บ้านสีเหลืองสไตล์ชิโน-โปรตุกีสหลังงามบนพื้นที่หนึ่งไร่ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นบ้านสุดหรูหลังเดียวที่สร้างกลางทุ่งหญ้า ให้อารมณ์เหมือนอยู่ต่างจังหวัด หรือไม่ก็อยู่นอกเมืองมาก (เสียงสูง) ทว่าถัดออกไปกลับมองเห็นทางด่วนและแอร์พอร์ตเรลลิงก์อยู่ใกล้ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความชอบของเจ้าบ้าน ที่ต้องการความเงียบสงบและเป็นส่วนตัว
ภายในบริเวณบ้านแวดล้อมด้วยไม้ใหญ่ของไทย ทั้งจามจุรีสีทอง พะยอม ปีบ ชมพู่เมืองเพชร ลูกจันทน์ อโศก จิกน้ำ เข็มอุณากรรณ โมกมัน หว้าป่า เพิ่มความร่มรื่นเย็นตาด้วยเฟินหลากสายพันธุ์ ทั้งกลุ่มเฟินชายผ้าสีดาและเฟินบริพัตรขนาดใหญ่ ที่แขวนห้อยลงมาพลิ้วไหวยามต้องลม ส่วนวงเวียนเล็กๆ หน้าบ้านปลูกต้นทองกวาวฟอร์มสวย ชวนให้บ้านดูร่มรื่นเย็นสบาย
“ดูเหมือนบ้านเราอยู่กลางทุ่งใช่ไหม” คุณเบคกี้ – รมิดา รัสเซลล์ มณีเสถียร Executive Director Vice President บริษัทไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ควบตำแหน่งภรรยาและคุณแม่ลูกหนึ่ง โยนคำถามแบบขำๆ ก่อนเริ่มเรื่องให้ฟังว่า
“เราซื้อที่ดินแปลงนี้ตั้งแต่สิบห้าปีที่แล้ว ความที่ครอบครัวสามี (คุณต้น – ปวัฑฒ์) อาศัยอยู่ย่านนี้ พอคุณแม่สามี (คุณสุวรรณพันธุ์ มณีเสถียร) รู้ว่ามีคนขายที่ดินบริเวณนี้ มีสามแปลง แปลงละหนึ่งไร่ จึงอยากให้ลองมาดู พอเห็นแล้วถูกใจ เราจึงทำถนนทางเข้า ขอไฟฟ้าและน้ำประปาเอง
“มาอยู่แรกๆ ก็กลัวเหมือนกันนะ (ยิ้ม) เพราะมีแค่ห้าชีวิต พ่อแม่ลูกกับแม่บ้านสองคน แต่พอตกกลางคืน กลายเป็นว่าบ้านเรามีแสงไฟจากทางด่วน มองเห็นสว่างทีเดียว และเราทำกำแพงสูง ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย ทำให้ไม่น่ากลัว” เธอเล่าพลางอมยิ้ม พร้อมกับพาเดินผ่านอาคารริมสนามหญ้าสองหลัง มีทั้งชั้นเดียวและสองชั้น
“เราอยากอยู่บ้านที่ให้อารมณ์แบบไทย จึงสร้างคล้ายๆ เป็นเรือนหมู่รวมกันแบบเรือนไทย แต่ให้สถาปนิกออกแบบตามฟังก์ชันการใช้งาน โดยเรือนชั้นเดียวด้านหน้าทำเป็นห้องเล่นให้ลูกตั้งแต่เขาเล็กๆ จัดของเล่น ทีวี เครื่องเล่นดีวีดี ให้เขาดูรายการต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาการและภาษา ส่วนอาคารสองชั้นถัดมาเป็นห้องสมุดประจำบ้าน ชั้นล่างไว้นั่งเล่น เวลาคุณแม่ (คุณเจเน็ต) และพี่สาว (คุณเจน) มาเยี่ยมก็จะชวนกันมานั่งเล่นที่นี่บ้าง”
เปิดบ้านสวยสุดหรู สไตล์ชิโน-โปรตุกีสของ “เบคกี้ – รมิดา รัสเซลล์ มณีเสถียร”
“ประเวศบุรีรมย์” บ้านแห่งความทรงจำ
เราถามถึงป้ายชื่อบ้าน “ประเวศบุรีรมย์” ที่ติดอยู่เหนือมุขด้านหน้า คุณต้นช่วยอธิบายที่มาของชื่อนี้ว่า
“คนส่วนใหญ่มักใช้นามสกุลหรือชื่อมงคลตั้งเป็นชื่อบ้าน แต่ผมอยากให้คนสงสัยว่าบ้านนี้อยู่มาเป็นร้อยปีหรือเปล่า เพราะเราสร้างเป็นแบบชิโน-โปรตุกีสและอยู่ใกล้คลองประเวศด้วย จึงเลือกใช้ชื่อคลองเป็นชื่อบ้าน ซึ่งอาคารแนวชิโน-โปรตุกีสเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 จึงพยายามหาฟ้อนต์ตัวหนังสือสมัยนั้นมาทำป้าย แต่หาเท่าไรก็หาไม่ได้ กระทั่งเจอรูปตาลปัตรพัดยศของพระสงฆ์สมัยนั้น จึงนำฟ้อนต์ตัวหนังสือที่เห็นมาออกแบบเป็นป้ายชื่อบ้าน” คุณต้นเล่าด้วยความภูมิใจ
ฝ่ายภรรยาเสริมว่า “ก่อนหน้านี้ครอบครัวเราอยู่บ้านโมเดิร์น แต่มีของแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์คลาสสิก ซึ่งนับวันจะล้นมากขึ้นๆ เมื่อสร้างบ้านนี้เราจึงขอเล่นตามสไตล์ของสะสม ตัวเราออกแนวยุโรปๆ หน่อย ส่วนต้นเป็นแนวจีน จึงมาพบกันครึ่งทางด้วยการเลือกบ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ผสมผสานความเป็นจีนและยุโรปเข้าด้วยกัน ต่างจากบ้านสไตล์โคโลเนียลซึ่งดูเป็นยุโรปกว่า”
คุณต้นเล่าบ้าง “ความสวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมคุยกับเบคกี้ว่าอยากได้ความสวยในอดีตที่เราชอบตั้งแต่เด็กมารวม ไว้ที่บ้านนี้ คนอื่นอาจมองว่าเก่า เชย แต่สวยสำหรับผม เราจึงเลือกสร้างบ้านที่รวมความคลาสสิกแบบนี้ไว้ด้วยกัน จึงออกมาเป็นสไตล์นี้โดยพี่ดุ๊ก (ภาณุเดช วัฒนสุชาติ) มาช่วยดูแลในส่วนของสถาปนิ ก โดยเราสองคนมีข้อมูลจากที่ไปเห็นอะไรสวยก็ถ่ายรูปเก็บไว้ หรือไม่ก็ตัดรูปในหนังสือมาแปะในสมุด เรียกว่าทำเป็นสมุดภาพกันเลย ใช้เวลาศึกษารูปแบบบ้านแนวนี้เป็นปี จนเจอหนังสือเกี่ยวกับ ‘วังลดาวัลย์’ เราบอกเลยว่านี่คือสไตล์ที่อยากได้ พอทีมงานมาคุยด้วย เราก็เปิดหนังสือและสมุดภาพให้ดูว่าอยากได้ บ้านแบบนี้ เขาจึงค่อยๆ บิดดีไซน์จนได้อย่างใจเรา”
คุณเบคกี้แย้งว่า “ที่ถกเถียงกันมากคือสีกระเบื้องหลังคา ใจเราอยากได้สีแดง แต่ต้นกับพี่ดุ๊กบอกว่าต้องเป็นสีเทา เขาชอบสีที่ดูซอฟต์ลงมา พอมีการโหวตออกเสียง เราแพ้ แต่จนทุกวันนี้ก็ยังคิดว่ากระเบื้องหลังคาน่าจะเป็นสีแดงอยู่นะ” เธอเล่ายิ้มๆ และบอกว่า
“บ้านหลังนี้สร้างโดยคุณอาของต้น (คุณวีรพล ศรีมหาโชตะ) มีพี่ดุ๊กช่วยให้คำปรึกษา โชคดีมากที่เราได้ทีมช่างที่เป็นมือวางอันดับหนึ่งในการสร้างวัดมาช่วยด้วย เนื่องจากบ้านชิโน-โปรตุกีส ต้องมีดีไซน์ปูนปั้นย่อมุมตกแต่งประกอบตามจุดต่างๆ เช่น เสา ขอบระเบียง ซุ้มประตู ฯลฯ ซึ่งต้องปั้นขึ้นมาเอง
“ส่วนลายไม้ฉลุเหนือกรอบหน้าต่างเป็นลายไม้ที่เราได้มาโดยบังเอิญ คาดว่าแกะมาจากบ้านคนจีนโบราณ เป็นลายกระถางดอกไม้ที่ไหลไปเรื่อยๆ จึงนำลายนี้มาเป็นต้นแบบ และสั่งร้านทำไม้ย่านบางโพทำเลียนแบบ ถือเป็นซิกเนเจอร์ของบ้าน ทั้งหมดนี้กว่าจะสร้างบ้านเสร็จใช้เวลาถึง 3 ปีทีเดียว”
Classic Style
ภายในบ้านแบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่ง มีโถงตรงกลาง ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์หวายดีไซน์จีน มีภาพเขียนแอนทีคของชนเผ่าเย้าที่ได้เป็นของขวัญวันแต่งงานจากคุณแม่และพี่สาวคุณเบคกี้ พื้นบ้านทำจากไม้แดงซึ่งได้มาจากพื้นไม้เก่า ส่วนกรอบประตูหน้าต่างทำจากไม้สักทั้งหมด หลังโถงกลางบ้านเป็นทั้งห้องจัดเลี้ยงและห้องอาหาร
“ตอนออกแบบคิดแต่เรื่องฟังก์ชันใช้งานว่าห้องอาหารควรแยกเป็นสัดส่วน เพิ่งมารู้ทีหลังว่าทำแบบนี้ถูกฮวงจุ้ย คือเวลาเข้าบ้านมาไม่ควรมองเห็นโต๊ะกินข้าว ควรทำเป็นห้องหรือมีกำแพงกั้นแยกไป ตกแต่งด้วยโต๊ะรับประทานอาหารสไตล์ยุโรป พร้อมเก้าอี้ทรงชิปเพนเดล 12 ที่นั่ง มุมห้องตกแต่งด้วยโต๊ะบุฟเฟ่ต์สไตล์ยุโรป ที่คุณพ่อ (คุณวันชัย) และคุณลุง (คุณปริญญา) ของต้นให้เป็นของขวัญขึ้นบ้านใหม่
“ภายในห้องอาหารตกแต่งด้วยตู้เก่าของฝรั่งเศสที่เราค่อยๆ ซื้อมาทีละใบสองใบจนเต็มห้อง ใช้เก็บถ้วยซุป จาน ชาม และชุดน้ำชากระเบื้องวินเทจของอังกฤษ บางเซตเป็นของที่ใครต่อใครพากันตามหา บางเซตเป็นลิมิเต็ด ราคาหลายหมื่น บางชิ้นเป็นลายคลาสสิกของอังกฤษ ซึ่งผลิตออกมาตลอด จึงเป็นของสะสมที่นำมาใช้งานจริง ไม่ต้องกลัวแตก สามารถหาซื้อมาเติมได้เรื่อยๆ” คุณเบคกี้อธิบาย
ฝ่ายสามีเสริมว่า “ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือของสะสม เราจะค่อยๆ หาสะสมไปเรื่อยๆ ได้มาทีละชิ้นสองชิ้น ผมว่าสนุกกว่าเอาเงินก้อนมาวางแล้วบอกให้คนขายหาให้ครบชุดนะ ซึ่งผมกับเบคกี้ชอบของสะสมไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต่างคนต่างเลือกของที่ตัวเองชอบ เขาชอบจานชาม ผมก็ไม่ไปยุ่ง เพราะมองว่าแพง ส่วนผมชอบรถคลาสสิก ถ้าเขาเห็นก็จะคอยห้ามเหมือนกัน แต่สุดท้ายให้ต่างคนต่างเลือกของที่ชอบเอง”
ถัดจากโถงตรงกลางอีกฝั่งเป็นห้องรับแขก ตกแต่งด้วยผ้าม่านโปร่งจากฝรั่งเศส เพิ่มบรรยากาศด้วยผ้าม่านลายดอกไม้จากอังกฤษ เน้นการตกแต่งให้นั่งสบาย ที่น่าสนใจเห็นจะเป็นตู้เข้ามุมโชว์ ‘ตุ๊กตาแม่ลูกดก’ จากรัสเซีย ซึ่งเป็นของฝากจากเพื่อนรุ่นพี่ สามารถออกลูกได้ถึงสามสิบตัว ทุกตัวเขียนหน้าตาและขอบสีทองครบ ต่อให้เล็กจิ๋วหลิวแค่ไหนก็ยังวาดสีเขียนทองเห็นรายละเอียดครบ ทำเอาเซียนสะสมตุ๊กตาแม่ลูกดกบอกว่าเป็นตุ๊กตาที่มีความพิเศษมาก และราคาแพงกว่าตุ๊กตาแม่ลูกดกปกติอีกด้วย
แผนที่ชีวิต
เราถามถึงการเป็นคุณแม่ลูกสาววัยทีนที่ต้องคอยสนับสนุนลูกสาวคนเดียวให้ได้ทำตามฝัน เนื่องจากน้องทาช่ามีพรสวรรค์และความสามารถด้านบัลเลต์และดนตรีสูงมาก จึงเป็นที่มาที่ทำให้เธอมักจะตั้งโจทย์คำถาม เพื่อให้ลูกสาววัยรุ่นหาคำตอบให้ตัวเองเสมอ ซึ่งคุณเบคกี้เล่าว่า
“บ้านเราไม่ได้เน้นเรื่องเรียนว่าต้องสอบให้ได้เกรด 4 หรือต้องหาที่ติววิชาอะไร เพราะเราเห็นแล้วว่าความสามารถและคอนเน็กชั่นสำคัญกว่า เรามีเป้าหมายเดียวคืออยากให้เขาเรียนอย่างมีความสุข
“ความที่ทาช่ามีศักยภาพโดดเด่นมากเรื่องดนตรีและการเต้น ทำให้ยิ่งต้องสนับสนุนให้เขาทำสิ่งที่ทำได้ดีให้เป็ นเลิศมากขึ้น รวมถึงพยายามผลักดันให้ เขาแข่งขัo เพราะเมื่อก่อนเขาขี้กลัว พอเล่าเรื่องในอดีตให้เขาฟังว่าเราเคยเสียโอกาสดีๆ ไป เพียงเพราะการปฏิเสธที่จะเข้าร่วมทำสิ่งนั้น เพราะตอนเป็นนางงามปฏิเสธที่จะเดินถือป้ายในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ซึ่งเพื่อนๆ นางงามคนอื่นเขาไปกัน จึงมีภาพจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ แต่ไม่มีเรา พอเล่าให้ลูกฟัง เขาถึงยอมไปประกวดบัลเลต์ครั้งแรก ได้รางวัลชมเชยกลับมา ซึ่งถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับเขา
“ที่ผ่านมาทาช่าเคยเป็นตัวแทนแข่งขันเปียโนในการแข่งขันเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเขาได้เหรียญทองกลับมา อีกแมตช์หนึ่งของปีนี้เป็นการแข่งบัลเลต์ ซึ่งเขาได้สิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขัน แต่ต้องรอก่อน เพราะติดสถานการณ์โควิด-19 ทุกครั้งที่เดินทางไปแข่งขัน พวกเราต้องเดินทางไปกับลูก ออกค่าใช้จ่ายเองหมด ถ้าแข่งชนะก็ได้โปรไฟล์และถ้วยรางวัล แต่สิ่งที่ได้นอกเหนือจากนั้นคือการทำให้ลูกมี Self-esteem ซึ่งสำคัญมาก ล่าสุดเขาไปออดิชั่นเพื่อเข้าทีม Soloist ของบางกอกแดนซ์ ต้องฝึกหนักทุกวัน ในหนึ่งสัปดาห์ต้องฝึกเต้นเกินยี่สิบชั่วโมง ซึ่งทาช่าสามารถผ่านเข้าไปอยู่ในทีมได้
“ยังเคยถามเขาว่ามองเห็นอนาคตตัวเองเป็นอย่างไร เขาบอกว่าเขามองเห็นตัวเองยืนอยู่บนเวทีในโอเปร่าเฮ้าส์ พอถามว่าโตขึ้นอยากเรียนอะไร เขาบอกว่าอยากเรียน PE (Physical Education) ซึ่งบ้านเราแปลว่า ‘พลศึกษา’ แต่ที่ต่างประเทศคนเรียน PE สามารถไปได้ไกลกว่านั้น ซึ่งเขารู้ดีว่าในอนาคตทุกคนต้องมีความแตกต่าง ซึ่งสำหรับลูกเป้าหมายของเขาคืออยากไปต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งที่ทำอยู่เวลานี้คือการแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนไปแข่งขันในต่างประเทศ”
นอกจากนี้คุณเบคกี้ยังแบ่งเวลาศึกษาต่อปริญญาเอก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นโค้ชด้วย
“เรารู้ว่าตัวเองถนัดพูดและชอบทำงานด้านการตลาด มีความสนใจเรื่องการพัฒนาคน ซึ่งในอนาคตสิ่งที่สังคมต้องการคือทุนมนุษย์ จึงเริ่มสนใจเรียนการเป็นโค้ชกับอาจารย์ที่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถสอบวัดระดับจนได้ เป็น Professional Coach ได้รับการรับรองโดยสหพันธ์โค้ชนานาชาติในระดับ PCC (Professional Certified Coach)
“นอกจากนั้นครอบครัวเราทำธุรกิจเกี่ยวกับจิเวลรี่ และธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่แล้ว จึงอยากเรียนต่อเพื่อเพิ่มทักษะ และต่อยอดการทำธุรกิจครอบครัวในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาเรามักมีงานบรรยายให้ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ฟังบ่อยๆ อีกทั้งยังทำงานเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนด้วย จึงอยากเพิ่มวิทยฐานะให้ตัวเองด้วยการเรียนปริญญาเอก คณะครุศาสตร์ ซึ่งเป็นสายการศึกษาและพัฒนามนุษย์ อีกทั้งจะได้ช่วยเด็กๆ ที่ทำความผิดให้พ้นจากวงเวียนของความด้อยโอกาส หรือความผิดพลาดในอดีตของเขา โดยอาศัยการโค้ชที่เรียนมา ซึ่งก็มีเคสที่เราโค้ชให้ จนเขาเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและการใช้ชีวิตของเขาได้ ซึ่งเราก็ดีใจไปกับเขาด้วย แผนการในชีวิตของเราตอนนี้จึงค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นตามที่เราคิดและวางแผนไว้”
ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 971
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เป็นคนเยอะ อย่ามาง่าย! เปิดบ้านริมน้ำบางปะกง อาณาจักรความสุขของ “ทิปปี้ สุพรทิพย์”
ครั้งแรก! เปิดบ้านริมทะเลสาบสุดอลังของ “ตัน ภาสกรนที” และครอบครัวแสนอบอุ่น
เปิดบ้านสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่ญี่ปุ่นของ “หน่อย-เคน” พื้นที่อบอุ่นของครอบครัววงศ์พัวพันธ์