โรคผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะ

สัญญาณเตือน ‘โรคผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะ’ ภาวะเร่งด่วนต้องรีบรักษา

Alternative Textaccount_circle
โรคผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะ
โรคผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะ

ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกแบบแปลบอย่างทันทีและรุนแรงร่วมกับอาการเหนื่อย หายใจไม่ทัน อาจมีภาวะเสี่ยงหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตก ซึ่งถ้าได้รับการวินิจฉัยช้า และรับการรักษาไม่ทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้

หลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) เป็นหลอดเลือดสำคัญทำหน้าที่ส่งเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โรคผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะ (Aortic dissection) เป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของหลอดเลือดแดงใหญ่ ตั้งแต่ต้นทางที่มีการปริแตกเซาะไปที่ขั้วหัวใจ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองและแขน หลอดเลือดที่เลี้ยงตับและลำไส้ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต ตลอดจนลงไปถึงหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขาทั้งสองข้าง ทำให้มีอาการเกิดขึ้นได้หลายระบบ พบได้บ่อยในเพศชาย อายุ 50-70 ปี แต่สามารถเกิดในกลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปีได้ในกลุ่มที่มีโรคของความผิดปกติของผนังหลอดเลือด

สาเหตุการปริแตกของผนังหลอดเลือดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ความดันโลหิตสูงไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ เบาหวาน หรือความผิดปกติของผนังหลอดเลือด จากกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทำให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง เช่น Marfan syndrome, Ehlers-Danlos syndrome

สัญญาณเตือน ‘โรคผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะ‘ ภาวะเร่งด่วนต้องรีบรักษา

โรคผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะ (Aortic dissection) ผู้ป่วยมักมีอาการอาการเจ็บหน้าอกแบบแปลบอย่างทันทีและรุนแรง สามารถแสดงอาการได้หลายแบบขึ้นกับตำแหน่งตามรอยโรคที่มีการแตกเซาะไป บางครั้งแสดงอาการเจ็บหน้าอกคล้ายโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เหนื่อย มีภาวะหัวใจลัมเหลว อาการอัมพฤกษ์ อัมพาต แขน ขา อ่อนแรง ปวดแขน ขา คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง อาการปวดท้อง คล้ายภาวะมีการอักเสบของอวัยวะภายในช่องท้อง หรือมีภาวะไตวายเฉียบพลันได้ อาการที่พบได้บ่อย คือ

  • อาการเจ็บหน้าอกแบบแปลบทันทีรุนแรง อาจร้าวไปคอ แขน สะบัก หลัง
  • อาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ
  • อาการแขน ขา อ่อนแรง ปวดขารุนแรง
  • ปวดท้องรุนแรง
  • ช็อก หมดสติ ไม่รู้สึกตัว เป็นต้น

การวินิจฉัย เนื่องจากอาการแสดงในผู้ป่วยบางคนที่ไม่ชัดเจนหรือคล้ายอาการของโรคอื่น ส่งผลให้มีการวินิจฉัยล่าช้าได้ อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเอกซเรย์ปอด หรือการทำการตรวจอัลตราซาวด์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง แต่การตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องแน่ชัดคือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดแดง ซึ่งช่วยในประเมินความรุนแรงผลแทรกซ้อนจากเซาะของหลอดเลือดไปยังตำแหน่งต่างๆ และใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนการรักษา หรือผ่าตัดในรายที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด

แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของรอยปริแตกของหลอดเลือด ถ้าเกิดที่ตำแหน่งของหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนต้นที่ออกจากขั้วหัวใจ มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน เนื่องจากมีอัตราการการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้สูงจากเลือดออกภายในร่างกาย หรือการเกิดลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว ร่วมกับกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจากผนังที่แตกเซาะเข้าไปกดเบียดลิ้นหัวใจและกดเบียดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หรือมีเลือดออกในเยื่อหุ้มหัวใจจนกดการทำงานของหัวใจทำให้หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

ส่วนการปริแตกเซาะในตำแหน่งอื่นๆ ของหลอดเลือดแดงใหญ่ มีวิธีการรักษาทั้งการผ่าตัด และการรักษาทางยา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโรค ซึ่งจะต้องประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้การผ่าตัดเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูงและมีความซับซ้อน ต้องอาศัยแพทย์ที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญเฉพาะโรค ต้องใช้เลือดปริมาณมาก ใช้เวลาการผ่าตัดนานกว่าการผ่าตัดหัวใจทั่วๆ ไปและมีอัตราการเสียชีวิตสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องผ่าตัดในภาวะฉุกเฉินในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตต่ำ เสียเลือดมาก หรือภาวะหัวใจล้มเหลว

การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะนั้น แพทย์ผู้รักษาจะประเมินว่าจะใช้การรักษาโดยการผ่าตัดหรือการรักษาโดยการใช้ยาขึ้นกับตำแหน่งของรอยโรค ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดแบบเปิดร่วมกับการใช้วิธีใส่หลอดเลือดเทียมทางสายสวนโดยใช้ ห้องผ่าตัดพิเศษ (Hybrid Operating room) ในผู้ป่วยที่เหมาะสมสามารถลดผลแทรกซ้อน และลดระยะเวลาในการผ่าตัดและฟื้นตัวได้


ข้อมูล : สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์
ภาพ : Pexels

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up