คำพูดเป็นนาย กายเป็นบ่าว! ย้อนดูจุดยืน 8 แกนนำพรรคการเมือง จริงหรือไม่? เสียงของปชช.เป็นใหญ่ที่สุด

คำพูดเป็นนาย กายเป็นบ่าว! ย้อนดูจุดยืน 8 แกนนำพรรคการเมือง จริงหรือไม่? เสียงของปชช.เป็นใหญ่ที่สุด…การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 แม้ว่าจะจบลงไปแล้ว แต่เรื่องของการประกาศคะแนนอย่างเป็นทางการ รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลก็ยังคงเป็นที่สงสัยของประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอยู่ว่า ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้การลงคะแนนเสียงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม แน่นอนว่าประชาชนก็คงมีการศึกษาข้อมูลของพรรคการเมือง นโยบายต่างๆ รวมถึงมีความคาดหวังอยู่แล้วว่าอยากให้ใครได้เป็นนายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าพรรคการเมืองที่เป็นตัวแปรสำคัญหลายๆ พรรค จะเข้าร่วมกับฝั่งใด เพราะภาพของการจัดตั้งรัฐบาลนั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วชัดเจนว่าคือฝั่งพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้จำนวนที่นั่งสส.มากที่สุดมาเป็นลำดับที่ 1 และพรรคพลังประชารัฐที่ได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตมาเป็นลำดับที่ 1

ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าฝั่งใครจะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็พอจะคาดการณ์กันได้บ้างว่า พรรคการเมืองที่ได้คะแนนมาเป็นลำดับถัดมาจะเลือกไปรวมกับฝั่งใด ซึ่งในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง การดีเบตของเหล่าแกนนำพรรคต่างๆ ที่ออกมาพูดเรื่องนโยบายและการเลือกสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาล ก็คงจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนคาดหวังไม่น้อยว่าพวกเขาจะทำตามในสิ่งที่ได้พูดหรือไม่อย่างไร ซึ่งอีกไม่นานก็คงจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น

พรรคพลังประชารัฐ

ไม่ว่าจะออกหาเสียงหรือไปร่วมดีเบตที่รายการใดก็ตาม จุดยืนของพรรคนี้คือสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง  โดยหลังจากผลคะแนนการเลือกตั้งออกมา พรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่งสส.มาเป็นลำดับที่ 2 แต่ได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตมาเป็นลำดับที่ 1 จึงขอจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ระบุว่า พรรคที่ได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

พรรคเพื่อไทย

ได้ที่นั่งสส.มาเป็นลำดับที่1 ซึ่งออกมาประกาศว่า จะขอเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลตามกติกาที่ระบุว่าผู้ที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ต้องเป็นพรรคที่ได้จำนวนที่นั่งสส.มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร โดยในช่วงของการหาเสียง ทางพรรคมีจุดยืนทางการเมืองว่าเสียงทุกเสียงต้องมาจากประชาชน และจะมุ่งแก้ไขปัญหาปากท้องเป็นหลัก ดังนั้นแม้ว่าจะได้สิทธิ์ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม แต่แคนดิเดตของพรรคนี้ไม่สามารถเข้าสภาได้เนื่องจากไม่ได้จำนวนสส.จากระบบบัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 แกนนำพรรคอย่างคุณหญิงสุดารัตน์ประกาศยอมให้พรรคอื่นที่จะมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายตนเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลและหยุดอำนาจของคสช.

พรรคอนาคตใหม่

น้องใหม่ที่มาแรงที่สุดในวงการการเมืองไทย ที่ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นลำดับที่ 3 อีกทั้งยังได้จำนวนที่นั่งสส.ในระบบบัญชีรายชื่อมาเป็นลำดับที่ 1 พรรคนี้นำโดย เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตและหัวหน้าพรรคที่แสดงจุดยืนชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่าเขาจะล้มล้างระบอบเผด็จการอำนาจคสช. ซึ่งแน่นอนว่าเขาและพรรคอนาคตใหม่ไม่คิดจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่อน ซึ่งผลคะแนนหลังการเลือกตั้งจบลง เขาก็ได้ออกมาประกาศว่าแนวโน้มของพรรคคือการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และขอไม่เสนอชื่อตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะด้วยกฏกติกามารยาท การเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ควรเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งสส. ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากคะแนนเสียงของประชาชนมากที่สุดมากกว่า

พรรคภูมิใจไทย

ตัวแปรสำคัญที่ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 5 นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล จากพรรคภูมิใจไทย ที่ยังไม่ขอตอบกับสื่อชัดเจนว่าเขาจะเลือกไปจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายไหนกันแน่ ซึ่งการดีเบตแสดงวิสัยทัศน์ที่ผ่านมา เขาบอกเพียงว่า พรรคภูมิใจไทยและตัวเขาจะเลือกอยู่ข้างเสียงของประชาชน และเคารพกฏกติกาตามระบอบประชาธิปไตยเพียงเท่านั้น  แต่เรื่องการรวมรัฐบาลกับฝ่ายไหน เขาขอดูผลคะแนนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

พรรคชาติพัฒนา

คงได้ยินกันบ่อยๆ กับวลีคุ้นหูทุกครั้งก่อนการเลือกตั้งของนาย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ แคนดิเดตและหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ที่มักจะตอบคำถามแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นกับสื่ออยู่เสมอว่า No Ploblem เขาและพรรคอยู่กับฝ่ายไหนก็ได้ที่มาจากเสียงของประชาชน จนถึงตอนนี้ก็ยังคงยืนยันคำเดิมอยู่ ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าท้ายที่สุดแล้วพรรคนี้จะไปจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนฝั่งไหนกันแน่

พรรคประชาธิปัตย์

พรรคการเมืองเก่าแก่ ที่เคยชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาลอยู่หลายสมัย แต่ในครั้งนี้กลับอกหักได้ที่นั่ง สส. ไม่ถึงร้อยที่นั่ง ทำให้หัวหน้าพรรคอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศขอลาออกเอง เพราะได้เคยพูดไว้แล้วว่าถ้าที่นั่งในสภาไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ เขาต้องแสดงความรับผิดชอบ อีกทั้งก่อนหน้านี้เวลาหาเสียง เขาได้แสดงจุดยืนว่าไม่ขอสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และไม่ขอร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งแนวโน้มก็อาจจะเป็นไปได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจจะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐมากกว่า

พรรคเศรษฐกิจใหม่

อีกหนึ่งพรรคหน้าใหม่ที่มาแรงในช่วงโค้งสุดท้าย ด้วยการชูนโยบายเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น นำโดย นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แม้ว่าจะเป็นพรรคขนาดเล็กแต่ก็สามารถกวาดที่นั่งสส.ได้หลายที่นั่ง มีผลทำให้พรรคนี้สามารถไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งก็ค่อนข้างจะชัดเจนว่าคงจะไปรวมอยู่ฝั่งพรรคเพื่อไทย เพราะนายมิ่งขวัญก็เป็นอีกคนหนึ่งที่บอกว่าไม่ขอสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ แต่ถ้าพรรคไหนที่เอาประชาธิปไตยมาอ้างและเข้าไปโกงบ้านเมือง เขาก็ขอไม่ร่วมด้วยเหมือนกัน

พรรคเสรีรวมไทย

นำโดยพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย  ที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอารัฐบาลทหาร การรวมคะแนนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลจึงไม่น่าจะผิดไปฝั่งพรรคเพื่อไทย อีกทั้งก่อนการเลือกตั้งที่เขาได้ไปดีเบตเวทีของ The Standard ยังบอกด้วยท่าทีเล่นทีจริงว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลขอเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหมก็พอ

 

ท้ายที่สุดไม่่วาใครจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก็ตาม ก็คงจะทำให้ประชาชนเห็นความชัดเจนมากขึ้นว่าเสียงของประชาชนคือเสียงที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุดจริงๆ หรือเปล่า

อ่านเรื่องราวอื่นๆ ต่อได้ที่นี่

ศึกช้างล้มช้าง! งานนี้เจ็บหนัก เมื่อเหล่า ส.ส. แชมป์เก่าถูกโค่น พากันป้อมแตกระนาว

ธนาธรแถลงพร้อมเป็นนายกฯ แต่ขอยึดหลักประชาธิปไตย ไม่เสนอชื่อตัวเอง

จากวันนั้น จนถึงวันนี้! อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับบทบาทบนถนนสายการเมืองของไทย

Praew Recommend

keyboard_arrow_up