ป๋าเต็ด

เจาะความเก๋าเกม! จาก “ดีเจยุทธนา” สู่ “ป๋าเต็ด” เจ้าพ่อมิวสิคเฟสติวัลเมืองไทย

Alternative Textaccount_circle
ป๋าเต็ด
ป๋าเต็ด

เจาะลึกเบื้องหลังความสำเร็จของ “ป๋าเต็ด – ยุทธนา บุญอ้อม” จากนักจัดรายการวิทยุธรรมดาๆ สู่เจ้าพ่อมิวสิคเฟสติวัลเมืองไทย

จากดีเจมือเก๋าสู่นักจัดคอนเสิร์ตระดับประเทศ ด้วยความสามารถ ประสบการณ์ และวิธีคิดที่แตกต่าง หรือที่หลายคนให้คำนิยามว่า “บ้า” ของเขา ทำให้ตลอดสองทศวรรษ ป๋าเต็ดยังคงยืนสง่าอยู่ฟร้อนต์โรว์ และยังไม่มีคู่แข่งใดมาหายใจรดต้นคอได้ง่ายๆ

ดีเจยุทธนา…สู่ “ป๋าเต็ด”

ก้าวแรกในวงการเพลงกับงานดีเจหรือนักจัดรายการวิทยุธรรมดาคนหนึ่ง เสมือนเป็นการวางรากฐานเส้นทางชีวิตในการก้าวสู่การเป็นเจ้าพ่อมิวสิคเฟสติวัล สร้างปรากฏการณ์เทศกาลดนตรีที่ประสบความสำเร็จที่สุดในเมืองไทย

“ตอนทำงานดีเจผมรับหน้าที่ครีเอทีฟรายการด้วย จึงมีโอกาสได้ทำงาน อีเว้นต์ควบคู่กันไปกับการจัดรายการ ต้องคิดกิจกรรมให้ลูกค้า รวมถึงกิจกรรม เพื่อโปรโมตตัวรายการ อย่างตอนทำที่ฮ็อตเวฟ ผมได้ริเริ่มทำ Hotwave Music Awards การประกวดวงดนตรีระดับมัธยม เพราะเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การประกวด วงดนตรีมักได้รับความสนใจแค่พ่อแม่พี่น้องผู้ที่เข้าประกวด จึงตั้งโจทย์ให้ตัวเอง ว่าจะทำอย่างไรให้คนที่ไม่เข้าประกวดได้มีส่วนร่วม มาช่วยเชียร์และร่วมลุ้น จึงมี กฎว่าสมาชิกในวงจะต้องอยู่โรงเรียนเดียวกัน และใส่เครื่องแบบนักเรียนมาแข่ง ทำให้คนที่ไม่รู้จักวงนี้ แต่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในสถาบัน ก็อยากจะมาร่วมเชียร์

“พอย้ายมาทำ 104.5 Fat Radio ผมเริ่มทำเทศกาลดนตรีแนวอินดี้ Fat Festival เกิดขึ้นจากช่วงที่เรตติ้งของคลื่น Fat Radio ไม่ค่อยดี โฆษณาไม่เข้า เพราะเราเปิดเพลงค่ายเล็กหรือแนวเพลงอินดี้ ซึ่งต่างจากคลื่นอื่น ผมจึงคิดว่า จะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อพิสูจน์ว่ามีคนฟังเหมือนเรา ไม่ใช่เราชอบอยู่คนเดียว จึงเป็นที่มาของการนำวงดนตรีที่เปิดอยู่ในรายการมาแสดงสด โดยไม่มีค่าตัว แต่เรา ให้บู๊ธคุณฟรี คุณสามารถหารายได้จากการจำหน่ายซีดี ผลงาน เสื้อยืด กลายเป็น สิ่งที่ทำให้ Fat Radio ประสบความสำเร็จ

“ผมไม่เคยรู้สึกว่าฉันเป็นดีเจแล้วทำไมต้องทำอีเว้นต์ แต่กลับรู้สึกว่าอีเว้นต์ เป็นสื่อมวลชนอย่างหนึ่ง ผมจึงชอบสื่อสารไปยังมวลชนโดยไม่จำกัดรูปแบบ โดยเฉพาะเป็นสารที่ผมเห็นว่าอาจจะถูกละเลยหรือสื่อออกมาในอีกแบบที่อาจจะ สนุกกว่า หรือได้ผลที่แตกต่างอย่างที่เราอยากให้เป็น”

วันที่เขาตัดสินใจกลับมาบ้านเดิมคือบริษัทแกรมมี่ ป๋าเต็ดจึงได้รับมอบหมาย ให้ทำเทศกาลดนตรีอย่างจริงจัง

“ทางแกรมมี่ชวนผมมาร่วมงาน เขาอยากได้ Know-How ของผมกลับมา ใช้งาน แล้วอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผมไม่ลังเลที่จะกลับมาคือ ผมเป็นรุ่นน้องของ คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนที่อยู่แกรมมี่ช่วงแรกไม่ได้มีโอกาสทำงานด้วยกันโดยตรง แต่การกลับมาครั้งนี้ผมทำงานกับคุณไพบูลย์ จึงถือเป็นโอกาสดีที่ได้ทำงาน กับรุ่นพี่ที่เราชื่นชม สำหรับผม แกรมมี่คือฮีโร่และเป็นมิติใหม่ของวงการดนตรี เมืองไทย ประกอบกับตอนนั้นทีม Fat Radio แข็งแรงมากแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีผม ก็ได้

“การเริ่มต้น Big Mountain Music Festival ถือเป็น Festival for Festival คือไม่ได้มีสื่อรองรับอะไรทั้งสิ้น ทำขึ้นมาเพื่ออยากให้เป็นเทศกาลดนตรีในแบบที่ บ้านเรายังไม่เคยมี จากที่เคยอยู่บริษัทเล็ก ๆ เงินทุนน้อย วิธีคิดงานของ Fat Festival คือทำอย่างไรในข้อจำกัดเหล่านี้ เพื่อให้เกิดงานอย่างที่เราต้องการ พอ มาทำงานที่แกรมมี่ก็มีข้อจำกัดอีกแบบหนึ่ง เงินทุนมากกว่า มีศิลปินเป็นของตัวเอง แต่ก็มีข้อเสีย ด้วยความที่แกรมมี่มีค่ายเพลงเป็นของตัวเอง แต่ Fat Festival เป็นสื่อมวลชนที่มีความเป็นกลาง สามารถดีลกับทุกค่ายได้โดยไม่มีคำครหา ผมจึง มีโจทย์ใหม่ว่าทำอย่างไรให้คนทั่วไปเข้าใจว่า Big Mountain Music Festival ไม่ได้ทำมาเพื่อแกรมมี่ ทั้ง ๆ ที่เป็นงานของแกรมมี่ และต้องทำให้ศิลปินเชื่อว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ค่ายไหน เรามีพื้นที่ให้เสมอ หรือในเชิงของคนดู ไม่ว่าคุณจะมี รสนิยมทางดนตรีแบบใด มีสิ่งที่รอเสิร์ฟคุณอยู่ใน Big Mountain Music Festival อันนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง

“สิ่งที่ผมทำคือใช้ความได้เปรียบของการเป็นบริษัทใหญ่อย่างเต็มที่ จาก ที่ทำ Fat Festival ครั้งสุดท้ายก่อนผมออก เราลงทุน 10 กว่าล้านบาท ถือว่าเยอะ มาก เทียบกับการจัดครั้งแรกที่ลงทุนแค่ 2.5 ล้านบาท พอมาเป็นแกรมมี่ เราต้อง ให้ค่าตัวศิลปิน แล้วต้องทำงานให้ใหญ่ตามสโลแกนที่ว่า มัน-ใหญ่-มาก เพราะ ครั้งแรกเราคิดโปรเจ็กต์ใช้เงินทุน 50 ล้านบาท ต้องทำให้รู้สึกได้ว่าเราใช้เงิน 50 ล้านบาทอย่างคุ้มค่าจริง ๆ คือออกแบบให้ใหญ่บิ๊กเบิ้ม มี 7 เวที จัดแสดงตลอด 2 วัน 2 คืน เราต้องทำแบบที่ไม่มีใครสามารถทำแข่งได้ Big Mountain Music Festival ปีแรกได้กำไรมา 1 แสนบาท แต่ผมก็รู้ว่าการทำเทศกาลดนตรีใหญ่ขนาดนี้ ไม่มีที่ไหนในโลกที่ได้กำไรในครั้งแรก แต่ปีต่อไปจะมีกำไรมากขึ้นเรื่อย ๆ”

หลังจากทำให้ Big Mountain Music Festival เติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี ป๋าเต็ดยังจัดคอนเสิร์ตที่สร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้วงการคอนเสิร์ตเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น

“บอดี้สแลม นั่งเล่น” แบบอะคูสติก, “พาราด็อกซ์ ผงาดง้ำค้ำโลก โดดไม่รู้ล้ม” ในแบบคอนเสิร์ตสเกลใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีบางงานที่เขาตั้งใจสร้างปรากฏการณ์ ให้การจัดทัวร์คอนเสิร์ตแบบฟูลสเกลทั่วประเทศ อย่าง “Bodyslam ปรากฏการณ์ ดัม – มะ – ชา – ติ” แต่ใช่ว่าผลลัพธ์ของความกล้าแตกต่างจะออกมาสวยงามเสมอไป

“งานทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศของวงบอดี้สแลม ‘Bodyslam ปรากฏการณ์ ดัม – มะ – ชา – ติ’ ผมทำให้แกรมมี่ขาดทุนไปกว่า 20 ล้านบาท วงบอดี้สแลม ทำได้เพียง 11 โชว์ก็ต้องยกเลิก แฟนเพลงก็ผิดหวังที่เราไม่สามารถนำทัวร์ไปถึงจุดที่วางแผนไว้ ในเชิงธุรกิจคือขาดทุนจนไม่มีเงินทุนที่จะทำต่อ เป็นการแตะน่านน้ำ ที่เราไม่เคยไป แล้วเข้าไปด้วยความประมาท เราไม่เคยทำทัวร์คอนเสิร์ตแบบนี้ มาก่อน แต่เรามองว่าทำไมเมืองไทยไม่มีทัวร์คอนเสิร์ตใหญ่ ๆ แบบต่างประเทศ เวลาไปดูคอนเสิร์ตตามต่างจังหวัด ทำไมไม่ทำโปรดักชั่นให้ฟูลสเกล เมื่อทำไปแล้ว คำถามเหล่านี้มีคำตอบหมดเลย ทำไมถึงลงทุนมากไม่ได้ เพราะเขาขายบัตร ราคาแพงไม่ได้ โปรดักชั่นฟูลสเกลที่เรานำไปใส่ในคอนเสิร์ตเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ หรือเปล่า หรือความจริงเขาแค่อยากเจอวงบอดี้สแลมเฉย ๆ ทั้งหมดคือเรา ทำการบ้านไม่มากพอ จึงได้บทเรียนราคาแพง”

ป๋าเต็ด

วิธีรับมือกับความผิดพลาด

“อาชีพดีเจสอนผมว่า ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องลบ เพราะงานดีเจอยู่กับ ปัญหาเฉพาะหน้าทุกวัน เนื่องจากเป็นรายการสด ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดพลาด ได้ตลอดเวลา อย่างเปิดไมค์ขณะเข้าโฆษณา เปิดแผ่นเสียงผิดสปีด คุยกับผู้ฟัง ที่จะโทร.มาคุยกับเราไม่รู้เรื่อง หรือเคยเจอเหตุการณ์คนเมาจู่โจมเข้ามาในห้อง จัดรายการเพื่อขอเพลง

“บทเรียนสำคัญที่ได้รับคือ อย่ามัวแต่ตื่นตระหนกกับปัญหา เพราะไม่ได้ ช่วยแก้อะไรเลย ต้องกลับไปโฟกัสที่ปัญหาและการแก้ปัญหา ดังนั้นเมื่อรู้ว่าลืม ปิดไมค์แล้วมันทำให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร โดยไม่มัว โวยวายว่าแย่แล้ว ลืมปิดไมค์ เจ้านายต้องว่าแน่เลย ผมถือว่าเสียเวลา ไม่มีประโยชน์ ทำให้เวลาผมเปลี่ยนมาทำงานอีเว้นต์ ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากับปัญหาเฉพาะหน้า ที่ใหญ่และมากกว่าการจัดรายการวิทยุเสียอีก เพราะต้องดีลกับคนนับหมื่น ดีลกับ ศิลปินบนเวที ไหนจะงบประมาณมหาศาล ผมจึงเหมือนถูกฝึกไม่ให้เสียเวลากับ การตื่นตระหนก ให้โฟกัสกับปัญหาและการแก้ปัญหา ประกอบกับเราอยู่กับความ ผิดพลาดตลอดเวลา ทำให้ผมเริ่มมีวิธีการป้องกันด้วยการตรวจสอบจนเป็นนิสัย เวลาทีมงานมาเสนอแผนงานอีเว้นต์ ผมจึงมีคำถามยาก ๆ ให้เขาเสมอ ถ้าเกิดเรื่อง แบบนี้จะทำอย่างไร บางทีเรื่องที่ผมถามไปไม่เคยเกิดขึ้นเลย แต่เราต้องถามไว้ เผื่อว่าจะเตรียมตัวรับมือกันอย่างไร

“งานที่ผิดพลาดมักให้บทเรียนที่ยิ่งใหญ่กับเราเสมอ ทีมงานจะมานั่งประชุม กันว่าเราทำอะไรผิดไปบ้าง แต่จะไม่มีการมานั่งชี้หน้ากันแล้วพูดว่า ‘ฉันบอกแกแล้ว เห็นไหมล่ะ’ คำเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ จะมีแต่ว่า ‘ไหนมาดูซิ เราพลาดเพราะอะไร ทำอย่างไรคราวหน้าจะไม่พลาดแบบนี้อีก’ การทำอย่างนี้จะเป็นการปลูกฝังมายด์เซต ที่ว่าคนเราผิดพลาดกันได้ แล้วก่อให้เกิดบทเรียนและป้องกันไม่ให้ผิดซ้ำอีก เวลาเกิดเหตุผิดพลาด เราควรใช้เวลาไปกับการมองความผิดนั้นตรง ๆ บางคน จะมีความรู้สึกว่าไม่อยากมอง จึงมีคำว่ากวาดไว้ใต้พรม ซึ่งนั่นไม่ใช่การแก้ปัญหา เราต้องปลูกฝังค่านิยมว่าควรจ้องตากับความผิดพลาดของเราเองแบบไม่ละ สายตา แล้วถามมันว่าเกิดอะไรขึ้น ฉันจะปรับปรุงตัวเอง มีวิธีคิดอย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก แล้วคุณจะพบว่าไม่มีอะไรเสียหายต่อชีวิต ยังทำให้รู้สึกดี กับตัวเองมากกว่าเดิมด้วย ทำให้เราพร้อมที่จะเผชิญกับข้อผิดพลาดทุกอย่าง และให้ข้อสรุปกับตัวเองได้ว่า การมานั่งหงุดหงิดกับข้อผิดพลาดเป็นการเสียเวลา ที่ไร้สาระที่สุด”

เคล็ดลับงานปัง

“หัวใจสำคัญของการเป็นสื่อมวลชนคือ คุณต้องเข้าใจ มวลชน เข้าใจคนดูและลูกค้าของคุณ เพราะคุณไม่ได้ทำเพื่อ ดูคนเดียว สมมติคุณจะทำคอนเสิร์ตเพื่อให้คนดู 50 คน คุณต้อง มาคิดว่า 50 คนนั้นคือใคร เขาอยากดูอะไร แล้วคุณให้สิ่งนั้น ได้จริงหรือไม่ จึงนำมาซึ่งการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค สำรวจ ตลาด นี่คือคำว่าบริบทของคนดูที่จะมาเป็นลูกค้าเรา เขาคือใคร เขาคิดอะไรอยู่ มีงบประมาณที่จะอุดหนุนเราแค่ไหน ราคาบัตร ควรเป็นเท่าไร แพงหรือถูก คอนเสิร์ตควรเล่นกลางแจ้งหรือ ในร่ม ควรมีแขกรับเชิญไหม หรือไม่จำเป็น ควรเล่นเพลงที่คุ้นหู หรือเลือกเพลงอื่นที่เขาไม่เคยได้ยิน ฯลฯ

“มีเรื่องต้องคิดมากมาย แต่อย่าคิดเอง ต้องถามคนดู ด้วยการทำสำรวจ ตั้งแต่เดินไปถามดื้อ ๆ เลยก็เคย แล้วไม่ได้ แปลว่าทำทั้งหมดแล้วจะรู้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็ให้ แนวโน้มพอที่เราจะรู้ว่าโอกาสที่จะเป็นแบบนี้มากที่สุดคือ Plan A แล้วควรเตรียม Plan B และ C สำรองไว้ด้วย”

ป๋าเต็ด

วงการเพลงในยุค New Normal

“วงการเพลงก็เหมือน Pop Culture ในทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น เพลง หรือภาพยนตร์จะมีวัฏจักรของตัวเอง แนวเพลงที่เคยได้รับความนิยมมากจะกลาย เป็นเชย แล้วแนวเพลงใหม่จะได้รับความนิยมแทน แต่พอผ่านไปในเวลาที่ เหมาะสม แนวเพลงที่เคยเชยก็จะกลับมาได้รับความนิยม คือเราอายุมากจนเห็นวงการดนตรีครบรอบของมันแล้ว ผมกะว่าอยู่ที่ประมาณ 20 ปี โดยวัดกันที่ตอนอายุ เฉลี่ย 13 ปี คือวัยที่เริ่มซื้อผลงานเพลงด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก ถ้ายุคผมก็ซื้อเทป คาสเส็ต ยุคต่อมาเป็นซีดี และยุคนี้เป็นการดาวน์โหลดเพลง และบทเพลงที่เรา ชอบที่สุด ณ วันนั้นจะติดตัวไปตลอดชีวิต

“พอผ่านไป 20 ปี อายุประมาณ 35 ปี เป็นวัยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ตำแหน่งหน้าที่การงานดีขึ้น เงินเดือนโอเค จึงเริ่มใช้เงินกับสิ่งที่รักได้ง่ายขึ้น อย่างที่ เราเห็นมาแล้วเมื่อช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้เกิดการจัดคอนเสิร์ตเรโทรของศิลปิน ยุค 90 อย่างแร็พเตอร์, เจ – เจตริน, ติ๊นา ที่คนวัย 35 ปีซื้อหมดภายในเวลา อันรวดเร็ว สำหรับปีนี้จะเข้าสู่คอนเสิร์ตของศิลปินยุค 2000 อย่างกามิกาเซ่และ ศิลปินอัลเทอร์เนทีฟ

“วัฏจักรนี้จะวนเป็นลูปอย่างนี้ตลอดไป ผมจึงไม่แปลกใจว่าเพลงนี้ฮิตแต่ ถูกลืม แล้วเกิดเพลงแบบใหม่ขึ้นมา แต่สิ่งที่เดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ คือเทคโนโลยี ของการฟังเพลง ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมการฟังและ กรรมวิธีในการผลิต รวมทั้งการเผยแพร่ อย่างทุกวันนี้เราไม่ต้องรอฟังเพลงทางวิทยุ อย่างเดียวแล้ว เปลี่ยนมาฟังทางยูทูบ ส่งผลให้การทำเพลงเปลี่ยนไป จากที่เคย ทำเพลงเป็นอัลบั้มให้ครบ 10 เพลง มีเพลงเอก เพลงรอง เพลงทดสอบ เพลงฮิตชัวร์ ๆ วันนี้นักร้องสามารถออกได้ทีละเพลง แล้วต้องทำให้เพลงนั้นฮิตที่สุด แต่แนวเพลงยังวนอยู่เหมือนเดิม ทำให้เราพอจะเดาเทรนด์ได้ระดับหนึ่ง

“ตอนนี้คนเริ่มพูดถึง Lo-fi กันเยอะมาก ซึ่งเป็นกรรมวิธีในการทำเพลง ที่ฮิตช่วงปลายยุค 90 เป็นการอัดเสียงแบบง่าย ๆ ไม่ต้องเนี้ยบ ตอนนี้ใครก็สามารถ แต่งเพลง อัดเพลง และอัพขึ้นยูทูบได้เลย อย่างคุณโอ๋ วงซีเปีย (วงดนตรีแนว อัลเทอร์เนทีฟ) ทำเดโมด้วยการใช้โน้ตบุ๊กเครื่องเดียว ไม่มีแม้กระทั่งไมค์ แล้วใช้ ซอฟต์แวร์ที่ได้ฟรีจากโน้ตบุ๊ก

“สำหรับวงการคอนเสิร์ต ช่วงที่อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติใหม่ ๆ คนเริ่ม พูดถึงออนไลน์คอนเสิร์ตมากขึ้น สำหรับผมคิดว่าไม่ได้เป็น New Normal แค่เป็น New Category เท่านั้น ไม่สามารถมาแทน Offline Concert ได้ แต่สามารถก่อให้ เกิดคนดูอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สะดวกมาดูคอนเสิร์ต หรือในต่างประเทศที่มี Drive-in Concert ที่นั่งดูในรถ ไม่ต้องออกมาพบปะผู้คน แต่รูปแบบคอนเสิร์ตแบบคลาสสิก ที่ซื้อตั๋วแล้วเดินเข้าฮอลล์นั่งชมคอนเสิร์ตก็จะยังคงต้องมีอยู่ตลอด สำหรับผม การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะทุกอย่างยากขึ้น ทุกวันอยู่แล้ว ไม่มีอะไรง่ายขึ้นครับ”


ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสารแพรว ฉบับ 961

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ย้อนวันวาน “เจ-เจตริน” เจ้าพ่อเพลงแดนซ์ยุค 90 และเอนเตอร์เทนเนอร์ตัวจริงแห่งยุคนี้

แม่ก็คือแม่! 30 ปี ไม่พลิกล็อค “คริสติน่า อากีล่าร์” ครองฉายา Queen of Dance

อัพเดตชีวิต 15 ปี เส้นทางนักร้อง “เป๊ก-ผลิตโชค” ล้มลุกแล้วโลดแล่นด้วยพลังบวก

Praew Recommend

keyboard_arrow_up