จากวันนั้น จนถึงวันนี้! อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับบทบาทบนถนนสายการเมืองของไทย

account_circle

จากวันนั้น จนถึงวันนี้ เส้นทางและบทบาทบนถนนสายการเมืองของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่อยู่คู่กับพรรคที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย อย่างพรรคประชาธิปัตย์ จากอดีตที่เคยรุ่งโรจน์ จนถึงปัจจุบันที่ไม่ได้เป็นอย่างใจหวัง

หากนึกถึงพรรคการเมืองที่อยู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน บุกป่า ฝ่าดงมาทุกยุค ทุกสมัย เชื่อว่าใครหลายคนคงนึกถึง พรรคประชาธิปัตย์ อย่างแน่นอน จากพรรคที่เคยทำผลงานงานได้ดีมาโดยตลอด ครองใจคนกรุงเทพฯ มานับสิบๆ ปี แต่เรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะสมาชิกพรรคเองก็คงจะรู้สึกช็อกไม่มากก็น้อย เมื่อผลการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปัตย์อาจจะไม่ใช่พรรคที่เป็นขวัญใจคนกรุงเทพฯ อีกต่อไป แต่กลับเป็นพรรคอนาคตใหม่ พรรคเกิดใหม่ที่ดูจะมาแรงแซงทางโค้ง ชนิดที่ไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียว

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หากย้อนกลับไปก่อนช่วงเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่าง คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ไม่ถึง 100 คน เขาจะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคโดยทันที

ถึงตอนนี้ผลการเลือกตั้งอาจจะยังไม่ชัดเจนแบบ 100%  แต่ผลเมื่อคืนก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับความนิยมเหมือนเช่นเคย นั่นจึงเป็นเหตุให้ คุณอภิสิทธิ์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคโดยทันที ตามที่เขาได้เคยประกาศไว้

ก็ต้องบอกเลยว่าคุณอภิสิทธิ์ผ่านเรื่องราวมามากมาย เป็นทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล และยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 60 ปีอีกด้วย แพรวดอทคอม พาย้อนดูบทบาทบนถนนสายการเมืองของคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเขายังเคยได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบีบีซี ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553 ไว้ว่า

“ที่ว่าอภิสิทธิ์ไม่เคยชนะการเลือกตั้ง ว่าผมได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรถึง 7 ครั้ง และมากครั้งกว่าพันตำรวจโททักษิณเสียอีก ผมไม่เคยปฏิเสธการเลือกตั้ง”

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อภิสิทธิ์ เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นอาสาสมัครช่วยหาเสียงให้กับพิชัย รัตตกุล ในเขตคลองเตย ช่วงปิดภาคเรียนที่กลับมาเมืองไทย ต่อมาได้เข้าช่วยงานด้านวิชาการในเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2535 ซึ่งตอนนั้นเขามีอายุได้เพียง 27 ปี นับว่าเป็น ส.ส. ที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้นและเป็น ส.ส.เพียงคนเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคกลาง ท่ามกลางกระแส “มหาจำลองฟีเวอร์” กับการเป็นนักการเมือง “หน้าใหม่” ที่เพิ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

ผลงานที่โดดเด่นของเขาคือ การจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับแรกของไทย ที่ดำเนินการจัดทำจนสำเร็จในช่วงเวลาที่อภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เพื่อมอบสิทธิแก่เยาวชนไทยในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 43 โดยอภิสิทธิ์มีบทบาทดูแลทั้งด้านนโยบาย หลักการและรายละเอียด รวมทั้งผลักดันให้ผ่านคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ของสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา และได้ดูแลจนกระทั่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองและประเมินคุณภาพการศึกษาประกาศใช้

ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ สิปปนนท์ เกตุทัต อดีตกรรมการการศึกษาแห่งชาติผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยให้ความเห็นไว้ว่า อภิสิทธิ์เป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของ พระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และการปฏิรูปการศึกษาของไทยอย่างทะลุปรุโปร่ง

นอกจากนี้ อภิสิทธิ์ยังมีผลงานผลักดันกฎหมายและแนวคิดต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น กฎหมายข้อมูลข่าวสาร กฎหมายกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่น กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชน การผลักดันให้มี วิทยุชุมชนในท้องถิ่น การผลักดัน ให้มีองค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบ เช่น ปปช., ศาลปกครอง และ กกต. การเสนอมาตรการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลการทุจริตของ หน่วยงานรัฐ หรือนักการเมือง การเสนอกฎหมายให้การฮั้วประมูลเป็นความผิดทางอาญา การเสนอกฎหมายองค์การมหาชน เพื่อให้การให้บริการของรัฐ มีความสะดวกคล่องตัว และการผลักดันแนวคิดเรื่องการสรรหาผู้บริหารระดับสูงในองค์กรภาครัฐ ด้วยระบบสัญญาจ้าง เพื่อให้สามารถสรรหาผู้บริหารระดับสูงที่มีคุณภาพ ทำงานอย่างอิสระ โดยได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม

ทั้งนี้คุณอภิสิทธิ์ยังได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อจากบัญญัติ บรรทัดฐาน ภายหลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2548 และเขาได้ลาออกจาตำแหน่งภายหลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 แต่ก็ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน เขาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นเวลานาน มากกว่า 10 ปี ติดอันดับ 5 จาก อันดับ 7 ของผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนานที่สุด


ข้อมูล : Wikipedia (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

ภาพ : Abhisit Vejjajiva

Praew Recommend

keyboard_arrow_up