อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 เกี่ยวข้องอย่างไรกับ 'โรคความจำเสื่อม'

อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 เกี่ยวข้องอย่างไรกับ ‘โรคความจำเสื่อม’

Alternative Textaccount_circle
อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 เกี่ยวข้องอย่างไรกับ 'โรคความจำเสื่อม'
อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 เกี่ยวข้องอย่างไรกับ 'โรคความจำเสื่อม'

ล่าสุดที่มีข่าวเรื่อง Bruce Willis เป็นโรคความจำเสื่อม Frontotemporal Dementia ซึ่งชื่ออาจจะไม่คุ้นหูกันเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินว่า โรคสมองเสื่อม คือ อัลไซเมอร์ (Alzheimer) ซึ่ง นพ.ชยานุชิต ชยางศุ แพทย์อายุรศาสตร์ประสาทวิทยา ได้อธิบายความรู้ในเรื่องของ PM 2.5 กับโรคความจำเสื่อม เอาไว้ว่า

อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 เกี่ยวข้องอย่างไรกับ ‘โรคความจำเสื่อม’

Frontotemporal Dementia (FTD) คืออะไร?
ก่อนอื่นอยากให้รู้จักคำว่า Dementia ก่อน คำนี้แปลว่าสมองเสื่อม ซึ่งจริงๆ แล้วโรคสมองเสื่อมมีหลายชนิด ที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ Alzheimer นั่นเอง ส่วนกรณี Bruce Willis นั้นก็เป็นโรคสมองเสื่อมอีกชนิดที่มีอาการแตกต่างไปจาก Alzheimer ชื่อเรียกจึงแตกต่างกัน โดย Frontotemporal Dementia จะพบได้ในคนอายุน้อยกว่า อายุเฉลี่ย 40-65 ปี มีอาการได้หลากหลายตั้งแต่บางคนจะมีอาการหงุดหงิดฉุนเฉียว อารมณ์เกรี้ยวกราด พูดคำหยาบ ด่าทอ โดยอาจจะเป็นจากนิสัยเดิมของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่เพิ่มความรุนแรงขึ้นหรือเปลี่ยนไปจากนิสัยเดิมไปเลยก็ได้ (Behavioral type FTD) หรือบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา พูดไม่ได้ นึกคำพูดไม่ออก ไม่เข้าใจคำพูด มีปัญหาในการอ่าน เขียน (Language type FTD-primary progressive aphasia) ซึ่งจะแตกต่างจาก Alzheimer ที่มักจะพบในคนอายุ 65 ปีขึ้นไป อาการจะเด่นเรื่องความจำที่แย่ลงก่อน มักจะเป็นความจำที่พึ่งเกิดขึ้นไม่นาน แต่ความจำเก่าๆ ก็จะยังคงอยู่ ปัญหาด้านอารมณ์ พฤติกรรม การใช้ภาษา มักจะไม่ได้เด่นในช่วงแรก แต่อาจจะเกิดขึ้นตามมา หลังจากมีปัญหาเรื่องความจำก่อนได้ถึง 5-10 ปี

โรคอย่าง FTD หรือ Alzheimer เป็นโรคที่เกิดจากการมีของเสียมากผิดปกติแล้วไปสะสมในเซลล์สมอง ส่งผลทำให้เกิดการเสื่อมของสมองเร็วกว่าคนทั่วไป ปัจจุบันเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับยีน (Gene) หรือสารพันธุกรรมที่ผิดปกติไป ซึ่งโรคกลุ่มนี้ในปัจจุบันยังป้องกันหรือรักษาให้หายขาดไม่ได้

แต่จริงๆ แล้วยังมีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น เส้นเลือดสมองตีบ, เลือดออกในสมอง (ถ้าเกิดบริเวณที่มีผลกับความจำ), การขาดสารอาหารบางชนิด Thyroid, Vitamin B, หรือ ธาตุเหล็ก, การติดเชื้อโรคบางชนิดเช่น Syphilis หรือ HIV และที่สำคัญมากๆ อีกสิ่งหนึ่งซึ่งพวกเรากำลังประสบปัญหากันอยู่ก็คือ PM 2.5

หลายคนคงยังไม่ทราบว่า PM 2.5 ที่เรากำลังประสบปัญหากันอยู่ในทุกวันนี้ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมได้  มีการศึกษาที่ยืนยันว่า PM 2.5 รวมทั้งมลภาวะชนิดอื่นในอากาศมีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง โดยเมื่อร่างกายเราได้รับสารพิษเหล่านี้เข้าไป จะไปกระตุ้นการอักเสบในร่างกายไปจนถึงการอักเสบของเซลล์สมอง ส่งผลให้การทำงานของเซลล์สมองผิดปกติไป เกิดการตกค้างของสารพิษภายในเซลล์จนส่งผลให้มีปัญหาถึงสมองเสื่อมได้

จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาจากงานวิจัยในหัวข้อ Long-term effects of PM 2.5 components on incident dementia in the Northeastern United States ซึ่งทำการเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 7 ปี ในคนอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปี จำนวน 2,000,000 คน ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มี  PM 2.5 พบว่าเพิ่มโอกาสของการเกิด Dementia ถึง 16% ในทุก ๆ 10µg/m3 ของ PM 2.5 หน่วยนี้ก็คือหน่วยวัด PM 2.5 ในบ้านเราเช่นกัน ใช้หน่วยเดียวกัน บางวัน PM2.5 ขึ้นไปถึง 100µg/m3 อันนี้ก็ต้องลองจินตนาการกันเองว่าเซลล์สมองเราจะเจ็บป่วยไปขนาดไหน เรื่องที่น่าตกใจคือ ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในการศึกษาวิจัยชิ้นนี้อยู่แค่เพียง 8.8 µg/m3 ในบ้านเราก็มีเฉพาะบางเดือนที่ขึ้นไปถึง 100+ µg/m3 บางเดือนดี ๆ อาจจะแค่ 10-20µg/m3

ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่ออยากให้ตระหนักถึงปัญหาของ PM 2.5 ที่ส่งผลมาถึงสมองได้ร้ายแรงอย่างที่คาดไม่ถึง คนส่วนใหญ่จะทราบแค่เพียงส่งผลกับทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ แต่จริงๆ แล้วสมองก็บาดเจ็บไม่แพ้กัน

ในเด็กเองก็มีการศึกษาพบว่าเด็กที่อยู่ในมลภาวะที่มี PM 2.5 ปริมาณสูง หรือเด็กในครรภ์มารดาก็ตาม ต่างมีปัญหาของการพัฒนาสมองทั้งในแง่ความจำ ความเฉลียวฉลาด ตลอดจนปัญหาด้านพฤติกรรมมากกว่ากลุ่มที่อยู่ใน PM 2.5 น้อยกว่า

คำแนะนำในขณะนี้เฉพาะหน้าก็คงต้องป้องกันตัวเองกันก่อน ใส่หน้ากากป้องกัน PM 2.5 แล้วโหลด Application ช่วยการตรวจสอบค่าของ PM 2.5 ในแต่ละวัน ในแต่ละพื้นที่ หรือใช้เครื่องมือวัดที่อาจจะมีกันในบ้านโดยส่วนใหญ่แล้ว ทั้งหมดก็พอจะช่วยบรรเทาปัญหาไปได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาในระยะยาวซึ่งคงต้องเป็นเรื่องที่อาศัยความร่วมมือในทุกภาคส่วนต่อไป


ข้อมูล : นพ.ชยานุชิต ชยางศุ แพทย์อายุรศาสตร์ประสาทวิทยา ประจำศูนย์โรคระบบสมอง โรงพยาบาลนวเวช
ภาพ : Pexels

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Praew Recommend

keyboard_arrow_up