ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

บ้านสไตล์ Art Deco ที่สุดของงานดีไซน์ สมดีกรีบ้านศิลปินชื่อดัง “ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี“

Alternative Textaccount_circle
ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี
ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

ว่ากันว่าบ้านหลังใหม่ของศิลปินชื่อดังระดับประเทศ “ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี“ คือที่สุดของงานดีไซน์ นับจากสร้างเสร็จมาประมาณ 6 เดือน เพื่อนฝูงคนสนิท ผู้คนในแวดวงศิลปะและแฟชั่นยังคงแวะเวียนมาเยือนแทบทุกสัปดาห์ เพื่อชาร์จไฟในการสร้างสรรค์ แพรว จึงขอมาพิสูจน์ โดยมีศิลปินนักออกแบบพาทัวร์ทุกมุมของบ้าน

บ้านสไตล์ Art Deco ที่สุดของงานดีไซน์ สมดีกรีบ้านศิลปินชื่อดัง “ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี“

“Art Deco” แรงบันดาลใจสำคัญ

“บ้านหลังนี้ถือเป็นบ้านในฝันของผม ส่วนตัวผมชอบศิลปะอาร์ตเดโคแบบทรงเรขาคณิตเหมือนตึกย่านราชดำเนิน ตอนเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากรจะชอบเดินไปดูแถวนั้นเป็นประจำ ประกอบกับเมื่อหลายปีก่อนผมเดินทางไปลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วได้แวะเข้าไปชมบ้านของศิลปินแห่งศตวรรษที่ 19 เซอร์เฟรเดอริก เลห์ตัน เป็นศิลปินที่อยู่ในกลุ่ม Pre-Raphaelites (ขบวนการปฏิรูปศิลปะกลับไปหาการเขียนที่เต็มไปด้วยรายละเอียด เน้นการใช้สีจัดและการวางองค์ประกอบที่ซับซ้อนของศิลปะสมัยเรอเนซองซ์ตอนต้น) ภาพของเขาเป็นแนวเทพนิยาย บ้านก็สวยงามมาก ซึ่งเป็นยุคที่คนกำลังชื่นชอบศิลปะสไตล์เปอร์เซียและโมร็อกโก โดยเซอร์เลห์ตันใส่ความเป็นตัวเองไว้ในงานดีไซน์และการตกแต่งทุกมุมของบ้าน ทำให้ผมเกิดความคิดว่าถ้ามีโอกาสทำบ้านของตัวเองจะดีไซน์ให้มีความเป็นตัวเองอย่างนี้

“บ้านเดิมผมอยู่แถวบางนา ตอนหลังพื้นที่เริ่มคับแคบ เพราะนอกจากจะเต็มไปด้วยภาพเขียนของผม ยังมีของสะสมอีก จึงหาซื้อที่ดินสำหรับสร้างบ้านใหม่ เคยถูกใจที่ดินริมน้ำแห่งหนึ่ง ตกลงราคากันเรียบร้อยแล้ว พอจะซื้อจริงเจ้าของที่ขอขึ้นราคา บอกว่าดูราคาผิดไป ผมมองว่าอันนี้เป็นอุปสรรค คล้ายเป็นสัญญาณเตือนว่าที่ตรงนี้ไม่ใช่ของเรา ซึ่งผมดีใจมากที่ไม่ได้ซื้อ เพราะหลังจากนั้นไม่นานก็ทราบว่าที่ตรงนั้นมีปัญหาเรื่องเส้นทางการเข้าออก

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

“สำหรับบ้านหลังนี้ผมซื้อเป็นที่ดินเปล่าที่ผมแอบชอบมานานกว่า 30 ปี แล้ว อยู่ใกล้กับบ้านแม่ด้วย (เดิมเป็นบ้านของคุณศักดิ์วุฒิ ก่อนจะย้ายไปอยู่บ้านย่านบางนา) ภายในหมู่บ้านการ์เด้นโฮม วิลเลจ สะพานใหม่ เวลาไปหาแม่ผมจะเดินไปดูที่ผืนนี้ทุกครั้ง รู้สึกได้เลยว่าที่นี่ต้องเป็นของผม แค่รอเวลาเท่านั้น แต่การเงินของผมตอนนั้นไม่มีทางซื้อได้ เพราะราคาที่ดินสูงมาก

“แล้วเรื่องที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น มีคนติดต่อขอซื้อภาพเขียนของผม ระหว่างที่ชวนคุยกันอยู่นั้น เขาบอกว่าอยู่ในหมู่บ้านเดียวกับแม่ผม ผมจึงเล่าให้เขาฟังว่ากำลังหาที่สร้างบ้าน แล้วชอบที่ผืนหนึ่งมาก อยู่ใกล้บ้านแม่ประมาณ 100 – 200 เมตร เขาบอกว่านั่นเป็นที่ของเขา สุดท้ายเขายอมขายให้ในราคาที่ผมมีกำลังซื้อได้

“ผมจึงตัดสินใจสร้างบ้านแบบเต็มพื้นที่ 160 ตารางวา กว้าง 20 เมตร ลึก 30 เมตร ผมออกแบบตัวบ้านและภายในเองทั้งหมด เพราะไม่มีใครสามารถเขียนแบบได้ถูกใจผม เริ่มต้นจากทำโครงสร้างบ้าน ผมมีแบบอยู่ในใจแล้ว คือเป็นบ้านตึกทรงตัวยู สำหรับภายในผมนั่งคิดกับแฟนว่าเราต้องการอะไรในบ้านบ้าง ห้องทำงาน ห้องนอน ห้องพระ ห้องแกลเลอรี่ ห้องออกกำลังกาย ห้องเก็บของ และความฝันอีกอย่างของผมคืออยากมีสระว่ายน้ำ เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดก็ชอบพักแบบพูลวิลล่า อยู่แล้วรู้สึกสบายอย่างบอกไม่ถูก จากนั้นก็ค่อยมานั่งวางแผนว่าอะไรอยู่ตรงไหนของบ้าน”

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

ดีเทลในทุกอณู

“ตั้งแต่เปิดประตูบ้านเข้ามา ผมตั้งใจให้ทุกคนต้องเห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดหรือประติมากรรม เพราะพระองค์ท่านประเสริฐมาก ผมตั้งใจสร้างบ้านนี้ให้เป็นบ้านของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์ที่ผมรักและเทิดทูน เพราะตั้งแต่สะสมภาพถ่ายจนมาเขียนภาพของพระองค์ท่าน ชีวิตผมดีขึ้นเรื่อยๆ และมีแต่คนชื่นชม อย่างพรุ่งนี้ผมจะไปรับรางวัลจากการทำงานภาพวาดพระองค์ท่าน (ยิ้ม) ผมจึงบอกกับใครๆ ว่าบ้านนี้เป็นบ้านของในหลวง

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

“ถัดจากทางเข้าบ้านเป็นพื้นที่ห้องโถงใหญ่สำหรับเป็นครัว ห้องรับประทานอาหาร และห้องรับแขกไปในตัว ทุกจุดในห้องนี้ผมดีไซน์เองทั้งหมด ตั้งแต่โต๊ะรับประทานอาหารที่สั่งไม้สักมาแผ่นเดียวแล้วผมดีไซน์ฐานสำหรับวางขึ้นมาเอง หรือตู้ไม้ผมใช้วิธีซื้อตู้เก่ามาเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ ถ้าเจ้าของเดิมของตู้มาเห็นรับรองว่าจำไม่ได้ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ทุกตัวในบ้านเป็นแบบที่ผมชอบมานานแล้ว ผมตั้งใจสั่งทำเป็นสีน้ำตาลทั้งหมดเพื่อให้เข้ากับบ้าน อย่างเก้าอี้ดีไซน์ในยุคอาร์ตเดโค Monsieur La Roche ผมเห็นครั้งแรกตอนไปอเมริกา เป็นเก้าอี้สำหรับรับรองแขกที่ผมรู้สึกชอบแบบจับใจเหลือเกิน หรือกระเป๋าทรังค์ลายโมโนแกรมของ Louis Vuitton ที่ปรับให้เป็นโต๊ะรับแขก เป็นอีกชิ้นที่ผมซื้อรอไว้นานแล้วในราคาห้าแสนบาท ถ้าอยากได้เวลานี้ต้องมีเงินล้านจึงจะซื้อได้ ตอบคำถามของหลายคนว่าทำไมเฟอร์นิเจอร์ลงตัวขนาดนี้ ก็เพราะผมวางแผนไว้หมดแล้ว

“สำหรับห้องรับแขกที่อยู่ติดกัน ทีแรกผมตั้งใจให้เป็นห้องเก็บรวบรวมผลงานภาพวาดและรูปปั้นของในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่หน้าห้องน้ำน่าจะไม่เหมาะสม จึงปรับให้เป็นห้องนั่งเล่นชิลๆ ที่มี ตู้โชว์สำหรับเก็บของสะสมแทน”

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

สำหรับชั้นสองแบ่งพื้นที่เป็นส่วนของแกลเลอรี่ที่รวบรวมผลงานภาพวาดและประติมากรรมกับพื้นที่ส่วนตัว ซึ่ง แพรว บุกมาถึงห้องแต่งตัวหรือ Walk-in Closet ที่ต้องยอมรับว่าไม่เหมือนใครจริงๆ

“ส่วนตัวชื่นชอบแบรนด์ Ralph Lauren มาก โดยเฉพาะ RRL (แบรนด์ในเครือของ Ralph Lauren ที่เป็นเสื้อผ้าแนววินเทจ) เคยไปช็อปที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เท่มาก ฟีลลิ่งของร้านเป็นแบบห้องนี้เลย ผมอยากให้ทุกครั้งที่เดินเข้ามาในห้องนี้แล้วไม่รู้สึกเบื่อ อารมณ์เหมือนกำลังเดินช็อปปิ้งเสื้อผ้า

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

”ภายในตู้เสื้อผ้าได้จัดแบ่งประเภทและเฉดสีของเสื้อผ้าอย่างเป็นระเบียบ (มาก) ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยีน กางเกงยีน เสื้อเชิ้ตสีดำ ฯลฯ เพื่อความสะดวกในการเลือกมิกซ์แอนด์แมตช์

“สำหรับตู้ไม้ตรงกลางห้องเป็นตู้โบราณของอินเดียสำหรับใส่ไจไหม น่าจะทำ ในยุคที่เป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ ทีแรกตั้งใจซื้อเพื่อเป็นตู้หนังสือ แต่พอ นำพวกแอ๊กเซสซอรี่ส์ สร้อยคอ เข็มขัด และแว่นตามาจัดวางก็ดูสวยลงตัวดี ถ้าไม่วางไว้อย่างนี้ก็จะใส่ในกล่อง ซึ่งเราแทบไม่ค่อยได้หยิบมาใช้เพราะไม่เห็น จึงเปลี่ยนเป็นตู้ใส่แอ๊กเซสซอรี่ส์แทน แล้วผมสั่งตัดผ้ากำมะหยี่มาวางรองพื้น ทุกช่องเก็บ จากนั้นได้เห็นว่าแอ๊กเซสซอรี่ส์ของแฟนก็เยอะไม่แพ้กัน จึงซื้อตู้ มาเพิ่มอีกสองตู้ ซึ่งของทุกชิ้นผมจัดวางเองทั้งหมด ชิ้นไหนที่ใช้ประจำก็วางไว้ ด้านบน เพื่อจะได้หยิบง่าย”

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

ข้าวของบางชิ้นในตู้ไม้ยังมีสตอรี่ในอดีตที่น่าจดจำด้วย

“กางเกงยีนสีดำที่พับอยู่กับเข็มขัด ผมกับรอง (จิตต์สิงห์ สมบุญ) ทำขาย ตอนจบมหาวิทยาลัยศิลปากรใหม่ๆ ตั้งชื่อแบรนด์ว่า T-BONE แล้วแก๊ป (เจษฎา ธีระภินันท์) ทำงานที่เกรย์ฮาวนด์มาเห็นเข้า จึงขอยืมไปตั้งชื่อวงดนตรี ทีโบนที่ทุกคนรู้จัก

”นอกจากนี้ยังมีดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้บ้านหลังนี้สวยและแตกต่าง อย่างลวดลายทรงเรขาคณิตที่ปูนปั้นบนกำแพงและกระเบื้องห้องน้ำ เป็นผลงาน การออกแบบของศิลปินจอมดีเทลคนนี้

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

“เกิดจากความคิดอยากทำลายกระเบื้องที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ความ ที่ผมชื่นชอบงานศิลปะสไตล์อาร์ตเดโค จึงลองออกแบบลายกระเบื้องของตัวเอง จนลงตัว สามารถนำมาจัดวางต่อด้านใดก็ได้ แล้วสั่งทำกับรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัย ศิลปากร จริงๆ แล้วตั้งใจจะทำจานชามที่วาดลายเองด้วย นัดช่างไว้ว่าจะทำตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 แต่ยังไม่มีเวลา ทั้งหมดนี้เพราะผมต้องการให้ทุกอย่างในบ้านหลังนี้ไม่เหมือนใคร แล้วถ้าใครเห็นก็บอกได้เลยว่านี่คือบ้านศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี”

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

สำหรับมุมที่ถือว่าเป็นที่สุดของความไฮไลต์คือ ด้านบนสุดของบ้านมีตัวอักษร ปูนปั้นภาษาละตินที่มีความหมายว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”

“ผมได้ยินคำนี้ครั้งแรกจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และศิลปินชาวอังกฤษที่ผมชื่นชอบ เซอร์เฟรเดอริก เลห์ตัน ที่เขียนข้อความนี้ไว้ตรงบานประตูของเขา ผมจึงนำมาดีไซน์ติดที่ตัวตึก เพื่อใครก็ตามที่เห็นบ้านหลังนี้จะได้ระลึกถึงความ เป็นศิลปินของเจ้าของบ้าน”

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

ศิลป์ผสานศาสตร์ฮวงจุ้ย

“ช่วงที่กำลังสร้างบ้านทราบว่าอาจารย์วันชัย รวยอารี ผู้ชำนาญการวิเคราะห์แก้ไขฮวงจุ้ย ชื่นชอบและซื้อผลงานศิลปะของผม จึงเชิญ อาจารย์มาช่วยดูฮวงจุ้ย ทำให้มีหลายมุมที่ต้องปรับแก้ อย่างประตูทางเข้าตอนแรกคือเข้าจากทางด้านหน้า ซึ่ง อาจารย์มองว่าถ้าเข้าด้านหน้า ตำแหน่งสระว่ายน้ำจะอยู่ กลางบ้าน ถือว่าไม่ดี ควรเปลี่ยนประตูเป็นเข้าทางด้านข้าง ฝั่งซ้ายมือแทน ตอนนั้นผมเครียดหนักเลย ลองมานั่ง หน้าบ้านแล้ววาดสเก็ตช์ไป สุดท้ายก็คิดออก คือผมเพิ่ม พื้นที่ด้านซ้ายเพื่อทำเป็นประตูทางเข้าใหม่ โดยสร้างเป็น โครงเหล็กติดกระจก ทำให้แสงส่องเข้ามาที่บริเวณหน้าบ้าน รับกับพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 และผลงานประติมากรรมที่จัดวางไว้

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

“สำหรับห้องนอนดีไซน์ไว้แต่แรกว่าจะทำเป็นบานกระจกขนาดใหญ่เพื่อเปิดให้เห็นวิวร้อยล้าน คือบึงน้ำของโครงการแบบเต็มๆ ตา แต่อาจารย์วันชัยบอกว่า อยากทำก็ได้ แต่อีกหกปีจะป่วยตาย เพราะคุณเป็นธาตุไฟ แต่มาเจอทางน้ำที่เป็นทางสามแพร่งวิ่งตรงมาชนห้องนอน พอดี แล้วอาจารย์พูดประโยคหนึ่งว่า วิวสวย แต่จะสวย แค่เดือนแรก คุณจะนอนดูวิวแล้วไม่ไปทำงานหรือ จึง แก้ปัญหาด้วยการขยับห้องนอนให้ห่างออกไป แล้วให้ พื้นที่ของห้องน้ำมาชนทางน้ำสามแพร่งแทน ซึ่งทีแรก พื้นที่ห้องน้ำชั้นบนตั้งใจจะสร้างให้ใหญ่ ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 12 เมตร แล้วทำให้หรูหราที่สุด อาจารย์วันชัย ทักอีกว่าห้องน้ำยิ่งใหญ่ยิ่งจน ห้องน้ำต้องเล็กกว่าห้องนอน

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

“เมื่อแก้ไขทุกอย่างตามที่อาจารย์บอกแล้ว บ้านดูลงตัวขึ้นมาก ยกเว้นอย่างเดียวที่ยังไม่ได้ทำคือประตู ห้องน้ำที่ห้องนอน เป็นประตูบานเฟี้ยมแบบจีน ทำจาก ไม้แกะสลักทั้งบาน แล้วมีภาพเขียนเป็นรูปชาวจีน 3 คน ผมชอบมากถึงกับยอมซื้อมาในราคาแพงมาก

“อาจารย์เห็นแล้วถามเชิงตำหนิทันทีว่า คุณรู้ไหมว่ารูปใคร นี่คือเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุยที่สาบานเป็นพี่น้องกัน โดยเฉพาะกวนอู ชาวจีนนับถือเป็นเทพเจ้า แล้วคุณมาไว้หน้าห้องน้ำได้อย่างไร ทีนี้ถ้าแก้ไขจะต้องเลาะทั้งบาน ถือเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องขอเวลาทำใจก่อนสักระยะ”

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

ต้องยอมรับว่าทุกอณูของบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยดีเทลที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนเจ้าของบ้าน จึงใช้เวลาสร้างกว่า 3 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์อย่างที่เห็น ล่าสุดศิลปินนักออกแบบคนนี้วางแผนจะซื้อที่ดินข้างๆ เพิ่มเพื่อทำโปรเจ็กต์ใหม่

“เคยมีคนบอกผมว่าชีวิตคนเรามีสองทางให้เลือก ทางที่หนึ่ง อายุมากแล้วตัดๆ ไปบ้าง ตายไปก็เอาไป ไม่ได้ ทางที่สอง อยากลุยทำอะไร ทำเลย เพราะชีวิตเราสั้นนัก ผมเลือกทางที่สอง ตอนนี้จึงกำลังเก็บเงินซื้อที่ดินข้างๆ เพื่อทำเป็นหอศิลป์หรือแกลเลอรี่ พอเพื่อนรู้ ก็เบรกว่าจะทำทำไม ลูกก็ไม่มี แต่ผมยังยืนยันที่จะทำ เพื่อจะได้เขียนรูปติดไว้ในนั้น ซึ่งช่วยให้ผมยังคงมีไฟในการทำงานไปเรื่อยๆ ถือว่าบ้านหลังนี้เป็นจุดที่พอดีและลงตัวกับชีวิตมากๆ” 

ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 988

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up