'โรคเบาหวาน' กับ 'โรคปริทันต์'

‘โรคเบาหวาน’ กับ ‘โรคปริทันต์’ ความสัมพันธ์ที่ไม่ควรมองข้าม เสี่ยงกระตุ้นความรุนแรงของโรค

Alternative Textaccount_circle
'โรคเบาหวาน' กับ 'โรคปริทันต์'
'โรคเบาหวาน' กับ 'โรคปริทันต์'

กรมการแพทย์ โดยสถาบันทันตกรรม ชี้ผู้ป่วย โรคเบาหวาน เสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์อักเสบ กระตุ้นความรุนแรงของโรค และส่งผลให้อีกโรคหนึ่งรุนแรงตามไปด้วย ควรใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายและสุขภาพช่องปากควบคู่กัน

โรคเบาหวาน กับ โรคปริทันต์ (โรคเหงือก) มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกัน จากการที่ปกติแล้วในร่างกายจะมีฮอร์โมนชื่อว่า “อินซูลิน” คอยทำหน้าที่จับน้ำตาลในกระแสเลือดไปเป็นพลังงานให้แก่เนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย ส่วนโรคปริทันต์อักเสบ สามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบทั่วทั้งระบบ ซึ่งการอักเสบนั้นก็จะไปรบกวนขบวนการควบคุมระดับน้ำตาลดังกล่าว ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคปริทันต์อักเสบรุนแรง จะมีผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการดื้ออินซูลินในคนปกติ และหากเป็นผู้ป่วยในกลุ่มของโรคเบาหวานก็จะส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลได้ยากขึ้น รวมถึงมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้มากขึ้นอีกด้วย

โรคปริทันต์ (โรคเหงือก) กับโรคเบาหวาน สัมพันธ์และมีผลต่อกัน เพราะในทางกลับกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงของผู้ป่วยเบาหวาน ก็ส่งผลต่อสภาวะโรคปริทันต์อักเสบได้เช่นกัน เนื่องจากน้ำตาลในเลือดนั้น สามารถจับกับโปรตีนบางชนิดได้ถาวร ทำให้กระตุ้นการทำลายและยับยั้งการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้โรคปริทันต์อักเสบมีความรุนแรงขึ้น โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์อักเสบถึง 4.2 เท่า หรืออาจกล่าวได้ว่า ความรุนแรงของโรคหนึ่งส่งผลให้อีกโรคหนึ่งรุนแรงตามไปด้วย ซึ่งควรใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายและสุขภาพช่องปากควบคู่กัน และเตรียมความพร้อมสำหรับการรักษาเป็นอย่างดี เพราะสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจดูแล และเป็นประตูนำไปสู่การมีสุขภาพร่างกายที่ดีด้วย

โรคปริทันต์อักเสบ หรือ โรครำมะนาด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์ ผลิตสารทำลายเนื้อเยื่อและกระดูกที่รองรับฟัน อีกทั้งแบคทีเรียเหล่านี้ยังก่อให้เกิดแผลในบริเวณพื้นผิวกว้างได้ถึง 5-20 ตารางเซนติเมตร ซึ่งเป็นช่องทางให้แบคทีเรียและสารอักเสบต่างๆ เข้าไปสู่กระแสเลือดได้ และอาจเป็นสาเหตุการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย โดยการอักเสบเรื้อรังของโรคปริทันต์อักเสบหรือโรคเหงือกนั้น อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ซึ่งในทางกลับกันในโรค เช่น โรคเบาหวาน ก็สามารถส่งผลกระทบถึงสุขภาพช่องปากได้เช่นกัน

ซึ่งในด้านการรักษาควรทำควบคู่กัน เพราะผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบและได้รับการรักษาจะช่วยให้การใช้อินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลลดลง และในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในปริมาณที่ดี ความเสียงต่อการเป็นโรคปริทันต์อักเสบของผู้ป่วยเบาหวานนั้นก็จะไม่แตกต่างจากบุคคลทั่วไปที่ไม่เป็นโรคเบาหวานเลยเช่นกัน ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรได้รับการตรวจสุขภาพช่องปาก และติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ หรือทุกๆ 3 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้มีสุขภาพช่องปากและสุขภาพร่างกายที่ดีอย่างไปพร้อมกัน


ข้อมูล : กรมการแพทย์ โดยสถาบันทันตกรรม
ภาพ : Pexels

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up