว่าวันนี้มีความผิดพลาดตรงไหน แล้ววันถัดไปมีเรื่องอะไรที่ต้องตามต่อ ทีมคนไหนต้องไปทำอะไร กว่าจะจบงานจริงๆ ก็เกือบตีสอง

“เรื่องที่ทำให้ลุ้นเสมอเวลาอยู่หน้างานคือ ข้อมูลภาพจะส่งกลับมาทันออกอากาศไหม หรือนักข่าวพร้อมที่จะรายงานสดหรือยัง อย่างข่าวการชุมนุม เราอยากได้ภาพสดออกอากาศ แต่บางทีสัญญาณไม่มา นักข่าวไม่พร้อม ภาพไม่สามารถส่งเข้าระบบ ฯลฯ ถ้าเป็นอย่างนี้ผมก็ต้องอ่านข่าวเรื่องอื่นไปก่อนจนกว่าจะพร้อม

“การจัดรายการครั้งที่ถือว่ายากที่สุด น่าจะเป็นเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช วันนั้นตอนประมาณหกโมงเย็นมีข่าวแจ้งเข้ามาว่าเกิดการกราดยิงแล้วมีผู้เสียชีวิต 9 คน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผู้ประกาศข่าวต้องตั้งสติ ผมตัดสินใจนำข่าวนี้เข้ารายการเลย เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ แล้ววันนั้นผมจัดรายการตั้งแต่หนึ่งทุ่มจนตี 3 ใช้เวลากว่าแปดชั่วโมง ถือเป็นการจัดรายการที่ยาวนานมาก บางทีผมต้องออกจากหน้าจอด้วยการส่งให้เพื่อนผู้ประกาศคือคุณจิตดี (จิตดี ศรีดี) เล่าข่าวไปก่อน กล้องก็จะจับไปที่คุณจิตดีคนเดียว ส่วนผมวิ่งออกไปไกด์ไลน์ประเด็นให้ทีมงานว่าขอเรื่องนี้ก่อน สำคัญกว่า ลองติดต่อคนนั้นคนนี้ เพื่อจะได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วสั่งให้ช่างภาพตามเก็บภาพมุมต่างๆ ส่งเข้ามา เพราะน้องๆ ไม่ได้ทำข่าวมานานเหมือนผม อาจจะไม่เคยแก้ปัญหาในช่วงสถานการณ์วิกฤติอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่ไม่ได้ออกอากาศ คนดูจะเห็นเพียงผู้ประกาศนั่งประจำโต๊ะเท่านั้น

“หลายคนมักมองว่าสื่อเป็นคนทำให้เกิดกระแส ผมว่าเราไม่มีสิทธิ์ในการสร้างกระแส เราเพียงเลือกสรรสิ่งที่คนอยากรู้จริงๆ มากกว่า ผมว่าเราประเมินความรู้สึกคนดูได้ จึงหยิบยกประเด็นต่างๆ มานำเสนอให้เกิดความน่าสนใจ แล้วติดตามประเด็นที่ไม่เหมือนกับที่อื่น จึงทำให้ข่าวช่องอมรินทร์ทีวีแตกต่าง คือมี ‘ความใหม่’ ในเรื่องเดียวกัน

“อย่างคดีน้องชมพู่ แรกเริ่มเป็นเรื่องของเด็กสามขวบหายขึ้นไปบนเขา เพราะเราทำข่าวมาเยอะ จะรู้ว่าน้องคงต้องเจ็บปวดและทรมานมาก แล้วเราเข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่ดีว่าคงต้องอยากให้มีใครมาช่วย ในฐานะที่เราเป็นสื่อ ควรมีส่วนช่วยตรงนี้ ผมจึงให้นักข่าวลงพื้นที่เป็นสื่อแรกเพื่อช่วยค้นหาตั้งแต่ที่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไป ตามต่อทุกวัน จนกระทั่งพบศพน้อง

“ตอนแรกไม่ได้คาดหวังว่าสิ่งที่เราอยากมีส่วนช่วยเหลือจะกลายเป็นข่าวที่มีคนรับรู้มากมาย อาจจะเป็นความโชคดีที่ผมทำข่าวอาชญากรรมสืบสวนสอบสวนมาก่อน แล้ววันนั้นพอเห็นข่าวน้องชมพู่ก็เกิดคำถามว่าเด็กสามขวบหายบนเขาได้อย่างไร ต้องมีคนพาไปหรือเปล่า แล้วน้องไปเสียชีวิตตรงนั้นได้อย่างไร ผมเชื่อว่าคนอยากรู้ข่าวต่อ แต่ยังไม่มีใครทำให้เขาดู ในขณะเดียวกันเราก็มีนักข่าวที่มีความสามารถที่จะทำข่าวอย่างไรเพื่อคลายสิ่งที่ผู้คนอยากรู้

“ผมว่าข่าวต้องมีความน่าสงสัย ต้องน่าติดตาม ทั้งตัวคนร้าย ทั้งผลที่ตามมา ซึ่งช่องอื่นอาจจะจับคนร้ายได้แล้วจบ พรุ่งนี้ไม่ตามแล้ว แต่อมรินทร์ทีวียังไม่จบ เราตามไปถึงผลกระทบต่อคนในข่าวด้วย เขาจะอยู่ต่อยังไง ซึ่งเราเลือกหยิบมุมแบบนี้มานำเสนอ จึงทำให้ข่าวอมรินทร์มีความพิเศษจากข่าวช่องอื่น

“มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การที่เราเสนอข่าวแต่เรื่องดราม่าแบบนี้มากพอสมควร เรารับฟังนะครับ ผมมองอีกมุมหนึ่งว่าดราม่าก็คือชีวิต ข่าวก็สะท้อนชีวิต อย่างกรณีข่าวน้องชมพู่ เราใช้เวลาเล่าข่าว 40-50 นาที ขณะที่บางช่องเสนอ 5 นาที ก็เปลี่ยนข่าว ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ผมบอกว่าคนดูอยากรู้ สื่อก็อยากรู้ เราจึงทำให้เขารู้และคลายสงสัยด้วยการนำเสนอชีวิตของคนในแบบธรรมดาที่สุด ผลตอบรับคือคนดูเฝ้าตามดูทั้งประเทศ ไม่เปลี่ยนช่องไปไหน ถือว่าเราตอบโจทย์ได้มากกว่า

“หลายครั้งที่เราได้คุยกับคนในพื้นที่ กลายเป็นว่าเขาขอบคุณเรา แล้วมีหลายข่าวที่เขาบอกว่าให้อมรินทร์ทีวีอยู่ต่อนะ อย่าเพิ่งไปไหน เพราะถ้านักข่าวเราพ้นพื้นที่ไปแล้วเรื่องราวจะเงียบ ถ้าดราม่าคือชีวิต เราก็ได้ช่วยเหลือชีวิตของพวกเขา

“ความภูมิใจที่สุดของผมในฐานะคนทำข่าวคือ การได้มีส่วนช่วยเหลือสังคม แล้วได้รับการยอมรับจากคนดูในที่สุด เคยมีคนถามผมว่าสามารถทำข่าวให้คนสนใจได้มากกว่าละครหรือเปล่า เรตติ้งรายการข่าวจะชนะละครได้ไหม แต่สุดท้ายก็เกิดขึ้นได้ คนสนใจข่าวมากกว่าละครฟอร์มยักษ์ไปแล้ว นี่คือปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไปแล้ว เนื่องจากคนทำข่าวอย่างเราเปลี่ยนตัวเอง คือต้องรู้ว่าคนดูอยากดูอะไร จะทำอย่างไรให้คนดูหายสงสัยในหลายๆ เรื่อง ถือเป็นปรากฏการณ์ในวงการข่าวเลย แสดงว่าเรามาถูกทางแล้วครับ”


ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 963

สามารถติดตามอ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ครั้งแรก! เปิดบ้านริมทะเลสาบสุดอลังของ “ตัน ภาสกรนที” และครอบครัวแสนอบอุ่น

สัมภาษณ์หยิกแกมหยอกของ เบลล่า-ราณี & โป๊ป-ธนวรรธน์ คู่จิ้นที่มองตาก็รู้ใจ

สวยเก่งใช่เล่น! “ชาเม-ยาหยี” สองสาวลูกไม้ใต้ต้นของคุณพ่อ “ติ๊ก ชิโร่”

Praew Recommend

keyboard_arrow_up