โฮมทัวร์ครั้งนี้ แพรว พามาเยือนบ้านเลขที่ 1 หรือบ้านหลังแรกบนถนนเย็นอากาศของ “คุณหมง – อรรณพ ชั้นไพบูลย์” เจ้าของบริษัท หมง ราม่า จำกัด ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณามือรางวัล และเคยได้รับรางวัล Best Director จากงาน Adfest 2008 สร้างสรรค์ผลงานโฆษณามากว่า 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นเซเว่น อีเลฟเว่น, ซัมซุง, เซ็นทรัล, อายิโนะโมะโต๊ะ, KTB ฯลฯ นอกจากนี้ในแวดวงนักวิ่ง เขาคือตัวตึงแห่งทีมลุงผมยาวที่มีสมาชิกร่วมก๊วนกว่า 70 คน
บ้านโมเดิร์นสไตล์ของ “คุณหมง – อรรณพ ชั้นไพบูลย์” บ้านเลขที่ 1 แห่งถนนเย็นอากาศ
บ้านหลังแรกในชีวิต
“ผมอาศัยอยู่คอนโดมาตลอดชีวิต เมื่อก่อนผมทำงานเป็นครีเอทีฟโฆษณา ที่บริษัททีบีดับบลิวเอ (ประเทศไทย) จำกัด แถวถนนพระราม 4 ผมจึงเลือก ซื้อคอนโดในซอยเย็นอากาศ ตอนหลังผมเกิดถูกใจบ้านไม้ทรงเรือนปั้นหยาอายุ ไม่ต่ำกว่า 60 – 70 ปี ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ตอนนั้นมีคุณยายเช่าช่วงจากคุณป้า เจ้าของบ้าน เปิดเป็นร้านขายอาหารตามสั่ง ช่วงเที่ยงผมมักจะไปกินข้าวเป็นประจำ เพราะรู้สึกชอบบ้านหลังนี้มาก ดูร่มเย็นและอบอุ่น วันหนึ่งคุณยายแนะนำให้ผม รู้จักคุณป้าเจ้าของบ้าน จึงได้ทราบว่าบ้านหลังนี้เป็นของหลวงประกิตกลจักร คุณพ่อของคุณป้า ท่านเป็นนายทหารเรือ หน้าบ้านจึงปลูกต้นประดู่ไว้ด้วย
“หลังจากนั้นผมก็เฝ้ามองบ้านหลังนี้มาตลอด จนได้มาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ โฆษณาในเครือของบริษัทฟิล์ม แฟคทอรี่ จำกัด วันหนึ่งผมแวะมากินข้าวที่ ร้านคุณยาย แล้วได้คุยกับคุณป้าเจ้าของบ้านอีกครั้ง จู่ ๆ ท่านก็บอกว่าอยากขาย ที่ดินตรงด้านหน้าบริเวณโรงจอดรถติดถนน เนื้อที่ประมาณกว่า 100 ตารางวา จริง ๆ แล้วคุณป้าได้รับที่ดินมรดกผืนนี้มาแบบ 2 โฉนด อีกโฉนดเนื้อที่ 300 ตารางวา เป็นพื้นที่ของบ้านเรือนปั้นหยาที่คุณป้าอาศัยอยู่และบึงน้ำ แต่ยังไม่ขาย คุณป้าบอกราคาขายโฉนดด้านหน้าตารางวาละกว่า 100,000 บาท ผมขอซื้อทันที ทั้งที่เวลานั้นมีเงินไม่พอหรอก แต่ความที่อยากได้มาก จึงต่อรองกับคุณป้าว่าขอวาง มัดจำไว้ครึ่งหนึ่งก่อน แล้วอีกหนึ่งปีผมจะจ่ายส่วนที่เหลือ เพราะไม่อยากกู้ธนาคาร ท่านตอบตกลง ทั้ง ๆ ที่มีบริษัทเรียลเอสเตทหลายเจ้ามาติดต่อขอซื้อ แต่ไม่รู้ ว่าทำไมขายให้ผม ทำให้ปีนั้นผมต้องทำงานหนักมากเพื่อจะได้มีเงินมาจ่ายตามสัญญา”
เมื่อจัดการโอนที่ดินและถมที่เรียบร้อย เขากลับปล่อยทิ้งไว้ 8 ปีเต็ม เพราะ ไอเดียแบบบ้านยังไม่ลงตัว
“วันหนึ่งผมรู้สึกอยากจะปลูกบ้านแล้ว จึงให้รุ่นน้อง คุณแจ๊ค (ดนัย สุราสา) ที่เป็นสถาปนิกของ Studio Krubka มาช่วยออกแบบ สรุปว่าจะสร้างเป็นตึก 4 ชั้น หลังจากจ่ายเงินค่าแบบและคุยกับผู้รับเหมาเรียบร้อย ผมได้ข่าวว่าคุณป้าไม่สบาย เป็นเส้นเลือดสมองตีบ แล้วท่านอยากขายที่ดินผืนใหญ่ด้านหลัง ซึ่งมีคนมาติดต่อ ขอซื้อเยอะ แต่ตกลงราคากันไม่ได้ พอผมเข้าไปเยี่ยมก็บอกท่านว่า ตอนนี้ผม มีเงินประมาณครึ่งหนึ่งของราคาเต็ม คุณป้าขายผมได้ไหม แล้วอีกหนึ่งปีผมจะ มาจ่ายส่วนที่เหลือ คือดีลแบบเดิมเหมือนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว (หัวเราะ) เวลานั้นคุณป้าพูดไม่ได้ แต่พยักหน้า มาทราบตอนหลังว่าที่คุณป้ายอมขายให้ผม เพราะอยากให้ที่ดินรวมเป็นผืนเดียวกันเหมือนเดิม หลังจากนั้น 3 ปีท่านก็เสียชีวิต”
บ้านโมเดิร์นสไตล์…ศูนย์รวมความชอบ
เมื่อได้ที่ดินเพิ่มคุณหมงจึงเริ่มนับหนึ่งในการออกแบบบ้านใหม่ จากตึก 4 ชั้นเปลี่ยนแบบมาเป็นบ้านปูนเปลือยสไตล์โมเดิร์น 2 ชั้น โดยตัดสินใจถอนเรือนปั้นหยาออก แต่เก็บไม้ไว้ทั้งหมด ส่วนบริเวณบึงน้ำก็จัดการถมเพื่อเปลี่ยน เป็นมุมของสระว่ายน้ำ
“ผมให้โจทย์กับสถาปนิกว่าอยากให้บ้านหลังนี้รวมสิ่งที่ผมชอบไว้ทั้งหมด อย่างผมชอบงานของมีส ฟาน เดอร์ โรห์ (Mies van der Rohe) สถาปนิก และดีไซเนอร์ระดับโลกชาวเยอรมนี กับสถาปนิกอีกคนคือทาดาโอะ อันโดะ ผมชอบบ้านสไตล์ปูนเปลือยอย่างที่เขาออกแบบ จึงนำทั้งสองสไตล์มารวมกัน ออกมาเป็นบ้านแนวโมเดิร์นที่ผมชอบ แต่เวลาแม่มาทีไรจะแซวว่าบ้านยังไม่เสร็จ เพราะไม่ได้ทาสี (หัวเราะ)
“บ้านหลังนี้ใช้เวลาออกแบบ 2 ปี ก่อสร้างอีก 5 ปี รวมเป็น 7 ปีเต็ม เพราะนอกจากจะมีการแก้แบบบ้าน ให้ลงตัวแล้ว ยังใช้เวลาไปกับการทดลองเทปูน เนื่องจากผู้รับเหมาไม่เคยทำบ้านปูนเปลือย จึงไม่มีอัตราส่วน ของการผสมปูนให้ได้สีออกมาตามที่เราต้องการ โดยเฉพาะการทำบล็อกปูนที่ต้องนำมาต่อกันให้กลมกลืน สิ่งที่ยากกว่านั้นคือ สถาปนิกแนะนำว่าไหน ๆ ทำบ้านปูนเปลือยแล้ว ทำเพดานเป็นปูนเปลือยด้วยเลยดีไหม ซึ่งเท่ากับว่าระบบไฟต้องซ่อนอยู่ในนั้นด้วย ต้องขอบคุณบริษัทผู้รับเหมา (บริษัทเอ็ม.เค.เอส.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด) ที่ตั้งใจทำงานนี้จนสำเร็จด้วยดี โดยภาพรวมผมกับคุณส้ม (สุชีรา นิมิตราภรณ์) มีความชอบสไตล์บ้านเหมือนกัน เราจึงแค่แบ่งหน้าที่กันว่าผมดูธีมหลัก ส่วนภรรยาดูแลการตกแต่งครัวไทย ครัวฝรั่ง”
Less Is More
แค่เปิดประตูเข้าไปภายในบ้านก็ตื่นตากับทางโล่ง ๆ ที่ภาษาสถาปนิกเรียกว่า “เทอร์มินอล” หรือโถงกลางที่ผ่านไปยังจุดต่าง ๆ ของบ้าน ซ้ายมือเป็นห้อง รับแขก ขวามือทางไปห้องครัว ถ้าตรงไปก็ขึ้นบันไดไปชั้น 2 ของบ้าน คุณหมงพาเราชมห้องรับแขกเป็นจุดแรก
“ผนังห้องรับแขกสองด้านผมตั้งใจให้เป็นประตูกระจกบานสไลด์ เพื่อรับ แสงธรรมชาติและสามารถเลื่อนเปิดออกได้หมด คืออยากให้ความรู้สึกเหมือน กำลังนั่งอยู่ใต้ถุนบ้าน เพราะตอนมากินอาหารตามสั่งของคุณยาย ผมชอบนั่งตรง ใต้ถุนของเรือนปั้นหยา รู้สึกอากาศเย็นสบายมาก ลมผ่านดี ตอนสร้างบ้านจึง คุยกับสถาปนิกว่าอยากทำบานกระจกให้เปิดกว้างแบบนี้ ยิ่งช่วงนี้อากาศดี ลมพัด เย็นสบายจนไม่ต้องเปิดแอร์เลย แล้วยังได้ชมสวนแบบเต็ม ๆ ตา ซึ่งได้พี่โจ๋น (อนุภาพ พงษ์นะเมตตา เจ้าของสวนโจ๋น จังหวัดระยอง) ช่วยออกแบบและ เลือกต้นไม้มาลง สำหรับพื้นที่สวนนี้ผมต้องศึกษาหาความรู้พอสมควร เพื่อจะได้เลือกเฉพาะต้นไม้และหินที่เราอยากเห็นทุกวัน”
สำหรับเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งในห้องรับแขก แม้จะมีน้อยชิ้น แต่ถือว่าไฮไลต์ทุกชิ้น
“ห้องนี้ผมตั้งใจเลือกเฟอร์นิเจอร์ผลงานของมีส ฟาน เดอร์ โรห์ คือ Barcelona Chair กับ Barcelona Daybed ส่วนเก้าอี้สีขาวผลงานของชาร์ลส์ – เรย์ อีมส์ (Charles and Ray Eames) ที่ชื่อ La Chaise Chair เป็น Ergo- Design (การยศาสตร์ – การออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของมนุษย์) ถือเป็นเก้าอี้ที่นั่งสบายมาก ๆ ส่วนโซฟาหลักเป็นแบรนด์ไทย ทำจากหนังผืนใหญ่ ไม่มีรอยต่อ ตรงผนังด้านหลังติดภาพวาดสีน้ำมันผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ โบว์ – ปัณฑิตา มีบุญสบาย โดยบรีฟไปว่าอยากให้เป็นภาพที่เข้ากับชื่อบ้านอากาศเย็น ซึ่งผมแอบตั้งไว้ในใจนานแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้ซื้อที่ เพราะนอกจากจะชอบชื่อถนน ทุกครั้งที่ขับรถเข้ามาจะรู้สึกสบายใจมาก ๆ อีกอย่างที่ขอโบว์คือ อยากให้เป็น ภาพที่กรุงเทพฯมีหิมะตก โดยให้ข้อมูลไปว่าผมชอบวิ่ง คุณส้มชอบดื่มแชมเปญ ผมมีลูกสาวบุญธรรมคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกของน้องสาว และมีน้องหมาพันธุ์คอร์กี้ ชื่อวินเซอร์ กับพันธุ์แจ็ครัสเซลที่เสียไปแล้ว ชื่อเมาเมา ที่จริงยังมีน้องคีปเปอร์ พันธุ์คอร์กี้วัย 2 เดือน ลูกของเจ้าวินเซอร์ แต่เกิดไม่ทัน ภาพวาดเสร็จก่อน”
นอกจากนี้ยังมีตัวคาแร็คเตอร์ “เด็กน้อยสามตาหน้าบึ้ง” ผลงานของ อเล็กซ์ เฟซ ที่ศิลปินตั้งใจทำออกมาสามเอดิชั่น แต่สุดท้ายออกมาเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งคุณหมงได้มาครอบครอง
“ข้าง ๆ ตุ๊กตาเด็กน้อยสามตาหน้าบึ้ง ผมตั้งใจวางทีวีเก่า ๆ ที่ถือเป็นเบื้องหลัง ความสำเร็จของผมในวันนี้ เพราะสมัยเด็กผมชอบดูหนังจากทีวีเครื่องนี้ พอ ทำงานก็ยังได้ดูในห้องทำงาน ซึ่งตอนนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ ผมจึงอยากเก็บไว้เพื่อระลึกถึง ว่าทีวีเครื่องนี้มีส่วนทำให้ผมมีอาชีพผู้กำกับอย่างทุกวันนี้”
เมื่อออกจากห้องรับแขกเพื่อจะขึ้นบันไดทอดยาวไปชั้นสอง ถ้าเงยหน้ามอง ด้านบนจะเห็นผนังปูนทรงโค้ง ซึ่งถือเป็นงานสุดหินของกระบวนการสร้างบ้านหลังนี้
“เป็นการหล่อคอนกรีตที่ยากมาก เพราะขณะที่เทปูนลงบล็อก ช่างจะต้อง กวนไม่ให้หินที่ผสมอยู่ตกลงมาข้างล่าง กว่าจะสำเร็จต้องทุบทิ้งไปเยอะ จนมีคน ทักว่าทำไปเพื่ออะไร ไม่มีใครเห็น แต่ผมเห็นทุกวันไง และเพราะสิ่งนี้ทำให้บ้านผม ต่างจากงานของอันโดะที่ทำเป็นปูนเปลือยทรงสี่เหลี่ยมเท่านั้น” (ยิ้ม)
เมื่อขึ้นชั้นสองจะพบพื้นที่ของห้องพระที่เปิดโล่ง มีแสงส่องจากเพดานกระจก ตกลงที่ตรงหิ้งพระพอดี และแน่นอนว่าจุดเด่นนำสายตาคือเพดานปูนเปลือย ทรงโค้ง ชั้นนี้ยังมีห้องที่คุณหมงชื่นชอบและใช้เวลาด้วยมากที่สุดคือ ห้องหนังสือ และฟังเพลง
“ผมตั้งใจออกแบบให้เป็นออดิทอเรียม ผนังทำเป็นชั้นหนังสือ และมีชุดเครื่องเสียงแอมป์หลอดสำหรับฟังเพลงที่ชอบ ความพิเศษของห้องนี้คือ การทำสกายไลต์คาดยาวแบ่งกึ่งกลางห้องเพื่อให้แสงลอดเข้ามา โดยตำแหน่ง สกายไลต์ตรงกับมุมกำแพงของบ้านข้าง ๆ เพื่อความเป็นส่วนตัว สำหรับเฟอร์นิเจอร์ ผมเลือก Eames Lounge Chair ของชาร์ลส์ – เรย์ อีมส์ ให้เป็นพระเอกของห้อง”
ระหว่างพาชมห้อง คุณหมงหยิบเหรียญจากงานวิ่งมาราธอนโปรแกรม World Marathon Majors มาให้ชม พลางเล่าว่า
“ระยะทางจากบ้านวิ่งไปสวนลุมพินีใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที การวิ่งทุกเช้า สำหรับผมเหมือนเป็นการทำสมาธิ คิดงาน ได้อยู่กับตัวเอง เจอกลุ่มเพื่อนที่ไม่มี ผลประโยชน์ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก ส่วนที่มาของชื่อทีมลุงผมยาวมาจาก ตอนผมไปวิ่งโปรแกรมโอซาก้ามาราธอนเมื่อ 5 – 6 ปีก่อน ได้ยินเสียงคนตะโกน เรียกว่า ‘ลุงครับ…ลุง’ ผมไม่คิดว่าเขาเรียกผม เพราะตอนนั้นอายุประมาณ 46 ปี แต่เขาก็ตะโกนอีกว่า ‘ลุงผมยาวครับ’ พอหันไปเห็นหน้าผู้ชายคนนั้น ผมว่าเขา น่าจะเป็นพี่ผมหลายปี แล้วเขาก็พูดว่า ‘ผมเห็นลุงวิ่งที่สวนลุมฯ ดีใจที่ได้มาเจอกัน ที่นี่’ พอกลับมาเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อน ๆ ในก๊วนวิ่งฟัง เขาชอบใจกัน จึงกลายเป็นชื่อ กลุ่มว่าทีมลุงผมยาว ตอนนี้มีสมาชิกเกือบ 70 คนแล้วครับ (ยิ้ม)
“สำหรับห้องฝั่งตรงข้ามเป็นพื้นที่ส่วนตัวของผมกับคุณส้ม โดยตรงมุม นั่งเล่นผมยกแปลนห้องในคอนโดมาไว้ เพราะอยากคงบรรยากาศตอนที่ผมใช้ชีวิต ในคอนโด ส่วนข้าง ๆ ทำเป็นครัวฝรั่งที่สามารถปรุงอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วนั่งดูทีวีกับคุณส้มก่อนเข้านอน”
ถัดไปเป็นห้องนอนที่ถือว่ากว้างและโล่งมาก เรียกว่ามีของนับชิ้นได้
“เป็นห้องสำหรับนอนอย่างเดียว จึงมีแค่เฟอร์นิเจอร์ของดีไซเนอร์ที่ผม ชื่นชอบ อย่างเก้าอี้ Egg Chair กับ Swan Chair ของ Arne Jacobsen และ เก้าอี้ LC4 Chaise Lounge ของ Le Corbusier สถาปนิกที่ทรงอิทธิพลสุดของ ยุคโมเดิร์น และสิ่งที่ผมบรีฟกับสถาปนิกเป็นพิเศษคือ อยากให้เวลาฝนตกแล้ว ได้ยินเสียงฝน สถาปนิกจึงทิ้งสเปซตรงกำแพงข้าง ๆ เพื่อให้ฝนตกลงมาได้ โดยทำเป็นสวนหินเพื่อรับน้ำฝน ซึ่งไม่ต้องดูแลมากนัก แล้วจากมุมของห้องนอน สามารถเห็นสวนหน้าบ้านได้เต็มตาด้วย”
พื้นที่ปาร์ตี้
“ผมมักจะมีปาร์ตี้กับเพื่อนบ่อย จึงทำห้องแยกจากตัวบ้านหลัก และ ถือโอกาสเก็บรถคลาสสิกที่ซื้อไว้ อย่างคันนี้คือ Mercedes-Benz 280SL Pagoda เผื่อเพื่อนมีรถสวย ๆ ก็เข้ามาจอดข้างในได้ด้วย โดยทำพื้นเป็นเทิร์นเทเบิ้ล สามารถหมุนรถให้ชมได้ทุกมุม โดยให้บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นมาติดตั้ง ซึ่งต้อง คำนวณความกว้างและความยาวของรถที่มีและคาดว่าจะมีในอนาคต เพื่อทำขนาด ของเทิร์นเทเบิ้ลให้พอดี
“นอกนั้นยังเป็นที่เก็บรถมอเตอร์ไซค์คลาสสิก BMW รุ่น R69S ที่ซื้อมา จากคุณสุนทร ชุโนทัยสวัสดิ์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์สุนทร เป็นรถมอเตอร์ไซค์ขับขวา เจ้าของเดิมเป็นวิศวกรชาวเยอรมนีที่มาดูแลการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล แล้วคุณสุนทร ซื้อมาต่อเมื่อปี 2530 และผมซื้ออีกคันเป็น BMW รุ่น R25/2 ขนาดเล็กลงมา หน่อยให้ภรรยาขับไปเที่ยวด้วยกัน
“ผมยังจัดโต๊ะไม้ยาว เพื่อรับเพื่อน ๆ ที่มาปาร์ตี้กัน และให้แมตช์กับ โคมไฟ PH Snowball ผลงานของ Poul Henningsen ดีไซเนอร์ชาวเดนมาร์ก แล้วทำประตูกระจกบานเลื่อนให้สามารถเปิดออกได้จนสุดสำหรับจัดปาร์ตี้ริมสระ
“ผมถือว่าตัวเองโชคดีที่ทำบ้านหลังนี้ตอนมีอายุระดับหนึ่ง ความคิดนิ่งแล้ว เพราะถ้าสร้างตอนที่ความคิดยังไม่ตกผลึกดีนัก อาจจะรู้สึกไม่ชอบหรืออยากปรับเปลี่ยน ทุกตารางเมตรของบ้านอากาศเย็นจึงสร้างมาจากความชอบและตัวตนของเราจริง ๆ”
ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 990
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ